Monday, February 20, 2012

17/02/2012 * กรีซระทึก รอเงินกู้รอบใหม่ต่อลมหายใจ

ค่าเงินวันนี้ 20/02/2012 (รายงานวันเทรดที่ 17/02/2012)


วันนี้ลุงแมวน้ำมารายงานสายอีกแล้ว มัวแต่ทำโน่นทำนี่ อากาศยามเช้าวันนี้สบายจริงๆเลย มีลมเย็นๆด้วย หลังจากที่ร้อนอบอ้าวมาหลายวัน ลุงแมวน้ำจึงทำขนมปังโฮลวีตเอาไว้กินเองเสียหน่อย แต่พอสายๆก็ร้อยตับแลบอีก

เมื่อวันที่ 17 ตลาดหุ้นฝั่งเอเชียแปซิฟิกปิดเขียวกันทั้งแผง หลังจากที่วันก่อนหน้าแดงกันยกแผง Set index ปิดที่ 1129.93 (+0.86%) ต่างชาติซื้อสุทธิประมาณ 5909 ล้านบาท

ตลาดหุ้นฝั่งยุโรปปิดคละกันทั้งเขียวและแดง แต่ส่วนใหญ่ปิดเขียว ดัชนีตลาดหุ้นกรีซปิด +5.0% ส่วนฝั่งอเมริกานั้นปิดเขียวเช่นกัน ดัชนี DAX ของเยอรมนี +1.42% ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ DJI ของสหรัฐอเมริกา +0.36% ส่วน

วันที่ 17 เงินดอลลาร์ สรอ อ่อนแกว่งตัวในกรอบแคบ ดัชนีดอลลาร์ สรอ อยู่ในกรอบ 79.1 จุดถึง 79.5 จุด เงินยูโร +0.2% ฟรังก์สวิส +0.1% โครน +0.4% โครนาทรงตัว

ทางด้านเงินสกุลเอเชียแปซิฟิกมีทั้งอ่อนค่าและแข็งค่า ดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่า -0.3% เงินเยน -0.7% เงินดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่า +0.2% เงินบาททรงตัว

เที่ยงนี้ (20/02/2012) ดัชนีดอลลาร์ สรอ (USD index) อยู่ที่ 79.08 จุด ยูโร 1.321 ดอลลาร์ สรอ/ยูโร เงินบาท 30.75 บาท/ดอลลาร์ สรอ

น้ำมันดิบ wti เช้านี้อยู่ที่ 105.0 ดอลลาร์ สรอ/บาเรล น้ำมันดิบเบรนต์ 121.1 ดอลลาร์ สรอ/บาเรล ราคาทองคำ 1735 ดอลลาร์ สรอ/ทรอยออนซ์ ส่วนดัชนีสินค้าเกษตร 78.03 จุด

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้น ตลาดที่ขึ้นแรงได้แก่ตลาดญี่ปุ่นที่ตลอดทั้งสัปดาห์ขึ้นไปราว +5% นอกจากนั้นก็มี บราซิล ตุรกี สวีเดน ฟินแลนด์ ฮ่องกง ที่ขึ้นในระดับ +3% กว่าๆ ตลาดสำคัญไม่มีตลาดใดลงแรง ที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบสัปดาห์คือตลาดหุ้นสเปน -1.6%

ทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนในรอบสัปดาห์ สัปดาห์นี้เงินตราส่วนใหญ่อ่อนค่า ที่อ่อนค่ามากก็คือเงินเยน -2.55%


แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนของเงินตราสกุลสำคัญ



กรีซระทึก รอเงินกู้รอบใหม่ต่อลมหายใจ


วันก่อนลุงแมวน้ำติดค้างเอาไว้ บอกว่าเมื่อมีโอกาสจะเล่าเรื่องกรีซให้ละเอียดยิ่งขึ้น อันที่จริงลุงแมวน้ำไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกรีซ เป็นผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงลูกบอลบนปลายจมูกมากกว่า ^_^ แต่ก็ติดตามข่าวสารอยู่บ้าง ก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังเผื่อผู้ที่ไม่ค่อยมีเวลาติดตามจะได้พอเข้าใจว่าเรื่องกรีซนั้นคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว



ภาพแสดงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลกรีซอายุ 10 ปีจะห็นว่าปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรกรีซสูงที่สุดในโลก คือ 34.38% หมายความว่าพันธบัตรนี้นักลงทุนไม่มีใครอยากได้ ต้องให้ดอกเบี้ยสูงจึงจะจูงใจนักลงทุนได้ และก็แปลความได้ว่ารัฐบาลมีต้นทุนในการกู้ยืมที่สูงมาก หากต้นทุนการกู้ยืมสูงขนาดนี้สุดท้ายก็ไม่มีทางจ่ายคืนได้อยู่ดี




ผลจากการมาตรการรัดเข็มขัด ตัด ลด หลายๆอย่าง ทำให้ประชาชนรับไม่ได้ การก่อหวอดประท้วงและใช้ความรุนแรงมีให้เห็นทั่วไปในกรีซ



แม้ว่าบ้านเมืองจะวุ่นวาย แต่ในตลาดหุ้นกลับเป็นตรงกันข้าม ดัชนีหุ้นของกรีซขึ้นเอาๆในช่วงนี้เพราะเล่นกับข่าวเงินกู้งวดใหม่ นี่เองที่ลุงแมวน้ำบอกว่าตลาดหุ้นไม่ได้สะท้อนสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจในปัจจุบันเสียทีเดียวนัก แต่สะท้อนภาพอนาคต ความคาดหวัง และการเก็งกำไรผสมผสานเอาไว้ด้วย 




ในด้านการลงทุน เรื่องหนี้ของกรีซและหนี้ของยุโรปเป็นข่าวที่นำมาเล่นกันได้ตลอด ขณะนี้ลมหายใจของตลาดหุ้นทั่วโลกขึ้นอยู่กับข่าวจากทางฝั่งยุโรป รวมทั้งดัชนีตลาดหุ้นที่สะท้อนจิตวิทยาของนักลงทุนก็ขึ้นลงไปตามกระแสข่าว ความสำคัญของกรีซก็คือกรีซถือเป็นโดมิโนตัวแรกของวิกฤตหนี้ยุโรป ขณะนี้กรีซอยู่ในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ โดยหนี้ที่ว่าหนี้คือหนี้ของภาครัฐหรือหนี้สาธารณะ หากปล่อยให้โดมิโนตัวแรกล้มลงได้มีหวังได้พังกันทั้งหมด

ทางออกที่สมาชิกในกลุ่มที่ใช้เงินยูโร (Eurozone) 17 ประเทศเห็นพ้องกันก็คือต้องพยายามอัดฉีดเงินให้แก่กรีซเพื่อช่วยด้านกระแสเงินสด กระแสเงินสดเป็นเรื่องที่สำคัญมากไม่ว่าในการบริหารการเงินส่วนบุคคล การบริหารธุรกิจ หรือการบริหารประเทศ ซึ่งกรีซมีความจำเป็นต้องใช้เงินสดเพื่อการชำระหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่กำลังทยอยครบอายุ ดังนั้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็คือการอัดฉีดเงินเพื่อให้กรีซมีเงินใช้จ่ายไปพลางๆก่อน โดยการอัดฉีดเงินนั้นต้องมีเจ้าภาพเพราะไม่ว่าใครก็ไม่อยากเข้าไปช่วยเนื่องจากกรีซเป็นเหมือนเผือกร้อน ใครเข้าไปอุ้มก็ลวกมือ ดังนั้นจึงต้องมีการตกลงกำหนดตัวกัน ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าภาพอุ้มกรีซในขณะนี้ก็คือสหภาพยุโรปที่มีเยอรมนีและฝรั่งเศสเป็นพี่ใหญ่ร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) นั่นเอง

เจ้าภาพงานอุ้มกรีซนี้มีหน้าที่ที่ต้องดำเนินการหลายอย่าง เช่น การระดมเงินเข้ากองทุนเพื่อช่วยกรีซ การพิจารณาแผนความช่วยเหลือทางการเงิน รวมทั้งการกำกับดูแลลูกหนี้หรือกรีซ ผลก็คือกรีซต้องคอยรับเงินกู้เป็นงวดๆ และต้องถูกติดตามและประเมินความประพฤติเป็นระยะเพื่อใช้ในการพิจารณาปล่อยกู้ในงวดถัดไป

การอัดฉีดสภาพคล่องให้แก่กรีซมีมาหลายงวดแล้ว แต่ใกล้ถึงวาระปล่อยกู้งวดใหม่ ตลาดหุ้นทั่วโลกก็หวั่นไหวกันเสียทีหนึ่งว่ากรีซจะได้รับเงินกู้งวดใหม่หรือไม่ กลุ่มเจ้าภาพก็ต้องข้อเรียกร้องนั่น โน่น นี่ ตามแต่จะเห็นควร ส่วนกรีซก็ทำบ้าง ไม่ทำบ้าง ต่อรองบ้าง เป็นเช่นนี้อยู่เสมอ

และครั้งล่าสุดนี้ เมื่อราวเดือนพฤศจิกายน 2011 นายกรัฐมนตรีของกรีซที่ครองอำนาจอย่างยาวนานต้องใช้ตำแหน่งนายกฯของตนเองแลกกับเงินกู้งวดใหม่เพื่อมาต่อลมหายใจของกรีซ พูดง่ายๆก็คือกลุ่มเจ้าภาพคือสหภาพยุโรปและไอเอมเอฟต้องการให้นายกจอร์เก ปาปันเดรอู (George Papandreou) แห่งพรรคสังคมนิยม (Pasok) ของกรีซลาออกเพื่อเปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่เพื่อมาปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และหลังจากนั้นจะจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นใหม่

หลังจากที่ปาปันเดรอูลาออก ผู้ที่มาเป็นนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพในเดือนพฤศจิกายน 2011 ก็คือ ลูคัส ปาปาเดมอส (Lucas Papademos) โดยปาปาเดมอสนี้มีมาดเป็นนักวิชาการและเป็นมือเศรษฐกิจมากกว่าเป็นนักการเมือง ในอดีตเคยเป็นรองประธานธนาคารกลางแห่งยุโรป (ECB) และตำแหน่งล่าสุดคือเป็นที่ปรึกษาแก่ปาปันเดรอูนั่นเอง

หลังจากที่ปาปาเดมอสเข้ารับตำแหน่งก็ลงมือปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้วยการ ออกกฎหมายต่างๆ การที่ปาปาเดมอสมีภาพของนักวิชาการนักเศรษฐศาสตร์ทำให้ฝ่ายการเมืองยอมรับได้มากพอสมควร ประกอบกับแรงบีบของเจ้าภาพเงินกู้คือสหภาพยุโรปและไอเอมเอฟทำให้สภาของกรีซสามารถผ่านกฎหมายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไปได้หลายฉบับ ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นฉบับตามใจเจ้าภาพหรือฉบับคุณขอมาก็ได้ เพราะหากไม่จัดให้ตามนั้นประเทศก็จะขาดกระแสเงินสดหรือเงินชอร์ตนั่นเอง ถ้าเป็นธุรกิจทั่วไป หากเงินชอร์ตก็มักตามมาด้วยเช็คเด้ง กรณีกรีซก็เช่นกัน เมื่อเงินสะดุด พันธบัตรรัฐบาลก็ต้องเด้งคือขึ้นเงินไม่ได้

สรุปสถานการณ์ในปัจจุบัน ขณะนี้แนวทางในการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของกรีซก็คือ

  • ลดค่าจ้างขั้นต่ำลงมาประมาณ 22%
  • ลดการจ้างงานภาครัฐลง 15,000 ตำแหน่งในสามปี
  • ตัดค่าใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มเติมอีกปีละ 3,300 ล้านยูโร (เดิมก็ตัดไปแล้ว นี่ตัดเพิ่มอีก) ส่วนใหญ่เป็นการตัดสวิสดิการสังคมเพิ่มเติม
  • เจรจาลดหนี้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน หรือที่เรียกค่าแฮร์คัต (haircut) นั่นเอง

เรื่องแฮร์คัตนี่ก็คุยกันมากับกลุ่มเจ้าหนี้หลายรอบ รอบแรกๆดูเหมือนจะขอลดราวๆ 50% คือหนี้ 100 ขอจ่ายแค่ราวๆ 50

เจ้าหนี้ได้ยินตัวเลข 50 ก็ทำท่าจะคุยกันยาก เพราะผู้ถือพันธบัตรเสียหายมาก ต่อมาสถานการณ์ของกรีซเกิดแย่ลง กรีซเลยเจรจารอบใหม่ว่าตัวเลข 50 นั้นจ่ายไม่ไหวแล้วเพราะสถานการณ์เปลี่ยน คราวนี้กรีซคุยใหม่ว่าตอนนี้จ่ายไหวแค่ 30 ของหนี้เท่านั้นนะ จะเอาไหม คราวนี้เจ้าหนี้ยอมตกลง เพราะเกรงว่าหากทอดเวลาไปอีกเจ้าหนี้อาจไม่ได้อะไรเลย ขณะนี้จึงตกลงทันที่จ่ายประมาณ 30% ของหนี้จริง

ในวันที่ 20 มีนาคมที่จะถึงนี้ กรีซมีหนี้พันธบัตรที่จะต้องชำระอีก ซึ่งกรีซจำเป็นต้องได้เงินกู้งวดถัดไปจึงจะมีเงินพอจ่ายได้ แต่ขณะนี้ทางเจ้าภาพยังไม่ยอมอนุมัติเงินกู้งวดถัดไปเพราะต้องการเงื่อนไขเพิ่มเติมอีก เรื่องของเรื่องก็คือกลุ่มเจ้าภาพกลัวว่าหลังจากที่กรีซมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ใครจะมาเป็นนายกก็ยังไม่รู้ หากรัฐบาลใหม่เกิดเบี้ยวข้อตกลงต่างๆขึ้นมาจะทำอย่างไร ดังนั้นทางฝ่ายเจ้าภาพจึงกำหนดว่าต้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคทำลายลักษณ์อักษรไว้ว่าไม่ว่าพรรคใดเป็นรัฐบาลก็จะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจไปตามแนวทางนี้ ซึ่งขณะนี้ทางฝ่ายการเมืองของกรีซตกลงกันได้แล้วและยอมตามข้อเรียกร้อง ทางฝ่ายเจ้าภาพคือสหภาพยุโรปและไอเอมเอฟก็กำลังจะประชุมกันในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ว่าจะอนุมัติเงินกู้งวดใหม่ให้หรือไม่ หากผลคือไม่อนุมัติเงินกู้ก็เตรียมอลเวงกันได้ เพราะนั่นแปลว่ากรีซจะต้องเบี้ยวหนี้พันธบัตรที่จะครบอายุในเดือนมีนาคมนี้

นี่คือความเป็นมาและเป็นไปของยุโรปในช่วงนี้ ลุงแมวน้ำเขียนแบบง่ายๆ ไม่อ้างตัวเลขอะไรมาก เพราะสาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวเลข (ลุงแมวน้ำก็จำไม่ได้ด้วยแหละ ^_^) และหากมีอะไรเพิ่มเติมก็จะนำมาเล่าให้ฟังกันอีก



รายงานข้อมูลหุ้น กองทุน ฟิวเจอร์ส และดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก

No comments: