Thursday, November 27, 2014

การประเมินราคาเป้าหมายด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานผสมการวิเคราะห์ทางเทคนิค (4)


กรณีศึกษา SEAFCO


กรณีศึกษานี้จะมีรายละเอียดที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เรามาดูประมาณการกำไรสุทธิกันก่อน ดูภาพต่อไปนี้




SEAFCO เป็นผู้ผลิตเสาเข็มเจาะและรับเหมาทำฐานราก สำหรับตัวอย่างนี้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เนื่องจากคาดการณ์ผลประกอบการของโบรกเกอร์ 4 รายค่อนข้างแตกต่างกัน คือสองรายต่ำหน่อย อีกสองรายสูงหน่อย ทำไมแตกต่างกันขนาดนี้

ลุงแมวน้ำก็มาเอะใจที่ค่าต่ำ คือประมาณการของ KKTRADE กับ TSC เนื่องจากผลคาดการณ์ผลประกอบการปี 2014 ได้ค่า EPS ประมาณ 0.53 บาท/หุ้น ซึ่งลุงแมวน้ำบังเอิญจำได้ว่าผลประกอบการ 9 เดือนของ SEAFCO คือ 0.61 บาท/หุ้น ก็ขนาด 9 เดือนยังได้เท่านี้ ทั้งปีจะลดเหลือ 0.53 บาท/หุ้นก็ไม่น่าใช่แล้ว ตัวเลขน่าจะคลาดเคลื่อน

ลุงแมวน้ำก็เปิดบทวิเคราะห์อ่าน คือหากสงสัยเช่นนี้จะดูแต่ตัวเลขแค่นี้ไม่ได้แล้ว ควรเปิดบทวิเคราะห์อ่านเพื่อไล่เรียงดูที่มาที่ไปของตัวเลขด้วย

อนึ่ง กรณีค่าไม่ค่อยน่าเชื่อนี้ อาจเกิดจากการพิมพ์ข้อมูลใส่ในเว็บคลาดเคลื่อนไปก็ได้ ไม่ได้หมายความว่านักวิเคราะห์วิเคราะห์คลาดเคลื่อน ทางที่ดีควรหาบทวิเคราะห์มาสอบทานอีกรอบหนึ่งทุกครั้งหากทำได้

ก็ปรากฏว่าตัวเลขของ DBSV น่าเชื่อถือและน่าจะใกล้เคียงกว่า ดังนั้น ในกรณีนี้ลุงแมวน้ำจึงเลือกใช้ค่า EPS 2015F จาก DBSV เพียงรายเดียว จากนั้นคำนวณเป็นตารางพีอีล่วงหน้า และตีเส้นระดับฟิโบนาชชี






จากตารางพีอีล่วงหน้าและจากระดับฟิโบนาชชี พบว่ามีราคาเป้าหมายที่สอดคล้องกันหลายค่า คือที่ระดับฟินาชชี 161.8%, 261.8% และ 423.6% ล้วนแต่มีทางเป็นไปได้

ที่จริงหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างหากอยู่ในภาวะตลาดขาขึ้นไม่น่าเทรดกันที่พีอีล่วงหน้า 15 เท่า ควรจะสูงกว่านี้ ขนาด 25 เท่าก็ยังเป็นไปได้ หากเป็นกรณีเช่นนี้ ก็เลือกราคาเป้าหมายที่ 11.5 บาทซึ่งสอดคล้องกับพีอีล่วงหน้า 15 เท่าเอาไว้ก่อน เมื่อถึง 11.5 บาท ก็ค่อยว่ากันอีกที คือปล่อยให้ราคาไปตามแนวโน้ม หากราคายังไปต่อได้ก็ไม่ต้องรีบขาย เพราะราคาอาจไปได้ถึง 23.5 บาทก็ได้



การประมาณราคาเป้าหมายในยามตลาดขาลง


กรณีศึกษา SINGER


การประมาณราเป้าหมายยามตลาดเป็นขาลงนั้นมีรายละเอียดที่แตกต่างจากการประมาณการในยามตลาดขาขึ้นเล็กน้อย อย่างแรกก็คือ การกำหนดกรอบพีอีล่วงหน้าในยามตลาดขาลงต้องกำหนดให้เป็นช่วงต่ำ เช่น ที่ 5 ถึง 15 เท่า

เราลองมาดูประมาณการ EPS กันก่อน





นี่ก็อีกแล้ว ค่าประมาณแบบกระจัดกระจาย พวกค่ากระจายนี่พึงระวัง

ลุงแมวน้ำก็ไปตรวจดูผลประกอบการ 9 เดือน ปี 2557 ของหุ้นซิงเกอร์ พบว่า 9 เดือนแรกนี้ EPS ต่อหุ้นได้ 0.80 บาท และปีนี้ผลประกอบการแย่กว่าปีที่แล้ว ราคาหุ้นก็ร่วงยาว ดังนั้นสำหรับ EPS 2014F ประมาณการของ PST, ASP, TSC น่าจะสูงเกินไป ค่าของ TRINITY น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด และเมื่อลุงแมวน้ำอ่านรายละเอียดในบทวิเคราะห์ของทรินิตีก็เห็นว่าที่มาที่ไปของค่าประมาณน่าน่าจะเชื่อถือได้มากกว่าค่าอื่นๆ ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงเลือกใช้ค่า EPS 2015F ของทรินิตีเพียงค่าเดียว  ไม่ได้ใช้ค่าเฉลี่ย

ลุงแมวน้ำคำนวณค่าพีอีล่วงหน้าในช่วงค่าต่ำ จากนั้นลากเส้นฟิโบนาชชี การลากเส้นฟิโบนาชชีนั้นต้องลากแบบขาลง คือดึงเส้นให้เฉียงไปคนละทางกับการตีเส้นขาขึ้น (วิธีใช้เครื่องมือฟิโบนาชชีควรสอบถามจากโบรกเกอร์ที่ใช้บริการ)






กรณีนี้ก็มีระดับฟิโบนาชชีที่สอดคล้องกับค่าพีอีล่วงหน้าอยู่ 2 ค่า คือ 13.5 บาท (เท่ากับพีอีล่วงหน้าประมาณ 11 เท่า) กับ 9 บาท ลุงแมวน้ำว่าราคา 13.5 บาทนี้มีโอกาสเป็นไปได้ เนื่องจากโดยทั่วไปหุ้นในกลุ่มพาณิชย์เทรดกันที่พีอีค่อนข้างสูง คือ 30 เท่าหรือสูงกว่านั้น ดังนั้นหากร่วงลงมาระดับ 11 เท่านี่ก็ต่ำแล้ว อีกประการ ผลประกอบการ 2015 น่าจะดีกว่า 2014 สะท้อนว่าปีหน้าผลงานของซิงเกอร์น่าจะฟื้นตัวได้

แต่อย่างไรก็ตาม โอกาสลงถึง 9 บาทมีอยู่บ้าง ผลกระกอบการไตรมาส 4 ปี 2014 กับไตรมาส 1 ปี 2015 จะเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญ หากออกมาไม่น่าพอใจราคาอาจไหลลงถึง 9 บาทได้


การประมาณเป้าหมายดัชนี

กรณีศึกษา S&P 500 


การประมาณราคาที่ลุงแมวน้ำเล่ามานี้ใช้ได้กับหุ้นทั้งในยามขาขึ้นและขาลง นอกจากใช้กับหุ้นแล้วยังใช้กับดัชนีได้อีกด้วย เราลองมาดูกัน

สมมติว่าเราจะประมาณดัชนี S&P 500 ของตลาดหุ้นอเมริกา เราก็จำเป็นต้องรู้ EPS 2015F ของดัชนีนี้เสียก่อน พวกดัชนีที่สำคัญมักหาค่า EPS ล่วงหน้าได้ไม่ยาก ที่จริงของ SET ก็มีผู้ประมาณ SET EPS 2015F เอาไว้ แต่ลุงแมวน้ำยกกรณีศึกษาเป็น S&P 500 เพราะอยากให้เห็นวิธีนี้ใช้ได้ทั่วไป ใช้กับตลาดต่างประเทศก็ได้

ขั้นแรกเราก็ปรึกษาอากู๋เสียก่อน โดยใช้กูเกิลค้นหาว่ามีใครประมาณ EPS 2015 เอาไว้บ้าง โดยใช้คำค้นว่า EPS S&P 500 2015




เมื่อกูเกิลรายงานผลการค้นออกมา เราก็เลือกดูการประมาณจากบทวิเคราะห์ที่ดูน่าเชื่อถือ และเป็นประมาณการใหม่ๆ ไมใช่ประมาณเอาไว้เมื่อนานมาแล้ว

ผลก็คือ ลุงแมวน้ำเลือกเอาการวิเคราะห์ของโกลด์แมนแซคส์มาใช้ ก็เปิดเข้าไปอ่านรายละเอียดข้างใน จะพบว่าโกลด์แมนแซคส์ประเมินกำไรสุทธิต่อหุ้นของดัชนี S&P 500 ในปี 2015 ไว้ที่ 122 ดอลลาร์/หุ้น ส่วนธนาคารแห่งอเมริกา (BOA) ประเมินไว้ 126 ดอลลาร์/หุ้น

เราก็เลือกประมาณการต่ำไว้ก่อน ใช้ 122 ดอลลาร์ เอามาคำนวณพีอีล่วงหน้า ได้ดังนี้





จากนั้นก็ลากเส้นฟิโบนาชชี




จะพบว่าที่ 161.8% (พีอีล่วงหน้า 17.5 เท่า) คือที่ดัชนี 2100 จุดนั้นใกล้ถึงแล้ว (ตอนนี้ 2072 จุด) ดังนั้นคงต้องมองไปที่พีอีล่วงหน้า 20 เท่า นั่นคือระดับฟิโบนาชชีระดับถัดไป ดัชนี S&P 500 อาจไปได้ถึง 1500 จุดในปี 2015

เป้าหมายนี้เป็นไปได้ทั้งคู่ กรณีที่ป้าเจนขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดแล้วผลกระทบทางลบรุนแรง ตลาดอาจเริ่มไหลตั้งแต่ต้นปี 2015 นั่นคือ ในกรณีร้ายเราอาจเห็นแค่ดัชนี 2100 จุดในตอนต้นปี 2015 และตลาดลงเป็นเวลาหลายเดือน

แต่หากผลกระทบไม่รุนแรง ดัชนีก็อาจไปได้ถึง 2500 จุดในปีหน้านี้โดยค่อยๆไต่ระดับขึ้นไป ซึ่งลุงแมวน้ำให้น้ำหนักกับเป้า 2500 จุดมากกว่า



ทั้งหมดนี้ก็เป็นการประเมินราคาเป้าหมายโดยใช้เครื่องมือทางปัจจัยพื้นฐานและเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคผสมกัน รวมทั้งกรณีศึกษายามขาขึ้น ขาลง ดัชนี ตลาดต่างประเทศ ครบครัน ลองเอาไปใช้กันดูนะคร้าบ

3 comments:

Anonymous said...

singer นี้ ผิดหรือเปล่าครับ ต้องใช้ประมาณการ ปี 2015 ที่ 1.21 หรือเปล่าครับ

ลุงแมวน้ำ said...

ผิดจริงๆด้วย ลุงแก้ไขแล้ว
ขอบคุณที่ทักท้วงคร้าบ

Anonymous said...

ขอบคุณคุณลุงเช่นกันครับ ช่วยเขียนบทความดีๆให้อ่าน จะติดตามต่อไปครับ