เช้าวันสงกรานต์ แม้ว่าอากาศจะร้อนอบอ้าว แต่ว่าโขดหินของลุงแมวน้ำก็เย็นสบายพอสมควร ขณะที่ลุงแมวน้ำกำลังนอนผึ่งพุงอยู่บนโขดหินแสนสุขอยู่นั้นเอง ลิงจ๋อ แม่ยีราฟ กระต่ายน้อย และสมาชิกอื่นๆอีกหลายตัวในคณะละครสัตว์ก็แวะมาหา
“วู้ ลุงแมวน้ำ พวกเรามารดน้ำดำหัวลุงแน่ะ” ลิงจ๋อส่งเสียงเอะอะมาแต่ไกล
“ไม่น่าต้องลำบากเลย” ลุงแมวน้ำพูด
“ไม่ลำบากหรอกฮะ พวกเราจะมาขออั่งเปาด้วย” กระต่ายน้อยพูด
“อั่งเปานี่มันสำหรับตรุษจีนนี่ จะรออั่งเปาคงต้องรอปีหน้าละมั้ง” ลุงแมวน้ำอ้าปากค้าง เพราะไม่เคยเจอธรรมเนียมแจกอั่งเปาในวันสงกรานต์
“ไม่เป็นไรลุง พวกเราไม่ถือ จีนไทยไม่ใช่อื่นไกลพี่น้องกัน ตรุษไทยจะผสมธรรมเนียมจีนบ้างก็ได้” ลิงจ๋อพูดหน้าตาย
“ลุงไม่ได้เตรียมเอาไว้น่ะสิ” ลุงแมวน้ำพูด “ไม่รู้ล่วงหน้านี่”
“ถ้ายังงั้นวันหลังค่อยมารดละกัน” ลิงจ๋อพูด “พวกเรา กลับกันก่อน”
“วุ้ย นายจ๋อบ้า” แม่ยีราฟดุ “ชอบแกล้งลุงแมวน้ำเสียเรื่อยเชียว ลุงอย่าไปฟังนายจ๋อ นายนี่ติดหุ้นจนเพี้ยนแล้ว”
“เอาเถอะ รดก็ได้ ไม่รดก็ได้ ตามสะดวกละกัน” ลุงแมวน้ำพูด
“รดสิคร้าบ ผมชอบแกล้งลุงแมวน้ำจัง ไม่รู้เป็นอะไร” ลิงจ๋อหัวเราะ
“เป็นโรคจิตไงฮะ” กระต่ายน้อยพูดบ้าง
“กลับไปลงหมวกเลย ไม่ต้องพูดมาก” ลิงดุกระต่าย
หลังจากที่หยอกล้อกันพอสนุกสนาน การรดน้ำดำหัวก็เริ่มขึ้น หลังจากที่รดน้ำเสร็จ บรรดาสมาชิกก็แยกย้ายกันกลับ เหลือเพียงแม่ยีราฟที่โอ้เอ้ ส่วนลิงจ๋อกับกระต่ายก็นั่งอยู่บนหลังแม่ยีราฟ
“ลุงแมวน้ำจ๊ะ ขอถามอะไรหน่อย” ยีราฟกระแอม
“เอาสิ ลุงตอบให้ฟรีๆ ไม่คิดเงินหรอก” ลุงแมวน้ำหัวเราะที่เห็นแม่ยีราฟท่าทางจริงจัง
“ฉันอยากรู้ว่าฉันควรมีเงินเก็บสักเท่าไรจึงจะมีชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุขน่ะ” ยีราฟถาม
“โอ๊ย คุณเธอมาถามอะไรเอาตอนนี้ ยังสาวอยู่เลย” ลิงจ๋อขำ
“ฉันน่ะวัยกลางยีราฟแล้ว ต้องคิดเตรียมการสำหรับอนาคตไว้บ้าง นายจ๋อก็ต้องคิดไว้บ้างนะ วันๆเอาแต่ลอยไปลอยมา” ยีราฟเตือน
“อ้าว ฉันก็โหนกิ่งไม้ไปมา วันๆก็ต้องลอยไปลอยมาอยู่แล้ว” ลิงจ๋อพูดตลก แต่สังเกตดูท่าทางก็อึ้งไปนิดหนึ่ง
“ว่าไงจ๊ะลุง” ยีราฟถามอีก “ฉันอยากรู้ จะได้เตรียมเก็บเงินเอาไว้”
ยีราฟสาวตัวนี้มีนิสัยเก็บหอมรอมริบอีกทั้งยังมักวางแผนชีวิตเอาไว้ล่วงหน้า ต่างจากลิงจ๋อที่สนุกสนานเฮฮา ไม่ค่อยคิดวางแผนอนาคตเท่าไรนัก
“ที่แม่ยีราฟถามนั้นก็ตอบได้ยาก เพราะว่าคำตอบมีอยู่หลากหลาย ขึ้นกับปัจจัยหลายๆอย่าง” ลุงแมวน้ำพูดอย่างใช้ความคิด “มันต้องมีรายละเอียดมากกว่านี้ อย่างเช่นว่าต้องการมีคุณภาพชีวิตระดับไหนหลังจากที่เกษียณไปแล้ว จำนวนเงินออมที่แตกต่างกันย่อมส่งผลให้คุณภาพชีวิตหลังเกษียณแตกต่างกันออกไป”
“ก็เอาแบบที่ฉันพอมีกำลังทำได้นั่นแหละลุง” ยีราฟตอบแบบเอากีบเท้าทุบดิน
“เอาล่ะ ลุงพอเข้าใจ” ลุงแมวน้ำพูด “แม่ยีราฟเองตอนนี้อาจยังวาดภาพตนเองเมื่อหลังเกษียณไม่ออก ระดับคุณภาพชีวิตหลังเกษียณก็ขึ้นกับกำลังในการออมยามหนุ่มสาวด้วย ไม่ใช่ว่าอยากสบายเท่าไรก็จะไปถึงจุดนั้นได้”
“ถ้ายังงั้นคงต้องคุยกันต่อละ ไปนั่งที่สวนข้างโขดหินกันดีกว่า” ลุงแมวน้ำเชิญชวน “นายจ๋อกับกระต่ายน้อยจะกลับก่อนไหม ลุงคงต้องคุยกับแม่ยีราฟสักพัก”
“ไม่กลับฮะลุง” กระต่ายน้อยบนหลังยีราฟส่ายหางดุ๊กดิ๊ก “ฟังลุงกับน้ายีราฟคุยกันดีกว่า”
“ผมก็ด้วย” ลิงจ๋อตอบ
พวกเราจึงเดินมานั่งคุยกันที่สวนข้างโขดหิน อันเป็นสถานที่ที่เรามักมานั่งคุยกันเป็นประจำอยู่แล้ว
“เอาล่ะ” ลุงแมวน้ำพูด “มาเข้าเรื่องกัน ฝรั่งเขามีการสำรวจและพบว่าหากต้องการมีชีวิตหลังเกษียณที่ใกล้เคียงกับก่อนเกษียณ ควรมีเงินใช้ราว 70% ของรายได้ก่อนเกษียณ”
“งง” ลิงจ๋อรีบพูด
“แปลง่ายๆว่า สมมติว่าก่อนเกษียณ มีรายได้เดือนละ 10,000 บาท เมื่อยามที่เกษียณไปแล้ว หากต้องการรักษาคุณภาพชีวิตให้ใกล้เคียงเดิม ก็ควรมีรายได้หลังเกษียณเดือนละ 7,000 บาท หากต่ำกว่านั้นมากเท่าไร คุณภาพชีวิตก็จะลดหย่อนลงไปตามส่วน”
“แล้วมันแปลว่าฉันต้องมีเงินเก็บเท่าไรล่ะลุง” ยีราฟยังไม่หายสงสัย “ลุงตอบมาเป็นตัวเลขชัดๆเลยสิ”
ลุงแมวน้ำเริ่มปวดหัวกับคำถาม แต่แล้วก็นึกอะไรขึ้นมาได้
“เอายังงี้” ลุงแมวน้ำพูด “ต้องมีสักห้าล้านสี่”
“เจี๊ยก” แม่ยีราฟร้อง “ทำไมมันเยอะยังงี้ ลุงแมวน้ำไปเอาตัวเลขมาจากไหน”
“แหม เธอนี่” ลิงจ๋ออดพูดไม่ได้ “พอลุงแมวน้ำบอกว่าตอบยาก เธอก็จะให้ฟันธงเอาตัวเลขมา พอลุงแมวน้ำบอกตัวเลข เธอก็ร้องเจี๊ยกเป็นลิง จะเอายังไงกันแน่”
“ก็ตกใจนี่ เงินมันเยอะ” ยีราฟพูด
“ที่จริงก็ไม่เยอะหรอกนะ” ลุงแมวน้ำพูด “เงิน 5,400,000 บาทนี้ถือว่าใช้ชีวิตได้ตามอัตภาพเท่านั้นด้วย ไม่ใช่สุขสบายหรูหรา”
“แล้วลุงไปเอาตัวเลขมาจากไหนน่ะ ผมก็ชักสงสัย” ลิงจ๋อสงสัยด้วย “ขนาดนี้ลุงยังบอกว่าแค่ตามอัตภาพ”
“ลุงจะอธิบายให้ฟัง” ลุงแมวน้ำพูดพลางดึงม้วนกระดาษออกมาจากหูกระต่าย เมื่อคลี่ออกมาก็เป็นตารางแผ่นหนึ่ง
“ลุงเคยคำนวณเอาไว้เล่นๆเมื่อสองสามปีก่อน พอดีวันนี้ได้ใช้ประโยชน์” ลุงแมวน้ำพูด “ก่อนอื่นลุงขอเท้าความสักหน่อย คือจากการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าปัจจุบันคนไทย 77.4% มีการเก็บออมเงิน และมีผู้ที่ไม่มีเงินออมเลยอยู่ 22.6%
“ทีนี้ในจำนวน 77.4% ที่มีเงินออมนั้น มีวัตถุประสงค์ในการออมเงินหลายแบบ เช่น ออมเพื่อการศึกษาบ้าง เพื่อซื้อข้าวของเครื่องใช้บ้าง ส่วนผู้ที่ออมเพื่อวัยเกษียณมีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
“และจากการสำรวจของทีดีอาร์ไอที่ทำในกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่าผู้สูงอายุไทยมีผู้ที่มีเงินออมอยู่เพียงหนึ่งในสามเท่านั้น พูดง่ายๆว่าคนแก่ 100 คน มีคนแก่ที่มีเงินออมเพียง 33 คนเท่านั้น ที่เหลืออีก 64 คนไม่มีเงินเก็บหรือเงินออม ต้องมีชีวิตหลังเกษียณที่ไม่ค่อยมั่นคง”
“หูย น่ากลัวจัง” แม่ยีราฟเริ่มวิตกจริต “แล้วฉันต้องทำยังไงเนี่ย”
“ยังไม่ต้องทำอะไร ฟังลุงเล่าให้จบก่อนสิ” ลุงแมวน้ำรีบขัด “เอ้า มาดูตารางกัน”
ลุงแมวน้ำพูดพลางคลี่ตารางกางให้ดูกันถนัดๆ
“นี่เป็นตารางที่ลุงคิดเอาไว้เมื่อปี 2554 เป็นการประเมินค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตหลังเกษียณ ว่าหากเกษียณในปีนั้นแล้วชีวิตหลังเกษียณจะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
“ค่าใช้จ่ายนั้นลุงก็ทำเอาไว้ให้ดูกันง่ายๆ รายจ่ายบางรายการเกิดเป็นประจำทุกวัน บางอย่างเกิดทุกเดือน ก็กรอกในช่องรายจ่ายประจำวันหรือประจำเดือน พวกที่เกิดไม่แน่นอน หรือนานๆมีค่าใช้จ่ายสักที ก็เหมาไปเลยเป็นรายปี แล้วทุกอย่างจะเอามาคำนวณในขั้นสุดท้ายว่ารวมแล้วปีหนึ่งมีค่าใช้จ่ายเท่าไร
“สำหรับตารางนี้ เป็นคุณภาพชีวิตหลังเกษียณ สำหรับค่าครองชีพในเมืองใหญ่ และใช้จ่ายอย่างประหยัด สำหรับคนเดียว อาศัยอยู่ในคอนโดหรือบ้านเดี่ยวมีเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง คือไม่มีภาระเรื่องผ่อนบ้านแล้ว
“ลุงจะยกตัวอย่างค่าใช้จ่ายบางรายการ จะเห็นว่าให้ค่าอาหารวันละ 100 บาทต่อคน ก็ไม่เหลือเฟือ ค่าเสื้อผ้าให้ปีละ 4000 บาท ก็ไม่มาก ผู้สูงอายุควรใส่ใจเรื่องเสื้อผ้านิดนึง ซื้อของใหม่สีสดใสบ้าง จิตใจจะสดชื่น อย่าใส่แต่เก่าๆ โทรมๆ จิตใจจะห่อเหี่ยว อันนี้เป็นจิตวิทยาผู้สูงอายุ
“ค่ารถให้วันละ 150 บาท ขึ้นรถไฟฟ้าบ้าง รถเมล์บ้าง ไปหาเพื่อนฝูง หรือไปเดินเล่นสวนสาธารณะ ค่าพักผ่อนหย่อนใจให้ปีละ 20,000 บาท ได้แค่ไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือไปฮ่องกงสิงคโปร์
“งานบ้านต้องทำเอง จ้างแม่บ้านไม่ได้เพราะต้องประหยัด ส่วนการออกกำลังกายก็คงได้แค่เป็นสมาชิกฟิตเนสของ กทม หรือตีแบด ตีเทนนิส ว่ายน้ำ เป็นครั้งคราว จะเป็นสมาชิกฟิตเนสคลับแบบหรูๆก็ไม่ไหว
“และที่สำคัญคือ ให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพปีละ 10,000 บาท หมายความว่าเจ็บไข้ได้ป่วยอะไรก็พึ่งบัตรทองทั้งหมด ขาดเหลืออะไรก็ควักกระเป๋าจ่ายเองได้เพียงปีละ 10,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเผื่อไว้ให้น้อยมาก นี่แหละที่ลุงว่าคุณภาพชีวิตตามแผนนี้ค่อนข้างจำกัดจำเขี่ย ไม่ได้หรูหราอะไรเลย
“ทีนี้ตามตาราง จะเห็นว่าหากเกษียณปี 2554 ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณในปี 2554 จะเป็น 246,500 บาทต่อปี ปีนี้ลุงถือว่าเป็นปีฐานในการคำนวณ หากไม่เกษียณในปี 2554 จะเกษียณปีไหนล่ะ สมมติปี 2566 ณ ปีนั้น ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจะกลายเป็นปีละ 331,515 บาทต่อปี เพราะผลจากเงินเฟ้อนั่นเอง
“เอาละ สมมติว่าทำงานถึงปี 2565 คือแม่ยีราฟอายุ 60 ปีและในปีนั้นมีเงินออม 5,400,000 บาท ตัวเลขนี้ลุงสมมติขึ้นมาลอยๆก่อน เงินออมห้าล้านสี่แสนบาทในปี 2566 หากเงินนั้นไม่ได้งอกเงยให้ผลตอบแทนใดๆอีกเลย เงินก้อนนั้นแม่ยีราฟก็จะใช้ไปได้อีกจนถึงอายุ 74 ปีเท่านั้น”
“แล้วถ้าฉันอายุยืนกว่านั้นล่ะ” ยีราฟสงสัย
“อ้าว ไม่รู้แล้ว ก็เงินหมดแล้วนี่ จะอยู่ต่อยังไงนั่นคือปัญหา” ลุงแมวน้ำตอบ “แต่ถ้าเงินห้าล้านสี่นั้นแม่ยีราฟเอาไปลงทุนและให้ผลตอบแทนบ้าง สัก 5% ต่อปี แม่ยีราฟก็จะประวิงเวลาใช้เงินไปได้จนอายุ 80 ปีกว่าที่เงินจะหมด และถ้าแม่ยีราฟสร้างผลตอบแทนจากเงินออมได้ปีละ 8% แม่ยีราฟก็จะมีเงินใช้จนถึงอายุ 93 ปี กว่าที่เงินจะหมด ดังนั้นเงินออมที่ต้องเก็บออมเอาไว้ก็สำคัญ และที่สำคัญอีกอย่างคือต้องรู้จักให้เงินทำงานด้วย ไม่อย่างนั้นจะอยู่ได้ยาก ดังที่ลุงยกตัวอย่างมาให้ดู” ลุงแมวน้ำสรุป
“แล้วถ้าอยากมีชีวิตที่สบายขึ้นกว่านี้ละลุง ต้องมีเงินออมสักเท่าไร” ลิงจ๋อชักสนใจและถามขึ้นมาบ้าง