Wednesday, February 4, 2015

อสังหาริมทรัพย์ไทยใกล้ฟองสบู่แตกหรือยัง (2)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”


กรุงเทพฯอดีตและปัจจุบัน ราวปี 2513 กับ 255x เป็นภาพถนนพระรามสี่ มองจากแยกศาลาแดงไปทางหัวลำโพง



หลังจากที่ลุงแมวน้ำดูดน้ำปั่นเรียบร้อยก็คุยต่อ

“ที่เมื่อกี้ลุงคุยค้างไว้ ลุงจะบอกว่า ตลาดบ้านและคอนโดมิเนียมของไทยยังดูดี แต่ว่าภาวะอุปทานบ้านและคอนโดมิเนียมล้นตลาดในยุคปัจจุบันจะเกิดขึ้นเสมอเป็นระยะ บางทีดูไปก็ชวนให้คิดว่าเป็นฟองสบู่นั่นแหละ ดังนั้นการลงทุนก็จะต้องมีความรู้ความเข้าใจอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อการลงทุนหรือเพื่อเก็งกำไรในตลาดอสังหาฯจริง หรือการลงทุนในหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้างในตลาดหุ้นก็ตาม”

“เอ๊ะ ยังไงกันจ๊ะลุง พูดให้เข้าใจง่ายๆหน่อยสิ เดี๋ยวก็บอกว่าดูดี เดี๋ยวก็บอกว่าล้นตลาด แล้วยังบอกว่าชวนให้คิดว่าเป็นฟองสบู่เสียอีก ลุงจะเอายังไงกันแน่” ยีราฟพูดด้วยน้ำเสียงกังวล


ชุมชนเมืองเติบใหญ่


“แม่ยีราฟยังไม่ต้องงุนงงไป เรื่องนี้เรายังต้องคุยกันอีกยาว เราจะค่อยๆมาดูกัน แล้วแม่ยีราฟจะหายงง” ลุงแมวน้ำพูด “ก่อนอื่นลุงขอเท้าความก่อนว่าแนวคิดในการลงทุนในยุคต่อไปนั้น ลุงแมวน้ำใช้ธีมในการลงทุนหรือว่าคาถาสำคัญอยู่ 2 ประโยค นั่นคือ ชุมชนเมืองเติบใหญ่ ประชากรสูงวัย เราจะมาดูเรื่องชุมชนเมืองเติบใหญ่ก่อนว่ามีธีมการลงทุนนี้ศักยภาพมากน้อยเพียงใด ลุงมีภาพที่น่าสนใจในอดีตและปัจจุบันมาให้ดูกันหลายภาพ”

ลุงแมวน้ำหยิบภาพปึกหนึ่งจากในหูกระต่าย จากนั้นยกขึ้นชูให้บรรดาสมาชิกได้ชมพร้อมๆกันทีละภาพ เมื่อสมาชิกเห็นภาพแรกต่างก็ร้องอู้ฮู


“ลองดูภาพนี้สิ นี่คือภาพถ่ายกรุงเทพฯในยุค 251x กับ 255x คือระยะเวลาต่างกันประมาณ 40 ปี สองภาพนี้เป็นสถานที่เดียวกัน นั่นคือ ถนนพระรามสี่ จากแยกศาลาแดงมองไปทางหัวลำโพง” ลุงแมวน้ำพูด

“เวลาห่างกัน 40 ปีอาคารสูงผุดขึ้นมามากมาย” ลิงจ๋ออุทาน

“ย้อนไปในยุค 20 ปีที่แล้วและก่อนหน้านั้น คิดง่ายๆก็คือ พ.ศ. 2540 และก่อนหน้านั้น กรุงเทพฯคือประเทศไทย ประเทศไทยคือกรุงเทพฯ หมายความว่าความเจริญต่างๆล้วนแต่กระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ ในต่างจังหวัดนั้นมีบริษัทห้างร้านขนาดใหญ่น้อยมาก ดังนั้นผู้ที่เรียนจบและต้องการหางานดีๆทำก็ต้องมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ เรียกได้ว่าถนนทุกสายมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ

“แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสภาพการณ์เปลี่ยนไป เราลองมาดูภาพอื่นๆกันต่อ”

ลุงแมวน้ำพูดพลางชูภาพให้ชมกันอีกทีละภาพ


จังหวัดนครราชสีมาหรือโคราช อดีตและปัจจุบัน เปรียบเทียบในปี พ.ศ. 2512 กับ 2556

“ปัจจุบันจังหวัดหัวเมืองหลายจังหวัดมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ภาพนี้คือภาพถ่ายทางอากาศของโคราชหรือจังหวัดนครราชสีมาในปี พ.ศ. 2512 กับ 2556 ลองเปรียบเทียบดูสภาพบ้านเมืองและตึกสูงดูสิ ในปัจจุบันโคราชมีคอนโดมิเนียมและอาคารสูงมากมายทีเดียว


จังหวัดเชียงใหม่ อดีตและปัจจุบัน เปรียบเทียบถนนห้วยแก้วย่านโรงแรมเชียงใหม่ฮลล์ในปี 2510, 2530 และ 2557

“ภาพนี้เป็นภาพถนนห้วยแก้ว ย่านโรงเรียมเชียงใหม่ฮิลล์ ลองสังเกตภาพในช่วงปี 2510 กับ 2530 สิ ในช่วงยี่สิบปปีนั้นถนนห้วยแก้วเปลี่ยนไปไม่มาก ส่วนใหญ่ยังเป็นต้นไม้อยู่ แต่เมื่อดูภาพถ่ายในปี 2557 จะเห็นว่ามีอาคารสูงเกิดขึ้นมากมาย นั่นคือความเจริญของเชียงใหม่ก็มาเร่งตัวในช่วงหลังนี่เอง


จังหวัดขอนแก่น อดีตและปัจจุบัน เปรียบเทียบระหว่างปี พ.ศ. 2535 กับ 2557

“ภาพนี้ก็เป็นจังหวัดขอนแก่นเปรียบเทียบกันระหว่างปี พ.ศ. 2535 กับ 2557 สองภาพนี้ไม่ใช่พิกัดสถานที่เดียวกัน แต่ลุงนำมาเทียบกันเพื่อให้เห็นบรรยากาศของบ้านเมืองและอาคารสูงในขอนแก่น เพื่อให้เรานึกภาพความเปลี่ยนแปลงออก


จังหวัดอุดรธานี อดีตและปัจจุบัน เปรียบเทียบย่านวงเวียนหลวงประจักษ์ระหว่างปี พ.ศ. 2510 กับ 2557

“ภาพนี้ก็เป็นภาพในจังหวัดอุดรธานี ตรงวงเวียนกรมหลวงประจักษ์ เปรียบเทียบกันในระยะเวลาห่างกัน 40 ปี คือ พ.ศ. 2510 กับ 2557



จังหวัดชลบุรี อดีตและปัจจุบัน ย่านแยกเฉลิมไทยระหว่างปี พ.ศ. 2490 กับ 255x

“ภาพนี้เป็นภาพถ่ายทางอากาศตรงแยกเฉลิมไทย จังหวัดชลบุรี ภาพเก่ากับภาพใหม่อายุต่างกันมากหน่อย คือ ห่างกันราว 60 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2490 กับ 255x เมื่อก่อนเป็นทุ่งนาอย่างในภาพนั่นแหละ ปัจจุบันเรือกสวนไร่นาหมดไปกลายเป็นตึก อสังหาฯในย่านเมืองใหม่ ชลบุรี เป็นทำเลที่สร้างรายได้ มีนักลงทุนไปซื้อคอนโดและให้ชาวญี่ปุ่นเช่า ผลตอบแทนไม่เลวทีเดียว



ตลาดโรงเกลือ จังหวัดสระแก้ว ย่านนี้คึกคักจากการค้าชายแดน จังหวัดสระแก้วกำลังจะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

“ภาพนี้เป็นภาพตลาดโรงเกลือ ชายแดนจังหวัดสระแก้วติดกับกัมพูชา เมื่อก่อนเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดอรัญประเทศแต่ต่อมาแยกเป็นจังหวัดใหม่คือจังหวัดสระแก้ว ภาพนี้ลุงไม่มีภาพในอดีต แต่ว่าพื้นที่แถวๆตลาดโรงเกลือนี้เมื่อก่อนก็ไม่มีอะไร เป็นเมืองชายแดนเล็กๆ ต่อมาการค้าชายแดนคึกคัก เมืองเล็กๆก็กลายเป็นเมืองที่เจริญเติบโต ดูโครงสร้างในปัจจุบันสิ มีอาคารอาณิชย์และคลังสินค้ามากมาย และกำลังจะมีคอนโดมิเนียมด้วย

“จากภาพเหล่านี้คงพอทำให้เราเห็นแล้วว่าปัจจุบันกรุงเทพฯไม่ใช่ประเทศไทยอีกต่อไปแล้ว ความเจริญเติบโตได้แผ่ขยายออกไปสู่ต่างจังหวัด เรามีหัวเมืองหลักและหัวเมืองรองหลายจังหวัดทีเดียว บางจังหวัดมีอัตราการเติบโตสูงกว่ากรุงเทพฯเสียอีก”

“อือม์ ชุมชนเมืองเติบใหญ่ เป็นยังงี้เอง” ลิงพึมพำกับตนเอง จากนั้นถามลุงแมวน้ำว่า “แล้วจังหวัดอะไรบ้างที่อัตราการเติบโตสูงกว่ากรุงเทพฯครับลุง”


อัตราการเติบโตของหัวเมือง



ลุงแมวน้ำหยิบกระดาษออกมาอีกปึกหนึ่งจากในหูกระต่ายและคลี่ออกมา




“เรามาดูภาพนี้กัน” ลุงแมวน้ำพูด “ก่อนอื่น ดูที่แผนที่ประเทศไทยก่อน แผนที่นี้มีการระบายสีที่อ่อนแก่แตกต่างกัน จังหวัดที่สีเข้มคือจังหวัดที่มีระดับจีดีพีรายจังหวัดสูง สียิ่งเข้มแปลว่าระดับจีดีพียิ่งสูง

“จากแผนที่จีดีพีนี้แสดงให้เห็นว่าจังหวัดที่มีจีดีพีสูงมากคือกรุงเทพฯและปริมณฑล และจังหวัดในภาคตะวันออก ส่วนจังหวัดที่มีจีดีพีสูงในลำดับรองลงมาก็กระจายอยู่ในภาคเหนือ กลาง อีสาน และใต้ ซึ่งก็คือหัวเมืองใหญ่ตามภาคต่างๆนั่นเอง”

“แล้วกราฟซ้ายมือในภาพล่ะลุง หมายความว่ายังไง” ลิงถาม

“สำหรับกราฟนั้นแสดงอัตราการเติบโตของบางจังหวัด เปรียบเทียบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึง 2555 รวม 8 ปี

“ดูเส้นสีฟ้า นั่นคือการเติบโตของจีดีพีในกรุงเทพฯ กรุงเทพฯมีจีดีพีสูงเป็นลำดับ 1 ของประเทศ ปี พ.ศ. 2555 มีจีดีพี 3.8 ล้านล้านบาท แต่เมื่อดูกราฟการเติบโต จะพบว่าในรอบ 8 ปี เติบโตขึ้นเป็น 158% และที่น่าสังเกตก็คือในกราฟนั้นลุงแมวน้ำยกการเติบโตมาให้ดูกัน 7 จังหวัด กรุงเทพฯมีอัตราโตน้อยที่สุด อีก 6 จังหวัดที่เหลืออัตราโตดีกว่าทั้งนั้น ได้แก่

“จังหวัดระยอง (เส้นกราฟสีน้ำตาล) มีจีดีพีสูงเป็นอันดับสองของประเทศ คือ 8 แสนล้านบาท ในรอบแปดปีมีอัตราโตเป็น 222%

“จังหวัดขอนแก่น (เส้นกราฟสีเขียว) มีจีดีพีสูงเป็นอันดับสิบสี่ของประเทศ คือ 1 แสนเก้าหมื่นล้านบาท ในรอบแปดปีมีอัตราโตเป็น 218%

“จังหวัดอุดรธานี (เส้นกราฟสีน้ำเงินเข้ม) มีจีดีพีสูงเป็นอันดับยี่สิบห้าของประเทศ คือ เก้าหมื่นห้าพันล้านบาท ในรอบแปดปีมีอัตราโตเป็น 209%

“จังหวัดนครราชสีมา (เส้นกราฟสีน้ำเงินอ่อน) มีจีดีพีสูงเป็นอันดับเก้าของประเทศ คือ 2 แสนสี่หมื่นล้านบาท ในรอบแปดปีมีอัตราโตเป็น 194%

“เห็นไหมว่าจังหวัดหัวเมืองต่างๆแม้ว่าระดับจีดีพีจะน้อยกว่ากรุงเทพฯ แต่อัตราโตกลับสูงกว่า นั่นคือความเจริญแผ่ขยายไปตามหัวเมืองนั่นเอง นี่แหละคือชุมชนเมืองเติบใหญ่

“ถ้าอย่างนั้นลุงหมายความว่าอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะตามหัวเมืองใหญ่ที่ว่ามา น่าลงทุนมากกว่าในกรุงเทพฯใช่ไหมจ๊ะ เพราะการเติบโตดีกว่าในกรุงเทพฯ แล้วมีหุ้นอะไรที่ทำอสังหาฯในจังหวัดต่างๆเหล่านี้บ้างล่ะ ฉันจะได้ไปซื้อไว้บ้าง” ยีราฟถาม

“จะบอกว่าอสังหาริมทรัพย์ต่างจังหวัดเติบโตดีกว่าในกรุงเทพฯ ทำให้น่าลงทุนมากกว่า ลุงว่าก็ไม่เชิงเป็นแบบนั้น และอีกอย่างคือหุ้นอสังหาฯไม่ได้แบ่งแยกชัดเจนหรอกว่าหุ้นไหนทำอสังหาฯในกรุงเทพฯ หุ้นไหนทำอสังหาฯในต่างจังหวัด ลุงว่าต้องเข้าใจในธุรกิจ เข้าใจวัฏจักรอสังหาฯเสียก่อน และกำหนดเป็นกลยุทธ์การลงทุนมากกว่า

“เดี๋ยวก่อนนะครับลุง ขอขัดคอหน่อยเถอะ” ลิงจ๋อพูด “แล้วเรื่องอุปทานล้นตลาด และฟองสบู่อสังหาฯล่ะครับ ลุงยังไม่ได้อธิบายเลย นี่จะวางกลยุทธ์การขึ้นดอย เอ๊ย การลงทุนแล้วหรือ”

“ข่าวที่นายจ๋อเอามาให้ดู พวกเราก็ได้อ่านกันแล้ว แต่ลุงแมวน้ำก็ยังมองว่าต่อจากนี้ไปเป็นยุคทองของอสังหาริมทรัพย์ไทยและเป็นยุคทองของกลุ่มรับเหมาก่อสร้างด้วย แต่ต้องลงทุนอย่างมีกลยุทธ์ เหตุผลส่วนหนึ่งลุงก็ได้แสดงให้ดูไปแล้ว แต่ลุงยังมีเหตุผลอื่นๆอีก เรื่องอุปทานล้นตลาดและเรื่องฟองสบู่ลุงยังไม่ลืม แต่ว่าเรายังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องคุยกัน นายจ๋ออย่าเพิ่งใจร้อน ค่อยๆฟังไปก่อน”

Monday, February 2, 2015

สงครามเงินตรา




<<< สงครามเงินตรา >>>

ตลาดเงินและตลาดทุนของโลกในช่วงที่ผ่านมาเกิดความผันผวน เกิดเรื่องราวมากมาย ไล่เรียงมาตั้งแต่อเมริกาลดและเลิก QE และญี่ปุ่นใช้ QE กระตุ้้ันเศรษฐกิจ สองกรณีนี้ก็นานแล้ว ลุงแมวน้ำทบทวนให้ฟังเท่านั้น ทางด้านจีนก็อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเป็นระยะ พร้อมมาตรการด้านการเงินอื่นๆ

ล่าสุดนี้ทางยูโรโซน คือกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร ก็ประกาศใช้ QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจบ้าง ทีนี้เงินดอลลาร์ สรอ กับเงินเยนก็ท่วมโลกอยู่แล้ว ต่อไปจะมีเงินยูโรออกมาท่วมโลกอีก

ทีนี้ค่าเงินก็ปั่นป่วน เยนอ่อน ยูโรอ่อน ดอลลาร์อเมริกาแข็ง มิหนำซ้ำยังมีกรณีค่าเงินและเศรษฐกิจรัสเซียที่กำลังปั่นป่วน สงครามราคาน้ำมันอีก เหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงและอัตราแลกเปลี่ยน ปัจจัยต่างๆมากมายไปหมดจนวิเคราะห์ไม่ถูกว่าใครได้ ใครเสีย ใครได้เท่าไร ใครเสียเท่าไร แต่ที่นักเศรษฐศาสตร์ประเมินในภาพใหญ่ก็คาดว่าเงินยูโรและเยนที่ออกมาท่วมตลาดเงินนี้น่าจะทำให้เงินดอลลาร์ สรอ และเงินตราในสกุลตลาดเกิดใหม่ต่างๆแข็งค่าขึ้นเนื่องจากมีกระแสเงินสองสกุลนี้ซึ่งเป็นเงินที่ต้นทุนถูกไหลเข้าไปหากำไรในตลาดต่างๆนั่นเอง รวมทั้งตลาดหุ้นเกิดใหม่ในหลายๆประเทศก็น่าจะเป็นขาขึ้นเนื่องจากเงินที่ไหลเข้านั้นเข้าไปเก็งกำไรในตลาดหุ้นด้วย

เอาละ ในทางทฤษฎีก็น่าจะเป็นตามนั้น แต่มาดูในความเป็นจริงแล้วประเทศต่างๆไม่ได้นั่งรอให้เงินไหลเข้ามาเฉยๆ เพราะเงินร้อนไหลเข้ามาก็เป็นดาบสองคม มีทั้งประโยชน์และโทษ มาแล้วเก็งกำไรแบบมาเร็วกลับเร็ว โดยไม่ได้ลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง ก็จะเป็นโทษเสียมากกว่า เพราะอาจทำให้เกิดฟองสบู่ตลาดหุ้น ฟองสบู่พันธบัตร และเงินแข็งค่ามากเกินไปจนเป็นผลเสียต่อการส่งออก โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในแถบเอเชียต่างก็กำหนดมาตรการต่างๆเพื่อรับมือกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเงินร้อนไหลเข้า เช่น เกาหลีใต้ลดอัตราดอกเบี้ย จีนก็ลดอัตราดอกเบี้ย (อีกนัยหนึ่งก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย) ล่าสุดนี้เวียดนามและสิงคโปร์ก็ประกาศลดค่าเงินของตนลง

ทีนี้เราลองมาดูกันว่าอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลเอเชียในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อไม่นานมานี้ลุงแมวน้ำเคยเอากราฟอัตราแลกเปลี่ยนมาให้ดูครั้งหนึ่งแล้ว แต่เป็นรอบ 1 เดือน คราวนี้ดูกันอีกทีให้ยาวขึ้นอีกหน่อย

จากกราฟข้างบนนี้ แสดงอัตราแลกเปลี่ยนเงินเอเชีย 8 สกุล เทียบกับดอลลาร์ สรอ มองแว่บแรกก็เห็นแล้วว่าในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินทั้ง 8 สกุลแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม นั่นคือ

กลุ่มแรก อ่อนค่าเว่อ นั่นคือเงินริงกิตและเงินเยน อ่อนค่าในระดับ -13% ถึง -14% เงินเยนอ่อนค่าเพราะคิวอี นั่นพอเข้าใจได้ แต่เงินมาเลเซียจึงอ่อนค่ามากทั้งที่ไม่ได้ทำคิวอี แม้ว่ามาเลเซียส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมซึ่งราคาตกต่ำลง แต่ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาตลาดหุ้นมาเลเซียยังขึ้นแรง หุ้นพลังงานเริ่มฟื้นตัว ก็น่าคิดว่าเงินริงกิตอ่อนค่ามากเกินไปหรือไม่?

กลุ่มสอง อ่อนค่า กลุ่มนี้อ่อนค่าในระดับ -6% ถึง -7% ได้เแก่เงินรูเปียะ เงินวอน และเงินสิงคโปร์ดอลลาร์

กลุ่มสาม อ่อนค่าเล็กน้อย กลุ่มนี้ค่าเงินค่อนข้างเสถียร คืออ่อนเพียง -1% ถึง -2% เท่านั้น  มีบาท เปโซ และรูปี

จะเห็นว่าเอเชียด้วยกัน ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนที่เศรษฐกิจเข้มแข็ง เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ยังมีค่าเงินที่อ่อนกว่าเงินบาท เงินอินโดนีเซียก็อ่อนค่ากว่าไทย ตลาดหุ้นก็ขึ้น หากมองกราฟนี้แล้วก็คงอดคิดไม่ได้ว่าประเทศเหล่านี้คงมีการบริหารจัดการค่าเงินเพื่อรับมือกับเงินต้นทุนถูกที่จะไหลเข้ามา พูดง่ายๆคือแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนไปพอควรทีเดียว

ขณะเดียวกัน หากเงินสกุลเพื่อนบ้านอ่อนกว่าไทยในลักษณะนี้ ส่งออกไทยค่อนข้างเสียเปรียบทีเดียว เงินบาทเสถียรเป็นผลดีต่อการส่งออกก็จริง แต่หากเสถียรแล้วแข็งกว่าเพื่อนบ้านมากไปหน่อยก็เสียเปรียบอยู่ดี หากเป็นเช่นนี้การส่งออกของไทยที่แย่อยู่แล้วจะยิ่งฟื้นตัวได้ยาก เราหลีกเลี่ยงสงครามเงินตราไม่ได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ต้องเข้าร่วมวงด้วย ดังนั้นต้องตั้งหลักและวางกลยุทธ์ให้ดี

นี่คือโลกยุคใหม่ และนี่คือพรมแดนใหม่ที่เรากำลังเดินทาง เรื่องเหล่านี้ไม่เคยเกิดมาในอดีต พรมแดนใหม่มีทั้งโอกาสและความเสี่ยง ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป กฎของการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติมีอยู่ว่าสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้และมีวิวัฒนาการจึงจะอยู่รอดได้ 

ประเทศไทยก็เช่นกัน ทั้งภาครัฐ นักธุรกิจ และนักลงทุนไทย ต้องตระหนักถึงการปรับตัวและมีวิวัฒนาการ เพื่อความอยู่รอด

สำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้น หากเป็นหุ้นที่เกี่ยวกับสินค้าเกษตร ธุรกิจการเกษตร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ พวกการส่งออกต่างๆควรพิจารณาให้ดี การลงทุนในหุ้นที่แพงแล้ว คือพีอีสูงๆ ก็ควรพิจารณาอย่างระมัดระวังด้วย

เรื่องที่น่าคิดอีกประการก็คือ สหรัฐอเมริกาจะปล่อยให้ค่าเงินดอลลาร์ของตนเองแข็งค่าไปเรื่อยๆโดยไม่ทำอะไรเลยหรือ ในยุคของน้าบารักนี้รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการส่งออกของอเมริกา ที่ผ่านมายอดการส่งออกของอเมริกาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น หากเงินดอลลาร์แข็งค่าก็กระทบกับภาคการส่งออกของตนเช่นกัน และหากอเมริกาบริหารจัดการค่าเงินดอลลาร์บ้าง อะไรจะเกิดขึ้น ผลกระทบจะเป็นอย่างไร ดังนั้นจะเห็นว่าสงครามค่าเงินในยุคนี้ไม่ง่ายเลย

วันนี้ลุงแมวน้ำพูดในภาพรวมก่อน แล้วค่อยลงรายละเอียดอีกทีคร้าบ

Saturday, January 31, 2015

เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ ที่มาเจองูกับแขกให้ตีแขกก่อน กับแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย






เมื่อวันก่อนลุงแมวน้ำได้ดูคลิปทางยูทูปอยู่คลิปหนึ่ง เนื้อหาในคลิปเป็นนักเรียนมัธยมปลายคนหนึ่งตำหนิกระทรวงศึกษาธิการที่เขียนแบบเรียนประวัติศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาให้เกลียดชังเพื่อนบ้าน ก็ทำนองว่าเราจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอยู่แล้ว แต่ทำไมเรายังสร้างแบบเรียนที่เสี้ยมสอนให้เกลียดชังเพื่อนบ้าน ทั้งๆที่เพื่อนบ้านก็ไม่ได้ถูกสอนให้เกลียดชังไทยแม้ว่าเราจะมีประวัติศาสตร์รรบพุ่งกัน ใจความของคลิปก็ทำนองนี้

ท้ายคลิปที่เป็นคอมมเมนต์ของผู้ชมคลิป ส่วนใหญ่ก็ชื่นชมนักเรียนผู้นี้ว่ากล้าแสดงออก บ้างก็ว่าฉลาดและมีความคิดกว่าผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาฯ


แบบเรียนประวัติศาสตร์สอนให้คนไทยเกลียดเพื่อนบ้านจริงหรือ





ประเด็นที่ลุงตั้งข้อสังเกตก็คือ นักเรียนในคลิปตำหนิกระทรวงศึกษาธิการว่าเขียนแบบเรียนที่สอนให้เกลียดชังเพื่อนบ้าน แต่ฟังตั้งแต่ต้นจนจบคลิปก็เป็นแต่การตำหนิ แต่ไม่ได้แสดงเหตุผลหรือตัวอย่างว่าเนื้อหาส่วนใดสอนให้เกลียดชังเพื่อนบ้านอย่างไร ผู้ชมที่ชมคลิปก็คงบอกไม่ได้ว่าข้อความตำหนินั้นสมควรหรือไม่ เพราะไม่ได้เห็นแบบเรียนประวัติศาสตร์ว่ามีเนื้อหาดังว่าจริงหรือไม่

ลุงแมวน้ำจึงหาเวลาไปที่ร้านศึกษาภัณฑ์เพื่อหาแบบเรียนประวัติศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาทั้งตอนต้นและตอนปลายมาอ่านดู ว่ามีเนื้อหาส่วนใดที่สอนให้ผู้เรียนที่เป็นเยาวชนไทยเกลียดชังเพื่อนบ้าน ก็เลยคิดจะนำมาเรื่องนี้มาคุยกันกับพวกเรา ดังนั้น บทความเช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำในครั้งนี้จึงแปลกออกไปจากแนวทางเดิมที่ลุงเคยเขียน

ก่อนอื่นลุงแมวน้ำต้องขออธิบายก่อนว่าแบบเรียนในระดับประถม มัธยมนั้นใครจะเขียนและใช้สอนในโรงเรียนได้บ้าง แบบเรียนที่ใช้ในโรงเรียนมีผู้เขียนและผลิต 2 กลุ่มหลัก นั่นคือ กระทรวงศึกษาฯผลิตแบบเรียนเอง กับสำนักพิมพ์เอกชนผลิตแบบเรียนซึ่งกระทรวงศึกษาฯเห็นชอบและให้ใช้เรียนในโรงเรียนได้ ดังนั้นแบบเรียนประวัติศาสตร์นั้นที่จริงแล้วก็ไม่ใช่มีแต่กระทรวงฯเขียน ที่เป็นผลงานของสำนักพิมพ์เอกชนก็มีหลายสำนักพิมพ์ เนื้อหาเป็นไปตามเค้าโครงที่กระทรวงกำหนด ส่วนรายละเอียด ลีลาการเขียน ลีลาการนำเสนอ การทำภาพประกอบ ความสวยงามของรูปเล่ม ก็แตกต่างกันออกไปในแต่ละสำนักพิมพ์

ลุงแมวน้ำก็ดูทั้งแบบเรียนของกระทรวงและแบบเรียนที่สำนัพิมพ์เอกชนเขียน เพื่อหาว่าเนื้อหาส่วนใดสอนให้คนไทยเกลียดชังเพื่อนบ้านบ้าง ลองฟังความเห็นของลุงแมวน้ำก็แล้วกัน

ก่อนอื่นก็ต้องบอกว่าแบบเรียนประวัติศาสตร์ในยุคนี้ต่างจากเมื่อสามสิบถึงห้าสิบปีก่อนพอสมควร สมัยนี้มีการพิมพ์ที่ดีขึ้น สมัยก่อนเป็นตำราขาวดำ สมัยนี้เป็นตำราสี เนื้อหาก็มีความหลากหลายมากขึ้น ครอบคลุมทั้งอารยธรรมโลก ประวัติศาสตร์โลก และประวัติศาสตร์ไทย

เฉพาะในส่วนประวัติศาสตร์ไทยนั้นเท่าที่ลุงอ่านส่วนใหญ่ก็เขียนแบบเป็นกลาง คือเราคงเข้าใจกันดีว่าการเรียนนั้นประกอบด้วยการบรรยายของครูกับเนื้อหาในตำรา ลำพังเนื้อหาในตำราน่ะไม่เท่าไร แต่ส่วนประกอบที่สำคัญที่จะเสริมสร้างทัศนคติให้ไปในทางใดนั้นคือการสอนในห้องเรียนด้วย

ในยุคก่อน คือตั้งแต่ พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา ประเทศไทยเพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยเสียหายจากภัยสงคราม กำลังอยู่ในยุคฟื้นฟูชาติ อีกทั้งเป็นยุครุ่งเรืองของลัทธิคอมมิวนิสต์ในจีน ซึ่งไทยกังวลต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ที่แทรกซึมเข้ามามาก รวมทั้งในช่วงปี พ.ศ. 2517-19 เพื่อนบ้านทยอยล้ม คือเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ทีละประเทศ ดังนั้นการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในยุคนั้นจึงเน้นที่การปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยม

สมัยก่อนนั้นการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทย ลุงไม่ได้หมายถึงตำราเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการเรียนในชั้นเรียน วิชาประวัติศาสตร์ไทยนั้นสร้างความรู้สึกให้แก่ผู้เรียนว่า ไทยนั้นเป็นพระเอก ชาติอื่นก็เป็นพระรองบ้าง เป็นผู้ร้ายบ้าง ก็ว่ากันไป ในศึกสงครามพระเอกถูกรังแกบ้าง ถูกทรยศบ้าง ตามไปเอาคืนบ้าง ยิ่งตอนจับผู้ทรยศมาตัดหัวเอาเลือดมาล้างเท้านั้นบรรยากาศการเรียนการสอนทำให้เกิดความรู้สึกว่าสะใจยิ่งนัก

สำหรับแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยในสมัยนี้ จากฉบับที่ลุงอ่าน ลุงว่าก็เขียนค่อนข้างเป็นกลางอยู่เหมือนกัน ไม่ได้น่าเกลียดอะไร ส่วนการเรียนการสอนในสมัยนี้จะเป็นอย่างไรนั้นลุงไม่รู้ แต่ลุงมีข้อสังเกตอะไรบางอย่าง นั่นคือ จากสื่อภาพยนตร์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยบางเรื่องที่เน้นอุดมการณ์ชาตินิยม หนังเหล่านี้มีผู้ชมทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่นิยมกันมากมาย ก็แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ในยุคปัจจุบัน ความคิดเรื่องไทยเป็นพระเอกและเพื่อนบ้านเป็นผู้ร้ายนั้นยังคงมีอยู่

ลุงแมวน้ำยังสังเกตว่าเมื่อปีที่แล้ว ตอนที่มีการทำรัฐประหาร ทีวีจอดำไปพักหนึ่งเปิดแต่เพลงปลุกใจ มีบางคนก็โพสต์บอกขำๆว่าฟังเพลงปลุกใจทั้งวันแล้วฮึกเหิม ทำให้รู้สึกอยากออกไปไล่เตะชาติเพื่อนบ้าน เป็นต้น เหล่านี้ล้วนสะท้อนว่าหนุ่มสาวในสมัยนี้บางส่วนก็ยังมีความคิดแบบที่ว่าไทยเป็นพระเอกอยู่

ลองสังเกตดูสิว่า สำนวน เจองูกับเจอแขกให้ตีแขกก่อน นั้นยังใช้กันอยู่จนทุกวันนี้ แม้แต่คนหนุ่มสาวในสมัยนี้ก็เชื่อในสำนวนนี้และคิดว่าชาวอินเดียไม่ค่อยน่าคบ ก็ขนาดให้ตีงูก่อนตีแขก แล้วจะน่าคบไหมล่ะ


ประวัติศาสตร์กับโลกใบใหม่



ลุงแมวน้ำก็เป็นลุงแล้ว เติบโตมาในยุคอุดมการณ์สร้างชาตินั่นแหละ แต่ลุงเห็นว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว สมัยนั้นเป็นยุคหลังสงคราม ยุคภัยคอมมิวนิสต์คุกคาม แต่สมัยนี้เป็นยุคเศรษฐกิจนำหน้า บ้านเมืองสงบร่มเย็น กระทรวงศึกษาธิการมีภาระหน้าที่ต้องแก้ไขความคิดเกลียดชังหรือดูแคลนชาติเพื่อนบ้าน ลุงไม่ได้บอกว่ากระทรวงปลูกฝังความคิดเหล่านี้ในยุคนี้ แต่ความคิดเหล่านี้มีอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันจริง และกระทรวงควรมีภาระแก้ไขทัศนคติเหล่านี้ ปลูกฝังความคิดใหม่ๆแก่เยาวชนไทย เราจะอยู่ด้วยความรู้สึกเกลียดชังหรือดูแคลนเพื่อนบ้าน หรือคิดว่าไทยเป็นพระเอกคงไม่ได้ 

ในอดีตกาล สงครามแย่งชิงดินแดนและทรัพยากรเป็นเรื่องปกติ จีนแบ่งเป็นหลายสิบแคว้นในยุครณรัฐ รบพุ่งห้ำหั่นกันเพื่อครอบครอดคว้นอื่น ยุโรปก็รบพุ่งแย่งชิงกัน มีแคว้นต่างๆมากมาย

ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นรุกรานจีน เกาหลี เป็นบาดแผลของจีนและเกาหลีมาจนทุกวันนี้ แต่ทุกวันนี้ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ค้าขายกันเอิกเกริก คนจีนและเกาหลีเดินขวักไขว่ในญี่ปุ่น แต่งงานกันก็มี

แม้แต่เยอรมนีที่จุดชนวนสงครามโลกครั้งที่สอง สู้กับผ่ายสัมพันธมิตร คืออเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ ผู้คนล้มตาย บ้านเมืองเสียหาย แต่ทุกวันนี้เยอรมนีเป็นพี่ใหญ่ในกลุ่มยูโรโซน คอยสนับสนุนเงินทุนเพื่ออุ้มชาติสมาชิกให้อยู่ร่วมในยูโรโซนได้

นั่นเป็นโลกใบเก่า เราต้องเรียนประวัติศาสตร์เพื่อพัฒนาตนเอง นั่นคือ เพื่อให้เข้าใจว่าสงครามนั้นเป็นเรื่องโหดร้าย มีแต่บาดเจ็บ ล้มตาย เสียหายกันทุกฝ่าย และเพื่อให้เข้าใจอดีตนั้นเราผิดพลาดอะไรไปบ้าง และจะได้ไม่ทำซ้ำเช่นนั้นอีก เราจะหาทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนโลกใบใหม่นี้ได้อย่างไร นั่นคือประโยชน์ของการเรียนประวัติศาสตร์

โลกเปลี่ยนไปหมดแล้ว เราต้องอยู่กับปัจจุบัน เราต้องตระหนักว่าเราไม่ใช่พระเอก ชาติอื่นเป็นเพื่อน ไม่ใช่เป็นรองเรา เราเคยรบพุ่งกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่นั่นคืออดีต เราทำเขา เขาทำเรา มีแต่เจ็บกันทั้งสองฝ่าย เราเรียนอดีตเพื่อไม่ให้กลับไปทำแบบเดิมๆ ไม่อย่างนั้นเราจะพัฒนาชาติให้เข้มแข็งทางเศรษฐกิจต่อไปไม่ได้ เพราะยุคนี้เป็นยุคที่รวมกันเราอยู่ แยกกันอยู่ตายเดี่ยว

ชาวพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทยในปัจจุบัน ล้วนแต่เป็นคนรุ่นหลัง ความขัดแย้งบาดหมางของชนรุ่นก่อนหน้าเราตั้งไม่รู้กี่ชั่วรุ่นนั้นมันหมดไปนานแล้ว เราไม่ได้เกิดและโตในบริบทแบบนั้น เราเกิดและโตในยุคที่มีแต่เพื่อนบ้าน มีแต่คนบ้านใกล้เรือนเคียง มีแต่มิตร ไม่ใช่ศัตรู


ที่มา เจองูกับแขก ให้ตีแขกก่อน


เรื่องเจองูกับแขกให้ตีแขกก่อนนั้นก็เช่นกัน ทำให้คนไทยคิดว่าแขกหรือชาวอินเดียนั้นร้ายกาจยิ่งกว่างู คบไม่ได้ว่างั้นเถอะ เพราะขนาดต้องตีแขกก่อนตีงู แต่ที่จริงแล้วชาวอินเดียเป็นเพื่อนบ้านที่น่าคบ ทำการค้าด้วยได้ ถ้าเข้าใจกัน ที่นิสัยน่ารัก ใจกว้าง มีมากมาย ก็เหมือนคนไทยหรือชาติอื่นๆ ที่ดีก็มี ที่ร้ายก็มี คละกันไป

เรื่องราวความเป็นมาของสำนวนนี้มีบอกเล่ากันหลายกระแส แต่ในความเห็นของลุงแมวน้ำ ที่มาของสำนวนนี้มาจากในยุคที่อังกฤษครอบครองอินเดีย ชาวอินเดียที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการกดขี่ของอังกฤษก็มี ก็เช่น มหาตมคานธี นั่นไง ในยุคที่อินเดียต่อต้านอังกฤษ ชาวอังกฤษก็ระวังตัว โดยเฉพาะชาวอินเดียสามารถเป่าปี่ให้งูเต้นระบำได้ ชาวอังกฤษก็คิดว่าชาวอินเดียมีวิชาดี สามารถบงการงูได้ ก็เกรงว่าชาวอินเดียเป่าปี่ให้งูเต้นระบำนั้นจะบงการให้งูมาทำร้ายได้ด้วย จึงเตือนกันว่าเจองูกับแขกอยู่ด้วยกัน ให้ตีแขกก่อน ไม่เช่นนั้นแขกจะบงการงูให้เข้ามาฉกได้ ที่มาก็เป็นทำนองนี้ ต่อมาความเข้าใจก็คลาดเคลื่อนกันไป กลายเป็นเข้าใจว่าแขกร้ายเจ้าเล่ห์ยิ่งกว่างู คบไม่ได้ ซึ่งที่จริงไม่ใช่เช่นนั้น

หากเรายังคิดว่าเราเป็นพระเอกและดูแคลนชาติพันธุ์อื่นๆ ต่อไปเราจะอยู่ในโลกใบใหม่นี้ได้ยาก ทำงานทำการ ทำธุรกิจอะไรก็ยาก เพราะมีอคติด้านเชื้อชาติ แต่หากเปิดหัวใจ ด้วยทัศนคติฉันมิตร เราจะพัฒนาไปด้วยกันได้ง่ายขึ้นและทำให้เราเข้มแข็งขึ้นทั้งกลุ่มด้วย

Friday, January 30, 2015

ราคาน้ำมันดิบคือปัจจัยชี้ขาด



ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET INDEX)


เมื่อคืนตลาดหุ้นอเมริกาปรับตัวขึ้นประมาณ +1% ราคาทองคำร่วง -2.4% ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นนิดหน่อย คือ +0.2% หลังจากที่เมื่อวานซืนร่วง -3.8% เนื่องจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบของอเมริกาสูงเป็นประวัติการณ์ แปลว่าน้ำมันดิบล้นสต๊อกและล้นตลาด

สถานการณ์ยุโรปกลับเป็นอึมครึม แม้ว่าลุงมาริโอจะประกาศอัดฉีดคิวอียุโรปแบบเกินความคาดหมาย แต่สถานการณ์ด้านการเมืองของยุโรปไม่ค่อยดี กรีซได้ผู้นำใหม่ที่เป็นขั้วตรงข้ามจากเดิม เป็นฝั่งที่ไม่เอานโยบายรัดเข็มขัด ตอนนี้เจรจาขอลดหนี้แบบแฮร์คัตซึ่งลุงมาริโอไม่ยอม เพราะหากกรีซหักคออีซีบีได้ ประเทศอื่นๆจะเลียนแบบโดยขอแฮร์คัตแบบหักคอบ้าง ลองดูกันว่ากรีซจะใช้ไม้ตายชักดาบหรือไม่มี ไม่หนี ไม่จ่ายหรือไม่ และหากใช้จริงจะเกิดอะไรขึ้น สัปดาห์หน้ากรีซและอีซีบีจะเจรจากัน

ส่วนสถานการณ์ด้านยูเครนร้อนแรงขึ้น ทำให้มองกันว่าอเมริกาและยุโรปอาจเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรให้เข้มข้นขึ้น ซึ่งผลร้ายจะตกแก่ยุโรปและรัสเซีย สถานการณ์ในยุโรปจะซับซ้อนยิ่งขึ้น กระทบต่อการฟื้นตัวของยุโรป ตอนนี้ตลาดหุ้นยุโรปทำท่าไปต่อไม่ไหว ควรระวัง


ราคาน้ำมันดิบไนเมกซ์ WTI (CL)

พิจารณาดูแล้ว ช่วงนี้ราคาน้ำมันดิบคือปัจจัยชี้ขาด ต่อสถานการณ์การลงทุน พิจารณาราคาน้ำมันดิบและสถานการณ์การเมืองของรัสเซีย ยูเครน กับสต็อกน้ำมันดิบอเมริกา กับพิจารณาทางเทคนิค ลุงแมวน้ำเห็นว่าราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ (ดูกราฟ CL) หลุดแนวรับสำคัญ 45 ดอล ลงมาแล้ว คาดว่าราคาน่าจะไหลลงต่อเนื่องอีก เนื่องจากสงครามตัดราคายังไม่จบง่ายๆ แนวรับใหญ่ถัดไปของ CL คือ 35-37 ดอลลาร์


ดัชนีแนสแดก 100 (NDX)

หากราคาน้ำมันดิบไหลลงต่อ น่าจะกระทบตลาดหุ้นอเมริกาให้ปรับตัวลง ตอนนี้รูปแบบทางเทคนิคของตลาดหุ้นอเมริกาเป็นสามเหลี่ยมชายธง แต่หากพิจารณาจากตลาดหุ้นแนวแด็กที่เป็นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี (ดูกราฟ NDX) จะเห็นว่าเปิดแก็ปขาลงที่ยังปิดไม่ได้ไว้อีกด้วย ลุงคาดว่าคงปิดไม่ได้ และตลาดหุ้นอเมริกาน่าจะลงต่อ


ราคาทองคำ GC

ผลกระทบต่อมาคือราคาทองคำ ดูกราฟ GC ราคาทองคำอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น แต่ขณะนี้เป็นคลื่นย่อยขาลง ราคายังลงได้อีกเพราะขึ้นมาไกล ก็ต้องลงได้บ้าง คาดว่าช่วงนี้ราคาทองคำจะไหลลงตามราคาน้ำมันดิบ อีกประการหนึ่งคือช่วงนี้ค่าเงินผันผวนมากหลังจากอีซีบีประกาศคิวอี ทำให้ราคาทองคำผันผวนมากด้วย

มุมมองระยะสั้น ตลาดหุ้นไทยดูท่าคงยังไม่ผ่าน 1600 ง่ายๆ ดูกราฟ SET ลุงแมวน้ำมองว่าตลาดคงลงไปก่อนมากกว่า คาดว่าหุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีคงนำลง จากนั้นค่อยขึ้นมาใหม่ ดังนั้นช่วงนี้เตรียมตัวรับแรงกระแทกไว้บ้าง

ที่ว่าเงินทุนต่างชาติจะไหลเข้าไทยและทำให้ตลาดหุ้นขึ้น อนาคตก็คงใช่ นั่นเป้นมุมมองระยะกลาง แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้ คงต้องรออีกพักหนึ่งคร้าบ เนื่องจากตลาดหุ้นอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จีน ดูไม่ค่อยดี คอยสังเกตค่าเงินบาท กับสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติเอาไว้

Wednesday, January 28, 2015

อสังหาริมทรัพย์ไทยใกล้ฟองสบู่แตกหรือยัง (1)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”





คอนโดหัวเมืองส่อวิกฤต???


เช้าวันหนึ่ง อากาศกำลังเย็นสบาย เหล่าสิงห์สาราสัตว์ชุมนุมกันอยู่ที่ศาลาชมสวนเพื่อรอเวลาตลาดหุ้นเปิด ช่วงนี้ตลาดหุ้นขึ้นดี บรรดาสมาชิกนักลงทุนก็หน้าตาแจ่มใสกันดี

“เอ วันนี้ทำไมไม่เห็นนายจ๋อ” ยีราฟถามลอยๆ

“นั่นสิฮะ หรือว่ากินกล้วยแล้วท้องเสีย แอบนอนอยู่” กระต่ายน้อยแทะแครอทไปคุยไป

พูดยังไม่ทันขาดคำก็เห็นลิงจ๋อห้อยโหนมาตามกิ่งไม้และกระโดดเข้ามาในศาลา ในมือถือกระดาษแผ่นหนึ่ง

“แย่แล้ว ลุงแมวน้ำ ดูข่าวนี้สิ ฟองสบู่อสังหาฯแตกแล้ว” ลิงพูดด้วยสีหน้ากังวล “ยังงี้ต่อไปตลาดหุ้นก็คงเละเป็นโจ๊กเลย ไหนลุงบอกว่าทะยานสู่พรมแดนใหม่ไง”





บรรดาสมาชิกต่างชะโงกมาดูกระดาษที่ลิงถือมา ปรากฏว่าเป็นข่าวในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ เมื่อได้อ่านข่าวต่าก็ร้องกันอื้ออึง

“แย่แล้วๆ คราวนี้ต้องตายแน่ๆ” ยีราฟบ่น

“ใครๆก็พูดกันว่ากระต่ายตื่นตูม แต่นี่ยีราฟตื่นตูม กระต่ายยังไม่ตกใจเลย ฮิฮิ” กระต่ายน้อยแทะแครอทหน้าระรื่น

“ก็เพราะเธอยังไม่รู้อะไรน่ะสิ ใครที่ได้ผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งมาจึงจะเข้าใจอย่างลึกซึ้ง” ยีราฟค้อนกระต่ายน้อย

“อ้าว เดี๋ยวก่อนสิ อย่าเพิ่งตื่นตระหนก ทำราวกับว่าตลาดหุ้นจะเจ๊งภายในวันนี้ยังงั้นแหละ” ลุงแมวน้ำพูด “นายจ๋อลองให้คำจำกัดความหน่อยสิว่าประโยคที่ว่า ฟองสบู่อสังหาฯแตก คืออะไร”

“เอ้อ เดี๋ยว ขอคิดก่อน” ลิงอึ้ง จากนั้นคิดอยู่นาน “ก็คงเหมือนตอนวิกฤตต้มยำกุ้งนั่นแหละมั้ง ราคาบ้านและที่ดินตกอย่างรวดเร็ว ตลาดหุ้นก็พังไปด้วย ใช่ไหมครับลุง ในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีฟองสบู่อสังหาฯแตกกันหลายประเทศเลย อย่างอเมริกาไง แล้วก็จีน เวียดนามนี่ก็ได้ยินมาว่าฟองสบู่เพิ่งแตกไปไม่ใช่หรือครับ ผลที่ตามมาคือตลาดหุ้นพังระเนระนาด”

“นายจ๋อติดตามข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศเยอะเลยนะเนี่ย” ลุงแมวน้ำชม

“ดูจากทีวีน่ะลุง เดี๋ยวนี้ผมชอบดูข่าวเศรษฐกิจ แล้วตีออกมาเป็นหุ้น ว่าหุ้นไหนน่าจะได้ประโยชน์ หุ้นไหนน่าจะเสียประโยชน์ จะได้เข้าถูกไงครับ” ลิงจ๋อพูด

“ยังงี้นี่เอง” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “ที่นายจ๋อพูดมาก็มีส่วนถูก ที่นี้ลองฟังตามความเข้าใจของลุงบ้างก็แล้วกัน”


ทบทวนวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม


ลุงแมวน้ำพูดจบก็ล้วงเข้าไปในหูกระต่าย หยิบกระดาษออกมาปึกหนึ่ง


กราฟดัชนีราคาบ้านเปรียบเทียบใน 3 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น ในช่วงปี 2000-2014 ของนิตยสาร The Economist


“เราลองมาดูภาพนี้กัน นี่เป็นดัชนีราคาบ้าน ดูที่เส้นสีน้ำเงินและกรอบสีน้ำเงินก่อน สีน้ำเงินนี่คือดัชนีราคาบ้านของสหรัฐอเมริกา

“จะเห็นว่าดัชนีราคาบ้านในช่วงปี 2006-2012 ลดลง คะเนด้วยสายตาจากกราฟ ราคาบ้านในอเมริกาตกลงไปถึงจุดต่ำสุดประมาณ -30% นี่คือค่าเฉลี่ย แต่ว่าในแต่ละพื้นที่ของประเทศก็อาจลดลงมากหรือน้อยกว่านี้

“สาเหตุของวิกฤตอสังหาฯในอเมริกาเกิดจากการบริหารจัดการสินเชื่ออสังหาฯผิดพลาด มีการเอาสินเชื่อด้อยคุณภาพมาออกเป็นตราสารทางการเงินแบบพิสดารและมีการเก็งกำไรกันยกใหญ่ สุดท้ายจึงพัง เป็นวิกฤตเศรษฐกิจของอเมริกาและลามไปทั่วโลก

“เอาละ ทีนี้มาดูดัชนีราคาบ้านของจีนกันบ้าง ดูที่เส้นสีน้ำตาล และกรอบสีน้ำตาล

“เส้นสีน้ำตาลคือดัชนีราคาบ้านโดยเฉลี่ยทั้งประเทศจีน จะเห็นว่าเมื่ออเมริกาเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ผลของวิกฤตเศรษฐกิจในอเมริกาไม่ได้กระทบต่อเศรษฐกิจจีนเพราะในช่วงนั้นจีนกำลังจัดโอลิมปิกอยู่ เศรษฐกิจอู้ฟู่เชียว เศรษฐกิจจีนเติบโตปีละกว่า 10% ราคาอสังหาริมทรัพย์ตามหัวเมืองเศรษฐกิจพุ่งอย่างรวดเร็ว อย่างเช่น เมืองฝูโจว หังโจว หนานหนิง ชิงเต่า เซี่ยงไฮ้ ฯลฯ ยิ่งฮ่องกงนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย แพงแล้วแพงอีก จนต่อมาทางการจีนเห็นว่าเศรษฐกิจจีนร้อนแรงเกินไปและต้องการชะลอ จึงออกมาตรการต่างๆเพื่อสกัดความร้อนแรง ราคาอสังหาฯของจีนจึงตกลงมาบ้าง โดยในช่วงปี 2010-2012 ดัชนีราคาบ้านของจีนเป็นไปในทางทางไซด์เวย์ คือทรงตัว ไม่ขึ้นไม่ลง แต่หากมองเป็นรายเมือง เมืองที่เศรษฐกิจร้อนแรงราคาบ้านจะตกลงมามากหน่อย เมืองในชนบทราคาค่อยๆขยับขึ้นก็มี เฉลี่ยกันแล้วจึงเป็นทิศทางราคาแบบทรงตัว แต่แค่นี้นักธุรกิจ นักลงทุนก็ร้องจ๊ากกันแล้ว เพราะการหยุดก้าวไปข้างหน้าก็เหมือนกับการถอยหลัง คนที่ชินกับราคาอสังหาฯที่ขึ้นอย่างต่อเนื่องมานับสิบปี พอมาเจอราคาตกบ้างก็บอกว่าฟองสบู่อสังหาฯจีนแตก

“ดูอย่างเช่นในปี 2014 นี้ ราคาบ้านในเมืองใหญ่หลายเมือง เช่น ปักกิ่ง มีราคาลดลงบ้างนิดหน่อย ยังไม่ถึง -1% เลย แต่ก็ทำให้แตกตื่นกันแล้ว ก็พูดเรื่องฟองสบู่อสังหาฯจีนแตกกันอีก

“ในความเห็นของลุง เรื่องอสังหาฯของจีนนั้นเกิดฟองสบู่เพียงในบางเมือง และโดนสกัดเอาไว้เสียก่อน ลุงยังไม่คิดว่าจีนจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในระดับประเทศ เศรษฐกิจจีนยังเข้มแข็งอยู่ การชะลอเศรษฐกิจให้เติบโตอยู่ในระดับ 6-7% ราคาอสังหาย่อมตกลงมาบ้างในบางพื้นที่ แต่กลับทำให้ลุงมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจจีนและเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ของผู้นำจีนรุ่นที่ 5 นี้เพิ่มขึ้นเสียอีก

“ทีนี้ก็มาพูดถึงเวียดนามกันบ้าง เมื่อปี 2010-2013 ราคาอสังหาเวียดนามก็ตกลงเช่นกัน ลุงไม่มีภาพให้ดู ข้อมูลหายากหน่อย แต่เท่าที่รู้มาคือเฉลี่ยแล้วลงไปลึกถึงประมาณ -30% แต่ในบางพื้นที่ก็ลงลึกถึง –50% ก็มี ตอนนี้ค่อยๆเริ่มฟื้นตัวแล้ว

“เวียดนามนั้นเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เป็นเด็กกำลังโต หากมองเป็นคลื่นอีเลียตก็เป็นช่วงคลื่น 2 เข้าคลื่น 3 ประมาณนั้นแหละ เศรษฐกิจอาจผันผวนสูง ช่วงที่ผ่านมา เวียดนามมีปัญหาราคาอสังหาฯพุ่งอย่างรวดเร็วพร้อมกับค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งเร็วเช่นกัน พอเศรษฐกิจไม่ดี ราคาอสังหาฯก็ร่วงรุนแรงเพราะก่อนหน้านี้ขึ้นมาแรง แต่เพียงไม่กี่ปีก็ค่อยๆเริ่มฟื้น

“ทีนี้มาดูกราฟเส้นสุดท้ายกัน กราฟสีครีม อยู่ล่างสุด นั่นคือราคาบ้านของประเทศญี่ปุ่น ราคาบ้านของญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 20 ปี ต่างจากอเมริกา จีน และเวียดนามที่ลุงเล่าให้ฟังมาแล้วที่ฟื้นตัวได้ในเวลาเพียงไม่กี่ปี อันนี้แหละที่ลุงว่าเป็นฟองสบู่แตกของจริง”

ลุงแมวน้ำคลี่กราฟให้ดูอีกภาพหนึ่ง และพูดว่า



ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน และดัชนีราคาคอนโดมิเนียมของไทย ตั้งแต่ปี 2008-2014 รายไตรมาส ของธนาคารแห่งประเทศไทย


“ภาพนี้เป็นดัชนีราคาบ้านของไทย จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย แบ่งเป็นดัชนีราคาบ้านเดี่ยวกับราคาคอนโดมิเนียม ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีเพียงย้อนไปถึงปี 2008 เท่านั้น ไม่ได้มีย้อนไปถึงช่วงต้มยำกุ้ง

“ลุงจะเล่าภาพเศรษฐกิจในช่วงก่อนต้มยำกุ้งให้ฟังก็แล้วกัน ในราวปี 2537 (1994) ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยบูมมาก ราคาบ้านและที่ดินขึ้นอย่างร้อนแรงจริงๆ แค่ใบจองบ้านหรือคอนโดก็เก็งกำไรด้อย่างงาม สมมติว่าจองวันนี้ พรุ่งนี้เอาไปขายต่อ ได้กำไรเป็นหมื่นแล้ว นี่แค่ขายใบจอง ตอนนั้นใครก็กระโดดเข้ามาในวงการอสังหาฯ ช่างทำผมก็กลายเป็นนายหน้าค้าที่ดินเนื่องจากอยู่ในแวดวงคุณหญิงคุณนาย เรื่องคุยและข่าวสารในร้านทำผมมีเยอะแยะ จึงผันตัวไปเป็นนายหน้าค้าที่ดิน

“ตอนนั้นผู้รับเหมารายเล็กก็ยกระดับตัวเองเป็นผู้พัฒนาโครงการอสังหา คือเป็นดีเวลอปเปอร์เสียเลย ทั้งๆที่วิศวกรก็ไม่มี สถาปนิกก็ไม่มี แต่ก็อัปเกรดตนเองจนเป็นดีเวลอปเปอร์ได้ รวมทั้งใครสักคนที่มีที่ดินเปล่าสักแปลงก็ผันตนเองมาเป็นเจ้าของโครงการอสังหาฯได้ด้วยการสร้างทาวน์เฮ้าส์แบบ 9 ยูนิต คือสร้าง 9 ยูนิตนี่ไม่ต้องไปจดทะเบียนจัดสรร ทำกันได้ง่ายๆเลย รวยกันไปไม่รู้เรื่อง

“ด้านสินเชื่ออสังหาก็ปล่อยง่าย ให้ราคาสูง ก็เหมือนคนที่ซื้อหุ้นใช้มาร์จินหรือเทรดฟิวเจอร์สโดยมีเงินสดเพียงนิดหน่อยนั่นแหละ

“ยุคต้มยำกุ้งนั้นเกิดจากต่างชาติโจมตีค่าเงินบาท เราต่อสู้ค่าเงิน แต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้และทุนสำรองหมดหน้าตัก ต่อมาจึงมีการลดค่าเงินบาท มีธนาคารล้ม ไฟแนนซ์ล้ม ธุรกิจล้ม ปัญหาจึงได้ลามเป็นไฟลามทุ่ง อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้ที่ใช้เงินหมุนหรือใช้สินเชื่อเยอะๆ พอระบบธนาคารเสียหาย วงจรเงินสดโดนตัดปุ๊บ ก็พังเป็นโดมิโนเลย

“แต่ในยุคนี้ต่างออกไป ธนาคารและบริษัทอสังหาฯที่อยู่รอดมาจนถึงปัจจุบันได้รับบทเรียนอย่างแสนสาหัสมาแล้ว ดังนั้น ตอนนี้ภาคธนาคารมีความเข้มแข็ง ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ บริษัทอสังหาฯเองก็ระวังในการทำธุรกิจ ส่วนใหญ่จะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) ต่ำ และตอนนี้ใช่ว่าใครๆก็จะโดดเข้ามาในวงการอสังหาฯได้ ส่วนการขายใบจองเก็งกำไรก็พอมีบ้าง แต่ไม่ดุเดือดเหมือนสมัยก่อน ดังนั้นที่ลุงมองคือสภาพการณ์ในปัจจุบันแตกต่างจากเมื่ออดีตมาก

“อีกอย่างหนึ่ง ลองดูที่กราฟสิ ตั้งแต่ปี 2008 ที่อเมริกามีวิกฤต จีนชะลอตัว แต่ดัชนีราคาบ้านและคอนโดของไทยขึ้นต่อเนื่องมาตลอดเลย แม้ว่าราคาคอนโดมิเนียมจะดูขึ้นเร็วสะท้อนการเก็งกำไรสูงแต่ในภาพรวมยังดูดี แต่...” ลุงแมวน้ำทิ้งท้าย

“แต่อะไรจ๊ะลุง ขมวดเป็นปมอีกแล้ว” ยีราฟขมวดคิ้ว “กำลังฟังเพลินๆอยู่”

“แต่ลุงคอแห้ง หิวน้ำปั่นล่ะสิ” ลิงดักคอ

“ใช่แล้วคร้าบ ขอเอาไว้คุยต่อคราวหน้าละกัน ลุงขอพักหน่อย” ลุงแมวน้ำหัวเราะ

Friday, January 23, 2015

ตลาดหุ้นไทยใกล้ฟองสบู่แตกหรือยัง

บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่” /// “Toward a New Frontier” Series 






“วู้ ลุงแมวน้ำอยู่มั้ยคร้าบ”

เช้าวันหนึ่ง ลุงแมวน้ำได้ยินเสียงลิงจ๋อเรียกอยู่ที่ใกล้ๆโขดหิน

“ลุงแมวน้ำ ลุงแมวน้ำอ้วน ลุงแมวน้ำอ้วนอุ้ยอ้าย ฮิฮิ สงสัยไม่อยู่”

“ลุงอยู่นี่ หลบอยู่ข้างโขดหิน” ลุงแมวน้ำชะโงกหน้าออกไปตอบ

“อะจ๊าก อยู่ก็ไม่บอก แอบล้อลุงเสียเต็มเหนี่ยว” ลิงจ๋อปรากฏตัวขึ้นที่ข้างโขดหิน พร้อมกับพูดเสียงอ่อย

“ลุงไม่เห็นจะเดือดร้อนอะไรเลยในเมื่อที่นายจ๋อพูดไม่ใช่เรื่องจริง หุ่นลุงออกจะเพรียวสเลนเดอร์” ลุงแมวน้ำหัวเราะ

“คร้าบ เส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากันตลอดทั้งตัวเนี่ยนะผอมเพรียว เอาเถอะ ผมยอมลุงแล้ว” ลิงหัวเราะเช่นกัน “ว่าแต่ลุงมาหลบอยู่ข้างโขดหินทำไมละเนี่ย ทำไมไม่นอนผึ่งพุงบนโขดหินเหมือนเคย หลบเจ้าหนี้เหรอ”

“ไม่ได้หลบเจ้าหนี้ แต่ว่าหลบลมหนาว อากาศบนโขดหินหนาวจะแย่ ลุงเลยหลบมาอยู่ข้างล่าง” ลุงแมวน้ำตอบ

“เอ๊ะ นั่นลุงดูอะไรอยู่น่ะ” ลิงทักถึงแท็บเล็ตที่วางอยู่บนพุงของลุงแมวน้ำ

“กำลังดูละครทีวีอยู่” ลุงแมวน้ำตอบ

“หา ลุงเนี่ยนะติดละครทีวี ซีรีส์เกาหลีเหรอ” ลิงทำสีหน้าแปลกใจเนื่องจากรู้ว่าปกติลุงแมวน้ำไม่ค่อยดูละคร

“ละครไทยนี่แหละ” ลุงแมวน้ำตอบ

ลิงชะโงกดูภาพที่ปรากฏบนจอแท็บเล็ต

“โอย อยากหัวเราะฟันหลุด ลุงแมวน้ำดูแอบรักออนไลน์” ลิงหัวเราะขำกลิ้ง

ลิงหัวเราะขำได้เพียงเดี๋ยวเดียวก็หยุดกึก

“เอ มันชักจะยังไงๆแล้วล่ะลุง หรือว่านี่เป็นสัญญาณอันตรายจริงๆ” ลิงพูดพึมพำ

“นายจ๋อพูดอะไรแปลกๆ ลุงดูละครเนี่ยนะเป็นสัญญาณอันตราย” ลุงแมวน้ำขำกับท่าทีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของลิงจ๋อ “นายจ๋อไม่สบายหรือเปล่า ทำไมดูอารมณ์แปรปรวน”

“ไม่ใช่อารมณ์แปรปรวน” ลิงตอบ “แต่กำลังนึกถึงเรื่องหนึ่งที่ช่วงนี้พูดถึงกันหนาหูทีเดียว เรื่องสัญญาณตลาดหุ้นวายน่ะ ที่จริงวันนี้ผมก็ตั้งใจจะแวะมาถามลุงเรื่องนี้นั่นแหละ”

“อ้อ” ลุงแมวน้ำชักสนใจ “แล้วสัญญาณที่นายจ๋อว่าตลาดหุ้นจะวายน่ะมีอะไร มีอะไรบ้าง เล่าให้ลุงฟังหน่อย”

“เท่าที่คุยกันในเครือข่ายสังคมออนไลน์ รวมทั้งที่คุยกันในวงสัมมนาต่างๆ รวมทั้งสภากาแฟ ก็จะเป็นว่าปรากฏการณ์หลายๆเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนหน้าวิกฤตต้มยำกุ้ง กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้เช่นกัน เหมือนเป็นสิ่งบอกเหตุว่าตลาดหุ้นกำลังร้อนแรงเกินไป และประวัติศาสตร์กำลังซ้ำรอยเดิม” ลิงจ๋อตอบ

“สัญญาณเหล่านี้มีอะไรบ้างล่ะ” ลุงแมวน้ำถามอีก

“ก็เช่น ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปที่เดิมไม่เคยสนใจเรื่องหุ้นก็หันมาคุยเรื่องหุ้น ไปไหนก็มีแต่คนคุยกันเรื่องหุ้น นิตยสารต่างๆก็เอาเรื่องราวของเศรษฐีหุ้นมานำเสนอ แม้แต่ละครทีวีก็ยังวางท้องเรื่องให้อยู่ในแวดวงการค้าหุ้น ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และอีกอย่างหนึ่งนะลุง เขาพูดกันว่าเมื่อใดที่หุ้นเล็กหุ้นน้อยร้อนแรง นั่นแหละ ไม้สุดท้ายแล้ว ยิ่งดัชนีตลาดมาใกล้ 1700 ซึ่งเป็นจุดสูงสุดเดิมก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนนี้ดูเหมือนองค์ประกอบทุกอย่างซ้ำรอยกับเหตุการณ์ในครั้งต้มยำกุ้งเป๊ะเลยนะลุง พูดไปแล้วผมก็ชักหนาว จะล้างพอร์ตดีไหมเนี่ย” ลิงร่ายยาว “ลุงไม่เคยได้ยินเรื่องพวกนี้มาเลยหรือไง”

“ก็ได้ยินได้ฟังอยู่” ลุงแมวน้ำตอบ “ที่จริงยังมีอีกนะ อย่างเช่น สมัยก่อนมีสูตรอยู่ว่าหุ้นไฟแนนซ์วิ่งเมื่อไร เมื่อนั้นก็คือจบรอบ ตลาดจะวายแล้ว”

“อ้อ แล้วยังมีอีก ลุงพูดแล้วทำให้ผมนึกเพิ่มได้อีก นั่นก็คือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ว่ากันว่าช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งวงการอสังหาบูมมาก ก่อสร้างกันจนล้นตลาด ขายไม่ออก ในที่สุดก็กลายเป็นฟองสบู่แตก เหมือนตอนนี้เลยลุง ข่าวหนังสือพิมพ์บอกว่าตอนนี้บ้านคอนโดล้นตลาด เหลือบานเบอะ” ลิงจ๋อพูดอีก

“สรุปก็คือนายจ๋อมองว่าตลาดหุ้นไทยใกล้ฟองสบู่แตกแล้ว ว่ายังงั้นใช่ไหม” ลุงแมวน้ำถาม

“ก็น่าจะใช่นะลุง เพราะเหตุการณ์ต่างๆหลายอย่างในตอนนี้สอดคล้องกับเหตุการณ์ในตอนนั้น” ลิงตอบแบบลังเล “ลุงแมวน้ำคิดยังไงบ้างล่ะครับ”

“สัญญาณบอกเหตุที่นายจ๋อว่ามานั้น หากจะพูดถึงเหตุการณ์แล้วบางเรื่องมันก็พ้องกันกับเมื่อสมัยก่อนต้มยำกุ้งจริงนั่นแหละ จะว่าไปสัญญาณเหล่านี้ก็คืออินดิเคเตอร์นั่นเอง นายจ๋อใช้ปัจจัยทางเทคนิคก็คงรู้นี่ว่าการเลือกใช้อินดิเคเตอร์ต้องรู้ว่าอะไรควรใช้เมื่อไร คือต้องใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ รวมทั้ง ต้องเข้าใจคุณสมบัติของอินดิเคเตอร์นั้นด้วยว่าใช้บ่งชี้เรื่องอะไร มีความน่าเชื่อถือระดับใด

“เหตุการณ์หลายอย่างพ้องกันกับเมื่อก่อนละก็ใช่ แต่ทว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของสมัยนี้กับสมัยเมื่อ 20 ปีก่อน คือยุคก่อนต้มยำกุ้งนั้นก็แตกต่างกันมาก ดังนั้น การตีความก็อาจไม่จำเป็นต้องตีความในแบบเดิมๆ เรื่องแบบนี้ต้องพิจารณาให้ดี”

“ยังไงกันครับลุง ผมยังไม่ค่อยเข้าใจ” ลิงยกหางขึ้นเกาหัว เกาคาง

ลุงแมวน้ำล้วงเอาภาพชุดหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย ยื่นให้ลิงจ๋อดู

“พอดีลุงมีภาพสยามสแควร์ที่ถ่ายในยุคต่างๆ นายจ๋อลองดูสิ”

“แล้วภาพนี้เกี่ยวกับที่เราคุยกันไหมเนี่ย” ลิงจ๋อยิ่งสงสัยหลังจากได้ดูภาพ

“ไม่ต้องงงไป ลุงจะอธิบายภาพชุดนี้ให้ฟัง ค่อยๆฟัง ใจเย็นๆ” ลุงแมวน้ำพูด “ลุงจะเล่านิทานให้ฟัง”

“นิทานอีกแล้ว” ลิงหัวเราะ “น่าจะเรียกกระต่ายน้อยมาฟังด้วย รายนั้นชอบฟังนิทาน”

“ความคิดของนายจ๋อดีทีเดียว ลุงคิดว่าพวกเราหลายๆตัวก็อาจกังวลใจอยู่เหมือนกันว่าตลาดหุ้นจะเกิดฟองสบู่แตกหรือไม่ ถ้าอย่างนั้นเรามาคุยพร้อมกันดีกว่า เย็นนี้เจอกันที่ศาลาชมสวนก็แล้วกัน” ลุงแมวน้ำพูด

“ยังงั้นก็ดีครับ จะได้ฟังกันหลายๆคน” ลิงตอบ

เย็นวันนั้น ที่ศาลาชมสวน บรรดาสิงห์สาราสัตว์ที่เปิดพอร์ตหุ้นต่างก็มาชุมนุมกันพร้อมหน้า หลังจากที่ลุงแมวน้ำเท้าความให้ฟังถึงเรื่องที่คุยกับลิงจ๋อในตอนเช้า ลุงแมวน้ำก็เริ่มเข้าเรื่อง โดยยกภาพถ่ายให้ทุกคนได้ชมกันอีกรอบหนึ่ง

“ลุงเริ่มคุยเลยก็แล้วกัน ลองดูภาพนี้ ภาพนี้มี 3 ภาพย่อย เป็นภาพถ่ายของสี่แยกปทุมวันและสยามสแควร์ทั้งสามภาพ แต่ว่าถ่ายในยุคที่แตกต่างกัน ภาพนี้มีความหมายไม่น้อยทีเดียว ลุงจะเล่าเรื่องราวเก่าๆในภาพเหล่านี้ให้พวกเราฟัง”

“เย้ มีนิทานฟังแล้ว” กระต่ายน้อยพูดอย่างร่าเริง “กดไลค์ให้ 10 อันเลยฮะลุง”

ลุงแมวน้ำเริ่มเล่า

“เรามาดูที่ภาพย่อยแรกกันก่อน ภาพบนสุด ภาพนี้เป็นภาพสี่แยกปทุมวันและสยามสแควร์ที่ถ่ายในปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) หรือเมื่อสี่สิบกว่าปีมาแล้ว”

บรรดาสมาชิกฮือฮากันใหญ่ เพราะว่าไม่เคยเห็นสยามสแควร์ในสภาพเช่นนี้มาก่อน

“โห ถ้าไม่บอกไม่มีทางจำได้เลย” ลิงพูด

“ภาพนี้จุดที่ตั้งกล้องคือด้านสนามกีฬาแห่งชาติ มองไปทางราชประสงค์ ก็จะเห็นสี่แยกปทุมวัน และไกลออกไปจากสี่แยกก็คือสยามสแควร์

ที่จริงในยุคนั้น ตรงพญาไท ราชเทวี และปทุมวัน ไม่ได้เป็นสี่แยกดังในปัจจุบันหรอกนะ สมัยก่อนนั้น คือเมื่อห้าสิบปีก่อน เป็นวงเวียนมีน้ำพุอยู่ตรงกลางทั้งสามแห่ง เรียกว่าวงเวียนปทุมวัน วงเวียนราชเทวี และวงเวียนพญาไท แต่ต่อมาก็รื้อวงเวียนและน้ำพุออกไป กลายเป็นสี่แยกไปจนหมด จนกลายเป็นสี่แยกปทุมวัน สี่แยกราชเทวี และสี่แยกพญาไท ในภาพนี้วงเวียนปทุมวันเพิ่งถูกรื้อออกไป และกำลังจะทำเป็นสี่แยก เรายังเห็นแนววงเวียนอยู่เลย

ในปี พ.ศ. 2513 นั้นศูนย์การค้าสยามสแควร์เพิ่งเปิดดำเนินการได้ไม่นาน ตึกรามก็มีที่ฝั่งโรงหนังสยาม ลิโด้ สกาล่าเท่านั้น ฝั่งตรงข้ามยังไม่มีอะไรเลย พูดง่ายๆก็คือ พื้นตรงที่เป็นสยามดิส สยามเซ็นเตอร์นั้น ในยุคนั้นยังมีแต่ต้นไม้

“ว้าว โบราณจริงๆ” ลิงอุทาน

“ทีนี้ดูภาพต่อมา เป็นภาพสี่แยกปทุมวันและย่านสยามสแควร์ในปี 2531 ภาพนี้จุดตั้งกล้องน่าจะอยู่ที่ตึก MBK เห็นอาคารศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์สีเขียวๆนั่นไหม นั่นคือรูปโฉมดั้งเดิม สมัยก่อน เมื่อแรกมีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเริ่มมีการซื้อขายหุ้นในปี 2518 ที่ทำการของตลาดหลักทรัพย์และห้องค้าหุ้นก็อยู่ในตึกสยามเซ็นเตอร์นั่นเอง ต่อมาจึงได้ย้ายออกไป

“ส่วนพื้นที่สีเขียวๆข้างสยามเซ็นเตอร์นั้น สมัย 252x ตรงนั้นจัดเป็นลานเบียร์ในช่วงฤดูหนาว เป็นลานเบียร์แห่งแรกเลยมั้ง หนุ่มสาวยุคนั้นนิยมกันมาก ต่อจากนั้นจึงได้กลายเป็นสยามดิสคัฟเวอรี่

“ทีนี้มาดูภาพล่างสุด เป็นสี่แยกปทุมวันและสยามสแควร์ที่ถ่ายจากมุมสูง ในปี 2556 ภาพนี้เห็นตึกสูงเต็มไปหมดทั่วทั้งบริเวณ อีกทั้งยังมีรถไฟฟ้าอีกด้วย

“ลุงนำเอาภาพสยามสแควร์ตลอดช่วงเวลา 50 ปีมาให้ดูกัน เพื่อให้เห็นว่าสยามสแควร์เปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด เครื่องเสียงของวัยรุ่นในยุคของภาพแรกคือวิทยุทรานซิสเตอร์ ส่วนวัยรุ่นในภาพสองพูดถึงวิทยุเทปวอล์กแมน ส่วนวัยรุ่นในภาพสามพูดกันเรื่องไอโฟน

“วัยรุ่นในภาพแรกกินขนมครกจากรถเข็นป้าปากซอย วัยรุ่นในภาพกลางกินวาฟเฟิลที่ร้าน A&W ส่วนวัยรุ่นในภาพสามกินขนมที่ร้านอาฟเตอร์ยู



การเทรดหุ้นในยุคที่ยังใช้ระบบมือ หรือที่เรียกว่าระบบเคาะกระดาน

การเทรดหุ้นในปัจจุบันใช้ระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ สามารถส่งคำสั่งได้ด้วยโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ซื้อขายได้ทุกที่ ทุกเวลา


“มาดูที่พัฒนาการของตลาดหุ้นกันบ้าง สมัยก่อน เมื่อ 30 ปีก่อน การซื้อขายยังทำด้วยระบบมือ คือต้องโทรศัพท์ไปสั่งที่ดบรกเกอร์ จากนั้นโบรกเกอร์จะสั่งไปที่เจ้าหน้าที่ในห้องค้าอีกทีหนึ่ง การซื้อขายก็ใช้เคาะกระดาน เขียนกระดาน ตะโกนกันโหวกเหวก ใช้กล้องส่องทางไกล ซึ่งหนุ่มสาวสมัยนี้คงไม่มีใครได้เห็นเนื่องจากไม่ทันนั่นเอง ปัจจุบันการซื้อขายหุ้นใช้ระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด แถมยังออนไลน์อีกด้วย เรียกว่าซื้อขายกันง่ายแค่ปลายนิ้ว หนุ่มสาวในยุคนี้นึกไม่ออกว่าเมื่อ 30 ปีก่อนเทรดกันยังไง คนในยุค 30 ปีก่อนก็นึกไม่ออกว่าอีก 30 ปีต่อมาจะเทรดกันยังไงเช่นกัน

“สภาพสังคม การศึกษา สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ สมัยก่อนป่วยก็กินยาหม้อ ยาผีบอก สมัยนี้ล้ำไปถึงขั้นซ่อมแซมยีนกันแล้ว ตอนนี้แตกต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อนไปมากทีเดียว ดังนั้นต้องระวังว่าสูตรเดิมๆอาจใช้ไม่ได้ สัญญาณต่างๆอยู่ภายใต้บริบทที่แตกต่างกันก็อาจต้องตีความกันใหม่ สมัยนี้ชาวบ้านร้านตลาดพูดเรื่องหุ้นลุงก็ว่าไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่คุยเรื่องหุ้นจะให้คุยเรื่องอะไรล่ะ” ลุงแมวน้ำพูด

“สรุปว่าลุงแมวน้ำคิดว่าตลาดหุ้นไทยยังไม่มีสัญญาณฟองสบู่แตก” ลิงคาดคั้นเอาคำตอบ

“ลุงยังไม่เห็นแบบนั้นนะ” ลุงแมวน้ำตอบ “และยิ่งไปกว่านั้น ลุงยังมองตรงกันข้าม”

“ตรงกันข้ามยังไงฮะลุง” กระต่ายน้อยถามบ้าง

“ลุงพอจำสถิติได้นิดหน่อย ตลาดหุ้นปี 2528 หรือเมื่อราวๆ 30 ปีก่อน ตอนนั้นมูลค่าตลาด (market cap) ประมาณ 50,000 ล้านบาท มีหุ้นสามัญให้เทรดในตลาดประมาณ 100 หุ้น นี่ปัดเอาตัวเลขกลมๆนะ ไม่ได้เอาตัวเลขละเอียด

“ในปี 2557 ตลาดหุ้นมีมูลค่าถึง 14,000,000 ล้านบาท (อ่านว่า 14 ล้านล้านบาท) มีหุ้นสามัญให้เทรด 700 หุ้น ยังไม่รวมผลิตภัณฑ์อื่นๆอีก

“นอกจากนี้ ปัจจุบันเรายังเชื่อมโยงกับตลาดหุ้นมาเลเซียและสิงคโปร์ สามตลาดสามารถเทรดหุ้นระหว่างกันได้โดยระบบอาเชียนลิงเกจ นอกจากนี้ เรายังเชื่อมโยงกับตลาดหลักทรัพย์ GMS คือลาว กัมพูชา เวียดนาม ที่เราสามารถซื้อหุ้นในตลาดเหล่านี้ผ่านโบรกเกอร์ไทยได้

“และในปี 2558 นี้ ตลาดหลักทรัพย์ไทยจะเริ่มรับกิจการของประเทศเพื่อนบ้านให้เข้ามาจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้อีกด้วย

“เห็นไหมว่าตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันต่างจากเมื่อก่อนมาก นอกจากตลาดหุ้นแล้ว สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของเราก็เปลี่ยนไปมากด้วยเช่นกัน เรากำลังทะยานไปสู่พรมแดนใหม่ที่เราไม่เคยไปถึงมาก่อนต่างหาก อย่างที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า toward a new frontier”

“โห ลุงฮะ” กระต่ายน้อยทำตากลมโต “ลุงดูหนังสตาร์เทรกมากไปหน่อยหรือเปล่า”

“ลุงก็ชอบดูนะ หนังชุดสตาร์เทรก (Star Trek) เนี่ย แต่ที่ลุงพูดมานี้ไม่ใช่หนัง แต่ว่าเรากำลังก้าวไปแบบนั้นจริงๆ ดังนั้นลุงจึงไม่แปลกใจถ้าเราจะเห็นดัชนีตลาดหุ้นของเราไต่ระดับไปถึง 2,000 จุด และ 3,000 จุด” ลุงแมวน้ำพูด

“ขนาดนั้นเลยหรือลุง” ลิงหัวเราะ “นี่แหละ นักลงทุนสายจิน ของแท้เลย”

“ลุงไม่ได้เอาแต่จิตนาการลมๆแล้งๆ ลุงมีเหตุผลประกอบเยอะแยะมากมายทีเดียว รวมทั้งเรื่องอสังหาฯ ตอนนี้มีฟองสบู่หรือไม่ จะลงเอยเหมือนต้มยำกุ้งหรือไม่ ลุงก็มีเหตุผลประกอบ อยากฟังไหมล่ะ” ลุงแมวน้ำถาม

“อยากฟังสิลุง หากตลาดหุ้นไทยไปขนาดนั้นจริง ผมคงได้ผลตอบแทนงดงามไม่น้อยเลยทีเดียว” ลิงพูด

“ถ้าอย่างนั้นเรามาฟังกันต่อในวันหลัง ลุงจะทยอยเล่าให้ฟัง” ลุงแมวน้ำสรุป