Wednesday, March 25, 2015

ธปท ปรับลดคาดการณ์จีดีพี หุ้นในตลาด SET น่าสนใจกว่า MAI


คาดการณ์การเติบโตจีดีพีเป็นร้อยละ (%) ในปี 2015, 2016 ของบางประเทศในย่านเอเชียตะวันออก ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ไอเอมเอฟ (IMF) ปรับปรังล่าสุดเมื่อ มกราคม 2015


เมื่อไม่กี่วันมานี้ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์จีดีพีปี 2015 อยู่ที่ 3.8% เป็นตัวเลขใหม่ที่ปรับลดคาดการณ์ลงมา ในขณะเดียวกันศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทยก็คาดการณ์การเติบโตของไทยปี 2015 ไว้ที่ 2.8% โห ยิ่งต่ำลงมาอีก สาเหตุก็เพราะงบลงทุนไหลออกมาช้า ส่งออกไม่ค่อยดี ราคาผลผลิตทางเกษตรตกต่ำ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดลง หนี่ครัวเรือนสูง บลา บลา บลา ก็ถือว่าตัวเลขที่ประเมินใหม่นี้สะท้อนภาพเศรษฐกิจในเชิงบวกน้อยลง

วันนี้ขอลุงคุยในภาคเศรษฐกิจจริงบ้าง จากที่ลุงแมวน้ำสังเกตมาในงานบ้านและคอนโด งานท่องเที่ยว พบว่าคนเดินบางตาลง เวลาลุงแมวน้ำเดินทางไปที่ไหนมักชอบสอบถามชาวบ้านร้านค้าต่างๆ ก็พบว่ายอดขายลดลง แท้กซี่ก็มีผู้โดยสารลดลง (แต่ลุงก็แอบสงสัยว่าผู้โดยสารน้อยไหงเลือกรับผู้โดยสารจัง >.<) นี่ก็กำลังจะมีงานหนังสือที่ศูนย์สิริกิตติ์อีกแล้ว ในวันพรุ่งนี้ ลุงก็จะลองไปสังเกตการค้าขายในงานดูอีกสักงาน แต่อีกภาพหนึ่ง หากเดินไปในห้าง ลุงแมวน้ำก็จะพบว่าร้านอาหารหรูบางร้านก็ยังมีคนต่อคิวยาว ซึ่งนั่นเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากผู้ที่มีกำลังซื้อก็ยังมีอยู่

ปัญหาหลักเกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาต้องดำเนินไปทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น หากปวดหัวมาก ทำงานไม่ได้ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็คือกินยาแก้ปวดไปก่อน แต่นั่นก็แค่หายปวดชั่วคราว ไม่ได้แก้ที่ต้นตอของปัญหา หากจะแก้ที่ต้นตอก็เป็นเรื่องยาว ต้องไปตรวจรักษากันอีกยาว

ฉันใดก็ฉันนั้น ปัญหาเศรษฐกิจของไทยตอนนี้สะสมทั้งเรื่องเฉพาะหน้าและปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาเชิงโครงสร้างก็ต้องแก้กันยาว แต่อาการเฉพาะหน้าคือรายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง สายป่านหมด ก็จำเป็นต้องเร่งบรรเทา ใครมาบริหารก็คงหนักใจเพราะต้องดูแลทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาระยะยาว อย่างเรื่องส่งไม่ออกนี้ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เนื่องจากอุตสาหกรรมของเราเสียศักยภาพในการแข่งขันไปมาก ยกเว้นอุตสาหกรรมอาหารที่ยังพอได้อยู่ หากไม่แก้ที่โครงสร้างแม้จะลดค่าเงินบาทก็ยากที่จะเร่งยอดขายให้เติบโตต่อไปได้

และที่สำคัญมากก็คือเรื่องการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ บ้านเรายิ่งนานการศึกษาก็ยิ่งแย่ ซึ่งการแก้ปัญหาก็ไม่ใช่ง่ายๆ

วันนี้ลุงแมวน้ำเอาภาพคาดการณ์การเติบโตในปี 2015 และ 2016 ของไอเอมเอฟที่อัปเดตล่าสุด มกราคม 2015 มาให้ดูกัน ตอนนั้นของไทยยังถูกคาดการณ์ไว้ที่ 4 กว่าๆ แต่อีกไม่นานไอเอ็มเอฟอาจปรับลดลง แต่ประเทศเพื่อนบ้านเราการเติบโตสวยงามทั้งนั้น นี่แหละที่ลุงแมวน้ำบอกว่าประเทศในย่านนี้น่าสนใจกว่ายุโรปและอเมริกา ที่จริงไทยเราสามารถอาศัยโมเมนตัมของการเติบโตในภูมิภาคนี้เติบโตเกาะไปด้วยได้ นั่นคือ ทำตัวเป็นหน้าด่านของ CLM นั่นคือ เป็นหน้าด่านหรือประตูสู่พม่า ลาว และกัมพูชา เพราะโดยชัยภูมิแล้วเราอยู่ในตำแหน่งที่ดี ทำตัวเป็นขาใหญ่ในกลุ่ม TCLM ได้ และหากขยายการค้าให้ไกลออกไปอีก ก็เชื่อมไปได้ถึงอินเดีย จีนตอนใต้ และจีนตะวันตก เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และหากขายไปอีกก็ไปถึงบังคลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา พวกนี้อัตราเติบโตสูงทั้งนั้น

เอาละ ทีนี้มาพูดถึงการลงทุนกันบ้าง บริษัทในตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าบริษัททั่วไปอยู่แล้ว ดังนั้น หากบริษัททั่วไปบ่นว่าส่งไม่ออก แต่บริษัทในตลาดหุ้นที่ส่งออกไม่กระทบก็มี เนื่องจากโมเดลธุรกิจอาศัยโมเมนตัมของการเติบโตของเพื่อนบ้านและโตไปด้วย ที่จริงแล้วก็ยังมีบริษัทที่มีการเติบโตที่ดีให้เลือกลงทุน เสียแต่ว่าหลายตัวก็แพงแล้ว

จังหวะที่ตลาดปรับตัวนี่แหละ ทำให้หุ้นดีราคาแพงมีราคาลดลงมาให้อยู่ในระดับที่พอซื้อหาได้ ดังนั้น สำหรับนักลงทุนแล้ว นี่คือโอกาส เรื่องกลยุทธิ์การลงทุนจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหลายคนก็กลัวตลาด หลายคนก็ติดหุ้นในราคาสูง เมื่อโอกาสดีๆมาถึงก็ไม่สามารถลงทุนเพิ่มได้ นอกจากนี้ตอนนี้นักลงทุนหลายคนอาจตัดสินใจออกจากตลาดไปเลยเพราะหุ้นบางชนิดที่หวือหวานั้นลงไปลึกมาก นักลงทุนบางรายก็ถึงขั้นถอดใจ

ตอนนี้โลกเปลี่ยนไป หุ้นที่น่าสนใจคือหุ้นที่มีความสามารถในระดับที่สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ ซึ่งมักเป็นหุ้นที่มีมาร์เกตแคปใหญ่หน่อย หุ้นขนาดเล็กทุนน้อย แข่งขันยากขึ้น ดังนั้นหากพูดรวมๆแล้วหุ้นที่น่าสนใจคือหุ้นในตลาด SET โดยเฉพาะหุ้นนอก SET 50 ที่มาร์เก็ตแคปใหญ่หน่อย ส่วนหุ้นในตลาด mai ลุงกลับเห็นว่าต้องพิจารณาให้ดี เพราะแพงแล้ว อีกทั้งผลประกอบการสะท้อนว่าความสามารถในการแข่งขันไม่สูงนัก นี่พูดในภาพรวมๆนะคร้าบ ข้อยกเว้นย่อมมี เพียงแต่เราต้องไปลงในรายละเอียดกัน

Sunday, March 15, 2015

เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ สมดุลธรรมชาติ (2)



สมดุลแบบพลวัตร ปรากฏการณ์เกิดป่า


ลุงแมวน้ำหยิบภาพอีกใบหนึ่งออกมากางให้ดู เห็นเป็นภาพต้นไม้มากหมายหลายแบบ




“เรามาเริ่มต้นกันตรงที่ว่าเมื่อพื้นดินหลังจากที่ถูกไฟป่าเผาผลาญหรืออาจถูกมนุษย์รุกรานตัดทำลายไปจนหมด จนอยู่ในสภาพที่เหี้ยนเตียน มีแต่ดินและทราย อีกทั้งยังแห้งแล้ง รักษาความชื้นไว้ไม่ได้ ไม่มีพืชใดเลย หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง เรามาดูตามภาพกันเลย

“แรกที่สุดเลย เมล็ดพันธุ์พืชต่างๆที่ปลิวมาจากที่อื่นและมาตกในพื้นที่นี้ แต่พืชที่จะขึ้นได้เป็นพวกวัชพืช เพราะวัชพืชเป็นพืชที่มีลักษณะงอกง่าย อดทนต่อสภาพแวดล้อมอันเลวร้ายได้ดี ส่วนเมล็ดพืชอื่นๆแม้จะตกลงมาเช่นกันแต่จะงอกและขึ้นไม่ได้เพราะสภาพพื้นดินไม่อำนวย เรื่องนี้ก็ตรงกับเรื่องกฎการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติ (Law of Natural Selection) ยังจำได้ไหม ดังนั้น ในปีแรก พืชที่ธรรมชาติคัดเลือกให้เจริญในพื้นที่ได้ก็คือพวกวัชพืชคลุมดิน

“เมื่อมีวัชพืชคลุมดินแล้ว ดินก็เริ่มรักษาความชื้นเอาไว้ได้บ้าง พวกไม้ล้มลุกอายุสั้นหรือที่เรียกว่าพืชฤดูเดียวที่งอกง่ายจะเจริญขึ้นตามมา ดังนั้นในปีที่ 2 เราจึงเริ่มเห็นไม้ล้มลุกเติบโตอยู่ในพื้นที่

“แม้ว่าไม้ล้มลุกงอกง่าย แต่วงจรชีวิตก็สั้น เพียงปีเดียวก็ตาย และเมื่อตายซากก็ทับถมอยู่บนผิวดินนั่นเอง ทำให้ดินอุดมขึ้นและเก็บความชื้นได้ดียิ่งขึ้น พอปีที่ 3 เราก็จะเริ่มเห็นไม้ล้มลุกเพิ่มมากขึ้น มีไม้พุ่มตามมา และผ่านไปอีกหลายปี เมื่อดินสะสมความอุดมมากขึ้นอีก พวกไม้ยืนต้นที่เป็นไม้เนื้ออ่อน เช่น สน ยูคาลิปตัส ก็จะขึ้นได้ ดังนั้น ในช่วงปีที่ 3-25 เราจะค่อยๆเห็นไม้ล้มลุกปีเดียว ไม้พุ่ม และไม้ยืนต้นเนื้ออ่อน งอกตามมาเป็นลำดับ

“หลังจากปีที่ 25 ไม้เนื้ออ่อนจะเพิ่มมากขึ้นและกลายเป็นเผ่าพันธุ์เด่นในพื้นที่นั้น พวกไม้ล้มลุกและไม้พุ่มจะลดน้อยลง เนื่องจากไม้ยืนต้นเนื้ออ่อนมีลักษณะยืนต้นและทรงใหญ่ บดบังแสงแดดไม่ให้ส่องลงพื้นดิน ไม้เล็กจึงอยู่ไม่ได้และล้มตายลง

“เมื่อไม้เล็กล้มตายลงทับถมบนดิน ดินก็ยิ่งอุดม ดังนั้น หลังจากที่มีไม้ยืนต้นเนื้ออ่อนแล้ว ไม้ยืนต้นเนื้อแข็งก็จะเริ่มงอกและเจริญเติบโตได้ ดังนั้น ในช่วงปีที่ 25-100 เราก็จะเห็นไม้ยืนต้นพวกไม้เนื้ออ่อนเป็นพืชเด่น และมีไม้เนื้อแข็งขึ้นแซม เช่น ต้นต้นโอ๊คอันเป็นไม้เนื้อแข็งในเขตอบอุ่น หรือไม้เนื้อแข็งแบบป่าเมืองร้อนก็เช่น มะฮอกกานี เต็ง ตะเคียน ฯลฯ

ช่วงปีที่ 100-200 ไป ไม้เนื้อแข็งก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ป่าจะเริ่มทึบมากขึ้น จนไม้เนื้อแข็งกลายเป็นพืชเด่น และหลังจากนั้น คือปีที่ 200 เป็นต้นไป พื้นที่นี้ก็จะมีลักษณะป่าทึบที่อุดมสมบูรณ์มาก

“โอ้โฮ จากพื้นดินโล่งและแล้ง กว่าจะกลายเป็นป่าได้ก็ตั้งสองร้อยปีขึ้นไปเชียว” ฮิปโปอุทาน

“ใช่แล้วแม่ฮิปโป” ลุงแมวน้ำตอบพร้อมกับถอนหายใจ “ป่าอันอุดมสมบูรณ์นั้นกว่าจะเกิดขึ้นได้ใช้เวลานับร้อยปี หรือหลายชั่วคนทีเดียว แต่การตัดไม้ทำลายป่านั้นใช้เวลาเดี๋ยวเดียว ป่าที่ถูกตัดหรือป่าที่ถูกไฟไหม้ก็ทำนองเดียวกัน คือกว่าที่จะกลับมาเป็นป่าดังเดิมต้องรออีกหลายร้อยปี”

ลุงแมวน้ำหยุดนิดหนึ่งแล้วจึงพูดต่อ

“เรามาคุยเรื่องสมดุลแบบพลวัตรกันต่อ ตัวอย่างการเกิดป่านี้ช่วยให้เราเข้าใจถึงสมดุลแบบพลวัตรได้ดียิ่งขึ้น นั่นคือ ความสมดุลบนความไม่สมดุล หมายถึงว่าสมดุลที่เกิดขึ้นคงอยู่ได้เพียงช่วงเวลาเดียว หลังจากนั้นสมดุลนั้นก็จะเสียไป และธรรมชาติก็จะค่อยๆปรับตัวเพื่อให้เกิดสมดุลใหม่

และนอกจากนี้พรรณไม้ที่ขึ้นในแต่ละช่วงของการเกิดป่าล้วนแต่เป็นไปตามกฎของการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติทั้งสิ้น เมื่อสมดุลเดิมเสียไปและธรรมชาติปรับตัวเพื่อให้เกิดสมดุลใหม่ พืชพรรณที่เหมาะสมที่จะอยู่รอดก็แตกต่างกันออกไป ดังนั้น กฎของการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติทำงานร่วมกับสมดุลแบบพลวัตรเสมอ

“ยกตัวอย่างเช่นตอนที่ไม้ล้มลุกคลุมดินนั่นไง ผิวดินมีแต่ไม้ล้มลุก นั่นแหละคือสมดุลของธรรมชาติ ณ ขณะนั้น แต่เมื่อไม้ล้มลุกอายุสั้นตายไป สมดุลก็เปลี่ยนไปนิดหนึ่ง เพราะว่าดินอุดมสมบูรณ์มากขึ้น วันหนึ่งไม้เนื้ออ่อนก็งอกได้ สมดุลก็เปลี่ยนไปอีกนิดหนึ่ง และเมื่อไม้เนื้ออ่อนงอกได้มากขึ้น สมดุลค่อยๆเปลี่ยนทีละหน่อยไปเรื่อยๆจนในที่สุดกลายเป็นป่าไม้เนื้ออ่อน แต่ว่าป่านี้ก็ไม่ใช่จุดสมดุลที่ถาวร เพราะนานวันสมดุลก็เสียไปอีก และกลายเป็นป่าทึบ

“และป่าทึบนี้เหมือนกับจะเป็นสมดุลที่ถึงที่สุดแล้ว คือนี่แหละคงตัวแล้ว เหมือนกับต้นไม้ในขวดโหลปิดฝา แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่หรอก สมดุลแบบพลวัตรไม่มีวันสิ้นสุด มันจะเปลี่ยนไปเรื่อย นั่นคือ ในที่สุดเมื่อป่าทึบมากก็สะสมซากกิ่งไม้ไว้มาก พวกนี้เป็นเชื้อเพลงอย่างดีเลย สักวันหนึ่งก็อาจเกิดไฟไหม้ป่าได้อีก แล้วทุกอย่างก็กลับไปตั้งต้นใหม่”




“สมดุลแบบพลวัตรไม่มีอะไรคงตัว และสุดท้ายก็หนีไม่พ้นกฎของวัฏจักร ชิมิ ชิมิ” ลุงพูดอย่างถึงบางอ้อ

“แม่นแล้ว อาจกล่าวได้ว่าวัฏจักรก็คือวงจรของสมดุลแบบพลวัตรนั่นเอง” ลุงแมวน้ำตอบ “เห็นไหมว่าคุยกันไปคุยกันมา ก็วกกลับมาที่เรื่องเดิม คือวัฏจักร ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าการขี่จักรยานล้อเดียว หมาจิ้งจอกกับกระต่าย ป่าไม้ หรือแม้แต่การโคจรของดวงจันทร์ หรือระบบสุริยะ ล้วนแต่เป็นสมดุลแบบพลวัตร และก็อยู่ในกฎของวัฏจักรหรือกฎอนิจจังทั้งสิ้น”





“เดี๋ยวก่อนนะจ๊ะลุง ฉันขอขัดคอหน่อยเถอะ” ยีราฟพูดอย่างอดรนทนไม่ได้ “นี่ลุงจะคุยเรื่องธรรมะหรือคุยเรื่องหุ้นกันแน่ ฉันฟังเรื่องป่าของลุงแล้วยังไม่เข้าใจว่าเกี่ยวกับหุ้นหรือการลงทุนตรงไหนเลย ลุงพาออกป่าไปไกลเชียว”

“เออ นั่นสินะ” สมาชิกทุกตัวเห็นด้วย “ลุงแมวน้ำพาเดินออกป่าไปไกลเลย คงหลงป่าแล้วมั้ง”

“ลุงไม่ได้พาหลงป่า ก็อยู่แถวๆนี้แหละ ที่ลุงเล่ามานั้นเกี่ยวกับการลงทุนทั้งนั้น” ลุงแมวน้ำพูด “ใจเย็นๆ ค่อยๆฟังลุงเล่า อย่ารีบ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นแนวคิด ดังนั้นต้องฟังแล้วค่อยๆคิด ค่อยๆทำความเข้าใจ อย่าใจร้อน


สมดุลแบบพลวัตรและทฤษฎีดาว


“พวกเราที่ศึกษาทางด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคมาบ้างคงรู้จักทฤษฎีดาว (Dow Theory) กัน โดยเฉพาะข้อหนึ่งที่บอกว่า price discounts all news หรือ ราคารับรู้ข่าวสารไว้แล้วทั้งหมด แปลความหมายได้ว่าราคาหุ้นคือผลลัพธ์สุดท้ายที่เกิดจากข้อมูลข่าวสารทั้งหมดในตลาด

“ที่ลุงยกตัวอย่างสมดุลแบบพลวัตรด้วยตัวอย่างหมาจิ้งจอกกับกระต่ายนั้น ตัวอย่างนั้นมีตัวละครเพียงสองตัว คือหมาจิ้งจอกกับกระต่าย เวลาเราทำความเข้าใจก็จะง่าย เพราะสมดุลของหมาจิ้งจอกกับกระต่ายสัมพันธ์กัน หมาจิ้งจอกมากกระต่ายก็น้อย หมาจิ้งจอกน้อยกระต่ายก็มาก แล้วก็เขียนออกมาเป็นกราฟ 2 เส้น

“แต่ในกรณีของการเกิดป่า เราจะเห็นว่ามีปัจจัยมาเกี่ยวข้องมากมาย วัชพืช ไม้ล้มลุกปีเดียว ไม้ลุ้มลุกพุ่ม ไม้เนื้ออ่อน ไม้เนื้อแข็ง ไม้แต่ละกลุ่มก็ประกอบด้วยหลายชนิดไม่ได้มีเพียงชนิดเดียว นอกจากนี้ยังมีจุลินทรีย์ แมลง และสัตว์อื่นๆเข้ามาอาศัยในป่า สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีผลต่อกันและกัน ซึ่งหากเขียนวัฏจักรชีวิตของสิ่งมีชีวิตในป่าเป็นรายชนิด คงได้เส้นกราฟเป็นแสนๆเส้นทีเดียว

“แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากเราสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงของป่าหรืออาจพูดว่าสนใจดูดุลยภาพแบบพลวัตรของป่าในแบบองค์รวม เราก็ไม่จำเป็นต้องไปศึกษาวัฏจักรของสิ่งมีชีวิตเป็นรายชนิด เราก็ดูเพียงแต่วัฏจักรของระบบนิเวศป่าเท่านั้น ซึ่งสามารถแทนได้ด้วยกราฟเพียงเส้นเดียว เพราะดุลยภาพของป่านั้นคือดุลยภาพของทุกสรรพสิ่งและสรรพชีวิตที่อยู่ในป่ามารวมกัน

“และทฤษฎีดาวที่ว่า price discounts all news นั้นก็มาจากกฎธรรมชาติเรื่องดุลยภาพแบบพลวัตรแบบองค์รวมนั่นเอง โดยราคาหุ้นนั้นเป็นผลมาจากข้อมูลข่าวทุกอย่างที่นักลงทุนรับรู้ ผ่านกระบวนการด้านอารมณ์ของนักลงทุน และออกมาเป็นแรงซื้อและแรงขายที่สู้กันและเข้าสู่ดุลยภาพในที่สุด แต่ดุลยภาพนั้นไม่คงตัว เพราะข้อมูลข่าวสารเปลี่ยน อารมณ์นักลงทุนเปลี่ยน ราคาก็เปลี่ยน ดังนั้นการเคลื่อนไหวของราคาจึงเป็นสมดุลแบบพลวัตร คือสมดุลได้ชั่วขณะหนึ่ง แล้วสมดุลนั้นก็เคลื่อนตัวไป

“และการเคลื่อนตัวของสมดุลแบบพลวัตรนั้นเองที่ทำให้เกิดแนวโน้ม (trend) นี่ก็เป็นทฤษฎีดาวอีกเช่นกัน”

“อือม์ จริงด้วย” ลิงพยักหน้าแบบเข้าใจ ส่วนยีราฟยังทำหน้างุนงง

“ลุงอยากขอเสริมในประเด็น price discounts all news ในทฤษฎีดาวอีกสักหน่อย เราต้องเข้าใจให้กระจ่างว่าราคาหุ้นไม่ใด้เป็นดุลยภาพแบบพลวัตรของข้อมูลข่าวสารทุกอย่างในโลก เป็นแต่เพียงดุลยภาพของจิตวิทยานักลงทุนที่ตอบสนองต่อข้อมูลข่าวสารที่ตนรับรู้เท่านั้น

“ยกตัวอย่างเช่น หุ้น A มีนักลงทุนเทรดกันเพียง 3 คน การเคลื่อนไหวของราคาเป็นผลมาจากจิตวิทยาของนักลงทุนทั้งสามคนนี้ที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ข้อมูลข่าวสารนั้นไม่ใช่ข่าวสารของทั้งโลกที่เกี่ยวกับหุ้นตัวนี้ แต่เป็นข้อมูลข่าวสารเท่าที่ทั้งสามคนรับรู้มาเท่านั้น

“ยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง หุ้น google ที่นักลงทุนเทรดกันทั่วโลก สมมติว่ามีนักลงทุนเทรดกันสักหนึ่งล้านคน ราคาของหุ้น google ก็เป็นดุลยภาพของปัจจัยทางจิตวิทยาจากข้อมูลข่าวสารที่นักลงทุนทั่วโลกหนึ่งล้านคนนั้นรับรู้มา

“ดังนั้น ประโยคที่ว่า price discounts all news นั้น หากเป็นหุ้น A  คำว่า all news ก็คงหมายถึงข่าวสารเพียงไม่กี่ชิ้น เพราะเทรดกันเพียง 3 คน คนเพียง 3 คนจะไปรับรู้ข่าวอะไรได้มากมาย แต่หากเป็นหุ้น google คำว่า all news จะหมายถึงข้อมูลข่าวสารนับล้านชิ้นจากนักลงทุนล้านคนทั่วโลก สรุปว่า all news ไม่ใช่หมายถึงข้อมูลทั้งหมดจริงๆ แต่หมายถึงข้อมูลเท่าที่นักลงทุนที่เกี่ยวข้องรับรู้เท่านั้นเอง

“สุดท้ายนี้ ลุงแมวน้ำขอสรุปว่า สมดุลแบบพลวัตรอันเป็นกฎธรรมชาตินั้นสามารถนำมาประยุกต์กับการลงทุนได้ โดยยกตัวอย่างทฤษฎีดาวมาให้ดู ว่าสมดุลแบบพลวัตรนั้นทำให้เกิดวัฏจักรราคา และทำให้เกิดแนวโน้มได้อย่างไร และด้วยการต่อยอดหลักของสมดุลแบบพลวัตรนี้ ยังทำให้เรานำไปประยุกต์กับการกำหนดจุดซื้อขายได้อีกด้วย”

“หา ใช้กำหนดจุดซื้อขายได้จริงเหรอฮะลุง ทำได้ไงเนี่ย” กระต่ายน้อยสนใจ

“ยังไม่บอก ขอลุงพักก่อนนะคร้าบ” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “ขอกั๊กหน่อย”

Thursday, March 12, 2015

กนง ลดอัตราดอกเบี้ย, การลงทุนต่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน


เมื่อวาน กนง ลดอัตราดอกเบี้ยลงหนึ่งสลึง เหลือเป็น 1.75% ต่อปี นี่เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นการส่งสัญญาณนโยบายทางการเงินของ ธปท ส่วนธนาคารจะปรับอัตราดอกเบี้ยตามหรือไม่ เมื่อไร และอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร บางทีธนาคารเฉยอยู่หลายเดือนค่อยปรับอัตราดอกเบี้ยตามก็เคยเกิดมาแล้ว ตลาดหุ้นก็เด้งรับข่าวทันที แม้จะยังไม่เห็นผลในเชิงเศรษฐกิจจริงแต่ว่าผลในเชิงจิตวิทยานั้นเกิดขึ้นทันที กำลังใจในตลาดหุ้นมาโดยพลัน โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มอสังหาฯและลีสซิง ^_^

สำหรับรอบนี้ ธนาคาร SCB นำร่องประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตอบสนอง ธปท ทันทีเลย ลดแต่ด้านเงินกู้ด้วย เงินฝากยังไม่ลด ธนาคารอื่นๆน่าจะทยอยลดตาม ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องติดตามเรื่องหนี้ครัวเรือนกันต่อไป

แวะมาพูดเรื่องการลงทุนในต่างประเทศกันบ้าง ขอโกอินเตอร์สลับฉากบ้าง ดังที่ลุงแมวน้ำบอกว่ายูโรอ่อน เยอรมนีได้อานิสงส์ เมื่อคืนตลาดหุ้นเยอรมนีขึ้นแรง ดัชนีแดกซ์ (DAX) ขึ้นประมาณ 300 จุด หรือ +2.7%

การลงทุนในต่างประเทศนั้นปัจจุบันไม่ง่าย เพราะว่าอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมาก ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นบางทีไม่คุ้มกับผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นนักลงทุนที่คิดจะลงทุนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะลงทุนกับกองทุนรวมที่จัดตั้งในประเทศไทย หรือไปลงทุนในหุ้นหรือกองทุนในต่างประเทศ ต้องพิจารณาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้ดี ต้องคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนคล่องนิดหนึ่ง ไม่อย่างนั้นขาดทุน

ลุงแมวน้ำจะยกตัวอย่างให้ดู วันนี้มีภาพ 2 ภาพ เป็นการลงทุนในตลาดเยอรมนีและตลาดญี่ปุ่น




ภาพแรก เป็นการลงทุนในดัชนีแดกซ์ของตลาดหุ้นเยอรมนี การตีความภาพนี้ให้เข้าใจง่ายก็คือ ดูเส้นสีแดงคือผลตอบแทนของดัชนีในรอบ 1 ปีที่ลงทุนเป็นเงินยูโร เป็นผลตอบแทน +27.5% ทีเดียว

แต่นั่นคือภาพลวงตา เพราะหากเรากำเงินดอลลาร์ สรอ ไปลงทุนในดัชนีแดกซ์ ผลตอบแทนในรอบ 1 ปีที่เราได้จริงคือ -3.27% คือขาดทุน เนื่องจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน (ดูเส้นสีเหลือง เส้น EWG)

แต่ถ้าหากเรามีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน จะซื้อเป็นฟอร์เวิร์ดหรือซื้อฟิวเจอร์สก็ตาม ก็จะได้ผลตอบแทนประมาณ +17.6% (ดูเส้นสีส้ม HEWG)




เอาละ ทีนี้มาดูกันอีกภาพหนึ่ง เป็นภาพการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ในรอบ 1 ปี ดัชนีนิกเกอิที่ลงทุนเป็นเงินเยนปรับตัวขึ้น +26%

แต่ถ้าหากกำเงินดอลลาร์ สรอ ไปลงทุน ผลตอบแทนจะเหลือเพียง 8.2% เพราะผลจากเงินเยนอ่อนค่า (ดูเส้นสีเหลือง EWJ)

แต่ถ้าหากเรามีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน จะซื้อเป็นฟอร์เวิร์ดหรือซื้อฟิวเจอร์สก็ตาม ก็จะได้ผลตอบแทนประมาณ +27.4% (ดูเส้นสีส้ม HEWJ) เหตุที่ผลตอบแทนมากกว่าดัชนีนิกเกอิเนื่องจากกราฟเส้นนี้อิงดัชนี MSCI Japan ไม่ได้อิงดัชนีนิกเกอิจริงๆ แต่ลุงแมวน้ำนำมาให้ดูเป็นเชิงเปรียบเทียบผลระหว่างการป้องกันความเสี่ยงกับไม่ป้องกันความเสี่ยงมากกว่า

สองภาพนี้ลุงแมวน้ำเปรียบเทียบผลจากการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในเงินสกุลที่อ่อนค่ามาก และที่เล่ามานี้เป็นด้านเงินดอลลาร์ สรอ หากเราลงทุนเป็นเงินบาท ต้องแปลงเงินบาทเป็นดอลลาร์ ต้องคิดผลจากอตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินดอลลาร์ สรอ อีกชั้นหนึ่ง ดังนั้นการลงทุนต้องคิดถึงอัตราแลกเปลี่ยนทั้ง 2 ขา ไม่ใช่เพียงขาเดียว

สำหรับนักลงทุนไทยที่ลงทุนกับกองทุนรวมในไทย การลงทุนกับกองทุนรวมที่เป็นกองทุนรวมลงทุนต่างประเทศ (FIF) นั้น นักลงทุนควรตรวจสอบเรื่องการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนให้ละเอียด ว่าป้องกันความเสี่ยงกี่ขา ป้องกันมากน้อยเพียงใด ปัจจุบันมีกองทุนจำนวนไม่น้อยที่ระบุในเอกสารว่า "ป้องกันความสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลพินิจ" ข้อความทำนองนี้ก็ไม่รู้ว่าดุลพินิจคือเท่าไรกันแน่ ดังนั้นต้องสอบถามและดูกราฟผลตอบแทนให้ละเอียด และกราฟ perfomance หรือผลตอบแทนกองทุนนั้นต้องเป็นกราฟ nav ที่เป็นเงินบาทด้วย บางทีเราดูแต่กราฟผลตอบแทนที่เป็นสกุลดอลลาร์ ก็อาจพลาดได้

กองทุนรวมที่ไม่ใช่กองทุนรวมอิงดัชนี แต่ลงทุนเป็นธีม ยกตัวอย่างเช่นกองทุนรวมเฮลท์แคร์ หรือกองทุนรวมสุขภาพที่ตอนนี้กำลังฮิต ก็ไปลงทุนต่างประเทศ ปัจจัยเรื่องค่าเงินจึงมีผลด้วย ก็ต้องระมัดระวัง

สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนเอง เช่น ซื้อหุ้น อีทีเอฟ หรือซื้อฟิวเจอร์ส ออปชัน ในตลาดต่างประเทศเอง สมัยนี้ก็ไม่ง่าย ต้องคำนวณและป้องกันความเสี่ยงทั้งสองขาเอาเอง การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของนักลงทุนรายย่อยนั้นไปทำฟอร์เวิร์ดไม่ไหวหรอก น่าจะเป็นการซื้อฟิวเจอร์สค่าเงินเข้าช่วยจะคล่องตัวกว่า อันนี้คุยให้ัฟังคร่าวๆ ยังไม่ลงรายละเอียด ยกตัวอย่างเช่น หากไปลงทุนในดัชนีนิกเกอิในตลาดญี่ปุ่นที่ใช้เงินเยน ก็ต้องไปซื้อฟิวเจอร์สนิกเกอิ (เยน) และซื้อฟิวเจอร์สดอลลาร์-เยน อีก แต่ฟิวเจอร์สบาท-ดอลลาร์อาจไม่ต้อง เพราะบาทดอลลาร์ตลอดปีมานี้ค่อนข้างเสถียร ไม่ต้องก็ได้ ดังนี้เป็นต้น

การลงทุนในประเทศที่หาเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้ (คืออาจมีแต่ยุ่งยากจนใช้ไม่ได้) ต้องระมัดระวังให้มากนะคร้าบ

Wednesday, March 11, 2015

ค่าเงินดอลลาร์ สรอ ราคาทองคำ และตลาดหุ้น จะไปถึงไหน






ช่วงนี้ลุงแมวน้ำเขียนบทความถี่หน่อย เพราะต้องการอัปเดตสถานการณ์แก่เพื่อนนักลงทุน แต่ละบทความเกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้น ควรอ่านบทความก่อนหน้านี้ประกอบด้วย ^_^

คำว่าจะไปถึงไหนนี้มีความหมายได้หลายอย่าง หมายถึงว่าจะขึ้นไปถึงไหน หรืออาจหมายถึงว่าจะลงไปถึงไหนก็ได้

เมื่อคืน (เวลาบ้านเรา) ตลาดหุ้นอเมริกาก็ปรับตัวลงค่อนข้างแรง ดัชนี S&P 500 ร่วง -1.7% สาเหตุก็มาจากเงินดอลลาร์ สรอ แข็งนั่นเอง ที่เงินดอลลาร์แข็งก็เพราะเงินยูโรอ่อนค่าอย่างแรงเพราะโครงการคิวอีของยูโรโซนเริ่มทำงานแล้ว ตอนนี้นักลงทุนเข้าสู่โหมดกังวลอีกแล้ว ทั้งเรื่องเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งเรื่องเงินดอลลาร์แข็งค่า

ดังที่ลุงแมวน้ำบอกว่าตลาดหุ้นอเมริกาชี้นำทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก อเมริกาจาม ตลาดอื่นก็คัดจมูกไปด้วย เมื่อคืนตลาดหุ้นอเมริกาลงค่อนข้างแรง แม้แต่ตลาดหุ้นเยอรมนีที่ได้รับผลดีจากเงินยูโรอ่อนค่าก็ไม่วายร่วงไปด้วย ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีร่วงแต่ไม่มาก แค่ -0.7%

เงินยูโรจะอ่อนไปเพียงใด เงินดอลลาร์ สรอ จะแข็งไปแค่ไหน และตลาดหุ้นจะปรับตัวลงมาเพียงใด เรื่องพวกนี้ตอบยากเพราะผลกระทบซึ่งกันและกันซับซ้อน อีกทั้งเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาด้วย คือเป็นอารมณ์ตลาด โดยเฉพาะเรื่องค่าเงินนั้นประเมินยากเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้นสามารถถูกแทรกแซงได้ เพราะแต่ละประเทศก็ต้องบริหารจัดการค่าเงินของตนเอง ดังนั้นปัจจัยพื้นฐานก็ไม่มี ปัจจัยทางเทคนิคก็ช่วยไม่ได้มากเพราะตลาดถูกแทรกแซงได้ การประเมินจึงค่อนข้างยากและมีโอกาสผิดพลาดสูง และยิ่งไปกว่านั้น ตอนนี้ราคาทองคำก็ประเมินยากเช่นกันเพราะทองคำก็ถือเป็นเงินตราสกุลหนึ่งด้วย (ทองคำมีหลายสถานะ ทั้งสินค้าเก็งกำไร สกุลเงิน สินทรัพย์ต้านเงินเฟ้อ ฯลฯ แล้วแต่มุมมอง)

ลุงแมวน้ำก็พยายามประเมินสถานการณ์ระยะสั้นมาให้พวกเราพิจารณากัน ก็ใช้มุมมองทางเทคนิคเป็นหลักก็แล้วกัน ดังที่บอกว่าปัจจัยพื้นฐานก็ไม่มี ปัจจัยทางเทคนิคก็ประเมินยากเพราะตลาดถูกแทรกแซงได้ ลุงจึงเลือกใช้การประเมินด้วยฟิโบนาชชีเป็นหลัก เนื่องจากฟิโบนาชชีเป็นกฎธรรมชาติ ลุงแมวน้ำคิดว่าสรรพสิ่งย่อมยากหลีกหนีกฎธรรมชาติ ดังนั้นใช้ฟิโบนาชชีนี่แหละ น่าจะเป็นเครื่อมือในการประเมินที่ดีที่สุด


วิเคราะห์เงินยูโร


เราจะเริ่มจากอะไรดีล่ะ ต้องคิดทีละเปลาะก่อน ปัญหาไม่ได้มาจากค่าเงินดอลลาร์ สรอ แต่ต้นตอมาจากเงินยูโรกับเยน เพราะสองสกุลนี้กำลังทำคิวอีอยู่ ดังนั้นเราลองมาดูค่าเงินยูโรกัน ดังกราฟต่อไปนี้


เงินยูโรอ่อนค่าหนักเพราะมาตรการคิวอีของธนาคารกลางยุโรป แนวรับสำคัญคือ 1.12 และ 1.00 ยูโร/ดอลลาร์ สรอ

จะเห็นว่าระดับฟิโบนาชชีสำคัญของยูโรคือ 1.12 กับ 1.00 ยูโร/ดอลลาร์ สรอ ขณะนี้ยูโรอยู่ที่ 1.07 ยูโร/ดอลลาร์ สรอ ถือว่ายังอยู่ในแนวรับสำคัญคือ 1.12 อยู่ เพราะนี่เป็นการวัดระดับคลื่นใหญ่ ไม่ต้องเป๊ะมาก ต้องเผื่อช่วงคลาดเคลื่อนไว้พอสมควร

ดังนั้นเป็นไปได้ว่า หากมีสถานการณ์อะไรที่สร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน เงินยูโรก็อาจหยุดไหลลงเพียงแค่นี้ แต่หากหยุดไม่อยู่ก็ไปพบกันที่แนวถัดไป 1.00 ยูโร

เงินเยนมีน้ำหนักต่อดอลลาร์ สรอ น้อยกว่ายูโร ดูแต่ยูโรก็ได้ ลุงแมวน้ำขอข้ามเงินเยนไปละกัน ไปดูที่ดอลลาร์ สรอ กันเลย


วิเคราะห์เงินดอลลาร์อเมริกา (ดอลลาร์ สรอ)


ดูกราฟ USD index หรือดัชนีดอลลาร์ สรอ จะเห็นว่าแนวต้านสำคัญอยู่ที่ 97 จุด กับ 104 จุด ซึ่งเป็นแนวต้านตามระดับฟิโบนาชชี ตอนนี้เงินดอลลาร์ก็ถือว่าอยู่ที่แนวต้าน 97 นี่แหละ อาจหยุดแค่ตรงนี้ก็ได้ หากยูโรหยุดไหล ดอลลาร์ สรอ ก็หยุดพุ่ง รวมทั้งราคาทองคำก็เช่นกัน ก็อาจหยุดร่วงแถวๆนี้


เงินดอลลาร์ สรอ ดูจากดัชนีดอลลาร์ สรอ (USD index) มีแนวต้านที่ 97 และ 104 จุดตามลำดับ



มุมมองต่อตลาดหุ้นอเมริกาและตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น


ทีนี้ก็มาตลาดหุ้นอเมริกา ดูดัชนี S&P 500 กัน ภาพต่อไปนี้


ตลาดหุ้นอเมริกากำลังทดสอบแนวต้านสำคัญอยู่ที่ 2140 จุด

ดังที่ลุงแมวน้ำคุยให้ฟังแล้วว่าหากเงินดอลลาร์ สรอ แข็งจะเป็นผลเสียต่อตลาดหุ้นอเมริกา และจะลามไปตลาดหุ้นอื่นๆ ตอนนี้ก็เริ่มเห็นผลแล้ว

ในทางเทคนิค ตลาดหุ้นอเมริกากำลังทดสอบแนวต้านฟิโบนาชชีที่สำคัญอยู่ นั่นคือ ระดับ 1240 จุด เห็นไหมว่าระดับฟิโบนาชชีสำคัญของตลาดหุ้น เงินดอล และยูโร สอดคล้องกันอย่างน่าประหลาด 

ตลาดหุ้นอเมริกาคงป้วนเปี้ยนอยู่แถวนี้ก่อน หากเงินดอลแข็งค่าต่อเนื่อง คราวนี้คงลงยาว เนื่องจากหากผ่านแนวต้านสำคัญไม่ได้จะปรับตัวลงลึก แต่หากเงินดอลอ่อนค่าลง นักลงทุนมีความมั่นใจ คราวนี้ก็ไปพบกันที่ 2400 จุด 



มาดูตลาดหุ้นไทยกันบ้าง ในช่วงที่ตลาดหุ้นอเมริกากำลับทดสอบระดับฟิโบนาชชีนี้อยู่ ตลาดหุ้นไทยคงลงไม่ลึก ไม่น่าหลุด 1450 จุด  อาจลงไม่ถึงก็ได้ แต่หากตลาดอเมริกาไหลลงลึก เอาไว้เกิดแล้วค่อยมาดูกันอีกที >.<

สำหรับประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยเฟด ลุงแมวน้ำไม่ค่อยกังวล สิ่งสำคัญอยู่ที่ขวัญกำลังใจหรือจิตวิทยานักลงทุนมากกว่า และตอนที่เฟดบอกว่าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นมันก็นานหลายเดือนมาแล้ว ปัจจัยเรื่องคิวอียุโรปยังส่งผลไม่ชัด ค่าเงินยังไม่แข็งขนาดนี้ ตอนนี้ลุงว่าป้าเจนและเฟดคงทบทวนสถานการณ์กัน เพราะอัตราเงินเฟ้อยังไม่เร่งตัว แต่หากเร่งตัวเมื่อไร เฟดก็จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย

นี่แหละคร้าบ ก็ค่อยประเมินสถานการณ์กันทีละเปลาะ แต่นี่เป็นมมุมมองสถานการณ์ระยะสั้น มองระยะยาวก็ยังคงเดิม รถไฟสาย 2000 ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

Tuesday, March 10, 2015

ดอลลาร์อเมริกันแข็งค่า เมื่อป้าเจน (เฟด) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย


กราฟดัชนีดอลลาร์ สรอ (USD index) แสดงค่าเงินดอลลาร์ แสดงให้เห็นว่าเงินดอลลาร์ สรอ ในช่วงนี้แข็งค่าผิดปกติ แข็งค่ากว่าตอนก่อนใช้คิวอีเสียอีก


เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐอเมริกาประกาศตัวเลขการจ้างงานออกมาดี ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นักลงทุนเข้าสู่โหมดกังวลอีกเช่นเคย เกรงว่าป้าเจนจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดในเร็วๆนี้อีก


เศรษฐกิจอเมริกาดี นักลงทุนกลับแตกตื่นเฟด


ป้าเจนแสดงท่าทีออกมาแล้วว่าภายในครึ่งปีแรกนี้ยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแน่ แต่หลังจากนั้นไปแล้วก็ต้องขึ้นกับข้อมูลตัวเลขต่างๆ ซึ่งลุงแมวน้ำคิดว่าแม้แต่เฟดเองก็ไม่รู้หรอกว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไรกันแน่ เนื่องจากต้องใช้ตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายๆตัวชี้วัดมาตัดสินใจ ดังนั้นจึงบอกได้แต่แนวทาง แต่ระบุเงื่อนเวลาไม่ได้ เพราะข้อมูลเศรษฐกิจก็ไม่นิ่ง เดี๋ยวดี เดี๋ยวไม่ดี อย่างนั้นดี อย่างนี้ไม่ดี ก็ต้องดูกันไปเรื่อยๆ เมื่อไรก็เมื่อนั้นแหละ

แต่จากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในตอนนี้ เป็นภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น นักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์ก็กะเก็งกันว่าเฟดน่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน 2015 นี้แหละ ซึ่งคราวนี้ดูท่าทางนักลงทุนจะมั่นใจมากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์ สรอ จึงได้แข็งค่าอย่างต่อเนื่องมาสักพักหนึ่งแล้ว

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจเบื้องต้นกันก่อนว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือว่า QE ที่ทำมาตั้งแต่สมัยลุงเบนนั้นคือการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ เงินที่อัดฉีดนั้นมาจากไหนกันล่ะ หากเป็นประเทศอื่นก็ยาก เพราะต้องกู้หนี้ยืมสินกันวุ่นวายเพื่อเอาเงินมาอัดฉีด แบบกรีซตอนนี้ไง ต้องกู้เงินจากธนาคารกลางยุโรปมาใช้ ซึ่งเจ้าหนี้ก็ใช่ว่าจะให้กู้ง่ายๆ ต้องมีเงื่อนไขโน่นนี่นั่น วุ่นวายไปหมด

การหาเงินมาอัดฉีดสำหรับอเมริกานั้นก็เล่นไม่ยาก ขาใหญ่เสียอย่าง ไม่ต้องไปกู้ใคร ซึ่งเราเรียกกันเล่นๆว่าพิมพ์เงินเพิ่มนั่นเอง  เพราะว่าเป็นเงินที่ไม่มีอะไรมารองรับ มีแต่เครดิตของความเป็นขาใหญ่เท่านั้น

เมื่อเศรษฐกิจขออเมริกาฟื้นจากไข้ ธนาคารกลางก็จำเป็นต้องเก็บเงินดอลลาร์ สรอ ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจออกไปจากระบบ เพราะหากไม่เก็บคืนมันก็คือหนี้สาธารณะนั่นเอง และการที่เงินตรามีมากเกินไปในระบบเศรษฐกิจก็จะทำร้ายระบบเศรษฐกิจเองในที่สุด ดังนั้นจำเป็นต้องเก็บเงินกลับออกไป โดยกระบวนการเก็บเงินกลับนี้คือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

นักลงทุนทั่วโลกก็กะเก็งกันว่าเมื่ออเมริกาขึ้นอัตราดอกเบี้ยและดูดเงินออกไปจากระบบ เมื่อนั้นสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ก็จะน้อยลง เงินดอลลาร์ สรอ ก็จะแข็งค่าขึ้น อันเป็นไปตามหลักอุปสงค์-อุปทาน นั่นเอง

ทีนี้ก็เข้าทางนักลงทุน ที่ไหนมีโอกาส ที่นั่นก็มีการลงทุนเพื่อเก็งกำไร นักลงทุนก็คาดการณ์กันว่าหากป้าเจนขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินดอลลาร์จะแข็ง หุ้นจะตก ดังนั้นจึงน่าจะมีนักลงทุนบางส่วนที่นำเงินดอลลาร์ไปลงทุนในประเทศต่างๆรีบขายหุ้นในประเทศนั้นๆและรีบซื้อเงินดอลลาร์ สรอ เอาไว้ ที่เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์เงินดอลลาร์ สรอ ไหลกลับประเทศนั่นเอง คนเราพอกลัวว่าจะเกิดมันก็เกิดขึ้นจริงๆ เพราะการกระทำของนักลงทุนเองนั่นแหละ

ทีนี้ประเด็นอยู่ตรงที่ว่าการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ ในรอบนี้ซึ่งดำเนินอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ กรกฎาคม 2014 นั้นค่อนข้างผิดปกติ ลองสังเกตดูในกราฟค่าเงินดอลลาร์ สรอ ของลุงแมวน้ำดูก็จะพบว่าตอนที่ลุงเบนใช้คิวอี 3 ซึ่งเป็นคิวอีรอบที่อัดฉีดเงินเข้าในระบบมากที่สุด ราวๆกลางปี 2012 ตั้งแต่นั้นมา เมื่อมีเงินเข้าในระบบเศรษฐกิจแล้วเงินดอลลาร์ก็ไม่ได้อ่อนค่าอะไรมากมาย แค่แกว่งขึ้นลงในกรอบ 80-85 จุดเท่านั้น ตอนอัดฉีดเงินไม่ได้อ่อนค่ามากมาย รวมทั้งหากมองย้อนไปถึงปี 2006 ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ค่าเงินดอลลาร์ก็ยังไม่แข็งขนาดนี้ (ตอนนั้น usd index อยู่ที่ประมาณ 92 จุด) แต่เหตุใดตอนจะเก็บเงินกลับ (ตอนนี้ยังไม่ได้เก็บเงินกลับด้วย แค่เตรียมตัวจะเก็บเท่านั้น) เงินดอลลาร์ก็แข็งค่ามากมาย วิ่งมาถึง 97-98 จุดแล้ว น่าคิดอยู่เหมือนกัน





นโยบายของเฟดไม่ทำร้ายตลาดหุ้นตนเอง


ที่เป็นเช่นนี้เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างผิดปกติ สาเหตุหลักน่าจะมี 2 ประการ คือ ข้อแรก เป็นการเก็งกำไรของนักลงทุน ข้อสอง เกิดจากการที่เงินตราสกุลอื่นๆทำตัวเองให้อ่อนค่า เช่น เงินเยน เงินยูโร ที่ทำคิวอี เงินจึงอ่อนค่า กับเงินตราสกุลอื่นๆที่ทำตัวให้อ่อนค่าเพื่อป้องกันเงินไหลเข้าประเทศมากเกินไป ส่วนเหตุผลอื่นๆน่าจะเป็นประเด็นรอง

คงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าสหรัฐอเมริกานั้นเป็นเศรษฐกิจทุนนิยม ดังนั้นนโยบายการเงินการคลังต่างๆจึงเป็นแนวทางส่งเสริมตลาดทุน หรือจะพูดง่ายๆให้เจาะจงก็คือเฟดไม่ทำร้ายตลาดหุ้น ดังนั้นแม้จะเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เฟดก็ต้องระวัง เพราะต้องทำเพื่อส่งเสริมตลาดหุ้นให้เข้มแข็ง ไม่ใช่ทำร้ายตลาดหุ้นอเมริกา เพราะอสังหาฯและหุ้นเป็นส่วนหนึ่งของวิถีความมั่งคั่งของคนอเมริกัน (ยกเว้นแต่เป็นการทำร้ายตลาดหุ้นโดยไม่ตั้งใจ เช่น การตัดสินใจที่ผิดพลาด ฯลฯ) ดังนั้นป้าเจนจึงดูแล้วดูอีก ไม่ผลีผลามทำอะไรลงไป และเมื่อเราเข้าใจประเด็นนี้ก็น่าจะเบาใจได้ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดนั้นไม่ทำให้ตลาดหุ้นอเมริกาเสียหาย และเมื่อตลาดหุ้นอเมริกาไปต่อได้ ตลาดหุ้นไทยและประเทศอื่นๆที่มักมีทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอเมริกาก็ควรไปต่อได้เช่นกัน อาจมีตกใจบ้างก็ควรเป็นเหตุการณ์ระยะสั้น ดังนั้นอย่าไปกลัวเรื่องเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย ควรมองว่านั่นกลับเป็นโอกาสมากกว่า

เอาละ ทีนี้ ขณะนี้เฟดก็เล็งๆจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนเงินดอลลาร์ สรอ ก็แข็งค่าต่อเนื่อง ลองมาดูกันว่าหากดอลลาร์ สรอ แข็งค่ามากเกินสมควรแล้วจะเกิดผลอะไรบ้าง


เมื่อดอลลาร์ สรอ แข็งเกิน อะไรจะเกิดขึ้น


เงินดอลลาร์แข็ง ทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นอเมริกาลดลง คะเนกันว่าผลประกอบการของหุ้นใน S&P 500 นั้นมีราวๆครึ่งหนึ่งที่เป็นรายได้มาจากต่างประเทศเนื่องจากไปตั้งฐานการผลิตที่ประเทศอื่น หากเงินดอลลาร์ สรอ แข็ง ผลประกอบการของบริษัทในตลาดหุ้นจะลดลง ข้อนี้กระทบตลาดหุ้น

เงินดอลลาร์แข็ง ทำให้สินค้าส่งออกของอเมริกาขายยาก เพราะราคาแพง หลายปีที่ผ่านมานี้น้าบารักใช้นโยบายเรียกบริษัทอเมริกันกลับบ้าน คือย้านฐานการผลิตกลับบ้าน ก็กลับมาพอสมควร บริษัทเหล่านี้จะได้รับผลประทบมาก เท่ากับทำร้ายผู้ประกอบการในประเทศ

เงินดอลลาร์แข็ง ทำให้สินค้านำเข้าถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ ก็ทำร้ายผู้ประกอบการในกระเทศอีก

แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าดอลลาร์แข็งจะไม่ดีต่ออเมริกา ข้อดีที่เห็นชัดคือ ตอนนี้ทั่วโลกกำลังเกิดกระแสเลิกพึ่งเงินดอลลาร์ ก็พยายามไปพึ่งเงินสกุลอื่นกัน เงินหยวนก็ทำท่าว่าจะมาแรง การที่ดอลลาร์แข็งบ้างก็จะทำให้โลกต้องหันมาซบเงินดอลลาร์ต่อไป

ดังนั้นลุงแมวน้ำคิดว่าสหรัฐอเมริกาคงพอใจที่เงินดอลลาร์แข็งขึ้นบ้าง แต่ก็ต้องรักษาระดับไว้ไม่ให้แข็งจนเป็นภัยต่อตนเอง และนอกจากนี้ สมัยเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันใกล้เข้ามาเรื่อยๆ หากเศรษฐกิจอเมริกาเกิดสั่นคลอนในช่วงก่อนเลือกตั้ง พรรคเดโมแครตก็แย่เลย คงไม่ยอมให้เป็นแบบนั้นหรอก ซึ่งเฟดนั้นดูแลเรื่องนโยบายการเงิน แต่เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่งานของป้าเจน เป็นงานของกระทรวงการคลัง

ลุงแมวน้ำจึงคาดว่าเงินดอลลาร์ สรอ จะแข็งค่าขึ้นไม่ได้พอสมควร แต่ไม่ควรมากเกินไป คงไม่ได้แข็งทะลุฟ้า รวมทั้งเงินยูโรและเงินเยนที่อ่อนค่าลงมามากแล้ว คงไม่อ่อนไปเรื่อยๆหรอก อีกไม่นาน ทุกอย่างย่อมเข้าสู่ดุลยภาพของมัน ทั้งเงินดอลลาร์ สรอ และเงินสกุลต่างๆจะค่อยๆเข้าที่เข้าทาง และเสถียรขึ้น 

แต่ว่าช่วงนี้ ในขณะที่เงินเยนและยูโรอ่อน ผู้ที่ได้อานิสงส์จากเงินเยนอ่อนคือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพราะส่วนใหญ่มีฐานการผลิตนอกประเทศ ผลจากเงินเยนอ่อนจะทำให้ผลประกอบการดีขึ้น ดังนั้นตลาดหุ้นญี่ปุ่นโดยเฉพาะหุ้นที่เป็นกิจการข้ามชาติจะได้อานิสงส์ ส่วนหุ้นที่เป็นกิจการท้องถิ่นน่าจะได้อานิสงส์น้อย

ส่วนกรณี เงินยูโรอ่อนค่า ผู้ที่ได้ประโยชน์ดีคือเยอรมนี เพราะทำให้ส่งออกได้มากขึ้น เยอรมนีเศรษฐกิจเข้มแข็งอยู่แล้วด้วย ดังนั้นตลาดหุ้นเยอรมนีจึงน่าสนใจ แต่การลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นและหุ้นยุโรปต้องระวังเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เดี๋ยวเรามาคุยกันต่อคร้าบ

นอกจากนี้ เงินหยวนก็อ่อนค่าเช่นกัน ทำให้การส่งออกของจีนดีขึ้น ตลาดหุ้นจีนก็ได้รับอานสงส์เชิงบวกด้วยเช่นกัน

นั่นคือมุมมองด้านการลงทุนสำหรับสามตลาดใหญ่ ส่วนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เช่นไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย ฯลฯ นั้นค่าเงินสกุลท้องถิ่นขึ้นกับกระแสเงินดอลลาร์ สรอ ยูโร กับเยน ตัวอย่างเช่นเงินบาท แม้ดอลลาร์ สรอ แข็งค่า แต่หากมีเงินเยนกับยูโรไหลเข้ามาก็อาจทำให้เงินบาทไม่อ่อนค่านัก ก็ต้องคอยติดตามอัตราแลกเปลี่ยน ตอนนี้สูตรสำเร็จเดิมๆว่าดอลลาร์ สรอ แข็งแล้วบาทจะอ่อนใช้ไม่ได้แล้ว

ส่วนสถานการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลกมักอิงกับทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา หากตลาดหุ้นอเมริกาจาม ตลาดหุ้นประเทศอื่นก็อาจมีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลไปด้วย

Sunday, March 8, 2015

เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ สมดุลธรรมชาติ (1)





เกริ่นนำ


บทความเรื่องนี้เป็นความลับของธรรมชาติที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ กฎของความสมดุล หรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าดุลยภาพของธรรมชาติ ก็ได้ 

ที่ผ่านมา ลุงแมวน้ำได้เล่าเกี่ยวกับกฎและทฤษฎีสำคัญในทางเศรษฐศาสตร์และตลาดทุนที่มีมาจากกฎธรรมชาติ นั่นคือ วงจรของเศรษฐกิจ ธุรกิจ หรือผลิตภัณฑ์ แม้แต่คลื่นอีเลียตก็มาจากกฎธรรมชาติเรื่องวัฏจักรนั่นเอง รวมทั้งการนำพากิจการให้รอดในโลกธุรกิจ หรือการลงทุนให้อยู่รอดได้ ก็มาจากกฎธรรมชาติเรื่องวิวัฒนาการ 

ดุลยภาพของธรรมชาติเป็นกฎธรรมชาติที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง การเข้าใจดุลยภาพของธรรมชาติจะทำให้เราเข้าใจวัฎจักรเศรษฐกิจและคลื่นอีเลียตได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งยังสามารถนำกฎธรรมชาตินี้ไปใช้ทำความเข้าใจและนำไปประยุกต์ในการลงทุนได้อีกด้วย


ขวดวิเศษของลิงจ๋อ


เช้าวันหยุดวันหนึ่ง ขณะที่ลุงแมวน้ำเดินเข้าไปในสวนพร้อมกับกาแฟและขนมเพื่อไปพักผ่อนในศาลาชมสวน ลุงแมวน้ำก็สังเกตเห็นว่าภายในศาลามีสมาชิกชุมนุมกันอยู่คึกคัก เหมือนกับกำลังมุงดูอะไรอยู่ ลุงแมวน้ำจึงเข้าไปชะโงกดูบ้างแต่ยังมองไม่เห็นเพราะถูกบังจนมิด จึงเอ่ยถามขึ้นว่า

“กำลังดูอะไรกันอยู่น่ะ”

“ดูขวดต้นไม้ของนายจ๋ออยู่จ้ะลุง” ยีราฟคอยาวที่ได้เปรียบในการชมตอบ

“ขวดต้นไม้” ลุงแมวน้ำทวนคำ “ชื่อน่าสนใจจัง ขอลุงดูบ้างสิ”

ลุงแมวน้ำแหวกฝูงสมาชิกเข้าไปในใจกลางวง จึงได้เห็นว่าลิงจ๋อและสมาชิกตัวอื่นๆกำลังดูขวดแก้วใบหนึ่งอยู่ เป็นขวดที่ปิดฝาเรียบร้อย ภายในมีต้นไม้บรรจุอยู่


สวนขวดระบบปิด (sealed bottle garden) ภายในบรรจุพืชพวกมอส เฟิร์น มีดินและน้ำอยู่ด้วย สวนขวดนี้สามารถอยู่ได้โดยปิดฝาไว้แน่น ไม่ต้องรดน้ำหรือดูแลอื่นใด และอยู่ได้นานนับปี เป็นตัวอย่างของสมดุลในธรรมชาติ (natural equilibrium)


“มันเป็นขวดวิเศษนะลุง” ลิงจ๋อเจ้าของขวดพูดขึ้นบ้าง

“มันวิเศษยังไง และนายจ๋อไปได้มาจากไหน” ลุงแมวน้ำเมื่อเห็นขวดก็รู้แล้วว่ามันคืออะไร แต่ก็ลองถามลิงดู

“นายจ๋อซื้อมาจากถนนคนเดินที่สีลมจ้ะลุง” ฮิปโปพูดบ้าง “นายจ๋อยังโม้อีกว่าต้นไม้ในขวดนี้อยู่ได้เป็นปีโดยไม่ต้องรดน้ำ ไม่ต้องดูแลอะไร”

“ไม่ได้โม้” ลิงพูดบ้าง “แต่มันเป็นขวดวิเศษ ฉันลองสังเกตมาได้สองสัปดาห์แล้ว ยังเขียวดีอยู่เลยทั้งๆที่ไม่ได้ไปยุ่งกับมัน ไม่ได้ดูแลอะไรเลย แค่ให้โดนแดดบ้าง”

บรรดาสมาชิกหัวเราะกันครึกครื้น

“โอ๊ย ขำ ต้นไม้ในขวด ไม่เปิดฝา ไม่รดน้ำ แล้วอยู่ได้เป็นปี จะเป็นไปได้ยังไง” ม้าลายหัวเราะบ้าง “ลุงแมวน้ำไม่ขำเหรอ”

“ไม่เห็นมีอะไรขำนี่ ก็มันเป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริงๆ” ลุงแมวน้ำพูด

“ลุงแมวน้ำแอ๊บเนียนไปกับนายจ๋อด้วยด้วย” บรรดาสมาชิกหัวเราะกันอีกเพราะไม่เชื่อ

ลุงแมวน้ำจึงล้วงเอาภาพภาพหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย และคลี่ให้บรรดาสมาชิกดู


สวนขวดระบบปิดที่คงอยู่มาแล้วนาน 53 ปี และยังอยู่ในสภาพดี


“นี่ ลองดูขวดนี้บ้าง ถ้านายจ๋อโม้ ลุงในภาพคนนี้ก็ยิ่งอภิมหาโม้ เพราะว่าแกเลี้ยงต้นไม้ในขวดโดยไม่เปิดฝาและไม่รดน้ำมาแล้วถึง 50 กว่าปี” ลุงแมวน้ำพูด

“ฮ้า เป็นไปได้จริงๆเหรอฮะเนี่ย” กระต่ายน้อยอุทานบ้าง พลางดูภาพด้วยความสนใจ “แล้วต้นไม้เหล่านี้อยู่ได้ยังไงฮะลุง”

“นานๆลุงแมวน้ำจะเข้าข้างผมสักทีนะเนี่ย” ลิงหัวเราะบ้าง “ที่จริงผมก็สงสัยอยู่เหมือนกัน ทีแรกไม่เชื่อนักหรอก แต่เห็นว่าสวนขวดนี้สวยน่ารักดีจึงซื้อมา และพยายามพิสูจน์ดู เลี้ยงมาได้สองสัปดาห์แล้วก็ยังดีอยู่ ก็คิดว่าจะเลี้ยงไปเรื่อยๆเพื่อดูว่ามันจะอยู่ได้เป็นปีจริงหรือไม่ พวกนี้มาเห็นเข้าก็หัวเราะเยาะผม ลุงแมวน้ำอธิบายได้ไหมครับว่ามันเป็นไปได้ยังไง”

“สวนขวดนี้เรียกว่าสวนขวดระบบปิด เป็นของเล่นเก๋ๆของนักนิเวศวิทยาหรือนักพฤกษศาสตร์ที่พยายามจำลองระบบนิเวศในธรรมชาติมาไว้ในขวดแก้ว” ลุงแมวน้ำอธิบาย

“ยังไงกันจ๊ะลุง พูดให้เข้าใจง่ายๆหน่อยได้ไหม” ยีราฟถาม

“ลุงต้องเท้าความสักหน่อย ว่าในสมัยก่อน นักวิทยาศาสตร์สนใจศึกษาเรื่องราวในธรรมชาติ อย่างเช่น ชาล์ส ดาร์วิน ที่ลุงเคยคุยให้ฟังนั่นไง ดาร์วินก็สนใจในเรื่องราวของธรรมชาติ พยายามศึกษาค้นคว้าจนค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการในที่สุด” ลุงแมวน้ำพูด “นักวิทยาศาสตร์ที่สนใจศึกษาธรรมชาติก็สังเกตและตั้งข้อสงสัยว่าทำไมป่าจึงดำรงอยู่ได้ทั้งๆที่ไม่มีใครรดน้ำพรวนดิน ทำไมหนองน้ำที่เป็นน้ำนิ่ง คือไม่มีทางน้ำไหลผ่าน จึงดำรงอยู่ได้โดยน้ำไม่เน่าเสีย ประชากรปลาก็ไม่ล้นหนองน้ำ

“ลุงถามแม่ยีราฟหน่อยว่า หนองน้ำหรือบึงน้ำที่แม่ยีราฟชอบไปเล่นน้ำน่ะ เราเห็นน้ำในบึงใสแจ๋วเห็นตัวปลา แม่ยีราฟเคยสงสัยไหมว่า ทำไมปลาในบึงน้ำไม่ขยายพันธุ์จนประชากรปลาล้นเกิน และทำไมปลาที่ตายในบึงไม่ทำให้น้ำเกิดเน่าเสีย”

“ไม่เคยสงสัยเลยจ้ะ” ยีราฟรีบตอบ “ฉันควรสงสัยเรื่องพวกนี้ด้วยเหรอ”

“เธอสงสัยหน่อยได้ไหม” ลิงพูดบ้าง “รับมุขกันหน่อย”

“อ้อ งั้นสงสัยก็ได้” ยีราฟตอบใหม่

“ปกติเรามักไม่สงสัยกันหรอก แต่นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่าธรรมชาติคงความสมดุลของระบบนิเวศในหนองน้ำได้อย่างไร จึงพยายามหาคำตอบ และสร้างเป็นระบบนิเวศที่จำลองแบบมาจากธรรมชาตินำไปใส่ไว้ในขวดแก้ว อย่างในภาพนี้ คุณลุงคนนี้สามารถทำสวนโดยใส่ดินและปลูกต้นไม้ในขวดแก้วโดยปิดผนึกฝาขวดไว้ ไม่ต้องเปิดฝา ไม่ต้องรดน้ำพรวนดิน แค่ให้โดนแดดเท่านั้น ต้นไม้ในขวดก็อยู่ในสภาพนี้มาตั้งแต่ปี 1972 หรือเมื่อ 53 ปีมาแล้ว และน่าจะยังอยู่ในสภาพนี้ต่อไปได้อีกนาน ดังนั้นต้นไม้ในขวดของนายจ๋อก็น่าจะอยู่ได้หลายปีเช่นกัน”

“นี่ผมก็เพิ่งรู้ที่มาที่ไปจากลุงแมวน้ำนะเนี่ย ตอนซื้อมาก็แค่คิดว่าสวยดีและแปลกดี” ลิงพูด “แต่ว่าความลับในธรรมชาติที่ทำให้สวนขวดนี้อยู่ได้เป็นปีโดยปิดฝาไม่ต้องดูแลคืออะไรครับ”

“คือสมดุลธรรมชาติ (natural equilibrium) หรือดุลยภาพของธรรมชาตินั่นเอง” ลุงแมวน้ำตอบ “สมดุลธรรมชาตินี้เป็นกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ เมื่อกฎนี้เป็นของธรรมชาติ ดังนั้นจึงอธิบายปรากฏการณ์ได้มากมาย รวมทั้งปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจหรือการลงทุนก็หนีกฎธรรมชาตินี้ไปไม่ได้เช่นกัน”

 “ลุงกำลังบอกว่าสวนขวดนี้เกี่ยวกับตลาดหุ้นใช่ไหม” ลิงหัวเราะ “เหลือเชื่อไปหน่อยมั้ง”


ธรรมชาติย่อมรักษาสมดุล


“สิ่งที่เราเห็นในสวนขวดนี้คือปรากฏการณ์ธรรมชาติ นั่นคือ ธรรมชาติย่อมรักษาสมดุลเอาไว้เสมอ การที่สวนในขวดอยู่ได้เป็นสิบปีก็เพราะภายในขวดนั้นเกิดภาวะสมดุลขึ้นนั่นเอง ต้นไม้ในขวดมีการหายใจใช้ก๊าซออกซิเจนและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา และก็มีการสังเคราะห์แสงที่ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมา มีการดูดน้ำและคายน้ำออกจากต้นไม้ ทุกอย่างอยู่ในภาวะสมดุล จึงไม่ต้องเปิดฝารดน้ำ”

“เดี๋ยวก่อนลุง แล้วต้นไม้ทำไมไม่โตล้นขวด แล้วไม่มีใบร่วงหรือไง ใบไม้ร่วงก็ต้องเกิดใบไม้เน่าเสีย แต่ทำไมขวดในรูปยังสวยปิ๊งอยู่ได้” ลิงสงสัย “น่าจะเน่าเหม็นไปนานแล้ว”

“ก็นี่ไง เหมือนในบึงน้ำไหมล่ะ ทำไมปลาในบึงไม่ล้นบึง ทำไมปลาตายในบึงแล้วน้ำไม่เน่า ก็ทำนองเดียวกันนี่แหละ” ลุงแมวน้ำพูด

“แล้วลุงอธิบายยังไงละครับ” ลิงถามอีก

“ภายในขวดไม่ได้มีแต่สิ่งมีชีวิตที่เป็นต้นไม้หรอก แต่ยังไม่สิ่งมีชีวิตเล็กๆที่เรียกว่าจุลินทรีย์อยู่ด้วย จุลินทรีย์จะคอยย่อยสลายใบไม้ที่ตายให้กลายเป็นปุ๋ยไปหล่อเลี้ยงต้นไม้ ก็เหมือนกับในบึงน้ำที่ปลาตายก็มีจุลินทรีย์คอยย่อยสลาย แต่ระบบนิเวศของบึงน้ำซับซ้อนกว่าในขวดเยอะ เราอย่าเพิ่งพูดถึงบึงน้ำเลย พูดกันเฉพาะในขวดก่อน จะได้ไม่งง” ลุงแมวน้ำพูด “สรุปว่าภายในขวดที่ปิดฝานั้น มีการหมุนเวียนก๊าซ มีการหมุนเวียนความชื้น และมีการหมุนเวียนของอินทรียสารภายในขวดอย่างสมดุล ระบบจึงดำรงอยู่ได้”

“แล้วที่ลุงบอกว่าเกี่ยวกับเศรษฐกิจและตลาดหุ้นนั้นเกี่ยวกันอย่างไรจ๊ะ ฉันฟังตั้งนานแล้วยังไม่เห็นเกี่ยวเลย” ยีราฟท้วง

“ใจเย็นๆสิ เรื่องนี้ต้องค่อยๆอธิบาย” ลุงแมวน้ำพูด “ลุงจะเล่าให้ฟังเดี๋ยวนี้แหละ”


สมดุลสถิตและสมดุลพลวัตร


ลุงแมวน้ำหยิบเอาภาพอีกใบหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย

“สมดุลธรรมชาติหรือว่าดุลยภาพในธรรมชาตินั้นแบ่งออกเป็น 2 แบบใหญ่ๆ นั่นคือ สมดุลแบบสถิต (static equilibrium) กับ สมดุลแบบพลวัตร (dynamic equilibrium)


ตัวอย่างของสมดุลแบบสถิต (สมดุลแบบอยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหว) และสมดุลแบบพลวัตร (สมดุลไม่หยุดนิ่ง เคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ)


“โอย มึน” ลิงบ่น “เอาง่ายๆหน่อยครับลุง”

“ธรรมชาติมีแนวโน้มรักษาสมดุลเอาไว้เสมอ ดูตัวอย่างง่ายๆที่เราอาจนึกไม่ถึง คือก้อนหินที่วางอยู่กับที่ ชุดเก้าอี้ที่วางในสวน อะไรต่างๆเหล่านี้ล้วนแต่อยู่นิ่งกับที่ เหล่านี้ก็เป็นดุลยภาพในธรรมชาติเช่นกัน สมดุลที่อยู่ในภาวะอยู่นิ่งกับที่นี้เป็นแบบที่เราเข้าใจง่าย พวกนี้เรียกว่าสมดุลแบบสถิต” ลุงแมวน้ำพูด “แต่สมดุลอีกแบบหนึ่งนั้นเป็นสมดุลที่เคลื่อนไหวอยู่เสมอ”

“สมดุลคือต้องนิ่งสิ เคลื่อนไหวแล้วจะสมดุลได้ยังไง แย้งกับความรู้สึกจัง” ลิงพูด

“นายจ๋อลองดูภาพคนขี่จักรยานล้อเดียวสิ” ลุงแมวน้ำพูด “การทรงตัวอยู่บนจักรยานล้อเดียวทำได้โดยขี่จักรยานเลี้ยงตัวไปเรื่อยๆ หากอยู่นิ่งเฉยจักรยานจะล้ม นี่แหละคือสมดุลแบบพลวัตร นั่นคือ ทุกจังหวะของความเคลื่อนไหวก่อให้เกิดสมดุล แต่ในขณะเดียวกัน สมดุลก็เปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ เมื่อใดที่เรางงกับสมดุลแบบเคลื่อนไหวก็ขอให้นึกถึงการขี่จักรยานล้อเดียว และสมดุลแบบพลวัตรนี่แหละที่เรานำไปใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจและอธิบายพฤติกรรมราคาในตลาดหุ้นได้

“ยังไม่เข้าใจอยู่ดีจ้ะลุง” ยีราฟบ่น “ลุงแมวน้ำพูดให้เข้าใจง่ายกว่านี้ได้ไหม ทำไมชอบพูดอะไรยากๆ”

“ใจเย็นๆแม่ยีราฟ” ลุงแมวน้ำปลอบ “ฟังไปเรื่อยๆเดี๋ยวก็จะเข้าใจมากขึ้น


สมดุลพลวัตร ปรากฏการณ์หมาจิ้งจอกกับกระต่าย


ลุงแมวน้ำล้วงภาพอีกใบหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย


ปรากฏการณ์หมาจิ้งจอกและกระต่าย ตัวอย่างที่ดีสำหรับอธิบายการเกิดสมดุลแบบพลวัตร


“ภาพนี้เป็นภาพปรากฏการณ์หมาจิ้งจอกล่ากระต่าย” ลุงแมวน้ำพูด

“ลุงฮะ เปลี่ยนตัวอย่างได้ไหม ผมเสียวไส้ ใจไม่ดีเลย” กระต่ายน้อยโอดครวญ ทำท่าอกสั่นขวัญหาย

“ลุงมีแต่ตัวอย่างนี้ กระต่ายน้อยทำใจหน่อยละกัน มันแค่ตัวอย่าง ไม่ได้เกิดกับกระต่ายน้อยหรอก” ลุงแมวน้ำปลอบใจ จากนั้นพูดต่อ “ตัวอย่างนี้เป็นตัวแบบที่ใช้อธิบายสมดุลธรรมชาติ โดยสมมติว่าในทุ่งหญ้าแห่งหนึ่งมีแต่กระต่ายและหมาจิ้งจอก ไม่มีสัตว์อย่างอื่นเลย และหมาจิ้งจอกก็ล่ากระต่ายเป็นอาหาร

“จากกราฟ แกน Y หรือแกนซ้ายเป็นจำนวนของกระต่ายและหมาจิ้งจอก ส่วนแกน X หรือแกนนอนเป็นเวลาที่ผ่านไป เราจะสังเกตว่าในตอนต้นนั้นมีกระต่ายและหมาจิ้งจอกอยู่จำนวนหนึ่ง

“เมื่อเวลาผ่านไป กระต่ายเพิ่มจำนวนขึ้นเพราะเรารู้กันดีว่ากระต่ายขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว เมื่อกระต่ายมีมากขึ้น หมาจิ้งจอกก็อิ่มหมีพีมัน ล่ากระต่ายกินจนพุงกาง เมื่ออาหารสมบูรณ์ประชากรหมาจิ้งจอกก็ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น เมื่อหมาจิ้งจอกเพิ่มจำนวนก็กินอาหารเพิ่มขึ้น จนประชากรกระต่ายลดลง

“เมื่อเวลาผ่านไปอีก ประชากรกระต่ายลดลงมากจนหมาจิ้งจอกอดอยาก หมาจิ้งจอกก็เริ่มอดตายและกินกันเอง พอหมาจิ้งจอกลดจำนวนลงก็กินกระต่ายน้อยลง ประชากรกระต่ายก็ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น เมื่อประชากรกระต่ายเพิ่ม หมาจิ้งจอกก็เริ่มอุดมสมบูรณ์อีก ก็ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนตาม

จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่าธรรมชาติพยายามรักษาสมดุลอยู่เสมอ เมื่ออะไรมากไปหรือน้อยไป ธรรมชาติจะพยายามปรับตัวเพื่อให้คงสมดุลเอาไว้ แต่เนื่องจากปริมาณประชากรไม่คงตัว ดังนั้นสมดุลของธรรมชาติจึงไม่อยู่นิ่ง แต่เคลื่อนตัวไปเรื่อยเช่นกัน นี่แหละคือสมดุลแบบมีพลวัตร หรือสมดุลที่เคลื่อนตัวหรือเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ

“และถ้าหากว่าเราจะสังเกตทรงของกราฟประชากรกระต่ายและกราฟประชากรหมาจิ้งจอก เราก็จะพบว่าปริมาณประชากรทั้งสองชนิดนี้เคลื่อนไหวเป็นทรงโค้งระฆังคว่ำที่ต่อเนื่องกัน เห็นไหม”

“จริงด้วย” ยีราฟถึงบางอ้อ พอเข้าใจบ้างแล้วจ้ะ งั้นคุยต่อเลยลุง”


สมดุลพลวัตร จากดุลยภาพเดิมสู่ดุลยภาพใหม่


ลุงแมวน้ำล้วงภาพอีกใบหนึ่งออกมา คราวนี้เป็นภาพป่าไม้




“เราลองมาดูตัวอย่างกันอีกสักตัวอย่างหนึ่ง เพื่อความเข้าใจที่แน่นแฟ้นขึ้น ลองดูภาพนี้ สมมติว่าป่าอันอุดมสมบูรณ์ซึ่งมีสมดุลธรรมชาติอยู่แล้ว ทีนี้สมมติว่ามีปัจจัยภายนอกเข้ามาแทรกแซง นั่นคือ เกิดฟ้าผ่าและไฟไหม้ป่า ป่าอันอุดมถูกเผาจนเกลี้ยง เหลือแต่ตอตะโก นั่นคือ ดุลยภาพของป่าไม้เสียหายไป แน่นอน ธรรมชาติย่อมต้องพยายามรักษาสมดุลอยู่เสมอ เมื่อดุลยภาพเดิมเสียหายไป ธรรมชาติก็จะพยายามสร้างดุลยภาพใหม่ให้เกิดขึ้น แม้ว่าจะไม่เหมือนเดิมก็ตาม

“เราลองมาดูกันว่าหลังจากป่าไม้ถูกเผาแล้วเกิดอะไรขึ้น ธรรมชาติสร้างสมดุลใหม่ และสมดุลใหม่นั้นเกิดพลวัตรอย่างไร” ลุงแมวน้ำพูด

Friday, March 6, 2015

อัปเดตสงครามเงินตรา บาทยังแกร่ง


ความเปลี่ยนแปลงของเงินบาทเทียบกับเงินสกุลต่างๆในรอบ 1 ปี (มีนาคม 2014- มีนาคม 2015)


วันนี้เรามาอัปเดตสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนหรือสถานการณ์ค่าเงินกันบ้าง ช่วงนี้อะไรๆเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว บางเรื่องลุงก็ตามอัปเดตไม่ค่อยทัน ได้แต่เลือกเรื่องที่สำคัญทยอยมาเล่าสู่กันฟัง

สืบเนื่องจากการที่ญี่ปุ่นใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินหรือว่าคิวอีตั้งแต่ปีที่แล้ว อัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ ทำให้เงินเยนอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเร็วๆนี้ทางธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ก็ประกาศว่าจะผ่อนคลายทางการเงินด้วยการทำคิวอีบ้าง โดยอัดฉีดเงินเข้าซื้อพันธบัตรและตราสารอื่นรวมแล้วเดือนละ 6 หมื่นล้านยูโรไป 18 เดือน เริ่มปล่อยเงินอัดฉีดตั้งแต่มีนาคม 2015 หรือเดือนนี้นั่นเอง

ผลจากการทำคิวอีของญี่ปุ่นและยูโรโซน (ที่จริงเงินคิวอีของยูโรโซนเริ่มซื้อพันธบัตรหรือยังก็ไม่รู้เพราะนี่เพิ่งต้นเดือนมีนาคม แต่ว่าตลาดก็รับข่าวไปเรียบร้อยแล้ว) ทำให้เงินเยนและยูโรแข่งกันอ่อนค่า ธนาคารกลางของทุกประเทศก็รู้ดีว่าเงินเยนและเงินยูโรต้นทุนถูกๆเหล่านี้อาจไปแสวงหาผลประโยชน์ในประเทศอื่นๆ เนื่องจากปริมาณเงินมหาศาล การแสวงหาผลตอบแทนจากในบ้านตนเองก็มีขีดจำกัด ดังนั้นจึงต้องไหลออกไปยังประเทศอื่นๆ

ส่วนหนึ่งของเป้าหมายที่เงินต้นทุนถูกเหล่านี้ไหลออกไปแสวงหาประโยชน์ก็คือประเทศในย่านเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เพราะกลุ่มประเทศเหล่านี้มีอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรที่สูงพอควร ส่วนใหญ่ก็ตั้งแต่ 2% กว่าๆเป็นต้นไป แค่เข้าไปซื้อพันธบัตรก็ยังได้ผลตอบแทนดีกว่าอยู่ในบ้านตนเอง รวมทั้งหากเข้าตลาดหุ้นก็อาจได้ผลตอบแทนสูงขึ้น และนอกจากนั้นยังอาจได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย

ประเทศต่างๆก็รู้แกว เพราะเคยเจอกันมาแล้ว มุขนี้ไม่ใช่มุขใหม่ เมื่อเงินไหลเข้าประเทศมากๆ ค่าเงินของตนก็จะแข็ง ยิ่งพวกประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เน้นการส่งออก หากค่าเงินแข็งงก็เสียเปรียบ อย่ากระนั้นเลย ประเทศต่างๆจึงตั้งการ์ดสู้กับการไหลบ่าของกระแสเงินด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พยายามกดค่าเงินของตนเองให้อ่อนเพื่อป้องกันเงินไหลบ่าเข้า กับเพื่อรักษาผลประโยชน์ด้านการส่งออกด้วย นอกจากนี้หลายๆประเทศสภาพคล่องทางเศรษฐกิจเริ่มไม่ค่อยดี การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยผ่อนคลายทางเศรษฐกิจของตนเองอีกด้วย ก็มีประโยชน์หลายอย่าง แต่ผลเสียก็มี ผลคือหนี้เพิ่ม ก็ต้องชั่งใจเอา

ประเทศต่างๆในโลกลดอัตราดอกเบี้ยกันถ้วนหน้า ยุโรปนี่ก็ลดหลายประเทศ แต่เราจะมาเน้นที่ย่านเอเชียกัน จีนนี่ไม่กี่เดือนมานี้ลดสองรอบแล้ว ออสเตรเลียก็ลด อินเดีย อินโดนีเซีย ก็ลด เราลองมาดูตารางนี้กัน


ตารางนี้เป็นตารางอัตราแลกเปลี่ยน เงิน 1 บาทแลกเป็นเงินตราสกุลอื่นๆได้เท่าไร เปรียบเทียบตอนต้นปี 2014 กับวันที่ 3 มีนาคม 2015 (คือรอบ 1 ปี) ตารางนี้ดูง่ายๆคือ หากค่าเป็นบวก แปลว่าเงิน 1 บาทแลกได้มากขึ้น คือเงินสกุลนั้นๆอ่อนค่า

ยกตัวอย่างในตาราง เงินบาทแลกยูโร (บาท --> ยูโร) 22.6% หมายความว่าตอนต้นปีกับวันที่ 3 มีนาคม เงินบาทแลกยูโรได้มากขึ้น 22.6% แปลความว่าในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาเงินยูโรอ่อนตัวลง 22.6% นั่นเอง

จากในตาราง แปลว่าในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา เงินเยนอ่อนตัวลง 17.07% เทียบกับเงินบาท

และก็แปลว่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์อ่อนค่ากว่าเงินบาท 7.3% เงินริงกิตมาเลเซียอ่อนตัวลง 10.7% เงินรูเปียอินโดนีเซียอ่อนตัวลง 11.7%

ทีนี้ลุงแมวน้ำนำกราฟแสดงความเปลี่ยนแปลงของค่าเงินสกุลต่างๆมาให้ดูกันเป็นรายสกุลเงินเลย


เงินหยวนช่วงกลางปี 2014 แข็งค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินบาท แต่ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2014 เป็นต้นมา เงินหยวนอ่อนตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากจีนเห็นว่าแการส่งออกของตนไม่ค่อยดี จึงพยายามกดค่าเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยการส่งออก ผลก็คือกลายเป็นเงินหยวนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาท

















เงินสกุลเอเชียที่เป็นประเทศส่งออกส่วนใหญ่อ่อนค่าลง จีนนั้นเดิมทีค่าเงินหยวนแข็ง แต่แล้วก็ทนไม่ไหว ไปทำอะไรมาก็ไม่รู้ ค่าเงินหยวนในตอนปลายปี 2014 อ่อนตัวฮวบฮาบ จนตอนนี้ก็อ่อนกว่าเงินบาท ตารางนี้สะท้อนให้เห็นว่าเงินบาทแข็งกว่าเพื่อนบ้านที่ส่งออกด้วยกัน หากแข็งค่ากว่ามากก็แข่งขันลำบาก นอกจากนี้ สินค้าส่งออกของไทยในปัจจุบันยังเสียศักยภาพในการแข่งขันไปด้วย ก็ยิ่งลำบากมากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่นเงินยูโรอ่อนค่า ตอนนี้คนไทยหากไปเที่ยวยุโรปก็ถือว่าได้เปรียบเพราะราคาค่าทัวร์ถูกลง แต่ผู้ส่งออกไปยุโรปลำบาก เนื่องจากลูกค้ายุโรปบอกว่าสินค้าไทยแพงขึ้นมาก (เพราะยูโรอ่อนค่าเทียบกับบาท 22.6%) ลูกค้ายุโรปก็บอกว่าขอให้ลดราคาลง ไม่อย่างนั้นอาจพิจารณาซื้อสินค้าจากประเทศอื่นแทน พ่อค้าไทยก็อาจจำใจหักคอตัวเองลดราคาสินค้า ไม่อย่างนั้นก็เสียออร์เดอร์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กที่อำนาจต่อรองต่ำ อีกทั้งยังทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไม่ไหว ก็ขาดทุนสองเด้ง คือทั้งลดราคาแบบเฉือนเนื้อตนเอง ทั้งขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน แม้ขายสินค้าได้แต่ในที่สุดก็อยู่ไม่ไหว สถานการณ์ก็เป็นไปในทำนองนี้

สถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านย่านเอเชียนั้น ส่วนใหญ่ตั้งการ์ดสู้คิวอีญี่ปุ่น ยุโรป ด้วยการทำให้เงินตนเองอ่อนค่า ตลาดหุ้นต่างๆก็ขึ้นดีไปด้วย ส่วนตลาดหุ้นไทยนั้นไม่ได้อานิสงส์อะไร เนื่องจากตอนนี้ตลาดหุ้นไทยแพงพอสมควร อีกทั้งเงินบาทค่อนข้างแข็ง

ตอนนี้นักวิเคราะห์เศรษฐกิจส่วนใหญ่มองไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ คาดว่าไทยยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะเวลาอันใกล้นี้ (กนง จะประชุมกันกลางเดือนมีนาคมนี้ และคาดว่าในการประชุมรอบนี้ยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ย) เนื่องจากมองกันว่าถึงลดก็ไม่ช่วยส่งออกนัก แต่ผลข้างเคียงคือหนี้ครัวเรือนจะสูงขึ้น 

แต่น่าแปลกคือตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องถึงต้นมีนาคมนี้ มีเงินต่างชาติไหลเข้ามาซื้อทั้งในตลาดพันธบัตร และตลาดหุ้นไทย ลองดูกราฟ

ต่างชาติเริ่มซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา


นักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยเข้าซื้อในตลาดพันธบัตรไทยตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์


จะเห็นว่ายอดซื้อสะสมขยับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ลักษณะเช่นนี้คล้ายกับว่าต่างชาติมีลุ้นว่า กนง จะลดอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ จึงมาซื้อดักไว้ก่อน

ลุงแมวน้ำก็เดาไม่ถูกว่า กนง จะลดดอกเบี้ยหรือไม่ อีกไม่นานก็คงรู้คำตอบ แต่สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่า กนง จะลดดอกเบี้ยหรือไม่ สิ่งสำคัญก็คือผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างก็ต้องเอาตัวรอดให้ได้จากภาวะเศรษฐกิจในยุคนี้ให้ได้ต่างหาก แค่เรื่องลดดอกเบี้ยเป็นองค์ประกอบเดียว และให้ผลแค่ในระยะสั้น แต่การเอาตัวรอดยังต้องฝ่าฟันในด้านอื่นๆอีกมาก ดังนั้นทั้งผู้ประกอบการและนักลงทุนจำเป็นต้องมองภาพและวางกลยุทธ์สำหรับระยะกลางและยาวไว้เป็นสำคัญจึงจะพาตัวรอดได้

Monday, March 2, 2015

จัดพอร์ตลงทุนหุ้นเติบโต สไตล์ลุงแมวน้ำ


แนวคิดในการจัดพอร์ตลงทุนแนวหุ้นเติบโตของลุงแมวน้ำ แบ่งเป็น 4 เซ็กเตอร์หรือ 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อการกระจายความเสี่ยง

ตลาดหุ้นไทยแพงแล้วหรือ


เมื่อถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนประจำปี 2557 ก็ทยอยประกาศกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว มีหุ้นจำนวนไม่น้อยที่มีผลประกอบการไม่ค่อยน่าประทับใจเท่าไร มีทั้งแบบกำไรน้อยลง ไม่มีกำไร หรือขาดทุน มีหมดนั่นแหละ ที่กำไรสวยงามตามคาดหมายนั้นก็มีแต่เป็นส่วนน้อยกว่า สาเหตุก็เป็นผลมาจากปัจจัยแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจนั่นเอง

จากการที่ผลประกอบการน่าประทับใจน้อยไปสักนิดนี่เอง ทำให้เมื่อค่าพีอีของดัชนีเซ็ตเดิมอยู่ที่ประมาณ 19 กว่าๆ (ค่าพีอีที่พูดถึงนี้คือพีอีจากผลประกอบการย้อนหลังหรือที่เรียกว่า trailing P/E ratio) พอนำผลประกอบการล่าสุดนี้ไปร่วมคำนวณด้วย ค่าพีอีก็ขยับขึ้นมากลายเป็น 21.6 เท่า จึงกลายเป็นว่าค่าพีอีย้อนหลังของตลาดหุ้นไทยแพงยิ่งขึ้นไปอีก

ตลาดหุ้นไทยแพงแล้วหรือ ถ้าพีอี 21.6 เท่าก็แพงอยู่เหมือนกัน ส่วนพีอีของตลาด MAI ตอนนี้อยู่ที่ 85.5 เท่า ถือว่าแพงมาก

ถ้ายังงั้นทำยังไงดีล่ะ จะไปลงทุนต่างประเทศตอนนี้ก็ไม่ง่ายแล้ว ที่ว่าไม่ง่ายไม่ได้หมายถึงขั้นตอนหรือกระบวนการ เพราะว่าแค่ซื้อกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศก็ได้แล้ว แต่ที่ว่าไม่ง่ายนั้นลุงแมวน้ำหมายถึงว่าการสร้างผลตอบแทนนั้นไม่ง่าย เพราะอัตราแลกเปลี่ยนหรือปัจจัยด้านค่าเงินสกุลต่างๆ ตลาดหุ้นในยุคคิวอีท่วมโลกนั้นทำให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมาก นอกจากปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนอาจลดลงแล้ว แม้แต่ตัวหุ้นที่เราไปลงทุนไว้ในต่างประเทศเองก็ต้องมาทบทวนและประเมินกันใหม่ เนื่องจากหลายกิจการก็มีความสามารถในการแข่งขันลดลงเนื่องจากผลของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ดังนั้นอัตราแลกเปลี่ยนในยุคนี้ทำให้การสร้างผลตอบแทนจากลงทุนในต่างประเทศไม่ง่ายนัก

อย่ากระนั้นเลย หุ้นไทยก็ยังมีเสน่ห์อยู่ ความได้เปรียบของหุ้นไทยคือเรามีความคุ้นเคย หาข้อมูลก็ง่าย ไปคุยกับผู้บริหารก็ไม่ยาก บางทีโทรไปที่นักลงทุนสัมพันธ์ ผู้บริหารก็คุยสายให้ข้อมูลเองเลย หรือไม่อย่างนั้นก็ไปเจอกันในวันอ๊อปเดย์ (opportunity day) ก็ได้ ไปซักถามกันในวันนั้น

ตลาดหุ้นไทยนั้นใช่ว่าจะเป็นหุ้นแพงทุกหุ้น หุ้นที่ยังลงทุนได้ก็มี หากจะเลือกหุ้นสำหรับลงทุนในตอนนี้ ต้องเน้นที่ดีและถูก หุ้นที่ดีแต่แพงก็ไม่ไหว

หุ้นถูกและดียังมีอยู่หรือ ในวิกฤติย่อมมีโอกาส วิกฤตของบางกิจการคือโอกาสของบางกิจการ นอกจากนี้ ในภาวะที่หลายๆคนมองว่าหุ้นไทยแพงและจ้องขายกันอยู่นั้น หุ้นดีๆที่พลอยฟ้าพลอยฝนถูกขายไปด้วยราคาถูกๆก็มี ที่เรียกว่าหุ้นต่ำกว่ามูลค่า (undervalued stock) ไง

วันนี้ลุงแมวน้ำอยากคุยเรื่องการจัดพอร์ตการลงทุนสำหรับปี 2558 หลังจากที่ผลประกอบการตลอดทั้งปี 2557 ออกมาเรียบร้อยแล้วกัน กลายเป็นว่าตลาดหุ้นไทยแพง ดังนั้นการลงทุนต้องระวังมากยิ่งขึ้น

ที่ลุงแมวน้ำจะคุยในวันนี้คงไม่ได้คุยไปถึงการจัดสรรเงินออมมาลงทุนว่าต้องจัดสรรอย่างไร เพราะนั่นจะเป็นเรื่องยาวมาก เอาเป็นว่าเรามาตั้งต้นกันที่ว่าหากเรามีเงินก้อนหนึ่งที่เตรียมไว้สำหรับการลงทุนในหุ้นแล้ว เราจะจัดพอร์ตการลงทุนยังไงดี


จัดพอร์ตลงทุนด้วยหุ้นเติบโต (Growth Stock)


แนวทางของพอร์ตการลงทุนก็มีหลายแนว แบบอนุรักษ์นิยมเน้นที่หุ้นปลอดภัย แนวนี้ก็ได้ผลตอบแทนน้อยหน่อย คือความเสี่ยงต่ำผลตอบแทนต่ำก็ว่ายังงั้นเถอะ อย่างเช่น หุ้นสาธารณูปโภค กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กองรีทส์) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ที่เน้นผลตอบแทนจากเงินปันผล ดังที่เราเคยคุยกันมาบ้างแล้ว

หากหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่งก็คงต้องจัดพอร์ตแนวหุ้นเติบโต ที่หวังผลตอบแทนจากราคาหุ้นที่สูงขึ้น (และหากได้ปันผลด้วยก็ยิ่งดี)

ตอนนี้ยังมีหุ้นแนวเติบโตที่ดีและถูกอยู่อีกไหม ลุงแมวน้ำลองเล็งๆดูแล้วยังมีอยู่จริง เราลองมาจัดพอร์ตกัน

ลุงแมวน้ำจัดพอร์ตการลงทุนเป็นหุ้น 4 กลุ่มธุรกิจ (สี่เซ็กเตอร์) เพื่อการกระจายความเสี่ยง หากหุ้นกระจุกอยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน หากธุรกิจนั้นได้รับผลกระทบแรงเราก็โดนไปเต็มๆเลย กระจายสักหน่อยดีกว่า ลุงแมวน้ำคิดว่า 4 กลุ่มกำลังเหมาะ รวมแล้วมีหุ้น 4-6 ตัว อย่าให้มากเกินไป เพราะจะดูแลไม่ไหว


ตัวอย่างพอร์ตลงทุนแนวหุ้นเติบโตแบบที่ 1


เราลองมาจัดพอร์ตหุ้นเติบโตแบบแรกกัน ตามภาพนี้เลย


แนวคิดในการจัดพอร์ตลงทุนแนวหุ้นเติบโตของลุงแมวน้ำ แบ่งเป็น 4 เซ็กเตอร์หรือ 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อการกระจายความเสี่ยง


เรามาดูเหตุผลกันว่าทำไมลุงแมวน้ำจึงเลือก 4 กลุ่มนี้จัดเป็นพอร์ต

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ น้ำหนักในพอร์ตคือ 25% ที่เลือกกลุ่มนี้ก็เพราะตอบโจทย์ชุมชนเมืองเติบใหญ่นั่นเอง กลุ่มนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีก นั่นคือ รับเหมาก่อสร้าง ที่อยู่อาศัย และนิคมอุตสาหกรรม ในแต่ละกลุ่มย่อย ลุงแมวน้ำพิจารณาแล้วยังมีหุ้นที่ดีและราคาถูก สามารถลงทุนได้อยู่หลายตัวทีเดียว จากสามกลุ่มย่อยนี้เลือกมา 2 หุ้นก็แล้วกัน (หมายถึงว่าหุ้น 2 ตัวรวมกันเป็นน้ำหนัก 25% เท่ากับว่าลงทุนหุ้นตัวละ 12.5% ของเงินลงทุนนั่นเอง)

กลุ่มสื่อสารโทรคมนาคม น้ำหนักในพอร์ตคือ 25% ที่เลือกกลุ่มนี้เพราะตอบโจทย์ชุมชนเมืองเติบใหญ่ ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายเร่งรัดเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล หุ้นสื่อสารใหญ่ที่ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจดิจิทัลแต่ถูกขายทิ้งแบบไม่ใยดีจนราคาต่ำน่าสนใจก็ยังมีอยู่ เลือกไว้ 1 ตัวละกัน

หุ้นกลุ่มขนส่งทางเรือ น้ำหนักในพอร์ตคือ 25% ลุงแมวน้ำเน้นที่ขนส่งทางเรือ ไม่เลือกเครื่องบินหรืออื่นๆ กลุ่มนี้เป็นหุ้นฟื้นไข้ตามเศรษฐกิจโลก เลือกเรือเทกองสักลำ เรือตู้คอนเทนเนอร์สักลำ รวมเป็น 2 ตัว

หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลหรือสาธารณูปโภคพลังงานทดแทน น้ำหนักในพอร์ตคือ 25% ที่จริงหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลและกลุ่มสาธารณูปโภค โดยทั่วไปแล้วจัดเป็นหุ้นเน้นความปลอดภัยหรือว่า defensive stock แต่กลุ่มโรงพยาบาลตอบโจทย์ประชากรสูงวัย จะมองว่าเป็นหุ้นเติบโตก็ได้ ปลอดภัยด้วยเติบโตได้ด้วย ทูอินวันก็ดีเหมือนกัน ^_^

ส่วนหุ้นสาธารณูปโภคพลังงานทดแทน (เน้นที่พลังงานทดแทน) นั้นก็ทำนองเดียวกัน ปัจจุบันภาครัฐสนับสนุนด้านพลังงานทดแทน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตรับซื้อตามสัญญาที่ผูกพัน

หุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลหรือพลังงานทดแทนนี้เลือกไว้ 1 ตัวก็พอ

รวมแล้ว 4 กลุ่มแต่มีหุ้น 6 ตัว

หากถามลุงแมวน้ำว่าทำไมต้องเป็น 4 กลุ่มนี้ คำตอบก็คือเพราะว่า 4 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโต อีกทั้ง 4 กลุ่มกระจายความเสี่ยงได้และไม่มากเกินไปจนดูแลไม่ไหว รวมทั้งยังมีหุ้นดีราคาถูกให้เลือก และที่สำคัญคือ ลุงแมวน้ำคิดว่าหุ้นใน 4 กลุ่มนี้ไม่ค่อยขึ้นอยู่กับกระแสเงินของต่างชาตินัก คือเผื่อไว้ในกรณีที่เงินต่างชาติเข้าน้อยหรือไม่เข้ากลุ่มเหล่านี้ก็ยังพอไปได้ เพราะเป็นกลุ่มที่นักลงทุนรายย่อยและสถาบันลงทุนกัน อีกทั้งแต่ละกลุ่มก็มีสตอรีของตนเองอยู่พอสมควร ลุงแมวน้ำจึงนำเสนอไว้เป็นแนวคิด


ตัวอย่างพอร์ตลงทุนแนวหุ้นเติบโตแบบที่ 2


นอกจากนี้ก็ยังมีการจัดพอร์ตแบบที่สอง ดัดแปลงจากแบบแรกนิดหน่อย ตามนี้เลย




นั่นคือ ตัดกลุ่มเรือออกไปและเปลี่ยนเป็นหุ้นอื่นๆแทน หมายความว่าหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมอะไรก็ได้ ที่เราพิจารณาแล้วว่ามีศักยภาพในการแข่งขัน มีโอกาสเติบโต และราคาถูก หากเราเจอหุ้นแบบนี้ก็ไม่ต้องสนใจกลุ่มอุตสาหกรรมก็ได้ ก็เลือกเอาไว้เลย


แนวคิดในการเลือกหุ้น


เมื่อเราได้กลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว คราวนี้ก็มาถึงการเลือกหุ้น การเลือกหุ้นนี้ต้องใช้ปัจจัยพื้นฐานจึงจะรู้ว่าเป็นหุ้นดีราคาถูกหรือไม่ หากใช้ปัจจัยทางเทคนิคจะบอกไม่ได้

การพิจารณาก็ต้องพิจารณาถึงธรรมาภิบาล ความสามารถในการแข่งขัน พิจารณาค่าพีอีต่ำ พีอีนี้ที่เป็นผลการดำเนินงานจริงๆ ไม่ใช่คำนวณจากการที่มีกำไรพิเศษมากมาย ดังที่เราเคยคุยกันแล้ว นอกจากนี้แล้วก็อาจพิจารณาค่าผลตอบแทนเงินลงทุน (ROE, return on equity) เลือกที่สูงหน่อย ขณะเดียวกันก็ต้องมีหนี้ต่ำๆ (คือมีค่า D/E ต่ำ) ข้อมูลปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้เป็นข้อมูลที่หาดูได้ง่าย ทำความเข้าใจได้ง่ายด้วย ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นอ่านงบการเงินเป็น

ก็ดูข้อมูลปัจจัยพื้นฐานไม่กี่ค่านี่แหละ ที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นการประเมินความสามารถในการแข่งขันของการกิจมากกว่า และสังเกตว่าลุงแมวน้ำพูดเรื่องธรรมาภิบาลเป็นเรื่องแรก ซึ่งลุงถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด สำคัญเหนือกว่าปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ หากธรรมาภิบาลไม่ผ่าน อย่างอื่นก็ไม่ต้องพิจารณา

นี่แหละ การจัดพอร์ตลงทุนหุ้นไทยแบบแมวน้ำๆ ก็เป็นแนวคิดที่อาจลองนำไปพิจารณาดู เรื่องการเลือกหุ้นต้องใช้ปัจจัยพื้นฐาน ส่วนจังหวะเข้าออกการลงทุนเราใช้ปัจจัยทางเทคนิคก็ได้ผลดี เอาไว้ตอนหน้ามาคุยกันต่อคร้าบ