Friday, October 7, 2011

06/10/2011 * ลงทุนหุ้นเสี่ยงสูงขึ้น, K-Agri, KFTRB, TMBGF, หุ้นดี ราคาถูก (2)



วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 913.72 จุด เพิ่มขึ้น 51.07 จุด (5.92%) ต่างชาติซื้อสุทธิอีก ขณะนี้ดัชนีของตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนสูงขึ้นมาก SETI ค่า vi (volatility index) สูงถึง 3.2% (ดูในรายงานของลุงแมวน้ำ) ผันผวนพอๆกับตลาดหุ้นหั่งเส็งของฮ่องกงแล้ว และผันผวนมากกว่าตลาดหุ้นเพื่อนบ้านอีกหลายๆประเทศ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย ไต้หวัน จีน สหรัฐอเมริกา ฯลฯ

หุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย ขณะนี้โปรแกรมถือหุ้นอยู่รวมทั้งสิ้น 2 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้มีสัญญาณขายฟิวเจอร์สของพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน อายุ 5 ปี (FV)

ตลาดต่างประเทศ วันนี้ตลาดหุ้นย่านเอเชียแปซิฟิกปิดเขียว (ตลาดหุ้นจีนกับอินเดียหยุด) อันเป็นผลจากดัชนีของยุโรปและสหรัฐอเมริการีบาวด์ค่อนข้างแรงเมื่อวานนี้ ทางด้านตลาดฝั่งยุโรปและอเมริกาวันนี้ก็ยังขึ้นต่อ ดังนั้นจึงปิดเขียวทั้งสามภูมิภาค ตลาดที่ขึ้นแรงมีจำนวนมาก โปรดดูในภาพ โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยติดอันดับสองของตลาดที่ขึ้นแรงที่สุด

สาเหตุที่ตลาดหุ้นขึ้นแรงในช่วงสองวันมานี้เกิดจากข่าวจากทางกลุ่มยูโรโซน (Eurozone) โดยผู้นำของกลุ่ม ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส มีท่าทีชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับการปัญหาเศรษฐกิจในกลุ่ม โดยมีการปรึกษาหารือกันเรื่องการรักษาเสถียรภาพของสถาบันการเงินในกลุ่มที่เป็นเจ้าหนี้พันธบัตรของกรีซเอาไว้ ซึ่งนอกจากการเตรียมอัดฉีดสภาพคล่องให้ในยามจำเป็นแล้วยังรวมไปถึงการให้สถาบันการเงินต่างๆเพิ่มทุนอีกด้วย

ข่าวนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกถือว่าเป็นข่าวดีจนทำให้ตลาดหุ้นขึ้นแรง แต่หากพิจารณาให้ละเอียดแล้วจะพบว่า ท่าทีเหล่านี้ส่อนัยว่ากรีซต้องผิดนัดชำระหนี้แน่ ซึ่งเท่าที่ผ่านมา ความพยายามในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซน รวมทั้งได้ความสนับสนุนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เน้นที่การช่วยเหลือกรีซเพื่อไม่ให้ผิดนัดชำระหนี้ยังทำไม่ได้ การป้องกันสถาบันการเงินต่างๆจากการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซนั้นในขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน จึงยังไม่ทราบว่าวิธีการต่างๆที่จะสรุปกันออกมานั้นจะมีรายละเอียดอย่างไร ปฏิบัติได้หรือไม่ และสามารถยับยั้งวิกฤตสถาบันการเงินได้จริงหรือไม่ นอกจากนี้ สถาบันจัดอันดับเครดิตได้ลดอันดับพันธบัตรอิตาลีบางรายการลง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก คาดว่าต่อไปคงมีการลดอันดับตามมาอีก และปัญหาของอิตาลีอาจประทุตามมา ดังนั้นลุงแมวน้ำมีความเห็นว่าข่าวในวันสองวันนี้ยังไม่มีน้ำหนักพอที่จะเป็นข่าวดีได้ การลงทุนยังคงต้องระมัดระวังอย่างสูง โดยเฉพาะการลงทุนหุ้น

ลองมาดูกราฟ NAV ของกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศกัน ลุงแมวน้ำนำมาให้ดู 3 กองทุน

กองทุนแรก K-Agri ลงทุนในสินค้าเกษตร ระยะนี้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลงมาก มูลค่าหน่วยลงทุนก็ลดลงไปมากพอดู มูลค่าลดลงจากยอดคลื่น -17.6%



กองทุนถัดมา TMBGF ลองทุนในกองทุนตราสารหนี้เทมเพิลตัน (Templeton Global Bond Fund) อันเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่เป็นส่วนใหญ่และทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจากสกุลเงินท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วย ช่วงนี้เงินดอลลาร์ สรอ แข็งค่า อีกทั้งมีเงินลงทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งเงินบาทอ่อน เสียเปรียบทั้งด้านมูลค่าของพันธบัตรและด้านอัตราแลกเปลี่ยน มูลค่าหน่วยลงทุนลดลงจากยอดคลื่นแล้ว -8.5%



กองทุนตราสารหนี้ KFTRB ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ PIMCO Total Return Bond Fund ที่เน้นลงทุนในพันธบัตรอเมริกัน เท่าที่ทราบเมื่อต้นปีมานี้มีการปรับกลยุทธ์ไปลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทในยุโรปด้วยเพื่อเพิ่มผลกำไรให้แก่กองทุน ช่วงนี้ราคาพันธบัตรอเมริกันปรับตัวขึ้น แต่มูลค่าหน่วยลงทุนของ KFTRB ลดลงนิดหน่อย ประมาณ -2.7%





หุ้นดี ราคาถูก (2)


“ใครจะไปรู้ละลุง” ลิงจ๋อตอบ

“ก็นั่นน่ะสิ ใครจะไปรู้ ก็ได้แต่ประเมินกันตามแต่ทัศนคติและข้อมูลที่ตนเองมี หากเป็นทางปัจจัยพื้นฐานก็อาจประเมินจากค่า PER ในอดีต แล้วคำนวณย้อนกลับเป็นราคาเป้าหมายก็ได้ ค่า PER ที่จะนำมาใช้ก็เลือกเอาค่า PER ที่ต่ำๆในช่วงตลาดขาลงมาหลายๆค่า แล้วลองประมาณดู”

“แล้วถ้าประเมินทางเทคนิคล่ะ” ลิงจ๋ออยากรู้ต่อไปอีก

“หากประเมินทางเทคนิค” ลุงแมวน้ำหยุดคิด “ความเห็นของลุงก็คือมองจุดต่ำสุดเมื่อคราว วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เอาไว้เป็นเกณฑ์ หากจะดีกว่านั้นก็คงได้ไม่มาก”

“อ้อ พอเข้าใจแล้ว” ลิงชิมแปนซีตอบ จากนั้นก็ถามต่อ “ลุงๆ ลุงลองประเมินราคาเป้าหมายให้ดูเป็นตัวอย่างอีกสักหุ้นหนึ่งได้ไหม”

“เข้าใจพูดนะ” ลุงแมวน้ำดักคอ “ถือตัวไหนอยู่ล่ะ อยากจะรู้ว่าตัวที่ถือจะลงไปแค่ไหนก็บอกมาเถอะ”

“แหมๆๆ ก็ทำนองนั้นแหละลุง” ลิงยกหางมาปิดตา ทำท่าเขิน “ดูหุ้นธนาคารกะลุกปุ๊กไทยให้หน่อยสิ”

ลุงแมวน้ำได้ยินดังนั้นจึงดึงกระดาษสองแผ่นออกมาจากในหูกระต่าย จากนั้นวางใบหนึ่งลงให้ลิงจ๋อดู

“เอ้า ลองดูนี่” ลุงแมวน้ำพูด “ราคาเป้าหมายที่ประเมินทางเทคนิค อาจจะลงไปได้ถึงประมาณ 65 บาท หรือ 40 บาท ตามระดับฟิโบนาชชี 61.8% กับ 78.6% ตามลำดับ”




“แล้วถ้าใช้ค่า PER ล่ะ” ลิงยังอยากรู้

ลุงแมวน้ำวางกระดาษอีกแผ่นหนึ่งให้ลิงจ๋อดู

“นี่ไง ใช้ค่า EPS ของปี 2010 คือ 7.78 บาทต่อหุ้นเป็นฐานในการคำนวณ ราคาเป้าหมายในปีนี้ที่ PER 5.5 เท่า ราคาเป้าหมายควรเป็น 43 บาทต่อหุ้น เท่ากับระดับฟิโบนาชชิ 78.6% หากประเมินว่าค่า PER ไม่น่าแย่ขนาดนั้น ก็ใช้ค่า PER อื่นๆที่สูงกว่านี้มาคำนวณ”




“ถ้ายังงั้นขอถามอีกข้อได้ไหม” ลิงจ๋อทำหน้าอึกอัก “นะนะนะ อีกข้อเดียว”

“เอาเถอะ จะถามตัวไหนอีก” ลุงแมวน้ำรู้ทัน”ไม่ต้องเกรงใจไป”

“อยากรู้ว่าดัชนีเซ็ตนี่ประเมินด้วยวิธี PER นี้ได้เหมือนกันไหม” ลิงถาม

“ได้สิ” ลุงแมวน้ำตอบ “เพราะว่าตลาดหลักทรัพย์ก็มีการคิดค่ากำไรต่อหุ้น (EPS) ของดัชนีเอาไว้เหมือนกัน หากมีค่า EPS ก็คำนวณค่า PER ได้ ลองดูนี่สิ” ลุงแมวน้ำพูด ว่าแล้วก็ดึงกระดาษอีกสองแผ่นออกมาจากในหูกระต่าย





“จากในภาพ หากใช้ PER ของดัชนีเป็น 6.5 เท่า จะได้ SETI เป้าหมายคือ 553 จุด หรือถ้าประเมินดีกว่านั้น เช่น ใช้ PER ที่ 8 เท่า ก็ได้ SETI เป้าหมายที่ 680 จุด หรือหากมองว่าแย่มากๆก็ไปดูที่ค่า PER ที่ 5 หรือ 6 เท่า”

“แล้วทางปัจจัยพื้นฐานมีวิธีประเมินราคาเป้าหมายอย่างอื่นอีกไหมนอกจากใช้ค่า PER” ลิงยังอยากรู้ต่อ

“หากเป็นวิธีที่ง่ายๆ ใช้การคำนวณไม่มาก นักลงทุนรายย่อยทั่วไปสามารถคำนวณได้เอง ก็อาจจะใช้ค่าอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าตามบัญชีของหุ้นก็ได้ ที่เขาเรียกกันว่า price per book value หรือเขียนย่อๆว่า P/BV หรือ PBV ก็ได้ ที่จริงรายงานราคาหุ้นประจำวันตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆก็มักรายงานค่าสองค่านี้เอาไว้เพื่อให้นักลงทุนสามารถดูและพิจารณาเพื่อ การลงทุนหุ้น ได้เลย ไม่ต้องไปคำนวณเอง หรือจะคำนวณเองก็ได้”

“แล้วทั้งวิธี PER กับ PBV ต่างกันยังไงละลุง” ลิงจ๋อถาม

“ลุงคิดว่าต่างกันในแง่มุมมอง ค่า PER คำนวณมาจากกำไรสุทธิต่อหุ้น นั่นคือการมองในแง่ความสามารถในการทำกำไร ส่วนค่า PBV คำนวณมาจากมูลค่าหุ้นตามบัญชี นั่นคือการมองในแง่สินทรัพย์ที่มีอยู่ คือมองความปลอดภัยในการได้เงินลงทุนคืนเป็นหลัก แต่ทั้งหมดนี้ก็มีหลักคิดเดียวกันคือ ประเมินความคุ้มค่าน่าลงทุนของหุ้น ตัวนั้นๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจใน การลงทุนหุ้น

“สองแง่มุมที่ว่านี้หมายความว่ายังไงลุง” ลิงจ๋อยังสงสัย

“ยกตัวอย่างง่ายๆ หากหุ้นตัวหนึ่งมีมูลค่าหุ้นตามบัญชี (ค่า BV) 100 บาท/หุ้น และหากนายจ๋อซื้อหุ้นนั้นมาที่ราคา 100 บาท ก็เท่ากับว่าหุ้นตัวนั้นที่ราคา 100 บาทมีค่า PBV เท่ากับ 1 หมายความว่ามูลค่าของทรัพย์สินต่อหุ้นเท่ากับราคาที่ซื้อมาพอดี หากบริษัทเป็นอะไรไป เอาทรัพย์สินในบริษัทไปขายก็ได้เงินมาประมาณ 100 บาทต่อหุ้น เอามาคืนให้แก่ผู้ถือหุ้น ดังนั้นหากลงทุนในราคานี้ถ้าบริษัทเป็นอะไรไปก็ยังได้คืนมาเสมอตัวหรือเกือบเสมอตัว โดยไม่ได้สนใจในประเด็นที่ว่าบริษัทนี้มีความสามารถในการทำกำไรเพียงใด นี่เปรียบเทียบให้ฟังแบบง่ายๆ”

“อ้อๆ พอเข้าใจแล้ว” ลิงจ๋อพูด “ขอกราฟไปดูหน่อยนะลุง ผมขอไปนอนคิดดูก่อนว่าจะจัดการกับเจ้าหุ้นลูกโป่งสวรรค์นี้ยังไงดี ไปละลุง เฮ้อ อยากเป็น นักลงทุนหุ้น ระยะยาว แต่มันก็ไม่ง่ายเลย”




No comments: