Friday, September 17, 2010

16/09/2010 * เทรดตามระบบแล้วได้กำไรแน่ๆหรือไม่ (7)

วันนี้ดัชนี SET ปิดที่ 924.81 จุด เพิ่มขึ้น 3.71 จุด

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 วันนี้มีสัญญาณซื้อ EGCO และมีสัญญาณขาย AOT, DTAC, SCB ขณะนี้ถือหุ้นอยู่รวมทั้งหมด 37 ตัว

กลุ่มฟิวเจอร์ส วันนี้ยางญี่ปุ่น (TOCOM rubber) เกิดสัญญาณขาย แม้ยางไทย (RSS3) ยังไม่เกิดสัญญาณขายแต่ก็ใกล้มากแล้ว หากวันถัดไปราคาลงอีกก็อาจเกิดสัญญาณขายได้

ด้านดัชนีตลาดต่างประเทศ วันนี้ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิต (Shanghai Composite Index) ของจีนเกิดสัญญาณขาย ปกติตลาดจีนจะหยุดทำการยาวเนื่องในช่วงวันชาติของจีนในตอนต้นเดือนตุลาคม ราว 7 วัน ซึ่งตลาดฟิวเจอร์สยางพาราของจีนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่กว่าตลาดโตคอมของญี่ปุ่นเสียอีกและเป็นตลาดผู้กำหนดทิศทางราคาฟิวเจอร์สยางพารา ดังนั้นในช่วงนี้อาจต้องสังเกตดูราคาฟิวเจอร์สยางพาราเอาไว้บ้างเนื่องจากราคายางพาราอาจมีการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการทิ้งทวนก่อนวันหยุดยาวก็เป็นได้ และช่วงที่ตลาดจีนหยุดราคายางพาราคงไม่ไปไหนไกลเนื่องจากต้องรอให้ตลาดจีนเปิดเสียก่อน

เทรดตามระบบอย่างไรให้ได้กำไร

วันก่อนเราดูเทคนิคการเทรดตามระบบอย่างไรให้ได้กำไรไปแล้ว 3 ข้อ วันนี้เรามาดูกันต่อ

ข้อ 4 เทรดเฉพาะด้านลองหรือว่าซื้อก่อนขายทีหลัง

เทรดเฉพาะด้านลองหรือว่าซื้อก่อนขายทีหลังก็เหมือนกับการเทรดหุ้นนั่นเอง ที่แนะนำเช่นนี้เพราะจากสถิติพบว่าการเทรดด้านลองมีโอกาสได้กำไรมากกว่าการเทรดด้านชอร์ต ดังนั้นการเทรดด้านลองจะปลอดภัยกว่าบ้าง แต่นั่นก็หมายความว่าต้องเทรดด้านลองในช่วงตลาดขาขึ้นเท่านั้น หากอยู่ในคลื่น A-B-C การเทรดด้านลองก็ขาดทุนเพราะมักเป็นสัญญาณหลอก แต่คำถามที่ตามมาก็คือว่าถ้าจะให้เทรดด้านลองในตลาดขาขึ้นแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไรเป็นตลาดขาขึ้น คำตอบอยู่ในข้อถัดไป

ข้อ 5 ควรมีความรู้ด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคพอสมควร

ในการเทรดหุ้นหรือฟิวเจอร์สตามระบบนั้นนักลงทุนควรมีความรู้ด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคบ้าง การที่ไม่รู้อะไรเลยทางเทคนิคจะทำให้เราเลี่ยงสัญญาณหลอกไม่ได้ซึ่งทำให้โอกาสที่จะได้กำไรลดลงไป (หรืออาจถึงขาดทุนได้) ความรู้ที่ควรมีก็คือรู้เกี่ยวกับทฤษฎีคลื่นของอีเลียต สามารถนับคลื่นรูปแบบง่ายๆได้ รู้จักการใช้อินดิเคเตอร์ (indicator) เพื่อแยกแยะภาวะแนวโน้มขาขึ้น ขาลง หรือว่าไร้ทิศทางได้ เป็นต้น ซึ่งความรู้ทางเทคนิคนั้นนักลงทุนแต่ละคนจะมีความถนัดและความสามารถไม่เท่ากัน เปรียบเหมือนนักเรียนที่เรียนในชั้นเดียวกัน ครูอาจารย์ชุดเดียวกัน แต่ผลการเรียนของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ ก็เนื่องจากความแตกต่างระหว่างบุคคลและการฝึกฝนนั่นเอง ดังนั้นนักลงทุนที่เทรดตามระบบซึ่งศึกษาด้านเทคนิคด้วยแต่ความรู้ความเข้าใจอาจไม่เท่ากันและฝีมือในการหลบเลี่ยงสัญญาณหลอกอาจไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถึงอย่างไรศึกษาเอาไว้บ้างก็จะเป็นประโยชน์

ข้อ 6 เตรียมเงินลงทุนให้เพียงพอ

เรื่องจำเป็นอีกประการหนึ่งในการเทรดอย่างเป็นระบบ นั่นก็คือ การเตรียมเงินลงทุน ปกติหลักการเทรดอย่างเป็นระบบนั้นต้องเทรดด้วยเงินลงทุนที่เสมอต้นเสมอปลาย สมมติว่าจะลงทุน 100,000 บาทก็ต้องลงทุน 100,000 บาทในทุกรอบของสัญญาณซื้อขายที่เกิดขึ้น ถึงแม้จะได้กำไรหรือถึงแม้จะขาดทุนจากสัญญาณหลอก เมื่อเกิดสัญญาณในครั้งถัดไปก็ต้องลงทุนด้วยเงินจำนวนเท่าเดิมเสมอ

จากหลักการดังกล่าว นั่นหมายความว่านักลงทุนต้องเตรียมเงินต่างหากเอาไว้จำนวนหนึ่งเืพื่อสำรองสำหรับการขาดทุน เพราะหากคิดลงทุน 100,000 บาทและมีเงินเพียง 100,000 บาท หากเทรดแล้วขาดทุนในครั้งแรกๆ เงินลงทุนจะหดหายไป เมื่อถึงคราวได้กำไรยาวๆก็จะกลายเป็นได้มาไม่คุ้มกับที่ขาดทุนไป ข้อนี้มีความสำคัญ ลองมาดูตัวอย่างกันก่อนเพื่อความเข้าใจ

สมมติว่าเตรียมเงินเพื่อการเทรดหุ้นเอาไว้ 100,000 บาท และสมติว่าเจอสัญญาณหลอกขาดทุนครั้งละ 10% เป็นจำนวน 3 ครั้งติดกัน หลังจากนั้นจึงจะได้กำไรยาว 30% เป็นจำนวน 1 ครั้ง ลองมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เืพื่อให้คำนวณง่ายลุงแมวน้ำขอสมมติว่าไม่คิดค่าคอมมิชชัน

เงิน 100,000 บาท เทรดครั้งแรกขาดทุน 10% ดังนั้นจะเสียเงินไป 10,000 บาท เหลือเงินเอาไว้เทรดในครั้งต่อไป 90,000 บาท บาท

เงิน 90,000 บาท เทรดแล้วขาดทุนอีก 10% ดังนั้นเสียเงินไปอีก 9,000 บาท เหลือเงินเอาไว้เทรดในครั้งต่อไป 81,000 บาท

เงิน 81,000 บาท เทรดแล้วขาดทุนอีก 10% ดังนั้นเสียเงินไปอีก 8,100 บาท เหลือเงินเอาไว้เทรดในครั้งต่อไป 72,900 บาท

เงิน 72,900 บาท เืทรดแล้วได้กำไร 30% เท่ากับได้ทุนบวกกำไรมาเป็นเงิน 94,770 บาท

สรุปว่าขาดทุน 3 ครั้ง กำไร 1 ครั้ง รวมแล้วยังขาดทุนอยู่ 5,230 บาท (จากเงินตั้งต้น 100,000 บาท)

คราวนี้ลองมาดูกันใหม่ สมมติว่าเราเตรียมเงินเอาไว้จำนวนหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะขาดทุนแต่ก็เอาเงินสำรองนี้มาเติม ทำให้ในรอบถัดไปเงินที่เข้าเทรดยังเป็น 100,000 บาทเสมอ ผลจะเป็นดังนี้

เงินลงทุนครั้งละ 100,000 บาท ขาดทุน 3 ครั้ง ครั้งละ 10,000 บาท รวมแล้วขาดทุน 30,000 บาท

เทรดครั้งต่อมา (ครั้งที่ 4) ก็ใช้เงิน 100,000 บาท ครั้งนี้ได้กำไร 30% เป็นเงิน 30,000 บาท

สรุปว่าขาดทุน 30,000 บาท กำไร 30,000 บาท รวมแล้วเท่าทุน

ดังนั้นจะเห็นว่าทุนที่สม่ำเสมอนั้นมีความสำคัญ เพราะหากขาดทุนแล้วเงินต้นที่เข้าเทรดลดลง ถึงคราวที่ได้กำไรจะได้กำไรน้อยเพราะทุนหดหายไป

ถ้าเช่นนั้นควรจัดเตรียมเงินลงทุนอย่างไรจึงจะเหมาะสม

(โปรดอ่านต่อในวันถัดไป)


No comments: