Friday, October 3, 2014

หุ้นไม่มีค่าพีอี, หุ้น P/E สูง, หุ้น P/E ต่ำ, หุ้นตั้งไข่, หุ้นฟื้นไข้ (2)





ลุงแมวน้ำบรรยายต่อไป

“เอาละ ทีนี้จินตนาการต่อไปอีกหน่อย ต่อไปนี้จะมีการคำนวณนิดหน่อยละนะ แต่ก็จำเป็น ลุงจะพยายามทำให้ง่ายที่สุด

“สมมติว่าลุงแมวน้ำเพิ่งตั้งโรงงานใหม่ ในปีแรกเพิ่งเริ่มทำการตลาด ลูกค้าเพิ่งจะรู้จักสินค้า ในปีแรกมียอดขายเพียง 35 ชิ้น สมมติว่าขายได้เท่าไรก็คือผลิตในจำนวนเท่านั้น มันก็ไม่สมเหตุผลหรอก แต่เพื่อไม่ต้องคำนวณเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือ

“ในปีแรกผลิตและขายหมอนข้างลุงแมวน้ำได้ 35 ชิ้น คิดเป็นยอดขาย 3500 บาท หักต้นทุนการผลิตและต้นทุนบริหารแล้วมีผลประกอบการในปีแรกขาดทุน 675 บาท”


“เนี่ยนะ หมอนข้างยอดนิยม ปีแรกก็ขาดทุนย่อยยับ” ลิงหัวเราะ

“นี่แหละนายจ๋อ โลกธุรกิจที่แท้จริง ในโลกของการทำธุรกิจนั้นส่วนใหญ่ต้องลงทุนไปก่อน มีผลขาดทุนสักช่วงหนึ่ง ขึ้นอยู่กับลักษณะของกิจการ กิจการบางชนิดต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากก่อนที่จะมียอดขาย พวกนี้เรียกว่า capital intensive industry ยกตัวอย่างเช่น โรงกลั่น โรงงานปิโตรเคมี ผู้ให้บริการโทรคมนาคม โรงถลุงเหล็ก พวกนี้ต้องลงทุนมหาศาล ทำเล็กๆไม่ได้

“โรงงานผลิตสินค้าโดยทั่วไปก็เป็น capital intensive เพราะต้องสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักร แต่ระดับความเข้มข้นว่าต้องลงทุนมากมายขนาดไหนก็แล้วแต่อุตสาหกรรมไป ซึ่งอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูงพวกนี้สองสามปีแรกมักมีผลประกอบการขาดทุน คือคืนทุนไม่เร็วนักนั่นเอง ผู้ที่ลงทุนต้องทำใจเอาไว้เลยว่าหวังผลระยะยาว ดังนั้นที่นายจ๋อซื้อหุ้นแล้วราคาร่วงลงไปหน่อยก็มาบ่นว่าติดดอยนั้น ผู้ที่เป็นเถ้าแก่จะคิดแบบนั้นไม่ได้ บางทีเราก็ต้องเอาแนวคิดแบบเถ้าแก่ลงทุนทำธุรกิจมาใช้กับการลงทุนในหุ้นบ้าง เพราะว่าก็เหมือนกับว่าเรากำลังทำธุรกิจ” ลุงแมวน้ำพูด

“ฮิฮิ น้าจ๋อโดนสวนกลับเลย” กระต่ายน้อยหัวเราะชอบใจ

ลุงแมวน้ำหยิบตารางออกมาอีกแผ่นหนึ่ง แล้วพูดว่า


ผลการดำเนินงานของโรงงานลุงแมวน้ำ ปีที่ 1 ขาดทุน 675 บาท พีอีเป็น n/a


“เอาละ ลุงสรุปบัญชีของปีแรกมาให้ดูกันแบบสั้นๆ ลองดูนี่ ยอดขาย 35 ชิ้น ได้เงินมา 3500 บาท แต่ว่าต้นทุนทั้งหมด 4175 บาท ดังนั้นขาดทุน -675 บาท อัตราการเติบโตของยอดขาย กับอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ ยังคำนวณไม่ได้ เพราะว่าเป็นปีแรก ดังนั้นจึงใส่ว่า n/a เอาไว้ หมายความว่า not available คือช่องนั้นไม่มีข้อมูล

“เอ๊ะ แล้วช่องที่เป็นค่า P/E ล่ะลุง ทำไมเป็น n/a ด้วย” ยีราฟถามบ้าง “ค่านี้มาจากราคาหารด้วยกำไรสุทธิต่อหุ้นใช่ไหม ฉันว่าคำนวณได้นะ คือ P เป็น 100 บาทต่อหุ้น ส่วนกำไรสุทธิต่อหุ้นก็คือ eps ที่ลุงให้มาในตาราง -0.68 ดังนั้น P/E ก็คือ 100/-0.68 ก็คำนวณได้นี่จ๊ะลุง ฉันกดเครื่องคิดเลขได้ผลลัพธ์ -147 เท่า”

“แม่ยีราฟถามได้ดีมาก” ลุงแมวน้ำชม และอธิบาย“ในทางคณิตศาสตร์ ค่า P/E เป็นค่าลบนั้นเกิดขึ้นได้ก็จริง แต่ในเชิงการตีความ ค่า P/E เป็นลบตีความไม่ถูก เพราะเราอยากรู้ว่าราคาหุ้นเป็นกี่เท่าของกำไรสุทธิ หากค่านี้เป็นลบก็จินตนาการไม่ถูกว่ามันกี่เท่ากันแน่ ดังนั้นในทางปฏิบัติ ปีใดที่ผลประกอบการขาดทุน ปีนั้นถือว่าไม่มีค่าพีอี และเราจะเขียนว่า n/a แทน เราจะคำนวณเฉพาะปีที่มีกำไรเท่านั้น ค่าที่ได้จะได้ตีความได้อย่างมีความหมาย”

ลุงแมวน้ำหยุดนิดหนึ่ง แล้วจึงบรรยายต่อ พร้อมกับหยิบตารางให้ดูอีกตารางหนึ่ง


ผลการดำเนินงานของโรงงานลุงแมวน้ำ ปีที่ 2 เริ่มมีกำไร ค่าพีอีสูงลิ่ว



“เราจินตนาการกันต่อไปอีก สมมติว่าปีที่สองมียอดขาย 45 ชิ้น  ขายดีขึ้นมาหน่อย ผลประกอบการปีที่สองนี้ได้กำไรมาอย่างเฉียดฉิว คือมีกำไรเพียงนิดเดียว 275 บาท”

“โรงงานของลุงนี่น่าสงสารจังเลยฮะ ทำมาสองปีเพิ่งได้กำไรสองร้อยกว่าบาท” กระต่ายน้อยพูด

“ถูกใจมาก ขอตีมือหน่อย” ลิงหัวเราะถูกใจพร้อมกับยกมือขวาขึ้น ส่วนกระต่ายน้อยก็ยกเท้าหน้าขึ้นตีกับมือของลิงจ๋อ

ลุงแมวน้ำอธิบายตารางต่อไป

“ลองมาดูตารางในคอลัมน์ของปีที่สองกัน จะเห็นว่าปีนี้มีกำไร แม้จะนิดเดียวแต่ก็ทำให้ค่า eps หรือกำไรสุทธิต่อหุ้น (earning per share) เป็นบวก ดังนั้นจึงคำนวณค่า P/E ได้ พร้อมกันนั้นก็ยังคำนวณค่าอัตราการเติบโตของยอดขายได้ด้วย”

“โอ้โฮ ลุงแมวน้ำ ค่าพีอีตั้ง 363.64 เท่า ทำไมสูงมากขนาดนั้น” ยีราฟอุทาน

“ก็เพราะว่าผลกำไรนิดเดียวไง ค่าพีอีจึงสูง แม่ยีราฟพอเห็นภาพหรือยังว่าหุ้นที่ค่าพีอีสูงมีความหมายว่าอย่างไร” ลุงแมวน้ำตอบ

“ฉันพอเห็นภาพแล้วจ้ะลุง ที่ลุงบอกว่าค่าพีอียิ่งสูงก็คือความคุ้มค่ายิ่งน้อย” ยีราฟตอบ “หุ้นนี้ไม่ค่อยน่าซื้อเลย พีอีสูงลิ่ว”

“แต่แม่ยีราฟดูในตารางให้ดีๆ เห็นบรรทัดที่บอกว่าอัตราการเติบโตของยอดขายไหม” ลุงแมวน้ำชี้ให้ดูในตาราง

“จ้ะ เห็น” ยีราฟพูด “ปีที่แล้วคำนวณไม่ได้ แต่ปีนี้คำนวณได้ ยอดขายของปีนี้โตขึ้น 29% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว”

“แล้วแม่ยีราฟไม่สนใจบ้างหรือไง ยอดขายโต 29% เชียวนะ ถือว่าการเติบโตสูงทีเดียว” ลุงแมวน้ำพูด

“เอ้อ...” ยีราฟอึกอัก ชักลังเล “ตกลงว่าหุ้นโรงงานหมอนข้างนี่มันน่าซื้อหรือไม่น่าซื้อกันแน่ ฉันงงแล้วนะ”

“ก็นี่แหละ ลูกเต๋ายังมีตั้ง 6 ด้าน โลกนี้ก็ยิ่งมีมากมายหลายมุมมอง หากมองจากค่าพีอี หุ้นนี้ก็ไม่น่าซื้อ หากมองจากอัตราการเติบโต หุ้นนี้ก็น่าซื้อมาก” ลุงแมวน้ำพูด

“มิน่าล่ะลุง ยังงี้นี่เอง” ลิงเอาหางเคาะหัวตัวเองเบาๆ “ผมเข้าใจแล้วล่ะ”

“นายจ๋อเข้าใจว่ายังไง” ยีราฟถาม

“ก็ตอนก่อนที่ฉันจะซื้อหุ้น ก็มักมีคนมาแนะนำยังงั้นยังงี้ พอฉันเห็นว่ามันน่าจะดีก็ซื้อไป แล้วก็ติดดอย” ลิงพูด “ลุงแมวน้ำกำลังจะบอกว่าใครที่อยากเชียร์หุ้นก็มักเอาข้อมูลด้านดีๆมาบอกแก่นักลงทุน ส่วนตัวเลขที่ไม่ค่อยสวยก็เก็บเอาไว้ไม่บอก ใช่ไหมลุง”

“ที่นายจ๋อพูดก็มีส่วนถูก ลุงกำลังจะบอกว่าข้อมูลของหุ้นมีหลายแง่หลายมุม บางค่าดูดี บางค่าดูไม่ดี แต่สุดท้ายหุ้นตัวนี้มันน่าลงทุนไหมล่ะ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่พวกเรานักลงทุนต้องรู้จักใช้ข้อมูลและนำมาตัดสินใจให้เหมาะสม ลองมาดูผลงานปีที่สามกันต่อดีกว่า” ลุงแมวน้ำพูด พลางหยิบตารางออกมาอีกแผ่นหนึ่ง


ผลการดำเนินงานของโรงงานลุงแมวน้ำ ปีที่ 3 เกำไรเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเติบโตกลับลดลง



“สมมติว่าปีที่สามยอดขายดีขึ้นกว่าเดิมอีก ปีนี้ขายได้ 55 ชิ้น ปีนี้ได้กำไร 1225 บาท ลุงมีข้อสังเกต 3 ข้อ คือ

“ข้อแรก ปีที่สามนี้กำไรดีกว่าปีที่สอง แต่สังเกตไหมว่าอัตราการเติบโตของยอดขายลดลง เหลือเพียง 22% 

“ข้อสอง ปีที่สามนี้เนื่องจากกำไรสุทธิโตขึ้น ดังนั้นค่าพีอีจึงลดลงเหลือ 81.63 เท่า

“ข้อสาม ปีที่สามนี้มีค่าที่คำนวณได้เพิ่มมาอีกหนึ่งค่า นั่นคือ อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ เดิมทีคำนวณไม่ได้เพราะค่าติดลบ ปีนี้ไม่ติดลบแล้ว กำไรสุทธิของปีที่สามนี้โตเป็น 345% เมื่อเทียบกับปีที่สอง 

“โห อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิดีเว่อเลย” ลิงอุทาน “ถ้าใครมาบอกผมว่าหุ้นนี้เติบโต 345% ผมคงต้องรีบซื้อแน่”

“ใจเย็นๆ นายจ๋ออย่าเพิ่งรีบตัดสินใจ คราวนี้ลุงให้พวกเราทุกคนดูผลประกอบการไปจนถึงปีที่ 7 เลย ลองดูตามนี้” ลุงแมวน้ำพูดจบก็หยิบตารางมาให้ดูอีก


ผลประกอบการ 7 ปี ของโรงงานของแมวน้ำ



“สมมติว่าปีที่สี่ ปีที่ห้า และปีที่หก มียอดขาย 65 ชิ้น 75 ชิ้น และ 85 ชิ้นตามลำดับ ปีที่เจ็ดก็ขายได้ 85 ชิ้น บัญชีของกิจการก็จะเขียนสั้นๆได้ดังที่เห็นนี้

“แต่ขอให้สังเกตว่าตั้งแต่ปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ยอดขายเติบโตขึ้นทุกปี กำไรเพิ่มมากขึ้นทุกปี อัตราการเติบโตกลับลดลง ทั้งอัตราการเติบโตของยอดขาย และของกำไรสุทธิ ต่างก็ลดลงเรื่อยๆ ทั้งๆที่ปีหลังๆกำไรยิ่งมาก”

“จริงด้วยลุง แล้วมันเพราะอะไรล่ะ กำไรดีขึ้นแต่อัตราเติบโตลดลง” ลิงสงสัย

“นี่คือการเล่นกับตัวเลขในรูปแบบหนึ่ง ปีหลังอัตราลดลงเพราะว่าการคำนวณนั้นใช้ฐานจากปีก่อนหน้า หากฐานสูง ผลคำนวณที่เป็นร้อยละจะค่อยๆลดลง ดังนั้น การอ่านและทำความเข้าใจกับตัวเลขร้อยละเป็นเรื่องที่ต้องระวังอย่างมาก ตัวเลขเปอร์เซ็นต์นี้มักสร้างความสับสนแก่นักลงทุน ทำให้นักลงทุนเกิดภาพที่ดูดีเกินจริงก็ได้ เหมือนอย่างในปีต้นๆที่อัตราการเติบโตเป็นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งๆที่กำไรนิดเดียว นั่นคือดูดีเกินจริง และก็ให้ภาพที่ดูแย่กว่าความเป็นจริงก็ได้ ดังเช่นอัตราเติบโตในปีหลังๆ แม้แต่ลุงแมวน้ำเอง หากอ่านข้อมูลที่รายงานเป็นร้อยละเยอะๆ ลุงก็มึน คิดไม่ออกเหมือนกัน ซึ่งปัจจุบันนี้การรายงานข้อมูลเป็นร้อยละ ในข่าวต่างๆมีเยอะมาก บางเรื่องอ่านแล้วแยะแยะไม่ถูกหรอก อย่างเช่นการเติบโตของจีดีพี หรือยอดการส่งออก นี่พูดเป็นร้อยละกันหมดตลอดทั้งชิ้นข่าว สรุปแล้วคือลุงงง” ลุงแมวน้ำพูด

“แล้วทำยังไงจึงจะมองภาพตามที่มันเป็นจริงได้ละจ๊ะลุง” ฮิปโปถามบ้าง

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟออกมาให้ดูกัน


กราฟแสดงยอดขาย (revenue) และกำไรสุทธิ (netprofit, net income) ของโรงงานลุงแมวน้ำ



ข้อมูลเชิงร้อยละทำให้เกิดภาพลวงตา อาจกลายเป็นกับดักนักลงทุนได้ ทางที่ดี เราไม่ต้องไปดูข้อมูลร้อยละ ดูข้อมูลยอดขาย กำไรสุทธิ ในรูปกราฟดีกว่า ลองดูในภาพนี้สิ ภาพนี้กราฟเส้นสีฟ้าคือยอดขาย ส่วนกราฟแท่งสีเหลืองคือกำไรสุทธิ หากดูในรูปกราฟจะเห็นได้ชัดเลย ไม่หลอกความรู้สึก จะเห็นว่ายอดขายและกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปีแรกขาดทุนเพียงปีเดียว

“ส่วนค่าพีอีนั้น สมมติว่าราคาหุ้นคงที่ไม่มีเปลี่ยนแปลงเลย ค่าพีอีก็จะลดลงเรื่อยๆ ดังที่เห็น ลุงขอถามแม่ฮิปโป แม่ฮิปโปเห็นกราฟรูปนี้แล้วรู้สึกคุ้นๆไหม”

“ไม่เลยลุง” ฮิปโปปฏิเสธ “ฉันเพิ่งศึกษา ยังไม่ค่อยเข้าใจนักหรอก นายจ๋อเห็นอะไรคุ้นๆบ้างไหม ช่วยตอบหน่อยสิ”

“ผมก็ว่าคุ้นๆนะลุง มันจะเกี่ยวกับวัฏจักรไหม” ลิงถาม

“ถูกต้องนะคร้าบ” ลุงแมวน้ำตอบ “เก่ง”

จากนั้นลุงแมวน้ำก็หยิบกราฟออกมาอีกหนึ่งแผ่น


ยอดขายและกำไรสุทธิสะท้อนให้เห็นวัฏจักรของกิจการ



“ลองดูนี่สิ ลุงเอาภาพวัฏจักรของกิจการมาซ้อนให้ดู คราวนี้พอนึกออกหรือยัง” ลุงแมวน้ำถาม

“ว้าว โรงงานของลุงแมวน้ำปีที่ 7 ยอดขายไม่โตเลย แสดงว่าใกล้จะเจ๊งแล้วสิฮะ” กระต่ายน้อยหัวเราะร่าพลางแทะแครอตอย่างเพลิดเพลิน

“ดูเจ้านี่สิลุง แสบดีไหม” ลิงอดหัวเราะไม่ได้ ทุกตัวต่างก็ขำในความซ่าของกระต่ายน้อย

“ลุงขออธิบายกราฟนี้ให้พวกเราฟัง อยากให้พยายามทำความเข้าใจให้ดี เพราะสำคัญมาก



พีอี (P/E ratio) สูงก็ลงทุนได้หากเป็นหุ้นตั้งไข่หรือหุ้นฟื้นไข้ (หุ้นเทิร์นอะราวด์)



“โรงงานของลุงเป็นไปตามวัฏจักรธุรกิจทั่วไป คือปีหรือสองปีแรกก็ขาดทุน จากนั้นจึงเริ่มมีกำไรนิดหน่อย ช่วงนี้คือช่วงที่ธุรกิจอยู่ในขั้นตั้งไข่ หลังจากนั้นธุรกิจก็จะมั่นคงและเริ่มเติบโตได้ดี เรียกว่าเข้าระยะเติบโต ในช่วงรอยต่อของระยะตั้งไข่กับระยะเติบโตนี้เอง ที่เราจะเห็นอัตราการเติบโตของยอดขายหรือของกำไรโตแบบเว่อๆ เพราะมาจากฐานที่ต่ำมาก รวมทั้งค่าพีอีก็จะสูงลิ่ว

“ต่อมาเมื่ออยู่ในระยะเติบโต อัตราการเติบโตทั้งของยอดขายและกำไรจะค่อยๆลดลงเพราะฐานการคำนวณที่ค่อยๆสูงขึ้น อันนี้เป็นเรื่องปกติ ส่วนค่าพีอีก็มักจะค่อยๆลดลง แต่พีอีขึ้นกับราคาหุ้นด้วย ดังนั้นหากราคาหุ้นไม่เปลี่ยนแปลงนักเราจึงจะเห็นค่าพีอีค่อยๆลดลง ถ้าราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงมาก ค่าพีอีก็เปลี่ยนแปลงมากด้วย นั่นก็ไปว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง

“ทีนี้มาดูที่ปีที่ 7 ยอดขายปีที่ 6 กับ 7 เท่ากัน ไม่โตเลย นั่นคือเข้าสู่ระยะอิ่ม หรืออิ่มตัวนั่นเอง การเข้าสู่ระยะอิ่มมีสองสาเหตุ นั่นคือ ยอดขายอิ่มตัว หรือกำลังการผลิตอิ่มตัว สำหรับกรณีของลุงนี้ยอดขายไม่โตไม่ใช่เพราะว่าตลาดอิ่มตัว แต่เป็นเพราะโรงงานของลุงผลิตได้เต็มที่ 85 ชิ้นต่อปีไงล่ะ เต็มที่ก็ได้เท่านี้ หากมีความต้องการมากกว่านี้ลุงก็สนองไม่ได้ ดังนั้นกำไรจึงเต็มที่เท่านี้”

“ผมยังสงสัย แล้วภาพนี้มีระยะ อืด ไหม” ลิงถาม

“ระยะอืดที่จริงลุงเพิ่มขึ้นมา ปกติมันแฝงอยู่ในระยะเติบโต คือเมื่อเติบโตไปนานเข้าก็จะเริ่มอืดอาด ระยะอืดคือปลายของระยะเติบโตนั่นเอง สำหรับโรงงานที่ลุงสมมตินี้ดูจากกราฟจะเห็นว่าไม่มีระยะอืด คือโตแล้วเข้าอิ่มไปเลย แต่นี่คือเรื่องสมมติใน ในธุรกิจจริงมักมีระยะอืดเกิดขึ้น คือเริ่มอืดอาด จากนั้นก็เข้าสู่ระยะอิ่ม คืออิ่มตัว” ลุงแมวน้ำอธิบาย

“ชักจะงง” ลิงเกาหัว

ลุงแมวน้ำหยิบภาพออกมาให้ดูอีก


การยืดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ออกไปโดยการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อาจเสื่อมความนิยมจากคู่แข่ง หรือจากความล้าสมัยของตัวผลิตภัณฑ์เอง การปรับปรุงผลิตภัณฑ์อาจช่วยเพิ่มยอดขายได้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่ต้องเดินไปสู่จุดจบ



“อย่าเพิ่งงง ลองดูภาพนี้อีก ภาพนี้เราเคยดูกันมาแล้ว” ลุงแมวน้ำพูด

“ดูเหมือนจะเป็นเรื่องการต่อยอดวัฏจักร” ลิงทบทวนความจำ

“ใช่แล้ว ที่ลุงเคยบอกไงว่าเมื่อกิจการเข้าระยะเสื่อมถอย ทางแก้ก็คือต้องต่อยอดกิจการ หากการต่อยอดทำได้ดี ยอดขายที่ตกต่ำก็จะกลับฟื้นขึ้นมา เสมือนคนฟื้นไข้นั่นเอง หรือที่เราเรียกกันว่า หุ้นเทิร์นอราวด์ (turnaround stock) นั่นเอง และที่ลุงจะบอกก็คือ ระยะตั้งไข่กับระยะฟื้นไข้นั้น มีอาการเดียวกัน นั่นคือ ยอดขายตก ขาดทุน แล้วกลับมาฟื้นมีกำไร”


ตั้งไข่ ฟื้นไข้ คลื่นยอดปรารถนา



ลุงแมวน้ำยังไม่หยุดอธิบาย หยิบภาพออกมาอีกภาพหนึ่ง


คลื่นอีเลียตเปรียบเทียบกับวัฏจักรของกิจการ



“นี่ก็เป็นภาพที่เราเคยดูกันมาแล้ว จำได้ไหม” ลุงแมวน้ำถาม

“จำได้ฮะลุง ภาพคลื่นอีเลียตกับวัฏจักรของกิจการ” กระต่ายน้อยรีบตอบบ้าง

“ใช่แล้ว” ลุงแมวน้ำพูด “ทีนี้ก็มาถึงขั้นบูรณาการ เอาความรู้ที่เราคุยกันในวันนี้มาปะติดปะต่อให้เป็นความู้ในการลงทุน”

“ยังไงกันลุง” ลิงสงสัย

“ลองฟังลุงนะ” ลุงแมวน้ำพูด “จากทุกอย่างที่เราคุยกัน นำมาบูรณาการ ก็ได้ความว่า กิจการในระยะตั้งไข่ กับระยะฟื้นไข้นั้น มีลักษณะที่น่าสังเกตคือมีค่าพีอีสูงมาก รวมทั้งอัตราการเติบโตก็สูงมากด้วยเช่นกัน ซึ่งหากเทียบกับคลื่นอีเลียตก็คือช่วงรอยต่อระหว่างคลื่น 2 กับคลื่น 3 นั่นเอง และเมื่อเข้าคลื่น 3 แล้วอัตราการเติบโตจะค่อยๆลดลง รวมทั้งค่าพีอีก็มักลดลงด้วย ซึ่งจังหวะที่กิจการเข้าสู่ระยะเติบโตหรือต้นคลื่นสามนี้แหละเป็นจังหวะการลงทุนที่เป็นยอดปรารถนาของทั้งสายวีไอปัจจัยพื้นฐานและสายเทคนิค ดังนั้นแม้กิจการจะมีค่าพีอีสูง หรือมีอัตราการเติบโตที่ลดลง แต่เราต้องพิจารณาว่ากิจการอยู่ในขั้นอะไร หากเป็นขั้นเติบโตหรือคลื่น 3 ละก็สามารถลงทุนได้ ดังนั้นลุงตอบคำถามแม่ยีราฟแล้วนะ ว่าพีอีสูงลงทุนได้หรือไม่”

“แล้วมันลงทุนได้หรือไม่จ๊ะลุง” ยีราฟถามอีก

“โอย จะบ้าตาย” ลิงเอาหางเคาะหัวตัวเอง

No comments: