Monday, November 17, 2014

การประเมินราคาเป้าหมายด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานผสมการวิเคราะห์ทางเทคนิค (1)





เราได้คุยกันถึงเรื่องโค้งทรงระฆังคว่ำและวัฏจักรเศรษฐกิจ วัฏจักรกิจการ และวัฏจักรราคาหุ้น พร้อมกับคุยกันเรื่องค่าพีอีของหุ้นกันมาหลายตอนแล้ว วันนี้เราจะเปลี่ยนบรรยากาศกันบ้าง

เรื่องที่ลุงแมวน้ำจะคุยในตอนนี้เป็นการประเมินราคาเป้าหมายของหุ้นด้วยวิธีทางสายวิเคราะห์ทางเทคนิคและวิธีทางสายปัจจัยพื้นฐานผสมกัน อันเป็นวิธีที่ลุงแมวน้ำใช้ในการลงทุน

ทำไมต้องใช้วิธีทางเทคนิคและพื้นฐานผสมกัน ประเด็นนี้มีที่มาที่ไปนิดหน่อย ลองมาพิจารณาเหตุผลกันก่อน

จุดอ่อนของการประเมินราคาเป้าหมายด้วยปัจจัยพื้นฐาน 


เนื่องจากการประเมินราคาเป้าหมาย หรือบางทีก็เรียกว่าราคายุติธรรม (fair value) ด้วยวิธีทางปัจจัยพื้นฐานนั้นใช้การคำนวณหามูลค่าปัจจุบันของหุ้นด้วยวิธีการต่างๆกันหลายวิธี แต่ละวิธีก็มีความเหมาะสมสำหรับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ในการประเมินมูลค่าปัจจุบันด้วยวิธีการต่างๆนั้นยังต้องอาศัยสมมติฐานประมาณการรายได้อีกด้วย ดังนั้น หากข้อมูลด้านประมาณการรายได้คลาดเคลื่อน หรือใช้ตัวแบบในการคำนวณไม่เหมาะสม ราคาเป้าหมายที่ได้ก็ย่อมคลาดเคลื่อนได้ ส่วนจะคลาดเคลื่อนมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสมมติฐานที่ใช้และตัวแบบในการคำนวณว่าคลาดเคลื่อนไปมากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ จุดอ่อนอีกประการในการประเมินราคาเป้าหมายด้วยปัจจัยพื้นฐานก็คือมักต้องใช้การคำนวณค่อนข้างมาก นักลงทุนโดยทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษามาทางด้านนี้ส่วนใหญ่คำนวณเองไม่ได้ มักต้องพึ่งราคาเป้าหมายจากบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ต่างๆ ซึ่งหุ้นบางตัวโบรกเกอร์ต่างๆให้ราคาเป้าหมายที่แตกต่างกันมาก ก็ไม่รู้ว่าราคาไหนจึงเป็นราคาที่เหมาะสมใกล้เคียงความจริง

และแม้ว่ามีราคาเป้าหมายแล้ว นักลงทุนจำนวนไม่น้อยก็มักไม่รู้ว่าจุดซื้อจุดขายอยู่ที่ใด บางทียังไม่ถึงราคาเป้าหมายก็ร่วงเสียก่อน บางทีเลยราคาเป้าหมายไปตั้งไกลก็ยังขึ้นไม่หยุด เป็นต้น

จุดอ่อนของการประเมินราคาเป้าหมายด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิค


การประเมินราคาเป้าทางหมายด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิคก็มีหลายวิธี เช่น แนวรับแนวต้าน การวัดแก็ป การวัดส่วนสูงของคลื่น วิธีฟิโบนาชชี ฯลฯ แต่ในความเห็นของลุงแมวน้ำ วิธีประเมินราคาเป้าหมายด้วยเครื่องมือทางเทคนิคที่แพร่หลายที่สุดน่าจะเป็นวิธีฟิโบนาชชีเป้าหมาย (Fibonacci targeting) กับวิธีแนวรับแนวต้าน (support resistant level targeting)

วิธีประเมินราคาเป้าหมายด้วยแนวรับแนวต้านนั้นก็เป็นวิธีที่ใช้กันโดยทั่วไป แต่มักใช้กับราคาเป้าหมายในระยะสั้น คือมักใช้กับการเทรดระยะสั้นมากกว่า จุดอ่อนสำคัญของวิธีนี้ก็คือ เมื่อราคาหุ้นทำนิวไฮหรือทำนิวโลว์ ก็จะไม่มีแนวรับแนวต้านแล้ว วิธีนี้จึงใช้กับราคาหุ้นที่ทำจุดสูงสุดใหม่หรือจุดต่ำสุดใหม่ไม่ได้

ส่วนวิธีฟิโบนาชชีนั้นไม่มีข้อจำกัดเรื่องราคาหุ้นทำนิวไฮหรือนิวโลว์ ราคาเท่าไรก็คำนวณได้ สำหรับจุดอ่อนของวิธีฟิโบนาชชีนี้ก็มีอยู่หลายประการ ที่สำคัญก็คือวิธีนี้จะให้ราคาเป้าหมายหลายราคา ต้องเลือกเอาเอง นักลงทุนอาจเลือกไม่ถูกว่าราคาไหนน่าจะเป็นราคาเป้าหมายที่เหมาะสมที่สุด

จุดอ่อนที่สำคัญอีกประการก็คือ วิธีฟิโบนาชชีนี้ใช้การวัดที่อิงกับยอดคลื่นและท้องคลื่น หากนับคลื่นไม่ถูก หรือรูปแบบราคาก่อตัวเป็นรูปทรงที่แปลกประหลาด การวัดฟิโบนาชชีก็ยากและอาจคลาดเคลื่อนได้มาก

และนอกจากนี้ ลุงแมวน้ำยังมีข้อกังวลอีกประการหนึ่ง นั่นคือ วิธีฟิโบนาชชีนี้เป็นวิธีที่เก่าแก่มาก ใช้กันมาไม่รู้กี่สิบปีแล้ว สมัยก่อนการนำไปใช้ยังไม่แพร่หลายนัก แต่สมัยนี้นักลงทุนใช้ฟิโบนาชชีกันทั้งโลก และสมัยนี้เป็นยุคที่รูปแบบทางเทคนิคสร้างกันได้ โดยเฉพาะในหุ้นที่สภาพคล่องน้อยยิ่งสร้างรูปแบบทางเทคนิคให้ตรงตามตำราได้ง่ายๆ รวมทั้งปัจจุบันยังการใช้โปรแกรมเทรดหุ้น หรือที่เรียกว่า robotic trading system หรือ algorithmic trading system คือเขียนสูตรคำนวณเป็นโปรแกรม แล้วโปรแกรมนี้สามารถสั่งซื้อขายหุ้นได้เองเมื่อถึงจุดซื้อขายตามที่โปรแกรมคำนวณ ซึ่งการใช้โปรแกรมเทรดหุ้นนี้ก็สามารถสร้างรูปแบบทางเทคนิคมาดักทางเพื่อกินเงินรายย่อยได้เช่นกัน เช่น การเทขายก่อนถึงระดับฟิโบนาชชีสำคัญ เป็นต้น

รวมความแล้วทั้งวิธีทางสายการวิเคราะห์ทางเทคนิคและปัจจัยพื้นฐานต่างก็มีจุดอ่อนจุดแข็งที่แตกต่างกัน ลุงแมวน้ำจึงใช้สองวิธีนี้ร่วมกันเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการกำหนดราคาเป้าหมายและจุดซื้อจุดขาย เท่าที่ลุงแมวน้ำใช้มาก็คิดว่าได้ผลดี ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนได้ วันนี้จึงนำมาขยายให้พวกเราอ่านและอาจลองนำไปใช้กัน

วิธีการของลุงแมวน้ำไม่ยากนัก แต่อาจมีหลายขั้นตอน ต้องค่อยๆอ่านและทำตามไป ใช้เทคนิคนิดๆ ใช้พื้นฐานหน่อยๆ ไม่ได้ลงลึกอะไร ใครๆก็น่าจะพอทำได้หากมีความตั้งใจ ข้อสำคัญคืออย่าใจร้อน ในที่สุดก็จะทำได้

เอาละ ลองมาดูกันว่าอุปกรณ์เครื่องมือที่ต้องใช้มีอะไรบ้าง

  1. สายการวิเคราะห์ทางเทคนิค ใช้เครื่องมือฟิโบนาชชี (Fibonacci retracement) เครื่องมือนี้หาใช้ได้ทั่วไป คือมีใน อีไฟแนนซ์ (e-finance) และในแอสเพน (aspen) 
  2. สายการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ใช้ข้อมูล forward EPS จากเว็บไซต์ www.settrade.com


การประเมินราคาเป้าหมายในตลาดขาขึ้น กรณีศึกษา Spali


การประเมินราคาเป้าหมายด้วยวิธีผสมนี้ใช้ได้ทั้งในยามตลาดขาขึ้นและตลาดขาลง ใช้หลักการเดียวกันแต่รายละเอียดแตกต่างกันนิดหน่อย ในที่นี้ลุงแมวน้ำจะคุยเรื่องการประเมินราคาเป้าหมายในตลาดขาขึ้นก่อน โดยเราจะใช้หุ้นศุภาลัยหรือ Spali เป็นกรณีศึกษา ที่ลุงแมวน้ำเลือกใช้ตัวนี้ไม่ได้เชียร์หุ้นนะคร้าบ มีเหตุผลที่เลือกใช้หุ้นนี้ ซึ่งอ่านต่อไปเดี๋ยวจะทราบ

ต่อไปนี้เป็นวิธีปฏิบัติในการประเมินราคาเป้าหมาย เรามาทำไปด้วยกันเลย รูปมาก่อน คำอธิบายตามหลัง

การประเมินด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิค ใช้เครื่องมือฟิโบนาชชี


ขั้นแรกเราหาราคาเป้าหมายทางเทคนิคก่อน ลุงแมวน้ำเครื่องมือฟิโบนาชชี

เราก็เปิดกราฟ Spali ออกมาดู ใช้อีไฟแนนซ์หรือแอสเพนก็ได้ ในชั้นนี้ลุงแมวน้ำโมเมถือเอาว่าพวกเราใช้เครื่องมือฟิโบนาชชีในอีไฟแนนซ์หรือแอสเพนเป็นแล้ว หากยังใช้ไม่เป็น ควรศึกษาวิธีใช้งานจากโบรกเกอร์ที่ใช้บริการอยู่ ปกติโบรกเกอร์จะสอนวิธีใช้เครื่องมือทางเทคนิคให้




นี่เป็นกราฟแท่งเทียนของราคาหุ้น Spali ประเด็นแรกที่ต้องวิเคราะห์ก่อนก็คือ มองไปข้างหน้าน่าจะเป็นตลาดขาขึ้นหรือขาลง

จากรูปแบบทางเทคนิค ดูจากกราฟ Sapli ราคายังอยู่ในคลื่นใหญ่ขาขึ้น และหากประเมินจากปัจจัยเศรษฐกิจ ธปท สภาพัฒน์ และอีกหลายๆหน่วยงาน มีความเห็นสอดคล้องกันว่าในปี 2015 จีดีพีของไทยน่าจะเติบโตได้ในอัตรา 4% ถึง 4.5% เมื่อเทียบจากปี 2014 ดังนั้นตลาดอสังหาริมทรัพย์และราคาหุ้น Spali ในปี 2015 น่าจะเป็นตลาดขาขึ้น

แล้วเราจะกำหนดจุดไหนเพื่อลากเส้นฟิโบนาชชีดีล่ะ คำตอบก็คือโดยปกติจะเป็นยอดคลื่นและท้องคลื่นล่าสุด




สมมติว่ามือใหม่ ยังกำหนดจุดลากเส้นไม่ถูก ไม่เป็นไร ไม่ต้องกลัว อย่าเพิ่งท้อ ทำมั่วๆไปก่อน ทำบ่อยๆแล้วจะเกิดประสบการณ์ขึ้นมาเอง เล็งยอดคลื่นและท้องคลื่นไว้ รวมเป็น 2 จุด




สมมติว่าเลือกจุดได้แล้ว ดังในรูป คราวนี้เราก็ไปเลือกเครื่องมือที่เรียกว่า Fibonacci retracement (ในแผงเครื่องมืออาจมี Fibonacci หลายอย่าง ให้เลือก Fibonacci retracement) จากนั้นลากเครื่องมือจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง (ที่เราเล็งเอาไว้นั่นน่ะ)




เครื่องมือ Fibonacci retracement จะคำนวณระดับฟิโบนาชชีเป้าหมายออกมาให้หลายค่า มีตั้งแต่ 29 บาท 39 บาท 56 บาท จะเลือกใช้ค่าไหนดีล่ะ นี่แหละคือปัญหา

การประเมินด้วยปัจจัยพื้นฐาน ใช้เครื่องมือสัดส่วนพีอีล่วงหน้า (forward P/E ratio)


เราพักเรื่องราคาทางเทคนิคเอาไว้ก่อน คราวนี้มาคำนวณทางปัจจัยพื้นฐานกันบ้าง จากนั้นเราจะเอาค่าที่ได้ไปพิจารณาร่วมกัน วิธีทางปัจจัยพื้นฐานที่ใช้ในการประเมินราคาเป้าหมายนั้นลุงแมวน้ำเลือกใช้วิธีที่เป็นพื้นฐานที่สุด นั่นคือ ใช้วิธีประเมินจากค่าพีอีล่วงหน้า (forward P/E ratio)

ค่าพีอีล่วงหน้านี้เราต้องคำนวณเอาเอง การที่จะคำนวณได้จำเป็นจะต้องรู้ประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้นล่วงหน้า (forward EPS) เสียก่อน ซึ่งค่า forward EPS นั้นปกตินักลงทุนทั่วไปคำนวณเองไม่ไหวหรอก มักต้องอาศัยอ่านจากบทวิเคราะห์ต่างๆ แล้วนำค่าที่บทวิเคราะห์คำนวณไว้ให้มาใช้

เอาละ เราจะประเมินราคาเป้าหมายของ Spali ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการรู้ก็คือ forward EPS หรือประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้นในปี 2015 ของ Spali เหตุที่ลุงแมวน้ำใช้ค่าของปี 2015 ก็เพราะว่าตอนนี้เป็นปลายปี 2014 แล้ว ได้ค่า EPS 2014 มาก็ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากการลงทุนในนตลาดหุ้นมักมองล่วงหน้าไป 6 เดือนหรือนานกว่านั้น ลุงแมวน้ำจึงใช้ EPS 2015




ไปที่เว็บไซต์ www.settrade.com

เมื่อเข้าไปที่หน้าหลักแล้ว มองไปที่คอลัมน์ขวามือของหน้าหลัก จะเห็นกรอบที่เขียนว่า ความเห็นนักวิเคราะห์ : IAA Concensus




ป้อนชื่อหุ้น spali ลงไปในช่อง ตามรูป จากนั้นกดปุ่ม Enter





จากนั้นเราจะเห็นตัวเลขมากมายก่ายกองปรากฏออกมา ไม่ต้องตาลายและไม่ต้องตกใจ เราไม่ได้ใช้ค่าเหล่านี้ทั้งหมด เราเลือกมาแค่บางค่าเท่านั้นเอง ^_^

No comments: