Wednesday, October 29, 2014

หุ้นพีอีต่ำ หุ้นแม่ไก่ไข่ (3)







กรณีศึกษา SE-ED หุ้นแม่ไก่ไข่


“ลุงแมวน้ำฮะ” กระต่ายน้อยเรียกลุงแมวน้ำ หลังจากที่พูดกับลิงจ๋อจบ “ผมขอถามอะไรหน่อยฮะ”

“ว่ายังไงกระต่ายน้อย จะถามอะไรล่ะ” ลุงแมวน้ำถาม

“ตกลงว่าหุ้นแม่ไก่ไข่ที่ลุงว่านั้นคือหุ้นอะไรฮะ จนป่านี้ลุงยังไม่ได้บอกเลย” กระต่ายน้อยพูด

“นั่นสิลุง ฉันก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าลุงอาจจะลืมไปแล้ว” ฮิปโปพูดขึ้นบ้าง “แก่แล้วก็หลงๆลืมๆยังงี้แหละ”

“เปล่า ลุงยังไม่ลืม ก็เล่าโน่นเล่านี่ไปเรื่อย ยังไม่ถึงจังหวะที่จะเล่าต่างหาก แต่ว่าลุงก็กำลังจะเล่าอยู่ทีเดียว” ลุงแมวน้ำตอบ

“แล้วหุ้นแม่ไก่ไข่คือหุ้นประเภทไหนล่ะลุง” ยีราฟถามบ้าง

“ลุงมีกรณีศึกษาอยู่หุ้นหนึ่ง นั่นคือ หุ้น SE-ED เราลองมาดูหุ้นนี้กันก่อน จากนั้นพวกเราจะเข้าใจหุ้นแม่ไก่ไข่ได้เอง” ลุงแมวน้ำพูดพลางหยิบกระดาษออกมาอีกปึกหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย จากนั้นค่อยๆกางออกให้บรรดาสมาชิกดูทีละรูป

“หุ้นธุรกิจหนังสือใช่ไหมลุง” ลิงถาม

“ใช่แล้ว หุ้นนี้มีประเด็นที่น่าสนใจหลายอย่างทีเดียว ทั้งในแง่แนวโน้มของอุตสาหกรรม และแนวโน้มของตัวหุ้นเอง หุ้น SE-ED นี้เคยเป็นหุ้นในดวงใจของใครต่อใครหลายคนทีเดียว สามารถเติบโตฝ่าวิกฤตต้มยำกุ้งมาได้ จ่ายปันผลสูง อีกทั้งในความเห็นของลุงยังเป็นหุ้นที่ผู้บริหารมีบรรษัทภิบาลสูงอีกด้วย” ลุงแมวน้ำพูด “ซีเอ็ดเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการประเมินด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีในระดับ 5 ดาวถึง 7 ปีซ้อน”

“ยังงั้นรีบเล่าเลยคร้าบลุงแมวน้ำ” ลิงจ๋อพูด “ดูท่าจะน่าสนุก”

“ลุงขอเท้าความถึงความเป็นมาของหุ้นนี้สักหน่อย เดิมที SE-ED เป็นบริษัทที่ผลิตหนังสือและนิตยสารในแนววิชาการ คือเป็นสำนักพิมพ์นั่นเอง ต่อมาต้องการต่อยอดด้วยการทำธุรกิจร้านหนังสือ จึงจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน” ลุงแมวน้ำพูด “หุ้นซีเอ็ดซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี พ.ศ. 2534 หรือ ค.ศ. 1991 โดยในช่วง 3-4 ปีแรกธุรกิจร้านหนังสืออยู่ในระยะตั้งไข่ การขยายสาขาเป็นไปอย่างช้าๆ ต่อมาก็เริ่มเข้าที่เข้าทางก็มาเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม บริษัทก็สามารถฝ่าวิกฤตมาได้ โดยมีผลประกอบการขาดทุนในปี 1998 (2541) เพียงปีเดียว หลังจากนั้นกิจการก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ที่จริงแล้วกิจการควรเข้าสู่ระยะเติบโตตั้งแต่ปี 1997 แล้ว แต่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ระยะตั้งไข่ยืดออกมาอีก กว่าจะเข้าสู่ระยะเติบโตได้จึงเป็น 1999 (2542)





“เอาละ ทีนี้มาดูกราฟกัน กราฟนี้แกนตั้งมีสองสเกล คือเส้นรายได้ (revenue, เส้นสีฟ้า) ของกิจการให้ดูหน่วยที่แกนตั้งด้านขวา ส่วนเส้นกำไรจากการดำเนินงาน (operating income, เส้นสีส้ม) และเส้นกำไรสุทธิ (net income, เส้นสีเทา) ให้ดูสเกลจากแกนตั้งซ้ายมือ

“เราดูที่เส้นรายได้กันก่อน จากกราฟ จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 1999-2012 SE-ED มีรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อพิจารณาจากผลกำไรของกิจการ กลับพบว่ากำไรสุทธิ (net income เส้นทีเทา) ของกิจการอยู่ในระยะเติบโตในช่วงปี 1999-2010 นั่นคือ กำไรสุทธิมีระยะเติบโตที่สั้นกว่า และก้าวเข้าสู่ระยะอิ่มตัวก่อนรายได้นั่นเอง

“ทีนี้มาดูเส้นสีส้ม หรือว่ากำไรจากการดำเนินงาน (operating income) กัน เส้นนี้ยิ่งน่าสนใจ เพราะว่าระยะเติบโตของกำไรจากการดำเนินงานนี้อยู่ในช่วง 1999-2006 เท่านั้น ระยะเติบโตสั้นกว่าเส้นกำไรสุทธิเสียอีก

“และเมื่อเราดูกราฟในแบบภาพรวม เราก็จะเห็นว่าซีเอ็ดนี้มีรายได้ กำไรจากการดำเนินงาน และกำไรสุทธิ ที่เข้าสู่ระยะอิ่มตัวไม่พร้อมกัน”

“ที่เป็นยังงั้นเพราะอะไรจ๊ะลุง” แม่ยีราฟสงสัย “และทั้งสามเส้นนี้ตีความได้ว่าอย่างไร มันบอกอะไรเราได้บ้าง”

“หากตีความจากกราฟ เราต้องให้ความสำคัญกับเส้นที่เข้าสู่ระยะอิ่มตัวไวที่สุด เส้นไหนเข้าสู่ระยะอิ่มตัวก่อนก็สนใจเส้นนั้นมากหน่อย” ลุงแมวน้ำพูด

“งั้นกรณีนี้ก็เป็นเส้นกำไรจากการดำเนินงานสิฮะ” กระต่ายน้อยออกความเห็นบ้าง

“ใช่แล้ว กระต่ายน้อยเข้าใจถูกแล้ว” ลุงแมวน้ำพูด “หากพิจารณาดูจากกราฟ ลุงก็ต้องตีความว่ากิจการอยู่ในระยะเติบโตจนถึงปี 2006 หลังจากนั้น คือในปี 2007 เป็นต้นไป กิจการเข้าสู่ระยะอิ่มตัว คือแม้ว่าในปี 2007 และปีต่อๆมา กิจการจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นเร็วมาก จนกำไรจากการดำเนินงานเติบโตต่อไปไม่ไหว”

“แต่ เอ๊ะ กำไรสุทธิในปี 2007 และหลังจากนั้นก็ยังโตได้นะลุง หากดูจากกราฟเส้นกำไรสุทธิก็ยังไม่อิ่มตัว” ลิงแย้ง

“ที่นายจ๋อพูดก็ถูก แต่อย่าลืมสิว่ากำไรสุทธินั้นรวมรายการพิเศษหรือรายได้พิเศษอื่นๆที่ไม่ใช่กำไรจากธุรกิจหลักเข้ามาด้วย ดังนั้น ในกรณีเช่นนี้ หากพิจารณาจากกราฟ ลุงก็ต้องสันนิษฐานเอาไว้ก่อนว่าธุรกิจหลักของกิจการเข้าสู่ระยะอิ่มตัวตั้งแต่ปี 2007 คือดูเส้นสีส้มเป็นหลัก แต่กิจการยังมีรายได้กำไรสุทธิเติบโตได้จนถึงปี 2010 ก็เพราะมีกำไรพิเศษมาจากทางอื่นๆเข้ามาเสริม เช่น ขายตึก ขายที่ดิน ขายเงินลงทุน เป็นต้น” ลุงแมวน้ำตอบ

“แล้วลุงรู้ไหมครับว่าซีเอ็ดนั้นมีกำไรพิเศษอะไร” ลิงถาม

“อันนั้นต้องไปดูงบการเงินประกอบแล้วล่ะ แต่ลุงก็ไปดูมาให้แล้ว พบว่าตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นไปมีการลดภาษีกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนจาก 30% เหลือ 25% ดังนั้นกำไรพิเศษในกรณีนี้ไม่ใช่เกิดจากการขายสินทรัพย์ดังที่ลุงสันนิษฐานในเบื้องต้น แต่เป็นกำไรพิเศษที่ได้มาจากสิทธิประโยชน์ทางภาษี” ลุงแมวน้ำตอบ “ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงสรุปเช่นเดิมว่ากำไรจากการดำเนินงานหรือว่าธุรกิจหลักน่าจะเข้าสู่ระยะอิ่มตัวตั้งแต่ปี 2007 แล้ว แต่กำไรสุทธิยังเติบโตได้อีกช่วงหนึ่งเพราะสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เพิ่มขึ้น

“กิจการอยู่ในระยะอิ่มตัวในปี 2007-2010 หลังจากนั้น คือ ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นไป กิจการน่าจะเข้าสู่ระยะเสื่อมแล้ว เห็นไหมว่าการพิจารณาจากกราฟ 3 เส้นนี้ก็บอกอะไรเราได้มากพอสมควร และเมื่อเราไปดูงบการเงินประกอบนิดหน่อย ก็จะทำให้เราเห็นภาพของวัฏจักรของกิจการได้ดีขึ้น”

ลุงแมวน้ำเก็บภาพเดิมไป จากนั้นกางกราฟออกมาอีกภาพหนึ่ง และพูดว่า





“เอาละ ทีนี้มาดูกราฟกันอีกภาพหนึ่ง เรามาดูกราฟของกำไรสุทธิกับราคาหุ้น และค่าพีอีกัน” ลุงแมวน้ำพูด “กราฟเส้นสีเทาเป็นกำไรสุทธิของกิจการ ส่วนกราฟเส้นสีเหลืองเป็นราคาหุ้น และกราฟแท่งสีฟ้าเป็นค่า P/E ratio โดยค่าพีอีนอกวงเล็บเป็นพีอีของกิจการ ส่วนพีอีในวงเล็บเป็นพีอีของตลาด ดูเปรียบเทียบกัน”

“อธิบายหน่อยสิครับลุง” ลิงทวง

“จากกราฟ ก็พอเข้าใจได้ว่าปี 1992-1999 เป็นระยะตั้งไข่ โดยในปี 1998 กิจการขาดทุนเนื่องจากผลกระทบจากต้มยำกุ้ง ดังนั้นในปี 1999 อันเป็นปีแรกที่ฟื้นจากการขาดทุน ค่าพีอีก็พุ่งปรี๊ด เป็นไปตามรูปแบบที่เราเคยคุยกันมาแล้วเกี่ยวกับหุ้นตั้งไข่หรือหุ้นฟื้นไข้

“ในปี 2000 เป็นต้นไป กิจการเข้าสู่ระยะเติบโต ดังนั้นในระยะเติบโตคือในปี 2000-2006 ราคาหุ้นจึงมักเทรดกันที่พีอีสูงกว่าพีอีของตลาดเล็กน้อย โดยค่าพีอีของซีเอ็ดในช่วงนั้นอยู่ที่ประมาณ 5-13 เท่า ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ไม่สูง เนื่องจากนักลงทุนระมัดระวังตัวกันมากเพราะภาพวิกฤตต้มยำกุ้งยังคอยหลอกหลอนอยู่ แต่ในช่วงนั้นหุ้นซีเอ็ดมักเทรดกันแพงกว่าพีอีตลาดนิดหน่อยอันเป็นเรื่องปกติของหุ้นในระยะเติบโตที่ใครๆก็อยากได้ ส่วนพีอีในปี 2007 และหลังจากนั้นยังไม่มีประเด็นอะไรที่จะต้องคุยกัน ดังนั้นลุงขอข้ามไปก่อน”

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟออกมาอีกแผ่นหนึ่ง และกางออก พร้อมกับพูดต่อ




“หุ้นซีเอ็ดอาจเป็นหุ้นนอกสายตาของนักลงทุนหลายๆคน เนื่องจากเป็นหุ้นในธุรกิจหนังสือที่นักลงทุนอาจไม่คุ้นเคยนัก ต่างจากหุ้นในธุรกิจธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน ฯลฯ บางคนยังนึกไปว่าธุรกิจหนังสือนี่มีอนาคตไหม เพราะคนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัดโดยเฉลี่ยดังที่ชอบเอามาล้อกัน แต่หุ้นนอกสายตาของนักลงทุนบางคนนี่แหละที่เป็นหุ้นในดวงใจของนักลงทุนอีกหลายๆคน เพราะว่าหุ้นซีเอ็ดนี้จ่ายเงินปันผลอย่างงดงาม อัตราเงินปันผลตอบแทน (dividend yield) อยู่ในระดับ 7% ถึง 9% อยู่หลายปี ลองนึกภาพดูว่าหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง นักลงทุนยังหวาดกลัวตลาดหุ้นกันไม่คลาย หุ้นที่จ่ายปันผลงามแบบนี้นักลงทุนที่ชอบความมั่นคงก็คงถูกใจ”

“ว้าว ฉันชอบหุ้นแบบนี้จัง จ่ายเงินปันผลดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารเยอะแยะเลย” ยีราฟถูกอกถูกใจ

“อะไรจะดีเลิศประเสริฐปานนี้” ลิงพึมพำ “ลุงแมวน้ำพูดอะไรมักชอบหักมุม แล้วเรื่องนี้มีหักมุมไหม”

ลุงแมวน้ำหัวเราะ หยิบกราฟออกมาอีกภาพหนึ่ง และพูด




“จะมีหักมุมหรือเปล่ายังไม่รู้ ดูภาพนี้กันต่อไปก่อน กราฟที่แล้วเป็นกราฟของ dividend yield หรืออัตราเงินปันผลตอบแทนเมื่อเทียบกับราคาหุ้น ส่วนในกราฟนี้เป็นกราฟที่เรียกว่า dividend payout ratio หรืออัตราจ่ายเงินปันผลเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิต่อหุ้น คือแปลความง่ายๆว่าเงินปันผลจ่ายนั้นเป็นร้อยละเท่าไรของ eps นั่นเอง”

“ดูยังไงน่ะลุง” ลิงถาม

“จากในภาพนี้ ยกตัวอย่างปี 2003 มี dividend payout ratio เป็น 68.5% แปลว่าเอากำไรสุทธิมาจ่ายเป็นเงินปันผลถึง 68.5%” ลุงแมวน้ำตอบ

“ถ้ายังงั้นจากภาพนี้บอกอะไรเราได้บ้างละครับ” ลิงถามอีก

“พวกเราลองสังเกตดูว่าตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นไป กิจการจ่ายเงินปันผลในระดับที่เกินกว่า 90% ของกำไรสุทธิ แปลว่ากำไรเกือบทั้งหมดเอามาจ่ายเป็นเงินปันผล และนี่แหละที่ลุงเรียกว่าหุ้นแม่ไก่ไข่ คือเราเลี้ยงไก่หวังได้กินไข่ทุกๆวัน ก็เช่นเดียวกับหุ้นที่อัตราจ่ายปันผลสูงแบบนี้ เรามีไว้ก็เพื่อรับเงินปันผลให้จุใจทุกปี ในทางการตลาดอาจเรียกธุรกิจแบบนี้ว่าธุรกิจวัวเงินสดหรือ cash cow business คือเอาไปเปรียบเทียบกับแม่วัวนมที่ให้นมอย่างสม่ำเสมอ ก็ความหมายเดียวกับหุ้นแม่ไก่ไข่นั่นเอง” ลุงแมวน้ำอธิบาย

Sunday, October 26, 2014

เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ กองทุนรวมคนไทยใจดีและกิจการเพื่อสังคม





กรมอุตุฯบอกว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ลุงแมวน้ำก็ดีใจ เพราะคิดว่าจะหมดฝนเสียที ฤดูฝนปีนี้ฝนตกบ่อย ธุรกิจการแสดงซบเซา รายได้ของลุงไม่ค่อยดีเลย โชคดีที่ยังพอมีเงินปันผลพอประทังไปได้

ช่วงนี้ธุรกิจรายย่อยที่เกี่ยวกับการบริโภคไม่ค่อยดีเลย พูดง่ายๆก็คือพ่อค้าแม่ขายที่ค้าขายเล็กๆน้อยๆนั่นเอง ข้าวของก็แพง ข้าวไข่เจียวทอดขายริมทางเท้าใส่กล่องโฟม ขายกล่องละ 25 บาท ขายไม่ดีเลย ข้าวไข่เจียวที่เมื่อไม่กี่ปีก่อนกล่องละ 10 บาทน่ะ ตอนนี้กล่องละ 25 บาทแล้ว แม่ค้าบอกว่าขายต่ำกว่านี้ก็อยู่ไม่ไหว เพราะวัตถุดิบขึ้นราคาไปหมด ครอบครัวก็ต้องกินต้องใช้ก็ต้องขายราคานี้แหละ ยิ่งวันหนึ่งขายได้ไม่กี่กล่อง ตั้งราคาต่ำกว่านี้ก็อยู่ไม่ไหว ลุงก็คิดอยู่เหมือนกันว่าจะขายดีได้ยังไง เพราะว่าถัดไปไม่ไกลมีร้านสะดวกซื้อ ข้างในร้านขายข้าวกล่องราคากล่องละ 29 บาท ลุงฟังแล้วก็ได้แต่ถอนใจ เพราะสมัยนี้ธุรกิจรายย่อยหรือกลุ่มธุรกิจไมโครที่ค้าขายเล็กๆน้อยๆดูจะอยู่ยากขึ้น >.<

อ้าว ลุงวกไปถึงไหนละเนี่ย ไม่ได้ตั้งใจจะพูดเรื่องข้าวกล่อง แต่ก็วันหยุดละนะ ไม่มีอะไรต้องรีบ ก็คุยกันสบายๆ

ที่จริงที่ลุงอยากเล่าในวันนี้ก็คือกองทุนรวม คนไทยใจดี เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้

กองทุนรวมคนไทยใจดี (BKIND) นี้เป็นกองทุนรวมของค่ายบัวหลวง ลงทุนในหุ้นไทยซึ่งเป็นหุ้นที่คัดเลือกแล้วว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมใน 4 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม (Environment), สังคม (Social), บรรษัทภิบาล (Good Governance) และต่อต้านคอร์รัปชั่น (Anti-Corruption) หรือหลัก ESGC เพิ่งจัดสัมมนาเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้เอง นอกจากนี้กองทุนยังกำหนดให้นำเงิน 40% ของค่าธรรมเนียมการจัดการ หรือคิดเป็น 0.8% ของมูลค่ากองทุนรวม ไปบริจาคให้กับมูลนิธิหรือหน่วยงานใดที่มีส่วนร่วมเพื่อสังคมไทย อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งด้วย

ดูแล้วก็เข้าท่า เพราะกองทุนนี้นอกจากเลือกลงทุนในหุ้นที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมแล้วกองทุนรวมเองยังมีการทำซีเอสอาร์ด้วย ถ้ามองในแง่การตลาดก็คือกองทุนรวมนี้มาในแนวที่แตกต่างจากกองทุนอื่นๆ เพราะเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้ลงทุนด้วย เนื่องจากไม่ได้ตอบสนองแค่เรื่องผลตอบแทนด้านตัวเงิน แต่เป็นผลตอบแทนด้านจิตใจด้วย เนื่องจากกองทุนนี้ยังเปิดจองอยู่ดังนั้นจึงยังไม่รู้ว่าลงทุนในหุ้นอะไรบ้าง แต่ว่าน่าสนใจทีเดียว ลุงก็อยากเห็นหุ้นในพอร์ตของกองทุนเช่นกัน

พูดถึงเรื่องกองทุนรวมคนไทยใจดี ทำให้ลุงนึกถึงกิจการประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า กิจการเพื่อสังคมหรือวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise)

วิสาหกิจเพื่อสังคมนี้โดยรูปแบบก็คือองค์การธุรกิจหน่วยหนึ่งนั่นเอง อาจตั้งเป็นรูปบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นเจ้าของเดียวก็ได้ แต่ความพิเศษอยู่ตรงที่ว่าธุรกิจที่ทำนี้เป็นธุรกิจที่มุ่งตอบโจทย์แก้ปัญหาสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ธุรกิจที่ค้ากำไรทั่วๆไป

ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจขายมุ้ง หากขายมุ้งตามตลาดนัดก็ถือว่าเป็นธุรกิจทั่วๆไป แต่หากธุรกิจขายมุ้งนี้ไปขายในถิ่นธุรกันดารที่ไข้เลือดออกระบาด มุ้งกันยุงเหล่านี้จะช่วยลดป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในท้องถิ่นนั้นได้ส่วนหนึ่ง ดังนั้นธุรกิจขายมุ้งในถิ่นธุรกันดารนี้จึงเป็นธุรกิจเพื่อสังคมด้วย

นี่ยกตัวอย่างแบบง่ายๆ ดังนั้นก็สรุปว่าธุรกิจเพื่อสังคมนั้นนอกจากเป็นธุรกิจที่คิดดี ทำดี ทั่วโลกมีการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมกัน เนื่องจากหากมีธุรกิจแนวนี้มากๆสังคมจะน่าอยู่ขึ้น ในบ้านเราก็มีการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมเช่นกัน โดยมีหน่วยงานที่สนับสนุนก็คือ สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (TSEO)

ลุงแมวน้ำก็สนใจธุรกิจแนวนี้ ติดตามมาโดยตลอด ปัญหาใหญ่ๆที่ลุงเห็นก็คือ ผู้ประกอบการเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว มีไฟ มีใจ แต่ไม่ค่อยมีทุน พอไปจับธุรกิจเข้าก็ทำแบบเล็กๆ ทำใหญ่ไม่ได้ ก็หาพนักงานยากอีก เพราะปัจจุบันแรงงานก็หายากอยู่แล้ว ยิ่งหน่วยงานเล็กๆยิ่งหาพนักงานยาก

ปัญหาใหญ่อีกอย่างคือเรื่องราคา ธุรกิจเพื่อสังคมนี้ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเล็ก ดังนั้นต้นทุนจึงสูง การตั้งราคาขายจึงแข่งขันยาก และยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ผู้ประกอบการหลายรายกลับพบว่าความที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นกลายเป็นว่าตั้งราคาสูงไม่ได้ เพราะลูกค้าถามว่าก็เพื่อสังคมแล้วทำไมคิดแพง คือที่จริงก็ไม่ได้แพงเพราะว่าไปโขกราคาหรอก แต่เนื่องจากกิจการเล็กต้นทุนสูงดังที่ว่า ดังนั้นราคาขายก็สูงหน่อยเพื่อให้อยู่ได้ แต่กลายเป็นว่าลูกค้าไม่ได้เห็นใจ กลับมองในแง่ลบว่าเอาความเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมมาอ้างเพื่อโขกราคา กลายเป็นแบบนั้นไป

ลุงเคยคุยกับผู้ประกอบการและว่าที่ผู้ประกอบการ (ว่าที่ผู้ประกอบการคือเตรียมตัวอยู่ ยังไม่ได้เป็นผู้ประกอบการ) หลายราย ก็พบว่ามีปัญหากู้ธนาคารไม่ผ่าน คือพวกนี้กู้พวกสินเชื่อ sme น่ะ แผนธุรกิจไม่ผ่านบ้าง ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำบ้าง ก็แบบเดียวกับธุรกิจทั่วๆไป แต่เท่าที่คุยเรื่องแผนธุรกิจมาหลายๆราย ลุงก็ว่าหากเป็นไปตามแผนที่คุยมาก็โอกาสรอดน้อยจริงๆ เพราะหลายๆแผนพบว่าว่าที่ผู้ประกอบการเป็นคนใจดีมากๆ แผนธุรกิจจะออกไปทางทำมูลนิธิมากกว่า อีกประการ เรื่องกฎหมายที่เอื้อแก่ผู้ประกอบการแนวนี้ก็ยังไม่ชัดเจน คือตอนนี้เป็นกฎหมายทั่วไปเหมือนธุรกิจธรรมดา เสียภาษีก็เหมือนธุรกิจทั่วไป เพราะการแยกแยะว่าธุรกิจใดเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมก็ยากอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ทำกิจการฝึกอบรม ถือว่าเป็นกิจการเพื่อสังคมไหม เพราะการให้ความรู้ ก็ถือว่าช่วยแก้ปัญหาสังคม ถ้าตอบว่าใช่ แปลว่าธุรกิจฝึกอบรมทุกอย่างก็เข้าข่ายธุรกิจเพื่อสังคมไปหมด ไม่ว่าเจ้าของกิจการจะมีเจตนาทำเพื่อค้ากำไรแพงๆหรือเพื่อฝึกอาชีพคนจนก็ตาม เป็นต้น

ธุรกิจเพื่อสังคมหลายรายทีเดียวที่ลงทุนเอง แม้กู้ไม่ผ่านแต่ว่ามีความฝันอยากจะทำ ก็ลงทุนเอง โดยยืมเงินญาติพี่น้องมาทำ ก็ทำให้สายป่านสั้นมากๆ เมื่อกระแสเงินสดน้อยโอกาสรอดก็น้อยลง ลุงก็ไม่มีสถิติอะไรเป็นเรื่องเป็นราวหรอกนะ แต่พิจารณาจากตัวแบบทางธุรกิจก็เห็นว่าธุรกิจที่กู้ไม่ผ่านเพราะแผนธุรกิจไม่ผ่านนี่หากมาทำเอง โอกาสรอดก็ไม่เยอะ

ลุงก็อยากเห็นธุรกิจเพื่อสังคมของคนไทยเติบโตสวยงามละนะ อุดมการณ์สร้างสรรค์ของคนหนุ่มสาวนั้นมีคุณค่า สมควรช่วยพวกเขาเอาฝันนั้นมาทำให้เป็นความจริง

แม้ลุงไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อสังคม เพราะให้ลุงทำลุงก็คงทำไม่รอด ยากเอาการอยู่ ไหนจะเรื่องบริหารคน ไหนจะเรื่องบริหารธุรกิจ เรื่องขาดแคลนบุคลากรนี่ปัญหาใหญ่ แต่ลุงก็มีวิธีการของลุง ลุงกันรายได้ส่วนหนึ่งทำเป็นกองทุนส่วนตัว ลุงก็ให้การศึกษาเด็ก ช่วยเหลือคนพิการ สงเคราะห์สัตว์จรจัด ก็ว่าไปเรื่อย ทำมาหลายสิบปีแล้วตัวแต่ลุงยังหนุ่ม ทุกวันนี้ลุงก็ใช้ผลตอบแทนจากการลงทุนนี่แหละ ทำกองทุนส่วนตัว ใครที่ซื้อหุ้นต่อจากลุงก็ถือว่าได้มีส่วนช่วยกองทุนของลุงด้วย ^_^

วันนี้คุยกันเรื่อยเปื่อย ไม่มีอะไรเป็นโล้เป็นพาย แต่อีกไม่นานเมื่อเข้าฤดูหนาว เดี๋ยวลุงจะไปเที่ยวต่างจังหวัดแล้ว คงมีเรื่องท่องเที่ยวมาเล่าให้ฟังคร้าบ ^_^

Wednesday, October 22, 2014

หุ้นพีอีต่ำ หุ้นแม่ไก่ไข่ (2)





หุ้น P/E ต่ำ น่าลงทุนหรือไม่



หลังจากที่ลุงแมวน้ำดูดน้ำปั่นจนชื่นใจ จึงคุยต่อ





“เอ้า มาดูกันต่อ ลองดูว่าเราสามารถตีความอะไรจากกราฟได้บ้าง

“ในช่วงปี 1996, 1997, 1998 ผลกำไรของโซนี่เติบโตดีเชียว ส่วนปี 1999 ผลกำไรด้อยกว่าปี 1998 เล็กน้อย แต่ขอให้เราจินตนาการย้อนไปในอดีต ต้องไม่ลืมว่าปี 1997 (พ.ศ. 2540) เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในย่านเอเชียตะวันออก กำไรเติบโตขนาดนี้ถือว่าเก่งทีเดียว

“ราคาหุ้นของบริษัทโซนี่พุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในปี 1999 ที่เห็นราคาในภาพนั้นเป็นราคา ณ สิ้นปี ที่จริงราคาในระหว่างปียังแพงกว่านั้นอีก และต่อมาในปี 2000 กำไรของโซนี่ลดลงมาก ทำให้ราคาหุ้นร่วง และทำให้เกิดค่าพีอีที่สูงเป็นประวัติการณ์ นั่นคือ 467 เท่า เกิดจากที่กำไรร่วงแรงแต่ราคาหุ้นยังลงไม่แรงนัก อาจจะด้วยหวังลุ้นว่ากำไรปีถัดไปจะกระเตื้องก็เป็นได้ ดังนั้นแม้ราคาร่วงแต่ก็มีแรงรับ นี่คือลักษณะของความคาดหวังว่าหุ้นโซนี่จะฟื้นไข้ได้ พีอีจึงสูงมาก

“ต่อมาในปี 2001 ผลกำไรของโซนี่ตกต่ำหนักลงกว่าเดิม กำไรสุทธิต่อหุ้นหรือ EPS เหลือเพียง 0.15 ดอลลาร์ สรอ/หุ้น (จาก 3.56 ดอลลาร์/หุ้นในปี 1999) นั่นคือหุ้นฟื้นไข้ฟื้นไม่จริง ไข้กลับทรุดลง ดังนั้นราคาหุ้นจึงร่วงต่อ คราวนี้ละ ค่าพีอีลดลงเรื่อยๆ นี่แหละที่ลุงเคยเตือนว่าระวังหุ้นฟื้นไข้นั้นฟื้นไม่จริง”

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟอีกรูปหนึ่งออกมากาง






“ลุงให้ดูกราฟอีกรูปหนึ่ง เป็นการดูเฉพาะช่วงปี 2004-2013 จะได้เห็นภาพได้ชัดขึ้น กราฟนี้ประกอบด้วยข้อมูล 3 อย่าง นั่นคือ ราคาหุ้น, ค่า eps, และค่าพีอี ลองมาดูกัน

“จากภาพที่แล้วและภาพนี้เราจะเห็นชัดขึ้นว่าแนวโน้มของค่าพีอีลดลงเรื่อยๆมาตั้งแต่ปี 2000 ทั้งนี้ เนื่องจากผลประกอบการที่ย่ำแย่ แม้ในบางปีผลประกอบการของโซนี่จะดีขึ้น แต่เนื่องจากหุ้นโซนี่อยู่ในระยะเสื่อมเสียแล้ว ดังนั้นนักลงทุนจึงกลัว เมื่อไม่กล้าเข้าไปซื้อขาย ค่าพีอีจึงต่ำลงและต่ำลง ท้ายที่สุด ในปี 2009-2013 โซนี่ขาดทุน 4 ปีติดกัน ช่วงนั้นจึงไม่มีค่าพีอี เนื่องจากปีที่ขาดทุนคำนวณค่าพีอีไม่ได้

“ลุงแมวน้ำจึงขอสรุปว่า ในช่วงตลาดขาลง คือกิจการอยู่ในระยะเสื่อม ราคาหุ้นมักอยู่ในคลื่นอีเลียตขาลง A-B-C ค่าพีอีถูกๆสามารถเกิดขึ้นได้ แต่พีอีถูกๆนี้เกิดเนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในตัวหุ้น กลัวว่าปีหน้าผลประกอบการจะร่วงต่ออีก จึงไม่กล้าเข้ามาซื้อขาย ดังนั้นพีอีจึงต่ำลงและต่ำลง”

“แล้วพีอีต่ำแบบนี้ซื้อได้ไหมจ๊ะลุง” ยีราฟถาม

ลิงจ๋อเอาหางรัดคือตัวเองและแลบลิ้น ทำท่าแขวนคอตาย

“อยากแขวนคอตายจริงๆเลยแม่ยีราฟ หุ้นขาลงที่ยังไม่รู้ว่าราคาจะจบลงที่ตรงไหนจะซื้อได้ยังไง ถูกแล้วก็ยังมีถูกกว่านี้อีกรออยู่ข้างหน้า ถูกวันนี้แต่เป็นดอยในวันหน้า เข้าใจไหม” ลิงพูดเสียงดุ

“จ้ะ จ้ะ เข้าใจก็ได้” ยีราฟพูด “แหม ถามแค่นี้ต้องดุด้วย”

“ที่นายจ๋อสรุปมาก็ถูกแล้วล่ะ หุ้นขาลงอาจมีค่าพีอีต่ำๆได้ แต่ควรระวัง เพราะจริงๆแล้วเราก็ไม่รู้ว่าขาลงนั้นจบหรือยัง ถ้ายังไม่จบ ไปรับเข้าก็เจ็บกระเป๋าได้ และนอกจากนี้ เมื่อสักครู่เรายังได้เห็นตัวอย่างของการฟื้นไข้ที่ฟื้นไม่จริงให้เห็นอีกด้วย ใครเข้าก็เจ็บกระเป๋าเช่นกัน ดังนั้นลุงจึงบอกไงว่าเข้าลงทุนเมื่อฟื้นไข้แล้วชัดๆดีกว่า ซึ่งต้องอาศัยเวลารอ และค่าพีอีในช่วงที่ฟื้นไข้แล้วก็อาจไม่ต่ำ แต่เข้าลงทุนช่วงนั้นปลอดภัยสบายใจกว่า” ลุงแมวน้ำสรุป

ลุงแมวน้ำหยุดนิดหนึ่งแล้วพูดต่อ

“แล้วยังมีหุ้นพีอีต่ำอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ควรผลีผลามเข้าลงทุน นั่นคือ หุ้นพีอีต่ำที่กำไรเกิดจากรายการพิเศษ ไม่ได้เกิดจากผลการดำเนินงานตามปกติ”

“หมายความว่ายังไงครับลุง” ลิงถาม

“ที่จริงลุงเคยพูดถึงไปบ้างแล้ว คือหุ้นที่มีค่าพีอีต่ำ บางทีต่ำมากด้วย ซึ่งกำไรสุทธินั้นมาจากกำไรพิเศษ เช่น การขายที่ดิน หรือขายตึก หรือขายสินทรัพย์บางอย่างของบริษัทออกไปแล้วได้กำไรมา กำไรพวกนี้จะมีผลไปฉุดค่าพีอีให้ต่ำลง แต่ว่าไม่ได้สะท้อนถึงความสามารถในการดำเนินกิจการไง บางทีพีอีต่ำเพราะกำไรจากการขายทรัพย์สิน แต่ว่าธุรกิจหลักอาจขาดทุนก็ได้

“กำไรพิเศษพวกนี้มักเกิดเป็นรายการครั้งเดียว เพียงปีใดปีหนึ่ง แล้วก็จบไป เช่น ขายที่ดินได้ก็บันทึกกำไรในปีนั้น แล้วก็จบกันไป ค่าพีอีในปีนั้นอาจต่ำมาก ใครเข้าลงทุนโดยดูจากค่าพีอีโดยไม่ดูที่มาที่ไปประกอบก็อาจเสียใจภายหลังได้” ลุงแมวน้ำพูด

“ฟังดูราวกับว่าหุ้นที่ค่าพีอีต่ำไม่น่าลงทุน ยังงั้นเลยนะจ๊ะลุง” ฮิปโปตั้งข้อสังเกตบ้าง

“มันก็ไม่เชิงหรอก หุ้นพีอีต่ำในกรณีที่ลงทุนได้ก็มีอยู่” ลุงแมวน้ำพูด

ลุงแมวน้ำดึงกระดาษออกมาอีกสองแผ่น จากนั้นกางให้ดูแผ่นหนึ่งก่อน




“เรื่องโซนี่จบไปแล้ว คราวนี้มาดูที่ PSL กันอีก นี่คือภาพเดิมที่เราเคยดูกันไปแล้ว ค่าพีอีของหุ้น PSL จำได้ไหม ตรงที่วงสีน้ำเงินไว้ นายจ๋อถามว่าพีอีขนาดนี้ถูกหรือยัง ลงทุนได้ไหม และลุงตอบว่าแนวโน้มกิจการเป็นขาลง ไม่น่าลงทุน” ลุงแมวน้ำพูด

“จำได้ครับลุง” ลิงตอบ

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟอีกแผ่นหนึ่งออกมากาง




“คราวนี้ลุงอยากให้ดูภาพนี้ ภาพนี้เป็นภาพเดิมนั่นแหละ แต่ว่าลุงนำค่าพีอีมาแสดงให้ดูตลอดช่วงเลย กราฟนี้ซับซ้อนหน่อย ค่อยๆดูกันไป

“เส้นสีเทาคือกำไรสุทธิต่อหุ้น หรือค่า eps ส่วนเส้นสีเขียวคือราคาหุ้น และแท่งสีน้ำตาลคือค่าพีอี ค่าพีอีนี้ลุงทำให้ดูละเอียดเลย คือมีค่าพีอีของหุ้น PSL และในวงเล็บคือค่าพีอีของตลาด เอาไว้ดูเทียบกัน” ลุงแมวน้ำพูด

“ว้าว ว้าว ว้าว” ยีราฟอุทาน “ทำไมค่าพีอีในตอนต้นๆต่ำยังงี้ละลุง ปี 2001 ค่าพีอี 0.55 เท่า เป็นไปได้ยังไง”

“ฟังลุงอธิบายแล้วจะเข้าใจ ต้องเท้าความก่อนว่าในปี 1997 เป็นปีที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ธุรกิจในภูมิภาคนี้ซบเซาไปหลายปี กิจการขนส่งทางเรือก็ซบเซาและขาดทุนติดกันหลายปีทีเดียว รวมทั้งหุ้น PSL นี้ด้วย

“PSL ขาดทุนจนถึงปี 2000 จากนั้นในปี 2001 ก็เริ่มกลับมามีกำไร ช่วงปี 2001-2005 เป็นระยะฟื้นไข้และกลับมาเติบโตของ PSL แต่ราคาหุ้นไม่ได้ไปไหนเลย อาจเป็นด้วยนักลงทุนยังหลอนกับพิษต้มยำกุ้งอยู่ก็ได้ แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่ค่าพีอีต่ำมากแบบเหลือเชื่อ ต่ำกว่าพีอีตลาดด้วย (ค่าพีอีตลาดอยู่ในวงเล็บ) ค่าพีอีต่ำในช่วงฟื้นไข้นี้แหละน่าลงทุน ในตอนนั้นนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นเรือช่วงปี 2000 ได้กำไรกันมากมาย

“แต่นี่แหละ ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน ช่วงฟื้นไข้ของธุรกิจเดินเรือสั้นมาก เพราะปี 2007 ก็เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง นับเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย” ลุงแมวน้ำสรุป

ลุงแมวน้ำหยุดนิดหนึ่ง แล้วจึงพูดต่อ

“ย้อนกลับมาเรื่องโซนี่กันอีกสักนิด ที่ลุงอยากให้พวกเราสังเกตกันอีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ บริษัทโซนี่เป็นกรณีศึกษาที่ดีของวัฏจักรกิจการ นี่แหละคืออนิจจัง ไม่มีใครหลีกเลี่ยงความเสื่อมได้ ไม่ว่าบริษัทจะยิ่งใหญ่และทำธุรกิจมายาวนานเพียงใด สุดท้ายก็หนีไม่พ้นความเสื่อม โดยปัจจัยของความเสื่อมของโซนี่คือค่าเงินเยนแข็ง ทำให้สินค้าขายยาก มีราคาแพง นอกจากนี้ยังถูกสินค้าเกาหลีที่พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาจนแข่งขันได้ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลียังเน้นที่ราคาต่ำกว่า ไม่ต้องใช้ทนทานมากนักก็ได้ เอาราคาประหยัดไว้ก่อน ก็นับว่าถูกใจตลาด จึงแย่งตลาดไปได้

“ข้อคิดอีกประการจากกรณีศึกษาของโซนี่ก็คือ อย่าคิดว่าซื้อหุ้นแล้วจะถือไปตลอดชีวิต แนวคิดนี้ปัจจุบันลุงว่าใช้ไม่ได้แล้วล่ะ เนื่องจากโลกเปลี่ยนไป การแข่งขันสูงขึ้น วัฏจักรของสินค้าและกิจการสั้นลง เนื่องจากใครคิดทำอะไรใหม่ๆจะไร้คู่แข่งได้เพียงเดี๋ยวเดียวเท่านั้น ในเวลาไม่นานจะมีคู่แข่งกระโดดเข้าตลาดตามมามากมาย ดังนั้นการลงทุนในหุ้นต้องหมั่นตรวจสอบหุ้นของเราอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ทั้งโซนี่และ PSL ต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นสองครั้งในเวลาห่างกันไม่นาน คือต้มยำกุ้ง แล้วตามด้วยแฮมเบอร์เกอร์ สะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยเศรษฐกิจโลกในยุคนี้อาจผันผวนมากขึ้น ดังนั้นความสามารถในการแข่งขันของกิจการจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งก็ตอกย้ำแนวคิดที่ว่าการถือหุ้นไปตลอดชีวิตโดยไม่ติดตามถามไถ่เลยไม่น่าจะได้แล้วล่ะ”

Friday, October 17, 2014

หุ้นพีอีต่ำ หุ้นแม่ไก่ไข่ (1)


เครื่องเล่นวิทยุและเทปคาสเซ็ต วอล์กแมน (Walkman) แกดเจ็ตประจำตัวยอดนิยมในหมู่วัยรุ่นแห่งยุค 1980s ตัวเครื่องเหน็บไว้ที่เข็มขัด เสียงดีมาก สินค้าเด่นของโซนี่

สินค้าเด่นอีกชนิดของโซนี่คือทีวีสี ราคาสูงแต่สีสันสดใส แบรนด์ทีวีสีโซนี่เป็นแบรนด์ที่มีความเข้มแข็งมาก รุ่นที่เห็นในภาพนี้เป็นรุ่นกีราราบาสโซ (Kirara Basso) ในยุค 1990s ใช้เทคโนโลยีหลอดภาพซูเปอร์ไตรนิตรอน สีสวย เสียงดีอีกด้วย ยังเป็นหลอดภาพคาโทดอยู่ ตัวหลอดภาพใหญ่และหนักมาก


หมู่นี้บรรดาสมาชิกในคณะละครสัตว์ที่ลงทุนในหุ้นต่างก็มาสรวลเสเฮฮาที่ศาลาในสวนกันเป็นประจำหลังจากเสร็จสิ้นการแสดง ทั้งเป็นการพักผ่อนหลังเลิกงานและยังเป็นการสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ บ้างก็คุยอวดหุ้นที่ตนเองถืออยู่ ลุงแมวน้ำเองก็ชอบมาสังสรรค์ด้วย

“ลุงแมวน้ำ กำลังบ่นถึงลุง ลุงก็มาเชียว” ลิงจ๋อทักทาย

“บ่นถึงลุงอยู่หรือ มีขนมมาฝากหรือไง” ลุงแมวน้ำพูดพลางกระดืบเข้ามาในศาลาชมสวน “โอย แสดงจนเมื่อย มีขนมกินสักหน่อยก็ดี”

“เปล่าครับ ไม่ได้มีขนมมาฝาก” ลิงพูดหน้าตาเฉย “มีเรื่องจะถามต่างหาก”

“โห นี่ลุงพูดขนาดนี้แล้วยังเฉยอยู่อีกหรือ” ลุงแมวน้ำทึ่ง

“ลุงกล้าทวง ผมก็กล้าไม่ให้” ลิงหัวเราะ พลางเอาหางเกี่ยวเอาถุงพลาสติกใบหนึ่งออกมาจากข้างหลัง “ล้อเล่นน่ะลุง นี่ครับ วันนี้มีน้ำปั่นของโปรดของลุงมาฝาก”

“แบบนี้ค่อยยังชั่ว” ลุงแมวน้ำดูดน้ำปั่นชื่นใจ “นายจ๋อจะถามอะไรล่ะ”

ลิงหยิบกราฟแผ่นหนึ่งออกมาให้ลุงแมวน้ำดู





“นี่เป็นกราฟหุ้น PSL ที่วันก่อนลุงเอามาให้มดู ผมยังสงสัยอยู่ ที่ลุงบอกว่าหุ้นในระยะตั้งไข่มักมีค่าพีอีสูง แต่ก็ยังพิจารณาลงทุนได้ แต่ลุงดูในรูปนี้สิ ก่อนหน้านั้น คือในปี 2010, 2011 หุ้น PSL นี้มีค่าพีอีต่ำ แปลว่าช่วงนี้ยิ่งน่าลงทุนเข้าไปใหญ่ใช่ไหม” ลิงถาม

“ดีแล้วที่นายจ๋อถามเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะลุงเองก็อยากย้ำในเรื่องนี้เพื่อความกระจ่างอยู่เหมือนกัน” ลุงแมวน้ำพูด “นั่นคือ ปกติหุ้นที่มีค่าพีอีสูงก็คือหุ้นที่มีราคาแพงนั่นเอง ของแพงมากๆก็ไม่ค่อยน่าลงทุนเท่าไร ยกเว้นกรณีที่เป็นหุ้นฟื้นไข้ เพราะหุ้นพวกนี้เมื่อหายไข้แล้วผลงานก็จะกลับมาโดดเด่นอีก ดังที่ลุงได้อธิบายไปแล้ว แต่ที่อยากย้ำก็คือต้องพิจารณาให้ดีว่าหุ้นที่เราสนใจอยู่ในเป็นหุ้นฟื้นไข้จริงๆ เนื่องจากหุ้นปั่นก็มีค่าพีอีสูงเช่นกัน แต่ไม่ได้มีปัจจัยอะไรมารองรับ

“และนอกจากนี้ แม้ว่าจะพิจารณาแล้วว่าน่าจะเข้าข่ายหุ้นฟื้นไข้ แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการเข้าลงทุนในระยะที่เพิ่งฟื้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ค่าพีอีสูงมาก อาจเป็นหลายร้อยเท่า และนอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะฟื้นไข้ไม่สำเร็จอีกด้วย ควรรอให้ฟื้นได้จริงและเข้าสู่ระยะต้นระยะเติบโตก่อนจะดีกว่า หากมองเป็นคลื่นอีเลียตก็คือรอให้จบคลื่น 2 ไปก่อนและเข้าคลื่น 3 แล้ว เราก็ซื้อที่ต้นคลื่น 3 นั่นเอง” ลุงแมวน้ำร่ายยาว

“เข้าใจแล้วครับลุง” ลิงแกว่งหางไปมาแสดงว่าเข้าใจ


P/E ratio เท่าไรจึงเรียกว่าถูก


“ทีนี้ก็มาถึงคำถามของนายจ๋อ ที่ถามว่าปี 2010, 2011 ในช่วงที่ค่าพีอีต่ำ แปลว่ายิ่งกว่าลงทุนกว่าช่วงปี 2012, 2013 ใช่ไหม คำตอบก็คือไม่ใช่” ลุงแมวน้ำตอบจากนั้นก็นิ่งเงียบไป

“โห ลุงตอบสั้นๆแค่นี้เลยนะ อธิบายหน่อยสิคร้าบ” ลิงหัวเราะ

“เดี๋ยวสิ กำลังเตรียมกราฟอยู่” ลุงแมวน้ำพูด พลางหยิบกระดาษแผ่นหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย

กระต่ายน้อยชอบใจหัวเราะร่า

“หูกระต่ายของลุงแมวน้ำนี่ดีจัง เอาไว้เมื่อไรที่ผมเบื่อหมวกนักมายากล จะมาขออาศัยในหูกระต่ายบ้างดีกว่า”

ลุงแมวน้ำหัวเราะขำกระต่ายน้อย แล้วพูดต่อ

“ก่อนอื่น เราพูดกันในประเด็นพีอีถูก พีอีแพง กันว่าก่อน ว่าพีอีระดับในเรียกว่าถูก เรื่องความถูกแพงนั้นไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่เป็นเรื่องการเปรียบเทียบมากกว่า โดยเราเปรียบเทียบกับพีอีของตลาด และพีอีของอุตสาหกรรม

“แต่ลุงยังไม่ลงรายละเอียดดีกว่า ในชั้นนี้ถือว่าในภาวะที่ตลาดไม่ร้อนแรง พีอีของตลาดหรืออีกนัยหนึ่งคือพีอีของดัชนีเซ็ต มักเทรดกันที่ระดับพีอี 10 เท่าถึง 15 เท่า ดังนั้นหุ้นใดที่ค่าพีอีสูงกว่า 15 ก็เท่าถือว่าเริ่มแพงแล้วล่ะ ถือหลักนี้ไปก่อนก็แล้วกัน

“ทีนี้มาถึงหุ้น PSL ที่นายจ๋อถาม ค่าพีอี 16 เท่า 18 เท่า ในภาวะที่ตลาดไม่ร้อนแรงก็ไม่ถือว่าราคาถูก แต่ลุงอยากบอกว่าหุ้นพีอีสูงอย่าคิดว่าแพงเสมอไป ในทางตรงกันข้าม หุ้นพีอีต่ำก็ใช่ว่าจะถูกเสมอไป ดังนั้นการเลือกหุ้นด้วยค่าพีอี ต้องทำความเข้าใจกับตัวหุ้นและที่มาที่ไปของพีอีด้วยว่าอยู่ในระยะใดของวัฏจักรหุ้น” ลุงแมวน้ำอธิบาย

“แล้วทำยังไงถึงจะเข้าใจล่ะลุง ลุงก็บอกหน่อยสิ” ลิงถามอีก

“ถ้าอย่างนั้นวันนี้เรามารู้จักกับหุ้นแม่ไก่ไข่กัน” ลุงแมวน้ำพูด “วันก่อนเราคุยกันเรื่องหุ้นตั้งไข่ หุ้นฟื้นไข้ วันนี้เป็นหุ้นแม่ไก่ไข่” ลุงแมวน้ำพูด

“ลุงแมวน้ำคุยไปคุยมาก็หนีไม่พ้นเรื่องไข่ไก่” ยีราฟพูดบ้าง “ทำไมลุงไม่พูดเรื่องถั่วฝักยาวบ้างล่ะ”

“หยุดเดี๋ยวนี้เลยแม่ยีราฟ” ลิงรีบพูด “เธออย่าวกเข้าไปที่ไร่ถั่วฝักยาวอีกเชียว ฉันฟังแล้วปวดหัว”

“แหม ฉันเพิ่งพูดนิดเดียวเอง” ยีราฟจ๋อย “ยังไม่พูดก็ได้”

“ยังงั้นลุงพูดเรื่องหุ้นแม่ไก่ไข่ละนะ” ลุงแมวน้ำพูดขัด “หุ้นแม่ไก่ไข่ของลุงยังแบ่งเป็นแม่ไก่สาวและแม่ไก่วัยกลาง”

“ยังมีแบ่งย่อยอีก ชักเริ่มสนุกแล้ว ลุงต้องมีนิทานอีกแน่เลย รีบเล่าเลยฮะลุง” กระต่ายพูดพลางหยิบแครอตออกมากินอย่างอร่อย “ขอผมแทะกินรอตไปด้วยนะฮะ ผมหิวบ่อย”


กรณีศึกษา บริษัทโซนี่ (SONY Corporation, SNE) ความสัมพันธ์ของรายได้และกำไรของกิจการ กับราคาหุ้นและพีอี


“เรื่องที่เราจะคุยกันในวันนี้ก็ยังเกี่ยวกับค่า P/E ratio แต่เป็นการมองค่าพีอีจากมุมที่แตกต่างไปจากที่เราคุยกันในวันก่อน แต่ก็ยังหนีไม่พ้นไปจากเรื่องของโค้งระฆังคว่ำหรือวัฏจักรเศรษฐกิจ วัฏจักรกิจการ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำหรับเรื่องที่เราจะพูดคุยกันต่อไปอีกมาก” ลุงแมวน้ำพูด หยุดนิดหนึ่ง แล้วพูดต่อ “ก่อนที่จะไปคุยเรื่องหุ้นแม่ไก่ไข่สาว และหุ้นแม่ไก่ไข่วัยกลาง ลุงขออารัมภบทด้วยกรณีเรื่องบริษัทโซนี่ก่อน ใครรู้จักบริษัทโซนี่บ้าง”

“สินค้าญี่ปุ่นน่ะลุง เขาไม่นิยมกันแล้วมั้ง เดี๋ยวนี้เขานิยมสินค้าเกาหลีกัน” สิงโตพูดบ้าง

“ใช่แล้ว บริษัทโซนี่เป็นบริษัทญี่ปุ่น เดิมทีผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานมาก ลุงขอเล่าคร่าวๆให้ฟังก่อน วันนี้เราจะโกอินเตอร์ ไปคุยกันเรื่องหุ้นต่างประเทศกันบ้างเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ”

“เดี๋ยวก่อนลุง สงสัยๆ” ลิงถาม “ทำไมไม่ยกตัวอย่างหุ้นไทยล่ะ”

“ก็เพราะว่าลุงต้องการหุ้นที่มีประวัติยาวนานมากๆน่ะสิเพื่อให้เห็นวัฎจักรของธุรกิจได้อย่างชัดเจน หุ้นไทยประวัติยังยาวไม่พอ ลุงจึงต้องใช้หุ้นต่างประเทศ”

ลุงแมวน้ำพูดจบก็ดึงกราฟออกมาจากหูกระต่ายและกางออก


รายได้ของบริษัทโซนี่ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกไปทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 1970 ถึง 2013 เส้นกราฟรายได้แสดงระยะตั้งไข่ เติบโต และอิ่มตัว


“บริษัทโซนี่เป็นบริษัทญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่สองหรือเมื่อประมาณ 60 กว่าปีมาแล้ว ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านเมืองญี่ปุ่นเสียหายยับเยิน ญี่ปุ่นก็เริ่มสร้างชาติขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่งจากซากปรักหักพัง ญี่ปุ่นต้องการเติบโตเร็วจึงเลียนลัดด้วยการลอกแบบสินค้าอเมริกัน แต่ผลิตในราคาที่ถูกกว่า ภาพลักษณ์ของสินค้าญี่ปุ่นในยุค 40-50 ปีก่อนคือเป็นนักก๊อปปี้ สินค้าที่ตีตรา Made in Japan เป็นสินค้ายอดนิยม เพราะเป็นของดีราคาถูก ส่วนสินค้าพวก Made in USA หรือ Made in Germany ถือว่าของดีราคาแพง

“บริษัทโซนี่ก็เกิดมาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ดั้งเดิมก็ผลิตพวกวิทยุทรานซิสเตอร์ ขายในประเทศและส่งออกด้วย ก็ขายดิบขายดี มีกำไร แต่ญี่ปุ่นเป็นชาตินักพัฒนา ไม่ได้ก๊อปอย่างเดียว แต่เป็น C&D คือ copy and development นั่นคือก๊อปไปด้วยพํฒนาไปด้วย สินค้าของญี่ปุ่นจึงมีคุณภาพดี และต่อมาราคาก็แพงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นสินค้าดีมีราคาเพราะนวัตกรรม ส่วนหนึ่งคงเนื่องจากต้องการหนีไต้หวันด้วย เพราะไต้หวันก็ก๊อปปี้สินค้าตะวันตกและผลิตขายในราคาถูกเช่นกัน ทำให้เกิดการแข่งขันและแย่งตลาดกัน

“ในยุค 1970-2000 ถือว่าเป็นยุคทองของบริษัทโซนี่ เพราะมีสินค้าที่โดนใจตลาด สร้างผลกำไรได้มาก อย่างเช่นเครื่องเสียงวอล์คแมน (Walkman) สมัยก่อนวัยรุ่นคนไหนไม่มีวิทยุเทปพกพาที่เรียกว่าวอล์กแมนก็ถือว่าเชย โทรทัศน์สีโซนี่ก็ได้รับความนิยมมากเพราะว่าสีสวยสดใส คุณภาพสีดีกว่ายี่ห้ออื่นๆ สรุปว่าเครื่องเสียงและโทรทัศน์เป็นผลิตภัณฑ์เด่นของโซนี่

“จากทศวรรษที่ 1970s ที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขายดี ในยุคทศวรรศที่ 1980s โซนี่ เป็นยุคที่บริษัทโซนี่เติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยการซื้อกิจการ ช่วงนั้นอเมริกาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ โซนี่ก็เข้าไปซื้อบริษัทหนังโคลัมเบียพิกเจอร์ส (Columbia Pictures) เสียเลย ยุคนั้นอเมริกาย่ำแย่ ต้องขายกิจการให้ต่างชาติเป็นจำนวนมาก และชาติที่ซื้อกิจการในอเมริกาไว้มากก็คือญี่ปุ่น

“ต่อมาในทศวรรษที่ 1990s โซนี่ก็ยังเติบโตต่อเนื่องจากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ พวกเครื่องเสียง โทรทัศน์ กล้องถ่ายภาพและกล้องถ่ายวีดิโอดิจิทัล เครื่องเล่นเกม คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กด้วย พร้อมทั้งกิจการด้านบันเทิงของกลุ่มโซนี่พิจกเจอร์ส (Sony Pictures) ซึ่งก็คือโคลัมเบียเดิม

“เอาละ คราวนี้เราดูที่กราฟกัน นี่เป็นกราฟยอดขาย (revenue) ของโซนี่ตั้งแต่ปี 1970 ที่ลุงบรรยายมา ลองดูกราฟนี้ จะเห็นวัฏจักรของกิจการได้ชัดเจนว่าเป็นทรงโค้งระฆังคว่ำ โดยกิจการเข้าสู่ระยะเติบโตตั้งแต่ปี 1985 โดยประมาณ โดยการควบรวมกิจการหรือการซื้อกิจการเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด รวมทั้งการขยายสายผลิตภัณฑ์ทดแทนผลิตภัณฑ์เดิมที่ล้าสมัย

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟอีกแผ่นหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย


กราฟรายได้ (revenue) และกำไรสุทธิต่อหุ้น (eps) ของโซนี่ตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา 


“เอาละ มาดูอีกภาพหนึ่งกัน กราฟที่แล้วเราดูรายได้ของกิจการ คราวนี้เราดูรายได้ของกิจการ และกำไรของกิจการพร้อมกันไป โดยกำไรของกิจการนี้ลุงใช้ค่ากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS, earning per share) เป็นตัวแทน” ลุงแมวน้ำพูด

“โอ๊ะ ลุง ทำไมปี 1995 ขาดทุนหนักขนาดนั้นล่ะ” ยีราฟยื่นคอยาวเหยียดชะโงกเข้ามาดูกราฟ และถาม

“ปีนั้นพิเศษหน่อย มีค่าตัดจ่ายค่ากู๊ดวิลล์ของกิจการโคลัมเบียที่ซื้อมา คือเป็นการขาดทุนทางบัญชีน่ะ ค่า EPS ปี 1995 ที่ขาดทุนหนัก ลุงขอข้ามรายละเอียดไปก่อน ถือเสียว่าขาดทุนทางบัญชี แต่ธุรกิจหลักรวมๆแล้วยังมีกำไรก็แล้วกัน หากอธิบายละเอียดจะงงหนัก” ลุงแมวน้ำตอบ

ลุงแมวน้ำหยุดนิดหนึ่ง จากนั้นพูดต่อ

“คราวนี้ตั้งใจดูดีๆ ค่อยๆคิดตาม ไม่ต้องใจร้อน เพราะกราฟเริ่มซับซ้อนขึ้น สังเกตว่าเส้นรายได้ (สีน้ำเงิน) เป็นระยะเติบโตจนถึงปี 2008 จากนั้นรายได้เริ่มมีปัญหา คือรายได้ไม่โตแล้ว นั่นคือ รายได้เริ่มเข้าระยะอิ่มตัวในปี 2008

“คราวนี้มีดูเส้นกำไร หรือว่าเส้น EPS สีส้ม จะเห็นว่าในเชิงเส้นกำไร โซนี่มีกำไรเติบโตแบบผันผวน กำไรขึ้นๆลงๆ และมาโตเต็มที่ในปี 1998 หลังจากนั้น แม้รายได้จะโตขึ้นแต่กำไรแย่ลง ถือได้ว่ากำไรเข้าสู่ระยะอิ่มตัวตั้งแต่ปี 1998”

“เดี๋ยวก่อนนะลุง ตกลงว่าระยะต่างๆของวัฎจักรเนี่ย ใช้กับรายได้หรือใช้กับกำไรกันแน่” ลิงจ๋อถาม

“ดีแล้วที่นายจ๋อถาม ลุงอยากให้พวกเราสงสัยประเด็นนี้กัน จึงได้พูดขึ้นมา” ลุงแมวน้ำพูด “ระยะต่างๆของวัฏจักรนั้นขึ้นกับว่าเราจะพิจารณาจากรายได้หรือกำไร รายได้ก็ว่าไปอย่าง กำไรก็ว่าไปอย่าง แต่โดยทั่วไปหากพิจารณาจากเส้นกำไร วัฏจักรมักเข้าสู่ระยะอิ่มตัวในตอนที่เส้นรายได้อยู่ในระยะอืดอาด คือเหลื่อมกันนิดหน่อย เส้นกำไรจะดำเนินไปก่อนเส้นรายได้” ลุงแมวน้ำตอบ

“แล้วดูจากกำไรหรือจากรายได้ อันไหนดีกว่ากันล่ะลุง” ยีราฟถามบ้าง

“ใช้ได้ทั้งคู่นั่นแหละ มีอะไรก็ใช้อย่างนั้น บางทีข้อมูลหายาก มีแต่ข้อมูลรายได้ เราก็พล็อตจากรายได้ บางทีหาได้แต่ข้อมูล EPS เราก็พล็อตจากค่า EPS คือมีอะไรก็ใช้อันนั้นนั่นแหละ แต่เมื่อเรารู้ว่าเส้นกำไรมักล่วงหน้าไปก่อนเส้นรายได้ ดูเส้นไหนเราก็สามารถตีความได้” ลุงแมวน้ำตอบ

“กรณีโซนี่ ลุงตีความยังไงละจ๊ะ” ฮิปโปอยากรู้

“จากกราฟรูปนี้บอกอะไรเราได้หลายอย่าง นั่นคือ

“พิจารณาช่วงตั้งแต่ปี 1998-2008 ก่อน ในช่วงนี้ผลกำไรของโซนี่เริ่มคงตัว ลุงถือว่าเข้าสู่ระยะอิ่มตัวแล้ว ในขณะที่รายได้ยังอยู่ในระยะเติบโตหรือเราจะจัดว่ารายได้อยู่ในระยะเติบโต ลุงแมวน้ำตีความว่าในช่วงนี้กิจการโซนี่มีต้นทุนสูงขึ้นมาก แม้ว่ายังโชคดีที่ยอดขายยังเติบโตอยู่ แต่ว่ารายจ่ายกินไปหมด คงเหลือแค่กำไรที่แค่ทรงตัว

“ส่วนปี 2009-2013 เป็นต้นไป รายได้ของโซนี่ทรงตัว ขยายต่อไปไม่ไหว ขณะเดียวกันรายจ่ายของกิจการก็มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นกิจการจึงเริ่มขาดทุนและขาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ รายได้อยู่ในระยะอิ่มตัว แต่ว่ากำไรเข้าสู่ระยะเสื่อมไปแล้ว”

“เส้นรายได้สวยดี เป็นโค้งระฆังเป๊ะเชียว แต่เส้นกำไร EPS เบี้ยวๆบูดๆ ไม่ค่อยเหมือนระฆังเลยลุง” ลิงทักท้วง

“เส้นสวยๆนั่นคือกราฟในอุดมคติ ลุงจึงได้ยกกรณีศึกษามาให้ดูกันยังไงล่ะ เพราะว่าชีวิตจริงไม่ได้มีอะไรที่เป็นอุดมคติได้ขนาดนั้น ก็เบี้ยวบูดไปบ้าง ก็ต้องพยายามตีความจากสิ่งที่เราเห็น”

ลุงแมวน้ำพูดพลางหยิบกราฟออกมาอีกรูปหนึ่ง


กราฟแสดงรายได้และกำไรสุทธิต่อหุ้นของบริษัทโซนี่ เปรียบเทียบราคาหุ้นและค่าพีอี สังเกตการเปลี่ยนแปลงของกำไรและราคาหุ้น


“คราวนี้ลองมาดูกันว่าผลประกอบการของโซนี่ ทั้งรายได้และกำไรของกิจการ มีผลต่อราคาหุ้นและค่าพีอีอย่างไร ราคาหุ้นกับพีอีนี้เป็นราคาหุ้นกับพีอี ณ เวลาสิ้นปี ไม่ใช่ค่าเฉลี่ยตลอดปี ก่อนปี 1985 ลุงไม่มีข้อมูล หาไม่ได้ ดังนั้นก็ใช้เท่าที่หามาได้ละกัน ลองดูว่าเป็นอย่างไร ลองเอาไปดูและคิดดูก่อนว่าได้อะไรจากกราฟเหล่านี้บ้าง แล้วครั้งหน้าเรามาคุยกันต่อ น้ำปั่นละลายหมดแล้ว ลุงยังไม่ได้กินเลย มัวแต่คุย ขอพักดูดน้ำปั่นก่อน”

Thursday, October 9, 2014

ลุงแมวน้ำคาดการณ์ตลาดหุ้นไทย รถไฟสาย 2100 จากนั้นไปต่อสาย 3500


คาดการณ์ดัชนีตลาดหุ้นไทย จะไปถึง 2100 จุด และ 3500 จุด ตามลำดับ



เมื่อวันสองวันนี้ธนาคารโลกปรับลดจีดีพีในปี 2014 ของประเทศไทยลง จากเดิม 3% เหลือ 1.5% และปรับลดคาดการณ์จีดีพีของปี 2015 ลงด้วยเช่นกัน จาก 4.5% เหลือ 3.5% และปรับลดจีดีพีของอีกหลายประเทศในย่านเอเชียลง เช่น จีดีพีจีนในปี 2015 เดิมคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโต 7.5% ก็ปรับลดลงเหลือเพียง 7.2%

ข่าวนี้ดูจะสร้างความหวั่นไหวกันพอสมควร ประกอบกับช่วงนี้หุ้นตกด้วย นักลงทุนก็ใจคอไม่ค่อยดีกัน

เรื่องการเติบโตของจีนนั้น ระดับ 6% ขึ้นไปนี่ก็เยอะแล้ว จะเป็นเจ็ดจุดเท่าไรก็ตาม ลุงว่าขึ้นกับคุณภาพของการเติบโตด้วย โตเร็วแต่สุขภาพไม่ดีก็ไม่ไหว ดังนั้น เรื่องจีนนั้นเท่าที่ลุงแมวน้ำติดตามนโยบายและทิศทางเศรษฐกิจการเมืองของจีน ลุงมีความเห็นในเชิงบวก คือจีนปรับลดการเติบโตลงเพื่อให้การเติบโตนั้นมีคุณภาพ และลุงแมวน้ำเห็นว่าเป็นการเติบโตที่เอื้อประโยชน์แก่เพื่อนบ้านในภูมิภาคด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศเห็นแก่ประโยชน์ของตนเองเท่านั้น ดังนั้นไม่ควรปลื้มจีนจนขาดความระแวดระวังอันตราย

สำหรับจีดีพีของไทยนั้น ปีสองปีนี้ก็น่าจะตามนั้นแหละ ก็เห็นๆกันอยู่ว่าในบ้านเรามีเรื่องวุ่นๆ แต่อนาคตนั้นอยู่ที่เราจะสร้างขึ้นมา จีดีพีหลังจากนี้อยู่ที่ภาครัฐและภาคเอกชนจะช่วยกันสร้างขึ้นมา ในอีกหลายปีนับจากนี้ ไทยจะมีโอกาสดีๆในหลายๆด้าน มีส้มหล่นลงมาหากรู้จักเก็บมาใช้ประโยชน์ เศรษฐกิจไทยก็ไม่แย่ รวมทั้งเป็นการเติบโตอย่างมีคุณภาพได้ด้วย ดังนั้นที่ผ่านมาก็แก้อะไรไม่ได้แล้ว แต่เราต้องมาช่วยกันสร้างอนาคตของเรา

ธนาคารโลกปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทย ลุงแมวน้ำก็ปรับคาดการณ์ตลาดหุ้นไทยบ้าง ^_^ ที่ลุงแมวน้ำบอกว่ารถไฟสาย 2100 นั้น ยังไม่มีโอกาสได้เล่ารายละเอียดสักที วันนี้เอาคาดการณ์ใหม่มาให้ดูก่อน ธนาคารโลกคาดการณ์ปี 2014-2015 แต่ลุงแมวน้ำมองไปไกลกว่านั้น

ในระดับคลื่นเศรษฐกิจใหญ่หรือ super cycle ไทยน่าจะอยู่ในคลื่น 3 ใหญ่ (สีดำ) เป้าหมายของคลื่น 3 ใหญ่สีดำนี้คือ 3500 จุด ^_^

ส่วนในระดับคลื่นรอง (คลื่นสีน้ำเงิน) เราก็อยู่ในคลื่น 3 เป้าหมายของคลื่น 3 (สีน้ำเงิน) นี้คือ 2100 จุด

รถไฟสาย 2100 นั้นจิ๊บๆ สุดสาย 2100 เดี๋ยวเราไปขึ้นสาย 3500 ต่อไป ลุงคาดว่าไม่เกินปี 2021 น่าจะได้เห็น 3500 ^_^

แมวน้ำโลกสวยเชียวนะ ^_^  ก็ไม่โลกสวยหรอกคร้าบ ลุงบอกแล้วว่าอนาคตนั้นขึ้นกับความทุ่มเทของเราส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็เป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ หรือที่เราเรียกกันง่ายๆว่าฟ้าลิขิตนั่นแหละ เท่าที่ลงดูตอนนี้เรามีโอกาสไปถึงสูงทีเดียว ศักยภาพของเราก็เอื้อพอควร แต่ต้องพยายามอีกหน่อย ส่วนดินฟ้าอากาศ (คือปัจจัยทางเศรษฐกิจภายนอก) ก็พอจะยังเป็นใจอยู่ ยกเว้นเหตุไม่คาดหมายเช่นอุกาบาตถล่มโลก อันนั้นไปไม่ถึงก็จนใจ

ตลาดหุ้นไทยยังน่าลงทุนอยู่ มองไปข้างหน้าให้ไกลสักนิดนะคร้าบ อย่ามองแค่ว่าตลาดพรุ่งนี้จะขึ้นหรือลง จะขายก่อนดีไหม ดอยแล้วจ้า บลา บลา บลา ฯลฯ หากมองสั้นๆเราจะเห็นความผันผวนที่สูง เสียสุขภาพจิตมากมาย นักธุรกิจและนักลงทุนจะทำการใหญ่ล้วนแต่ต้องมองไปข้างหน้าหลายปี ไม่ใช่มองแค่พรุ่งนี้หรือมะรืนนี้ นักลงทุนตลาดหุ้นที่หวังความสำเร็จก็ต้องคิดแบบเถ้าแก่เช่นกันคร้าบ แต่ลุงหมายถึงหุ้นดีๆนะ ^_^

ปล บทความที่ลุงทยอยนำเสนออยู่นี้ แม้จะเป็นแบบ 2-3 ตอนจบ แต่ว่าแต่ละชุดก็เชือมโยงกัน ติดตามอ่านไปเรื่อยๆลุงแมวน้ำจะค่อยๆอธิบายว่าเหตุใดจึงตั้งเป้าดัชนีเช่นนี้

Wednesday, October 8, 2014

หุ้นไม่มีค่าพีอี, หุ้น P/E สูง, หุ้น P/E ต่ำ, หุ้นตั้งไข่, หุ้นฟื้นไข้ (3)





ลุงแมวน้ำหัวเราะ

“เราลองมาดูกรณีศึกษากันดีกว่า เป็นตัวอย่างหุ้นในตลาด ดูตัวอย่างจากของจริงกันเลย”

“ดีจ้ะลุง” ยีราฟตอบ

“ก่อนอื่น ลุงขอบอกว่านี่เป็นกรณีศึกษาเรื่องวัฏจักรของกิจการเท่านั้น ลุงไม่ได้เชียร์ให้ซื้อหุ้น ขอให้เข้าใจตรงกันด้วย” ลุงแมวน้ำพูด



กรณีศึกษาหุ้นฟื้นไข้ PSL (Case Study of Turnaround Stock, PSL)



ลุงแมวน้ำจึงล้วงเอากระดาษออกมาจากหูกระต่ายอีกปึกหนึ่ง และกางออกมาให้ดูทีละแผ่น




“หุ้นที่ลุงนำมาให้ดูกันนี้เป็นกรณีหุ้นฟื้นไข้” ลุงแมวน้ำพูด “นั่นคือหุ้นบริษัทเรือเทกอง PSL

“ก่อนอื่นต้องเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจเสียก่อน ธุรกิจบริการเรือเทกองนั้นเป็นธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มขนส่งทางทะเล ลักษณะการให้บริการคือให้เช่าเรือเพื่อบรรทุกวัตถุดิบขนส่งระหว่างประเทศ ตัวอย่างวัตถุดิบก็เช่น สินค้าเกษตร สินแร่ ถ่านหิน ฯลฯ

“ธรรมชาติของกิจการในอุตสาหกรรมขนส่งทางทะเลนี้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก และเราก็ทราบกันดีว่าเศรษฐกิจโลกมีลักษณะขึ้นลงเป็นวัฎจักร ดังนั้นผลประกอบการของกิจการประเทภนี้จึงมีขึ้นลงอิงกับวัฏจักรเศรษฐกิจของโลก

“เรามาดูผลประกอบการของหุ้น PSL กันก่อน เป็นข้อมูลผลประกอบการย้อนหลังตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2013 โดยเส้นสีฟ้านั้นคือรายได้ (revenue) จากการดำเนินงานในแต่ละปี ซึ่งรายได้ที่มาจากธุรกิจหลัก พวกรายได้พิเศษอื่นๆที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของกิจการไม่ได้ถูกนำมารวมเอาไว้

“อีกเส้นหนึ่งคือเส้นสีเทา เส้นนี้คือกำไรสุทธิ (net income) ในแต่ละปี กำไรสุทธินี้จะเป็นผลจากรายได้ทุกอย่างของกิจการ ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากธุรกิจหลักหรือรายได้พิเศษอื่นใดก็ตาม สังเกตหรือไม่ว่าทั้งสองเส้นนี้เมื่อพล็อตเป็นกราฟแล้วได้รูปทรงคล้ายๆระฆังคว่ำ นี่แหละคือธรรมชาติของธุรกิจที่มีการขึ้นลงเป็นวัฎจักร”

“จริงด้วยสิครับลุง คล้ายระฆังคว่ำ แต่ว่าเบี้ยวๆบูดๆ” ลิงเห็นด้วย

“ก็แน่ละ ชีวิตจริงก็เป็นเช่นนี้เอง มันไม่ได้สวยงามเหมือนดังในอุดมคติ” ลุงแมวน้ำพูด หยุดเล็กน้อย จากนั้นจึงกางกระดาษออกแผ่นหนึ่ง




“เอาละ มาดูกันต่อ จากภาพเมื่อครู่ คราวนี้ลุงกำกับระยะต่างๆของวัฏจักรให้พวกเราดูกันด้วย ดูที่เส้นสีฟ้าหรือเส้นรายได้” ลุงแมวน้ำอธิบาย “เห็นไหมว่าในช่วงปี 2000, 2001, 2002 เป็นช่วงที่รายได้ของกิจการตกต่ำมาก ช่วงนี้คือระยะเสื่อมถอย (decline phase) นั่นเอง

“พอมาในปี 2003 กิจการก็เริ่มฟื้นไข้ (turnaround) และปี 2004, 2005 กิจการก็เข้าสู่ระยะเติบโต (growth phase)

“วัฏจักรขนส่งทางทะเลในรอบนี้มีระยะเติบโตที่สั้นมาก คือ 2 ปีเท่านั้น รวมทั้งมีระยะอิ่มตัว (maturity) ที่สั้นมากด้วย คือในปี 2005 นั้นเองวัฏจักรก็อิ่มตัว จากนั้นพอปี 2006 เป็นต้นไป กิจการก็เข้าสู่ระยะเสื่อม (decline phase) อีก และระยะเสื่อมนี้กินเวลานานหลายปี คือเสื่อมไปจนถึงปี 2011

“จากนั้นในปี 2012, 2013 รายได้ของกิจการก็เริ่มฟื้นตัว และเข้าสู่ระยะฟื้นไข้อีกรอบหนึ่ง หากพิจารณาตามวัฎจักร คาดว่าในรอบวัฎจักรนี้กิจการน่าจะเข้าสู่ระยะเติบโตในปี 2014 เป็นต้นไป”

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟอีกแผ่นหนึ่งออกมากาง




“เอาละ ทีนี้มาดูภาพนี้กันบ้าง ภาพนี้ซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม นั่นคือ ลุงนำราคาหุ้นและค่าพีอี ณ สิ้นปีของปีต่างๆมาให้ดูเปรียบเทียบกับกราฟผลการดำเนินงานอีกด้วย

“ในกราฟรูปนี้ เส้นสีเขียวคือราคาหุ้น PSL ให้สังเกตว่าเส้นกราฟรายได้ (สีส้ม) กำไรสุทธิ (สีเทา) และราคาหุ้น (สีเขียว) มีลีลาการเดินของเส้นกราฟคล้ายๆกัน นี่สะท้อนให้เห็นว่าราคาหุ้นอิงกับผลประกอบการนั่นเอง และก็แปลว่าปัจจัยพื้นฐานของกิจการสัมพันธ์กับราคาหุ้นด้วย

“ในรูปยังมีกราฟแท่งสีส้มอีกด้วย แท่งสีส้มนั้นคือค่าสัดส่วนพีอี (P/E ratio) ณ สิ้นปีของหุ้น PSL นั่นเอง นายจ๋อสังเกตเห็นอะไรไหม”

“สังเกตอะไรล่ะลุง กราฟมีหลายเส้นหลายสี ผมมองจนตาลายแล้ว” ลิงบ่น

“อ้าว อย่าเพิ่งตาลายสิ ดูภาพนี้กันก่อน ดูภาพนี้แล้วจะเข้าใจง่ายขึ้น” ลุงแมวน้ำพูดพลางหยิบกราฟออกมาอีกแผ่นหนึ่ง




“ดูที่ลุงวงกลมเอาไว้ ให้สังเกตว่ารายได้ของกิจการถึงจุดต่ำสุดในปี 2011 จากนั้นปี 2012 และ 2013 รายได้ก็เริ่มกระเตื้องขึ้น นั่นคือเข้าสู่ระยะฟื้นไข้ ให้สังเกตว่าค่าพีอีในปี 2012 นั้นสูงถึง 73.72 เท่า

“ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่ากิจการมีกำไรน้อยมากนั่นเอง ในปี 2012 นั้นราคาหุ้นยังร่วงอยู่ คือรายได้ของกิจการเริ่มฟื้นตัว แต่ราคาหุ้นยังลงอยู่ เนื่องจากนักลงทุนยังไม่กล้าเข้าซื้อเพราะไม่มั่นใจว่าฟื้นจริงหรือไม่

“ต่อมาในปี 2013 รายได้ดีขึ้นอีก คราวนี้ราคาหุ้นเริ่มเข้าสู่ขาขึ้น นักลงทุนเริ่มเข้าซื้อหุ้นกัน ขณะเดียวกันค่าพีอีเริ่มลดต่ำลง คือพีอี  ปลายปี 2013 อยู่ที่ 54.3 เท่า แม้ว่าจะยังสูงอยู่แต่ก็ต่ำกว่าปีก่อนหน้า

“นี่แหละ หุ้นฟื้นไข้หรือหุ้นเทิร์นอะราวด์ก็มีรูปแบบทำนองนี้ คือในระยะฟื้นไข้ หุ้นอาจไม่มีค่าพีอีเนื่องจากผลประกอบการขาดทุนสุทธิแต่ว่าการขาดทุนเริ่มลดลง หรือว่าหุ้นค่าพีอีอาจสูงเว่อ อาจเป็นหลายร้อยเท่าก็ได้เพราะว่ามีกำไรนิดเดียว ต่อมาก็จะค่อยๆลดลงเนื่องจากกิจการเข้าสู่ระยะเติบโตและมีผลประกอบการดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนกิจการที่เป็นระยะตั้งไข่ก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากหุ้นตั้งไข่และหุ้นฟื้นไข้ก็คือความหมายเดียวกันนั่นเอง”

“ถ้าอย่างนั้นการเข้าซื้อหุ้นควรเข้าตอนไหนละจ๊ะลุง ลุงก็ยังไม่ตอบสักที” ยีราฟบ่น

“ในระยะฟื้นไข้นั้นเป็นระยะที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากหากกิจการไม่ฟื้นจากไข้จริงๆ แต่กลับทรุดลงไปอีก การลงทุนก็เสียหาย ดังนั้นหุ้นในระยะฟื้นไข้ที่ยังขาดทุนอยู่ คือไม่มีค่าพีอี หรือพีอีสูงมากแล้ว เช่น หลายร้อยเท่าก็ควรหลีกเลี่ยง ควรรอให้กิจการเข้าสู่ต้นระยะเติบโตจะปลอดภัยขึ้น แม้ว่าตอนนั้นราคาหุ้นคงขึ้นมาพอสมควรแล้วก็ตาม แต่ความเสี่ยงก็ลดลง

“ทีนี้สมมติว่าเราพบหุ้นในระยะฟื้นไข้ แต่มีพีอีไม่สูงนัก สมมติเช่นพีอี 20 ถึง 50 เท่า พวกนี้น่าสนใจ คือเป็นหุ้นฟื้นไข้ที่โลกลืม นักลงทุนอาจไม่ทันสังเกตเห็น จึงยังไม่เข้ามาลงทุนกัน” ลุงแมวน้ำตอบ

“ถ้าอย่างนั้นเราจะรู้ได้ยังไงละจ๊ะลุงว่าเมื่อไรที่หุ้นเข้าสู่ระยะเติบโตแล้ว” ยีราฟถามอีก

“ใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคก็ได้ คือหุ้นอยู่ที่ต้นคลื่น 3 นั่นเอง” ลุงแมวน้ำตอบ “นี่ไงที่ลุงบอกว่าการใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคร่วมกับปัจจัยพื้นฐานช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนได้ ทำให้จับจังหวะการลงทุนได้ดีขึ้น แต่การบูรณาการของสองสายก็เป็นเรื่องที่ซับซ้อนขึ้น ดังนั้น ผู้ที่เริ่มต้นศึกษา ควรจับแนวทางเพียงสายใดสายหนึ่งก่อน เมื่อมีประสบการณ์มากพอจึงค่อยศึกษาในขั้นบูรณาการ” ลุงแมวน้ำตอบ

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟออกมาอีกแผ่นหนึ่ง และพูดว่า





“ลองดูนี่ นี่เป็นตัวอย่างการนับคลื่นของหุ้น PSL ที่จริงการนับคลื่นนั้นนับได้หลายแบบ เนื่องจากค่อนข้างเป็นจิตวิสัย คือแต่ละคนอาจนับไม่เหมือนกันเนื่องจากมีมุมมองที่แตกต่างกัน ลุงลองนับแบบนี้มาให้ดูเป็นตัวอย่าง”

“จ้ะ จ้ะ พอเข้าใจแล้ว” ยีราฟพูด “เอ้อ ตกลงว่าหุ้นไร่ถั่วฝักยาวพีอีสูงขนาดนั้นซื้อได้ไหมจ๊ะลุง”

“โธ่เอ๊ย” ลิงจ๋อส่ายหัว “กลับมาถามเรื่องนี้อีกแล้ว ฉันละกลุ้มจริงๆ”

Sunday, October 5, 2014

เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ ชมงานแสดงดอกไม้ งานศิลปะสี่มิติ





ช่วงปลายปีของทุกปีจะมีงานแสดงดอกไม้ที่โรงแรมสวิสโฮเตลนายเลิศปาร์ค จัดเป็นประจำทุกปี ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 28 แล้ว ปีนี้จัดในช่วงวันที่ 2-5 ตุลาคม 2014 ตั้งแต่เวลา 10 น. -20 น. คือสิบโมงเช้าถึงสองทุ่ม และเช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำในวันนี้ลุงจะพาไปชมงานแสดงดอกไม้นี้กัน

โรงแรมสวิสโฮเตลนายเลิศปาร์คนี้บางคนก็เรียกว่าสวิสโฮเตลปาร์คนายเลิศ เดิมชื่อโรงแรมฮิลตัน ณ ปาร์คนายเลิศ แต่ต่อมาเปลี่ยนเครือจึงเปลี่ยนชื่อไป ลุงแมวน้ำก็หลงๆลืมๆ บางทีก็เผลอเรียกชื่อเดิม โรงแรมนี้อยู่ที่ปลายถนนวิทยุ ใกล้กับด้านถนนเพชรบุรีตัดใหม่ การเดินทางก็ไม่ยาก จะนั่งเรือคลองแสนแสบมาก็ได้ ขึ้นจากเรือที่ท่าวิทยุ เดินอีกนิดเดียวก็ถึง ใกล้มาก เพราะว่าท่าเรืออยู่หลังโรงแรมนั่นเอง หรือหากจะมารถไฟฟ้า รถประจำทาง ก็มาลงที่เพลินจิตแล้วเดินเข้ามาในถนนวิทยุ เดินสัก 5 นาทีก็ถึง

ตอนที่ลุงมาก็คิดว่าจะมาลงรถเมล์ที่หน้าโรงแรม ปรากฏว่าหน้าโรมแรมไม่มีป้าย รถพาเลยเข้าไปในถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เดินย้อนกลับจนลิ้นห้อย รู้ยังงี้ลุงก็ลงรถไฟฟ้าที่เพลินจิตแล้วเดินกระดืบมาก็สิ้นเรื่อง นี่แหละ รู้อะไรก็ไม่สู้รู้ยังงี้ >.<

ลุงจะเล่าเรื่องด้วยภาพ ภาพมาก่อน คำบรรยายตามหลัง เชิญไปชมงานแสดงดอกไม้กันได้เลย ^_^




ตอนนี้ลุงแมวน้ำก็มายืนที่หน้าโรงแรมแล้ว 10 โมงพอดี แดดร้อนเปรี้ยงแล้ว เดินเข้าโรงแรมดีกว่า




ที่นี่เป็นโรงแรมที่มีต้นไม้มาก อีกทั้งเป็นไม้ใหญ่ที่มีอายุหลายสิบปี บรรยากาศสงบ ร่มรื่น น่าอยู่มาก



ทางเข้าลอบบี้ของโรงแรมมีรถสามล้อบุปผชาติเป็นสัญลักษณ์ตั้งอยู๋ ถ้าเห็นรถคันนี้ละก็ไม่ผิดที่แน่



เอ้า ซื้อตั๋ว รายได้บำรุงการกุศล มอบให้มูลนิธิคนพิการไทย และกองทุนฟันเทียมพระราชทาน



เดินเข้ามาในลอบบี้จะพบตัวตลกมาเล่นโชว์ความสามารถ คนหลังนี่ถ้าเห็นไปอยู่ตามท้องนาตอนกลางคืน ลุงเห็นเข้าคงต้องวิ่งหน้าตั้งแน่ >.<

งานแสดงดอกไม้นี้มีจุดแสดง 3 จุดใหญ่ คือที่ลอบบี้ ห้องด้านซ้ายของลอบบี้ (ทางซ้ายมือเมื่อเดินเข้าไปในลอบบี้) และห้องด้านขวา

ด้านหลังของตัวตลกเป็นผลงานแสดงของสวนนงนุช ธีมเป็นสวนเมืองร้อน ในห้องลอบบี้นี้มีผลงานแสดงเพียงรายเดียว




แวะชมสวนเมืองร้อนกันหน่อย สวนนี้ใช้พื้นที่เยอะหน่อย จัดให้ต้นไม้แน่นๆตามประสาป่าเมืองร้อน

เมื่อเข้ามาในลอบบี้จจะเริ่มได้กลิ่นหอมของดอกไม้โชยมาเป็นกลิ่นอ่อนๆ จากนั้นลุงแมวน้ำก็เดินไปทางซ้าย สู่ห้องแสดงหลัก




ภาพมุมกว้างของห้องแสดงหลัก งานแสดงนี้เป็นการโชว์การจัดไม้ดอกและไม้ใบเป็นธีมหรือว่าเป็นเรื่องราวต่างๆ ผู้ที่ส่งผลงานมาร่วมแสดงมีทั้งบุคคลและหน่วยงาน

เมื่อเข้ามาในห้องนี้ กลิ่นหอมของดอกไม้ตลบอบอวล ส่วนใหญ่เป็นกลิ่นของกล้วยไม้ผสมกับกลิ่นของกุหลาบ บรรยากาศราวกับเดินในอุทยานไม้ดอก



นี่เป็นผลงานของคุณศักดิ์ชัย กาย นำฝักบัวมาตกแต่งเป็นงานศิลปะ เห็นฝักบัวเหล่านี้ทำให้ลุงแมวน้ำจินตนาการไปถึงบรรยากาศในชนบทสมัยก่อน ชาวบ้านทำนาบัวกัน ก็พายเรือออกไปเก็บฝักบัวและสายบัว เด็กๆชาวบ้านก็จะนำฝักบัวมาแกะเอาเนื้อข้างในมากิน รสชาติหวานมัน ฝักบัวแบบนี้เมื่อก่อนยังพอมีให้เห็นวางขายในกรุงเทพฯ แต่เดี๋ยวนี้ลุงไม่เห็นเลย ต้องไปตามต่างจังหวัดจึงจะเห็นวางขาย

แค่เห็นงานชิ้นแรกจินตนาการก็ไปโลดแล้ว ^_^



ชิ้นนี้เป็นสวนกระต่ายน้อย ส่วนใหญ่เป็นไม้ใบ ตัวกระต่ายน่าจะเป็นไลเคน พูดถึงไลเคน (lichen) เป็นสิ่งมีชีวิตที่มหัศจรรย์ เพราะไลเคนเป็นการอาศัยอยู่ร่วมกันของสาหร่ายและเห็ดรา รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย แยกกันไม่ได้ ไลเคนนี้เป็นสิ่งมีชีวิตโบราณมาก ในยุคที่โลกนี้มีแต่หิน ไม่มีดิน ก็ได้ไลเคนนี่แหละที่กัดเซาะหินจนป่นร่วนทำให้มีพืนอื่นๆขึ้นได้ ไลเคนจึงเป็นสิ่งมีชีวิตต้นกระบวนการกำเนิดป่านั่นเอง ตัวอย่างของไลเคนก็ได้แก่ฝอยลม ชาวจีนนำไลเคนมาใช้เป็นสมุนไพรด้วย




และมาถึงผลงานที่ลุงแมวน้ำชอบมาก ไม่เห็นเขียนชื่อธีมเอาไว้ แต่ลุงตั้งชื่อเอาเองว่า ธารกุหลาบ เพราะเป็นธีมที่แสดงถึงกุหลาบที่ไหลพรูออกมาจากแจกันจนเป็นสายธาร และมีมวลหมู่ภมรมาเกาะเพื่อลิ้มชิมน้ำหวานจากกุหลาบ เมื่อเดินเข้ามาใกล้ผลงานชิ้นนี้จะได้กลิ่นกุหลาบเข้มข้นขึ้น



มองดูธารกุหลาบในระยะใกล้ ผลงานแสดงเหล่านี้ไม่ใช่แค่การจัดดอกไม้ แต่ลุงว่าเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่ง การอ่านหนังสือก็เห็นแค่สองมิติ ดูภาพเขียนก็เห็นแค่สองมิติ ดูงานประติมากรรมก็เห็นสามมิติ แต่ดูผลงานจัดดอกไม้เป็นงานศิลปะสี่มิติ นอกจากมิติกว้าง ยาว ลึก แล้ว ยังมีมิติของกลิ่นหอมอีกด้วย ^_^




สวนววรรค์ เมื่อเดินเข้ามาใกล้งานชิ้นนี้จะได้กลิ่นกล้วยไม้หอมอบอวล ส่วนกลิ่นกุหลาบก็เบาบางลงไป นี่ลุงก็ตั้งชื่อเอาเองว่าสวนสวรรค์ เพราะทำให้ลุงนึกถึงดินแดนแชงกริลา (Shangri-La) ดินแดนเร้นลับที่เป็นอุทยานสวรรค์ ผู้คนไม่แก่เฒ่า มีชีวิตที่สงบและมีความสุข จิตนาการกระเจิงไปโน่นเลย ^_^



ดูการจัดดอกไม้ของสวนสวรรค์ในระยะใกล้ ทั้งงดงามและกลิ่นหอมกรุ่นจนลุงไม่อยากเดินไปไหน อยากนอนพักแถวนี้สักงีบ



ทันใดนั้นเอง ลุงแมวน้ำก็ได้ยินเสียงดัง แชะ-วื้ด ดังลั่น คือเสียงดังแชะ จากนั้นก็มีเสียงดังวื้ดตามมา ลุงก็สงสัยว่าอะไร เพราะว่าเสียงนี้คุ้นๆอยู่ แต่ว่าไม่ได้ยินมานานแล้ว เงี่ยหูฟังสักครู่ก็ได้ยินเสียงแชะ-วื้ดนี้อีก

ด้วยความสงสัยลุงจึงมองไปรอบๆหาต้นเสียง แถวนั้นก็ไม่มีใคร นอกจากลุงแมวน้ำกับคุณป้าสองคน (คุณป้านะ ไม่ใช่มนุษย์ป้า) กำลังผลัดกันถ่ายรูปอยู่

แชะ-วื้ด

เมื่อลุงรู้ที่มาของเสียงถึงกับอึ้งไปสามวิ เพราะเสียงนั้นมาจากกล้องของคุณป้าทั้งสองนั่นเอง เพื่อความแน่ใจลุงจึงเฉียดไปใกล้ๆแบบเนียนๆ ปรากฏว่าจริงๆด้วย กล้องที่คุณป้าใช้นั้นเป็นกล้องฟิล์ม โอ พระเจ้าจ๊อด >.<

เสียงแชะคือเสียงชัตเตอร์ลั่น ส่วนสียงวื้ดคือเสียงฟิล์มเดิน ไม่นึกเลยว่าในยุคนี้ยังมีฟิล์มขายอยู่ กล้องแบบนี้ลุงก็มี แต่เก็บเข้าตู้ไปนานแล้วเนื่องจากคิดว่ายุคนี้ไม่มีฟิล์มขายแล้ว คุณป้าสองคนนี้ก็วัยเดียวกับลุงนั่นแหละ อยากเข้าไปคุยด้วยจริงๆ เพราะมีความรู้สึกคล้ายๆกับเจอเพื่อนเก่าที่ไม่ได้พบกันนาน ก็แปลกที่ทำไมรู้สึกแบบนั้น แต่คงเกี่ยวกับกล้องฟิล์มนั่นแหละ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เข้าไปคุยหรอก




นี่เป็นธีมร่มบ่อสร้าง เชียงใหม่ ร่มถูกประดับประดาด้วยมวลดอกไม้



นี่ของเซ็นทรัล ลุงว่าเขาเข้าใจทำนะ ถ่ายทอดความเป็นเซ็นทรัลได้ส่วนหนึ่ง นั่นคือ แบรนด์ท็อปซูเปอร์มาร์เก็ตนั่นเอง เพราะเห็นแล้วนึกถึงผักผลไม้ในท็อป ได้คะแนนสื่อสารการตลาดไปเลย



นี่ของกันตนา เล่นแสงสีกับดอกไม้



นี่เป็นธีมไผ่ของนิสิตและคณาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่องไผ่กำลังดังในหมู่การเกษตรก็จับกระแสมาทำเป็นงานศิลปะ







เหล่านี้ลุงจำไม่ได้ว่าของใครบ้าง ชุดนาคาไหลออกมาจากโอ่งก็แปลกตาดี ทำให้นึกถึงโอ่งลายมังกรราชบุรีในสมัยก่อน เดี๋ยวนี้โอ่งลายมังกรทำใหม่คงไม่มีแล้วมั้ง น่าจะทำเป็นลายอื่นไปแล้ว



หลังจากนั้นก็เดิมข้ามลอบบี้มายังห้องอีกฟากหนึ่ง หนึ่งนี้มีผลงานไม่กี่ชิ้น ส่วนส่วนใหญ่อยู่ในห้องหลัก



กุหลาบและกล้วยไม้ของโครงการหลวง หอมมาก



นี่อะไรเนี่ย ถ้ำบุปชาติมั้ง ^_^



นี่เป็นผลงานจัดโต๊ะอาหาร ในต่างประเทศนั้นการจัดโต๊ะอาหารเป็นศิลปะแขนงหนึ่งเลยทีเดียว การจัดโต๊ะอาหารลุงก็ชอบดู นี่เป็นการจัดด้วยดอกไม้แบบไทย เน้นกล้วยไม้กับบานไม่รู้โรย และใบตองประดิษฐ์




นอกจากการแสดงดอกไม้แล้วยังมีงานออกร้าน มีร้านค้ามาออกหลายสิบร้าน ดูเหมือนจะห้าสิบหกสิบร้านทีเดียว มีทั้งของกิน ของใช้ เครื่องประดับสวยๆ ขนม ผักผลไม้ ฯลฯ ใครที่ชอบซื้อของละก็คงเพลินเช่นกัน และตอนบ่ายๆยังมีดารามาจัดรายการบนเวทีอีกด้วยคร้าบ