ความเปลี่ยนแปลงของเงินบาทเทียบกับเงินสกุลต่างๆในรอบ 1 ปี (มีนาคม 2014- มีนาคม 2015) |
วันนี้เรามาอัปเดตสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนหรือสถานการณ์ค่าเงินกันบ้าง ช่วงนี้อะไรๆเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว บางเรื่องลุงก็ตามอัปเดตไม่ค่อยทัน ได้แต่เลือกเรื่องที่สำคัญทยอยมาเล่าสู่กันฟัง
สืบเนื่องจากการที่ญี่ปุ่นใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินหรือว่าคิวอีตั้งแต่ปีที่แล้ว อัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ ทำให้เงินเยนอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเร็วๆนี้ทางธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ก็ประกาศว่าจะผ่อนคลายทางการเงินด้วยการทำคิวอีบ้าง โดยอัดฉีดเงินเข้าซื้อพันธบัตรและตราสารอื่นรวมแล้วเดือนละ 6 หมื่นล้านยูโรไป 18 เดือน เริ่มปล่อยเงินอัดฉีดตั้งแต่มีนาคม 2015 หรือเดือนนี้นั่นเอง
ผลจากการทำคิวอีของญี่ปุ่นและยูโรโซน (ที่จริงเงินคิวอีของยูโรโซนเริ่มซื้อพันธบัตรหรือยังก็ไม่รู้เพราะนี่เพิ่งต้นเดือนมีนาคม แต่ว่าตลาดก็รับข่าวไปเรียบร้อยแล้ว) ทำให้เงินเยนและยูโรแข่งกันอ่อนค่า ธนาคารกลางของทุกประเทศก็รู้ดีว่าเงินเยนและเงินยูโรต้นทุนถูกๆเหล่านี้อาจไปแสวงหาผลประโยชน์ในประเทศอื่นๆ เนื่องจากปริมาณเงินมหาศาล การแสวงหาผลตอบแทนจากในบ้านตนเองก็มีขีดจำกัด ดังนั้นจึงต้องไหลออกไปยังประเทศอื่นๆ
ส่วนหนึ่งของเป้าหมายที่เงินต้นทุนถูกเหล่านี้ไหลออกไปแสวงหาประโยชน์ก็คือประเทศในย่านเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เพราะกลุ่มประเทศเหล่านี้มีอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรที่สูงพอควร ส่วนใหญ่ก็ตั้งแต่ 2% กว่าๆเป็นต้นไป แค่เข้าไปซื้อพันธบัตรก็ยังได้ผลตอบแทนดีกว่าอยู่ในบ้านตนเอง รวมทั้งหากเข้าตลาดหุ้นก็อาจได้ผลตอบแทนสูงขึ้น และนอกจากนั้นยังอาจได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย
ประเทศต่างๆก็รู้แกว เพราะเคยเจอกันมาแล้ว มุขนี้ไม่ใช่มุขใหม่ เมื่อเงินไหลเข้าประเทศมากๆ ค่าเงินของตนก็จะแข็ง ยิ่งพวกประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เน้นการส่งออก หากค่าเงินแข็งงก็เสียเปรียบ อย่ากระนั้นเลย ประเทศต่างๆจึงตั้งการ์ดสู้กับการไหลบ่าของกระแสเงินด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พยายามกดค่าเงินของตนเองให้อ่อนเพื่อป้องกันเงินไหลบ่าเข้า กับเพื่อรักษาผลประโยชน์ด้านการส่งออกด้วย นอกจากนี้หลายๆประเทศสภาพคล่องทางเศรษฐกิจเริ่มไม่ค่อยดี การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยผ่อนคลายทางเศรษฐกิจของตนเองอีกด้วย ก็มีประโยชน์หลายอย่าง แต่ผลเสียก็มี ผลคือหนี้เพิ่ม ก็ต้องชั่งใจเอา
ประเทศต่างๆในโลกลดอัตราดอกเบี้ยกันถ้วนหน้า ยุโรปนี่ก็ลดหลายประเทศ แต่เราจะมาเน้นที่ย่านเอเชียกัน จีนนี่ไม่กี่เดือนมานี้ลดสองรอบแล้ว ออสเตรเลียก็ลด อินเดีย อินโดนีเซีย ก็ลด เราลองมาดูตารางนี้กัน
ยกตัวอย่างในตาราง เงินบาทแลกยูโร (บาท --> ยูโร) 22.6% หมายความว่าตอนต้นปีกับวันที่ 3 มีนาคม เงินบาทแลกยูโรได้มากขึ้น 22.6% แปลความว่าในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาเงินยูโรอ่อนตัวลง 22.6% นั่นเอง
จากในตาราง แปลว่าในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา เงินเยนอ่อนตัวลง 17.07% เทียบกับเงินบาท
และก็แปลว่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์อ่อนค่ากว่าเงินบาท 7.3% เงินริงกิตมาเลเซียอ่อนตัวลง 10.7% เงินรูเปียอินโดนีเซียอ่อนตัวลง 11.7%
ทีนี้ลุงแมวน้ำนำกราฟแสดงความเปลี่ยนแปลงของค่าเงินสกุลต่างๆมาให้ดูกันเป็นรายสกุลเงินเลย
เงินสกุลเอเชียที่เป็นประเทศส่งออกส่วนใหญ่อ่อนค่าลง จีนนั้นเดิมทีค่าเงินหยวนแข็ง แต่แล้วก็ทนไม่ไหว ไปทำอะไรมาก็ไม่รู้ ค่าเงินหยวนในตอนปลายปี 2014 อ่อนตัวฮวบฮาบ จนตอนนี้ก็อ่อนกว่าเงินบาท ตารางนี้สะท้อนให้เห็นว่าเงินบาทแข็งกว่าเพื่อนบ้านที่ส่งออกด้วยกัน หากแข็งค่ากว่ามากก็แข่งขันลำบาก นอกจากนี้ สินค้าส่งออกของไทยในปัจจุบันยังเสียศักยภาพในการแข่งขันไปด้วย ก็ยิ่งลำบากมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่นเงินยูโรอ่อนค่า ตอนนี้คนไทยหากไปเที่ยวยุโรปก็ถือว่าได้เปรียบเพราะราคาค่าทัวร์ถูกลง แต่ผู้ส่งออกไปยุโรปลำบาก เนื่องจากลูกค้ายุโรปบอกว่าสินค้าไทยแพงขึ้นมาก (เพราะยูโรอ่อนค่าเทียบกับบาท 22.6%) ลูกค้ายุโรปก็บอกว่าขอให้ลดราคาลง ไม่อย่างนั้นอาจพิจารณาซื้อสินค้าจากประเทศอื่นแทน พ่อค้าไทยก็อาจจำใจหักคอตัวเองลดราคาสินค้า ไม่อย่างนั้นก็เสียออร์เดอร์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กที่อำนาจต่อรองต่ำ อีกทั้งยังทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไม่ไหว ก็ขาดทุนสองเด้ง คือทั้งลดราคาแบบเฉือนเนื้อตนเอง ทั้งขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน แม้ขายสินค้าได้แต่ในที่สุดก็อยู่ไม่ไหว สถานการณ์ก็เป็นไปในทำนองนี้
สถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านย่านเอเชียนั้น ส่วนใหญ่ตั้งการ์ดสู้คิวอีญี่ปุ่น ยุโรป ด้วยการทำให้เงินตนเองอ่อนค่า ตลาดหุ้นต่างๆก็ขึ้นดีไปด้วย ส่วนตลาดหุ้นไทยนั้นไม่ได้อานิสงส์อะไร เนื่องจากตอนนี้ตลาดหุ้นไทยแพงพอสมควร อีกทั้งเงินบาทค่อนข้างแข็ง
ตอนนี้นักวิเคราะห์เศรษฐกิจส่วนใหญ่มองไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ คาดว่าไทยยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะเวลาอันใกล้นี้ (กนง จะประชุมกันกลางเดือนมีนาคมนี้ และคาดว่าในการประชุมรอบนี้ยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ย) เนื่องจากมองกันว่าถึงลดก็ไม่ช่วยส่งออกนัก แต่ผลข้างเคียงคือหนี้ครัวเรือนจะสูงขึ้น
แต่น่าแปลกคือตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องถึงต้นมีนาคมนี้ มีเงินต่างชาติไหลเข้ามาซื้อทั้งในตลาดพันธบัตร และตลาดหุ้นไทย ลองดูกราฟ
ต่างชาติเริ่มซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา |
นักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยเข้าซื้อในตลาดพันธบัตรไทยตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ |
จะเห็นว่ายอดซื้อสะสมขยับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ลักษณะเช่นนี้คล้ายกับว่าต่างชาติมีลุ้นว่า กนง จะลดอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ จึงมาซื้อดักไว้ก่อน
ลุงแมวน้ำก็เดาไม่ถูกว่า กนง จะลดดอกเบี้ยหรือไม่ อีกไม่นานก็คงรู้คำตอบ แต่สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่า กนง จะลดดอกเบี้ยหรือไม่ สิ่งสำคัญก็คือผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างก็ต้องเอาตัวรอดให้ได้จากภาวะเศรษฐกิจในยุคนี้ให้ได้ต่างหาก แค่เรื่องลดดอกเบี้ยเป็นองค์ประกอบเดียว และให้ผลแค่ในระยะสั้น แต่การเอาตัวรอดยังต้องฝ่าฟันในด้านอื่นๆอีกมาก ดังนั้นทั้งผู้ประกอบการและนักลงทุนจำเป็นต้องมองภาพและวางกลยุทธ์สำหรับระยะกลางและยาวไว้เป็นสำคัญจึงจะพาตัวรอดได้
No comments:
Post a Comment