Tuesday, May 11, 2010

10/05/2010 * DAX, AORD, BVSP, SSECI, BSESN, NIKKEI


เริ่มต้นวันทำงานแรกของสัปดาห์ วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 779.06 จุด เพิ่มขึ้น 10.51 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย ขณะนี้ถือหุ้นอยู่ทั้งหมด 31 ตัว

สำหรับกลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย

ทางด้านดัชนีตลาดต่างประเทศ วันนี้ไม่มีสัญญาณซื้อขาย ดัชนีต่างประเทศทุกตลาดในรายงานล้วนแต่เป็นสัญญาณขาย

วันนี้ตลาดทางฝั่งยุโรปและอเมริกาขึ้นแบบถล่มทลาย ปรับตัวขึ้นกันไปตลาดละ 4-8% ส่วนตลาดฝั่งเอเซียปรับตัวขึ้นน้อยกว่า ประมาณ 1-4% วันก่อนที่ตลาดยุโรปและอเมริกาลงแบบถล่มทลายก็เพราะปัญหาวิกฤตเศรษฐกฤตของประเทศกรีซ วันนี้ที่ตลาดขึ้นแบบถล่มทลายก็เพราะประเทศกรีซอีก เนื่องจากกลุ่มยูโรตัดสินใจที่จะอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าช่วยพยุงเศรษฐกิจของกรีซเอาไว้ ช่วงนี้ตลาดต่างประเทศแกว่งตัวรุนแรงมาก ทางเทคนิคเรียกว่ามี volatility สูง อย่างเช่นดัชนีดาวโจนส์ขึ้นลงวันละ 300-400 จุด วันหนึ่งขึ้น อีกวันหนึ่งลง นักลงทุนที่เฝ้าหน้าจอกว่าจะหมดเวลาทำการคงดูจอจนตาลาย

ดังที่เมื่อวานลุงแมวน้ำนำเอากราฟของดัชนีดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average, DJI) มาให้ดูกันพร้อมทั้งวิเคราะห์เอาไว้ว่าขณะนี้ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาน่าจะอยู่ในคลื่น C (สีน้ำเงิน) แล้ว รวมทั้งดัชนี SET ของไทยที่ลุงแมวน้ำก็ประเมินว่าน่าจะเข้าสู่คลื่น C (สีน้ำเงิน) แล้ว และตราบใดที่ดัชนี SET ไม่สามารถขึ้นไปจนผ่าน 812.63 จุดได้ ลุงแมวน้ำก็จะยังไม่เปลี่ยนความเห็น วันนี้เราจะมาพิจารณาดัชนีตลาดหลักทรัพย์สำคัญของประเทศอื่นๆกันต่อ

อนึ่ง มุมมองของลุงแมวน้ำนี้เป็นมุมมองของตลาดในภาพใหญ่หรือคลื่นในกรอบเวลาที่นานมาก เป็นลูกคลื่นในระดับหลายสิบปี ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน เพราะจะช่วยให้นักลงทุนมองเศรษฐกิจในกรอบเวลาที่แคบลงได้ดียิ่งขึ้น เปรียบเหมือนกับเราอยู่ในถนนซึ่งรถติด หากเราขับรถอยู่และรถติด เราก็คงเห็นสภาพการจราจรที่อยู่ตรงหน้าได้เพียงในระยะไม่กี่ร้อยเมตร ซึ่งบางครั้งก็ยังไม่เพียงพอที่จะทราบปัญหาว่ารถติดเกิดขึ้นจากสาเหตุใด แต่หากเรานั่ง ฮ. ไปดูภาพการจราจรจากที่สูงก็จะทำให้เราเห็นการจราจรในภาพกว้าง ทำให้มองเห็นปัญหา เข้าใจปัญหา และหาทางแก้หรือว่าทางหลบเลี่ยงได้ดียิ่งขึ้น

ดูทางฝั่งยุโรป ดัชนีแดกซ์ (DAX) ของเยอรมนี ในลูกคลื่นรอบใหญ่หลายสิบปี เศรษฐกิจของเยอรมนีน่าจะกำลังอยู่ในคลื่น B หรือเพิ่งจบ B ไปและกำลังอยู่ในคลื่น C ถ้ารูปแบบทางเทคนิคเป็นแบบนี้ แสดงว่าการที่เยอรมนีเข้าไปช่วยอุ้มประเทศอื่นในอียูที่มีปัญหาน่าจะเป็นการเตี้ยอุ้มค่อมเสียมากกว่า ดังภาพต่อไปนี้



มาทางด้านอเมริกาใต้ ดัชนีโบเวสปา (Bovespa, Ibovespa, BVSP) ของประเทศบราซิล สะท้อนภาพเศรษฐกิจของปลายคลื่น 5 อันเป็นคลื่นขาขึ้นลูกสุดท้าย หรืออาจจบคลื่น 5 ไปแล้วและกำลังอยู่ในคลื่น A ก็เป็นได้ หากเป็นกรณีหลังหมายความว่าคลื่น 5 นี้เป็น failed wave 5 คือจบคลื่นแบบผิดปกติ อันหมายความว่าสภาพเศรษฐกิจของบราซิลอาจทรุดลงอย่างกะทันหัน ดังภาพต่อไปนี้



วกไปทางด้านออสเตรเลียบ้าง ดัชนีอลลออร์ดิแนรีส์ (All Ordinaries, AORD) ของออสเตรเลีย น่าจะกำลังอยู่ในคลื่น 5 บ่งบอกแนวโน้มว่าเศรษฐกิจของประเทศนี้น่าจะยังสดใสได้อีกหลายปี ดังภาพต่อไปนี้



มาทางด้านเอเซีย ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิต (Shanghai Composite, SSECI) ของประเทศจีน น่าจะอยู่ในคลื่น 4 ของคลื่นยักษ์ขาขึ้น การที่อยู่ในคลื่น 4 นี้น่าจะทำให้สภาพเศรษฐกิจของจีนแกว่งตัวขึ้นลงแรงชวนให้ใจหายใจคว่ำไปนานหลายปีจวบจนเข้าคลื่น 5 แต่ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตนี้มีข้อน่าสังเกต คือส่วนหนึ่งของคลื่น 4 หลุดทะลุแนวของยอดคลื่น 1 ไปแล้ว ซึ่งตามปกติแล้วท้องคลื่น 4 ไม่ควรต่ำกว่ายอดคลื่น 1 แสดงว่ารูปแบบคลื่นมีความผิดปกติ ดังนั้นคลื่น 5 ที่กำลังจะดำเนินต่อไปอาจเป็น failure wave ได้ อันสะท้อนถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจของจีนที่ไม่ค่อยสเถียร อาจพลิกผันอย่างไม่คาดหมายได้ ควรระวัง ดังภาพต่อไปนี้



ดัชนีเซนเซกซ์ (SENSEX, BSE30) ของอินเดีย น่าจะอยู่ในคลื่น 5 อันเป็นคลื่นขาขึ้นลูกสุดท้าย แต่น่าจะยังสดใสไปได้อีกหลายปี ดังภาพต่อไปนี้



ดัชนีนิกเกอิ (NIKKEI225) ของประเทศญี่ปุ่น หลังจากเศรษฐกิจตกต่ำมานานนับยี่สิบปี น่าจะใกล้จบคลื่น C หรืออาจเพิ่งจบคลื่น C ไป ถ้าเป็นกรณีหลัง ในช่วงคลื่น 1 และ 2 ญี่ปุ่นคงเหมือนกับยังพยายามตั้งไข่อยู่ แต่เมื่อไรที่เข้าคลื่น 3 ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่น่าลงทุนมากไปอีกหลายปีเลยทีเดียว



หากลุงแมวน้ำนับคลื่นไม่ผิด จะเห็นได้ว่าประเทศทางด้านเอเซียยังน่าลงทุนเพราะอยู่ในคลื่นยักษ์ขาขึ้น ในขณะที่ฝั่งยุโรปและอเมริกาน่าจะอยู่ในคลื่นขาลง จะเห็นได้ว่าโลกในปัจจุบันทุนและความมั่งคั่งย้ายมาทางเอเซียแล้ว แต่ในอนาคตอีกหลายๆปี เมื่อวัฎจักรคลื่นของเอเซียเข้าสู่คลื่นขาลง ความมั่งคั่งก็คงโยกย้ายออกไปอยู่ที่อื่นแทน

อย่างไรก็ดี แม้ในปัจจุบันเอเซีย และยุโรปอเมริกาอยู่ในคลื่นคนละด้าน ฝั่งหนึ่งอยู่ในขาขึ้น อีกฝั่งอยู่ในขาลง แต่ดัชนีดาวโจนส์ของสหรัฐอเมริกาก็ยังมีผลกระทบต่อตลาดทั่วโลกในระยะสั้นและกลางอยู่ดี ยกตัวอย่างเช่นเมื่อดาวโจนส์เข้าสู่คลื่น C ก็อาจทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่คลื่น 2 ได้ เป็นต้น

1 comment:

mark said...

ขอบคุณครับคุณลุงแมว