Friday, October 17, 2014

หุ้นพีอีต่ำ หุ้นแม่ไก่ไข่ (1)


เครื่องเล่นวิทยุและเทปคาสเซ็ต วอล์กแมน (Walkman) แกดเจ็ตประจำตัวยอดนิยมในหมู่วัยรุ่นแห่งยุค 1980s ตัวเครื่องเหน็บไว้ที่เข็มขัด เสียงดีมาก สินค้าเด่นของโซนี่

สินค้าเด่นอีกชนิดของโซนี่คือทีวีสี ราคาสูงแต่สีสันสดใส แบรนด์ทีวีสีโซนี่เป็นแบรนด์ที่มีความเข้มแข็งมาก รุ่นที่เห็นในภาพนี้เป็นรุ่นกีราราบาสโซ (Kirara Basso) ในยุค 1990s ใช้เทคโนโลยีหลอดภาพซูเปอร์ไตรนิตรอน สีสวย เสียงดีอีกด้วย ยังเป็นหลอดภาพคาโทดอยู่ ตัวหลอดภาพใหญ่และหนักมาก


หมู่นี้บรรดาสมาชิกในคณะละครสัตว์ที่ลงทุนในหุ้นต่างก็มาสรวลเสเฮฮาที่ศาลาในสวนกันเป็นประจำหลังจากเสร็จสิ้นการแสดง ทั้งเป็นการพักผ่อนหลังเลิกงานและยังเป็นการสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ บ้างก็คุยอวดหุ้นที่ตนเองถืออยู่ ลุงแมวน้ำเองก็ชอบมาสังสรรค์ด้วย

“ลุงแมวน้ำ กำลังบ่นถึงลุง ลุงก็มาเชียว” ลิงจ๋อทักทาย

“บ่นถึงลุงอยู่หรือ มีขนมมาฝากหรือไง” ลุงแมวน้ำพูดพลางกระดืบเข้ามาในศาลาชมสวน “โอย แสดงจนเมื่อย มีขนมกินสักหน่อยก็ดี”

“เปล่าครับ ไม่ได้มีขนมมาฝาก” ลิงพูดหน้าตาเฉย “มีเรื่องจะถามต่างหาก”

“โห นี่ลุงพูดขนาดนี้แล้วยังเฉยอยู่อีกหรือ” ลุงแมวน้ำทึ่ง

“ลุงกล้าทวง ผมก็กล้าไม่ให้” ลิงหัวเราะ พลางเอาหางเกี่ยวเอาถุงพลาสติกใบหนึ่งออกมาจากข้างหลัง “ล้อเล่นน่ะลุง นี่ครับ วันนี้มีน้ำปั่นของโปรดของลุงมาฝาก”

“แบบนี้ค่อยยังชั่ว” ลุงแมวน้ำดูดน้ำปั่นชื่นใจ “นายจ๋อจะถามอะไรล่ะ”

ลิงหยิบกราฟแผ่นหนึ่งออกมาให้ลุงแมวน้ำดู





“นี่เป็นกราฟหุ้น PSL ที่วันก่อนลุงเอามาให้มดู ผมยังสงสัยอยู่ ที่ลุงบอกว่าหุ้นในระยะตั้งไข่มักมีค่าพีอีสูง แต่ก็ยังพิจารณาลงทุนได้ แต่ลุงดูในรูปนี้สิ ก่อนหน้านั้น คือในปี 2010, 2011 หุ้น PSL นี้มีค่าพีอีต่ำ แปลว่าช่วงนี้ยิ่งน่าลงทุนเข้าไปใหญ่ใช่ไหม” ลิงถาม

“ดีแล้วที่นายจ๋อถามเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะลุงเองก็อยากย้ำในเรื่องนี้เพื่อความกระจ่างอยู่เหมือนกัน” ลุงแมวน้ำพูด “นั่นคือ ปกติหุ้นที่มีค่าพีอีสูงก็คือหุ้นที่มีราคาแพงนั่นเอง ของแพงมากๆก็ไม่ค่อยน่าลงทุนเท่าไร ยกเว้นกรณีที่เป็นหุ้นฟื้นไข้ เพราะหุ้นพวกนี้เมื่อหายไข้แล้วผลงานก็จะกลับมาโดดเด่นอีก ดังที่ลุงได้อธิบายไปแล้ว แต่ที่อยากย้ำก็คือต้องพิจารณาให้ดีว่าหุ้นที่เราสนใจอยู่ในเป็นหุ้นฟื้นไข้จริงๆ เนื่องจากหุ้นปั่นก็มีค่าพีอีสูงเช่นกัน แต่ไม่ได้มีปัจจัยอะไรมารองรับ

“และนอกจากนี้ แม้ว่าจะพิจารณาแล้วว่าน่าจะเข้าข่ายหุ้นฟื้นไข้ แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการเข้าลงทุนในระยะที่เพิ่งฟื้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ค่าพีอีสูงมาก อาจเป็นหลายร้อยเท่า และนอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะฟื้นไข้ไม่สำเร็จอีกด้วย ควรรอให้ฟื้นได้จริงและเข้าสู่ระยะต้นระยะเติบโตก่อนจะดีกว่า หากมองเป็นคลื่นอีเลียตก็คือรอให้จบคลื่น 2 ไปก่อนและเข้าคลื่น 3 แล้ว เราก็ซื้อที่ต้นคลื่น 3 นั่นเอง” ลุงแมวน้ำร่ายยาว

“เข้าใจแล้วครับลุง” ลิงแกว่งหางไปมาแสดงว่าเข้าใจ


P/E ratio เท่าไรจึงเรียกว่าถูก


“ทีนี้ก็มาถึงคำถามของนายจ๋อ ที่ถามว่าปี 2010, 2011 ในช่วงที่ค่าพีอีต่ำ แปลว่ายิ่งกว่าลงทุนกว่าช่วงปี 2012, 2013 ใช่ไหม คำตอบก็คือไม่ใช่” ลุงแมวน้ำตอบจากนั้นก็นิ่งเงียบไป

“โห ลุงตอบสั้นๆแค่นี้เลยนะ อธิบายหน่อยสิคร้าบ” ลิงหัวเราะ

“เดี๋ยวสิ กำลังเตรียมกราฟอยู่” ลุงแมวน้ำพูด พลางหยิบกระดาษแผ่นหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย

กระต่ายน้อยชอบใจหัวเราะร่า

“หูกระต่ายของลุงแมวน้ำนี่ดีจัง เอาไว้เมื่อไรที่ผมเบื่อหมวกนักมายากล จะมาขออาศัยในหูกระต่ายบ้างดีกว่า”

ลุงแมวน้ำหัวเราะขำกระต่ายน้อย แล้วพูดต่อ

“ก่อนอื่น เราพูดกันในประเด็นพีอีถูก พีอีแพง กันว่าก่อน ว่าพีอีระดับในเรียกว่าถูก เรื่องความถูกแพงนั้นไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่เป็นเรื่องการเปรียบเทียบมากกว่า โดยเราเปรียบเทียบกับพีอีของตลาด และพีอีของอุตสาหกรรม

“แต่ลุงยังไม่ลงรายละเอียดดีกว่า ในชั้นนี้ถือว่าในภาวะที่ตลาดไม่ร้อนแรง พีอีของตลาดหรืออีกนัยหนึ่งคือพีอีของดัชนีเซ็ต มักเทรดกันที่ระดับพีอี 10 เท่าถึง 15 เท่า ดังนั้นหุ้นใดที่ค่าพีอีสูงกว่า 15 ก็เท่าถือว่าเริ่มแพงแล้วล่ะ ถือหลักนี้ไปก่อนก็แล้วกัน

“ทีนี้มาถึงหุ้น PSL ที่นายจ๋อถาม ค่าพีอี 16 เท่า 18 เท่า ในภาวะที่ตลาดไม่ร้อนแรงก็ไม่ถือว่าราคาถูก แต่ลุงอยากบอกว่าหุ้นพีอีสูงอย่าคิดว่าแพงเสมอไป ในทางตรงกันข้าม หุ้นพีอีต่ำก็ใช่ว่าจะถูกเสมอไป ดังนั้นการเลือกหุ้นด้วยค่าพีอี ต้องทำความเข้าใจกับตัวหุ้นและที่มาที่ไปของพีอีด้วยว่าอยู่ในระยะใดของวัฏจักรหุ้น” ลุงแมวน้ำอธิบาย

“แล้วทำยังไงถึงจะเข้าใจล่ะลุง ลุงก็บอกหน่อยสิ” ลิงถามอีก

“ถ้าอย่างนั้นวันนี้เรามารู้จักกับหุ้นแม่ไก่ไข่กัน” ลุงแมวน้ำพูด “วันก่อนเราคุยกันเรื่องหุ้นตั้งไข่ หุ้นฟื้นไข้ วันนี้เป็นหุ้นแม่ไก่ไข่” ลุงแมวน้ำพูด

“ลุงแมวน้ำคุยไปคุยมาก็หนีไม่พ้นเรื่องไข่ไก่” ยีราฟพูดบ้าง “ทำไมลุงไม่พูดเรื่องถั่วฝักยาวบ้างล่ะ”

“หยุดเดี๋ยวนี้เลยแม่ยีราฟ” ลิงรีบพูด “เธออย่าวกเข้าไปที่ไร่ถั่วฝักยาวอีกเชียว ฉันฟังแล้วปวดหัว”

“แหม ฉันเพิ่งพูดนิดเดียวเอง” ยีราฟจ๋อย “ยังไม่พูดก็ได้”

“ยังงั้นลุงพูดเรื่องหุ้นแม่ไก่ไข่ละนะ” ลุงแมวน้ำพูดขัด “หุ้นแม่ไก่ไข่ของลุงยังแบ่งเป็นแม่ไก่สาวและแม่ไก่วัยกลาง”

“ยังมีแบ่งย่อยอีก ชักเริ่มสนุกแล้ว ลุงต้องมีนิทานอีกแน่เลย รีบเล่าเลยฮะลุง” กระต่ายพูดพลางหยิบแครอตออกมากินอย่างอร่อย “ขอผมแทะกินรอตไปด้วยนะฮะ ผมหิวบ่อย”


กรณีศึกษา บริษัทโซนี่ (SONY Corporation, SNE) ความสัมพันธ์ของรายได้และกำไรของกิจการ กับราคาหุ้นและพีอี


“เรื่องที่เราจะคุยกันในวันนี้ก็ยังเกี่ยวกับค่า P/E ratio แต่เป็นการมองค่าพีอีจากมุมที่แตกต่างไปจากที่เราคุยกันในวันก่อน แต่ก็ยังหนีไม่พ้นไปจากเรื่องของโค้งระฆังคว่ำหรือวัฏจักรเศรษฐกิจ วัฏจักรกิจการ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำหรับเรื่องที่เราจะพูดคุยกันต่อไปอีกมาก” ลุงแมวน้ำพูด หยุดนิดหนึ่ง แล้วพูดต่อ “ก่อนที่จะไปคุยเรื่องหุ้นแม่ไก่ไข่สาว และหุ้นแม่ไก่ไข่วัยกลาง ลุงขออารัมภบทด้วยกรณีเรื่องบริษัทโซนี่ก่อน ใครรู้จักบริษัทโซนี่บ้าง”

“สินค้าญี่ปุ่นน่ะลุง เขาไม่นิยมกันแล้วมั้ง เดี๋ยวนี้เขานิยมสินค้าเกาหลีกัน” สิงโตพูดบ้าง

“ใช่แล้ว บริษัทโซนี่เป็นบริษัทญี่ปุ่น เดิมทีผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานมาก ลุงขอเล่าคร่าวๆให้ฟังก่อน วันนี้เราจะโกอินเตอร์ ไปคุยกันเรื่องหุ้นต่างประเทศกันบ้างเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ”

“เดี๋ยวก่อนลุง สงสัยๆ” ลิงถาม “ทำไมไม่ยกตัวอย่างหุ้นไทยล่ะ”

“ก็เพราะว่าลุงต้องการหุ้นที่มีประวัติยาวนานมากๆน่ะสิเพื่อให้เห็นวัฎจักรของธุรกิจได้อย่างชัดเจน หุ้นไทยประวัติยังยาวไม่พอ ลุงจึงต้องใช้หุ้นต่างประเทศ”

ลุงแมวน้ำพูดจบก็ดึงกราฟออกมาจากหูกระต่ายและกางออก


รายได้ของบริษัทโซนี่ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกไปทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 1970 ถึง 2013 เส้นกราฟรายได้แสดงระยะตั้งไข่ เติบโต และอิ่มตัว


“บริษัทโซนี่เป็นบริษัทญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่สองหรือเมื่อประมาณ 60 กว่าปีมาแล้ว ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านเมืองญี่ปุ่นเสียหายยับเยิน ญี่ปุ่นก็เริ่มสร้างชาติขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่งจากซากปรักหักพัง ญี่ปุ่นต้องการเติบโตเร็วจึงเลียนลัดด้วยการลอกแบบสินค้าอเมริกัน แต่ผลิตในราคาที่ถูกกว่า ภาพลักษณ์ของสินค้าญี่ปุ่นในยุค 40-50 ปีก่อนคือเป็นนักก๊อปปี้ สินค้าที่ตีตรา Made in Japan เป็นสินค้ายอดนิยม เพราะเป็นของดีราคาถูก ส่วนสินค้าพวก Made in USA หรือ Made in Germany ถือว่าของดีราคาแพง

“บริษัทโซนี่ก็เกิดมาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ดั้งเดิมก็ผลิตพวกวิทยุทรานซิสเตอร์ ขายในประเทศและส่งออกด้วย ก็ขายดิบขายดี มีกำไร แต่ญี่ปุ่นเป็นชาตินักพัฒนา ไม่ได้ก๊อปอย่างเดียว แต่เป็น C&D คือ copy and development นั่นคือก๊อปไปด้วยพํฒนาไปด้วย สินค้าของญี่ปุ่นจึงมีคุณภาพดี และต่อมาราคาก็แพงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นสินค้าดีมีราคาเพราะนวัตกรรม ส่วนหนึ่งคงเนื่องจากต้องการหนีไต้หวันด้วย เพราะไต้หวันก็ก๊อปปี้สินค้าตะวันตกและผลิตขายในราคาถูกเช่นกัน ทำให้เกิดการแข่งขันและแย่งตลาดกัน

“ในยุค 1970-2000 ถือว่าเป็นยุคทองของบริษัทโซนี่ เพราะมีสินค้าที่โดนใจตลาด สร้างผลกำไรได้มาก อย่างเช่นเครื่องเสียงวอล์คแมน (Walkman) สมัยก่อนวัยรุ่นคนไหนไม่มีวิทยุเทปพกพาที่เรียกว่าวอล์กแมนก็ถือว่าเชย โทรทัศน์สีโซนี่ก็ได้รับความนิยมมากเพราะว่าสีสวยสดใส คุณภาพสีดีกว่ายี่ห้ออื่นๆ สรุปว่าเครื่องเสียงและโทรทัศน์เป็นผลิตภัณฑ์เด่นของโซนี่

“จากทศวรรษที่ 1970s ที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขายดี ในยุคทศวรรศที่ 1980s โซนี่ เป็นยุคที่บริษัทโซนี่เติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยการซื้อกิจการ ช่วงนั้นอเมริกาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ โซนี่ก็เข้าไปซื้อบริษัทหนังโคลัมเบียพิกเจอร์ส (Columbia Pictures) เสียเลย ยุคนั้นอเมริกาย่ำแย่ ต้องขายกิจการให้ต่างชาติเป็นจำนวนมาก และชาติที่ซื้อกิจการในอเมริกาไว้มากก็คือญี่ปุ่น

“ต่อมาในทศวรรษที่ 1990s โซนี่ก็ยังเติบโตต่อเนื่องจากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ พวกเครื่องเสียง โทรทัศน์ กล้องถ่ายภาพและกล้องถ่ายวีดิโอดิจิทัล เครื่องเล่นเกม คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กด้วย พร้อมทั้งกิจการด้านบันเทิงของกลุ่มโซนี่พิจกเจอร์ส (Sony Pictures) ซึ่งก็คือโคลัมเบียเดิม

“เอาละ คราวนี้เราดูที่กราฟกัน นี่เป็นกราฟยอดขาย (revenue) ของโซนี่ตั้งแต่ปี 1970 ที่ลุงบรรยายมา ลองดูกราฟนี้ จะเห็นวัฏจักรของกิจการได้ชัดเจนว่าเป็นทรงโค้งระฆังคว่ำ โดยกิจการเข้าสู่ระยะเติบโตตั้งแต่ปี 1985 โดยประมาณ โดยการควบรวมกิจการหรือการซื้อกิจการเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด รวมทั้งการขยายสายผลิตภัณฑ์ทดแทนผลิตภัณฑ์เดิมที่ล้าสมัย

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟอีกแผ่นหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย


กราฟรายได้ (revenue) และกำไรสุทธิต่อหุ้น (eps) ของโซนี่ตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา 


“เอาละ มาดูอีกภาพหนึ่งกัน กราฟที่แล้วเราดูรายได้ของกิจการ คราวนี้เราดูรายได้ของกิจการ และกำไรของกิจการพร้อมกันไป โดยกำไรของกิจการนี้ลุงใช้ค่ากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS, earning per share) เป็นตัวแทน” ลุงแมวน้ำพูด

“โอ๊ะ ลุง ทำไมปี 1995 ขาดทุนหนักขนาดนั้นล่ะ” ยีราฟยื่นคอยาวเหยียดชะโงกเข้ามาดูกราฟ และถาม

“ปีนั้นพิเศษหน่อย มีค่าตัดจ่ายค่ากู๊ดวิลล์ของกิจการโคลัมเบียที่ซื้อมา คือเป็นการขาดทุนทางบัญชีน่ะ ค่า EPS ปี 1995 ที่ขาดทุนหนัก ลุงขอข้ามรายละเอียดไปก่อน ถือเสียว่าขาดทุนทางบัญชี แต่ธุรกิจหลักรวมๆแล้วยังมีกำไรก็แล้วกัน หากอธิบายละเอียดจะงงหนัก” ลุงแมวน้ำตอบ

ลุงแมวน้ำหยุดนิดหนึ่ง จากนั้นพูดต่อ

“คราวนี้ตั้งใจดูดีๆ ค่อยๆคิดตาม ไม่ต้องใจร้อน เพราะกราฟเริ่มซับซ้อนขึ้น สังเกตว่าเส้นรายได้ (สีน้ำเงิน) เป็นระยะเติบโตจนถึงปี 2008 จากนั้นรายได้เริ่มมีปัญหา คือรายได้ไม่โตแล้ว นั่นคือ รายได้เริ่มเข้าระยะอิ่มตัวในปี 2008

“คราวนี้มีดูเส้นกำไร หรือว่าเส้น EPS สีส้ม จะเห็นว่าในเชิงเส้นกำไร โซนี่มีกำไรเติบโตแบบผันผวน กำไรขึ้นๆลงๆ และมาโตเต็มที่ในปี 1998 หลังจากนั้น แม้รายได้จะโตขึ้นแต่กำไรแย่ลง ถือได้ว่ากำไรเข้าสู่ระยะอิ่มตัวตั้งแต่ปี 1998”

“เดี๋ยวก่อนนะลุง ตกลงว่าระยะต่างๆของวัฎจักรเนี่ย ใช้กับรายได้หรือใช้กับกำไรกันแน่” ลิงจ๋อถาม

“ดีแล้วที่นายจ๋อถาม ลุงอยากให้พวกเราสงสัยประเด็นนี้กัน จึงได้พูดขึ้นมา” ลุงแมวน้ำพูด “ระยะต่างๆของวัฏจักรนั้นขึ้นกับว่าเราจะพิจารณาจากรายได้หรือกำไร รายได้ก็ว่าไปอย่าง กำไรก็ว่าไปอย่าง แต่โดยทั่วไปหากพิจารณาจากเส้นกำไร วัฏจักรมักเข้าสู่ระยะอิ่มตัวในตอนที่เส้นรายได้อยู่ในระยะอืดอาด คือเหลื่อมกันนิดหน่อย เส้นกำไรจะดำเนินไปก่อนเส้นรายได้” ลุงแมวน้ำตอบ

“แล้วดูจากกำไรหรือจากรายได้ อันไหนดีกว่ากันล่ะลุง” ยีราฟถามบ้าง

“ใช้ได้ทั้งคู่นั่นแหละ มีอะไรก็ใช้อย่างนั้น บางทีข้อมูลหายาก มีแต่ข้อมูลรายได้ เราก็พล็อตจากรายได้ บางทีหาได้แต่ข้อมูล EPS เราก็พล็อตจากค่า EPS คือมีอะไรก็ใช้อันนั้นนั่นแหละ แต่เมื่อเรารู้ว่าเส้นกำไรมักล่วงหน้าไปก่อนเส้นรายได้ ดูเส้นไหนเราก็สามารถตีความได้” ลุงแมวน้ำตอบ

“กรณีโซนี่ ลุงตีความยังไงละจ๊ะ” ฮิปโปอยากรู้

“จากกราฟรูปนี้บอกอะไรเราได้หลายอย่าง นั่นคือ

“พิจารณาช่วงตั้งแต่ปี 1998-2008 ก่อน ในช่วงนี้ผลกำไรของโซนี่เริ่มคงตัว ลุงถือว่าเข้าสู่ระยะอิ่มตัวแล้ว ในขณะที่รายได้ยังอยู่ในระยะเติบโตหรือเราจะจัดว่ารายได้อยู่ในระยะเติบโต ลุงแมวน้ำตีความว่าในช่วงนี้กิจการโซนี่มีต้นทุนสูงขึ้นมาก แม้ว่ายังโชคดีที่ยอดขายยังเติบโตอยู่ แต่ว่ารายจ่ายกินไปหมด คงเหลือแค่กำไรที่แค่ทรงตัว

“ส่วนปี 2009-2013 เป็นต้นไป รายได้ของโซนี่ทรงตัว ขยายต่อไปไม่ไหว ขณะเดียวกันรายจ่ายของกิจการก็มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นกิจการจึงเริ่มขาดทุนและขาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ รายได้อยู่ในระยะอิ่มตัว แต่ว่ากำไรเข้าสู่ระยะเสื่อมไปแล้ว”

“เส้นรายได้สวยดี เป็นโค้งระฆังเป๊ะเชียว แต่เส้นกำไร EPS เบี้ยวๆบูดๆ ไม่ค่อยเหมือนระฆังเลยลุง” ลิงทักท้วง

“เส้นสวยๆนั่นคือกราฟในอุดมคติ ลุงจึงได้ยกกรณีศึกษามาให้ดูกันยังไงล่ะ เพราะว่าชีวิตจริงไม่ได้มีอะไรที่เป็นอุดมคติได้ขนาดนั้น ก็เบี้ยวบูดไปบ้าง ก็ต้องพยายามตีความจากสิ่งที่เราเห็น”

ลุงแมวน้ำพูดพลางหยิบกราฟออกมาอีกรูปหนึ่ง


กราฟแสดงรายได้และกำไรสุทธิต่อหุ้นของบริษัทโซนี่ เปรียบเทียบราคาหุ้นและค่าพีอี สังเกตการเปลี่ยนแปลงของกำไรและราคาหุ้น


“คราวนี้ลองมาดูกันว่าผลประกอบการของโซนี่ ทั้งรายได้และกำไรของกิจการ มีผลต่อราคาหุ้นและค่าพีอีอย่างไร ราคาหุ้นกับพีอีนี้เป็นราคาหุ้นกับพีอี ณ เวลาสิ้นปี ไม่ใช่ค่าเฉลี่ยตลอดปี ก่อนปี 1985 ลุงไม่มีข้อมูล หาไม่ได้ ดังนั้นก็ใช้เท่าที่หามาได้ละกัน ลองดูว่าเป็นอย่างไร ลองเอาไปดูและคิดดูก่อนว่าได้อะไรจากกราฟเหล่านี้บ้าง แล้วครั้งหน้าเรามาคุยกันต่อ น้ำปั่นละลายหมดแล้ว ลุงยังไม่ได้กินเลย มัวแต่คุย ขอพักดูดน้ำปั่นก่อน”

No comments: