Monday, July 25, 2011

22/07/2011 * Currencies, DX, EC, CL, GC, DJI, ลัทธิเปรอนและบทเพลง ไม่ต้องร่ำไห้เพื่อฉัน อาร์เจนตินา (3)

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1,121.04 จุด เพิ่มขึ้น 16.89 จุด ต่างชาติซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องพร้อมกับปริมาณซื้อขายมากกว่าสามหมื่นล้านบาทต่อวันมาหลายวันแล้ว

หุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณซื้อ THAI ขณะนี้โปรแกรมถือหุ้นอยู่รวมทั้งสิ้น 45 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส ฟิวเจอร์สของ PTT เกิดสัญญาณซื้อ ขณะที่กองทุนรวมอีทีเอฟ DBO ของสหรัฐอเมริกาที่ลงทุนในน้ำมันดิบเกิดสัญญาณซื้อ

ตลาดต่างประเทศ วันนี้ตลาดเอเชีย ยุโรป และอเมริกาปิดคละกันทั้งเขียวและแดง ดัชนีตลาดที่ขึ้นแรง ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์ของประเทศกรีซ อิตาลี และฮ่องกง ที่ลงแรงได้แก่ตลาดหลักทรัพย์ของตุรกี ตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีปริมาณซื้อขายเบาบาง

วันนี้ดัชนีตลาดหุ้นของรัสเซีย (RTSI) เกิดสัญญาณซื้อ ดัชนีในระดับโลกทั้ง Dow Jones Global Index และ MSCI AC World Index เกิดสัญญาณซื้อ

ดัชนีภาคธุรกิจ ดัชนีสาธารณูปโภคทั่วโลก (Global Utilities Index, W1UTI) และดัชนีอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก (Global Real Estate Index, WGRESI) กลับมาเกิดสัญญาณซื้อ รวมทั้งดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มปิโตรเลียม (Petroleum Index, DJUBSPE) ก็เกิดสัญญาณซื้อ


สรุปค่าเงินในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์อ่อนค่า เงินยูโรปอ่อนค่าแล้วค่อยๆดีขึ้น ส่วนเงินในเอเชีย เช่น เงินเยน ดอลลาร์สิงคโปร์ และบาท แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ดังภาพต่อไปนี้



หากพิจารณาทางเทคนิคจะเห็นว่าค่าดัชนีดอลลาร์ สรอ (US dollar index, DX) ที่เป็นตัวแทนของค่าเงินดอลลาร์นั้นทะลุปลายสามเหลี่ยมชายธงลงมาด้านล่าง ประกอบกับมีแท่งเทียนดำใหญ่ (big black candle) อันเป็นสัญญาณกลับทิศเป็นขาลง ดังภาพต่อไปนี้


แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ดูน่าเป็นห่วง อันเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาของนักลงทุนที่ตอบสนองต่อความอึมครึมที่กฎหมายขยายเพดานหนี้ของสหรัฐอเมริกาไม่ผ่านสภาเสียที หากประเมินในทางเทคนิคคงต้องบอกว่าโอกาสที่ดอลลาร์จะอ่อนค่าต่อไปมีสูง


ทางด้านค่าเงินยูโร แม้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินยูโรจะค่อยๆแข็งค่าขึ้น แต่ในทางเทคนิคแล้วยังไม่เกิดสัญญาณกลับทิศเป็นขาขึ้น ดังนั้นอย่าเพิ่งมั่นใจว่าเงินยูโรกลับเป็นขาขึ้นแล้ว ดังภาพต่อไปนี้



เมื่อเงินดอลลาร์อ่อน ราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวสูงขึ้น ก่อให้เกิดรูปแบบท้องคลื่นยกสูง (rising trough) อันเป็นสัญญาณกลับทิศเป็นขาขึ้นประการหนึ่ง แต่ก็ยังมีน้ำหนักน้อย ดังภาพต่อไปนี้ ต้องรอสัญญาณกลับทิศอีกหลายๆประการจึงจะมั่นใจได้มากขึ้นว่าราคาน้ำมันดิบกลับทิศเป็นขาขึ้นแล้ว



ทองคำ (GC) ขณะนี้แนวโน้มเป็นขาขึ้นอยู่ ดังภาพต่อไปนี้



ดัชนีดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Index, DJI) ตามเทคนิคระยะสั้นถือว่ายังอยู่ในภาวะไร้ทิศทาง แต่ว่ากำลังพยายามก่อตัวเป็นแนวโน้มขาขึ้นอยู่ ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน ต้องรอดูต่อไป ดังภาพต่อไปนี้




ลัทธิเปรอนและบทเพลง ไม่ต้องร่ำไห้เพื่อฉัน อาร์เจนตินา (3)

ในราวกลางปี 1944 ทางราชการประกาศให้บรรดานักร้องและนักแสดงต้องรวมตัวกันเป็นสหภาพ ดั้งนั้นสหภาพนักร้องและนักแสดงจึงก่อกำเนิดขึ้นโดยประธานคนแรกของสหภาพนี้คือเอวา เอดูอาร์เตนั่นเอง เป็นที่น่าสังเกตว่าฐานะคู่ชีวิตอย่างไม่เป็นทางการของเปรอนน่าจะมีส่วนสนับสนุนให้เธอได้รับเลือกในตำแหน่งนี้

หลังจากที่เอวาได้รับตำแหน่งประธานสหภาพ เอวาก็ได้ผลิตละครวิทยุขึ้นมารายการหนึ่ง มีชื่อว่า สู่อนาคตที่ดีกว่า โดยมีเค้าโครงเรื่องมาจากผลงานของเปรอนที่ได้รับความนิยมจากประชาชน พร้อมกับถ่ายทอดแนวคิดและคำพูดของเปรอนผ่านทางละครวิทยุนี้

หลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว มีการประท้วงหยุดงานของสหภาพแรงงานต่างๆอีกหลายต่อหลายครั้ง เปรอนได้เข้าเจรจาไกล่เกลี่ยโดยมักไกล่เกลี่ยไปในทางเอื้อประโยชน์แก่ลูกจ้าง และมักจบลงด้วยการปรับค่าแรงให้แก่ลูกจ้างรวมทั้งปรับปรุงสวัสดิการต่างๆที่ฝ่ายลูกจ้างเรียกร้องมา หากมองดูจากผลงานที่ออกมาก็กล่าวได้ว่าสามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานระหว่างสหภาพแรงงานต่างๆกับนายจ้างได้อย่างน่าพอใจ และมีการทยอยปรับปรุงค่าจ้างแรงงานรวมทั้งปรับปรุงด้านสวัสดิการสังคมแก่ผู้ใช้แรงงานอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาพลักษณ์วีรบุรุษที่ถูกตอกย้ำผ่านละครวิทยุอย่างต่อเนื่อง เปรอนจึงกลายเป็นวีรบุรุษและขวัญใจของประชาชนชาวอาร์เจนตินาโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้แรงงานอย่างรวดเร็ว แต่หากมองจากมุมของฝ่ายนายจ้างหรือนายทุนแล้วเปรอนอาจไม่ใช่ขวัญใจของคนกลุ่มนี้ เนื่องจากรู้สึกว่าตนเสียประโยชน์เพราะการเพิ่มค่าแรงและสวัสดิการทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและได้ผลกำไรน้อยลง

ในปีเดียวกันนั้น (ค.ศ. 1944) คณะผู้ก่อการรัฐประหารไม่พอใจประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่คณะทหารเป็นผู้เลือกและแต่งตั้งขึ้นมาเอง จึงทำการปลดและแต่งตั้งประธานาธิบดีคนใหม่พร้อมทั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ในครั้งนี้เปรอนได้เป็นถึงรองประธานาธิบดีควบตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม

ทางด้านสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง แม้ว่าประเทศใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้อย่างเช่นบราซิลประกาศเลือกอยู่ข้างสัมพันธมิตรตั้งแต่ในปี 1942 แล้วก็ตาม แต่สำหรับอาร์เจนตินานั้นรัฐบาลทหารประกาศวางตัวเป็นกลาง รออยู่จนถึงต้นปี 1945 เมื่ออาร์เจนตินาเห็นท่าว่าฝ่ายอักษะคงต้องเป็นฝ่ายที่พ่ายแพ้ในครามโลกแน่แล้วจึงเลือกเข้ากับฝ่ายสัมพันธมิตรและประกาศสงครามกับฝ่ายอักษะ แต่ก็ไม่ได้ส่งทหารเข้าร่วมรบแต่อย่างใด




สภาพเมืองแฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ที่เสียหายยับเยินอันเป็นผลจากสงครามโลกครั้งที่สอง ภาพนี้ถ่ายในปี ค.ศ. 1944



ในช่วงระยะเวลาสองปี ตั้งแต่ปี 1943 ถึง 1945 ที่เปรอนมีตำแหน่งในรัฐบาล เปรอนได้สร้างผลงานไว้มากมาย มีการปรับปรุงค่าจ้างแรงงานแก่คนงานในกลุ่มต่างๆ รวมทั้งมีการปรับปรุงกฎระเบียบหรือออกกฎระเบียบเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานและสวัสดิการของคนงานให้ดีขึ้น เช่น การจำกัดชั่วโมงการทำงาน การมีวันหยุดโดยได้รับเงินตามปกติ การให้ผลประโยชน์ยามเกษียณ การจ่ายโบนัสปีใหม่ การคุ้มครองการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม การคุ้มครองแรงงานผู้ฝึกงานรวมถึงคนรับใช้ตามบ้าน เปรอนยังออกกฎหมายจัดตั้งสหภาพแรงงานภาคเกษตรกรรมขึ้น นับเป็นครั้งแรกที่คนงานในภาคเกษตรกรรมซึ่งถือเป็นแรงงานประเภทชายขอบที่ทั้งรัฐและนายจ้างไม่เคยใส่ใจได้รับการยอมรับและมีที่ยืนในทางกฎหมาย อีกทั้งยังมีการจัดตั้งสหภาพของแรงงานวิชาชีพในสาขาใหม่ๆที่ยังไม่เคยจัดตั้งมาก่อน ริเริ่มการใช้กลไกคณะกรรมการร่วมระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเพื่อการเจรจาต่อรองด้านอัตราค่าจ้างและการทำงาน นอกจากนี้แล้วเปรอนยังออกกฎระเบียบอื่นๆที่เอื้อแก่คนยากคนจน เช่น การตรึงอัตราค่าเช่าที่ทำกิน รวมทั้งการคุ้มครองผู้เช่าไม่ให้ถูกขับไล่ออกจากที่เช่าได้โดยง่าย ฯลฯ

- - - - - - - - - - - -

“ว้าว” ลิงจ๋ออุทาน “เปรอนเป็นทั้งพระเอกในจอและนอกจอ เท่จริงๆเลย”

“พระเอกในจอที่ไหน ลุงแมวน้ำบอกว่าพระเอกในละครวิทยุต่างหาก ไม่ใช่ในละครโทรทัศน์เสียหน่อย” ปลาทองน้อยพูดขัดคอออกมาจากในโหล

“ฮึ ก็นั่นแหละ คล้ายๆกัน” ลิงแก้ตัวน้ำขุ่นๆ “ชอบขัดคอนัก ระวังจะกลายเป็นซูชิไม่รู้ตัวนะ”

ปลาทองน้อยสะบัดครีบหาง กระโดดขึ้นมาเหนือน้ำ พร้อมกับพ่นน้ำใส่หน้าลิงจ๋อจนลิงร้องโอ๊ย

“นี่แน่ะๆ ซูชิ ปลาทองน้อยแสนน่ารัก ใครจะกินได้ลงคอ” ปลาทองน้อยพูด

“เอ้าๆ อย่าเพิ่งตีกัน ฟังนิทานอยู่ดีๆจะตีกันเสียแล้ว” ลุงแมวน้ำรีบห้ามปรามทั้งคู่ จากนั้นก็เล่าต่อ “อย่าเห็นว่าเป็นแค่ละครวิทยุเชียว เพราะว่าละครเรื่องนี้โดนใจประชาชนมาก”

“ทำไมยังงั้นละฮะ” ปลาทองน้อยถาม

“ถ้าเราฟังแบบนี้เราก็อาจคิดว่าแค่ละครวิทยุ จะมีอิทธิพลอะไรนักหนา แต่ถ้าเราเข้าใจบริบทของสังคมอาร์เจนตินาในยุคนั้นแล้วละก็เราจะนึกภาพไปอีกแบบ ละครเรื่องนี้ถือได้ว่าช่วยเติมไฟแห่งความหวังให้แก่ชาวอาร์เจนตินาเลยเชียวแหละ

“ดังที่ลุงได้เล่าไปแล้วว่าอาร์เจนตินาได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่หรือว่า Great Depression มาตั้งแต่ปี 1930 แล้ว รายได้จากการส่งออกหดหาย สินค้าที่ต้องนำเข้าก็ขาดแคลน ต่อมาเศรษฐกิจโลกก็ต้องมาสะดุดเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1939 อีก ในตอนนั้นโลกแบ่งออกเป็นสองค่ายหรือว่าสองกลุ่มประเทศที่เป็นคู่สงครามกัน เริ่มต้นด้วยเยอรมนีรุกรานโปแลนด์ก่อน จากนั้นฝรั่งเศสก็ช่วยโปแลนด์ ต่อมาอังกฤษก็ช่วยฝรั่งเศส และอิตาลีก็ช่วยเยอรมนี พูดง่ายๆก็คือกรณีรุกรานโปแลนด์ทำให้แต่ละประเทศออกมาถือหางข้างพวกของตน และขยายวงกลายเป็นสงครามโลกไปในที่สุด”

“แล้วสงครามโลกเกี่ยวกับอาร์เจนตินายังไงฮะ อาร์เจนตินาอยู่ไกลจากยุโรปมากเลย ไม่น่าจะมาเกี่ยวข้องกัน” ปลาทองน้อยสงสัย

“จำที่ลุงบอกได้ไหมว่าเศรษฐกิจอาร์เจนตินาเติบโตดีจึงทำให้ชาวยุโรปโดยเฉพาะยุโรปตอนใต้เข้าไปลงทุนและทำงานในอาร์เจนตินากันมาก ส่วนหนึ่งของพวกยุโรปใต้ก็คือชาวอิตาลีนั่นเอง ตั้งแต่ในยุคก่อน ค.ศ. 1930 ก็มีชาวยุโรปเข้าไปอยู่ในอาร์เจนตินาเป็นจำนวนมากแล้ว โดยเฉพาะชาวอิตาลีนี่มีสัดส่วนมากที่สุดในบรรดาชาวต่างชาติทั้งหมด และอิตาลีนี่เองที่เป็นแหล่งกำเนิดของมุสโสลินีและลัทธิเผด็จการฟาสซิสต์ โดยในยุคนั้นลัทธิฟาสซิสต์กำลังได้รับความนิยม”

“แล้วยังไง” ลิงยังงงอยู่

“ก็คืออาร์เจนตินาในยุคนั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับประเทศอิตาลีอยู่ทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านการเมืองนั่นเอง” ลุงแมวน้ำตอบ

“สัมพันธ์กันทางด้านการเมืองด้วยเหรอ” ลิงถามต่ออีก

“แน่นอน” ลุงแมวน้ำตอบ “เพราะชาวอิตาลีที่เข้าไปอยู่ในอาร์เจนตินาก็นำแนวความคิดแบบฟาสซิสต์เข้าไปเผยแพร่ด้วย คนเราเมื่ออยู่ด้วยกันและทำงานด้วยกันก็อดไม่ได้ที่จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ดังนั้นชาวอาร์เจนตินาบางส่วนจึงได้ซึมซับเอาแนวคิดแบบฟาสซิตส์ของชาวอิตาลีเข้าไว้ และลุงจะบอกให้ว่าเปรอนเองนั้นก็น่าจะเป็นแฟนคลับของมุสโสลินีผู้เป็นต้นตำรับลัทธิฟาสซิสต์ด้วยเหมือนกัน”

“ยังงั้นเลยเหรอ” ลิงถามอีก

“ก็ใช่น่ะสิ ในราวปี ค.ศ. 1938 ถึง 1942 นั้นเปรอนถูกส่งไปยุโรปด้วยภารกิจทางทหาร ประเทศที่ไปมีทั้งฝรั่งเศส สเปน เยอรมนี ฮังการี อัลเบเนีย ยูโกสลาเวีย โดยอยู่ที่อิตาลีนานปีกว่าๆ ช่วงนั้นเปรอนคงได้เห็นและเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นในยุโรป ได้สัมผัสกับการเมืองการปกครองหลายแบบ ทั้งแบบเสรีนิยมของอังกฤษ เผด็จการนาซีของฮิตเลอร์แห่งเยอรมนี เผด็จการชาตินิยมแบบฟาสซิตส์ของมุสโสลินีแห่งอิตาลี และคอมมิวนิสต์แบบโซเวียตในฮังการี การที่เปรอนได้อยู่ที่อิตาลีนานพอสมควรคงได้ซึมซับแนวความคิดของมุสโสลินีเอาไว้มากทีเดียว” ลุงแมวน้ำตอบ

ลุงแมวน้ำหยุดคิดนิดหนึ่งแล้วพูดต่อไป

“ไม่ใช่แต่ลัทธิฟาสซิสต์เท่านั้นที่ถูกเผยแพร่เข้าไปในอาร์เจนตินา แม้แต่ลัทธิคอมมิวนิสต์ก็แพร่เข้าไปด้วยเช่นกัน มีกลุ่มคนงานหัวรุนแรงเอียงซ้ายอยู่ในสังคมแรงงานอาร์เจนตินาไม่น้อย พวกนี้มักปลุกระดมและปลูกฝังแนวคิดฝ่ายซ้ายในหมู่ผู้ใช้แรงงาน

“ส่วนทางด้านเศรษฐกิจ ต้องเข้าใจบริบทในสังคมโลกยุคนั้นเสียก่อนว่าศูนย์กลางความเจริญของโลกในยุคนั้นยังอยู่ที่ยุโรป เน้นที่อังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส ไม่ใช่ที่สหรัฐอเมริกา ทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการผลิตในยุโรปก้าวหน้าไปมาก อย่าลืมว่าเมื่อมีอุตสาหกรรมการผลิตก็ต้องมีแรงงาน เมื่ออุตสาหกรรมการผลิตก้าวหน้าการจัดการแรงงานก็ต้องดีตามไปด้วย ไม่อย่างนั้นการผลิตก็จะไม่ได้ผลเต็มที่ ดังนั้นในเรื่องการจัดการแรงงานของยุโรปในยุคนั้นจึงเรียกได้ว่าดีเลยทีเดียว รวมทั้งเรื่องสวัสดิการของรัฐก็ก้าวหน้ามาก โดยเฉพาะในเยอรมนีและอังกฤษ ในช่วงนั้นมีการจัดการเรียนแบบให้เปล่าหรือว่าเรียนฟรีถึงระดับมัธยมแล้ว อีกทั้งยังมีระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ มีการจ่ายเงินบำนาญ เงินช่วยเหลือผู้ตกงาน เงินช่วยเหลือแม่ที่คลอดบุตร ฯลฯ คาดว่าการไปยุโรปของเปรอนในช่วงนั้นคงทำให้ได้เปิดหูเปิดตามากมาย แล้วก็นำมาปรับใช้ในอาร์เจนตินาบ้าง”

“สวัสดิการของรัฐมีตั้งแต่ในยุคนั้นแล้วเหรอลุง” ลิงชักสนใจ

“ที่จริงเรื่องระบบสวัสดิการนั้นมีมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 แล้วด้วยซ้ำ ตอนต้นศตวรรษที่ 20 ก็พัฒนามาเรื่อยๆ จนมาถึงระดับที่เรียกว่าสมบูรณ์มากก็ในราวช่วง ค.ศ. 1940 เป็นต้นมา ซึ่งก็คือช่วงที่เปรอนอยู่ในยุโรปนั่นเอง แต่ลุงตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือการที่ประเทศอุตสาหกรรมในยุโรปพัฒนาการจัดระบบสวัสดิการของรัฐจนก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นั้นส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากความหวาดกลัวต่อภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ เพราะหากรัฐปล่อยให้ประชาชนเกิดช่องว่างระหว่างคนมั่งมีกับคนยากจนมากจนเกินไปก็เกรงจะเป็นเงื่อนไขของคอมมิวนิสต์ได้ จึงต้องพยายามพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการขึ้นมา”

“แล้วลุงแมวน้ำรู้ได้ไงว่าเปรอนสนับสนุนแนวคิดทางการเมืองของมุสโสลินี” ลิงไม่เชื่อ “เดาเอาหรือไง”

“ปัญหามากจริงนายจ๋อนี่” ลุงแมวน้ำชักเริ่มอิดหนาระอาใจ “ก็คำพูดและการกระทำของเปรอนหลังจากที่กลับจากยุโรปมาแล้วเป็นตัวบ่งบอกน่ะสิ ฟังต่อไปเดี๋ยวจะรู้เอง”

“จ้ะๆ” ลิงทำเสียงประจบเอาใจ “เชิญลุงแมวน้ำเทศน์ เอ๊ย พูดต่อเถอะ แหม แกล้งขัดคอนิดๆหน่อยๆทำบ่นไปได้”

“ทีนี้มาพูดถึงเรื่องสงครามโลกครั้งที่สอง” ลุงแมวน้ำพูดต่อ “ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง พวกที่รบกันแม้จะมีอยู่หลายประเทศแต่ก็แบ่งเป็นสองพวกหรือสองฝ่ายเท่านั้น อิตาลีกับญี่ปุ่นเข้าร่วมกับเยอรมนีของฮิตเลอร์ เรียกว่าเป็นฝ่ายอักษะ (Axis power) ฝ่ายที่อยู่ตรงกับฝ่ายอักษะก็คือฝ่ายสัมพันธมิตร (Allies of World War II) โดยขาใหญ่ในกลุ่มสัมพันธมิตรนี้ก็คืออังกฤษ โซเวียต และสหรัฐอเมริกา”



เปรอนในกรุงบัวโนสไอเรส ถ่ายในปี ค.ศ.1945



“เมื่ออาร์เจนตินากับอิตาลีเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจและแนวคิดทางการเมือง ดังนั้นเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้น จุดยืนของอาร์เจนตินาจึงเป็นพวกอักษะอยู่กลายๆ แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มประเทศที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของอาร์เจนตินากลับเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แม้ว่าต่อมารัฐบาลทหารของกลุ่มเปรอนประกาศจุดยืนเป็นกลางไม่เข้ากับฝ่ายใดของอาร์เจนตินา แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่เชื่อ ทูตของสหรัฐอเมริกาในอาร์เจนตินายุคนั้นก็ลงความเห็นว่ารัฐบาลทหารของอาร์เจนตินาเป็นพวกฟาสซิสต์และเชื่อว่าอาร์เจนตินาสนับสนุนฝ่ายอักษะ ดังนั้นฝ่ายสัมพันธมิตรจึงใช้การกดดันทางเศรษฐกิจเพื่อบีบให้อาร์เจนตินาประกาศสงครามกับฝ่ายอักษะ เช่น การไม่สั่งสินค้าจากอาร์เจนตินา เป็นต้น

“เมื่อเป็นเช่นนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เศรษฐกิจของอาร์เจนตินาก็ยิ่งแย่ลงและแย่ลงเนื่องจากสินค้าเกษตรขายไม่ออก ชาวอาร์เจนตินาอยู่ในสภาพทั้งลำบากและขาดแคลน ดังนั้นวลีที่ว่า สู่อนาคตที่ดีกว่า พร้อมทั้งภาพลักษณ์วีรบุรุษในละครกับเปรอนตัวเป็นๆที่มีผลงานเป็นรูปธรรมที่สามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานและคนยากคนจนได้จริงๆ จึงมีความหมายต่อผู้ที่ด้อยฐานะทางเศรษฐกิจในอาร์เจนตินามาก เพราะนี่คือเปลวเทียนแห่งความหวังที่อาจขยายออกไปเป็นกองไฟกองใหญ่เลยทีเดียว”

“อือม์” ลิงจ๋อทำหน้าเคลิ้ม “ชักอินแล้วล่ะ เป็นยังงี้นี่เอง ไม่ชวนลุงคุยแล้ว รีบเล่านิทานต่อเลยลุง”

(โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป ตอนหน้าจะเป็นตอนที่เปรอนได้เป็นประธานาธิบดีและปรับปรุงระบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ มีการปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 ภายในเวลาสองปี)




No comments: