สัปดาห์ที่ผ่านมา 06/05/2013 ถึง 10/05/2013 ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนมาก ทั้งนี้เพราะสงครามค่าเงิน รวมทั้งเงินบาทก็ผันผวนหนักไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ก่อนที่จะไปดูเรื่องค่าเงิน เราไปดูสถานการณ์ในโลกเศรษฐกิจควบคู่ไปกับตลาดหุ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมากันเสียก่อน
ทางฝั่งยุโรป สัปดาห์ที่แล้วตัวเลขเศรษฐกิจก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น ยอดการค้าปลีกในเดือนมีนาคมหดตัวลงเป็นเดือนที่สอง ยิ่งสะท้อนถึงความถดถอยของกลุ่มยุโรป อัตราเงินเฟ้อของยุโรปยังต่ำอยู่ ดังนั้นธนาคารกลางของยุโรปยังสามารถลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก สถานการณ์อัตราดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้ทำให้มีแรงเก็งกำไรในสินทรัพย์เสี่ยง ดังนั้นแม้ว่าภาคเศรษฐกิจจริงจะยังไม่มีความคืบหน้า แต่ว่าตลาดหุ้นในกลุ่มยุโรปปรับตัวขึ้นกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะตลาดหุ้นกรีซกับอิตาลีปรับตัวขึ้นแรง
ทางด้านสหรัฐอเมริกา ตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆเริ่มดีขึ้น ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกาก็ทยอยประกาศออกมา หุ้นมาร์เก็ตแคบสูงในกลุ่ม S&P 500 มีผลประกอบการดีกว่าที่คาด
นอกจากนี้เฟดหรือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาเริ่มพูดถึงเรื่องการวางแนวทางในการเลิกโครงการ QE3 กันแล้ว โดยประเด็นก็คือต้องมีตัวชี้วัดและขั้นตอนปฏิบัติในการค่อยๆลดการอัดฉีดลงอย่างชัดเจน ว่าจะลดอย่างไร ลดเมื่อไร และลดเท่าไร เพื่อให้ตลาดทุนรับรู้ล่วงหน้าเพื่อให้มีเวลาปรับตัว ป้องกันไม่ให้ตลาดทุนเกิดความตื่นตระหนก
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นของฝั่งอเมริกาเหนือ คือ สหรัฐเมริกาและแคนาดาปรับตัวขึ้นประมาณ 1% กว่าๆ ส่วนฝั่งอเมริกาใต้ส่วนใหญ่ปรับตัวลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะตลาดหุ้นอาร์เจนตินาที่ผันผวนมาพักหนึ่งแล้ว
ทางฝั่งเอเชีย ตัวเลขการส่งออกของจีนขยายตัวดีกว่าที่คาด คือขยายตัว 14.7% ธนาคารกลางของหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย เกาหลี อินเดีย ฯลฯ ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นผลดีต่อตลาดหุ้น ทำให้ตลาดหุ้นในย่านเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้น บางตลาดขึ้นแรง เช่น ญี่ปุ่น (+6.7%)
ทางด้านตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ในสัปดาห์ที่แล้วสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่ปรับตัวลง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพลังงาน โลหะ สินค้าเกษตร มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่ปรับตัวขึ้นได้ เช่น ทองแดง กาแฟ ถั่วเหลือง ฯลฯ ส่วนน้ำมันดิบ ทั้งเบรนต์และเวสต์เทกซัสปรับตัวขึ้นลงเพียงเล็กน้อย แต่สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางคือระหว่างอิสราเอลและซีเรียยังมีประเด็นอยู่ อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบขึ้นหรือลงแรงได้
ราคาทองคำผันผวนตามอัตราแลกเปลี่ยน รวมแล้วปรับตัวลดลงประมาณ -1.9% ตลอดสัปดาห์
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์ที่แล้วค่อนข้างหวือหวา การประชุมของกลุ่ม จี 7 ในสัปดาห์ที่แล้วไม่ได้มีการทัดทานการแทรกแซงค่าเงินเยนของญี่ปุ่น เมื่อไม่ห้ามก็แปลว่าไฟเขียว ดังนั้นหลังการประชุมจี 7 เงินเยนก็อ่อนค่าหนัก เงินยูโรอ่อนค่าตามไปด้วย ส่วนดอลลาร์ สรอ แข็งค่า
เงินเยนและยูโรซึ่งก่อนหน้านี้ก่อตัวเป็นรูปแบบทางเทคนิคส่อไปในทางแข็งค่า กลับทิศเป็นอ่อนค่าอย่างฉับพลัน ประกอบกับธนาคารกลางของหลายประเทศในเอเชียแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนร่วมกับการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ค่าเงินสกุลเอเชียค่อนข้างผันผวน เงินบาทก็ผันผวนเช่นกัน
ทางด้านตลาดตราสารหนี้ของสหรัฐอเมริกา ในสัปดาห์ที่แล้ว กราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันปรับตัวขึ้นเกือบตลอดทั้งเส้น หมายความว่ามีแรงขายพันธบัตร ซึ่งน่าจะเป็นการย้ายเงินลงทุนจากตลาดพันธบัตรเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นซึ่งให้ผลตอบแทนดีกว่า
ทีนี้มาดูตลาดของไทยกันบ้าง ในสัปดาห์ที่แล้วมีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นประเด็นที่ฝ่ายการเมืองกดดัน ธปท. อยู่ แต่ในที่สุดก็ยังไม่มีมาตรการพิเศษอะไรออกมาเนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าลงพอดี
ทางด้านตลาดหุ้นไทย สัปดาห์ที่แล้วเดินหน้าขึ้นต่อ ผลประกอบการไตรมาส 1 ที่ทยอยประกาศออกมา หุ้นในกลุ่มสื่อสาร พาณิชย์ ฯลฯ ผลงานดีกว่าคาด ดัชนี SET ปรับขึ้น +2.8% ส่วนดัชนี SET50 +3.2% แปลว่าหุ้นมาร์เก็ตแคปสูงหรือหุ้นฝรั่งเป็นตัวนำตลาด หุ้นในกลุ่ม SET50 เกิดสัญญาณซื้อไปแล้ว 35 ตัว
ทางด้านตราสารหนี้ไทย สัปดาห์ที่แล้วมีแรงซื้อเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ มูลค่าการซื้อขายตราสารหนี้เฉลี่ยถึงวันละ 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งมากขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อนหน้า เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Thai Gov yield curve) ปรับตัวลดลงตลอดทั้งเส้น โดยเฉพาะลดลงมากหน่อยในกลุ่มตราสารอายุไม่เกิน 1 ปี หมายความว่ามีเงินไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรและซื้อพันธบัตรระยะสั้นไม่เกิน 1 ปีกันมากขึ้น
ลุงแมวน้ำใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค ยังมองเช่นเดิมว่าตลาดหุ้นไทยในคลื่นนี้เป็นคลื่นใหญ่ 5 ดังนั้นรถไฟสาย 1700 ยังเดินหน้าต่อไป ที่จริงลุงแมวน้ำไม่ได้มองเพียง 1700 จุด เพียงแต่ว่าตัวเลข 1700 มันกลมๆดี ที่จริงมองไว้เกินกว่า 1764 จุดซึ่งเป็นยอดคลื่น 3 เดิม
เรามาดูกราฟกัน ในกราฟแต่ละรูปลุงแมวน้ำจะมีคำอธิบายเพิ่มเติมด้วย
ราคานำมันดิบ เริ่มก่อตัวเป็นรูปแบบขาขึ้น แต่ยังไม่ค่อยมีแรง รอดูไปอีกหน่อยหนึ่ง |
สินค้าเกษตรมีแนวโน้มว่าจะกลับทิศเป็นขาขึ้น แต่ยังไม่ชัด ก็ต้องรอดูไปอีกเช่นกัน |
ราคายางพารา น่าจะกลับทิศเป็นขาขึ้นแล้ว ปัจจัยส่วนหนึ่งเกิดจากเงินเยนอ่อนค่า อีกส่วนหนึ่งเกิดจากจีนมีการสั่งซื้อยางเข้าไปสำรองในสต็อกเพิ่มขึ้น |
เงินยูโร เดิมทีมีแนวโน้มแข็งค่า แต่จู่ๆก็ลงแรงและเกิดสัญญาณขาย เริ่มก่อตัวเป็นแนวโน้มอ่อนค่า |
ค่าเงินเยน วิ่งอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมชายธงและตัดลงมาข้างล่าง แนวโน้มอ่อนค่า |
อัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลต่างๆและทองคำในเชิงเปรียบเทียบ จะเห็นว่าเงินสกุลต่างๆรวมทั้งทองคำมีแนวโน้มอ่อนค่า และเป็นการอ่อนค่าแบบผันผวน |
ในประเด็นอัตราแลกเปลี่ยน จากกราฟคงเห็นแล้วว่าอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากในสัปดาห์ที่แล้ว เงินเยนกับยูโรพลิกผัน เดิมทำท่าจะแข็งค่า กลายเป็นอ่อนค่า ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนสกุลอื่นๆและทองคำด้วย ขณะนี้แนวโน้มของเงินดอลลาร์อเมริกันแข็งค่า ส่วนเงินเยน ยูโร แนวโน้มอ่อนค่า และเงินสกุลอื่นๆรวมทั้งเงินบาทก็มีแนวโน้มอ่อนค่าด้วย แต่เป็นการอ่อนค่าแบบผันผวน รวมทั้งราคาทองคำก็จะผันผวนด้วยเช่นกัน
ความผันผวนแบบนี้เทรดยาก ลุงแมวน้ำแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงการเทรดค่าเงินและทองคำไปก่อน พวกที่ใช้สัญญาณรายวัน (eod) เทรดไม่ทันกินหรอก เงินลงทุนจะโดนโดนสัญญาณหลอก (false signal) เอาไปกินหมด เทรดหุ้นสบายใจกว่า
หากจะเทรดจริงๆต้องใช้กรอบเวลาสั้นลง ทำเป็น intraday trade หรือนั่งเฝ้าจอเทรดนั่นเอง
No comments:
Post a Comment