Tuesday, July 19, 2011

18/07/2011 * Baht, ลัทธิเปรอนและบทเพลง ไม่ต้องร่ำไห้เพื่อฉัน อาร์เจนตินา (2)

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 1,083.84 จุด เพิ่มขึ้น 4.03 จุด

หุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณซื้อ BTS และขาย IVL ขณะนี้โปรแกรมถือหุ้นอยู่รวมทั้งสิ้น 40 ตัวเท่าเดิม

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ฟิวเจอร์สของก๊าซธรรมชาติ (NG) เกิดสัญญาณซื้อ ส่วนฟิวเจอร์สของดัชนีดาวโจนส์ (DJ) และดัชนี S&P 500 (SP) เกิดสัญญาณขาย

ตลาดต่างประเทศโดยรวมยังคงอึมครึม วันนี้ตลาดฝั่งเอเชียส่วนใหญ่ปิดแดง มีปิดขียวแซมมาบ้างเท่านั้น ส่วนตลาดยุโรปและอเมริกาแดงกระจาย แต่ไม่มีตลาดใดที่ขึ้นแรงหรือลงแรงเป็นพิเศษ

วันนี้ดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศเกิดสัญญาณขายพร้อมกันหลายประเทศ ได้แก่ ตลาดหุ้นเมกซิโก อังกฤษ แอฟริกาใต้ และรัสเซีย

ทางด้านดัชนีในระดับภูมิภาค วันนี้ Dow Jone Global Index และ MSCI AC World ซึ่งเป็นดัชนีระดับโลกเกิดสัญญาณขายในวันเดียวกัน ดัชนีตลาดกลุ่มพัฒนาแล้ว (W3DOW) ก็เกิดสัญญาณขาย

ทางด้านดัชนีภาคธุรกิจที่ดูภาพรวมของธุรกิจภาคส่วนต่างๆในระดับโลก วันนี้เกิดสัญญาณขายในหลายภาคธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มบริการ กลุ่มสุขภาพ กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มสาธารณูปโภค กลุ่มสินค้าจำเป็น สินค้าฟุ่มเฟือย และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์

ภาพรวมของตลาดหุ้นประเทศต่างๆรวมทั้งธุรกิจในกลุ่มต่างๆดูไม่ดีเนื่องจากผลจากความกังวลปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ดัชนีต่างๆในระยะนี้จึงมีแต่ทรงกับทรุด ภาพรวมในระดับโลกขณะนี้ดูยังไม่น่าลงทุน และที่ต้องระวังก็คือกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่ออกอาการหมดแรง ไร้ทิศทางมาสักพักแล้ว แต่ยังไม่ถึงกับถล่มลงมา หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ถล่มลงมาด้วยก็อันตราย นักลงทุนที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (ซึ่งรวมทั้งทองคำด้วย) ควรระวัง



ทางด้านค่าเงินบาท ในระยะสั้นๆที่ผ่านมานี้เงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายๆ 30 บาท/ดอลลาร์ สรอ มาจนถึงต้นๆ 30 บาท และกำลังจะทะลุไปที่ปลาย 29 บาท/ดอลลาร์ แต่อย่างไรก็ดี ในทางเทคนิค ทิศทางของเงินบาทยังถือเป็นแนวโน้มอ่อนค่า สังเกตได้จากการเกิดท้องคลื่นที่ยกสูงขึ้น (rising trough) ดูตามภาพ ดังนั้นนักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับค่าเงินควรระวังเผื่อเอาไว้บ้าง



ลัทธิเปรอนและบทเพลง ไม่ต้องร่ำไห้เพื่อฉัน อาร์เจนตินา (2)


เมื่อวันก่อนลุงแมวน้ำเกริ่นเพื่อปูพื้นเกี่ยวกับประเทศอาร์เจนตินา วันนี้เรามาคุยกันต่อเกี่ยวกับความเป็นมาของเปรอน ผู้เป็นต้นกำเนิดของลัทธิเปรอน (ลัทธิเปรอง, Peronism)


เศรษฐกิจและการเมืองของอาร์เจนตินาก่อนยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่


เดิมทีนั้นอาร์เจนตินาปกครองด้วยพรรคการเมืองที่เป็นกลุ่มหัวอนุรักษ์นิยมที่ให้ความสำคัญแก่เศรษฐกิจที่อิงฐานการเกษตรเป็นหลัก แต่ทว่าตั้งแต่ปี 1880 เป็นต้นมา การที่เศรษฐกิจของประเทศอาร์เจนตินาเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้ชาวต่างชาติอพยพเข้ามาลงทุน ทำการค้า และทำงานในอาร์เจนตินามากมาย โดยเฉพาะจากยุโรปตอนใต้ แนวคิดที่หลากหลายจากชาวต่างชาติทำให้ชาวอาร์เจนตินาบางส่วนเริ่มมีมุมมองและความคิดที่แตกต่างออกไปจากแนวทางอนุรักษ์นิยมเดิมๆ

ต่อมาในราวปี ค.ศ. 1890 เศรษฐกิจในอาร์เจนตินาตกต่ำ กลุ่มคนทำงานที่มีหัวก้าวหน้าบางส่วนเริ่มไม่พอใจกับการปกครองด้วยแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม จนในที่สุดในปี 1891 มีการก่อตั้งพรรคที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยมหัวก้าวหน้าขึ้น มีชื่อพรรคในภาษาสเปนว่า Unión Cívica Radial หรือเขียนย่อว่า UCR และมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Radical Civic Union

ในช่วงต้น พรรคหัวก้าวหน้า UCR นี้ยังเป็นพรรคฝ่ายค้าน คอยแสดงความคิดเห็นคัดง้างกลุ่มอนุรักษ์นิยม ต่อมาจนถึงการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1916 พรรคหัวก้าวหน้านี้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีและได้บริหารประเทศด้วยแนวคิดเศรษฐกิจอิงฐานการค้าต่อมา

ในยุคที่พรรคหัวก้าวหน้าได้บริหารประเทศเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกสดใส เศรษฐกิจของยุโรปและสหรัฐอเมริกาเติบโตดี ตลาดหุ้นและราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมาถึงประมาณปี ค.ศ. 1925 ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาเริ่มแตก ราคาอสังหาริมทรัพย์เริ่มตกลงเรื่อยๆ จนถึงปี ค.ศ. 1929 ปีนี้เป็นปีสำคัญของเศรษฐโลก เนื่องจากในช่วงเดือนตุลาคมปีนั้น ตลาดหุ้นวอลสตรีตของสหรัฐอเมริกาเกิดอาการฟองสบู่แตก หุ้นในกระดานถูกเทขายอย่างหนักต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน พวกวันทมิฬหรือที่นำหน้าด้วย black เช่น Black Thursday, Black Tuesday, Black Monday ทั้งหลายต่างก็เกิดในเดือนตุลาคมปี 1929 นี้เอง


ภาพหน้าตลาดหุ้นนิวยอร์กในช่วงเดือนตุลาคม ปี 1929 ที่เกิดวิกฤตฟองสบู่ตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกาแตก ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลกยาวนานกว่าสิบปี ที่เรียกว่า Great Depression



ผลจากวิกฤตตลาดหุ้นในครั้งนั้นทำให้มีผู้ขาดทุนเป็นจำนวนมาก ผลที่ตามมาเป็นลูกโซ่ก็คือตลาดหุ้นในยุโรปดิ่งเหวตามไปด้วย ธนาคาร สถาบันการเงิน และธุรกิจทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปล้ม เมื่อธุรกิจล้มก็ทำให้มีผู้ตกงานเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง และนี่เองคือที่มาของช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่หรือที่เรียกว่า Great Depression ที่เริ่มตั้งแต่ปี 1930 และลามไปทั่วโลกกินเวลายาวนานกว่าสิบปี


เศรษฐกิจตกต่ำและรัฐบาลทหารของอาร์เจนตินา


ผลของฟองสบู่ตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาแตกในปี 1929 ส่งผลต่ออาร์เจนตินาอย่างรวดเร็วและรุนแรงเมื่อเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาในยุคนั้นยังอิงฐานการเกษตรและฐานการค้าอยู่ อุตสาหกรรมภายในประเทศมีน้อยมาก ฟองสบู่ตลาดหุ้นที่แตกทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดล่วงหน้าซึ่งรวมไปถึงสินค้าเกษตรดิ่งเหวไปด้วย ราคาพืชผลทางการเกษตรของอาร์เจนตินาจึงดิ่งเหวลงเช่นกัน ประกอบกับการธุรกิจของยุโรปและสหรัฐอเมริกาล้มระเนระนาดทำให้กระทบถึงการค้า พืชผลทางการเกษตรส่งออกราคาตกต่ำ สินค้านำเข้าขาดแคลนเพราะโรงงานผลิตล้ม ชาวอาร์เจนตินาจึงขาดรายได้รวมทั้งยังขาดแคลนสิ่งของเครื่องใช้ด้วย ทำให้อาร์เจนตินาประสบวิกฤติเศรษฐกิจตามสหรัฐอเมริกาและยุโรปอย่างรวดเร็ว

การที่ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำอย่างรุนแรงทำให้กลุ่มอำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยมซึ่งมีแนวคิดอิงฐานการเกษตรได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมาก จึงไม่พอใจรัฐบาลของพรรคหัวก้าวหน้าอย่างยิ่ง ดังนั้นในปี 1930 การเมืองการปกครองของอาร์เจนตินาที่ดำเนินมาโดยปราศจากการแทรกแซงของกองทัพมาได้หลายสิบปีในที่สุดก็หนีไม่พ้นการแทรกแซง เมื่อกองทัพและกลุ่มอำนาจหัวอนุรักษ์นิยมก่อการรัฐประหารขึ้นและปลดประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งพร้อมกับแต่งตั้งประธานาธิบดีจากการรัฐประหารขึ้น ซึ่งหนึ่งในทหารที่เป็นกลุ่มผู้ก่อการนี้ก็คือฮวน โดมิงโก เปรอน นั่นเอง

ดังนั้น พร้อมกับยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก เศรษฐกิจของอาร์เจนตินาเองก็พลอยตกต่ำไปด้วย มิหนำซ้ำยังเป็นยุคที่อยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการทหาร มีการโกงกินอย่างหนัก และแม้เมื่อมีการจัดการเลือกขึ้นมาก็เป็นการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม แต่อย่างไรก็ตาม ในวิกฤตก็มีโอกาส ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกนั้นเอง เศรษฐกิจของอาร์เจนตินาที่อิงฐานการเกษตรและฐานการค้าโดยไม่สนใจอุตสาหกรรม ใช้แต่สินค้านำเข้า ก็เริ่มหันมาพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศขึ้น


เส้นทางสู่อำนาจของเปรอนและเอวา


ยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในโลกดำเนินต่อมาเป็นเวลานานหลายปี ต่อมาในปี ค.ศ. 1939 ในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น สงครามโลกครั้งที่สองก็ประทุขึ้น ในปี ค.ศ. 1943 ขณะที่สงครามโลกยังดำเนินอยู่ ก็เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้งในประเทศอาร์เจนตินา นำโดยกลุ่มนายทหารระดับนายพันที่มีหัวต่อต้านรัฐบาลพลเรือนอนุรักษ์นิยมในยุคนั้นเพราะทนเห็นการฉ้อราษฎร์บังหลวงไม่ไหว หลังการรัฐประหาร มีการจัดตั้งรัฐบาลทหารขึ้น และพันเอกฮวน โดมิงโก เปรอน (ยศในขณะนั้น) ซึ่งอยู่ในคณะผู้ก่อการ ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม

เปรอนเริ่มสร้างผลงานหลังได้รับตำแหน่งไม่นานด้วยการระงับข้อพิพาทแรงงานต่างๆ เริ่มจากกรณีพนักงานรถไฟประท้วงหยุดงาน เปรอนได้เข้าเจรจาไกล่เกลี่ยและจบลงด้วยการปรับค่าแรงให้แก่พนักงานรถไฟในที่สุด การประท้วงจึงได้ยุติลง ต่อมาสถานการณ์ได้สร้างวีรบุรุษ กล่าวคือ ในตอนต้นปี ค.ศ. 1944 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ระดับความรุนแรงประมาณ 6.7-7.8 ที่เมืองซานฮวน (San Juan) ทางภาคตะวันตกของอาร์เจนตินา แผ่นดินไหวครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตราวหนึ่งหมื่นคน มีเด็กกำพร้านับพันคน ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยราวแสนคน บ้านเรือนเสียหายอีกเป็นจำนวนมาก ประมาณว่าอาคารภายในเขตเมืองเสียหายไปถึงร้อยละ 90 ในครั้งนั้นเอง เปรอนในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ รวมทั้งยังได้จัดตั้งกองทุนขึ้นเพื่อระดมความช่วยเหลือจากภาคประชาชน ทำให้ได้รับความชื่นชมจากประชาชนเป็นจำนวนมาก


ภาพแผ่นดินไหวซานฮวนในประเทศอาร์เจนตินา ปี 1944 สถานการณ์สร้างวีรบุรษ เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เปรอนกลายเป็นขวัญใจประชาชน รวมทั้งทำให้ได้พบกับเอวาด้วย


กิจกรรมสำคัญประการหนึ่งของกองทุนนี้ก็คือการจัดงานการกุศลที่รวบรวมนักร้องและนักแสดงมาช่วยงานเพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในงานการกุศลนั้นเองที่เปรอนมีโอกาสพบกับเอวา ดูอาร์เต (Eva Duarte) ซึ่งในตอนนั้นประกอบอาชีพเป็นนักร้องและนักแสดง เปรอนในขณะนั้นอายุ 48 ปี เป็นหม้ายเนื่องจากภรรยาคนแรกเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ส่วนเอวานั้นอายุ 24 ปี หลังจากที่แรกพบกันได้ไม่นาน ทั้งสองก็อยู่กินด้วยกันอย่างเงียบๆ เปรอนพาเอวาออกงานสังคมและงานต่างๆอยู่เสมอจนในที่สุดเอวาก็ค่อยๆได้รับการยอมรับในฐานะคู่ชีวิตอย่างไม่เป็นทางการของเปรอนไปในที่สุด


ฮวน เปรอน และเอวา ถ่ายในปี 1945





1 comment:

Anonymous said...

สวัสดีค่ะ ลุงแมวน้ำ
นิทานเปรอน น่ารัก น่าหยิกเจ้าลิงจอมสงสัย อ่านตอนแรกก็น่าติดตามซะแล้ว บินหลงเข้ามาเจอขุมทรัพย์ทางปัญญาเข้าแล้ว นิทาน เอ้ย เรื่องจริงดีๆ อย่างนี้ น่าเป็นอุทาหรณ์ให้ประเทศเราบ้างน้อ