Sunday, November 11, 2012

11/11/2012 เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ: จีน ห้องเช่ารูหนู เศรษฐกิจที่รุดหน้าบนความเหลื่อมล้ำ


เมื่อไม่กี่วันมานี้จีนมีการเปลี่ยนผู้นำ เช้าวันหยุดวันนี้ลุงแมวน้ำอยากคุยเรื่องเมืองจีนสักหน่อย ลุงแมวน้ำจะไม่เล่าแบบบรรยายวิชาประวัติศาสตร์ แต่จะหยิบเอาบางแง่บางมุมในประวัติศาสตร์ของจีนมาคุยกันฟังเท่านั้น ก็อยากคุยน่ะ ^__^

ประเทศจีนมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 3000 ปี ในอดีต จีนปกครองด้วยระบบกษัตริย์ ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบสาธารณรัฐคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ. 1949 หรือเมื่อกว่า 60 ปีมาแล้ว โดยวันชาติของจีนในปัจจุบันคือวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี ก็คือวันที่เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองนั่นเอง

สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองก็เพราะในปลายยุคราชวงศ์ชิงนั้นเกิดความเสื่อม การบริหารราชการแผ่นดินอ่อนแอ ความเหลื่อมล้ำขึ้นอย่างรุนแรงในสังคม พวกศักดินาหรือผู้มีฐานะก็ร่ำรวยสุขสบายอย่างล้นเหลือ ส่วนชาวนา คนยากจน ก็จนแบบหนังท้องกิ่วจนไปติดกระดูกสันหลัง ดังนั้นประชาชนจึงลุกฮือขึ้นทำการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองจนสำเร็จและสถาปนาเป็นสาธารณรัฐในปี ค.ศ. 1912

ช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นกินเวลานานหลายปี กว่าที่จีนจะตั้งหลักในระบบสาธารณรัฐได้ทุกฝ่ายต้องจ่ายคุณค่าแลกเปลี่ยนไปไม่น้อยในสงครามกลางเมืองระหว่างคนจีนด้วยกันเองแต่ต่างอุดมการณ์ แต่ในที่สุดประชาชนก็เป็นใหญ่ในแผ่นดินจนได้ ภายใต้การนำของเหมา เจ๋อ ตุง หรือที่เรียกกันว่าท่านประธานเหมานั่นเอง ประเทศจีนเปลี่ยนจากการปกครองอีกครั้งจากสาธารณรัฐทุนนิยมกลายเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ในที่สุด ในปี ค.ศ. 1949

เมื่อรัฐคอมมิวนิสต์หรือสาธารณรัฐประชาชนจีน ถูกสถาปนาขึ้น โครงสร้างทางสังคมก็เปลี่ยนไปอย่างรุนแรง ทรัพย์สินทุกอย่างเป็นของรัฐทั้งหมด ประชาชนไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใดๆ เพื่อจะได้เท่าเทียมกัน คือไม่มีอะไรเหมือนๆกันนั่นเอง ที่ดินถูกยึดมาเป็นของรัฐ คนรวยบ้างก็ถูกประชาทัณฑ์จนตาย บ้างก็หนีไปอยู่ในประเทศต่างๆ อย่างเช่น ประเทศไทย บ้างก็ถูกจับไปอบรมลัทธิคอมมิวนิสต์และทำงานในค่ายหรือที่เรียกว่าคอมมูน แม้แต่จักรพรรดิ์พระองค์สุดท้ายของจีนในที่สุดก็กลายเป็นคนเฝ้าอุทยาน

ลุงแมวน้ำเกริ่นย้อนยุคไปหลายสิบปี ต่อไปนี้ลุงแมวน้ำจะเล่าเรื่องราวของจีนด้วยภาพ เชิญติดตามได้คร้าบ ^__^



ภาพนี้ถ่ายในยุคที่สถาปนารัฐคอมมิวนิสต์ได้ไม่นาน ในราวทศวรรษ 1950s หรือเมื่อ 60 ปีมาแล้ว  ปัจจัยการผลิตเป็นของรัฐทั้งหมด ทุกคนทำงานให้รัฐ ทำเพื่อรัฐและได้รับการตอบแทนคือ มีอาหารกิน มีที่อยู่ มีความเท่าเทียมกันในสังคม เพราะทุกคนก็ไม่มีอะไรเหมือนๆกันหมด ชาวนาที่เสียที่ดินให้นายทุนไปชอบมากเพราะความเป็นอยู่ดีขึ้น รัฐเลี้ยงดูไม่ให้อดอยากแร้นแค้นเหมือนเมื่อก่อน แต่เศรษฐีไม่ชอบเพราะเหมือนตกจากสวรรค์เลยทีเดียว ต้องมาทำงานหนักเพื่อแลกกับอาหารและที่อยู่อาศัย ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร ทุกคนเป็นสหายกัน คนจีนในสมัยก่อนจึงเรียกผู้อื่นด้วยคำนำหน้าว่าสหาย สหายนั่น สหายนี่ สหายในภาษาจีนใช้คำว่าถงจื้อ

ภาพนี้ถ่ายในปี 1958 ลักษณะการทำงานในยุคนั้นจะทำกันเป็นยูนิต หรือที่เรียกว่าคอมมูน หนึ่งคอมมูนคือหนึ่งชุมชน มีเจ้าหน้าที่ควบคุม จะทำอะไร จะผลิตอะไร รัฐจะเป็นผู้บอก และทำไปตามนั้น ไม่ต้องคิดเอง ในภาพเป็นโรงอาหารในคอมมูน ในยุคนั้นปัจจัยการครองชีพจะได้รับการปันส่วนหมด แต่ละคนจะได้ชุดมาตรฐาน ปีละจำนวนหนึ่ง ไม่แน่ใจว่ากี่ชุดเหมือนกัน แล้วก็บุหรี่อีกจำนวนหนึ่ง บุหรี่เป็นเครื่องหย่อนใจเพียงอย่างเดียวของคนในยุคนั้น ดังนั้นเราจึงเห็นคนจีนรุ่นเก่าติดบุหรี่ทั้งหญิงและชาย ก็มีที่มาจากยุคคอมมูนนี่เอง และที่เราเห็นคนจีนรุ่นเก่าชอบขากถุย ไอดังๆ ก็เพราะว่าสูบบุหรี่มากๆแล้วทำให้เป็นหลอดลมอักเสบ คนที่เป็นหลอดลมอักเสบจะระคายคอตลอดเวลา ต้องขาก ถ่ม และไออยู่ตลอด


จีนในยุคท่านประธานเหมานั้นมีแต่ความไม่ไว้วางใจกัน เพราะในยุคที่เริ่มการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ใหม่ๆ สถานการณ์ยังไม่ลงตัวดีนัก ต้องระวังว่าพวกระบอบเก่าจะพยายามฟื้นอำนาจขึ้นมา ดังนั้น ในคอมมูนเดียวกัน ปากก็เรียกสหาย แต่ที่จริงไม่ไว้ใจกัน พวกอดีตคนจนก็เฝ้าระวังอดีตเศรษฐี พวกอดีตเศรษฐีก็ระแวงอดีตคนจน ถ้าใครถูกรายงานว่ามีพฤติกรรมน่าสงสัยก็คือจบเห่ ดังนั้นคนจีนรุ่นเก่าจึงมีนิสัยไม่พูด ไม่แสดงความในใจออกมา เงียบเฉยอย่างเดียว คล้ายคนรัสเซียในยุคหนึ่ง เพราะสถานการณ์คล้ายๆกัน

แต่อย่างไรก็ดี ความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงไม่มีในโลกหรอก แม้อยู่ในระบอบคอมมิวนิสต์ซึ่งมีอุดมการณ์ของความเท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ไม่ได้เท่าเทียมกันทั้งหมด ชนชั้นปกครองก็มีความเป็นอยู่ดีกว่าประชาชนทั่วไปอยู่ดี

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960s ก็ประมาณปี พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา ผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์ก็เริ่มมีแนวทางที่แตกต่างกัน ที่ชัดๆมีสองกลุ่มคือกลุ่มของประธานเหมาที่ยังมีแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ดั้งเดิม ประเภทที่ว่าเมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน กับอีกขั้วหนึ่งคือกลุ่มของหลิวเซ่าฉี เติ้งเสี่ยวผิง ที่มีแนวคิดต่อยอดการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าต่อไปอีกด้วยแนวคิดแบบทุนนิยม ต่อมากลุ่มแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ดั้งเดิมหรือกลุ่มประธานเหมาเริ่มเสื่อมความนิยมลงและแนวคิดแบบทุนนิยมเริ่มเข้มแข็งขึ้น ประธานเหมาเห็นท่าไม่ดีจึงปฏิวัติตนเองอีกครั้งหนึ่ง โดยเรียกว่าเป็นการปฏิวัติวัฒนธรรม และได้กวาดล้างผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีแนวคิดต่างออกไปจนสิ้น ในยุคนี้เองที่มีการทำลายศิลปวัฒนธรรม ศิลปวัตถุ วัดวาอาราม ฯลฯ รวมทั้งบุคลากรทางศิลปวัฒนธรรมของจีนไปมากมาย มีผู้เสียชีวิตในการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งนี้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งหลิวเซ่าฉีและเติ้งเสียวผิงก็ถูกกวาดล้างจนหลุดจากอำนาจไป


ยุคปฏิวัติวัฒนธรรมเริ่มขึ้นในปี 1966 ผู้นำในยุคนี้เรียกว่าแก๊งสี่คน ชื่อแก๊งสี่คนนี้เราคงคุ้นหูกันดี คือประธานเหมา มาดามเจียงชิง หลินเปียว และเฉินป๋อต๋า ชื่อที่คุ้นหูอีกชื่อหนึ่งคือเรดการ์ด (red guard) อันเป็นชื่อของกองกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนแนวคิดปฏิวัติวัฒนธรรมนี้ ในยุคนี้เศรษฐี ผู้ดี ปัญญาชน จากยุคราชวงศ์ ที่อยู่รอดได้ในยุคคอมมูน มาถึงยุคนี้กลับเอาตัวไม่รอด ถูกจับไปฆ่าเป็นจำนวนมาก เกิดความหวาดระแวงไปทั่วไม่เว้นแม้แต่ในครอบครัวเดียวกัน เพราะไม่รู้ว่าใครจะรายงานใครว่าเป็นพวกหัวทุนนิยม ใครที่ถูกรายงานก็ตายแน่

ในยุคนี้เป็นยุคที่ทุกคนต้องเปิดเผย ไม่มีความลับต่อกัน เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ ดังนั้นใครจะพูดอะไรต้องพูดดังๆ คือให้คนอื่นได้ยินด้วยจะได้ไม่ถูกรายงาน ดังนั้นคนจีนที่ผ่านยุคนี้มาจึงมีนิสัยพูดเสียงดัง คุยกันก็เหมือนทะเลาะกัน




นี่ก็เป็นกิจกรรมในคอมมูน ถ่ายในปี 1968 อันเป็นช่วงที่มีการปฏิวัติวัฒนธรรม สังเกตขุดเขียวขี้ม้าและหมวกแก๊ป นี่แหละชุดมาตรฐานในยุคนั้น ไม่ต้องรีดด้วย เพราะไม่เอาเท่ ซักแล้วตากให้แห้ง สวมใส่ได้เลย


แต่ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่เพียงใด ก็ไม่มีใครหนีพ้นวัฏสงสารหรือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้ ในตอนท้าย หลินเปียวในแก๊งสี่คนพยายามยึดอำนาจจากประธานเหมาซึ่งเป็นแก๊งสี่คนด้วยกัน คือชิงอำนาจกันเอง หลินเปียวถูกกวาดล้างและเสียชีวิตในระหว่างหลบหนี ดังนั้น ในท้ายที่สุด เมื่อผู้สืบทอดตัวเต็งเสียชีวิตไป ประธานเหมาแทบไม่มีตัวเลือกเหลืออยู่เลย ดังนั้นก็ต้องเลือกแบบจำใจ ผู้ที่สืบทอดอำนาจต่อจากประธานเหมาคือโจวเอนไหล ซึ่งเป็นพวกแนวคิดทุนนิยม โดยเป็นผู้วางหลักสี่ทันสมัยและเป็นผู้ที่สนับสนุนเติ้งเสี่ยวผิง

ต่อมา ปี 1975 โจวเอนไหลเสียชีวิต และปี 1976 เหมาเจ๋อตุงก็เสียชีวิต แก๊งสี่คนก็ถูกกวาดล้าง ยุคของการปฏิวัติวัฒธรรมจึงปิดฉากลง พร้อมกับการก้าวเข้าสู่ยุคทุนนิยมแบบจีนๆภายใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิง อันเป็นรากฐานของจีนในทุกวันนี้


ภาพนี้ถ่ายในปี 1977 ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ชายหนุ่มในภาพเป็นใครก็ไม่รู้เหมือนกัน เพียงให้ดูบรรยากาศปี 1977 เท่านั้น ยุคนี้เป็นที่เติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้นำประเทศและขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความทันสมัยด้วยการนำแนวคิดแบบทุนนิยมมาผสมกับสังคมนิยม ทำให้เป็นทุนนิยมแบบจีนขึ้นมา คือ ประชาชนทำการธุรกิจได้ มีเงินทองได้ แต่ที่ดินทั้งหมดยังเป็นของรัฐ ก็แปลกๆดี มีเกร็ดเล่ากันว่าพ่อค้านักธุรกิจในยุคแรกๆหลังจากการปฏิวัติวัฒนธรรมคือพวกที่ติดคุกติดตะราง พวกไม่เอาไหน เพราะว่าประชาชนส่วนใหญ่เคยชินกับการทำงานให้รัฐในแบบเดิมๆ ไม่มีใครกล้าออกมาทำธุรกิจ มีแต่พวกที่มีต้นทุนในชีวิตต่ำ ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว พวกเหล่านี้จึงกล้าออกมาทำการค้า นี่เป็นเกร็ดที่เล่ากันมา จริงเท็จอย่างไรไม่ยืนยัน


นี่เป็นภาพถ่ายในยุคทศวรรษ 1980s ยุคที่เศรษฐกิจแบบทุนนิยมของจีนเริ่มขับเคลื่อน ประชาชนเริ่มมีการยกระดับรายได้ขึ้น ในภาพนี้กำลังหอบหิ้วโทรทัศน์ขาวดำที่เพิ่งซื้อมาจากร้านค้า โทรทัศน์เป็นสัญลักษณ์ของฐานะประจำยุคนี้ สัญลักษณ์ทางฐานะของจีนคิดกันง่ายๆก็คือ ยุค 1960s คือนาฬิกาข้อมือ ใครมีถือว่าเท่และมีฐานะ ก็อย่างที่บอกคือความเท่าเทียมกันก็ไม่จริงเสียทั้งหมด นาฬิกาข้อมือก็คือสัญลักษณ์แอบรวยของคนในยุคฟ้าสีทองผ่องอำไพ ส่วนยุค 1970s คือจักรยาน ใครมีก็ถือว่ามีฐานะ ใครไม่มีก็ขอให้ญาติพี่น้องจากเมืองไทยส่งเงินไปให้ซื้อ จะได้มีหน้ามีตากับเขาบ้าง ส่วนยุค 1980s คือโทรทัศน์ และยุค 1990s คือเครื่องซักผ้า


ผู้พันมาแล้ว ร้านผู้พันไก่ทอดเปิดสาขาแรกในเมืองจีนในปี 1987 ดูคิวเสียก่อน ท้ายแถวอยู่ไหนมองไม่เห็นเลยเพราะว่าแถวยาวมาก ปัจจุบัน ปี 2012 มีร้านเคเอฟซีในจีนประมาณ 4000 สาขา



โดยทั่วไปแล้วความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ควบคู่ไปกับเศรษฐกิจระบบทุนนิยม เพราะอำนาจของทุนยิ่งทำให้ได้เปรียบทางเศรษฐกิจ ใครมีทุนมากก็ได้เปรียบมาก เมื่อมีความได้เปรียบเสียเปรียบกัน แน่นอน ย่อมทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจขึ้น ยิ่งเศรษฐกิจดี แม้ว่าค่าเฉลี่ยจีดีพีต่อหัวของประชากร (GDP per capita) สูง แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนรวยเท่ากัน ตรงกันข้าม ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็มากยิ่งขึ้น ในประเทศจีน ก่อนปี ค.ศ. 1985 ความเหลื่อมล้ำในสังคมยังมีน้อยอยู่ ยิ่งยุค 1950s ก็ยิ่งน้อย แต่ในยุคที่จีนใช้ระบบทุนนิยมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำก็ค่อยๆเพิ่มมากขึ้น ดูได้จากค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) ค่าน้อยแปลว่าความเหลื่อมล้ำน้อย ค่าสูงแปลว่าความเหลื่อมล้ำสูง ภาพนี้เป็นค่าสัมประสิทธิ์จีนีของจีนตั้งแต่ปี 1980 ถึงปี 2000 จะเห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของจีนเพิ่มขึ้นโดยตลอดตั้งแต่ปี 1985 เป็นต้นมา 



ค่าสัมประสิทธิ์จีนี แสดงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เศรษฐกิจยิ่งพัฒนา ความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งมาก ดูอย่างประเทศบราซิลซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา ใช้นโยบายประชานิยม ความเหลื่อมล้ำอยู่ในระดับสูงมาก เนื่องจากนโยบายประชานิยมมุ่งหวังผลทางการเมือง ไม่ได้หวังผลในด้านลดความเหลื่อมล้ำอย่างแม้จริง ประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแต่ความเหลื่อมล้ำอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง คือประเทศญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ที่เป็นเช่นนี้เพราะประเทศญี่ปุ่น กลุ่มยุโรปตะวันตก และยุโรปเหนือ เหล่านี้ใช้นโยบายทางสังคมนิยมควบคู่ไปกับระบบทุนนิยม นั่นคือ รัฐมีการจัดการด้านสวัสดิการสังคมให้แก่ประชาชนค่อนข้างมาก จึงพอช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ 



ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของจีนในยุคปัจจุบันก็เป็นอย่างที่เห็นในรูปนี้  ค่าสัมประสิทธิ์จีนีของจีน ในปี 2009 ตามข้อมูลของ CIA's The World Fact Book อยู่ที่ 0.48 หรือ 48% ซึ่งจัดว่ามีความเหลื่อมล้ำสูง และจากข้อมูลล่าสุดของทางการจีนเอง ค่าสัมประสิทธิ์จีนีของจีนในปี 2010 อยู่ที่ 0.61 ซึ่งหมายความว่ามีความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก ติดอันดับต้นๆของโลกเลยทีเดียว 
นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes Magazine) ได้จัดอันดับคนรวยที่สุดในโลก 100 คนแรก  ของปี 2011 ในจำนวนนั้นมีคนฮ่องกง 4 คน และคนจีนแผ่นดินใหญ่ 1 คน รวมแล้วเป็นคนจีนที่ติดอันดับรวยที่สุดในโลก 100 คนอยู่ถึง 5 คน



ตรงกันข้ามกับคนรวย คนยากจนชาวจีนมีความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก เศรษฐกิจยิ่งดีคนจนกลับลำบากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เพราะปัจจุบันค่าที่พักอาศัยในเมืองใหญ่แพงมาก ค่าครองชีพทั่วไปก็สูง คนยากจนที่เข้ามาทำมาหากินหรือแสวงโชคในเมืองใหญ่อยู่อย่างแร้นแค้น ในภาพนี้เป็นห้องพักแบบแคปซูลในย่านกรุงปักกิ่ง เป็นห้องขนาดกว้าง 0.7 เมตร ลึก 2.4 เมตร รวมแล้วขนาด 1.7 ตารางเมตรเท่านั้น ญี่ปุ่นมีโรงแรมแคปซูล ส่วนจีนก็มีห้องเช่าแคปซูล แต่คุณภาพต่างกันมาก



ห้องเช่านี้เปิดให้บริการในปี 2010 ค่าเช่าในตอนนั้นเดือนละ 200 - 250 หยวน (1,000 - 1,250 บาท) เหมาะสำหรับคนหนุ่มสาวที่เพิ่งจบและกำลังหางานทำหรือว่าผู้ที่มีรายได้น้อย  ซ้ายมือในภาพเป็นผู้เช่า ส่วนคนขวาคือเจ้าของห้องเช่านี้



ห้องเช่าแคปซูลนี้มีพื้นที่ส่วนกลางต่างหาก ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องซักรีด ใช้ของส่วนกลาง ซึ่งก็มีขนาดเล็กเช่นกัน 



ห้องพักแคปซูลหรือว่าห้องพักรูหนูที่ปักกิ่งนี้ยังจัดว่ามีสภาพดี ลองมาดูห้องเช่าในเมืองอื่นกันบ้าง 3 ภาพต่อไปนี้เป็นที่พักในเมืองอู่ฮั่น ถ่ายในปี 2012 นี่เอง


ภาพนี้เป็นที่พักแคปซูลหรือที่พักรูหนูในเมืองอู่ฮั่น มณฑลเหอเป่ย ของจีน อันเป็นเมืองเศรษฐกิจเมืองหนึ่ง ดังนั้นค่าครองชีพจึงสูง ชายสองคนนี้เป็นเซลส์แมนขายวัสดุก่อสร้าง เช่าห้องพักแคปซูลนี้ในราคาเดือนละประมาณ 400 หยวน (2,200 บาทโดยประมาณ) พักสองคนจะได้ประหยัดยิ่งขึ้น ออกคนละ 200 หยวน ในห้องนี้มีครบหมดทุกอย่าง ห้องน้ำ ห้องส้วม ห้องนอน ห้องทำงาน ห้องครัว ฯลฯ ในขนาดที่พัก 4.5 ตารางเมตร ภาพนี้ไม่ค่อยน่าดูนัก สังเกตดูส้วม แต่ก็เป็นความจริงของชีวิต และสังเกตอีกอย่างคือถึงจะประหยัด ลำบาก แต่อุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้คืออุปกรณ์เทคโนโลยี นั่นคือคอมพิวเตอร์ 


คนนี้ประกอบอาชีพเซลส์แมนเช่นกัน กำลังกินแฮมเบอร์เกอร์ข้างๆส้วมนั่นเอง ห้องเช่าที่อู่ฮั่นเช่นกัน


นี่ก็ห้องเช่าที่อู่ฮั่น สาวน้อยกำลังสระผม แต่สังเกตด้านซ้ายเป็นเครื่องครัว เลยไม่รู้ว่าเป็นห้องอะไรกันแน่ ห้องน้ำหรือห้องครัว สังเกตว่าห้องเล็กๆนี้ยังแบ่งซอยออกเป็นสองชั้นเพื่อให้เก็บค่าเช่าได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ค่าเช่าห้องชั้นบนกับห้องชั้นล่างราคาไม่เท่ากัน ห้องชั้นราคาบนถูกกว่าเพราะว่ายืนไม่ได้ ส่วนห้องชั้นล่างแพงกว่าเพราะว่าสามารถยืนได้



ที่เห็น 3 ภาพก่อนหน้านี้เป็นที่พักแบบคนมีการศึกษา หากเป็นพ่อค้าแม่ค้าเร่ คือพวกความรู้น้อย ทำการค้าเล็กๆน้อยๆ มาจากชนบทมาอยู่ในเมืองใหญ่ สภาพที่พักจะแย่ยิ่งกว่านี้เสียอีก แย่จนเรานึกไม่ออกว่าเป็นยังไง เราไปดูกัน 3 ภาพต่อไปนี้ถ่ายในปี 2012 นี่เอง



นี่เป็นบ้านรูหนู คือเป็นห้องเช่าในเมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว แม่ลูกคู่นี้พักอาศัยอยู่ในรูที่มีประตูขนาดสูง 1 เมตร เด็กคนนี้อายุ 6 ขวบ เดินเข้าไปได้ แต่ว่าแม่ต้องมุดเข้าไป รูนี้เป็นซอกข้างตึก


แม่มีอาชีพแม่ค้าเร่ขายอาหาร กลางวันเวลาแม่ออกไปขายของก็จะล็อกห้องขังลูกชายอยู่ในห้อง


ภาพภายในห้อง ซึ่งต้องมุดและคลานลงมา ภายในห้องมีแต่ของใช้ที่พังและถูกทิ้ง แม่ลูกคู่นี้ก็เก็บเอามาใช้ต่อ


สุดท้าย ลุงแมวน้ำจะพาไปดูที่พักของคนยากคนจนในฮ่องกง เมืองที่ราคาอสังหาริมทรัพย์แพงมาก และผลจาก QE3 จะยิ่งทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกง รวมทั้งเมืองอื่นๆในเอเชีย ขยับสูงขึ้นไปอีก



ฮ่องกงเป็นเมืองที่ค่าครองชีพสูงติดอันดับโลก จากการสำรวจในปี 2012 ค่าครองชีพของฮ่องกงอยู่อันดับ 9 ของโลก รองจากโตเกียว โอซากา เจนีวา ซูริค ฯลฯ แต่ไม่ใช่หมายความว่าฮ่องกงไม่มีคนยากจน ตรงกันข้าม คนจนในฮ่องกงยิ่งแร้นแค้น คนจนในฮ่องกงมักอยู่ในตึกเก่าๆชานเมือง ซึ่งบ้านหรือว่าห้องพักของชาวฮ่องกงที่ยากจนนั้นครอบครัวหนึ่งอยู่กันในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ หนึ่งยูนิตอาจมีสองสามห้อง แต่ละห้องขนาดเล็กและเก่าทรุดโทรม ผนังหาสีเดิมไม่เจอเพราะเต็มไปด้วยคราบสกปรกและคราบน้ำมันจากการทำครัว ภาพนี้เป็นย่านคนจนของฮ่องกง ถ่ายเมื่อหลายปีมาแล้ว


ฮ่องกงในปัจจุบัน ประมาณปี 2010 ที่พักในฮ่องกงแพงขนาดคนยากคนจนพักในห้องที่เป็นยูนิตไม่ไหว บางคนรายได้น้อยก็ต้องพักในห้องกรง ในภาพนี้คือที่พักห้องกรง (cage home) จริงๆที่อยู่ในฮ่องกง นอนกันขาเลยกรงออกมาแบบนี้แหละ พื้นที่กรงประมาณ 1.4 ตารางเมตร กลางวันก็ล็อกกรง เก็บของไว้ข้างใน แล้วไปทำงาน กลางคืนก็กลับมานอน 


ห้องกรงนี้ราคาไม่ถูก ค่าเช่าประมาณ 2000 บาทต่อเดือน (คิดเป็นเงินไทยแล้ว) ชายคนนี้อายุ 78 ปี ป่วยเป็นโรคทางสมองด้วย ถูกไล่ที่ออกมาจากตึกที่พักเดิมซึ่งกำลังจะถูกรื้อและสร้างใหม่ให้เป็นอาคารทันสมัย เมื่อไม่มีที่พักก็ต้องมาอาศัยห้องกรงอยู่แบบนี้ อยู่ในห้องกรงทั้งวันเพราะไม่ได้ทำงานและไม่มีที่ไป


กางเกงในไม่มีที่ตาก แขวนไว้หน้ากรงนี่แหละ จะหายไหมเนี่ย


พื้นที่ส่วนกลางของผู้อาศัยในห้องกรงก็มีที่นั่งเล่นนิดหน่อย ครัวนิดหน่อย ห้องน้ำรวม ในภาพ ชายชรากำลังนั่งอย่างทอดอาลัย ไม่รู้ว่าชีวิตจะไปต่อได้ยังไง



นี่แหละ ผลพวงของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมือใครยาวสาวได้สาวเอา และนี่ก็คือภาพชีวิตของจีนในบางมุมที่แตกต่างจากที่เราเคยเห็น ประเทศที่มีจีดีพีเติบโตปีละกว่า 10%  ประเทศที่รายได้ประชากรต่อหัวสูงขึ้นทุกปี ประเทศที่กำลังการบริโภคมหาศาลและคนชั้นกลางขึ้นไปมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี เราเห็นร้านขายกระเป๋าหลุยที่แสนแพงและคลับไฮโซสุดหรูหราในเมืองเซี่ยงไฮ้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ในบางซอกมุมของประเทศจีน ยังมีชีวิตด้านที่ลำบากยากแค้นอยู่ ซึ่งภาพทำนองนี้ไม่ได้มีอยู่แต่ใประเทศจีนเท่านั้น แต่ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ล้วนมีอยู่ในทุกดินแดน ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศจะดูแลจัดการกันอย่างไร ประเทศไทยก็มีเช่นกัน คนเร่ร่อนใต้สะพาน คนจรนอนสนามหลวง ฯลฯ เหล่านี้เราก็มี และในอนาคต แม้ว่าเศรษฐกิจของไทยจะดีขึ้นกว่านี้ แต่ภาพเหล่านี้ก็คงไม่หมดไป เพราะยิ่งเศรษฐกิจดีก็ยิ่งเหลื่อมล้ำ การแก้เราต้องแก้กันในเชิงโครงสร้างเลยทีเดียว


No comments: