Wednesday, October 8, 2014

หุ้นไม่มีค่าพีอี, หุ้น P/E สูง, หุ้น P/E ต่ำ, หุ้นตั้งไข่, หุ้นฟื้นไข้ (3)





ลุงแมวน้ำหัวเราะ

“เราลองมาดูกรณีศึกษากันดีกว่า เป็นตัวอย่างหุ้นในตลาด ดูตัวอย่างจากของจริงกันเลย”

“ดีจ้ะลุง” ยีราฟตอบ

“ก่อนอื่น ลุงขอบอกว่านี่เป็นกรณีศึกษาเรื่องวัฏจักรของกิจการเท่านั้น ลุงไม่ได้เชียร์ให้ซื้อหุ้น ขอให้เข้าใจตรงกันด้วย” ลุงแมวน้ำพูด



กรณีศึกษาหุ้นฟื้นไข้ PSL (Case Study of Turnaround Stock, PSL)



ลุงแมวน้ำจึงล้วงเอากระดาษออกมาจากหูกระต่ายอีกปึกหนึ่ง และกางออกมาให้ดูทีละแผ่น




“หุ้นที่ลุงนำมาให้ดูกันนี้เป็นกรณีหุ้นฟื้นไข้” ลุงแมวน้ำพูด “นั่นคือหุ้นบริษัทเรือเทกอง PSL

“ก่อนอื่นต้องเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจเสียก่อน ธุรกิจบริการเรือเทกองนั้นเป็นธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มขนส่งทางทะเล ลักษณะการให้บริการคือให้เช่าเรือเพื่อบรรทุกวัตถุดิบขนส่งระหว่างประเทศ ตัวอย่างวัตถุดิบก็เช่น สินค้าเกษตร สินแร่ ถ่านหิน ฯลฯ

“ธรรมชาติของกิจการในอุตสาหกรรมขนส่งทางทะเลนี้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก และเราก็ทราบกันดีว่าเศรษฐกิจโลกมีลักษณะขึ้นลงเป็นวัฎจักร ดังนั้นผลประกอบการของกิจการประเทภนี้จึงมีขึ้นลงอิงกับวัฏจักรเศรษฐกิจของโลก

“เรามาดูผลประกอบการของหุ้น PSL กันก่อน เป็นข้อมูลผลประกอบการย้อนหลังตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2013 โดยเส้นสีฟ้านั้นคือรายได้ (revenue) จากการดำเนินงานในแต่ละปี ซึ่งรายได้ที่มาจากธุรกิจหลัก พวกรายได้พิเศษอื่นๆที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของกิจการไม่ได้ถูกนำมารวมเอาไว้

“อีกเส้นหนึ่งคือเส้นสีเทา เส้นนี้คือกำไรสุทธิ (net income) ในแต่ละปี กำไรสุทธินี้จะเป็นผลจากรายได้ทุกอย่างของกิจการ ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากธุรกิจหลักหรือรายได้พิเศษอื่นใดก็ตาม สังเกตหรือไม่ว่าทั้งสองเส้นนี้เมื่อพล็อตเป็นกราฟแล้วได้รูปทรงคล้ายๆระฆังคว่ำ นี่แหละคือธรรมชาติของธุรกิจที่มีการขึ้นลงเป็นวัฎจักร”

“จริงด้วยสิครับลุง คล้ายระฆังคว่ำ แต่ว่าเบี้ยวๆบูดๆ” ลิงเห็นด้วย

“ก็แน่ละ ชีวิตจริงก็เป็นเช่นนี้เอง มันไม่ได้สวยงามเหมือนดังในอุดมคติ” ลุงแมวน้ำพูด หยุดเล็กน้อย จากนั้นจึงกางกระดาษออกแผ่นหนึ่ง




“เอาละ มาดูกันต่อ จากภาพเมื่อครู่ คราวนี้ลุงกำกับระยะต่างๆของวัฏจักรให้พวกเราดูกันด้วย ดูที่เส้นสีฟ้าหรือเส้นรายได้” ลุงแมวน้ำอธิบาย “เห็นไหมว่าในช่วงปี 2000, 2001, 2002 เป็นช่วงที่รายได้ของกิจการตกต่ำมาก ช่วงนี้คือระยะเสื่อมถอย (decline phase) นั่นเอง

“พอมาในปี 2003 กิจการก็เริ่มฟื้นไข้ (turnaround) และปี 2004, 2005 กิจการก็เข้าสู่ระยะเติบโต (growth phase)

“วัฏจักรขนส่งทางทะเลในรอบนี้มีระยะเติบโตที่สั้นมาก คือ 2 ปีเท่านั้น รวมทั้งมีระยะอิ่มตัว (maturity) ที่สั้นมากด้วย คือในปี 2005 นั้นเองวัฏจักรก็อิ่มตัว จากนั้นพอปี 2006 เป็นต้นไป กิจการก็เข้าสู่ระยะเสื่อม (decline phase) อีก และระยะเสื่อมนี้กินเวลานานหลายปี คือเสื่อมไปจนถึงปี 2011

“จากนั้นในปี 2012, 2013 รายได้ของกิจการก็เริ่มฟื้นตัว และเข้าสู่ระยะฟื้นไข้อีกรอบหนึ่ง หากพิจารณาตามวัฎจักร คาดว่าในรอบวัฎจักรนี้กิจการน่าจะเข้าสู่ระยะเติบโตในปี 2014 เป็นต้นไป”

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟอีกแผ่นหนึ่งออกมากาง




“เอาละ ทีนี้มาดูภาพนี้กันบ้าง ภาพนี้ซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม นั่นคือ ลุงนำราคาหุ้นและค่าพีอี ณ สิ้นปีของปีต่างๆมาให้ดูเปรียบเทียบกับกราฟผลการดำเนินงานอีกด้วย

“ในกราฟรูปนี้ เส้นสีเขียวคือราคาหุ้น PSL ให้สังเกตว่าเส้นกราฟรายได้ (สีส้ม) กำไรสุทธิ (สีเทา) และราคาหุ้น (สีเขียว) มีลีลาการเดินของเส้นกราฟคล้ายๆกัน นี่สะท้อนให้เห็นว่าราคาหุ้นอิงกับผลประกอบการนั่นเอง และก็แปลว่าปัจจัยพื้นฐานของกิจการสัมพันธ์กับราคาหุ้นด้วย

“ในรูปยังมีกราฟแท่งสีส้มอีกด้วย แท่งสีส้มนั้นคือค่าสัดส่วนพีอี (P/E ratio) ณ สิ้นปีของหุ้น PSL นั่นเอง นายจ๋อสังเกตเห็นอะไรไหม”

“สังเกตอะไรล่ะลุง กราฟมีหลายเส้นหลายสี ผมมองจนตาลายแล้ว” ลิงบ่น

“อ้าว อย่าเพิ่งตาลายสิ ดูภาพนี้กันก่อน ดูภาพนี้แล้วจะเข้าใจง่ายขึ้น” ลุงแมวน้ำพูดพลางหยิบกราฟออกมาอีกแผ่นหนึ่ง




“ดูที่ลุงวงกลมเอาไว้ ให้สังเกตว่ารายได้ของกิจการถึงจุดต่ำสุดในปี 2011 จากนั้นปี 2012 และ 2013 รายได้ก็เริ่มกระเตื้องขึ้น นั่นคือเข้าสู่ระยะฟื้นไข้ ให้สังเกตว่าค่าพีอีในปี 2012 นั้นสูงถึง 73.72 เท่า

“ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่ากิจการมีกำไรน้อยมากนั่นเอง ในปี 2012 นั้นราคาหุ้นยังร่วงอยู่ คือรายได้ของกิจการเริ่มฟื้นตัว แต่ราคาหุ้นยังลงอยู่ เนื่องจากนักลงทุนยังไม่กล้าเข้าซื้อเพราะไม่มั่นใจว่าฟื้นจริงหรือไม่

“ต่อมาในปี 2013 รายได้ดีขึ้นอีก คราวนี้ราคาหุ้นเริ่มเข้าสู่ขาขึ้น นักลงทุนเริ่มเข้าซื้อหุ้นกัน ขณะเดียวกันค่าพีอีเริ่มลดต่ำลง คือพีอี  ปลายปี 2013 อยู่ที่ 54.3 เท่า แม้ว่าจะยังสูงอยู่แต่ก็ต่ำกว่าปีก่อนหน้า

“นี่แหละ หุ้นฟื้นไข้หรือหุ้นเทิร์นอะราวด์ก็มีรูปแบบทำนองนี้ คือในระยะฟื้นไข้ หุ้นอาจไม่มีค่าพีอีเนื่องจากผลประกอบการขาดทุนสุทธิแต่ว่าการขาดทุนเริ่มลดลง หรือว่าหุ้นค่าพีอีอาจสูงเว่อ อาจเป็นหลายร้อยเท่าก็ได้เพราะว่ามีกำไรนิดเดียว ต่อมาก็จะค่อยๆลดลงเนื่องจากกิจการเข้าสู่ระยะเติบโตและมีผลประกอบการดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนกิจการที่เป็นระยะตั้งไข่ก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากหุ้นตั้งไข่และหุ้นฟื้นไข้ก็คือความหมายเดียวกันนั่นเอง”

“ถ้าอย่างนั้นการเข้าซื้อหุ้นควรเข้าตอนไหนละจ๊ะลุง ลุงก็ยังไม่ตอบสักที” ยีราฟบ่น

“ในระยะฟื้นไข้นั้นเป็นระยะที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากหากกิจการไม่ฟื้นจากไข้จริงๆ แต่กลับทรุดลงไปอีก การลงทุนก็เสียหาย ดังนั้นหุ้นในระยะฟื้นไข้ที่ยังขาดทุนอยู่ คือไม่มีค่าพีอี หรือพีอีสูงมากแล้ว เช่น หลายร้อยเท่าก็ควรหลีกเลี่ยง ควรรอให้กิจการเข้าสู่ต้นระยะเติบโตจะปลอดภัยขึ้น แม้ว่าตอนนั้นราคาหุ้นคงขึ้นมาพอสมควรแล้วก็ตาม แต่ความเสี่ยงก็ลดลง

“ทีนี้สมมติว่าเราพบหุ้นในระยะฟื้นไข้ แต่มีพีอีไม่สูงนัก สมมติเช่นพีอี 20 ถึง 50 เท่า พวกนี้น่าสนใจ คือเป็นหุ้นฟื้นไข้ที่โลกลืม นักลงทุนอาจไม่ทันสังเกตเห็น จึงยังไม่เข้ามาลงทุนกัน” ลุงแมวน้ำตอบ

“ถ้าอย่างนั้นเราจะรู้ได้ยังไงละจ๊ะลุงว่าเมื่อไรที่หุ้นเข้าสู่ระยะเติบโตแล้ว” ยีราฟถามอีก

“ใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคก็ได้ คือหุ้นอยู่ที่ต้นคลื่น 3 นั่นเอง” ลุงแมวน้ำตอบ “นี่ไงที่ลุงบอกว่าการใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคร่วมกับปัจจัยพื้นฐานช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนได้ ทำให้จับจังหวะการลงทุนได้ดีขึ้น แต่การบูรณาการของสองสายก็เป็นเรื่องที่ซับซ้อนขึ้น ดังนั้น ผู้ที่เริ่มต้นศึกษา ควรจับแนวทางเพียงสายใดสายหนึ่งก่อน เมื่อมีประสบการณ์มากพอจึงค่อยศึกษาในขั้นบูรณาการ” ลุงแมวน้ำตอบ

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟออกมาอีกแผ่นหนึ่ง และพูดว่า





“ลองดูนี่ นี่เป็นตัวอย่างการนับคลื่นของหุ้น PSL ที่จริงการนับคลื่นนั้นนับได้หลายแบบ เนื่องจากค่อนข้างเป็นจิตวิสัย คือแต่ละคนอาจนับไม่เหมือนกันเนื่องจากมีมุมมองที่แตกต่างกัน ลุงลองนับแบบนี้มาให้ดูเป็นตัวอย่าง”

“จ้ะ จ้ะ พอเข้าใจแล้ว” ยีราฟพูด “เอ้อ ตกลงว่าหุ้นไร่ถั่วฝักยาวพีอีสูงขนาดนั้นซื้อได้ไหมจ๊ะลุง”

“โธ่เอ๊ย” ลิงจ๋อส่ายหัว “กลับมาถามเรื่องนี้อีกแล้ว ฉันละกลุ้มจริงๆ”

No comments: