Wednesday, January 14, 2015

หมู่เกาะกาลาปาโกส กับทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน (4)


ลุงสิงโตทะเลกำลังอ้อนขอปลาจากพ่อค้าที่ตลาดปลาริมทะเลในหมู่เกาะกาลาปาโกส


โดดเดี่ยวผู้ไม่น่ารัก ยิ่งปกป้องยิ่งเสี่ยงสูญพันธุ์


“หมู่เกาะกาลาปาโกสนั้นแต่ละเกาะที่เป็นส่วนประกอบของหมู่เกาะมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน เรียกได้ว่าแต่ละเกาะเป็นถิ่นที่อยู่ที่เป็นเอกเทศ ปราศจากสิ่งมีชีวิตภายนอกเข้ามารบกวน แม้แต่นกฟินช์ที่อาศัยอยู่ในเกาะใกล้ๆกันแต่ก็มียังเป็นคนละชนิดพันธุ์ (ต่างสปีชีส์ species) กัน เป็นกรณีศึกษาของระบบนิเวศที่น่าสนใจ” ลุงแมวน้ำพูด “ในถิ่นที่อยู่ที่ปิด หมายถึงว่าตัดขาดจากโลกภายนอก เช่นในเกาะแห่งหนึ่งที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่นเข้ามาปะปน สิ่งมีชีวิตภายในเกาะจะสืบพันธุ์กันเอง (inbreeding) เฉพาะภายในเกาะ รุ่นแล้วรุ่นเล่า จนได้สิ่งมีที่ค่อนข้างเป็นสายเลือดแท้ เนื่องจากไม่มีสายเลือดอื่นจากภายนอกเข้ามาปะปน”

“สายเลือดแท้ดีหรือไม่ดีละฮะลุง” กระต่ายน้อยถาม

“โดยทั่วไปแล้วสายเลือดแท้มักขาดความผันแปรทางรูปลักษณ์ เมื่อประมาณ 30-40 ปีก่อน มีนักวิทยาศาสตร์เข้ามาศึกษานกฟินช์ในเกาะย่อยแห่งหนึ่งในหมู่เกาะกาลาปาโกสนี้ นักวิทยาศาสตร์คนนี้พบว่าเกาะย่อยนี้มีปริมาณน้ำฝนพอควรทุกปี ทำให้นกฟินช์บนเกาะนี้เป็นนกฟินช์พันธุ์จงอยปากขนาดกลาง เหมาะสำหรับกินเมล็ดพืชที่มีขนาดเล็ก

“แต่ต่อมาปรากฏว่าเกาะแห่งนี้มีฝนแล้งยาวนาน ฝนตกน้อยมาก ต้นไม้ตาย เมล็ดพืชก็กลายเป็นเมล็ดขนาดใหญ่ขึ้นและหนามากขึ้น เนื่องจากพืชในภาวะแล้งต้นไม้จะสร้างเมล็ดพืชให้มีเปลือกหนาขึ้นเพื่อให้ทนแล้งได้ดี

“เพียงสองปีที่อากาศแล้งต่อเนื่อง นกฟินช์จงอยปากขนาดกลางล้มตายลงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากกินเมล็ดพืชที่ใหญ่ขึ้นและหนาขึ้นไม่ได้ หากแล้งต่อเนื่องไปเป็น 3-4 ปี นกฟินช์บนเกาะนี้อาจตายไปหมดก็เป็นได้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากนกฟินช์บนเกาะนี้ตัดขาดจากโลกภายนอก รวมทั้งตัดขาดจากเกาะอื่นๆ และสืบพันธุ์กันเองภายในเกาะ ดังนั้นสายเลือดของนกฟินช์พันธุ์นี้จึงเป็นสายเลือดแท้ที่ขาดความผันแปรทางรูปลักษณ์ อาหารการกินหรือการดำรงชีวิตอื่นๆมีความเฉพาะหรือว่าเป็นเอกเทศ เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงก็อาจก่อผลกระทบที่รุนแรงถึงขนาดทำให้สูญพันธุ์ได้เนื่องจากนกปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมไม่ได้เลย

“ทีนี้ลองมาดูนกฟินช์บนแผ่นดินใหญ่อเมริกาใต้กันบ้าง นกฟินช์ที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่นั้นเนื่องจากสภาพภูมิประเทศเชื่อมต่อกัน ดังนั้นถิ่นที่อยู่ของนกจึงไม่ได้เป็นเอกเทศ แต่ทว่านกบินไปมาหาสู่กันได้ ทำให้นกฟินช์แผ่นดินใหญ่ผสมพันธุ์ข้ามสายเลือดกัน คือเป็นนกสายเลือดผสม มีความผันแปรทางรูปลักษณ์สูง อีกทั้งสภาพแวดล้อมบนแผ่นดินใหญ่นั้นมีหลากหลาย ธรรมชาติได้คัดเลือกให้สายพันธุ์ที่สามารถกินอาหารได้หลายรูปแบบอยู่รอดต่อไปได้ ส่วนนกฟินช์ที่กินอาหารได้ไม่หลากหลายก็ถูกกำจัดออกไปเพราะอดอาหารตาย ทำให้นกฟินช์บนแผ่นดินใหญ่มีวิวัฒนาการให้มีความสามารถในการปรับตัว สามารถกินอาหารได้หลากหลาย เรียกได้ว่ามีความยืดหยุ่นสูงนั่นเอง”

“อ้อ ครับ” ลิงพูด “แต่ว่าลุงแมวน้ำกำลังจะบอกอะไรเนี่ย”

“เรื่องนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับในธุรกิจ พวกเรารู้ไหมว่าในข้อตกลงของเออีซีนั้นระบุว่าเมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะต้องเปิดเสรีธุรกิจบริการ โดยแต่ละประเทศมีพันธกรณีที่จะให้ต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจบริการได้โดยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 70% พูดง่ายๆก็คือต่างชาติสามารถถือหุ้นใหญ่ได้ 70%

“ทีนี้ประเทศต่างๆในอาเซียนส่วนใหญ่ต่างก็ยังซ่อนปมปกป้องธุรกิจท้องถิ่นของตนเองไว้ ไม่ยอมให้ต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจโดยถือหุ้นใหญ่ได้จริงๆ โดยลุงอุปมาให้ฟังว่าข้อตกลงเออีซีคือว่าแต่ละบ้านต้องเปิดประตูบ้านเอาไว้ให้เพื่อนบ้านไปมาหาสู่ได้สะดวก ซึ่งเราก็เปิดประตูบ้านเอาไว้ แต่ว่าห้องหับต่างๆล็อกประตูเอาไว้หมด นี่คือการเปิดเสรีแบบเลี่ยงบาลีนั่นเอง โดยเรายังมีข้อกฎหมายต่างๆที่ยังไม่ได้แก้ไข ทำให้การเปิดเสรียังทำไม่ได้จริงๆ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ประเทศอื่นๆในอาเซียนต่างก็ทำคล้ายๆกัน เพราะวัตถุประสงค์ก็คือยังต้องการปกป้องธุรกิจภายในประเทศอยู่ ยกเว้นบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ที่เปิดเสรีธุรกิจบริการมานานแล้ว ดังนั้นโดยสภาพความจริงแล้วหลายๆประเทศในเออีซีรวมทั้งไทย มีการปกป้องธุรกิจท้องถิ่นในระดับที่สูง

“แต่ลุงอยากให้มองในอีกมุมหนึ่ง นั่นคือ กรณีนกฟินช์ที่ลุงได้เล่าให้ฟัง การปกป้องธุรกิจท้องถิ่นก็คือการที่ธุรกิจท้องถิ่นตัดขาดจากโลกภายนอก ค้าขายกันเอง เหมือนนกฟินช์ในเกาะย่อยที่มีสภาพแวดล้อมเอกเทศตัดขาดจากโลกภายนอก ตอนนี้มาตรฐานเออีซีคือเปิดเสรีธุรกิจบริการ ต่างชาติถือหุ้นได้ 70% แต่ในเวทีโลกหรือเวทีองค์การค้าโลก WTO ที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่นั้น แนวโน้มของเวทีโลกเป็นการเปิดเสรี 100% เราฝืนกระแสโลกไม่ได้ วันใดที่เราเปิดเพราะจำยอมถูกบังคับและยื้อต่อไปไม่ได้ เราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ธุรกิจท้องถิ่นอาจจะตายหมด ทางที่ถูกคือต้องเอาธรรมชาติเป็นตัวอย่าง นั่นคือ ต้องค่อยๆเปิดเสรี ให้ธุรกิจไทยได้ปรับตัวและเรียนรู้ที่จะแข่งขัน ค่อยๆวิวัฒนาการ จึงจะมีโอกาสอยู่รอดมากกว่า


พันธุ์ทางโอกาสรอดสูงกว่า JV และ M&A คือทางรอด


“ลุงขอยกตัวอย่างธุรกิจโชวห่วยหรือร้านขายของชำ หลายปีมีนี้เราพูดกันมากว่าโชวห่วยกำลังมีภัยคุกคาม และกำลังจะสูญพันธุ์ เราจะหาทางปกป้องโชวห่วยอย่างไร เรื่องนี้ในประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆก็มีปัญหาเช่นกัน

“หากเราศึกษาจากธรรมชาติ เราจะพบว่ากฎธรรมชาตินั้นมีเกิดย่อมมีดับ โลกเราเคยมีช้างแมมมอธ แต่ปัจจุบันก็ไม่มี พืชและสัตว์จำนวนมากสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั้งนี้เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปจนช้างแมมมอธปรับตัวไม่ได้ ธรรมชาติจึงตัดสินให้ช้างพันธุ์นี้ต้องสูญพันธุ์ไป

หรืออย่างเช่น สมัน เมื่อก่อนในกรุงเทพฯก็ยังมี แต่ในที่สุดก็หมดไปจากกรุงเทพฯและหมดไปจากโลก ดังนั้นเราต้องพิจารณาให้ดีว่าโชวห่วยนั้นเราสามารถฝืนความเปลี่ยนแปลงของโลกและยุคสมัยได้จริงหรือ มีความสามารถอยู่รอดในยุคสมัยนี้ได้จริงหรือ

“แต่หากเรามองอีกด้านหนึ่ง การไปมาหาสู่ การที่สายเลือดต่างๆผสมพันธุ์ข้ามกันไปมาทำให้เกิดลูกหลานพันธุ์ผสม เหล่านี้ทำให้ลูกหลานวิวัฒนาการและอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ ทำไมเราไม่ส่งเสริมให้ธุรกิจไทยไปมาหาสู่กับธุรกิจต่างชาติบ้างละ ด้วยการลงทุนร่วมกันหรือที่เรียกว่า joint venture (JV) ก็ดี การควบรวมกิจการกัน (M&A) ก็ดี เหล่านี้ล้วนแต่สอดคล้องกับหลักธรรมชาติ ดูสิงคโปร์สิ เปิดเสรีธุรกิจการค้า มีการสงวนกิจการไว้น้อยมาก รายได้ต่อหัวประชากรของสิงคโปร์สูงกว่าไทยมากมาย”


อยู่ไม่ได้ก็อพยพ การย้ายถิ่นก็อาจเป็นทางรอด


“อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปมาก หากยังอยู่ในถิ่นที่อยู่เดิมแล้วไม่สามารถปรับตัวได้ การรอคอยจุดจบไม่ใช่ทางออก ธรรมชาติสอนให้สิ่งมีชีวิตมีการอพยพย้ายถิ่น ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องของวิวัฒนาการ แต่ก็เป็นหาทางเอาตัวรอดได้ทางหนึ่ง

“ในทางธุรกิจ หากเราอยู่ในที่เดิมไม่ไหวเนื่องจากการแข่งขันสูงหรือสภาพแล้วล้อมเปลี่ยนไปจนทำธุรกิจแบบเดิมไม่ได้ เราก็อาจพิจารณาการย้ายถิ่น ซึ่งการย้ายถิ่นในทางธุรกิจนั้นตีความหลายหลายนัย เช่น การย้ายโรงงานไปตั้งในถิ่นอื่น เช่น ไปตั้งในต่างประเทศ หรือต่างจังหวัด หรืออาจหมายถึงการเปลี่ยนเป้าหมายลูกค้าเป็นลูกค้าถิ่นอื่นหรือ หรืออาจหมายถึงการเปลี่ยนตำแหน่งทางการตลาดของสินค้าหรือที่เรียกว่า repositioning ก็ได้”

“อือม์ น่าคิด” ลิงหัวเราะ “ยังไม่เห็นว่ามีอะไรที่เกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้นเลย

“มีสิ” ลุงแมวน้ำตอบ


นักลงทุนพันธุ์ทาง ยืดหยุ่นในทุกสถานการณ์


“ในด้านการลงทุน ปัจจุบันสภาพแวดล้อมในการลงทุนเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนสายเทคนิค นักลงทุนเรียนจากตำราเทคนิคเดียวกันทั่วโลก ดังนั้นใครจะสร้างรูปแบบทางเทคนิคขึ้นมาเพื่อหลอกให้นักลงทุนรายอื่นมาติดกับก็ย่อมเป็นไปได้

“ขณะเดียวกัน การใช้ปัจจัยพื้นฐานนั้นก็บ่งบอกถึงพื้นฐานของกิจการในปัจจุบัน แต่ไม่ได้รับประกันอนาคต หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินกระทันหันขึ้นมา เหมือนกับที่สภาพแวดล้อมเกิดภัยคุกคามกระทันหันขึ้นมา ยกตัวอย่างไฟไหม้โรงงาน เพิ่มทุนแบบพิสดาร การตกแต่งบัญชี ฯลฯ หรือกรณีการออกไปลงทุนในต่างประเทศที่ข้อมูลปัจจัยพื้นฐานน้อย หรือการลงทุนในดัชนี จะทำอย่างไร เป็นต้น


"ตำราหลายๆเล่มไม่ว่าจะเป็นสายปัจจัยพื้นฐานหรือสายเทคนิคก็ตาม ที่เป็นระดับคลาสสิกหรือถือว่าเป็นคัมภีร์ของนักลงทุนนั้นเป็นตำราที่เขียนขึ้นนานแล้ว ในยุคที่การซื้อขายหุ้นยังต้องเคาะกระดานหุ้นอยู่ ภาพถ่ายก็ได้กล้องในยุคฟิล์ม แต่ปัจจุบันสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปมากแล้ว ระดับความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเร็วกว่าในยุคก่อนอย่างเทียบกันไม่ได้ ดังนั้นต้องเผื่อใจเอาไว้เสมอว่าความรู้ที่มีอยู่เดิมอาจไม่สามารถใช้ในยุคนี้ได้ ลุงไม่ได้บอกว่าใช้ไม่ได้ แต่อยากให้เผื่อใจ ระวังเอาไว้บ้างว่าอาจใช้ไม่ได้ เพราะจะทำให้เราไม่ประมาท

“ดังนั้น ด้วยหลักที่ว่าพันธุ์ผสมเอื้อต่อการอยู่รอดได้ดีกว่า นักลงทุนรายย่อยอย่างพวกเราหากศึกษาเรียนรู้ทั้งปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิคก็ย่อมช่วยในการปรับตัวและอยู่รอดในตลาดทุนได้ดีกว่า สภาพแวดล้อมใดที่ปัจจัยพื้นฐานหาได้น้อยก็ใช้เทคนิคมากหน่อย ดังที่ลุงเคยยกตัวอย่างเรื่องการคำนวณเป้าหมายราคาด้วยปัจจัยทางเทคนิคผสมปัจจัยพื้นฐานนั่นไง วิธีนั้นก็น่าสนใจและใช้ได้ผลดีทีเดียว

“ที่จริงก็ยังมีตัวอย่างอีกหลายกรณี แต่เอาหลักๆเท่านี้ก่อนละกัน ก็คงพอเห็นตัวอย่างกันแล้วว่าเราสามารถเอากฎธรรมชาติมาใช้กับการลงทุนได้อย่างไร ลุงแมวน้ำคอแห้งมากแล้ว” ลุงแมวน้ำสรุปเอาดื้อๆ


ผู้แข็งแรงอาจไม่รอด ผู้ที่พัฒนาและปรับตัวได้คือผู้อยู่รอด


“หากเราพิจารณากฎการวิวัฒนาการอันเป็นความลับของธรรมชาติซึ่งชาล์ส ดาร์วิน เป็นผู้ค้นพบและนำมาเปิดเผย เราจะพบว่าการคัดเลือกพันธุ์โดยยธรรมชาตินั้น ธรรมชาติไม่ได้คัดเลือกให้ผู้ที่แข็งแรงที่สุดให้อยู่รอด แต่ผู้ที่อยู่รอดได้คือผู้ที่มีวิวัฒนาการ นั่นคือ มีความยืดหยุ่น มีการปรับตัว ทำตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติ

“การอยู่รอดในการทำธุรกิจหรือการอยู่รอดในตลาดทุนก็เช่นกัน ผู้ที่อยู่รอดได้คือผู้ที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปได้ การยึดมั่นกับสิ่งเดิมๆ ความรู้เดิมๆ หรือความเคยชินเดิมๆ โดยไม่ยืดหยุ่นอาจอยู่ไม่รอด

“แต่อย่างไรก็ตาม หากเราสังเกตจากธรรมชาติ การวิวัฒนาการขอสิ่งมีชีวิตอย่างใหญ่หลวงนั้นกินเวลานานมาก อาจเป็นหลายร้อย หลายพัน หรือหลายหมื่นชั่วอายุของสิ่งมีชีวิต ยกตัวอย่างเช่น การที่ปลาวาฬซึ่งเดิมเป็นสัตว์บกมีวิวัฒนาการไปอาศัยอยู่ในน้ำนั้นกินเวลายาวนานนับล้านปี แต่หากพูดถึงการปรับตัวในช่วงสั้นคือชั่วรุ่นหรือสองสามชั่วรุ่นนั้น การปรับตัวจะเกิดได้เพียงนิดหน่อยเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่นนกฟินช์ หากมองการปรับตัวที่เกิดในชั่วรุ่นเดียวก็อาจเป็นแค่การปรับตัวด้านอาหารการกินนิดๆหน่อยๆเท่านั้น ไม่ได้มากมายขนาดลงไปว่ายน้ำในทะเลได้

"ฉันใดก็ฉันนั้น การปรับตัวของธุรกิจหรือของนักลงทุนในชั่วรุ่นเดียว หรือสองสามชั่วรุ่น เราอาจปรับได้ในขอบเขตจำกัด หากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปมาก ก็อาจต้องสูญพันธุ์ไป เปรียบได้กับการปรับตัวของธุรกิจและนักลงทุนนั้น ยังควรมีจุดยืนที่รักษาความถูกต้อง ดีงาม รักษาคุณค่าที่ดีที่ยึดถือกันในยุคสมัยเอาไว้ ไม่ควรถึงกับว่าทำได้ทุกอย่างแม้แต่การทำในสิ่งผิดเพื่อการอยู่รอด บางครั้งการสูญพันธุ์ก็อาจมีคุณค่ามากกว่าการอยู่รอดก็ได้ ข้อนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของลุงที่อยากฝากเอาไว้ ลุงแมวน้ำปิดท้าย

Tuesday, January 13, 2015

ทองคำเกิดสัญญาณซื้อ เงินเยนแข็งค่า ยูโรอ่อนต่อ ระวังดอลลาร์ สรอ อ่อนตัว


วันนี้เรามาอัปเดตทองคำและค่าเงินกัน ช่วงนี้ในตลาดเงินดูมีอาการแปลกๆ ทิศทางค่าเงินไม่ค่อยสอดคล้องกันเหมือนที่เคยเป็นมา



มาดูที่ราคาทองคำกันก่อน ฟิวเจอร์ทองคำตลาดอเมริการาคาผ่าน 1232 ดอลลาร์ สรอ/ทรอยออนซ์ไปได้ เกิดสัญญาณซื้อ รูปแบบทางเทคนิคเป็นขาขึ้น (ดูกราฟ GC) ซึ่งเรื่องนี้นักวิเคราะห์ก็อธิบายไม่ได้ว่าทองคำขึ้นได้ยังไง เนื่องจากดอลลาร์ สรอ แข็งค่าอยู่ บ้างก็ว่าใกล้ตรุษจีนทองเลยขึ้น แต่ลุงว่าอิทธิพลเทศกาลตรุษจีนในปัจจุบันไม่น่ามีผลมากนัก แต่นี่คืออุทาหรณ์ในโลกการลงทุนตลาดรอง นั่นคือ อะไรก็เกิดขึ้นได้ สูตรเดิมๆอาจใช้ไม่ได้ตลอดไป ดังนั้นเราต้องปรับตัวเข้ากับสถานการณ์อยู่เสมอ




ขณะนี้เงินเยนก็แข็งค่าจนเกิดสัญญาณซื้อ (ดู JY) ระวังค่าเงินเยนกลับทิศเป็นขาขึ้น และแปลว่าให้ระวังตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะกลับทิศเป็นขาลง ตอนนี้ดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นดูไม่ค่อยดี ยังผ่านแนวต้านสำคัญไม่ได้ หากผ่านไม่ได้คงไหลลงมา



ด้านด้านเงินยูโร ดูกราฟ EC ตอนนี้แนวโน้มใหญ่อ่อนค่าอยู่ หลุดกรอบสามเปลี่ยมชายธงลงมาแล้ว ลุงแมวน้ำคาดว่ายังลงต่อได้อีกหน่อย แนวรับสำคัญคือ 1.15-1.16 ยูโร/ดอลลาร์ สรอ ภายในเดือนนี้ทางธนาคารกลางยุโรปมีการประชุมกัน ซึ่งอาจออกมาตรการ QE ฉบับยุโรปที่อัดฉีดดุเดือดยิ่งขึ้น หากมีมาตรการที่เข้มข้นเงินยูโรก็อ่อนค่าต่อ แต่หากมาตรการไม่โดนใจ เงินยูโรจะเด้ง โปรดคอยติดตาม แต่ตอนนี้เทคนิคเป็นขาลงใหญ่ก็ว่าไปตามนั้นก่อน


ค่าเงินดอลลาร์ สรอ ดูกราฟ DX ตอนนี้ป้วนเปี้ยนอยู่แถวแนวต้านคือ 92 จุด ยังไม่ถือว่าผ่านแนวต้านได้สำเร็จ คอยดูต่อไปอีกนิด แต่ลุงว่าอาจผ่านไม่ได้ เนื่องจากราคาทองคำเริ่มขึ้น สะท้อนว่าความเชื่อมั่นในดอลลาร์เริ่มลดลง


เงินบาท ดูกราฟ Baht ตอนนี้ก่อตัวเป็นสามเหลี่ยมชายธงเล็กๆอยู่ ให้รอดูว่าจะตัดทะลุปลายชายธงไปทางไหน แต่ลุงมองว่าโอกาสบาทแข็งมีอยู่ 60% ให้น้ำหนักไปทางบาทแข็ง


แถมด้วยราคาน้ำมันดิบ ดูกราฟ CL ราคาหลุด 50 ดอลลาร์ลงมา ตอนนี้อยู่แถวๆ 46-47 ดอล คาดว่ารับไม่อยู่ เนื่องจากหลุดแนวรับลงมาแล้ว อาจมีแรงกระแทกให้ต้องไปเจอกันที่ 37 ดอล แต่หากเกิดเหตุการณ์แบบนั้นจริงจะเป็นสถานการณ์ระยะสั้นคร้าบ

Sunday, January 11, 2015

เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ หมู่เกาะกาลาปาโกส กับทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน (3)






“อันที่จริงทฤษฎีวิวัฒนาการนั้นมีองค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นคือ สิ่งมีชีวิตนั้นต้องสืบพันธุ์ได้ เนื่องจากหากสืบพันธุ์ไม่ได้ก็จบกันไป ย่อมไม่สามารถมีวิวัฒนาการได้ ข้อนี้จึงไม่ได้พูดเอาไว้แต่แรกเพราะเราถือว่าละไว้เป็นที่เข้าใจกัน หรือจะเรียกว่าองค์ประกอบข้อที่ 0 ก็ได้

“เอาละ ทีนี้เรามาทำความเข้าใจกับองค์ประกอบของการเกิดวิวัฒนาการทั้ง 3 ข้อที่ลุงแมวน้ำเกริ่นเอาไว้กัน

“องค์ประกอบข้อแรกของการเกิดวิวัฒนาการคือ สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการดำรงเผ่าพันธุ์ หรือเกิดภัยคุกคาม (threat) นั่นเอง ส่วนใหญ่มักเป็นกรณีสภาพแวดล้อมมีทรัพยากรจำกัดหรือพูดง่ายๆคือแหล่งอาหารมีจำกัด ทำให้เกิดการแข่งขันแย่งชิงทรัพยากรกัน เรื่องทรัพยากรที่มีจำกัดนี้เป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว วิชาเศรษฐศาสตร์ก็กำเนิดขึ้นมาเพื่อการจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัดนั่นเอง

“สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการดำรงเผ่าพันธุ์กรณีอื่นก็ได้แก่มีภัยคุกคาม เช่น มีศัตรูผู้ล่า (predator) ดินฟ้าอากาศผันแปร เกิดภัยธรรมชาติ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นภัยคุกคามที่อาจทำให้เผ่าพันธุ์สูญสิ้นไป จึงทำให้เกิดวิวัฒนาการขึ้น” ลุงแมวน้ำอธิบาย

“ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีนั่นแหละครับ” ลิงพูด

“ไม่เป็นไร ใจเย็นๆ ฟังลุงอธิบายให้ครบทั้ง 3 ข้อเสียก่อนแล้วจะปะติดปะต่อเรื่องได้” ลุงแมวน้ำให้กำลังใจ “เอาละ ทีนี้มาดูองค์ประกอบของการเกิดวิวัฒนาการข้อที่สองกัน นั่นคือ ความผันแปรทางรูปลักษณ์ (phenotypic variation)

“เอ๊ะ ลุงแมวน้ำบอกว่าข้อสองคือการผ่าเหล่าไม่ใช่หรือฮะ ทำไมกลายเป็นการผันแปรทางรูปลักษณ์แล้วละฮะ” กระต่ายน้อยรีบถาม

“กระต่ายน้อยช่างสังเกตดีมาก” ลุงแมวน้ำชมเชย “ข้อสองนี้ก็คือการผ่าเหล่านั่นแหละ แต่ลุงขอใช้คำว่าความผันแปรทางรูปลักษณ์ไปก่อน เนื่องจากว่าในสมัยของดาร์วินนั้นยังไม่รู้จักเรื่องการผ่าเหล่า ดาร์วินนั้นใช้คำว่าความผันแปรทางรูปลักษณ์ ซึ่งหมายถึงว่าสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันแต่มีรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันนิดๆหน่อยๆ ยกตัวอย่างง่ายๆในกรณีของคน ความผันแปรทางรูปลักษณ์ในมนุษย์ก็เห็นได้หลายอย่าง เช่น ความสูง คนเรามีความสูงได้หลากหลาย ตั้งแต่ 100 ซม. ถึง 220 ซม เป็นต้น

“ส่วนข้อที่สาม เกิดการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติ ข้อนี้คือบทสรุป หมายความว่าในภาวะที่มีภัยคุกคามนั้น สิ่งมีชีวิตในเผ่าพันธุ์เดียวกันที่มีรูปลักษณ์ผันแปรไปต่างๆนานานั้นธรรมชาติจะเป็นผู้กำหนดว่าลักษณะใดสามารถอยู่รอดได้

“เรามาดูตัวอย่างกันดีกว่า ฟังลุงพูดแล้วก็ยังงง แต่เมื่อดูตัวอย่างแล้วจะถึงบางอ้อ


กลไกวิวัฒนาการ กรณีนกฟินช์และยีราฟ


“ในกรณีของนกฟินช์แห่งหมู่เกาะกาลาปาโกส เราต้องอาศัยจินตนาการช่วยเยอะหน่อย นั่นคือ จินตนาการย้อนยุคไปในสมัยที่นกฟินช์จากแผ่นดินใหญ่บินมาพบหมู่เกาะแห่งนี้ ในยุคนั้นแผ่นดินใหญ่คงมีอาหารขาดแคลนหรืออาจมีภัยคุกคาม ดังนั้นนกฟินช์บางส่วนจึงอพยพเพื่อหาแหล่งที่อยู่ใหม่และมาเจอหมู่เกาะแห่งนี้

“เดิมทีนกฟินช์ที่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ก็คงมีเพียงชนิดพันธุ์เดียว นกฟินช์เหล่านี้กระจายไปอาศัยอยู่ตามเกาะต่างๆในหมู่เกาะกาลาปาโกส แต่เนื่องจากเกาะเหล่านี้มีภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างกัน พืชพรรณที่ขึ้นอยู่บนเกาะก็แตกต่างกัน อีกทั้งสภาพที่เป็นเกาะทำให้นกฟินช์ที่ไปลงหลักปักฐานในแต่ละเกาะมีความเป็นอยู่ที่ตัดขาดจากกัน ไม่ได้ไปมาหาสู่กัน


จงอยปากของนกฟินช์แห่งหมู่เกาะกาลาปาโกส ธรรมชาติในแต่ละเกาะย่อยที่แตกต่างกันเป็นผู้คัดเลือกลักษณะของจงอยปากที่เหมาะสมที่จะอยู่รอดและขยายพันธุ์ได้ นกที่มีจงอยปากไม่เหมาะสมกับอาหารก็จะอดตายไป นกฟินช์ในแต่ละเกาะในปัจจุบันจึงมีลักษณะแตกต่างกันเนื่องจากแหล่งอาหารที่แตกต่างกันนั่นเอง

“ทีนี้เรามาพิจารณาเป็นรายเกาะ เกาะหนึ่งมีภูมิอากาศชื้น ฝนชุก ต้นไม้เป็นต้นไม้ใหญ่ มีแมลงเยอะ ส่วนเกาะสองมีภูมิอากาศฝนตกน้อย ต้นไม้ขนาดเล็ก มีผลไม้และเมล็ดเยอะ ส่วนเกาะสามอากาศแห้งแล้งมาก มีแต่ต้นตะบองเพชร

“ทีนี้นกฟินช์นั้นแม้จะเป็นพันธุ์เดียวกันแต่ก็มีลักษณะจงอยปากที่หลากหลาย แต่เป็นความแตกต่างเพียงนิดหน่อย คือมีจงอยปากใหญ่บ้างเล็กบ้าง

“เกาะหนึ่งแมลงเยอะ หาแมลงกินได้ง่าย นกฟินช์ที่มีจงอยปากเล็กแบบกินแมลงได้เปรียบ ส่วนพวกจงอยปากใหญ่กินเมล็ดพืชหากินลำบาก เนื่องจากไม่ค่อยมีเมล็ดพืชให้หากิน นานไปก็อดตายหรือไม่ก็อพยพต่อไป ดังนั้นในที่สุดจึงเหลือแต่พวกจงอยปากเล็กที่เหมาะสำหรับกินแมลง

“ทีนี้มาดูเกาะสองบ้าง เกาะนี้อุดมด้วยเมล็ดพืช แต่แมลงน้อย จงอยปากที่เหมาะกินเมล็ดพืชคือจงอยปากใหญ่เพราะแข็งแรง ขบเมล็ดให้แตกได้ นานไปพวกจงอยปากแบบอื่นๆบนเกาะสองก็อาจอดตายหรืออพยพไปถิ่นอื่น ดังนั้น ในที่สุดเกาะสองนี้จะเหลือแต่นกฟินช์จงอยปากใหญ่กินเมล็ด



นกฟินช์บนเกาะที่แห้งแล้ง มีแต่ตะบองเพชร ธรรมชาติได้คัดเลือกให้นกฟินช์ที่มีจงอยปากเรียวยาว ล้วงเข้าไปกินน้ำหวานในดอกตะบองเพชรได้ เป็นผู้ที่อยู่รอดบนเกาะนี้ ส่วนจงอยปากแบบอื่นที่กินน้ำหวานไม่สะดวกก็อดตายไป

“ต่อมาดูที่เกาะสาม เกาะนี้แล้ง มีแต่ตะบองเพชร แมลงนั้นมีอยู่แต่มักกินน้ำหวานอยู่ในดอกตะบองเพชร ดังนั้นจงอยปากที่เหมาะสมคือจงอยปากเรียวยาวเพื่อล้วงเข้าไปในดอกตะบองเพชร จงอยปากแบบอื่นหากินสู้ไม่ได้ สุดท้ายธรรมชาติของเกาะสามได้คัดเลือกว่านกฟินช์ที่มีจงอยปากเรียวยาวเหมาะที่จะอาศัยในเกาะนี้ พวกจงอยปากแบบอื่นที่ไม่เหมาะก็อาจอดตายหรือย้ายถิ่นออกไป

“กระบวนการนี้อาจกินเวลาหลายสิบหลายร้อยชั่วรุ่นของนก ธรรมชาติค่อยๆคัดเลือกอย่างช้าๆ ท้ายที่สุด นกฟินช์รุ่นเหลนๆๆๆที่อาศัยในแต่ละเกาะจึงมีลักษณะแตกต่างกันอย่างเด่นชัด ทั้งๆที่บรรพบุรุษของมันเดิมทีเป็นชนิดเดียวกัน มีความแตกต่างกันเพียงเล็กๆน้อยๆเท่านั้น”

“อือม์ พอเข้าใจบ้างแล้วละลุง แต่ก็ยังเลือนลาง มีตัวอย่างอีกไหมครับ” ลิงถาม

“หลังจากที่ดาร์วินกลับมาจากเดินทางสำรวจรอบโลกกับเรือบีเกิล ดาร์วินใช้เวลาศึกษาต่ออีกราว 20 ปีเพื่อปะติดปะต่อข้อมูลต่างๆเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดเป็นทฤษฎีวิวัฒนาการขึ้น โดยมีองค์ประกอบสำคัญก็คือสิ่งมีชีวิตต้องสืบพันธุ์ได้ ต้องเกิดสภาพที่ไม่เอื้อต่อการดำรงเผ่าพันธุ์ สิ่งมีชีวิตมีความผันแปรทางรูปลักษณ์ และธรรมชาติเป็นผู้คัดเลือกลักษณะที่เหมาะสมให้อยู่รอด

“ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินนั้นสามารถอธิบายกระบวนการเกิดสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆได้อย่างดี และสามารถพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ ซึ่งทฤษฎีของลามาร์คพิสูจน์ไม่ได้ แต่ว่าในยุคของดาร์วิน ดาร์วินเองและนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆก็อธิบายไม่ได้ว่าความผันแปรทางรูปลักษณ์นั้นเกิดจากอะไรกันแน่ ตอนนั้นรู้แต่เพียงว่าการผสมพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันแต่สายเลือดต่างกันเพื่อให้เกิดลูกหลานพันธุ์ทาง (ลูกพันธุ์ผสม) นั้นเป็นทางหนึ่งที่เอื้อให้เกิดความผันแปรทางรูปลักษณ์ให้มีหลากหลาย



กลไกการเกิดวิวัฒนาการของยีราฟคอยาว ในอดีต ยีราฟมีคอสั้น แต่ก็มีบางตัวที่คอยาวนิดหน่อยเนื่องจากมีความผันแปรทางรูปลักษณ์ ต่อมาเมื่อต้นไม้เตี้ยที่เป็นแหล่งอาหารของยีราฟขาดแคลน ยีราฟที่คอยาวกว่าจึงได้เปรียบเนื่องจากกินใบไม้จากต้นไม้สูงได้ ส่วนยีราฟคอปกติก็ค่อยๆล้มตายไป นานวันเข้า ยีราฟคอปกติล้มตายไปจนหมด ส่วนยีราฟที่คอยาวมีอาหารกินและขยายพันธุ์ได้ต่อไป ยีราฟในรุ่นหลังจึงกลายเป็นยีราฟคอยาวเนื่องจากธรรมชาติเป็นผู้คัดเลือกให้ยีราฟคอยาวเหมาะสมที่จะดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป ส่วนยีราฟคอสั้นก็ถูกธรรมชาติกำจัดออกไปให้สูญพันธุ์

“เอาละ ทีนี้ดูกันอีกสักตัวอย่างก็ได้ ยกตัวอย่างยีราฟละกัน เราจินตนาการกันว่าเมื่อสมัยก่อนโน้น อาจจะสักล้านปีก่อน ยีราฟมีคอสั้นๆแบบม้าหรือม้าลาย

“ทีนี้คอยีราฟก็ไม่ใช่ว่าจะสั้นเท่ากันเป๊ะทุกตัว ก็มีสั้นๆยาวๆแตกต่างกันนิดหน่อย นี่คือความผันแปรทางรูปลักษณ์หรือ phenotypic variation ที่ลุงกล่าวเอาไว้แล้ว

“อาหารของยีราฟคือใบไม้ตามต้นไม้เตี้ยๆ ทีนี้อยู่มาในยุคหนึ่ง ยีราฟมีจำนวนมากขึ้น อาหารที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็กลับกลายเป็นขาดแคลน ใบไม้จากต้นเตี้ยๆถูกเล็มกินจนหมด ก็เกิดการแก่งแย่งอาหารกัน พวกที่แย่งไม่ได้ก็อดตายกันไป นี่คือสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการดำรงเผ่าพันธุ์

“แต่ยีราฟตัวไหนที่โชคดีเกิดมาคอยาวหน่อยก็เล็มใบไม้ต้นสูงกินได้ ก็ได้เปรียบยีราฟตัวอื่นๆ จนผ่านไปหลายชั่วรุ่น เมื่อไม้ต้นเตี้ยหมดไปจากป่าเพราะถูกกินจนโกร๋นตายไปหมด ยีราฟคอสั้นที่กินใบไม้จากต้นเตี้ยก็ต้องอดตายตามไปด้วย เหลือแต่พวกคอยาวหน่อยที่ชะแง้กินจากต้นสูงได้ที่อยู่รอดและสืบเผ่าพันธุ์ได้ ดังนั้นยีราฟในรุ่นต่อๆไปจึงมีคอยาวขึ้น เพราะลักษณะคอสั้นตายไปหมด ต่อมาพวกคอยาวหน่อยก็จะอาหารหมดและตายเช่นกัน พวกคอยาวมากๆจึงจะอยู่รอดได้ กระบวนการนี้ดำเนินไปเรื่อยๆ ช้าๆ หลายสิบหลายร้อยรุ่น จนในที่สุดได้มาเป็นยีราฟที่คอยาวเฟื้อยเช่นทุกวันนี้ นี่คือการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติที่ธรรมชาติเลือกเอาผู้ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมใหม่ให้มีชีวิตรอดและดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป


การผ่าเหล่า ต้นทางแห่งความเปลี่ยนแปลงเพื่ออยู่รอด


“เข้าใจดีขึ้นแล้วครับลุง แล้วทีนี้เรื่องการผ่าเหล่าล่ะ เป็นยังไงมายังไง” ลิงถามอีก

“ในยุคของดาร์วินนั้นอธิบายองค์ประกอบของวิวัฒนาการว่าเกิดการผันแปรทางรูปลักษณ์ ซึ่งเป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่มีความแตกต่างกันบ้างเล็กๆน้อยๆ และต่อมาก็พบว่าลูกหลานของสิ่งมีชีวิตที่เป็นพันธุ์ผสมหรือว่าเป็นพันธุ์ทางนั้นมีการผันแปรของรูปลักษณ์ต่างๆอย่างหลากหลาย แต่หากนำพันธุ์แท้ (สายเลือดแท้ true breed) มาผสมพันธุ์กันในสายเลือดเดียวกัน ลักษณะต่างๆจะนิ่ง ไม่เกิดความผันแปร ดังนั้นในยุคหลังจากดาร์วินจึงเกิดปมคำถามขึ้นมาว่าทำไมพันธุ์ผสมมีความผันแปร แต่พันธุ์แท้ไม่มีความผันแปรทางรูปลักษณ์ อะไรเป็นสาเหตุของความผันแปรทางรูปลักษณ์กันแน่ นักชีววิทยาในยุคต่อมาจึงไขปริศนาได้ และคำตอบก็คือการผ่าเหล่าที่เกิดในระดับยีน (genetic mutation) ซึ่งการผ่าเหล่านี้เป็นอุบัติเหตุของธรรมชาติ หรือธรรมชาติเล่นตลกนั่นเอง

“ดังนั้น ทฤษฎีวิวัฒนาการในยุคหลังจึงถูกขยายความออกมาอีกเพื่อให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นั่นคือ กลไกการเกิดวิวัฒนาการนั้นองค์ประกอบหนึ่งก็คือเกิดการผันแปรทางรูปลักษณ์ซึ่งเป็นผลมาจากการการผสมพันธุ์แบบพันธุ์ทาง แต่หากจะมองย้อนไปที่ต้นทางของความผันแปรจริงๆก็คือเกิดจากการผ่าเหล่านั่นเอง สิ่งมีชีวิตที่ผ่าเหล่าผ่ากอสามารถสืบพันธุ์ได้และผสมกับสายเลือดอื่นซึ่งสายเลือดอื่นก็อาจมีการผ่าเหล่ามาด้วยเช่นกัน ดังนั้นกลไกการผสมพันธุ์ทางจึงช่วยขยายความหลากหลายของรูปลักษณ์ให้แสดงออกมาได้”


การผสมพันธุ์ของสายเลือดเดียวกันและเป็นสายเลือดแท้ (true breed) ลูกหลานที่ได้จะมีรูปลักษณ์ที่นิ่ง ไม่เกิดความผันแปรของรูปลักษณ์ เช่นดอกไ้ม้สีม่วงพันธุ์แท้ ผสมกันอย่างไรก็ได้ลูกหลานที่ให้ดอกสีม่วงเช่นเดิม


การเกิดลูกหลานพันธุ์ทาง (พันธุ์ผสม hybrid) ทำให้ลูกหลานแสดงความผันแปรทางรูปลักษณ์ออกมา เช่น พ่อแดง แม่ขาว จะได้รุ่นลูกดอกสีชมพู แต่ในชั้นหลานอาจได้หลานที่มีดอกแดง ขาว ชมพู ถึงสามแบบ

ลุงแมวน้ำอธิบายจบก็ถอนหายใจ “โอย คอแห้ง ใครมีน้ำปั่นบ้าง”

“วันนี้ไม่ได้เตรียมมา” ลิงพูดหน้าตาเฉย “ลุงแมวน้ำแข็งใจทนคอแห้งเล่าต่อไปก่อนเถอะครับ ว่าทฤษฎีวิวัฒนาการนั้นเกี่ยวกับตลาดหุ้นตรงไหน”

“เกี่ยวสิ เพราะว่าการวิวัฒนาการคือกฎธรรมชาติ ไม่มีใครหนีกฎธรรมชาติพ้น แม้จะเป็นเรื่องธุรกิจ ตลาดทุน ก็อยู่ใต้กฎธรรมชาติ เช่นเดียวกับกฏธรรมชาติเรื่องวัฏจักรชีวิตเกิดแก่เจ็บตายนั่นแหละ ไม่มีใครเลี่ยงพ้น แม้แต่กิจการธุรกิจก็มีเกิด รุ่งเรือง เสื่อม และดับ เช่นเดียวกับการเกิดแก่เจ็บตายของสิ่งมีชีวิต ดังที่ลุงเคยเล่าให้ฟังยังไงล่ะ” ลุงแมวน้ำตอบ

“ยังไงกันจ๊ะลุง” ยีราฟที่ยืนอ้าปากกว้างอยู่นานก็ถามขึ้นบ้าง


ต้นทางของการเกิดความผันแปรทางรูปลักษณ์สืบเนื่องมาจากการผ่าเหล่าผ่ากอ (mutation) สิ่งมีชีวิตที่เกิดมาผ่าเหล่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ผิดแผกจากสายเลือดเดียวกัน เพราะธรรมชาติเล่นตลก คุณสมบัติที่ผิดแผกผ่าเหล่านี้อาจทำให้สายเลือดนั้นเกิดวิวัฒนาการและอยู่รอดได้ ขึ้นอยู่กับว่าธรรมชาติจะคัดเลือก หากการผ่าเหล่านั้นเอื้อต่อการดิ้นรนอยู่รอดฝ่าภัยคุกคาม สิ่งมีชีวิตนั้นก็เกิดวิวัฒนาการในที่สุด แต่หากการผ่าเหล่าไม่ช่วยในการอยู่รอด ลักษณะนั้นจะถูกธรรมชาติกำจัดไปในที่สุด


“ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่เราสอนกันในวิชาการประกอบธุรกิจว่าการดำเนินธุรกิจอยู่รอดได้นั้นหลักการสำคัญประการหนึ่งก็คือผลิตภัณฑ์หรือบริการต้องมีความแตกต่างกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ หรือที่เรียกว่ามี differentiation ไง การที่จะแหวกแนวหรือฉีกแนวให้แตกต่างได้ นั่นก็คือการผ่าเหล่าผ่ากอนั่นเอง ใช่ไหมล่ะ” ลุงแมวน้ำตอบ “differentiation ในทางธุรกิจก็คือ mutation ของทฤษฎีวิวัฒนาการนั่นเอง

“การมีความแหวกแนวและตลาดยอมรับ นั่นคือมีการผ่าเหล่าและธรรมชาติเลือกสรรเอาไว้แล้วให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ ธุรกิจก็อยู่รอดได้นั่นเอง” ลุงแมวน้ำสรุป

“อือม์ จริงแฮะ” ลิงยกหางเกาคางอย่างครุ่นคิด “มีตัวอย่างอื่นอีกไหมครับลุง”

“ยังมีอีกเยอะทีเดียว” ลุงแมวน้ำตอบ

Tuesday, January 6, 2015

ปี 2015 ในวิกฤติมีโอกาส หนทางข้างหน้ายังแจ่ม






เมื่อคืนน้ำมันดิบถล่มลงมาอีกราว -5% ราคาน้ำมันดิบ WTI ของตลาดอเมริกาหลุด 50 ดอลลงมาหน่อยนึง ก็ถือว่า 50 ดอลตัวเลขกลมๆ ดูกราฟ CL



ขณะเดียวกันยุโรปออกอาการไม่ดี เข้าสู่โหมดกังวลเรื่องกรีซอีก ดัชนีแดกซ์ DAX ของเยอรมนี -3% แต่ดัชนี STOXX50 ซึ่งถือเป็นดัชนีตัวแทนของทั้งกลุ่มยูโรโซน -3.7% ในกลุ่มยูโรโซนเยอรมนีจะดีกว่าเพื่อน เศรษฐกิจยังแกร่งกว่าชาติอื่นๆในกลุ่ม

ผลจากราคาน้ำมันดิบร่วงแรงทำให้หุ้นในกลุ่มพลังงานลงกันแรงด้วย ทำให้ตลาดหุ้นอเมริกาปรับตัวลง -1.8% แต่หากมองเฉพาะในกลุ่มพลังงานก็ลงไป -4%

ราคาน้ำมันดิบตอนนี้ WTI ลงมาถึงแนวรับสำคัญแล้ว 50 ดอล ดูกันว่าจะหลุดหรือไม่ หากหลุดก็ไปพบกันอีกทีที่ 35-37 ดอล ซึ่งลุงแมวน้ำก็ยังคิดว่าไม่น่าลงถึงขนาดนั้น ตอนนี้ยังมองแค่ 50 ดอลอยู่ แต่ถึงแม้จะลงไปลึกกว่านั้นก็ตาม นี่เป็นภาวการณ์ชั่วคราว เกิดจากสงครามราคาซึ่งเป้าหมายของทุกคนคือเอาตัวให้รอด ไม่มีใครลดราคาพลีชีพหรอก ดังนั้นตลาดน้ำมันดิบก็มีกลไกราคาของมันอยู่ ซึ่งในที่สุดจะเข้าสู่ภาวะสมดุลที่รายใหญ่แต่ละรายพออยู่กันได้

สำหรับตลาดหุ้นไทย ราคาหุ้นพลังงานคงลงอีก แต่การลงนี้เป็นปัจจัยทางจิตวิทยา หุ้นหลายกลุ่มไม่ได้รับผลกระทบเลยแต่ก็ยังลงได้ลึก ซึ่งนี่คือโอกาส ในวิกฤตของกลุ่มพลังงานยังเป็นโอกาสของกลุ่มอื่น แม้แต่ในกลุ่มพลังงานเองก็ตาม หากลงลึกเกินไปก็ยังเป็นโอกาสของนักลงทุนเช่นกัน แต่เนื่องจากตอนนี้ฝุ่นตลบในกลุ่มพลังงาน ประเมินอะไรได้ยาก ดังนั้นสำหรับกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โอกาสยังไม่ชัด ดูๆไปก่อน





ปี 2014 ที่ผ่านมา ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยไป -36,600 ล้านบาท  ดูกราฟ SET cumulative foreign trade ซึ่งแสดงยอดสะสมของการซื้อขายในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ปีที่แล้วในช่วงครึ่งปีหลังมีแรงซื้อเข้ามา ดูเหมือนฝรั่งจะเริ่มเข้า แต่สุดท้ายปลายปีเทขายออกมาอีก เท่าที่ประเมินสถานการณ์ตอนนี้ต่างชาติยังไม่เข้า ใกล้เลือกตั้งของเราแล้วก็คงเข้านั่นแหละ แต่หากเลือกตั้งยังไม่ชัดอาจยังไม่เข้า ท่องเที่ยวก็อาจยังฟื้นไม่ได้มากนักเนื่องจากกฎอัยการศึก ดังนั้นลุงแมวน้ำยังคงเห็นว่าควรเลี่ยงหุ้นกลุ่มที่ฝรั่งชอบลงทุนเอาไว้ก่อน ได้แก่ พลังงาน ธนาคาร ปูนใหญ่ หุ้นอะไรใหญ่ๆที่ต่างชาติลงทุนเยอะๆนั่นควรเลี่ยงไปก่อน พลังงานทางเลือก โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ต่างๆ แพงแล้วทั้งนั้น ของอะไรแพงคือซื้ออนาคตไปมาก ระวังหน่อยดีกว่า ยกเว้นตัวเดียวในกลุ่มที่เห็นว่ายังถูก คือ SPCG แต่กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกนั้นลุงแมวน้ำมองเป็นหุ้นมั่นคง ไม่ใช่หุ้นเก็งกำไร คือดอกผลตอบแทนค่อนข้างแน่นอน ภาวะเก็งกำไรนี้จะเกิดเพียงชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้นการเข้าลงทุนต้องพิจารณาดอกผลสำคัญกว่ากำไรจากส่วนต่างราคา

อีกกลุ่มที่ควรเลี่ยงไปก่อน คือกลุ่มบริโภค ทั้งพีอีแพงและพีอีถูก เพราะยังไม่ใช่จังหวะ แต่จังหวะจะมาภายในปีนี้ ตอนนี้เล็งตัวดีๆเอาไว้ก่อนอย่าเพิ่งเข้า

กลุ่มการลงทุนที่น่าสนใจยังมองเช่นเดิม รับเหมาก่อสร้าง หุ้นที่ผลงานดี พี่อียังต่ำ ยังมีให้ลงทุน แต่ต้องดูงบการเงินหน่อยนะ รับเหมาเป็นกลุ่มที่ขั้นตอนรั่วไหลหรือพลาดพลั้งมีมาก โอกาสพลิกเป็นขาดทุนมีสูง ดังนั้นต้องพิจารณาความสามารถในการประกอบธุรกิจให้ดีๆ ที่ความสามารถในการดำเนินงานต่ำควรเลี่ยงเช่นกัน ไม่อย่างนั้นเจอเพิ่มทุนอ่วม หุ้นต้นน้ำของกระบวนการก่อสร้างน่าสนใจกว่าเพื่อน

พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยก็เช่นกัน ควรเน้นที่รายใหญ่ เพราะการแข่งขันในธรกิจนี้สูง รายใหญ่ได้เปรียบกว่า ดู ROE ก็พอจะเห็นได้

และอีกกลุ่มที่ลุงแมวน้ำยังมองบวก คือสื่อสาร ดาวเทียม ไม่เห็นจะเกี่ยวกับราคาน้ำมันเลย แต่ลงเอาๆ ปีนี้ประมูล 4G กลุ่มนี้มีเฮ วันก่อนดาวเทียมหล่นไปหลุด 30 บาทวูบหนึ่งไม่รู้ใครตกใจขาย ผู้ที่เก็บได้ทันก็ถือว่าได้ลาภ

ใครที่กังวลกับตลาดหุ้นไทย ก็โน่น กองทุนจีน และอินเดีย ปีนี้ลุงมองสองประเทศนี้เด่นสุดคร้าบ ความผันผวนน่าจะต่ำด้วย ราคาน้ำมันลงเป็นอานิสงส์ต่อสองประเทศนี้ด้วย ลงทุนแล้วไม่ใจหาย กองญี่ปุ่น ยุโรป เกาหลี ลุงคิดว่าควรเลี่ยง อเมริกาก็ยังพอได้แต่อาจมีใจหายใจคว่ำบ้าง ปีนี้เน้นกองทุนรายประเทศอีกว่า อย่าเหมาเป็นภูมิภาค เช่น กลุ่มตลาดเกิดใหม่ เพราะไส้ในต่างกันมาก พวกตลาดเกิดใหม่ที่ไส้ในมีตะวันออกกลางกับละตินอเมมริกาเยอะๆก็อ่วม

ปี 2015 นี้คงเป็นปีที่ผันผวนและพลิกล็อกชนิดหักปากกากันทีเดียว ลุงแมวน้ำมองว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ การบริโภคจะฟื้นตัวและหนี้ครัวเรือนจะลดได้ในระดับที่น่าพอใจทีเดียว โอกาสเกิดเหตุการณ์ดังว่ามีประมาณ 60% เหลืออีก 40% คือเผื่อใจว่าแป้ก นี่คือมุมมองตอนนี้ แต่น้ำหนักความมั่นใจนี้จะเปลี่ยนไปได้ตามข้อมูลที่จะออกมา โปรดคอยติดตามกัน ลุงว่าไตรมาสแรกคงเห็นชัดคร้าบ

Saturday, January 3, 2015

เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ หมู่เกาะกาลาปาโกส กับทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน (2)



รับจ๊อบจนเหนื่อย ขอพักหน่อยคร้าบ ^_^


“แล้วที่ลุงบอกว่าที่หมู่เกาะนี้เป็นห้องทดลองธรรมชาติ ใช้ศึกษาปรากฏการณ์ทางวิวัฒนาการ หมายความว่ายังไงกันจ๊ะลุง” ยีราฟถามบ้าง

“ก็เพราะว่าที่นี่เป็นเสมือนกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้มนุษย์ค้นพบความลับอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ นั่นคือ ทฤษฎีวิวัฒนาการน่ะสิ” ลุงแมวน้ำตอบ

“ยิ่งฟังก็ยิ่งงง” ลิงบ่น “ทีแรกบอกเป็นห้องทดลอง ที่หลังกลายเป็นกุญแจไปเสียแล้ว ตกลงหมู่เกาะนี้จะเป็นอะไรกันแน่”

“ลุงกำลังจะเล่าให้ฟังอยู่นี่ไง” ลุงแมวน้ำพูด “พวกเราเคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่าเผ่าพันธุ์ของพวกเรามาจากไหน ทำไมยีราฟจึงเป็นยีราฟ ทำไมลิงจึงเป็นลิง และทำไมมนุษย์จึงเป็นมนุษย์”



วิวัฒนาการของลามาร์ก ยีราฟคอยาวและหนูถูกตัดหาง 20 รุ่น



“ถามอะไรแปลกๆ ไม่เคยคิดหรอกลุง ผมคิดแต่ว่าหุ้นตัวไหนน่าซื้อ” ลิงรีบตอบ “ลิงก็เป็นลิงละมั้ง คงมีมาแต่นานเนแล้ว”

“นายจ๋อก็คิดแต่เรื่องหุ้น” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “ลุงถามแม่ยีราฟบ้างดีกว่า แม่ยีราฟเคยคิดบ้างไหมว่ายีราฟนั้นเผ่าพันธุ์ดั้งเดิมหน้าตาเป็นอย่างไร และหากลุงบอกว่าเผ่าพันธุ์ยีราฟแต่เดิมนั้นคอสั้นๆเหมือนม้าลาย จะเชื่อไหม”

“พวกฉันมาจากไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่หากลุงบอกว่าบรรพบุรุษของฉันเคยคอสั้นเหมือนม้าลาย ก็เชื่อยากอยู่” ยีราฟตอบ “ลุงอ่านนิยายมากเกินไปหรือเปล่า”

“พวกมนุษย์น่ะสงสัยกันมานานแล้วว่าสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดนั้นมาจากไหน ในสมัยก่อน คือเมื่อสองพันปีก่อนจนมาถึงยุคกลางหรือเมื่อประมาณ 500 ปีมาแล้ว ซึ่งก็คือยุคที่คริสต์ศาสนามีอิทธิพลในโลกตะวันตกคือทางฝั่งยุโรป ชาวตะวันตกเชื่อกันว่าสิ่งมีชีวิตต่างๆเป็นผลงานการสร้างของพระเจ้า นั่นก็คือ เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตแต่เดิมเป็นยังไงก็เป็นยังงั้นเรื่อยมา แต่ต่อมาเมื่อวิทยาการในโลกก้าวหน้าขึ้น บรรดานักคิดและนักวิทยาศาสตร์ต่างก็พยายามหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งมีชีวิตเดิมเป็นยังไงก็เป็นยังงั้นจริงหรือไม่ หรือมีการเปลี่ยนเปลงพัฒนาได้” ลุงแมวน้ำเล่า

“แล้วคิดกันออกมั้ยลุง” ลิงถาม

“ก็มีนักวิทยาศาสตร์หลายคนเสนอความคิดว่าสิ่งมีชีวิตนั้นเปลี่ยนแปลงพัฒนาได้” ลุงแมวน้ำตอบ “อย่างเช่นลามาร์ค (Lamarck, ค.ศ. 1744-1829) ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชีวิตอยู่ในสมัยศตวรรษที่ 18 ได้เสนอทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีใจความสำคัญคือสิ่งมีชีวิตนั้นเปลี่ยนแปลงได้ วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงจากรูปแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบเกิดจากการใช้และไม่ใช้”


ลามาร์ค นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสในยุคศตวรรษที่ 18 ลามาร์คเสนอทฤษฑีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตด้วยการใช้และไม่ใช้อวัยวะต่างๆ ซึ่งแม้แต่ลามาร์คเองก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ ทฤษฎีนี้ต่อมาอีกไม่กี่สิบปีภายหลังก็ถูกหักล้างด้วยทฤษฎีของดาร์วิน แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดของลามาร์คยังเชื่อต่อๆกันมานับศตวรรษแม้แต่ในทุกวันนี้


“ยังไงกันฮะลุง ใช้และไม่ใช้” กระต่ายน้อยถามบ้าง

“ทฤษฎิวิวัฒนาการของลามาร์คนั้นกล่าวว่าสิ่งมีชีวิตใช้อวัยวะอะไรมาก อวัยวะนั้นก็จะพัฒนาใหญ่โตแข็งแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และหากอวัยวะใดไม่ได้ใช้ก็จะค่อยๆลีบเล็กลง และลักษณะของอวัยวะที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นท่ายทอดสู่ลูกหลานได้ด้วย” ลุงแมวน้ำเล่า “ยกตัวอย่างเช่น ลามาร์คอธิบายคอที่ยาวเฟื้อยของยีราฟว่าเมื่อก่อนนั้นก็ไม่ยาวหรอก แต่ว่าต้องชะเง้อคอกินผลไม้จากต้นไม้สูงๆอยู่เป็นนิจสิน นานเข้าคอก็ยืดยาวออกไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นยีราฟคอยาวในทุกวันนี้”

“ฟังดูก็มีเหตุผล” ลิงพูด

“ทฤษฎีของลามาร์คนั้นต่อมาอีกเพียงไม่กี่สิบปีก็ถูกหักล้างโดยทฤษฎีวิวัฒนาการของชาลส์ ดาร์วิน แต่น่าแปลกที่ยังมีคนเชื่ออยู่จนถึงทุกวันนี้ อย่างเช่น ที่เรามักพูดกันเล่นๆว่ามนุษย์เราสมัยนี้เอาแต่จิ้มแช็ตด้วยโทรศัพท์มือถือ อีกหน่อยมือจะมีแต่นิ้วหัวแม่โป้งที่โตเบ้อเริ่ม นิ้วอื่นๆลีบไปหมด หรือที่บอกว่าเดี๋ยวนี้มนุษย์เราไม่ค่อยใช้แรงงานใช้แต่สมอง อีกหน่อยจะแขนขาลีบและหัวโตเบ้อเริ่ม คำกล่าวล้อเล่นเหล่านี้ล้วนแต่สะท้อนถึงความเชื่อในทฤษฎีใช้และไม่ใช้ของลามาร์ค” ลุงแมวน้ำพูด

“อ้าว มันไม่จริงยังงั้นหรอกเหรอครับ” ลิงแปลกใจ

“เรื่องน่าทึ่งก็อยู่ตรงนี้แหละ ทฤษฎีวิวัฒนาการของลามาร์คด้วยการใช้หรือไม่ใช้นั้นนั้น แม้แต่ลามาร์คเองก็พิสูจน์ไม่ได้ เป็นเพียงการคาดคะเนเอาเท่านั้น แม้จะมีผู้พยายามทดลองโดยการตัดหางหนูถึง 20 รุ่นต่อเนื่องกัน แต่หนูรุ่นที่ 21 ก็ยังมีหางยาวเข่นเดิม” ลุงแมวน้ำพูด

“อูย ทดลองอะไรกัน โหดร้าย” กระต่ายน้อยอุทาน



วิวัฒนาการของดาร์วิน กุญแจอยู่ที่นกฟินช์ในกาลาปาโกส



“การเดินทางไปสำรวจที่หมู่เกาะกาลาปาโกสของดาร์วินเมื่อเกือบ 200 ปีก่อนนี่แหละ ทำให้ต่อมาไขความลับของธรรมชาติและพิสูจน์ว่าสิ่งมีชีวิตเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการรูปแบบไปได้อย่างมากมาย ยกตัวอย่างเช่นปลาวาฬนั้นเดิมเป็นสัตว์สี่ขาอยู่บนบก หรือว่าคนมีสายวิวัฒนาการร่วมกับลิง ที่เป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่าคนวิวัฒนาการมาจากลิงนั่นเอง” ลุงแมวน้ำตอบ

“ใช่ฮะ คนวิวัฒนาการมาจากลิง ผมเคยได้ยินมาเหมือนกัน แสดงว่าน้าจ๋อเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์” กระต่ายน้อยหัวเราะชอบใจ “แล้วกระต่ายมาจากอะไรฮะเนี่ย”

“หมู่เกาะที่ญาติลุงแมวน้ำแอ๊บแบ๊วขอปลากินเนี่ยนะที่เป็นกุญแจไขความลับ ยังงั้นเล่ามาเลยลุง” ลิงท่าทางกระตือรือร้นสนใจ “ถ้ายังงั้นผมก็มีโอกาสกลายเป็นมนุษย์ละสิ”

“ว่าไปโน่น” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin, ค.ศ. 1809-1882) เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษในสมัยศตวรรษที่ 19 เมื่อสมัยยังวัยรุ่น อายุราวๆ 17 ปี ดาร์วินเข้าเรียนในสาขาแพทยศาสตร์ แต่เมื่อเรียนไปได้สักพักก็รู้สึกว่าตนเองชอบศึกษาทางธรรมชาติวิทยามากกว่า จึงเบนเข็มชีวิตไปทางด้านธรรมชาติวิทยา


ชาลส์ ดาร์วิน ในวัยหนุ่ม

“ตอนที่อายุ 22 ปี ดาร์วินตัดสินใจเข้าร่วมเดินทางไปกับเรือบีเกิล (HMS Beagle) อันเป็นเรือสำรวจทางธรรมชาติวิทยาที่เดินทางไปสำรวจยังดินแดนต่างๆรอบโลกซีกใต้ เดิมทีดาร์วินคาดว่าการเดินทางสำรวจน่าจะกินเวลาประมาณ 2 ปี แต่ที่ไหนได้ กลายเป็นว่าต้องผจญภัยและสำรวจไปในดินแดนต่างๆรอบโลกนานถึง 5 ปี


เรือบีเกิลซึ่งเป็นเรือสำรวจทางด้านวิทยาศาสตร์ ออกเดินทางสำรวจซีกโลกภาคใต้เป็นเวลา 5 ปี ในช่วง 1831-1836 โดยชาล์ส ดาร์วิน ร่วมเดินทางไปด้วย

“ดาร์วินออกเดินทางจากเมืองพลีมัท ประเทศอังกฤษในปลายปี 1831 อ้อมทวีปอเมริกาใต้ ผ่านหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ และอ้อมขึ้นไปที่หมู่เกาะกาลาปาโกส จากนั้นเดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังทวีปออสเตรเลีย ผ่านไปมหาสมุทรอินเดีย และเข้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติก อ้อมผ่านทวีปแอฟริกา แวะที่อเมริกาใต้อีกครั้ง จากนั้นก็กลับอังกฤษ กว่าจะกลับถึงบ้านก็ปี 1836 โน่น”


เส้นทางเดินเรือสำรวจรอบโลกซีกใต้ของเรือบีเกิลเมื่อราว 200 ปีมาแล้ว

“ฟังแล้วน่าสนุกจังฮะ ผมอยากไปผจญภัยแบบนั้นบ้าง” กระต่ายน้อยกระดิกหางดุ๊กดิ๊กอย่างกระตือรือร้น

“เรือลำนี้เป็นโครงการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงมีนักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติวิทยาไปกับเรือด้วยมากมาย ดังนั้น นอกจากหนุ่มน้อยดาร์วินจะต้องทำงานเก็บตัวอย่างพืช สัตว์ ฟอสซิล และวาดภาพและจดบันทึกสิ่งต่างๆที่พบแล้วยังได้เพิ่มพูนความรู้ต่างๆอย่างกว้างขวางจากเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมในเรือไปด้วย เช่น ชีววิทยา กีฏวิทยา (เกี่ยวกับแมลง) บรรพชีวินวิทยา (เกี่ยวกับฟอสซิล) ธรณีวิทยา ฯลฯ

“จากการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งการสังเกตสิ่งมีชีวิตที่พบในดินแดนต่างๆ เมื่อดาร์วินมองในภาพกว้างก็พบว่าสิ่งมีชีวิตที่อยู่ต่างถิ่นกันจะมีรูปลักษณะแตกต่างกัน แม้ว่าสองถิ่นที่อยู่จะมีภาพแวดล้อมและภูมิอากาศคล้ายกัน แต่สิ่งมีชีวิตที่พบกลับไม่เหมือนกัน และดาร์วินยังสังเกตพบว่าระดับความสูงของถิ่นที่อยู่กับที่ตั้งตามแนวเส้นรุ้งมีผลต่อความผันแปรของสิ่งมีชีวิต

“นอกจากนี้ บรรดาซากโบราณที่มีอายุต่างๆกันซึ่งทับถมในถิ่นเดียวกันก็มีลักษณะบางอย่างร่วมกัน ดาร์วินเริ่มสงสัยว่าสิ่งมีชีวิตที่อยู่ต่างยุคกันมีความเชื่อมโยงกันแต่ยังไปต่อไม่ถูก

“โดยเฉพาะเมื่อดาร์วินมาถึงหมู่เกาะกาลาปาโกส ดาร์วินสังเกตพบว่าเกาะที่ประกอบกันเป็นหมู่เกาะกาลาปาโกสนั้นแต่ละเกาะมีสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน บางเกาะแล้ง บางเกาะอุดมสมบูรณ์ บางเกาะเป็นภูเขา บางเกาะอยู่ที่ระดับน้ำทะเล พืชและสัตว์ในแต่ละเกาะก็แตกต่างกัน


หมู่เกาะกาลาปาโกสเป็นหมู่เกาะที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟและคาดว่าโผล่พ้นน้ำเป็นเกาะเมื่อราว 5 ล้านปีถึง 10 ล้านปีมาแล้ว 

“กุญแจสำคัญก็คือนกฟินช์ (finch) อันเป็นนกขนาดเล็ก ซึ่งก็คือกลุ่มนกกระจิบนกกระจอกนั่นเอง ดาร์วินพบว่านกฟินช์ที่กระจายอยู่ตามเกาะต่างๆในหมู่เกาะกาลาปาโกสมีหลายชนิด ซึ่งต่อมาภายหลังจำแนกได้ประมาณ 14 สปีชีส์ ความแตกต่างที่เด่นชัดคือจงอยปากที่แตกต่างกัน และยิ่งไปกว่านั้น จงอยปากที่แตกต่างกันนั้นผันแปรไปตามสภาพอาหารของแต่ละเกาะ เช่น จงอยปากใหญ่และสั้นเหมาะกับการกินเมล็ดผลไม้ขนาดใหญ่ จงอยปากขนาดกลางเหมาะกับการกินเมล็ดผลไม้ขนาดเล็ก และจงอยบางเล็กยาวเหมาะกับการกินแมลง เป็นต้น ทำไมนกฟินช์ตามเกาะต่างๆจึงมีจงอยปากที่ผันแปรไปตามความเหมาะสมกับแหล่งอาหาร และเดิมทีนกเหล่านี้มีบรรพบุรุษเดียวกันหรือไม่


ภาพแสดงเส้นทางการสำรวจของดาร์วินไปตามเกาะต่างๆในหมู่เกาะกาลาปาโกส พร้อมพื้ชและสัตว์ที่ดาร์วินพบบนเกาะในสมัยนั้น (คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดขยาย)


ภาพสเก็ตช์นกฟินช์บนเกาะกาลาปาโกสแสดงให้เห็นลักษณะจงอยปากที่แตกต่างกัน 4 ชนิด ฝีมือการวาดของดาร์วินเอง

ภาพโปสเตอร์นกฟินช์ 14 สปีชีส์บนเกาะกาลาปาโกสในปัจจุบัน สังเกตลักษณะของหัวนกและลักษณะของจงอยปากที่แตกต่างกัน ความแตกต่างเหล่านี้เกิดจากสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือแหล่งอาหาร ซึ่งนกฟินช์เหล่านี้คือกุญแจที่ทำให้ดาร์วินสามารถสืบสาวจนไขความลับของธรรมชาติเรื่องการวิวัฒนาการได้ในเวลาต่อมา ซึ่งในยุคนั้นเป็นแนวคิดที่ท้าทายศาสนจักรมาก (คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดขยาย)

“ดาร์วินในวัยหนุ่มยังไม่ได้คำตอบในตอนนั้น หลังจากที่กลับบ้านไปแล้วและศึกษาค้นคว้าต่ออีกราว 20 ปีจึงได้คำตอบ นั่นก็คือ ทฤษฎีวิวัฒนาการ โดยทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินนั้นมีคำอธิบายและมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ประกอบ อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์ในยุคต่อมายังพบหลักฐานสนับสนุนทฤษฎีนี้อย่างต่อเนื่องและต่อยอดขยายความทฤษฎีนี้ต่อไปอีก จนเป็นทฤษฎีที่ยึดถือและใช้อธิบายวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน โดยยังไม่มีหลักฐานที่หักล้าง

“ลุงแมวน้ำขอรวบรัดสรุปทฤษฎีวิวัฒนาการที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ก็แล้วกัน ว่าวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตจะเกิดขึ้นได้ด้วยองค์ประกอบ 3 ประการคือ

ข้อแรก สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการดำรงเผ่าพันธุ์
ข้อสอง สิ่งมีชีวิตเกิดการผ่าเหล่า
ข้อสาม เกิดการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติ”

“ยังไงกันฮะลุง ยังไม่เข้าใจ” กระต่ายน้อยทำหน้างุนงง

“นี่ลุงสรุปให้ฟังก่อนไง กำลังจะอธิบายขยายความให้ฟังต่อไป รวมทั้งการเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจด้วย” ลุงแมวน้ำตอบ