Friday, October 17, 2014

หุ้นพีอีต่ำ หุ้นแม่ไก่ไข่ (1)


เครื่องเล่นวิทยุและเทปคาสเซ็ต วอล์กแมน (Walkman) แกดเจ็ตประจำตัวยอดนิยมในหมู่วัยรุ่นแห่งยุค 1980s ตัวเครื่องเหน็บไว้ที่เข็มขัด เสียงดีมาก สินค้าเด่นของโซนี่

สินค้าเด่นอีกชนิดของโซนี่คือทีวีสี ราคาสูงแต่สีสันสดใส แบรนด์ทีวีสีโซนี่เป็นแบรนด์ที่มีความเข้มแข็งมาก รุ่นที่เห็นในภาพนี้เป็นรุ่นกีราราบาสโซ (Kirara Basso) ในยุค 1990s ใช้เทคโนโลยีหลอดภาพซูเปอร์ไตรนิตรอน สีสวย เสียงดีอีกด้วย ยังเป็นหลอดภาพคาโทดอยู่ ตัวหลอดภาพใหญ่และหนักมาก


หมู่นี้บรรดาสมาชิกในคณะละครสัตว์ที่ลงทุนในหุ้นต่างก็มาสรวลเสเฮฮาที่ศาลาในสวนกันเป็นประจำหลังจากเสร็จสิ้นการแสดง ทั้งเป็นการพักผ่อนหลังเลิกงานและยังเป็นการสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ บ้างก็คุยอวดหุ้นที่ตนเองถืออยู่ ลุงแมวน้ำเองก็ชอบมาสังสรรค์ด้วย

“ลุงแมวน้ำ กำลังบ่นถึงลุง ลุงก็มาเชียว” ลิงจ๋อทักทาย

“บ่นถึงลุงอยู่หรือ มีขนมมาฝากหรือไง” ลุงแมวน้ำพูดพลางกระดืบเข้ามาในศาลาชมสวน “โอย แสดงจนเมื่อย มีขนมกินสักหน่อยก็ดี”

“เปล่าครับ ไม่ได้มีขนมมาฝาก” ลิงพูดหน้าตาเฉย “มีเรื่องจะถามต่างหาก”

“โห นี่ลุงพูดขนาดนี้แล้วยังเฉยอยู่อีกหรือ” ลุงแมวน้ำทึ่ง

“ลุงกล้าทวง ผมก็กล้าไม่ให้” ลิงหัวเราะ พลางเอาหางเกี่ยวเอาถุงพลาสติกใบหนึ่งออกมาจากข้างหลัง “ล้อเล่นน่ะลุง นี่ครับ วันนี้มีน้ำปั่นของโปรดของลุงมาฝาก”

“แบบนี้ค่อยยังชั่ว” ลุงแมวน้ำดูดน้ำปั่นชื่นใจ “นายจ๋อจะถามอะไรล่ะ”

ลิงหยิบกราฟแผ่นหนึ่งออกมาให้ลุงแมวน้ำดู





“นี่เป็นกราฟหุ้น PSL ที่วันก่อนลุงเอามาให้มดู ผมยังสงสัยอยู่ ที่ลุงบอกว่าหุ้นในระยะตั้งไข่มักมีค่าพีอีสูง แต่ก็ยังพิจารณาลงทุนได้ แต่ลุงดูในรูปนี้สิ ก่อนหน้านั้น คือในปี 2010, 2011 หุ้น PSL นี้มีค่าพีอีต่ำ แปลว่าช่วงนี้ยิ่งน่าลงทุนเข้าไปใหญ่ใช่ไหม” ลิงถาม

“ดีแล้วที่นายจ๋อถามเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะลุงเองก็อยากย้ำในเรื่องนี้เพื่อความกระจ่างอยู่เหมือนกัน” ลุงแมวน้ำพูด “นั่นคือ ปกติหุ้นที่มีค่าพีอีสูงก็คือหุ้นที่มีราคาแพงนั่นเอง ของแพงมากๆก็ไม่ค่อยน่าลงทุนเท่าไร ยกเว้นกรณีที่เป็นหุ้นฟื้นไข้ เพราะหุ้นพวกนี้เมื่อหายไข้แล้วผลงานก็จะกลับมาโดดเด่นอีก ดังที่ลุงได้อธิบายไปแล้ว แต่ที่อยากย้ำก็คือต้องพิจารณาให้ดีว่าหุ้นที่เราสนใจอยู่ในเป็นหุ้นฟื้นไข้จริงๆ เนื่องจากหุ้นปั่นก็มีค่าพีอีสูงเช่นกัน แต่ไม่ได้มีปัจจัยอะไรมารองรับ

“และนอกจากนี้ แม้ว่าจะพิจารณาแล้วว่าน่าจะเข้าข่ายหุ้นฟื้นไข้ แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการเข้าลงทุนในระยะที่เพิ่งฟื้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ค่าพีอีสูงมาก อาจเป็นหลายร้อยเท่า และนอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะฟื้นไข้ไม่สำเร็จอีกด้วย ควรรอให้ฟื้นได้จริงและเข้าสู่ระยะต้นระยะเติบโตก่อนจะดีกว่า หากมองเป็นคลื่นอีเลียตก็คือรอให้จบคลื่น 2 ไปก่อนและเข้าคลื่น 3 แล้ว เราก็ซื้อที่ต้นคลื่น 3 นั่นเอง” ลุงแมวน้ำร่ายยาว

“เข้าใจแล้วครับลุง” ลิงแกว่งหางไปมาแสดงว่าเข้าใจ


P/E ratio เท่าไรจึงเรียกว่าถูก


“ทีนี้ก็มาถึงคำถามของนายจ๋อ ที่ถามว่าปี 2010, 2011 ในช่วงที่ค่าพีอีต่ำ แปลว่ายิ่งกว่าลงทุนกว่าช่วงปี 2012, 2013 ใช่ไหม คำตอบก็คือไม่ใช่” ลุงแมวน้ำตอบจากนั้นก็นิ่งเงียบไป

“โห ลุงตอบสั้นๆแค่นี้เลยนะ อธิบายหน่อยสิคร้าบ” ลิงหัวเราะ

“เดี๋ยวสิ กำลังเตรียมกราฟอยู่” ลุงแมวน้ำพูด พลางหยิบกระดาษแผ่นหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย

กระต่ายน้อยชอบใจหัวเราะร่า

“หูกระต่ายของลุงแมวน้ำนี่ดีจัง เอาไว้เมื่อไรที่ผมเบื่อหมวกนักมายากล จะมาขออาศัยในหูกระต่ายบ้างดีกว่า”

ลุงแมวน้ำหัวเราะขำกระต่ายน้อย แล้วพูดต่อ

“ก่อนอื่น เราพูดกันในประเด็นพีอีถูก พีอีแพง กันว่าก่อน ว่าพีอีระดับในเรียกว่าถูก เรื่องความถูกแพงนั้นไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่เป็นเรื่องการเปรียบเทียบมากกว่า โดยเราเปรียบเทียบกับพีอีของตลาด และพีอีของอุตสาหกรรม

“แต่ลุงยังไม่ลงรายละเอียดดีกว่า ในชั้นนี้ถือว่าในภาวะที่ตลาดไม่ร้อนแรง พีอีของตลาดหรืออีกนัยหนึ่งคือพีอีของดัชนีเซ็ต มักเทรดกันที่ระดับพีอี 10 เท่าถึง 15 เท่า ดังนั้นหุ้นใดที่ค่าพีอีสูงกว่า 15 ก็เท่าถือว่าเริ่มแพงแล้วล่ะ ถือหลักนี้ไปก่อนก็แล้วกัน

“ทีนี้มาถึงหุ้น PSL ที่นายจ๋อถาม ค่าพีอี 16 เท่า 18 เท่า ในภาวะที่ตลาดไม่ร้อนแรงก็ไม่ถือว่าราคาถูก แต่ลุงอยากบอกว่าหุ้นพีอีสูงอย่าคิดว่าแพงเสมอไป ในทางตรงกันข้าม หุ้นพีอีต่ำก็ใช่ว่าจะถูกเสมอไป ดังนั้นการเลือกหุ้นด้วยค่าพีอี ต้องทำความเข้าใจกับตัวหุ้นและที่มาที่ไปของพีอีด้วยว่าอยู่ในระยะใดของวัฏจักรหุ้น” ลุงแมวน้ำอธิบาย

“แล้วทำยังไงถึงจะเข้าใจล่ะลุง ลุงก็บอกหน่อยสิ” ลิงถามอีก

“ถ้าอย่างนั้นวันนี้เรามารู้จักกับหุ้นแม่ไก่ไข่กัน” ลุงแมวน้ำพูด “วันก่อนเราคุยกันเรื่องหุ้นตั้งไข่ หุ้นฟื้นไข้ วันนี้เป็นหุ้นแม่ไก่ไข่” ลุงแมวน้ำพูด

“ลุงแมวน้ำคุยไปคุยมาก็หนีไม่พ้นเรื่องไข่ไก่” ยีราฟพูดบ้าง “ทำไมลุงไม่พูดเรื่องถั่วฝักยาวบ้างล่ะ”

“หยุดเดี๋ยวนี้เลยแม่ยีราฟ” ลิงรีบพูด “เธออย่าวกเข้าไปที่ไร่ถั่วฝักยาวอีกเชียว ฉันฟังแล้วปวดหัว”

“แหม ฉันเพิ่งพูดนิดเดียวเอง” ยีราฟจ๋อย “ยังไม่พูดก็ได้”

“ยังงั้นลุงพูดเรื่องหุ้นแม่ไก่ไข่ละนะ” ลุงแมวน้ำพูดขัด “หุ้นแม่ไก่ไข่ของลุงยังแบ่งเป็นแม่ไก่สาวและแม่ไก่วัยกลาง”

“ยังมีแบ่งย่อยอีก ชักเริ่มสนุกแล้ว ลุงต้องมีนิทานอีกแน่เลย รีบเล่าเลยฮะลุง” กระต่ายพูดพลางหยิบแครอตออกมากินอย่างอร่อย “ขอผมแทะกินรอตไปด้วยนะฮะ ผมหิวบ่อย”


กรณีศึกษา บริษัทโซนี่ (SONY Corporation, SNE) ความสัมพันธ์ของรายได้และกำไรของกิจการ กับราคาหุ้นและพีอี


“เรื่องที่เราจะคุยกันในวันนี้ก็ยังเกี่ยวกับค่า P/E ratio แต่เป็นการมองค่าพีอีจากมุมที่แตกต่างไปจากที่เราคุยกันในวันก่อน แต่ก็ยังหนีไม่พ้นไปจากเรื่องของโค้งระฆังคว่ำหรือวัฏจักรเศรษฐกิจ วัฏจักรกิจการ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำหรับเรื่องที่เราจะพูดคุยกันต่อไปอีกมาก” ลุงแมวน้ำพูด หยุดนิดหนึ่ง แล้วพูดต่อ “ก่อนที่จะไปคุยเรื่องหุ้นแม่ไก่ไข่สาว และหุ้นแม่ไก่ไข่วัยกลาง ลุงขออารัมภบทด้วยกรณีเรื่องบริษัทโซนี่ก่อน ใครรู้จักบริษัทโซนี่บ้าง”

“สินค้าญี่ปุ่นน่ะลุง เขาไม่นิยมกันแล้วมั้ง เดี๋ยวนี้เขานิยมสินค้าเกาหลีกัน” สิงโตพูดบ้าง

“ใช่แล้ว บริษัทโซนี่เป็นบริษัทญี่ปุ่น เดิมทีผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานมาก ลุงขอเล่าคร่าวๆให้ฟังก่อน วันนี้เราจะโกอินเตอร์ ไปคุยกันเรื่องหุ้นต่างประเทศกันบ้างเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ”

“เดี๋ยวก่อนลุง สงสัยๆ” ลิงถาม “ทำไมไม่ยกตัวอย่างหุ้นไทยล่ะ”

“ก็เพราะว่าลุงต้องการหุ้นที่มีประวัติยาวนานมากๆน่ะสิเพื่อให้เห็นวัฎจักรของธุรกิจได้อย่างชัดเจน หุ้นไทยประวัติยังยาวไม่พอ ลุงจึงต้องใช้หุ้นต่างประเทศ”

ลุงแมวน้ำพูดจบก็ดึงกราฟออกมาจากหูกระต่ายและกางออก


รายได้ของบริษัทโซนี่ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกไปทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 1970 ถึง 2013 เส้นกราฟรายได้แสดงระยะตั้งไข่ เติบโต และอิ่มตัว


“บริษัทโซนี่เป็นบริษัทญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่สองหรือเมื่อประมาณ 60 กว่าปีมาแล้ว ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านเมืองญี่ปุ่นเสียหายยับเยิน ญี่ปุ่นก็เริ่มสร้างชาติขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่งจากซากปรักหักพัง ญี่ปุ่นต้องการเติบโตเร็วจึงเลียนลัดด้วยการลอกแบบสินค้าอเมริกัน แต่ผลิตในราคาที่ถูกกว่า ภาพลักษณ์ของสินค้าญี่ปุ่นในยุค 40-50 ปีก่อนคือเป็นนักก๊อปปี้ สินค้าที่ตีตรา Made in Japan เป็นสินค้ายอดนิยม เพราะเป็นของดีราคาถูก ส่วนสินค้าพวก Made in USA หรือ Made in Germany ถือว่าของดีราคาแพง

“บริษัทโซนี่ก็เกิดมาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ดั้งเดิมก็ผลิตพวกวิทยุทรานซิสเตอร์ ขายในประเทศและส่งออกด้วย ก็ขายดิบขายดี มีกำไร แต่ญี่ปุ่นเป็นชาตินักพัฒนา ไม่ได้ก๊อปอย่างเดียว แต่เป็น C&D คือ copy and development นั่นคือก๊อปไปด้วยพํฒนาไปด้วย สินค้าของญี่ปุ่นจึงมีคุณภาพดี และต่อมาราคาก็แพงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นสินค้าดีมีราคาเพราะนวัตกรรม ส่วนหนึ่งคงเนื่องจากต้องการหนีไต้หวันด้วย เพราะไต้หวันก็ก๊อปปี้สินค้าตะวันตกและผลิตขายในราคาถูกเช่นกัน ทำให้เกิดการแข่งขันและแย่งตลาดกัน

“ในยุค 1970-2000 ถือว่าเป็นยุคทองของบริษัทโซนี่ เพราะมีสินค้าที่โดนใจตลาด สร้างผลกำไรได้มาก อย่างเช่นเครื่องเสียงวอล์คแมน (Walkman) สมัยก่อนวัยรุ่นคนไหนไม่มีวิทยุเทปพกพาที่เรียกว่าวอล์กแมนก็ถือว่าเชย โทรทัศน์สีโซนี่ก็ได้รับความนิยมมากเพราะว่าสีสวยสดใส คุณภาพสีดีกว่ายี่ห้ออื่นๆ สรุปว่าเครื่องเสียงและโทรทัศน์เป็นผลิตภัณฑ์เด่นของโซนี่

“จากทศวรรษที่ 1970s ที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขายดี ในยุคทศวรรศที่ 1980s โซนี่ เป็นยุคที่บริษัทโซนี่เติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยการซื้อกิจการ ช่วงนั้นอเมริกาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ โซนี่ก็เข้าไปซื้อบริษัทหนังโคลัมเบียพิกเจอร์ส (Columbia Pictures) เสียเลย ยุคนั้นอเมริกาย่ำแย่ ต้องขายกิจการให้ต่างชาติเป็นจำนวนมาก และชาติที่ซื้อกิจการในอเมริกาไว้มากก็คือญี่ปุ่น

“ต่อมาในทศวรรษที่ 1990s โซนี่ก็ยังเติบโตต่อเนื่องจากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ พวกเครื่องเสียง โทรทัศน์ กล้องถ่ายภาพและกล้องถ่ายวีดิโอดิจิทัล เครื่องเล่นเกม คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กด้วย พร้อมทั้งกิจการด้านบันเทิงของกลุ่มโซนี่พิจกเจอร์ส (Sony Pictures) ซึ่งก็คือโคลัมเบียเดิม

“เอาละ คราวนี้เราดูที่กราฟกัน นี่เป็นกราฟยอดขาย (revenue) ของโซนี่ตั้งแต่ปี 1970 ที่ลุงบรรยายมา ลองดูกราฟนี้ จะเห็นวัฏจักรของกิจการได้ชัดเจนว่าเป็นทรงโค้งระฆังคว่ำ โดยกิจการเข้าสู่ระยะเติบโตตั้งแต่ปี 1985 โดยประมาณ โดยการควบรวมกิจการหรือการซื้อกิจการเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด รวมทั้งการขยายสายผลิตภัณฑ์ทดแทนผลิตภัณฑ์เดิมที่ล้าสมัย

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟอีกแผ่นหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย


กราฟรายได้ (revenue) และกำไรสุทธิต่อหุ้น (eps) ของโซนี่ตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา 


“เอาละ มาดูอีกภาพหนึ่งกัน กราฟที่แล้วเราดูรายได้ของกิจการ คราวนี้เราดูรายได้ของกิจการ และกำไรของกิจการพร้อมกันไป โดยกำไรของกิจการนี้ลุงใช้ค่ากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS, earning per share) เป็นตัวแทน” ลุงแมวน้ำพูด

“โอ๊ะ ลุง ทำไมปี 1995 ขาดทุนหนักขนาดนั้นล่ะ” ยีราฟยื่นคอยาวเหยียดชะโงกเข้ามาดูกราฟ และถาม

“ปีนั้นพิเศษหน่อย มีค่าตัดจ่ายค่ากู๊ดวิลล์ของกิจการโคลัมเบียที่ซื้อมา คือเป็นการขาดทุนทางบัญชีน่ะ ค่า EPS ปี 1995 ที่ขาดทุนหนัก ลุงขอข้ามรายละเอียดไปก่อน ถือเสียว่าขาดทุนทางบัญชี แต่ธุรกิจหลักรวมๆแล้วยังมีกำไรก็แล้วกัน หากอธิบายละเอียดจะงงหนัก” ลุงแมวน้ำตอบ

ลุงแมวน้ำหยุดนิดหนึ่ง จากนั้นพูดต่อ

“คราวนี้ตั้งใจดูดีๆ ค่อยๆคิดตาม ไม่ต้องใจร้อน เพราะกราฟเริ่มซับซ้อนขึ้น สังเกตว่าเส้นรายได้ (สีน้ำเงิน) เป็นระยะเติบโตจนถึงปี 2008 จากนั้นรายได้เริ่มมีปัญหา คือรายได้ไม่โตแล้ว นั่นคือ รายได้เริ่มเข้าระยะอิ่มตัวในปี 2008

“คราวนี้มีดูเส้นกำไร หรือว่าเส้น EPS สีส้ม จะเห็นว่าในเชิงเส้นกำไร โซนี่มีกำไรเติบโตแบบผันผวน กำไรขึ้นๆลงๆ และมาโตเต็มที่ในปี 1998 หลังจากนั้น แม้รายได้จะโตขึ้นแต่กำไรแย่ลง ถือได้ว่ากำไรเข้าสู่ระยะอิ่มตัวตั้งแต่ปี 1998”

“เดี๋ยวก่อนนะลุง ตกลงว่าระยะต่างๆของวัฎจักรเนี่ย ใช้กับรายได้หรือใช้กับกำไรกันแน่” ลิงจ๋อถาม

“ดีแล้วที่นายจ๋อถาม ลุงอยากให้พวกเราสงสัยประเด็นนี้กัน จึงได้พูดขึ้นมา” ลุงแมวน้ำพูด “ระยะต่างๆของวัฏจักรนั้นขึ้นกับว่าเราจะพิจารณาจากรายได้หรือกำไร รายได้ก็ว่าไปอย่าง กำไรก็ว่าไปอย่าง แต่โดยทั่วไปหากพิจารณาจากเส้นกำไร วัฏจักรมักเข้าสู่ระยะอิ่มตัวในตอนที่เส้นรายได้อยู่ในระยะอืดอาด คือเหลื่อมกันนิดหน่อย เส้นกำไรจะดำเนินไปก่อนเส้นรายได้” ลุงแมวน้ำตอบ

“แล้วดูจากกำไรหรือจากรายได้ อันไหนดีกว่ากันล่ะลุง” ยีราฟถามบ้าง

“ใช้ได้ทั้งคู่นั่นแหละ มีอะไรก็ใช้อย่างนั้น บางทีข้อมูลหายาก มีแต่ข้อมูลรายได้ เราก็พล็อตจากรายได้ บางทีหาได้แต่ข้อมูล EPS เราก็พล็อตจากค่า EPS คือมีอะไรก็ใช้อันนั้นนั่นแหละ แต่เมื่อเรารู้ว่าเส้นกำไรมักล่วงหน้าไปก่อนเส้นรายได้ ดูเส้นไหนเราก็สามารถตีความได้” ลุงแมวน้ำตอบ

“กรณีโซนี่ ลุงตีความยังไงละจ๊ะ” ฮิปโปอยากรู้

“จากกราฟรูปนี้บอกอะไรเราได้หลายอย่าง นั่นคือ

“พิจารณาช่วงตั้งแต่ปี 1998-2008 ก่อน ในช่วงนี้ผลกำไรของโซนี่เริ่มคงตัว ลุงถือว่าเข้าสู่ระยะอิ่มตัวแล้ว ในขณะที่รายได้ยังอยู่ในระยะเติบโตหรือเราจะจัดว่ารายได้อยู่ในระยะเติบโต ลุงแมวน้ำตีความว่าในช่วงนี้กิจการโซนี่มีต้นทุนสูงขึ้นมาก แม้ว่ายังโชคดีที่ยอดขายยังเติบโตอยู่ แต่ว่ารายจ่ายกินไปหมด คงเหลือแค่กำไรที่แค่ทรงตัว

“ส่วนปี 2009-2013 เป็นต้นไป รายได้ของโซนี่ทรงตัว ขยายต่อไปไม่ไหว ขณะเดียวกันรายจ่ายของกิจการก็มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นกิจการจึงเริ่มขาดทุนและขาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ รายได้อยู่ในระยะอิ่มตัว แต่ว่ากำไรเข้าสู่ระยะเสื่อมไปแล้ว”

“เส้นรายได้สวยดี เป็นโค้งระฆังเป๊ะเชียว แต่เส้นกำไร EPS เบี้ยวๆบูดๆ ไม่ค่อยเหมือนระฆังเลยลุง” ลิงทักท้วง

“เส้นสวยๆนั่นคือกราฟในอุดมคติ ลุงจึงได้ยกกรณีศึกษามาให้ดูกันยังไงล่ะ เพราะว่าชีวิตจริงไม่ได้มีอะไรที่เป็นอุดมคติได้ขนาดนั้น ก็เบี้ยวบูดไปบ้าง ก็ต้องพยายามตีความจากสิ่งที่เราเห็น”

ลุงแมวน้ำพูดพลางหยิบกราฟออกมาอีกรูปหนึ่ง


กราฟแสดงรายได้และกำไรสุทธิต่อหุ้นของบริษัทโซนี่ เปรียบเทียบราคาหุ้นและค่าพีอี สังเกตการเปลี่ยนแปลงของกำไรและราคาหุ้น


“คราวนี้ลองมาดูกันว่าผลประกอบการของโซนี่ ทั้งรายได้และกำไรของกิจการ มีผลต่อราคาหุ้นและค่าพีอีอย่างไร ราคาหุ้นกับพีอีนี้เป็นราคาหุ้นกับพีอี ณ เวลาสิ้นปี ไม่ใช่ค่าเฉลี่ยตลอดปี ก่อนปี 1985 ลุงไม่มีข้อมูล หาไม่ได้ ดังนั้นก็ใช้เท่าที่หามาได้ละกัน ลองดูว่าเป็นอย่างไร ลองเอาไปดูและคิดดูก่อนว่าได้อะไรจากกราฟเหล่านี้บ้าง แล้วครั้งหน้าเรามาคุยกันต่อ น้ำปั่นละลายหมดแล้ว ลุงยังไม่ได้กินเลย มัวแต่คุย ขอพักดูดน้ำปั่นก่อน”

Thursday, October 9, 2014

ลุงแมวน้ำคาดการณ์ตลาดหุ้นไทย รถไฟสาย 2100 จากนั้นไปต่อสาย 3500


คาดการณ์ดัชนีตลาดหุ้นไทย จะไปถึง 2100 จุด และ 3500 จุด ตามลำดับ



เมื่อวันสองวันนี้ธนาคารโลกปรับลดจีดีพีในปี 2014 ของประเทศไทยลง จากเดิม 3% เหลือ 1.5% และปรับลดคาดการณ์จีดีพีของปี 2015 ลงด้วยเช่นกัน จาก 4.5% เหลือ 3.5% และปรับลดจีดีพีของอีกหลายประเทศในย่านเอเชียลง เช่น จีดีพีจีนในปี 2015 เดิมคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโต 7.5% ก็ปรับลดลงเหลือเพียง 7.2%

ข่าวนี้ดูจะสร้างความหวั่นไหวกันพอสมควร ประกอบกับช่วงนี้หุ้นตกด้วย นักลงทุนก็ใจคอไม่ค่อยดีกัน

เรื่องการเติบโตของจีนนั้น ระดับ 6% ขึ้นไปนี่ก็เยอะแล้ว จะเป็นเจ็ดจุดเท่าไรก็ตาม ลุงว่าขึ้นกับคุณภาพของการเติบโตด้วย โตเร็วแต่สุขภาพไม่ดีก็ไม่ไหว ดังนั้น เรื่องจีนนั้นเท่าที่ลุงแมวน้ำติดตามนโยบายและทิศทางเศรษฐกิจการเมืองของจีน ลุงมีความเห็นในเชิงบวก คือจีนปรับลดการเติบโตลงเพื่อให้การเติบโตนั้นมีคุณภาพ และลุงแมวน้ำเห็นว่าเป็นการเติบโตที่เอื้อประโยชน์แก่เพื่อนบ้านในภูมิภาคด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศเห็นแก่ประโยชน์ของตนเองเท่านั้น ดังนั้นไม่ควรปลื้มจีนจนขาดความระแวดระวังอันตราย

สำหรับจีดีพีของไทยนั้น ปีสองปีนี้ก็น่าจะตามนั้นแหละ ก็เห็นๆกันอยู่ว่าในบ้านเรามีเรื่องวุ่นๆ แต่อนาคตนั้นอยู่ที่เราจะสร้างขึ้นมา จีดีพีหลังจากนี้อยู่ที่ภาครัฐและภาคเอกชนจะช่วยกันสร้างขึ้นมา ในอีกหลายปีนับจากนี้ ไทยจะมีโอกาสดีๆในหลายๆด้าน มีส้มหล่นลงมาหากรู้จักเก็บมาใช้ประโยชน์ เศรษฐกิจไทยก็ไม่แย่ รวมทั้งเป็นการเติบโตอย่างมีคุณภาพได้ด้วย ดังนั้นที่ผ่านมาก็แก้อะไรไม่ได้แล้ว แต่เราต้องมาช่วยกันสร้างอนาคตของเรา

ธนาคารโลกปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทย ลุงแมวน้ำก็ปรับคาดการณ์ตลาดหุ้นไทยบ้าง ^_^ ที่ลุงแมวน้ำบอกว่ารถไฟสาย 2100 นั้น ยังไม่มีโอกาสได้เล่ารายละเอียดสักที วันนี้เอาคาดการณ์ใหม่มาให้ดูก่อน ธนาคารโลกคาดการณ์ปี 2014-2015 แต่ลุงแมวน้ำมองไปไกลกว่านั้น

ในระดับคลื่นเศรษฐกิจใหญ่หรือ super cycle ไทยน่าจะอยู่ในคลื่น 3 ใหญ่ (สีดำ) เป้าหมายของคลื่น 3 ใหญ่สีดำนี้คือ 3500 จุด ^_^

ส่วนในระดับคลื่นรอง (คลื่นสีน้ำเงิน) เราก็อยู่ในคลื่น 3 เป้าหมายของคลื่น 3 (สีน้ำเงิน) นี้คือ 2100 จุด

รถไฟสาย 2100 นั้นจิ๊บๆ สุดสาย 2100 เดี๋ยวเราไปขึ้นสาย 3500 ต่อไป ลุงคาดว่าไม่เกินปี 2021 น่าจะได้เห็น 3500 ^_^

แมวน้ำโลกสวยเชียวนะ ^_^  ก็ไม่โลกสวยหรอกคร้าบ ลุงบอกแล้วว่าอนาคตนั้นขึ้นกับความทุ่มเทของเราส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็เป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ หรือที่เราเรียกกันง่ายๆว่าฟ้าลิขิตนั่นแหละ เท่าที่ลงดูตอนนี้เรามีโอกาสไปถึงสูงทีเดียว ศักยภาพของเราก็เอื้อพอควร แต่ต้องพยายามอีกหน่อย ส่วนดินฟ้าอากาศ (คือปัจจัยทางเศรษฐกิจภายนอก) ก็พอจะยังเป็นใจอยู่ ยกเว้นเหตุไม่คาดหมายเช่นอุกาบาตถล่มโลก อันนั้นไปไม่ถึงก็จนใจ

ตลาดหุ้นไทยยังน่าลงทุนอยู่ มองไปข้างหน้าให้ไกลสักนิดนะคร้าบ อย่ามองแค่ว่าตลาดพรุ่งนี้จะขึ้นหรือลง จะขายก่อนดีไหม ดอยแล้วจ้า บลา บลา บลา ฯลฯ หากมองสั้นๆเราจะเห็นความผันผวนที่สูง เสียสุขภาพจิตมากมาย นักธุรกิจและนักลงทุนจะทำการใหญ่ล้วนแต่ต้องมองไปข้างหน้าหลายปี ไม่ใช่มองแค่พรุ่งนี้หรือมะรืนนี้ นักลงทุนตลาดหุ้นที่หวังความสำเร็จก็ต้องคิดแบบเถ้าแก่เช่นกันคร้าบ แต่ลุงหมายถึงหุ้นดีๆนะ ^_^

ปล บทความที่ลุงทยอยนำเสนออยู่นี้ แม้จะเป็นแบบ 2-3 ตอนจบ แต่ว่าแต่ละชุดก็เชือมโยงกัน ติดตามอ่านไปเรื่อยๆลุงแมวน้ำจะค่อยๆอธิบายว่าเหตุใดจึงตั้งเป้าดัชนีเช่นนี้

Wednesday, October 8, 2014

หุ้นไม่มีค่าพีอี, หุ้น P/E สูง, หุ้น P/E ต่ำ, หุ้นตั้งไข่, หุ้นฟื้นไข้ (3)





ลุงแมวน้ำหัวเราะ

“เราลองมาดูกรณีศึกษากันดีกว่า เป็นตัวอย่างหุ้นในตลาด ดูตัวอย่างจากของจริงกันเลย”

“ดีจ้ะลุง” ยีราฟตอบ

“ก่อนอื่น ลุงขอบอกว่านี่เป็นกรณีศึกษาเรื่องวัฏจักรของกิจการเท่านั้น ลุงไม่ได้เชียร์ให้ซื้อหุ้น ขอให้เข้าใจตรงกันด้วย” ลุงแมวน้ำพูด



กรณีศึกษาหุ้นฟื้นไข้ PSL (Case Study of Turnaround Stock, PSL)



ลุงแมวน้ำจึงล้วงเอากระดาษออกมาจากหูกระต่ายอีกปึกหนึ่ง และกางออกมาให้ดูทีละแผ่น




“หุ้นที่ลุงนำมาให้ดูกันนี้เป็นกรณีหุ้นฟื้นไข้” ลุงแมวน้ำพูด “นั่นคือหุ้นบริษัทเรือเทกอง PSL

“ก่อนอื่นต้องเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจเสียก่อน ธุรกิจบริการเรือเทกองนั้นเป็นธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มขนส่งทางทะเล ลักษณะการให้บริการคือให้เช่าเรือเพื่อบรรทุกวัตถุดิบขนส่งระหว่างประเทศ ตัวอย่างวัตถุดิบก็เช่น สินค้าเกษตร สินแร่ ถ่านหิน ฯลฯ

“ธรรมชาติของกิจการในอุตสาหกรรมขนส่งทางทะเลนี้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก และเราก็ทราบกันดีว่าเศรษฐกิจโลกมีลักษณะขึ้นลงเป็นวัฎจักร ดังนั้นผลประกอบการของกิจการประเทภนี้จึงมีขึ้นลงอิงกับวัฏจักรเศรษฐกิจของโลก

“เรามาดูผลประกอบการของหุ้น PSL กันก่อน เป็นข้อมูลผลประกอบการย้อนหลังตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2013 โดยเส้นสีฟ้านั้นคือรายได้ (revenue) จากการดำเนินงานในแต่ละปี ซึ่งรายได้ที่มาจากธุรกิจหลัก พวกรายได้พิเศษอื่นๆที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของกิจการไม่ได้ถูกนำมารวมเอาไว้

“อีกเส้นหนึ่งคือเส้นสีเทา เส้นนี้คือกำไรสุทธิ (net income) ในแต่ละปี กำไรสุทธินี้จะเป็นผลจากรายได้ทุกอย่างของกิจการ ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากธุรกิจหลักหรือรายได้พิเศษอื่นใดก็ตาม สังเกตหรือไม่ว่าทั้งสองเส้นนี้เมื่อพล็อตเป็นกราฟแล้วได้รูปทรงคล้ายๆระฆังคว่ำ นี่แหละคือธรรมชาติของธุรกิจที่มีการขึ้นลงเป็นวัฎจักร”

“จริงด้วยสิครับลุง คล้ายระฆังคว่ำ แต่ว่าเบี้ยวๆบูดๆ” ลิงเห็นด้วย

“ก็แน่ละ ชีวิตจริงก็เป็นเช่นนี้เอง มันไม่ได้สวยงามเหมือนดังในอุดมคติ” ลุงแมวน้ำพูด หยุดเล็กน้อย จากนั้นจึงกางกระดาษออกแผ่นหนึ่ง




“เอาละ มาดูกันต่อ จากภาพเมื่อครู่ คราวนี้ลุงกำกับระยะต่างๆของวัฏจักรให้พวกเราดูกันด้วย ดูที่เส้นสีฟ้าหรือเส้นรายได้” ลุงแมวน้ำอธิบาย “เห็นไหมว่าในช่วงปี 2000, 2001, 2002 เป็นช่วงที่รายได้ของกิจการตกต่ำมาก ช่วงนี้คือระยะเสื่อมถอย (decline phase) นั่นเอง

“พอมาในปี 2003 กิจการก็เริ่มฟื้นไข้ (turnaround) และปี 2004, 2005 กิจการก็เข้าสู่ระยะเติบโต (growth phase)

“วัฏจักรขนส่งทางทะเลในรอบนี้มีระยะเติบโตที่สั้นมาก คือ 2 ปีเท่านั้น รวมทั้งมีระยะอิ่มตัว (maturity) ที่สั้นมากด้วย คือในปี 2005 นั้นเองวัฏจักรก็อิ่มตัว จากนั้นพอปี 2006 เป็นต้นไป กิจการก็เข้าสู่ระยะเสื่อม (decline phase) อีก และระยะเสื่อมนี้กินเวลานานหลายปี คือเสื่อมไปจนถึงปี 2011

“จากนั้นในปี 2012, 2013 รายได้ของกิจการก็เริ่มฟื้นตัว และเข้าสู่ระยะฟื้นไข้อีกรอบหนึ่ง หากพิจารณาตามวัฎจักร คาดว่าในรอบวัฎจักรนี้กิจการน่าจะเข้าสู่ระยะเติบโตในปี 2014 เป็นต้นไป”

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟอีกแผ่นหนึ่งออกมากาง




“เอาละ ทีนี้มาดูภาพนี้กันบ้าง ภาพนี้ซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม นั่นคือ ลุงนำราคาหุ้นและค่าพีอี ณ สิ้นปีของปีต่างๆมาให้ดูเปรียบเทียบกับกราฟผลการดำเนินงานอีกด้วย

“ในกราฟรูปนี้ เส้นสีเขียวคือราคาหุ้น PSL ให้สังเกตว่าเส้นกราฟรายได้ (สีส้ม) กำไรสุทธิ (สีเทา) และราคาหุ้น (สีเขียว) มีลีลาการเดินของเส้นกราฟคล้ายๆกัน นี่สะท้อนให้เห็นว่าราคาหุ้นอิงกับผลประกอบการนั่นเอง และก็แปลว่าปัจจัยพื้นฐานของกิจการสัมพันธ์กับราคาหุ้นด้วย

“ในรูปยังมีกราฟแท่งสีส้มอีกด้วย แท่งสีส้มนั้นคือค่าสัดส่วนพีอี (P/E ratio) ณ สิ้นปีของหุ้น PSL นั่นเอง นายจ๋อสังเกตเห็นอะไรไหม”

“สังเกตอะไรล่ะลุง กราฟมีหลายเส้นหลายสี ผมมองจนตาลายแล้ว” ลิงบ่น

“อ้าว อย่าเพิ่งตาลายสิ ดูภาพนี้กันก่อน ดูภาพนี้แล้วจะเข้าใจง่ายขึ้น” ลุงแมวน้ำพูดพลางหยิบกราฟออกมาอีกแผ่นหนึ่ง




“ดูที่ลุงวงกลมเอาไว้ ให้สังเกตว่ารายได้ของกิจการถึงจุดต่ำสุดในปี 2011 จากนั้นปี 2012 และ 2013 รายได้ก็เริ่มกระเตื้องขึ้น นั่นคือเข้าสู่ระยะฟื้นไข้ ให้สังเกตว่าค่าพีอีในปี 2012 นั้นสูงถึง 73.72 เท่า

“ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่ากิจการมีกำไรน้อยมากนั่นเอง ในปี 2012 นั้นราคาหุ้นยังร่วงอยู่ คือรายได้ของกิจการเริ่มฟื้นตัว แต่ราคาหุ้นยังลงอยู่ เนื่องจากนักลงทุนยังไม่กล้าเข้าซื้อเพราะไม่มั่นใจว่าฟื้นจริงหรือไม่

“ต่อมาในปี 2013 รายได้ดีขึ้นอีก คราวนี้ราคาหุ้นเริ่มเข้าสู่ขาขึ้น นักลงทุนเริ่มเข้าซื้อหุ้นกัน ขณะเดียวกันค่าพีอีเริ่มลดต่ำลง คือพีอี  ปลายปี 2013 อยู่ที่ 54.3 เท่า แม้ว่าจะยังสูงอยู่แต่ก็ต่ำกว่าปีก่อนหน้า

“นี่แหละ หุ้นฟื้นไข้หรือหุ้นเทิร์นอะราวด์ก็มีรูปแบบทำนองนี้ คือในระยะฟื้นไข้ หุ้นอาจไม่มีค่าพีอีเนื่องจากผลประกอบการขาดทุนสุทธิแต่ว่าการขาดทุนเริ่มลดลง หรือว่าหุ้นค่าพีอีอาจสูงเว่อ อาจเป็นหลายร้อยเท่าก็ได้เพราะว่ามีกำไรนิดเดียว ต่อมาก็จะค่อยๆลดลงเนื่องจากกิจการเข้าสู่ระยะเติบโตและมีผลประกอบการดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนกิจการที่เป็นระยะตั้งไข่ก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากหุ้นตั้งไข่และหุ้นฟื้นไข้ก็คือความหมายเดียวกันนั่นเอง”

“ถ้าอย่างนั้นการเข้าซื้อหุ้นควรเข้าตอนไหนละจ๊ะลุง ลุงก็ยังไม่ตอบสักที” ยีราฟบ่น

“ในระยะฟื้นไข้นั้นเป็นระยะที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากหากกิจการไม่ฟื้นจากไข้จริงๆ แต่กลับทรุดลงไปอีก การลงทุนก็เสียหาย ดังนั้นหุ้นในระยะฟื้นไข้ที่ยังขาดทุนอยู่ คือไม่มีค่าพีอี หรือพีอีสูงมากแล้ว เช่น หลายร้อยเท่าก็ควรหลีกเลี่ยง ควรรอให้กิจการเข้าสู่ต้นระยะเติบโตจะปลอดภัยขึ้น แม้ว่าตอนนั้นราคาหุ้นคงขึ้นมาพอสมควรแล้วก็ตาม แต่ความเสี่ยงก็ลดลง

“ทีนี้สมมติว่าเราพบหุ้นในระยะฟื้นไข้ แต่มีพีอีไม่สูงนัก สมมติเช่นพีอี 20 ถึง 50 เท่า พวกนี้น่าสนใจ คือเป็นหุ้นฟื้นไข้ที่โลกลืม นักลงทุนอาจไม่ทันสังเกตเห็น จึงยังไม่เข้ามาลงทุนกัน” ลุงแมวน้ำตอบ

“ถ้าอย่างนั้นเราจะรู้ได้ยังไงละจ๊ะลุงว่าเมื่อไรที่หุ้นเข้าสู่ระยะเติบโตแล้ว” ยีราฟถามอีก

“ใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคก็ได้ คือหุ้นอยู่ที่ต้นคลื่น 3 นั่นเอง” ลุงแมวน้ำตอบ “นี่ไงที่ลุงบอกว่าการใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคร่วมกับปัจจัยพื้นฐานช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนได้ ทำให้จับจังหวะการลงทุนได้ดีขึ้น แต่การบูรณาการของสองสายก็เป็นเรื่องที่ซับซ้อนขึ้น ดังนั้น ผู้ที่เริ่มต้นศึกษา ควรจับแนวทางเพียงสายใดสายหนึ่งก่อน เมื่อมีประสบการณ์มากพอจึงค่อยศึกษาในขั้นบูรณาการ” ลุงแมวน้ำตอบ

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟออกมาอีกแผ่นหนึ่ง และพูดว่า





“ลองดูนี่ นี่เป็นตัวอย่างการนับคลื่นของหุ้น PSL ที่จริงการนับคลื่นนั้นนับได้หลายแบบ เนื่องจากค่อนข้างเป็นจิตวิสัย คือแต่ละคนอาจนับไม่เหมือนกันเนื่องจากมีมุมมองที่แตกต่างกัน ลุงลองนับแบบนี้มาให้ดูเป็นตัวอย่าง”

“จ้ะ จ้ะ พอเข้าใจแล้ว” ยีราฟพูด “เอ้อ ตกลงว่าหุ้นไร่ถั่วฝักยาวพีอีสูงขนาดนั้นซื้อได้ไหมจ๊ะลุง”

“โธ่เอ๊ย” ลิงจ๋อส่ายหัว “กลับมาถามเรื่องนี้อีกแล้ว ฉันละกลุ้มจริงๆ”

Sunday, October 5, 2014

เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ ชมงานแสดงดอกไม้ งานศิลปะสี่มิติ





ช่วงปลายปีของทุกปีจะมีงานแสดงดอกไม้ที่โรงแรมสวิสโฮเตลนายเลิศปาร์ค จัดเป็นประจำทุกปี ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 28 แล้ว ปีนี้จัดในช่วงวันที่ 2-5 ตุลาคม 2014 ตั้งแต่เวลา 10 น. -20 น. คือสิบโมงเช้าถึงสองทุ่ม และเช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำในวันนี้ลุงจะพาไปชมงานแสดงดอกไม้นี้กัน

โรงแรมสวิสโฮเตลนายเลิศปาร์คนี้บางคนก็เรียกว่าสวิสโฮเตลปาร์คนายเลิศ เดิมชื่อโรงแรมฮิลตัน ณ ปาร์คนายเลิศ แต่ต่อมาเปลี่ยนเครือจึงเปลี่ยนชื่อไป ลุงแมวน้ำก็หลงๆลืมๆ บางทีก็เผลอเรียกชื่อเดิม โรงแรมนี้อยู่ที่ปลายถนนวิทยุ ใกล้กับด้านถนนเพชรบุรีตัดใหม่ การเดินทางก็ไม่ยาก จะนั่งเรือคลองแสนแสบมาก็ได้ ขึ้นจากเรือที่ท่าวิทยุ เดินอีกนิดเดียวก็ถึง ใกล้มาก เพราะว่าท่าเรืออยู่หลังโรงแรมนั่นเอง หรือหากจะมารถไฟฟ้า รถประจำทาง ก็มาลงที่เพลินจิตแล้วเดินเข้ามาในถนนวิทยุ เดินสัก 5 นาทีก็ถึง

ตอนที่ลุงมาก็คิดว่าจะมาลงรถเมล์ที่หน้าโรงแรม ปรากฏว่าหน้าโรมแรมไม่มีป้าย รถพาเลยเข้าไปในถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เดินย้อนกลับจนลิ้นห้อย รู้ยังงี้ลุงก็ลงรถไฟฟ้าที่เพลินจิตแล้วเดินกระดืบมาก็สิ้นเรื่อง นี่แหละ รู้อะไรก็ไม่สู้รู้ยังงี้ >.<

ลุงจะเล่าเรื่องด้วยภาพ ภาพมาก่อน คำบรรยายตามหลัง เชิญไปชมงานแสดงดอกไม้กันได้เลย ^_^




ตอนนี้ลุงแมวน้ำก็มายืนที่หน้าโรงแรมแล้ว 10 โมงพอดี แดดร้อนเปรี้ยงแล้ว เดินเข้าโรงแรมดีกว่า




ที่นี่เป็นโรงแรมที่มีต้นไม้มาก อีกทั้งเป็นไม้ใหญ่ที่มีอายุหลายสิบปี บรรยากาศสงบ ร่มรื่น น่าอยู่มาก



ทางเข้าลอบบี้ของโรงแรมมีรถสามล้อบุปผชาติเป็นสัญลักษณ์ตั้งอยู๋ ถ้าเห็นรถคันนี้ละก็ไม่ผิดที่แน่



เอ้า ซื้อตั๋ว รายได้บำรุงการกุศล มอบให้มูลนิธิคนพิการไทย และกองทุนฟันเทียมพระราชทาน



เดินเข้ามาในลอบบี้จะพบตัวตลกมาเล่นโชว์ความสามารถ คนหลังนี่ถ้าเห็นไปอยู่ตามท้องนาตอนกลางคืน ลุงเห็นเข้าคงต้องวิ่งหน้าตั้งแน่ >.<

งานแสดงดอกไม้นี้มีจุดแสดง 3 จุดใหญ่ คือที่ลอบบี้ ห้องด้านซ้ายของลอบบี้ (ทางซ้ายมือเมื่อเดินเข้าไปในลอบบี้) และห้องด้านขวา

ด้านหลังของตัวตลกเป็นผลงานแสดงของสวนนงนุช ธีมเป็นสวนเมืองร้อน ในห้องลอบบี้นี้มีผลงานแสดงเพียงรายเดียว




แวะชมสวนเมืองร้อนกันหน่อย สวนนี้ใช้พื้นที่เยอะหน่อย จัดให้ต้นไม้แน่นๆตามประสาป่าเมืองร้อน

เมื่อเข้ามาในลอบบี้จจะเริ่มได้กลิ่นหอมของดอกไม้โชยมาเป็นกลิ่นอ่อนๆ จากนั้นลุงแมวน้ำก็เดินไปทางซ้าย สู่ห้องแสดงหลัก




ภาพมุมกว้างของห้องแสดงหลัก งานแสดงนี้เป็นการโชว์การจัดไม้ดอกและไม้ใบเป็นธีมหรือว่าเป็นเรื่องราวต่างๆ ผู้ที่ส่งผลงานมาร่วมแสดงมีทั้งบุคคลและหน่วยงาน

เมื่อเข้ามาในห้องนี้ กลิ่นหอมของดอกไม้ตลบอบอวล ส่วนใหญ่เป็นกลิ่นของกล้วยไม้ผสมกับกลิ่นของกุหลาบ บรรยากาศราวกับเดินในอุทยานไม้ดอก



นี่เป็นผลงานของคุณศักดิ์ชัย กาย นำฝักบัวมาตกแต่งเป็นงานศิลปะ เห็นฝักบัวเหล่านี้ทำให้ลุงแมวน้ำจินตนาการไปถึงบรรยากาศในชนบทสมัยก่อน ชาวบ้านทำนาบัวกัน ก็พายเรือออกไปเก็บฝักบัวและสายบัว เด็กๆชาวบ้านก็จะนำฝักบัวมาแกะเอาเนื้อข้างในมากิน รสชาติหวานมัน ฝักบัวแบบนี้เมื่อก่อนยังพอมีให้เห็นวางขายในกรุงเทพฯ แต่เดี๋ยวนี้ลุงไม่เห็นเลย ต้องไปตามต่างจังหวัดจึงจะเห็นวางขาย

แค่เห็นงานชิ้นแรกจินตนาการก็ไปโลดแล้ว ^_^



ชิ้นนี้เป็นสวนกระต่ายน้อย ส่วนใหญ่เป็นไม้ใบ ตัวกระต่ายน่าจะเป็นไลเคน พูดถึงไลเคน (lichen) เป็นสิ่งมีชีวิตที่มหัศจรรย์ เพราะไลเคนเป็นการอาศัยอยู่ร่วมกันของสาหร่ายและเห็ดรา รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย แยกกันไม่ได้ ไลเคนนี้เป็นสิ่งมีชีวิตโบราณมาก ในยุคที่โลกนี้มีแต่หิน ไม่มีดิน ก็ได้ไลเคนนี่แหละที่กัดเซาะหินจนป่นร่วนทำให้มีพืนอื่นๆขึ้นได้ ไลเคนจึงเป็นสิ่งมีชีวิตต้นกระบวนการกำเนิดป่านั่นเอง ตัวอย่างของไลเคนก็ได้แก่ฝอยลม ชาวจีนนำไลเคนมาใช้เป็นสมุนไพรด้วย




และมาถึงผลงานที่ลุงแมวน้ำชอบมาก ไม่เห็นเขียนชื่อธีมเอาไว้ แต่ลุงตั้งชื่อเอาเองว่า ธารกุหลาบ เพราะเป็นธีมที่แสดงถึงกุหลาบที่ไหลพรูออกมาจากแจกันจนเป็นสายธาร และมีมวลหมู่ภมรมาเกาะเพื่อลิ้มชิมน้ำหวานจากกุหลาบ เมื่อเดินเข้ามาใกล้ผลงานชิ้นนี้จะได้กลิ่นกุหลาบเข้มข้นขึ้น



มองดูธารกุหลาบในระยะใกล้ ผลงานแสดงเหล่านี้ไม่ใช่แค่การจัดดอกไม้ แต่ลุงว่าเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่ง การอ่านหนังสือก็เห็นแค่สองมิติ ดูภาพเขียนก็เห็นแค่สองมิติ ดูงานประติมากรรมก็เห็นสามมิติ แต่ดูผลงานจัดดอกไม้เป็นงานศิลปะสี่มิติ นอกจากมิติกว้าง ยาว ลึก แล้ว ยังมีมิติของกลิ่นหอมอีกด้วย ^_^




สวนววรรค์ เมื่อเดินเข้ามาใกล้งานชิ้นนี้จะได้กลิ่นกล้วยไม้หอมอบอวล ส่วนกลิ่นกุหลาบก็เบาบางลงไป นี่ลุงก็ตั้งชื่อเอาเองว่าสวนสวรรค์ เพราะทำให้ลุงนึกถึงดินแดนแชงกริลา (Shangri-La) ดินแดนเร้นลับที่เป็นอุทยานสวรรค์ ผู้คนไม่แก่เฒ่า มีชีวิตที่สงบและมีความสุข จิตนาการกระเจิงไปโน่นเลย ^_^



ดูการจัดดอกไม้ของสวนสวรรค์ในระยะใกล้ ทั้งงดงามและกลิ่นหอมกรุ่นจนลุงไม่อยากเดินไปไหน อยากนอนพักแถวนี้สักงีบ



ทันใดนั้นเอง ลุงแมวน้ำก็ได้ยินเสียงดัง แชะ-วื้ด ดังลั่น คือเสียงดังแชะ จากนั้นก็มีเสียงดังวื้ดตามมา ลุงก็สงสัยว่าอะไร เพราะว่าเสียงนี้คุ้นๆอยู่ แต่ว่าไม่ได้ยินมานานแล้ว เงี่ยหูฟังสักครู่ก็ได้ยินเสียงแชะ-วื้ดนี้อีก

ด้วยความสงสัยลุงจึงมองไปรอบๆหาต้นเสียง แถวนั้นก็ไม่มีใคร นอกจากลุงแมวน้ำกับคุณป้าสองคน (คุณป้านะ ไม่ใช่มนุษย์ป้า) กำลังผลัดกันถ่ายรูปอยู่

แชะ-วื้ด

เมื่อลุงรู้ที่มาของเสียงถึงกับอึ้งไปสามวิ เพราะเสียงนั้นมาจากกล้องของคุณป้าทั้งสองนั่นเอง เพื่อความแน่ใจลุงจึงเฉียดไปใกล้ๆแบบเนียนๆ ปรากฏว่าจริงๆด้วย กล้องที่คุณป้าใช้นั้นเป็นกล้องฟิล์ม โอ พระเจ้าจ๊อด >.<

เสียงแชะคือเสียงชัตเตอร์ลั่น ส่วนสียงวื้ดคือเสียงฟิล์มเดิน ไม่นึกเลยว่าในยุคนี้ยังมีฟิล์มขายอยู่ กล้องแบบนี้ลุงก็มี แต่เก็บเข้าตู้ไปนานแล้วเนื่องจากคิดว่ายุคนี้ไม่มีฟิล์มขายแล้ว คุณป้าสองคนนี้ก็วัยเดียวกับลุงนั่นแหละ อยากเข้าไปคุยด้วยจริงๆ เพราะมีความรู้สึกคล้ายๆกับเจอเพื่อนเก่าที่ไม่ได้พบกันนาน ก็แปลกที่ทำไมรู้สึกแบบนั้น แต่คงเกี่ยวกับกล้องฟิล์มนั่นแหละ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เข้าไปคุยหรอก




นี่เป็นธีมร่มบ่อสร้าง เชียงใหม่ ร่มถูกประดับประดาด้วยมวลดอกไม้



นี่ของเซ็นทรัล ลุงว่าเขาเข้าใจทำนะ ถ่ายทอดความเป็นเซ็นทรัลได้ส่วนหนึ่ง นั่นคือ แบรนด์ท็อปซูเปอร์มาร์เก็ตนั่นเอง เพราะเห็นแล้วนึกถึงผักผลไม้ในท็อป ได้คะแนนสื่อสารการตลาดไปเลย



นี่ของกันตนา เล่นแสงสีกับดอกไม้



นี่เป็นธีมไผ่ของนิสิตและคณาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่องไผ่กำลังดังในหมู่การเกษตรก็จับกระแสมาทำเป็นงานศิลปะ







เหล่านี้ลุงจำไม่ได้ว่าของใครบ้าง ชุดนาคาไหลออกมาจากโอ่งก็แปลกตาดี ทำให้นึกถึงโอ่งลายมังกรราชบุรีในสมัยก่อน เดี๋ยวนี้โอ่งลายมังกรทำใหม่คงไม่มีแล้วมั้ง น่าจะทำเป็นลายอื่นไปแล้ว



หลังจากนั้นก็เดิมข้ามลอบบี้มายังห้องอีกฟากหนึ่ง หนึ่งนี้มีผลงานไม่กี่ชิ้น ส่วนส่วนใหญ่อยู่ในห้องหลัก



กุหลาบและกล้วยไม้ของโครงการหลวง หอมมาก



นี่อะไรเนี่ย ถ้ำบุปชาติมั้ง ^_^



นี่เป็นผลงานจัดโต๊ะอาหาร ในต่างประเทศนั้นการจัดโต๊ะอาหารเป็นศิลปะแขนงหนึ่งเลยทีเดียว การจัดโต๊ะอาหารลุงก็ชอบดู นี่เป็นการจัดด้วยดอกไม้แบบไทย เน้นกล้วยไม้กับบานไม่รู้โรย และใบตองประดิษฐ์




นอกจากการแสดงดอกไม้แล้วยังมีงานออกร้าน มีร้านค้ามาออกหลายสิบร้าน ดูเหมือนจะห้าสิบหกสิบร้านทีเดียว มีทั้งของกิน ของใช้ เครื่องประดับสวยๆ ขนม ผักผลไม้ ฯลฯ ใครที่ชอบซื้อของละก็คงเพลินเช่นกัน และตอนบ่ายๆยังมีดารามาจัดรายการบนเวทีอีกด้วยคร้าบ

Friday, October 3, 2014

หุ้นไม่มีค่าพีอี, หุ้น P/E สูง, หุ้น P/E ต่ำ, หุ้นตั้งไข่, หุ้นฟื้นไข้ (2)





ลุงแมวน้ำบรรยายต่อไป

“เอาละ ทีนี้จินตนาการต่อไปอีกหน่อย ต่อไปนี้จะมีการคำนวณนิดหน่อยละนะ แต่ก็จำเป็น ลุงจะพยายามทำให้ง่ายที่สุด

“สมมติว่าลุงแมวน้ำเพิ่งตั้งโรงงานใหม่ ในปีแรกเพิ่งเริ่มทำการตลาด ลูกค้าเพิ่งจะรู้จักสินค้า ในปีแรกมียอดขายเพียง 35 ชิ้น สมมติว่าขายได้เท่าไรก็คือผลิตในจำนวนเท่านั้น มันก็ไม่สมเหตุผลหรอก แต่เพื่อไม่ต้องคำนวณเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือ

“ในปีแรกผลิตและขายหมอนข้างลุงแมวน้ำได้ 35 ชิ้น คิดเป็นยอดขาย 3500 บาท หักต้นทุนการผลิตและต้นทุนบริหารแล้วมีผลประกอบการในปีแรกขาดทุน 675 บาท”


“เนี่ยนะ หมอนข้างยอดนิยม ปีแรกก็ขาดทุนย่อยยับ” ลิงหัวเราะ

“นี่แหละนายจ๋อ โลกธุรกิจที่แท้จริง ในโลกของการทำธุรกิจนั้นส่วนใหญ่ต้องลงทุนไปก่อน มีผลขาดทุนสักช่วงหนึ่ง ขึ้นอยู่กับลักษณะของกิจการ กิจการบางชนิดต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากก่อนที่จะมียอดขาย พวกนี้เรียกว่า capital intensive industry ยกตัวอย่างเช่น โรงกลั่น โรงงานปิโตรเคมี ผู้ให้บริการโทรคมนาคม โรงถลุงเหล็ก พวกนี้ต้องลงทุนมหาศาล ทำเล็กๆไม่ได้

“โรงงานผลิตสินค้าโดยทั่วไปก็เป็น capital intensive เพราะต้องสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักร แต่ระดับความเข้มข้นว่าต้องลงทุนมากมายขนาดไหนก็แล้วแต่อุตสาหกรรมไป ซึ่งอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูงพวกนี้สองสามปีแรกมักมีผลประกอบการขาดทุน คือคืนทุนไม่เร็วนักนั่นเอง ผู้ที่ลงทุนต้องทำใจเอาไว้เลยว่าหวังผลระยะยาว ดังนั้นที่นายจ๋อซื้อหุ้นแล้วราคาร่วงลงไปหน่อยก็มาบ่นว่าติดดอยนั้น ผู้ที่เป็นเถ้าแก่จะคิดแบบนั้นไม่ได้ บางทีเราก็ต้องเอาแนวคิดแบบเถ้าแก่ลงทุนทำธุรกิจมาใช้กับการลงทุนในหุ้นบ้าง เพราะว่าก็เหมือนกับว่าเรากำลังทำธุรกิจ” ลุงแมวน้ำพูด

“ฮิฮิ น้าจ๋อโดนสวนกลับเลย” กระต่ายน้อยหัวเราะชอบใจ

ลุงแมวน้ำหยิบตารางออกมาอีกแผ่นหนึ่ง แล้วพูดว่า


ผลการดำเนินงานของโรงงานลุงแมวน้ำ ปีที่ 1 ขาดทุน 675 บาท พีอีเป็น n/a


“เอาละ ลุงสรุปบัญชีของปีแรกมาให้ดูกันแบบสั้นๆ ลองดูนี่ ยอดขาย 35 ชิ้น ได้เงินมา 3500 บาท แต่ว่าต้นทุนทั้งหมด 4175 บาท ดังนั้นขาดทุน -675 บาท อัตราการเติบโตของยอดขาย กับอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ ยังคำนวณไม่ได้ เพราะว่าเป็นปีแรก ดังนั้นจึงใส่ว่า n/a เอาไว้ หมายความว่า not available คือช่องนั้นไม่มีข้อมูล

“เอ๊ะ แล้วช่องที่เป็นค่า P/E ล่ะลุง ทำไมเป็น n/a ด้วย” ยีราฟถามบ้าง “ค่านี้มาจากราคาหารด้วยกำไรสุทธิต่อหุ้นใช่ไหม ฉันว่าคำนวณได้นะ คือ P เป็น 100 บาทต่อหุ้น ส่วนกำไรสุทธิต่อหุ้นก็คือ eps ที่ลุงให้มาในตาราง -0.68 ดังนั้น P/E ก็คือ 100/-0.68 ก็คำนวณได้นี่จ๊ะลุง ฉันกดเครื่องคิดเลขได้ผลลัพธ์ -147 เท่า”

“แม่ยีราฟถามได้ดีมาก” ลุงแมวน้ำชม และอธิบาย“ในทางคณิตศาสตร์ ค่า P/E เป็นค่าลบนั้นเกิดขึ้นได้ก็จริง แต่ในเชิงการตีความ ค่า P/E เป็นลบตีความไม่ถูก เพราะเราอยากรู้ว่าราคาหุ้นเป็นกี่เท่าของกำไรสุทธิ หากค่านี้เป็นลบก็จินตนาการไม่ถูกว่ามันกี่เท่ากันแน่ ดังนั้นในทางปฏิบัติ ปีใดที่ผลประกอบการขาดทุน ปีนั้นถือว่าไม่มีค่าพีอี และเราจะเขียนว่า n/a แทน เราจะคำนวณเฉพาะปีที่มีกำไรเท่านั้น ค่าที่ได้จะได้ตีความได้อย่างมีความหมาย”

ลุงแมวน้ำหยุดนิดหนึ่ง แล้วจึงบรรยายต่อ พร้อมกับหยิบตารางให้ดูอีกตารางหนึ่ง


ผลการดำเนินงานของโรงงานลุงแมวน้ำ ปีที่ 2 เริ่มมีกำไร ค่าพีอีสูงลิ่ว



“เราจินตนาการกันต่อไปอีก สมมติว่าปีที่สองมียอดขาย 45 ชิ้น  ขายดีขึ้นมาหน่อย ผลประกอบการปีที่สองนี้ได้กำไรมาอย่างเฉียดฉิว คือมีกำไรเพียงนิดเดียว 275 บาท”

“โรงงานของลุงนี่น่าสงสารจังเลยฮะ ทำมาสองปีเพิ่งได้กำไรสองร้อยกว่าบาท” กระต่ายน้อยพูด

“ถูกใจมาก ขอตีมือหน่อย” ลิงหัวเราะถูกใจพร้อมกับยกมือขวาขึ้น ส่วนกระต่ายน้อยก็ยกเท้าหน้าขึ้นตีกับมือของลิงจ๋อ

ลุงแมวน้ำอธิบายตารางต่อไป

“ลองมาดูตารางในคอลัมน์ของปีที่สองกัน จะเห็นว่าปีนี้มีกำไร แม้จะนิดเดียวแต่ก็ทำให้ค่า eps หรือกำไรสุทธิต่อหุ้น (earning per share) เป็นบวก ดังนั้นจึงคำนวณค่า P/E ได้ พร้อมกันนั้นก็ยังคำนวณค่าอัตราการเติบโตของยอดขายได้ด้วย”

“โอ้โฮ ลุงแมวน้ำ ค่าพีอีตั้ง 363.64 เท่า ทำไมสูงมากขนาดนั้น” ยีราฟอุทาน

“ก็เพราะว่าผลกำไรนิดเดียวไง ค่าพีอีจึงสูง แม่ยีราฟพอเห็นภาพหรือยังว่าหุ้นที่ค่าพีอีสูงมีความหมายว่าอย่างไร” ลุงแมวน้ำตอบ

“ฉันพอเห็นภาพแล้วจ้ะลุง ที่ลุงบอกว่าค่าพีอียิ่งสูงก็คือความคุ้มค่ายิ่งน้อย” ยีราฟตอบ “หุ้นนี้ไม่ค่อยน่าซื้อเลย พีอีสูงลิ่ว”

“แต่แม่ยีราฟดูในตารางให้ดีๆ เห็นบรรทัดที่บอกว่าอัตราการเติบโตของยอดขายไหม” ลุงแมวน้ำชี้ให้ดูในตาราง

“จ้ะ เห็น” ยีราฟพูด “ปีที่แล้วคำนวณไม่ได้ แต่ปีนี้คำนวณได้ ยอดขายของปีนี้โตขึ้น 29% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว”

“แล้วแม่ยีราฟไม่สนใจบ้างหรือไง ยอดขายโต 29% เชียวนะ ถือว่าการเติบโตสูงทีเดียว” ลุงแมวน้ำพูด

“เอ้อ...” ยีราฟอึกอัก ชักลังเล “ตกลงว่าหุ้นโรงงานหมอนข้างนี่มันน่าซื้อหรือไม่น่าซื้อกันแน่ ฉันงงแล้วนะ”

“ก็นี่แหละ ลูกเต๋ายังมีตั้ง 6 ด้าน โลกนี้ก็ยิ่งมีมากมายหลายมุมมอง หากมองจากค่าพีอี หุ้นนี้ก็ไม่น่าซื้อ หากมองจากอัตราการเติบโต หุ้นนี้ก็น่าซื้อมาก” ลุงแมวน้ำพูด

“มิน่าล่ะลุง ยังงี้นี่เอง” ลิงเอาหางเคาะหัวตัวเองเบาๆ “ผมเข้าใจแล้วล่ะ”

“นายจ๋อเข้าใจว่ายังไง” ยีราฟถาม

“ก็ตอนก่อนที่ฉันจะซื้อหุ้น ก็มักมีคนมาแนะนำยังงั้นยังงี้ พอฉันเห็นว่ามันน่าจะดีก็ซื้อไป แล้วก็ติดดอย” ลิงพูด “ลุงแมวน้ำกำลังจะบอกว่าใครที่อยากเชียร์หุ้นก็มักเอาข้อมูลด้านดีๆมาบอกแก่นักลงทุน ส่วนตัวเลขที่ไม่ค่อยสวยก็เก็บเอาไว้ไม่บอก ใช่ไหมลุง”

“ที่นายจ๋อพูดก็มีส่วนถูก ลุงกำลังจะบอกว่าข้อมูลของหุ้นมีหลายแง่หลายมุม บางค่าดูดี บางค่าดูไม่ดี แต่สุดท้ายหุ้นตัวนี้มันน่าลงทุนไหมล่ะ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่พวกเรานักลงทุนต้องรู้จักใช้ข้อมูลและนำมาตัดสินใจให้เหมาะสม ลองมาดูผลงานปีที่สามกันต่อดีกว่า” ลุงแมวน้ำพูด พลางหยิบตารางออกมาอีกแผ่นหนึ่ง


ผลการดำเนินงานของโรงงานลุงแมวน้ำ ปีที่ 3 เกำไรเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเติบโตกลับลดลง



“สมมติว่าปีที่สามยอดขายดีขึ้นกว่าเดิมอีก ปีนี้ขายได้ 55 ชิ้น ปีนี้ได้กำไร 1225 บาท ลุงมีข้อสังเกต 3 ข้อ คือ

“ข้อแรก ปีที่สามนี้กำไรดีกว่าปีที่สอง แต่สังเกตไหมว่าอัตราการเติบโตของยอดขายลดลง เหลือเพียง 22% 

“ข้อสอง ปีที่สามนี้เนื่องจากกำไรสุทธิโตขึ้น ดังนั้นค่าพีอีจึงลดลงเหลือ 81.63 เท่า

“ข้อสาม ปีที่สามนี้มีค่าที่คำนวณได้เพิ่มมาอีกหนึ่งค่า นั่นคือ อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ เดิมทีคำนวณไม่ได้เพราะค่าติดลบ ปีนี้ไม่ติดลบแล้ว กำไรสุทธิของปีที่สามนี้โตเป็น 345% เมื่อเทียบกับปีที่สอง 

“โห อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิดีเว่อเลย” ลิงอุทาน “ถ้าใครมาบอกผมว่าหุ้นนี้เติบโต 345% ผมคงต้องรีบซื้อแน่”

“ใจเย็นๆ นายจ๋ออย่าเพิ่งรีบตัดสินใจ คราวนี้ลุงให้พวกเราทุกคนดูผลประกอบการไปจนถึงปีที่ 7 เลย ลองดูตามนี้” ลุงแมวน้ำพูดจบก็หยิบตารางมาให้ดูอีก


ผลประกอบการ 7 ปี ของโรงงานของแมวน้ำ



“สมมติว่าปีที่สี่ ปีที่ห้า และปีที่หก มียอดขาย 65 ชิ้น 75 ชิ้น และ 85 ชิ้นตามลำดับ ปีที่เจ็ดก็ขายได้ 85 ชิ้น บัญชีของกิจการก็จะเขียนสั้นๆได้ดังที่เห็นนี้

“แต่ขอให้สังเกตว่าตั้งแต่ปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ยอดขายเติบโตขึ้นทุกปี กำไรเพิ่มมากขึ้นทุกปี อัตราการเติบโตกลับลดลง ทั้งอัตราการเติบโตของยอดขาย และของกำไรสุทธิ ต่างก็ลดลงเรื่อยๆ ทั้งๆที่ปีหลังๆกำไรยิ่งมาก”

“จริงด้วยลุง แล้วมันเพราะอะไรล่ะ กำไรดีขึ้นแต่อัตราเติบโตลดลง” ลิงสงสัย

“นี่คือการเล่นกับตัวเลขในรูปแบบหนึ่ง ปีหลังอัตราลดลงเพราะว่าการคำนวณนั้นใช้ฐานจากปีก่อนหน้า หากฐานสูง ผลคำนวณที่เป็นร้อยละจะค่อยๆลดลง ดังนั้น การอ่านและทำความเข้าใจกับตัวเลขร้อยละเป็นเรื่องที่ต้องระวังอย่างมาก ตัวเลขเปอร์เซ็นต์นี้มักสร้างความสับสนแก่นักลงทุน ทำให้นักลงทุนเกิดภาพที่ดูดีเกินจริงก็ได้ เหมือนอย่างในปีต้นๆที่อัตราการเติบโตเป็นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งๆที่กำไรนิดเดียว นั่นคือดูดีเกินจริง และก็ให้ภาพที่ดูแย่กว่าความเป็นจริงก็ได้ ดังเช่นอัตราเติบโตในปีหลังๆ แม้แต่ลุงแมวน้ำเอง หากอ่านข้อมูลที่รายงานเป็นร้อยละเยอะๆ ลุงก็มึน คิดไม่ออกเหมือนกัน ซึ่งปัจจุบันนี้การรายงานข้อมูลเป็นร้อยละ ในข่าวต่างๆมีเยอะมาก บางเรื่องอ่านแล้วแยะแยะไม่ถูกหรอก อย่างเช่นการเติบโตของจีดีพี หรือยอดการส่งออก นี่พูดเป็นร้อยละกันหมดตลอดทั้งชิ้นข่าว สรุปแล้วคือลุงงง” ลุงแมวน้ำพูด

“แล้วทำยังไงจึงจะมองภาพตามที่มันเป็นจริงได้ละจ๊ะลุง” ฮิปโปถามบ้าง

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟออกมาให้ดูกัน


กราฟแสดงยอดขาย (revenue) และกำไรสุทธิ (netprofit, net income) ของโรงงานลุงแมวน้ำ



ข้อมูลเชิงร้อยละทำให้เกิดภาพลวงตา อาจกลายเป็นกับดักนักลงทุนได้ ทางที่ดี เราไม่ต้องไปดูข้อมูลร้อยละ ดูข้อมูลยอดขาย กำไรสุทธิ ในรูปกราฟดีกว่า ลองดูในภาพนี้สิ ภาพนี้กราฟเส้นสีฟ้าคือยอดขาย ส่วนกราฟแท่งสีเหลืองคือกำไรสุทธิ หากดูในรูปกราฟจะเห็นได้ชัดเลย ไม่หลอกความรู้สึก จะเห็นว่ายอดขายและกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปีแรกขาดทุนเพียงปีเดียว

“ส่วนค่าพีอีนั้น สมมติว่าราคาหุ้นคงที่ไม่มีเปลี่ยนแปลงเลย ค่าพีอีก็จะลดลงเรื่อยๆ ดังที่เห็น ลุงขอถามแม่ฮิปโป แม่ฮิปโปเห็นกราฟรูปนี้แล้วรู้สึกคุ้นๆไหม”

“ไม่เลยลุง” ฮิปโปปฏิเสธ “ฉันเพิ่งศึกษา ยังไม่ค่อยเข้าใจนักหรอก นายจ๋อเห็นอะไรคุ้นๆบ้างไหม ช่วยตอบหน่อยสิ”

“ผมก็ว่าคุ้นๆนะลุง มันจะเกี่ยวกับวัฏจักรไหม” ลิงถาม

“ถูกต้องนะคร้าบ” ลุงแมวน้ำตอบ “เก่ง”

จากนั้นลุงแมวน้ำก็หยิบกราฟออกมาอีกหนึ่งแผ่น


ยอดขายและกำไรสุทธิสะท้อนให้เห็นวัฏจักรของกิจการ



“ลองดูนี่สิ ลุงเอาภาพวัฏจักรของกิจการมาซ้อนให้ดู คราวนี้พอนึกออกหรือยัง” ลุงแมวน้ำถาม

“ว้าว โรงงานของลุงแมวน้ำปีที่ 7 ยอดขายไม่โตเลย แสดงว่าใกล้จะเจ๊งแล้วสิฮะ” กระต่ายน้อยหัวเราะร่าพลางแทะแครอตอย่างเพลิดเพลิน

“ดูเจ้านี่สิลุง แสบดีไหม” ลิงอดหัวเราะไม่ได้ ทุกตัวต่างก็ขำในความซ่าของกระต่ายน้อย

“ลุงขออธิบายกราฟนี้ให้พวกเราฟัง อยากให้พยายามทำความเข้าใจให้ดี เพราะสำคัญมาก



พีอี (P/E ratio) สูงก็ลงทุนได้หากเป็นหุ้นตั้งไข่หรือหุ้นฟื้นไข้ (หุ้นเทิร์นอะราวด์)



“โรงงานของลุงเป็นไปตามวัฏจักรธุรกิจทั่วไป คือปีหรือสองปีแรกก็ขาดทุน จากนั้นจึงเริ่มมีกำไรนิดหน่อย ช่วงนี้คือช่วงที่ธุรกิจอยู่ในขั้นตั้งไข่ หลังจากนั้นธุรกิจก็จะมั่นคงและเริ่มเติบโตได้ดี เรียกว่าเข้าระยะเติบโต ในช่วงรอยต่อของระยะตั้งไข่กับระยะเติบโตนี้เอง ที่เราจะเห็นอัตราการเติบโตของยอดขายหรือของกำไรโตแบบเว่อๆ เพราะมาจากฐานที่ต่ำมาก รวมทั้งค่าพีอีก็จะสูงลิ่ว

“ต่อมาเมื่ออยู่ในระยะเติบโต อัตราการเติบโตทั้งของยอดขายและกำไรจะค่อยๆลดลงเพราะฐานการคำนวณที่ค่อยๆสูงขึ้น อันนี้เป็นเรื่องปกติ ส่วนค่าพีอีก็มักจะค่อยๆลดลง แต่พีอีขึ้นกับราคาหุ้นด้วย ดังนั้นหากราคาหุ้นไม่เปลี่ยนแปลงนักเราจึงจะเห็นค่าพีอีค่อยๆลดลง ถ้าราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงมาก ค่าพีอีก็เปลี่ยนแปลงมากด้วย นั่นก็ไปว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง

“ทีนี้มาดูที่ปีที่ 7 ยอดขายปีที่ 6 กับ 7 เท่ากัน ไม่โตเลย นั่นคือเข้าสู่ระยะอิ่ม หรืออิ่มตัวนั่นเอง การเข้าสู่ระยะอิ่มมีสองสาเหตุ นั่นคือ ยอดขายอิ่มตัว หรือกำลังการผลิตอิ่มตัว สำหรับกรณีของลุงนี้ยอดขายไม่โตไม่ใช่เพราะว่าตลาดอิ่มตัว แต่เป็นเพราะโรงงานของลุงผลิตได้เต็มที่ 85 ชิ้นต่อปีไงล่ะ เต็มที่ก็ได้เท่านี้ หากมีความต้องการมากกว่านี้ลุงก็สนองไม่ได้ ดังนั้นกำไรจึงเต็มที่เท่านี้”

“ผมยังสงสัย แล้วภาพนี้มีระยะ อืด ไหม” ลิงถาม

“ระยะอืดที่จริงลุงเพิ่มขึ้นมา ปกติมันแฝงอยู่ในระยะเติบโต คือเมื่อเติบโตไปนานเข้าก็จะเริ่มอืดอาด ระยะอืดคือปลายของระยะเติบโตนั่นเอง สำหรับโรงงานที่ลุงสมมตินี้ดูจากกราฟจะเห็นว่าไม่มีระยะอืด คือโตแล้วเข้าอิ่มไปเลย แต่นี่คือเรื่องสมมติใน ในธุรกิจจริงมักมีระยะอืดเกิดขึ้น คือเริ่มอืดอาด จากนั้นก็เข้าสู่ระยะอิ่ม คืออิ่มตัว” ลุงแมวน้ำอธิบาย

“ชักจะงง” ลิงเกาหัว

ลุงแมวน้ำหยิบภาพออกมาให้ดูอีก


การยืดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ออกไปโดยการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อาจเสื่อมความนิยมจากคู่แข่ง หรือจากความล้าสมัยของตัวผลิตภัณฑ์เอง การปรับปรุงผลิตภัณฑ์อาจช่วยเพิ่มยอดขายได้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่ต้องเดินไปสู่จุดจบ



“อย่าเพิ่งงง ลองดูภาพนี้อีก ภาพนี้เราเคยดูกันมาแล้ว” ลุงแมวน้ำพูด

“ดูเหมือนจะเป็นเรื่องการต่อยอดวัฏจักร” ลิงทบทวนความจำ

“ใช่แล้ว ที่ลุงเคยบอกไงว่าเมื่อกิจการเข้าระยะเสื่อมถอย ทางแก้ก็คือต้องต่อยอดกิจการ หากการต่อยอดทำได้ดี ยอดขายที่ตกต่ำก็จะกลับฟื้นขึ้นมา เสมือนคนฟื้นไข้นั่นเอง หรือที่เราเรียกกันว่า หุ้นเทิร์นอราวด์ (turnaround stock) นั่นเอง และที่ลุงจะบอกก็คือ ระยะตั้งไข่กับระยะฟื้นไข้นั้น มีอาการเดียวกัน นั่นคือ ยอดขายตก ขาดทุน แล้วกลับมาฟื้นมีกำไร”


ตั้งไข่ ฟื้นไข้ คลื่นยอดปรารถนา



ลุงแมวน้ำยังไม่หยุดอธิบาย หยิบภาพออกมาอีกภาพหนึ่ง


คลื่นอีเลียตเปรียบเทียบกับวัฏจักรของกิจการ



“นี่ก็เป็นภาพที่เราเคยดูกันมาแล้ว จำได้ไหม” ลุงแมวน้ำถาม

“จำได้ฮะลุง ภาพคลื่นอีเลียตกับวัฏจักรของกิจการ” กระต่ายน้อยรีบตอบบ้าง

“ใช่แล้ว” ลุงแมวน้ำพูด “ทีนี้ก็มาถึงขั้นบูรณาการ เอาความรู้ที่เราคุยกันในวันนี้มาปะติดปะต่อให้เป็นความู้ในการลงทุน”

“ยังไงกันลุง” ลิงสงสัย

“ลองฟังลุงนะ” ลุงแมวน้ำพูด “จากทุกอย่างที่เราคุยกัน นำมาบูรณาการ ก็ได้ความว่า กิจการในระยะตั้งไข่ กับระยะฟื้นไข้นั้น มีลักษณะที่น่าสังเกตคือมีค่าพีอีสูงมาก รวมทั้งอัตราการเติบโตก็สูงมากด้วยเช่นกัน ซึ่งหากเทียบกับคลื่นอีเลียตก็คือช่วงรอยต่อระหว่างคลื่น 2 กับคลื่น 3 นั่นเอง และเมื่อเข้าคลื่น 3 แล้วอัตราการเติบโตจะค่อยๆลดลง รวมทั้งค่าพีอีก็มักลดลงด้วย ซึ่งจังหวะที่กิจการเข้าสู่ระยะเติบโตหรือต้นคลื่นสามนี้แหละเป็นจังหวะการลงทุนที่เป็นยอดปรารถนาของทั้งสายวีไอปัจจัยพื้นฐานและสายเทคนิค ดังนั้นแม้กิจการจะมีค่าพีอีสูง หรือมีอัตราการเติบโตที่ลดลง แต่เราต้องพิจารณาว่ากิจการอยู่ในขั้นอะไร หากเป็นขั้นเติบโตหรือคลื่น 3 ละก็สามารถลงทุนได้ ดังนั้นลุงตอบคำถามแม่ยีราฟแล้วนะ ว่าพีอีสูงลงทุนได้หรือไม่”

“แล้วมันลงทุนได้หรือไม่จ๊ะลุง” ยีราฟถามอีก

“โอย จะบ้าตาย” ลิงเอาหางเคาะหัวตัวเอง