กราฟดัชนีดอลลาร์ สรอ (USD index) แสดงค่าเงินดอลลาร์ แสดงให้เห็นว่าเงินดอลลาร์ สรอ ในช่วงนี้แข็งค่าผิดปกติ แข็งค่ากว่าตอนก่อนใช้คิวอีเสียอีก |
เศรษฐกิจอเมริกาดี นักลงทุนกลับแตกตื่นเฟด
ป้าเจนแสดงท่าทีออกมาแล้วว่าภายในครึ่งปีแรกนี้ยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแน่ แต่หลังจากนั้นไปแล้วก็ต้องขึ้นกับข้อมูลตัวเลขต่างๆ ซึ่งลุงแมวน้ำคิดว่าแม้แต่เฟดเองก็ไม่รู้หรอกว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไรกันแน่ เนื่องจากต้องใช้ตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายๆตัวชี้วัดมาตัดสินใจ ดังนั้นจึงบอกได้แต่แนวทาง แต่ระบุเงื่อนเวลาไม่ได้ เพราะข้อมูลเศรษฐกิจก็ไม่นิ่ง เดี๋ยวดี เดี๋ยวไม่ดี อย่างนั้นดี อย่างนี้ไม่ดี ก็ต้องดูกันไปเรื่อยๆ เมื่อไรก็เมื่อนั้นแหละ
แต่จากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในตอนนี้ เป็นภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น นักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์ก็กะเก็งกันว่าเฟดน่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน 2015 นี้แหละ ซึ่งคราวนี้ดูท่าทางนักลงทุนจะมั่นใจมากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์ สรอ จึงได้แข็งค่าอย่างต่อเนื่องมาสักพักหนึ่งแล้ว
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจเบื้องต้นกันก่อนว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือว่า QE ที่ทำมาตั้งแต่สมัยลุงเบนนั้นคือการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ เงินที่อัดฉีดนั้นมาจากไหนกันล่ะ หากเป็นประเทศอื่นก็ยาก เพราะต้องกู้หนี้ยืมสินกันวุ่นวายเพื่อเอาเงินมาอัดฉีด แบบกรีซตอนนี้ไง ต้องกู้เงินจากธนาคารกลางยุโรปมาใช้ ซึ่งเจ้าหนี้ก็ใช่ว่าจะให้กู้ง่ายๆ ต้องมีเงื่อนไขโน่นนี่นั่น วุ่นวายไปหมด
การหาเงินมาอัดฉีดสำหรับอเมริกานั้นก็เล่นไม่ยาก ขาใหญ่เสียอย่าง ไม่ต้องไปกู้ใคร ซึ่งเราเรียกกันเล่นๆว่าพิมพ์เงินเพิ่มนั่นเอง เพราะว่าเป็นเงินที่ไม่มีอะไรมารองรับ มีแต่เครดิตของความเป็นขาใหญ่เท่านั้น
เมื่อเศรษฐกิจขออเมริกาฟื้นจากไข้ ธนาคารกลางก็จำเป็นต้องเก็บเงินดอลลาร์ สรอ ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจออกไปจากระบบ เพราะหากไม่เก็บคืนมันก็คือหนี้สาธารณะนั่นเอง และการที่เงินตรามีมากเกินไปในระบบเศรษฐกิจก็จะทำร้ายระบบเศรษฐกิจเองในที่สุด ดังนั้นจำเป็นต้องเก็บเงินกลับออกไป โดยกระบวนการเก็บเงินกลับนี้คือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
นักลงทุนทั่วโลกก็กะเก็งกันว่าเมื่ออเมริกาขึ้นอัตราดอกเบี้ยและดูดเงินออกไปจากระบบ เมื่อนั้นสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ก็จะน้อยลง เงินดอลลาร์ สรอ ก็จะแข็งค่าขึ้น อันเป็นไปตามหลักอุปสงค์-อุปทาน นั่นเอง
ทีนี้ก็เข้าทางนักลงทุน ที่ไหนมีโอกาส ที่นั่นก็มีการลงทุนเพื่อเก็งกำไร นักลงทุนก็คาดการณ์กันว่าหากป้าเจนขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินดอลลาร์จะแข็ง หุ้นจะตก ดังนั้นจึงน่าจะมีนักลงทุนบางส่วนที่นำเงินดอลลาร์ไปลงทุนในประเทศต่างๆรีบขายหุ้นในประเทศนั้นๆและรีบซื้อเงินดอลลาร์ สรอ เอาไว้ ที่เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์เงินดอลลาร์ สรอ ไหลกลับประเทศนั่นเอง คนเราพอกลัวว่าจะเกิดมันก็เกิดขึ้นจริงๆ เพราะการกระทำของนักลงทุนเองนั่นแหละ
ทีนี้ประเด็นอยู่ตรงที่ว่าการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ ในรอบนี้ซึ่งดำเนินอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ กรกฎาคม 2014 นั้นค่อนข้างผิดปกติ ลองสังเกตดูในกราฟค่าเงินดอลลาร์ สรอ ของลุงแมวน้ำดูก็จะพบว่าตอนที่ลุงเบนใช้คิวอี 3 ซึ่งเป็นคิวอีรอบที่อัดฉีดเงินเข้าในระบบมากที่สุด ราวๆกลางปี 2012 ตั้งแต่นั้นมา เมื่อมีเงินเข้าในระบบเศรษฐกิจแล้วเงินดอลลาร์ก็ไม่ได้อ่อนค่าอะไรมากมาย แค่แกว่งขึ้นลงในกรอบ 80-85 จุดเท่านั้น ตอนอัดฉีดเงินไม่ได้อ่อนค่ามากมาย รวมทั้งหากมองย้อนไปถึงปี 2006 ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ค่าเงินดอลลาร์ก็ยังไม่แข็งขนาดนี้ (ตอนนั้น usd index อยู่ที่ประมาณ 92 จุด) แต่เหตุใดตอนจะเก็บเงินกลับ (ตอนนี้ยังไม่ได้เก็บเงินกลับด้วย แค่เตรียมตัวจะเก็บเท่านั้น) เงินดอลลาร์ก็แข็งค่ามากมาย วิ่งมาถึง 97-98 จุดแล้ว น่าคิดอยู่เหมือนกัน
นโยบายของเฟดไม่ทำร้ายตลาดหุ้นตนเอง
ที่เป็นเช่นนี้เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างผิดปกติ สาเหตุหลักน่าจะมี 2 ประการ คือ ข้อแรก เป็นการเก็งกำไรของนักลงทุน ข้อสอง เกิดจากการที่เงินตราสกุลอื่นๆทำตัวเองให้อ่อนค่า เช่น เงินเยน เงินยูโร ที่ทำคิวอี เงินจึงอ่อนค่า กับเงินตราสกุลอื่นๆที่ทำตัวให้อ่อนค่าเพื่อป้องกันเงินไหลเข้าประเทศมากเกินไป ส่วนเหตุผลอื่นๆน่าจะเป็นประเด็นรอง
คงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าสหรัฐอเมริกานั้นเป็นเศรษฐกิจทุนนิยม ดังนั้นนโยบายการเงินการคลังต่างๆจึงเป็นแนวทางส่งเสริมตลาดทุน หรือจะพูดง่ายๆให้เจาะจงก็คือเฟดไม่ทำร้ายตลาดหุ้น ดังนั้นแม้จะเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เฟดก็ต้องระวัง เพราะต้องทำเพื่อส่งเสริมตลาดหุ้นให้เข้มแข็ง ไม่ใช่ทำร้ายตลาดหุ้นอเมริกา เพราะอสังหาฯและหุ้นเป็นส่วนหนึ่งของวิถีความมั่งคั่งของคนอเมริกัน (ยกเว้นแต่เป็นการทำร้ายตลาดหุ้นโดยไม่ตั้งใจ เช่น การตัดสินใจที่ผิดพลาด ฯลฯ) ดังนั้นป้าเจนจึงดูแล้วดูอีก ไม่ผลีผลามทำอะไรลงไป และเมื่อเราเข้าใจประเด็นนี้ก็น่าจะเบาใจได้ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดนั้นไม่ทำให้ตลาดหุ้นอเมริกาเสียหาย และเมื่อตลาดหุ้นอเมริกาไปต่อได้ ตลาดหุ้นไทยและประเทศอื่นๆที่มักมีทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอเมริกาก็ควรไปต่อได้เช่นกัน อาจมีตกใจบ้างก็ควรเป็นเหตุการณ์ระยะสั้น ดังนั้นอย่าไปกลัวเรื่องเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย ควรมองว่านั่นกลับเป็นโอกาสมากกว่า
เอาละ ทีนี้ ขณะนี้เฟดก็เล็งๆจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนเงินดอลลาร์ สรอ ก็แข็งค่าต่อเนื่อง ลองมาดูกันว่าหากดอลลาร์ สรอ แข็งค่ามากเกินสมควรแล้วจะเกิดผลอะไรบ้าง
เมื่อดอลลาร์ สรอ แข็งเกิน อะไรจะเกิดขึ้น
เงินดอลลาร์แข็ง ทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นอเมริกาลดลง คะเนกันว่าผลประกอบการของหุ้นใน S&P 500 นั้นมีราวๆครึ่งหนึ่งที่เป็นรายได้มาจากต่างประเทศเนื่องจากไปตั้งฐานการผลิตที่ประเทศอื่น หากเงินดอลลาร์ สรอ แข็ง ผลประกอบการของบริษัทในตลาดหุ้นจะลดลง ข้อนี้กระทบตลาดหุ้น
เงินดอลลาร์แข็ง ทำให้สินค้าส่งออกของอเมริกาขายยาก เพราะราคาแพง หลายปีที่ผ่านมานี้น้าบารักใช้นโยบายเรียกบริษัทอเมริกันกลับบ้าน คือย้านฐานการผลิตกลับบ้าน ก็กลับมาพอสมควร บริษัทเหล่านี้จะได้รับผลประทบมาก เท่ากับทำร้ายผู้ประกอบการในประเทศ
เงินดอลลาร์แข็ง ทำให้สินค้านำเข้าถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ ก็ทำร้ายผู้ประกอบการในกระเทศอีก
แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าดอลลาร์แข็งจะไม่ดีต่ออเมริกา ข้อดีที่เห็นชัดคือ ตอนนี้ทั่วโลกกำลังเกิดกระแสเลิกพึ่งเงินดอลลาร์ ก็พยายามไปพึ่งเงินสกุลอื่นกัน เงินหยวนก็ทำท่าว่าจะมาแรง การที่ดอลลาร์แข็งบ้างก็จะทำให้โลกต้องหันมาซบเงินดอลลาร์ต่อไป
ดังนั้นลุงแมวน้ำคิดว่าสหรัฐอเมริกาคงพอใจที่เงินดอลลาร์แข็งขึ้นบ้าง แต่ก็ต้องรักษาระดับไว้ไม่ให้แข็งจนเป็นภัยต่อตนเอง และนอกจากนี้ สมัยเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันใกล้เข้ามาเรื่อยๆ หากเศรษฐกิจอเมริกาเกิดสั่นคลอนในช่วงก่อนเลือกตั้ง พรรคเดโมแครตก็แย่เลย คงไม่ยอมให้เป็นแบบนั้นหรอก ซึ่งเฟดนั้นดูแลเรื่องนโยบายการเงิน แต่เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่งานของป้าเจน เป็นงานของกระทรวงการคลัง
ลุงแมวน้ำจึงคาดว่าเงินดอลลาร์ สรอ จะแข็งค่าขึ้นไม่ได้พอสมควร แต่ไม่ควรมากเกินไป คงไม่ได้แข็งทะลุฟ้า รวมทั้งเงินยูโรและเงินเยนที่อ่อนค่าลงมามากแล้ว คงไม่อ่อนไปเรื่อยๆหรอก อีกไม่นาน ทุกอย่างย่อมเข้าสู่ดุลยภาพของมัน ทั้งเงินดอลลาร์ สรอ และเงินสกุลต่างๆจะค่อยๆเข้าที่เข้าทาง และเสถียรขึ้น
แต่ว่าช่วงนี้ ในขณะที่เงินเยนและยูโรอ่อน ผู้ที่ได้อานิสงส์จากเงินเยนอ่อนคือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพราะส่วนใหญ่มีฐานการผลิตนอกประเทศ ผลจากเงินเยนอ่อนจะทำให้ผลประกอบการดีขึ้น ดังนั้นตลาดหุ้นญี่ปุ่นโดยเฉพาะหุ้นที่เป็นกิจการข้ามชาติจะได้อานิสงส์ ส่วนหุ้นที่เป็นกิจการท้องถิ่นน่าจะได้อานิสงส์น้อย
ส่วนกรณี เงินยูโรอ่อนค่า ผู้ที่ได้ประโยชน์ดีคือเยอรมนี เพราะทำให้ส่งออกได้มากขึ้น เยอรมนีเศรษฐกิจเข้มแข็งอยู่แล้วด้วย ดังนั้นตลาดหุ้นเยอรมนีจึงน่าสนใจ แต่การลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นและหุ้นยุโรปต้องระวังเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เดี๋ยวเรามาคุยกันต่อคร้าบ
นอกจากนี้ เงินหยวนก็อ่อนค่าเช่นกัน ทำให้การส่งออกของจีนดีขึ้น ตลาดหุ้นจีนก็ได้รับอานสงส์เชิงบวกด้วยเช่นกัน
นั่นคือมุมมองด้านการลงทุนสำหรับสามตลาดใหญ่ ส่วนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เช่นไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย ฯลฯ นั้นค่าเงินสกุลท้องถิ่นขึ้นกับกระแสเงินดอลลาร์ สรอ ยูโร กับเยน ตัวอย่างเช่นเงินบาท แม้ดอลลาร์ สรอ แข็งค่า แต่หากมีเงินเยนกับยูโรไหลเข้ามาก็อาจทำให้เงินบาทไม่อ่อนค่านัก ก็ต้องคอยติดตามอัตราแลกเปลี่ยน ตอนนี้สูตรสำเร็จเดิมๆว่าดอลลาร์ สรอ แข็งแล้วบาทจะอ่อนใช้ไม่ได้แล้ว
ส่วนสถานการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลกมักอิงกับทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา หากตลาดหุ้นอเมริกาจาม ตลาดหุ้นประเทศอื่นก็อาจมีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลไปด้วย
No comments:
Post a Comment