Thursday, March 12, 2015

กนง ลดอัตราดอกเบี้ย, การลงทุนต่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน


เมื่อวาน กนง ลดอัตราดอกเบี้ยลงหนึ่งสลึง เหลือเป็น 1.75% ต่อปี นี่เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นการส่งสัญญาณนโยบายทางการเงินของ ธปท ส่วนธนาคารจะปรับอัตราดอกเบี้ยตามหรือไม่ เมื่อไร และอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร บางทีธนาคารเฉยอยู่หลายเดือนค่อยปรับอัตราดอกเบี้ยตามก็เคยเกิดมาแล้ว ตลาดหุ้นก็เด้งรับข่าวทันที แม้จะยังไม่เห็นผลในเชิงเศรษฐกิจจริงแต่ว่าผลในเชิงจิตวิทยานั้นเกิดขึ้นทันที กำลังใจในตลาดหุ้นมาโดยพลัน โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มอสังหาฯและลีสซิง ^_^

สำหรับรอบนี้ ธนาคาร SCB นำร่องประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตอบสนอง ธปท ทันทีเลย ลดแต่ด้านเงินกู้ด้วย เงินฝากยังไม่ลด ธนาคารอื่นๆน่าจะทยอยลดตาม ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องติดตามเรื่องหนี้ครัวเรือนกันต่อไป

แวะมาพูดเรื่องการลงทุนในต่างประเทศกันบ้าง ขอโกอินเตอร์สลับฉากบ้าง ดังที่ลุงแมวน้ำบอกว่ายูโรอ่อน เยอรมนีได้อานิสงส์ เมื่อคืนตลาดหุ้นเยอรมนีขึ้นแรง ดัชนีแดกซ์ (DAX) ขึ้นประมาณ 300 จุด หรือ +2.7%

การลงทุนในต่างประเทศนั้นปัจจุบันไม่ง่าย เพราะว่าอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมาก ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นบางทีไม่คุ้มกับผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นนักลงทุนที่คิดจะลงทุนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะลงทุนกับกองทุนรวมที่จัดตั้งในประเทศไทย หรือไปลงทุนในหุ้นหรือกองทุนในต่างประเทศ ต้องพิจารณาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้ดี ต้องคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนคล่องนิดหนึ่ง ไม่อย่างนั้นขาดทุน

ลุงแมวน้ำจะยกตัวอย่างให้ดู วันนี้มีภาพ 2 ภาพ เป็นการลงทุนในตลาดเยอรมนีและตลาดญี่ปุ่น




ภาพแรก เป็นการลงทุนในดัชนีแดกซ์ของตลาดหุ้นเยอรมนี การตีความภาพนี้ให้เข้าใจง่ายก็คือ ดูเส้นสีแดงคือผลตอบแทนของดัชนีในรอบ 1 ปีที่ลงทุนเป็นเงินยูโร เป็นผลตอบแทน +27.5% ทีเดียว

แต่นั่นคือภาพลวงตา เพราะหากเรากำเงินดอลลาร์ สรอ ไปลงทุนในดัชนีแดกซ์ ผลตอบแทนในรอบ 1 ปีที่เราได้จริงคือ -3.27% คือขาดทุน เนื่องจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน (ดูเส้นสีเหลือง เส้น EWG)

แต่ถ้าหากเรามีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน จะซื้อเป็นฟอร์เวิร์ดหรือซื้อฟิวเจอร์สก็ตาม ก็จะได้ผลตอบแทนประมาณ +17.6% (ดูเส้นสีส้ม HEWG)




เอาละ ทีนี้มาดูกันอีกภาพหนึ่ง เป็นภาพการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ในรอบ 1 ปี ดัชนีนิกเกอิที่ลงทุนเป็นเงินเยนปรับตัวขึ้น +26%

แต่ถ้าหากกำเงินดอลลาร์ สรอ ไปลงทุน ผลตอบแทนจะเหลือเพียง 8.2% เพราะผลจากเงินเยนอ่อนค่า (ดูเส้นสีเหลือง EWJ)

แต่ถ้าหากเรามีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน จะซื้อเป็นฟอร์เวิร์ดหรือซื้อฟิวเจอร์สก็ตาม ก็จะได้ผลตอบแทนประมาณ +27.4% (ดูเส้นสีส้ม HEWJ) เหตุที่ผลตอบแทนมากกว่าดัชนีนิกเกอิเนื่องจากกราฟเส้นนี้อิงดัชนี MSCI Japan ไม่ได้อิงดัชนีนิกเกอิจริงๆ แต่ลุงแมวน้ำนำมาให้ดูเป็นเชิงเปรียบเทียบผลระหว่างการป้องกันความเสี่ยงกับไม่ป้องกันความเสี่ยงมากกว่า

สองภาพนี้ลุงแมวน้ำเปรียบเทียบผลจากการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในเงินสกุลที่อ่อนค่ามาก และที่เล่ามานี้เป็นด้านเงินดอลลาร์ สรอ หากเราลงทุนเป็นเงินบาท ต้องแปลงเงินบาทเป็นดอลลาร์ ต้องคิดผลจากอตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินดอลลาร์ สรอ อีกชั้นหนึ่ง ดังนั้นการลงทุนต้องคิดถึงอัตราแลกเปลี่ยนทั้ง 2 ขา ไม่ใช่เพียงขาเดียว

สำหรับนักลงทุนไทยที่ลงทุนกับกองทุนรวมในไทย การลงทุนกับกองทุนรวมที่เป็นกองทุนรวมลงทุนต่างประเทศ (FIF) นั้น นักลงทุนควรตรวจสอบเรื่องการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนให้ละเอียด ว่าป้องกันความเสี่ยงกี่ขา ป้องกันมากน้อยเพียงใด ปัจจุบันมีกองทุนจำนวนไม่น้อยที่ระบุในเอกสารว่า "ป้องกันความสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลพินิจ" ข้อความทำนองนี้ก็ไม่รู้ว่าดุลพินิจคือเท่าไรกันแน่ ดังนั้นต้องสอบถามและดูกราฟผลตอบแทนให้ละเอียด และกราฟ perfomance หรือผลตอบแทนกองทุนนั้นต้องเป็นกราฟ nav ที่เป็นเงินบาทด้วย บางทีเราดูแต่กราฟผลตอบแทนที่เป็นสกุลดอลลาร์ ก็อาจพลาดได้

กองทุนรวมที่ไม่ใช่กองทุนรวมอิงดัชนี แต่ลงทุนเป็นธีม ยกตัวอย่างเช่นกองทุนรวมเฮลท์แคร์ หรือกองทุนรวมสุขภาพที่ตอนนี้กำลังฮิต ก็ไปลงทุนต่างประเทศ ปัจจัยเรื่องค่าเงินจึงมีผลด้วย ก็ต้องระมัดระวัง

สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนเอง เช่น ซื้อหุ้น อีทีเอฟ หรือซื้อฟิวเจอร์ส ออปชัน ในตลาดต่างประเทศเอง สมัยนี้ก็ไม่ง่าย ต้องคำนวณและป้องกันความเสี่ยงทั้งสองขาเอาเอง การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของนักลงทุนรายย่อยนั้นไปทำฟอร์เวิร์ดไม่ไหวหรอก น่าจะเป็นการซื้อฟิวเจอร์สค่าเงินเข้าช่วยจะคล่องตัวกว่า อันนี้คุยให้ัฟังคร่าวๆ ยังไม่ลงรายละเอียด ยกตัวอย่างเช่น หากไปลงทุนในดัชนีนิกเกอิในตลาดญี่ปุ่นที่ใช้เงินเยน ก็ต้องไปซื้อฟิวเจอร์สนิกเกอิ (เยน) และซื้อฟิวเจอร์สดอลลาร์-เยน อีก แต่ฟิวเจอร์สบาท-ดอลลาร์อาจไม่ต้อง เพราะบาทดอลลาร์ตลอดปีมานี้ค่อนข้างเสถียร ไม่ต้องก็ได้ ดังนี้เป็นต้น

การลงทุนในประเทศที่หาเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้ (คืออาจมีแต่ยุ่งยากจนใช้ไม่ได้) ต้องระมัดระวังให้มากนะคร้าบ

No comments: