Thursday, November 27, 2014

การประเมินราคาเป้าหมายด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานผสมการวิเคราะห์ทางเทคนิค (4)


กรณีศึกษา SEAFCO


กรณีศึกษานี้จะมีรายละเอียดที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เรามาดูประมาณการกำไรสุทธิกันก่อน ดูภาพต่อไปนี้




SEAFCO เป็นผู้ผลิตเสาเข็มเจาะและรับเหมาทำฐานราก สำหรับตัวอย่างนี้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เนื่องจากคาดการณ์ผลประกอบการของโบรกเกอร์ 4 รายค่อนข้างแตกต่างกัน คือสองรายต่ำหน่อย อีกสองรายสูงหน่อย ทำไมแตกต่างกันขนาดนี้

ลุงแมวน้ำก็มาเอะใจที่ค่าต่ำ คือประมาณการของ KKTRADE กับ TSC เนื่องจากผลคาดการณ์ผลประกอบการปี 2014 ได้ค่า EPS ประมาณ 0.53 บาท/หุ้น ซึ่งลุงแมวน้ำบังเอิญจำได้ว่าผลประกอบการ 9 เดือนของ SEAFCO คือ 0.61 บาท/หุ้น ก็ขนาด 9 เดือนยังได้เท่านี้ ทั้งปีจะลดเหลือ 0.53 บาท/หุ้นก็ไม่น่าใช่แล้ว ตัวเลขน่าจะคลาดเคลื่อน

ลุงแมวน้ำก็เปิดบทวิเคราะห์อ่าน คือหากสงสัยเช่นนี้จะดูแต่ตัวเลขแค่นี้ไม่ได้แล้ว ควรเปิดบทวิเคราะห์อ่านเพื่อไล่เรียงดูที่มาที่ไปของตัวเลขด้วย

อนึ่ง กรณีค่าไม่ค่อยน่าเชื่อนี้ อาจเกิดจากการพิมพ์ข้อมูลใส่ในเว็บคลาดเคลื่อนไปก็ได้ ไม่ได้หมายความว่านักวิเคราะห์วิเคราะห์คลาดเคลื่อน ทางที่ดีควรหาบทวิเคราะห์มาสอบทานอีกรอบหนึ่งทุกครั้งหากทำได้

ก็ปรากฏว่าตัวเลขของ DBSV น่าเชื่อถือและน่าจะใกล้เคียงกว่า ดังนั้น ในกรณีนี้ลุงแมวน้ำจึงเลือกใช้ค่า EPS 2015F จาก DBSV เพียงรายเดียว จากนั้นคำนวณเป็นตารางพีอีล่วงหน้า และตีเส้นระดับฟิโบนาชชี






จากตารางพีอีล่วงหน้าและจากระดับฟิโบนาชชี พบว่ามีราคาเป้าหมายที่สอดคล้องกันหลายค่า คือที่ระดับฟินาชชี 161.8%, 261.8% และ 423.6% ล้วนแต่มีทางเป็นไปได้

ที่จริงหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างหากอยู่ในภาวะตลาดขาขึ้นไม่น่าเทรดกันที่พีอีล่วงหน้า 15 เท่า ควรจะสูงกว่านี้ ขนาด 25 เท่าก็ยังเป็นไปได้ หากเป็นกรณีเช่นนี้ ก็เลือกราคาเป้าหมายที่ 11.5 บาทซึ่งสอดคล้องกับพีอีล่วงหน้า 15 เท่าเอาไว้ก่อน เมื่อถึง 11.5 บาท ก็ค่อยว่ากันอีกที คือปล่อยให้ราคาไปตามแนวโน้ม หากราคายังไปต่อได้ก็ไม่ต้องรีบขาย เพราะราคาอาจไปได้ถึง 23.5 บาทก็ได้



การประมาณราคาเป้าหมายในยามตลาดขาลง


กรณีศึกษา SINGER


การประมาณราเป้าหมายยามตลาดเป็นขาลงนั้นมีรายละเอียดที่แตกต่างจากการประมาณการในยามตลาดขาขึ้นเล็กน้อย อย่างแรกก็คือ การกำหนดกรอบพีอีล่วงหน้าในยามตลาดขาลงต้องกำหนดให้เป็นช่วงต่ำ เช่น ที่ 5 ถึง 15 เท่า

เราลองมาดูประมาณการ EPS กันก่อน





นี่ก็อีกแล้ว ค่าประมาณแบบกระจัดกระจาย พวกค่ากระจายนี่พึงระวัง

ลุงแมวน้ำก็ไปตรวจดูผลประกอบการ 9 เดือน ปี 2557 ของหุ้นซิงเกอร์ พบว่า 9 เดือนแรกนี้ EPS ต่อหุ้นได้ 0.80 บาท และปีนี้ผลประกอบการแย่กว่าปีที่แล้ว ราคาหุ้นก็ร่วงยาว ดังนั้นสำหรับ EPS 2014F ประมาณการของ PST, ASP, TSC น่าจะสูงเกินไป ค่าของ TRINITY น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด และเมื่อลุงแมวน้ำอ่านรายละเอียดในบทวิเคราะห์ของทรินิตีก็เห็นว่าที่มาที่ไปของค่าประมาณน่าน่าจะเชื่อถือได้มากกว่าค่าอื่นๆ ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงเลือกใช้ค่า EPS 2015F ของทรินิตีเพียงค่าเดียว  ไม่ได้ใช้ค่าเฉลี่ย

ลุงแมวน้ำคำนวณค่าพีอีล่วงหน้าในช่วงค่าต่ำ จากนั้นลากเส้นฟิโบนาชชี การลากเส้นฟิโบนาชชีนั้นต้องลากแบบขาลง คือดึงเส้นให้เฉียงไปคนละทางกับการตีเส้นขาขึ้น (วิธีใช้เครื่องมือฟิโบนาชชีควรสอบถามจากโบรกเกอร์ที่ใช้บริการ)






กรณีนี้ก็มีระดับฟิโบนาชชีที่สอดคล้องกับค่าพีอีล่วงหน้าอยู่ 2 ค่า คือ 13.5 บาท (เท่ากับพีอีล่วงหน้าประมาณ 11 เท่า) กับ 9 บาท ลุงแมวน้ำว่าราคา 13.5 บาทนี้มีโอกาสเป็นไปได้ เนื่องจากโดยทั่วไปหุ้นในกลุ่มพาณิชย์เทรดกันที่พีอีค่อนข้างสูง คือ 30 เท่าหรือสูงกว่านั้น ดังนั้นหากร่วงลงมาระดับ 11 เท่านี่ก็ต่ำแล้ว อีกประการ ผลประกอบการ 2015 น่าจะดีกว่า 2014 สะท้อนว่าปีหน้าผลงานของซิงเกอร์น่าจะฟื้นตัวได้

แต่อย่างไรก็ตาม โอกาสลงถึง 9 บาทมีอยู่บ้าง ผลกระกอบการไตรมาส 4 ปี 2014 กับไตรมาส 1 ปี 2015 จะเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญ หากออกมาไม่น่าพอใจราคาอาจไหลลงถึง 9 บาทได้


การประมาณเป้าหมายดัชนี

กรณีศึกษา S&P 500 


การประมาณราคาที่ลุงแมวน้ำเล่ามานี้ใช้ได้กับหุ้นทั้งในยามขาขึ้นและขาลง นอกจากใช้กับหุ้นแล้วยังใช้กับดัชนีได้อีกด้วย เราลองมาดูกัน

สมมติว่าเราจะประมาณดัชนี S&P 500 ของตลาดหุ้นอเมริกา เราก็จำเป็นต้องรู้ EPS 2015F ของดัชนีนี้เสียก่อน พวกดัชนีที่สำคัญมักหาค่า EPS ล่วงหน้าได้ไม่ยาก ที่จริงของ SET ก็มีผู้ประมาณ SET EPS 2015F เอาไว้ แต่ลุงแมวน้ำยกกรณีศึกษาเป็น S&P 500 เพราะอยากให้เห็นวิธีนี้ใช้ได้ทั่วไป ใช้กับตลาดต่างประเทศก็ได้

ขั้นแรกเราก็ปรึกษาอากู๋เสียก่อน โดยใช้กูเกิลค้นหาว่ามีใครประมาณ EPS 2015 เอาไว้บ้าง โดยใช้คำค้นว่า EPS S&P 500 2015




เมื่อกูเกิลรายงานผลการค้นออกมา เราก็เลือกดูการประมาณจากบทวิเคราะห์ที่ดูน่าเชื่อถือ และเป็นประมาณการใหม่ๆ ไมใช่ประมาณเอาไว้เมื่อนานมาแล้ว

ผลก็คือ ลุงแมวน้ำเลือกเอาการวิเคราะห์ของโกลด์แมนแซคส์มาใช้ ก็เปิดเข้าไปอ่านรายละเอียดข้างใน จะพบว่าโกลด์แมนแซคส์ประเมินกำไรสุทธิต่อหุ้นของดัชนี S&P 500 ในปี 2015 ไว้ที่ 122 ดอลลาร์/หุ้น ส่วนธนาคารแห่งอเมริกา (BOA) ประเมินไว้ 126 ดอลลาร์/หุ้น

เราก็เลือกประมาณการต่ำไว้ก่อน ใช้ 122 ดอลลาร์ เอามาคำนวณพีอีล่วงหน้า ได้ดังนี้





จากนั้นก็ลากเส้นฟิโบนาชชี




จะพบว่าที่ 161.8% (พีอีล่วงหน้า 17.5 เท่า) คือที่ดัชนี 2100 จุดนั้นใกล้ถึงแล้ว (ตอนนี้ 2072 จุด) ดังนั้นคงต้องมองไปที่พีอีล่วงหน้า 20 เท่า นั่นคือระดับฟิโบนาชชีระดับถัดไป ดัชนี S&P 500 อาจไปได้ถึง 1500 จุดในปี 2015

เป้าหมายนี้เป็นไปได้ทั้งคู่ กรณีที่ป้าเจนขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดแล้วผลกระทบทางลบรุนแรง ตลาดอาจเริ่มไหลตั้งแต่ต้นปี 2015 นั่นคือ ในกรณีร้ายเราอาจเห็นแค่ดัชนี 2100 จุดในตอนต้นปี 2015 และตลาดลงเป็นเวลาหลายเดือน

แต่หากผลกระทบไม่รุนแรง ดัชนีก็อาจไปได้ถึง 2500 จุดในปีหน้านี้โดยค่อยๆไต่ระดับขึ้นไป ซึ่งลุงแมวน้ำให้น้ำหนักกับเป้า 2500 จุดมากกว่า



ทั้งหมดนี้ก็เป็นการประเมินราคาเป้าหมายโดยใช้เครื่องมือทางปัจจัยพื้นฐานและเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคผสมกัน รวมทั้งกรณีศึกษายามขาขึ้น ขาลง ดัชนี ตลาดต่างประเทศ ครบครัน ลองเอาไปใช้กันดูนะคร้าบ

Monday, November 24, 2014

การประเมินราคาเป้าหมายด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานผสมการวิเคราะห์ทางเทคนิค (3)




เมื่อสองตอนที่แล้วลุงแมวน้ำได้แนะนำให้รู้จักการใช้เครื่องมือทางสายการวิเคราะห์ทางเทคนิคคือเครื่องมือฟิโบนาชชี เครื่องมือทางสายปัจจัยพื้นฐาน นั่นคือค่าพีอีล่วงหน้า นำมาใช้ร่วมกันในการประเมินราคาเป้าหมาย พร้อมกับยกกรณีศึกษาหุ้น Spali มาให้ดูกัน ในตอนนี้ลุงแมวน้ำจะลองยกกรณีศึกษามาให้ดูกันอีกหลายกรณี กรณีศึกษาที่จะยกมานี้ลุงแมวน้ำจะไปอย่างรวดเร็ว คือไม่อธิบายมากเหมือนในกรณี Spali เพราะถือว่ามีประสบการณ์มาบ้างแล้ว

กรณีศึกษา EA


EA เป็นหุ้นที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับพลังงานทดแทน มีทั้งการผลิตไบโอดีเซลและโรงไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่เป็นโซลาร์ฟาร์มแบบพีวี (Photovoltaic solar farm)

หุ้นในแนวผลิตโรงไฟฟ้านั้นที่จริงเป็นหุ้นมั่นคง (defensive stock) ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อตั้งโรงงานสำเร็จและดำเนินการผลิตไฟฟ้าขายแล้วจะสร้างรายได้ค่อนข้างสม่ำเสมอ เนื่องจากทำสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าไว้แล้ว และโรงงานหนึ่งก็ผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณที่ค่อนข้างคงที่ คือเต็มกำลังการผลิตเท่าไรก็เท่านั้น จะไปเร่งรัดให้ผลิตมากกว่านั้นก็ไม่ได้ ดังนั้นรายได้ในอนาคตจึงมักคงที่และสม่ำเสมอ ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ แต่สำหรับตลาดหุ้นไทยนั้นเก็งกำไรในหุ้นพลังงานทดแทนโดยเฉพาะโซลาร์ฟาร์มกันอย่างดุเดือด

หุ้นพลังงานทดแทนโดยเฉพาะโซลาร์ฟาร์มนั้นสามารถคาดการณ์ผลประกอบการได้ค่อนข้างใกล้เคียง เนื่องจากการก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มใช้เวลาประมาณ 9-12 เดือน ดังนั้นผู้ที่สร้างโซลาร์ฟาร์มในปี 2014 นี้ก็สามารถคาดการณ์รายได้ในปี 2015 ได้อย่างใกล้เคียง ส่วนผู้ที่สร้างในปี 2015 ไม่น่ารับรู้รายได้ทันในปี 2015

ลองมาดูแนวโน้มประมาณการผลประกอบการปี 2015 ของหุ้น EA กัน เข้าไปที่เว็บไซต์ settrade.com จะได้ค่าออกมาดังนี้




มีโบรกเกอร์ 2 รายประเมินกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของ EA ในปี 2015 เฉลี่ยแล้วได้ EPS 2015F เป็น 0.80 บาท/หุ้น เราก็นำมาใส่ในตารางคำนวณ P/E ล่วงหน้า ดังนี้




หากมองจากค่า P/E ล่วงหน้า ราคาหุ้น 20 บาท forward P/E ที่ 25 เท่าก็ซื้ออนาคตปี 2015 ไปในราคาที่เรียกว่าไม่ถูกนัก

ทีนี้ลองมาดูการวิเคราะห์ทางเทคนิคดูบ้าง ดูภาพต่อไปนี้



จากเครื่องมือฟิโบนาชชีเป้าหมาย ราคาที่เป็นไปได้ในปี 2015 คือที่ระดับ 161.8% คือ 27.5 บาท หรือที่ระดับ 261.8% คือ 30.5 บาท

พิจารณาจากพีอีล่วงหน้าและระดับฟิโบนาชชีแล้ว ราคาที่เป็นไปได้และรองรับอนาคตปี 2015 คือที่ 27.5 บาท ซึ่งที่ราคานี้เป็นระดับพีอีล่วงหน้าประมาณ 35 เท่า ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ซื้ออนาคตอย่างแพงทีเดียว

ทีนี้มาดูกันต่อไปอีกนิดหนึ่ง ลองมานับคลื่นประกอบด้วย ดังภาพต่อไปนี้




จะเห็นว่าราคา 27.5 บาทในตอนนี้เป็นระดับราคาเป้าหมายที่ค่อนข้างแพงแล้ว รวมทั้งยังอาจจะจบคลื่น 5 อันเป็นคลื่นขาขึ้นลูกสุดท้ายแถวๆนี้ด้วย


กรณีศึกษา SPCG


SPCG เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือที่เรียกว่าโซลาร์ฟาร์มแบบพีวี จากการประเมินคาดว่าราคาเป้าหมายที่รองรับผลประกอบการปี 2015 น่าจะเป็น 56 บาท ซึ่งราคาแถวๆนี้เป็นพีอีล่วงหน้าประมาณ 22.5 เท่า จัดว่าเป็นราคาที่สมเหตุผล










กรณีศึกษา KTB


กลุ่มโรงไฟฟ้าเป็นกลุ่มที่คาดการณ์ผลประกอบการณ์ได้ง่าย เพราะแหล่งที่มาของรายได้ค่อนข้างแน่นอน ส่วนกิจการธนาคารนั้นคาดการณ์ผลประกอบการณ์ให้แม่นยำได้ยาก เนื่องจากรายได้หรือว่าผลประกอบการณ์ในอนาคตนั้นขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันของธุรกิจธนาคารด้วยกัน ดังนั้นการประเมินจึงมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้มาก ยิ่งการคาดการณ์ทางปัจจัยพื้นฐานยากขึ้น การประเมินทางเทคนิคก็ยิ่งมีส่วนช่วย

กิจการธนาคารปกติไม่ค่อยดูค่าพีอีกัน แต่จะดูค่า P/B มากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม การประเมินของเราก็ยังใช้ค่าพีอีล่วงหน้า

เราจะไปกันอย่างเร็วๆ วิธีประเมินก็เช่นเดียวกับกรณีศึกษาก่อนหน้า แต่มีข้อควรระวังไว้นิดหนึ่ง นั่นก็คือ กิจการธนาคารมักเทรดกันที่พีอีไม่สูง แม้ในตลาดขาขึ้นแรงๆ พีอีของธนาคารก็มักต่ำกว่าพีอีของกิจการในอุตสาหกรรมอื่นๆ ดังนั้น ราคาประเมินควรกำหนดกรอบพีอีอย่าให้พีอีสูงนัก ในกรณีศึกษานี้ลุงแมวน้ำให้ค่าพีอีล่วงหน้าที่เหมาะสมไม่เกิน 15 เท่า







ผลการประเมิน เราก็ได้ราคาเป้าหมายที่รองรับผลประกอบการปี 2015 ของ KTB นั่นคือ หากปีหน้าภาวะตลาดเป็นขาขึ้น KTB ควรไปได้ถึงประมาณ 34 บาท

ลุงแมวน้ำยังมีกรณีศึกษาอีกนิดหน่อย คราวหน้าเราจะมาดูกรณีที่ประเมินยากๆ รวมทั้งการประเมินราคาเป้าหมายในยามตลาดขาลง

Wednesday, November 19, 2014

การประเมินราคาเป้าหมายด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานผสมการวิเคราะห์ทางเทคนิค (2)






ค่าที่เราจะนำมาใช้ก็คือ forward EPS ของปี 2015 ซึ่งในตารางนี้แสดงไว้ในคอลัมน์ EPS 2015F นั่นเอง (ในกรอบสีแดง)

แต่อย่างไรก็ดี ค่าที่แสดงในเว็บเพจหน้านี้เป็นลักษณะของการรวบรวมประมาณการของนักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ต่างๆ หรือที่เรียกว่าเป็น consensus ดังนั้น หุ้นแต่ละตัวอาจมีนักวิเคราะห์เข้ามาให้ตัวเลขประมาณการมากน้อยไม่เท่ากัน สำหรับหุ้นศุภาลัยนี้มีนักวิเคราะห์ให้ค่าประมาณการเอาไว้ถึง 12 โบรกเกอร์ ซึ่งถือว่าเยอะทีเดียว

ในกรณี Spali นี้มี EPS 2015F (F หมายถึง forecast คือบอกว่าเป็นค่าประมาณการ) แล้วจะเอาค่าประมาณการค่าไหนมาใช้ดีล่ะ


แนวคิดในการเลือกค่าประมาณการของกำไรสุทธิต่อหุ้นล่วงหน้า (forward EPS)


ในกรณีที่มีค่า forward EPS ให้หลายๆค่า ลุงแมวน้ำมีหลักในการเลือกมาใช้ดังนี้

  1. ใช้ค่าเฉลี่ย หลักการนี้ก็คือการนำเอาค่า forward EPS ทั้งหมดมาเฉลี่ยกัน แล้วนำค่าเฉลี่ยที่ได้มาใช้
  2. ใช้ค่ามัธยฐาน (median) ค่าฐานนิยมเป็นค่ากลางของข้อมูลชนิดหนึ่ง อธิบายง่ายๆคือการเอาค่า forward EPS ทั้งหมดมากางเรียงกันจากน้อยไปมาก จากนั้นจิ้มเอาค่าที่อยู่กลางชุดข้อมูลมาใช้ สถานการณ์ที่เหมาะจะใช้มัธยฐานก็คือ ในบางกรณี ค่าประมาณการจากนักวิเคราะห์บางรายอาจโด่งออกไป เช่น สูงเว่อหรือต่ำเว่อ หากเรานำค่าเฉลี่ยมาใช้ ค่าเฉลี่ยที่ได้อาจคลาดเคลื่อนจากความจริงไปมาก การใช้ค่ามัธยฐานแทนกก็อาจช่วยลดความคลาดเคลื่อนได้
  3. ใช้ค่าที่เกาะกลุ่มกัน คือตัดค่าโด่งทิ้งไป เลือกเอาแต่ค่าที่เกาะกลุ่มกันมาเฉลี่ย (ภาษาคณิตศาสตร์เรียกว่าค่าฐานนิยมนั่นเอง) สถานการณ์ที่เหมาะจะใช้ค่าที่เกาะกลุ่มกันคือ ในกรณีที่มีค่าประมาณการหลายๆค่า และค่าประมาณการบางค่าโด่งออกไป หากมีค่าประมาณน้อยค่าก็ไม่เหมาะที่จะใช้
  4. เลือกค่าใดค่าหนึ่งจากโบรกเกอร์หรือนักวิเคราะห์ที่เราคิดว่าน่าเชื่อถือมากที่สุด เช่น หากเรารู้ว่าโบรกเกอร์รายใดชำนาญในการวิเคราะห์กลุ่มอสังหาริมทรัพย์มาก เราก็อาจเจาะจงเลือกค่าประมาณการจากโบรกเกอร์นั้นมาใช้

สำหรับกรณีศึกษาของลุงแมวน้ำนี้ ลุงแมวน้ำใช้ค่าเฉลี่ยก็แล้วกัน ค่าประมาณการของ EPS 2015F ที่ลุงแมวน้ำใช้ก็คือ 2.87 บาท/หุ้น

หมายเหตุไว้นิดหนึ่ง ที่ลุงแมวน้ำเลือกใช้ค่าเฉลี่ย 2.87 นั้น ที่จริงแล้วลุงแมวน้ำแอบไปอ่านบทวิเคราะห์หลายๆฉบับที่แสดงการคำนวณไว้ด้วย ลุงคิดว่าค่านี้น่าจะใกล้เคียงความจริง


การคำนวณราคาเป้าหมายจาก forward EPS และ forward P/E ratio

เมื่อเราได้ค่า EPS ล่วงหน้ามาแล้ว จากนั้นขั้นต่อไปเราก็จะนำค่านี้มาคำนวณราคาเป้าหมายที่ระดับพีอีล่วงหน้า (forward P/E ratio) ต่างๆกัน โดยใช้สูตรดังนี้

ราคาเป้าหมาย = EPS ล่วงหน้า คูณ พีอีล่วงหน้า

Target price = forward EPS x forward P/E ratio

ดังนั้น ถ้าเราต้องการรู้ว่าราคาเป้าหมายที่ค่าพีอีล่วงหน้า 15 เท่า เป็นเท่าไร ก็นำ 2.87 คูณด้วย 15 ได้เป็น 43.1 นั่นคือ ราคาเป้าหมาย ณ พีอีล่วงหน้า 15 เท่า คือ 43.1 บาท เป็นต้น

จากนั้นเราก็คำนวณราคาเป้าหมายที่ค่า พีอีล่วงหน้า ต่างๆ แล้วทำเป็นตาราง ดังนี้




ผลที่ได้จากตารางนี้ก็คือ ราคาเป้าหมายที่เป็นไปได้ ณ ค่าพีอีล่วงหน้าต่างๆนั่นเอง ลุงแมวน้ำเลือกใช้ช่วงของค่าพีอีล่วงหน้าตั้งแต่ 12.5 เท่า ไปจนถึง 25 เท่า ซึ่งราคาเป้าหมายที่พีอีล่วงหน้า 25 เท่าถือว่าซื้ออนาคตไปมากแล้ว ไม่ควรใช้ค่าพีอีล่วงหน้าที่สูงกว่านี้ เนื่องจากเป็นการคาดหวังที่เลิศลอยเกินไป

เอาละ ลุงแมวน้ำคำนวณราคาเป้าหมายด้วยวิธี EPS ล่วงหน้าได้มาตั้งหลายค่า แล้วจะเลือกใช้ค่าไหนดีล่ะ


ผสมเทคนิคกับปัจจัยพื้นฐาน



เราก็ย้อนไปดูที่กราฟรูปเดิมของเราที่ประเมินราคาเป้าหมายโดยใช้วิธีฟิโบนาชชี และดูว่ามีระดับฟิโบนาชชีอะไรบ้างที่สอดคล้องกับราคาเป้าหมายของวิธี EPS ล่วงหน้า




ผลปรากฏว่าที่ระดับฟิโบนาชชีสำคัญ 423.6% ได้ราคาเป้าหมาย 56 บาท




ส่วนวิธีคำนวณจาก EPS ล่วงหน้า ที่ค่าพีอีล่วงหน้า 20 เท่า ได้ราคาเป้าหมาย 57.4 บาท ค่าพีอีล่วงหน้า 20 เท่าสำหรับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในตลาดขาขึ้นเป็นค่าที่พีอีที่ไม่สูงนัก มีความเป็นไปได้ ดังนั้นราคาเป้าหมายของ Spali ที่รองรับผลประกอบการปี 2015 มีโอกาสไปได้ถึง 56-57 บาท


วิธีการนำราคาเป้าหมายไปใช้ในการลงทุน 


ราคาเป้าหมายของ Spali ที่ 56 บาทนี้เป็นราคาเป้าหมายที่มีโอกาสเป็นจริงสูง เพราะประเมินค่อนข้างอนุรักษ์นิยม การนำไปใช้ในการลงทุนก็คือ เมื่อราคาไปถึงใกล้ๆ 56 บาทแล้วไปต่อไม่ไหว ไหลลงมาจนเกิดสัญญาณขาย ก็ขายตามไป 

หากราคาไปเกิน 56 บาทก็ไม่ต้องทำอะไร ถือไปก่อน ไปไหนไปด้วย เมื่อใดที่ราคาไหลลงมาจนเกิดสัญญาณขายจึงค่อยขาย

ราคาเป้าหมายนี้ใช้ได้ถึงเมื่อใด โดยปกติแล้วตลาดหุ้นมักมองล่วงหน้าไปอย่างน้อย 6 เดือน ดังนั้น ราคานี้หากจะเกิดก็ควรเกิดไม่เกิน มิถุนายน 2015 หลังจากมิถุนายน 2015 ไปแล้ว นักลงทุนน่าจะใช้ราคาเป้าหมายของปี 2016 มากกว่า แต่นี่เป็นแนวคิดคร่าวๆเท่านั้น ในทางปฏิบัติคงต้องดูสถานการณ์เมื่อกลางปี 2015 มาถึงด้วย

ขายไปแล้วทำยังไงต่อ รอกลับเข้าลงทุนอีกได้หรือไม่ ข้อนี้ตอบยาก แนวคิดก็คือ ควรหาข้อมูล EPS 2016F มาพิจารณาก่อน หากผลประกอบการของหุ้นมีการเติบโตก็กลับเข้าลงทุนอีกได้ หาก EPS 2016F ทรงตัวหรือลดลงก็อาจมองหุ้นตัวอื่นไปดีกว่า 

วิธีประเมินราคาเป้าหมายโดยใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคผสมกับปัจจัยพื้นฐานนั้นยังเหมาะสำหรับผู้ที่ลงทุนในหุ้นหรือดัชนีต่างประเทศด้วย เนื่องจากการไปลงทุนในต่างประเทศนั้นข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานของหุ้นอาจหายากหรือหากมีก็อ่านไม่เข้าใจด้วยอุปสรรคทางภาษา หรือข้อมูลอาจไม่ค่อยน่าเชื่อถือ ฯลฯ การใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคเพียงอย่างเดียวก็มีโอกาสพลาดได้ แต่สิ่งที่พอหาได้ไม่ยากก็คือกราฟกับ forward EPS นั่นแหละ มีอะไรก็ใช้อย่างนั้น นำมาใช้ร่วมกันช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนในต่างประเทศได้


ทำไมจึงเลือก Spali เป็นกรณีศึกษา


แล้วก็มาถึงบทเฉลยที่ว่าทำไมลุงแมวน้ำจึงเลือก Spali เป็นกรณีศึกษา ที่จริงก็ไม่ได้เจาะจงเลือกหุ้น Spali หรอก แต่ลุงตั้งใจเลือกกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เป็นกรณีศึกษา เหตุผลก็เนื่องจากว่ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์นี้มีค่า แบ็กล็อก (backlog) หรือยอดขายที่ตุนอยู่ในมือแต่ยังไม่ได้บันทึกบัญชีอยู่ ซึ่งก็คือยอดขายที่มีการวางเงินดาวน์แล้วแต่ยังไม่ได้โอนนั่นเอง บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ๆมักมีแบ็กล็อกที่ตุนอยู่ในมืออาจถึง 12 เดือนล่วงหน้าทีเดียว ดังนั้น การคำนวณ EPS ล่วงหน้าในหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มักทำได้ค่อนข้างใกล้เคียงความจริง เนื่องจากคำนวณจากแบ็กล็อกนั่นเอง และหาก EPS ล่วงหน้าประมาณได้ใกล้เคียงความจริง ราคาเป้าหมายที่ประเมินได้ก็ย่อมมีโอกาสเกิดได้สูงด้วย


ในตอนต่อไป ลุงแมวน้ำจะลองดูกรณีศึกษาในหุ้นตัวอื่นกัน ลุงแมวน้ำจะลองคำนวณราคาเป้าหมายของหุ้นในกลุ่มโซลาร์ฟาร์มยอดนิยมด้วย ^_^

Monday, November 17, 2014

การประเมินราคาเป้าหมายด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานผสมการวิเคราะห์ทางเทคนิค (1)





เราได้คุยกันถึงเรื่องโค้งทรงระฆังคว่ำและวัฏจักรเศรษฐกิจ วัฏจักรกิจการ และวัฏจักรราคาหุ้น พร้อมกับคุยกันเรื่องค่าพีอีของหุ้นกันมาหลายตอนแล้ว วันนี้เราจะเปลี่ยนบรรยากาศกันบ้าง

เรื่องที่ลุงแมวน้ำจะคุยในตอนนี้เป็นการประเมินราคาเป้าหมายของหุ้นด้วยวิธีทางสายวิเคราะห์ทางเทคนิคและวิธีทางสายปัจจัยพื้นฐานผสมกัน อันเป็นวิธีที่ลุงแมวน้ำใช้ในการลงทุน

ทำไมต้องใช้วิธีทางเทคนิคและพื้นฐานผสมกัน ประเด็นนี้มีที่มาที่ไปนิดหน่อย ลองมาพิจารณาเหตุผลกันก่อน

จุดอ่อนของการประเมินราคาเป้าหมายด้วยปัจจัยพื้นฐาน 


เนื่องจากการประเมินราคาเป้าหมาย หรือบางทีก็เรียกว่าราคายุติธรรม (fair value) ด้วยวิธีทางปัจจัยพื้นฐานนั้นใช้การคำนวณหามูลค่าปัจจุบันของหุ้นด้วยวิธีการต่างๆกันหลายวิธี แต่ละวิธีก็มีความเหมาะสมสำหรับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ในการประเมินมูลค่าปัจจุบันด้วยวิธีการต่างๆนั้นยังต้องอาศัยสมมติฐานประมาณการรายได้อีกด้วย ดังนั้น หากข้อมูลด้านประมาณการรายได้คลาดเคลื่อน หรือใช้ตัวแบบในการคำนวณไม่เหมาะสม ราคาเป้าหมายที่ได้ก็ย่อมคลาดเคลื่อนได้ ส่วนจะคลาดเคลื่อนมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสมมติฐานที่ใช้และตัวแบบในการคำนวณว่าคลาดเคลื่อนไปมากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ จุดอ่อนอีกประการในการประเมินราคาเป้าหมายด้วยปัจจัยพื้นฐานก็คือมักต้องใช้การคำนวณค่อนข้างมาก นักลงทุนโดยทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษามาทางด้านนี้ส่วนใหญ่คำนวณเองไม่ได้ มักต้องพึ่งราคาเป้าหมายจากบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ต่างๆ ซึ่งหุ้นบางตัวโบรกเกอร์ต่างๆให้ราคาเป้าหมายที่แตกต่างกันมาก ก็ไม่รู้ว่าราคาไหนจึงเป็นราคาที่เหมาะสมใกล้เคียงความจริง

และแม้ว่ามีราคาเป้าหมายแล้ว นักลงทุนจำนวนไม่น้อยก็มักไม่รู้ว่าจุดซื้อจุดขายอยู่ที่ใด บางทียังไม่ถึงราคาเป้าหมายก็ร่วงเสียก่อน บางทีเลยราคาเป้าหมายไปตั้งไกลก็ยังขึ้นไม่หยุด เป็นต้น

จุดอ่อนของการประเมินราคาเป้าหมายด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิค


การประเมินราคาเป้าทางหมายด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิคก็มีหลายวิธี เช่น แนวรับแนวต้าน การวัดแก็ป การวัดส่วนสูงของคลื่น วิธีฟิโบนาชชี ฯลฯ แต่ในความเห็นของลุงแมวน้ำ วิธีประเมินราคาเป้าหมายด้วยเครื่องมือทางเทคนิคที่แพร่หลายที่สุดน่าจะเป็นวิธีฟิโบนาชชีเป้าหมาย (Fibonacci targeting) กับวิธีแนวรับแนวต้าน (support resistant level targeting)

วิธีประเมินราคาเป้าหมายด้วยแนวรับแนวต้านนั้นก็เป็นวิธีที่ใช้กันโดยทั่วไป แต่มักใช้กับราคาเป้าหมายในระยะสั้น คือมักใช้กับการเทรดระยะสั้นมากกว่า จุดอ่อนสำคัญของวิธีนี้ก็คือ เมื่อราคาหุ้นทำนิวไฮหรือทำนิวโลว์ ก็จะไม่มีแนวรับแนวต้านแล้ว วิธีนี้จึงใช้กับราคาหุ้นที่ทำจุดสูงสุดใหม่หรือจุดต่ำสุดใหม่ไม่ได้

ส่วนวิธีฟิโบนาชชีนั้นไม่มีข้อจำกัดเรื่องราคาหุ้นทำนิวไฮหรือนิวโลว์ ราคาเท่าไรก็คำนวณได้ สำหรับจุดอ่อนของวิธีฟิโบนาชชีนี้ก็มีอยู่หลายประการ ที่สำคัญก็คือวิธีนี้จะให้ราคาเป้าหมายหลายราคา ต้องเลือกเอาเอง นักลงทุนอาจเลือกไม่ถูกว่าราคาไหนน่าจะเป็นราคาเป้าหมายที่เหมาะสมที่สุด

จุดอ่อนที่สำคัญอีกประการก็คือ วิธีฟิโบนาชชีนี้ใช้การวัดที่อิงกับยอดคลื่นและท้องคลื่น หากนับคลื่นไม่ถูก หรือรูปแบบราคาก่อตัวเป็นรูปทรงที่แปลกประหลาด การวัดฟิโบนาชชีก็ยากและอาจคลาดเคลื่อนได้มาก

และนอกจากนี้ ลุงแมวน้ำยังมีข้อกังวลอีกประการหนึ่ง นั่นคือ วิธีฟิโบนาชชีนี้เป็นวิธีที่เก่าแก่มาก ใช้กันมาไม่รู้กี่สิบปีแล้ว สมัยก่อนการนำไปใช้ยังไม่แพร่หลายนัก แต่สมัยนี้นักลงทุนใช้ฟิโบนาชชีกันทั้งโลก และสมัยนี้เป็นยุคที่รูปแบบทางเทคนิคสร้างกันได้ โดยเฉพาะในหุ้นที่สภาพคล่องน้อยยิ่งสร้างรูปแบบทางเทคนิคให้ตรงตามตำราได้ง่ายๆ รวมทั้งปัจจุบันยังการใช้โปรแกรมเทรดหุ้น หรือที่เรียกว่า robotic trading system หรือ algorithmic trading system คือเขียนสูตรคำนวณเป็นโปรแกรม แล้วโปรแกรมนี้สามารถสั่งซื้อขายหุ้นได้เองเมื่อถึงจุดซื้อขายตามที่โปรแกรมคำนวณ ซึ่งการใช้โปรแกรมเทรดหุ้นนี้ก็สามารถสร้างรูปแบบทางเทคนิคมาดักทางเพื่อกินเงินรายย่อยได้เช่นกัน เช่น การเทขายก่อนถึงระดับฟิโบนาชชีสำคัญ เป็นต้น

รวมความแล้วทั้งวิธีทางสายการวิเคราะห์ทางเทคนิคและปัจจัยพื้นฐานต่างก็มีจุดอ่อนจุดแข็งที่แตกต่างกัน ลุงแมวน้ำจึงใช้สองวิธีนี้ร่วมกันเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการกำหนดราคาเป้าหมายและจุดซื้อจุดขาย เท่าที่ลุงแมวน้ำใช้มาก็คิดว่าได้ผลดี ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนได้ วันนี้จึงนำมาขยายให้พวกเราอ่านและอาจลองนำไปใช้กัน

วิธีการของลุงแมวน้ำไม่ยากนัก แต่อาจมีหลายขั้นตอน ต้องค่อยๆอ่านและทำตามไป ใช้เทคนิคนิดๆ ใช้พื้นฐานหน่อยๆ ไม่ได้ลงลึกอะไร ใครๆก็น่าจะพอทำได้หากมีความตั้งใจ ข้อสำคัญคืออย่าใจร้อน ในที่สุดก็จะทำได้

เอาละ ลองมาดูกันว่าอุปกรณ์เครื่องมือที่ต้องใช้มีอะไรบ้าง

  1. สายการวิเคราะห์ทางเทคนิค ใช้เครื่องมือฟิโบนาชชี (Fibonacci retracement) เครื่องมือนี้หาใช้ได้ทั่วไป คือมีใน อีไฟแนนซ์ (e-finance) และในแอสเพน (aspen) 
  2. สายการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ใช้ข้อมูล forward EPS จากเว็บไซต์ www.settrade.com


การประเมินราคาเป้าหมายในตลาดขาขึ้น กรณีศึกษา Spali


การประเมินราคาเป้าหมายด้วยวิธีผสมนี้ใช้ได้ทั้งในยามตลาดขาขึ้นและตลาดขาลง ใช้หลักการเดียวกันแต่รายละเอียดแตกต่างกันนิดหน่อย ในที่นี้ลุงแมวน้ำจะคุยเรื่องการประเมินราคาเป้าหมายในตลาดขาขึ้นก่อน โดยเราจะใช้หุ้นศุภาลัยหรือ Spali เป็นกรณีศึกษา ที่ลุงแมวน้ำเลือกใช้ตัวนี้ไม่ได้เชียร์หุ้นนะคร้าบ มีเหตุผลที่เลือกใช้หุ้นนี้ ซึ่งอ่านต่อไปเดี๋ยวจะทราบ

ต่อไปนี้เป็นวิธีปฏิบัติในการประเมินราคาเป้าหมาย เรามาทำไปด้วยกันเลย รูปมาก่อน คำอธิบายตามหลัง

การประเมินด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิค ใช้เครื่องมือฟิโบนาชชี


ขั้นแรกเราหาราคาเป้าหมายทางเทคนิคก่อน ลุงแมวน้ำเครื่องมือฟิโบนาชชี

เราก็เปิดกราฟ Spali ออกมาดู ใช้อีไฟแนนซ์หรือแอสเพนก็ได้ ในชั้นนี้ลุงแมวน้ำโมเมถือเอาว่าพวกเราใช้เครื่องมือฟิโบนาชชีในอีไฟแนนซ์หรือแอสเพนเป็นแล้ว หากยังใช้ไม่เป็น ควรศึกษาวิธีใช้งานจากโบรกเกอร์ที่ใช้บริการอยู่ ปกติโบรกเกอร์จะสอนวิธีใช้เครื่องมือทางเทคนิคให้




นี่เป็นกราฟแท่งเทียนของราคาหุ้น Spali ประเด็นแรกที่ต้องวิเคราะห์ก่อนก็คือ มองไปข้างหน้าน่าจะเป็นตลาดขาขึ้นหรือขาลง

จากรูปแบบทางเทคนิค ดูจากกราฟ Sapli ราคายังอยู่ในคลื่นใหญ่ขาขึ้น และหากประเมินจากปัจจัยเศรษฐกิจ ธปท สภาพัฒน์ และอีกหลายๆหน่วยงาน มีความเห็นสอดคล้องกันว่าในปี 2015 จีดีพีของไทยน่าจะเติบโตได้ในอัตรา 4% ถึง 4.5% เมื่อเทียบจากปี 2014 ดังนั้นตลาดอสังหาริมทรัพย์และราคาหุ้น Spali ในปี 2015 น่าจะเป็นตลาดขาขึ้น

แล้วเราจะกำหนดจุดไหนเพื่อลากเส้นฟิโบนาชชีดีล่ะ คำตอบก็คือโดยปกติจะเป็นยอดคลื่นและท้องคลื่นล่าสุด




สมมติว่ามือใหม่ ยังกำหนดจุดลากเส้นไม่ถูก ไม่เป็นไร ไม่ต้องกลัว อย่าเพิ่งท้อ ทำมั่วๆไปก่อน ทำบ่อยๆแล้วจะเกิดประสบการณ์ขึ้นมาเอง เล็งยอดคลื่นและท้องคลื่นไว้ รวมเป็น 2 จุด




สมมติว่าเลือกจุดได้แล้ว ดังในรูป คราวนี้เราก็ไปเลือกเครื่องมือที่เรียกว่า Fibonacci retracement (ในแผงเครื่องมืออาจมี Fibonacci หลายอย่าง ให้เลือก Fibonacci retracement) จากนั้นลากเครื่องมือจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง (ที่เราเล็งเอาไว้นั่นน่ะ)




เครื่องมือ Fibonacci retracement จะคำนวณระดับฟิโบนาชชีเป้าหมายออกมาให้หลายค่า มีตั้งแต่ 29 บาท 39 บาท 56 บาท จะเลือกใช้ค่าไหนดีล่ะ นี่แหละคือปัญหา

การประเมินด้วยปัจจัยพื้นฐาน ใช้เครื่องมือสัดส่วนพีอีล่วงหน้า (forward P/E ratio)


เราพักเรื่องราคาทางเทคนิคเอาไว้ก่อน คราวนี้มาคำนวณทางปัจจัยพื้นฐานกันบ้าง จากนั้นเราจะเอาค่าที่ได้ไปพิจารณาร่วมกัน วิธีทางปัจจัยพื้นฐานที่ใช้ในการประเมินราคาเป้าหมายนั้นลุงแมวน้ำเลือกใช้วิธีที่เป็นพื้นฐานที่สุด นั่นคือ ใช้วิธีประเมินจากค่าพีอีล่วงหน้า (forward P/E ratio)

ค่าพีอีล่วงหน้านี้เราต้องคำนวณเอาเอง การที่จะคำนวณได้จำเป็นจะต้องรู้ประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้นล่วงหน้า (forward EPS) เสียก่อน ซึ่งค่า forward EPS นั้นปกตินักลงทุนทั่วไปคำนวณเองไม่ไหวหรอก มักต้องอาศัยอ่านจากบทวิเคราะห์ต่างๆ แล้วนำค่าที่บทวิเคราะห์คำนวณไว้ให้มาใช้

เอาละ เราจะประเมินราคาเป้าหมายของ Spali ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการรู้ก็คือ forward EPS หรือประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้นในปี 2015 ของ Spali เหตุที่ลุงแมวน้ำใช้ค่าของปี 2015 ก็เพราะว่าตอนนี้เป็นปลายปี 2014 แล้ว ได้ค่า EPS 2014 มาก็ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากการลงทุนในนตลาดหุ้นมักมองล่วงหน้าไป 6 เดือนหรือนานกว่านั้น ลุงแมวน้ำจึงใช้ EPS 2015




ไปที่เว็บไซต์ www.settrade.com

เมื่อเข้าไปที่หน้าหลักแล้ว มองไปที่คอลัมน์ขวามือของหน้าหลัก จะเห็นกรอบที่เขียนว่า ความเห็นนักวิเคราะห์ : IAA Concensus




ป้อนชื่อหุ้น spali ลงไปในช่อง ตามรูป จากนั้นกดปุ่ม Enter





จากนั้นเราจะเห็นตัวเลขมากมายก่ายกองปรากฏออกมา ไม่ต้องตาลายและไม่ต้องตกใจ เราไม่ได้ใช้ค่าเหล่านี้ทั้งหมด เราเลือกมาแค่บางค่าเท่านั้นเอง ^_^

Thursday, November 13, 2014

หุ้นพีอีต่ำ หุ้นแม่ไก่ไข่ (4)






ลักษณะเด่นของหุ้นแม่ไก่ไข่ (หรือหุ้นวัวเงินสด)



“หุ้นแบบนี้ก็ดีสิจ๊ะลุงแมวน้ำ” ยีราฟพูดขึ้นบ้าง “ฉันอยากได้ จะได้กินเงินปันผลสูงๆ ถ้ามีหุ้นแบบนี้ฉันคงถือไปตลอดชีวิตเลย”

“ลุงแมวน้ำต้องมีคำว่า แต่ แน่นอน” ลิงกระดิกหาง “ในโลกนี้มีหุ้นดีๆแบบนี้ด้วยเหรอ”

“หุ้นแบบนี้ก็ดีนะ ไม่ได้มีอะไรเสียหาย แต่...” ลุงแมวน้ำพูดแล้วหัวเราะ “ลุงก็มีคำว่า แต่ จริงๆนั่นแหละ”

“แต่อะไรจ๊ะลุง” ยีราฟสงสัย

“ที่ลุงบอกว่าหุ้นนี้เรียกว่าหุ้นแม่ไก่ไข่ หรือที่ฝรั่งเรียกว่าหุ้นวัวเงินสด สภาพของหุ้นก็เป็นเหมือนแม่ไก่หรือวัวนมนั่นแหละ นั่นคือ มีอายุการทำงาน” ลุงแมวน้ำพูด “พวกเรารู้ไหมว่าแม่ไก่ไข่นั้นจะมีช่วงเวลาที่ให้ไข่ดกคือในวัยสาวเท่านั้น พอเข้าวัยกลาง ไก่จะเริ่มให้ไข่น้อยลง วันหนึ่งก็ถูกปลดระวาง วัวนมก็เช่นกัน วัวสาวเท่านั้นที่ให้น้ำนมได้มาก แม่วัววัยกลางจะให้น้ำนมได้น้อยลง สักวันก็ถูกปลดระวางเช่นกัน เพราะให้ผลผลิตตกต่ำ ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน”

“ปลดระวางแล้วเขาเอาไปเลี้ยงที่ไหนฮะลุง” กระต่ายน้อยถามบ้าง

“เรื่องมันเศร้า” ลุงแมวน้ำพูด “แม่ไก่และแม่วัวที่ถูกปลดระวางจะถูกส่งเข้าโรงงฆ่า เพราะว่าเนื้อยังขายได้”

“อ้าว” สมาชิกตัวอื่นๆอุทานบ้าง

“มันก็เป็นแบบนี้แหละ ดังนั้น พวกที่กินมังสวิรัติจึงมีแยกย่อยไง มังสวิรัติบางพวกกินไข่และนม บางพวกที่เคร่งครัดหน่อยก็ไม่กินไข่และไม่กินนม” ลุงแมวน้ำพูด “อุตสาหกรรมไข่และโคนมก็เป็นเช่นนี้แหละ ประเด็นที่ลุงต้องการจะบอกไม่ใช่เรื่องนี้ แต่จะบอกว่าหุ้นแม่ไก่ไข่หรือหุ้นวัวนมนี้ก็มีอายุในการให้ปันผลที่จุใจเช่นเดียวกัน พูดง่ายๆก็คือมีวันเสื่อมได้นั่นเอง”

“ยังไงกันลุง” ลิงสงสัย “อธิบายขยายหน่อยสิครับ”

“หุ้นที่มีเอากำไรมาจ่ายเป็นเงินปันผลจนเกือบหมด คือมีค่า dividend payout ratio สูงมากนั้น ในมุมมองอีกแง่หนึ่งก็คือกิจการไม่มีโครงการลงทุนเพิ่มอะไร คือกิจการอยู่ตัว ไม่ขยายแล้ว กำไรที่ได้จึงจ่ายเป็นเงินปันผลเกือบหมด เพราะหากต้องการเงินไปขยายกิจการก็ต้องกันเงินกำไรไว้ลงทุน และลองคิดดูสิว่ากิจการอยู่ตัว ไม่เติบโต หมายความว่ากิจการอยู่ในระยะไหนล่ะ” ลุงแมวน้ำพูด

“ระยะอิ่มตัวไงฮะ” กระต่ายรีบตอบ พลางกระดิกหางดุ๊กดิ๊ก “ผมตอบถูกใช่มั้ยครับ ฮ่าฮ่า”

“กระต่ายน้อยเข้าใจถูกแล้ว” ลุงแมวน้ำพูด “โดยทั่วไปหุ้นทำนองนี้มักเป็นธุรกิจระยะอิ่มตัว อาจมีการลงทุนเพิ่มเล็กๆน้อยๆแต่ไม่มีการลงทุนใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้ค่อนข้างสำคัญทีเดียว เพราะว่าหากกิจการไม่เติบโตหรือเติบโตน้อยมาก แปลว่าเราหยุดอยู่กับที่ในขณะที่คู่แข่งขันรายอื่นๆในอุตสาหกรรมเดียวกันยังเดินหน้าต่อไป การหยุดอยู่กับที่เมื่อผู้อื่นเดินก็เสมือนกับการถอยหลังนั่นเอง ดังนั้น ธุรกิจเหล่านี้มักคงอยู่ในระยะอิ่มตัวได้ไม่นานมากนัก เนื่องจากถูกคู่แข่งแย่งตลาดไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งธุรกิจก็มักเข้าสู่ระยะเสื่อม”

“อ้าว ยังงั้นเหรอจ๊ะลุง นึกว่าฉันจะเก็บไว้กินได้ตลอดชีวิตเสียอีก” ยีราฟผิดหวัง ทำคอตก

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟอีกแผ่นออกมาจากหูกระต่าย




“พวกเราลองดูภาพนี้กันอีกที เป็นกราฟรูปเดิมที่เราเคยดูกันไปแล้ว แต่ว่าลุงมีการวงด้วยสีน้ำเงินให้เป็นที่สังเกต

“จะเห็นว่าในกรอบสีน้ำเงินคือช่วงที่หุ้น SE-ED นี้มี dividend payout ratio สูงมาก คือนำกำไรมาจ่ายเงินปันผลจนเกือบหมด ลองสังเกตดูกราฟเส้นสีเทาซึ่งแสดงกำไรสุทธิสิ จะเห็นว่าหุ้นอยู่ในระยะอืดอาดและอิ่มตัว และในปี 2013 กำไรสุทธิลดลงอย่างมาก ซึ่งคาดว่าน่าจะเข้าสู่ระยะเสื่อมแล้ว”

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟออกมาอีกรูปหนึ่ง




“ทีนี้ดูรูปนี้ ในปี 2013 แม้กิจการจะจ่ายเงินปันผลอย่างเต็มที่ แต่เป็นเงินจำนวนน้อยเพราะกำไรสุทธิลดลงมาก ขณะเดียวกัน ราคาหุ้นตกอย่างรุนแรงสอดคล้องกับผลประกอบการ

“ลุงแมวน้ำคำนวณให้ดูคร่าวๆ ว่าใครที่ซื้อหุ้นตั้งแต่ปี 2005 ตอนนั้นหุ้น หุ้นราคาประมาณ 5.3 บาท ถือมาจนปี 2013 ได้เงินปันผลรวมทั้งหมด 4.9 บาท แต่ราคาหุ้นก็หล่นลงไปเหลือ 4.6 บาท เอาเถอะ หากซื้อตั้งแต่ปี 2005 ก็ได้เงินปันผลคุ้มค่ามาก ราคาหุ้นร่วงขนาดนี้ก็ยังคุ้มค่า

“แต่หากว่าใครซื้อหุ้นในปี 2010 ตอนนั้นหุ้นราคา 9.6 บาท ถือมาจนปลายปี 2013 ได้เงินปันผลทั้งหมด 1.9 บาท และราคาหุ้นลงมาอยู่ที่ 4.6 บาท แบบนี้ขาดทุนไปเยอะนะ เงินปันผลที่ได้มาไม่คุ้มกับผลขาดทุนจากราคาหุ้น

“และถ้าหากซื้อหุ้นนี้ในปี 2012 ตอนนั้นราคาหุ้น 8.8 บาท สถานการณ์ยิ่งแย่ นั่นคือ ได้เงินปันผลประมาณ 0.69 บาท และราคาร่วงลงมาอยู่ที่ 4.6 บาท เงินปันผลที่ได้มายิ่งไม่คุ้มกับผลขาดทุนจากราคาหุ้น”

“ลุงแมวน้ำสรุปว่าหุ้นปันผลสูงเป็นหุ้นที่อันตรายยังงั้นหรือจ๊ะ” ฮิปโปถาม

“ไม่ใช่ยังงั้น” ลุงแมวน้ำพูด “ลุงหมายความว่าหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสูงก็มีธรรมชาติของหุ้น ซึ่งเราต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ ไม่ใช่เห็นว่าอัตราเงินปันผลตอบแทน หรือ dividend yield สูงๆก็รีบเข้าซื้อและถือลืมไปเลยด้วยคิดว่าจะถือหุ้นนี้ไปตลอดชีวิต คิดแบบนี้ไม่ได้หรอก

หุ้นในกลุ่มแม่ไก่ไข่หรือหุ้นวัวเงินสดนั้น มีลักษณะเด่นก็คือ มีอัตราเงินปันผลตอบแทน (dividend yield) น่าจูงใจ อัตราจ่ายเงินปันผล (dividend payout ratio) สูงมาก และมักมีค่าพีอี (P/E ratio) ไม่แพง คือมักมีค่าพีอีต่ำกว่าตลาดหรือว่าใกล้เคียงกับพีอีของตลาด


หุ้นแม่ไก่ไข่มักมีระยะของกิจการอยู่ในระยะอืดอาด (ปลายระยะเติบโตนั่นเอง) หรืออยู่ในระยะอิ่มตัว และกิจการในระยะนี้มักเสียส่วนแบ่งการตลาดให้แก่คู่แข่งไปเรื่อยๆ นักลงทุนต้องหมั่นตรวจสอบว่ากิจการเข้าสู่ระยะเสื่อมหรือยัง หากเข้าสู่ระยะเสื่อมและกิจการหาทางต่อยอดไม่ได้ ถึงตอนนั้นละก็อันตรายอยู่เหมือนกัน

“และสาเหตุที่หุ้นแม่ไก่ไข่มีพีอีต่ำ หรือใกล้เคียงตลาด เพราะนักลงทุนบางกลุ่มก็ไม่สนใจลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ เนื่องจากนักลงทุนบางกลุ่มคิดว่าหุ้นที่จ่ายปันผลงามเป็นหุ้นที่ไม่เติบโตนั่นเอง การทำกำไรจากส่วนต่างของราคา (capital gain) จะทำได้น้อย เพราะราคาหุ้นไม่พุ่ง นักลงทุนบางกลุ่มจึงมุ่งลงทุนในหุ้นเติบโตที่ไม่จ่ายปันผลด้วยหวังกำไรจาก capital gain คือหวังกำไรจากราคาหุ้นที่พุ่ง

“หากกิจการเข้าสู่ระยะเสื่อม โดยทั่วไปแล้วกำไรมักลดลงและในที่สุดกิจการก็ขาดทุน ในที่สุด เมื่อไม่ไก่ไข่แก่ชราก็ให้ไข่ไม่ได้ กิจการที่เป็นหุ้นแม่ไก่ไข่เมื่ออยู่ในระยะเสื่อม ในที่สุดก็จ่ายเงินปันผลไม่ไหวเช่นกัน พร้อมกันนั้นราคาหุ้นจะตกลงมาก นักลงทุนที่เข้าลงทุนทีหลังอาจขาดทุนหนักจากราคาหุ้นที่ลดลง”



อุตสาหกรรมหนังสือเป็นอุตสาหกรรมตะวันตกดินหรือไม่



“ถ้ายังงั้นลุงแมวน้ำคิดว่าหุ้น SE-ED นั้นเข้าสู่ระยะเสื่อมหรือยังจ๊ะ” ยีราฟถาม

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟรูปเดิมที่เคยแสดงไปแล้วออกมาให้ดูอีก




“ถ้าดูจากกราฟรูปนี้ลุงก็คิดว่าอาจอยู่ในระยะเสื่อมแล้ว ก็ต้องดูว่ากิจการจะแก้ไขสถานการณ์หรือว่าต่อยอดกิจการเพื่อพลิกสถานการณ์ให้กลายเป็นหุ้นเทิร์นอะราวด์หรือหุ้นฟื้นไข้ได้หรือไม่” ลุงแมวน้ำพูด

“ถ้ายังงั้นลุงแมวน้ำคิดว่าหุ้นนี้มีโอกาสเป็นหุ้นฟื้นไข้มั้ยละครับ” ลิงถามบ้าง “หุ้นฟื้นไข้เป็นหุ้นที่น่าลงทุน เพราะสร้างผลตอบแทนอย่างงามจากการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส”

“คำถามของนายจ๋อเข้าข่ายคำถามด้านปัจจัยพื้นฐานแล้ว เพราะการจะตอบคำถามของนายจ๋อได้ต้องเข้าใจในตัวกิจการและเข้าใจในอุตสาหกรรมหนังสือด้วย เกินของเขตของปัจจัยทางเทคนิคไปแล้วนะ แต่ลุงก็ดีใจที่นายจ๋อถามคำถามนี้ขึ้นมา เพราะนักลงทุนสายการวิเคราะห์ทางเทคนิคหากรู้เกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานบ้างก็มีประโยชน์ เราอย่าไปจำกัดตนเองเพราะคำว่าเราเป็นสายไหน แต่หากมีอะไรให้หยิบมาใช้ประโยชน์ได้เราก็ควรใช้

“ในความเห็นของลุง เราต้องพิจารณาอุตสาหกรรมหนังสือก่อน อุตสาหกรรมนี้หลายๆคนมองว่าเป็นอุตสาหกรรมตะวันตกดินหรือ sunset industry คือรอวันถึงจุดจบเช่นเดียวกับธุรกิจฟิล์มถ่ายรูปและกล้องถ่ายรูปแบบใช้ฟิล์ม ซึ่งลุงเองก็ยังไม่คิดไปไกลถึงขนาดว่าอุตสาหกรรมหนังสือใกล้ถึงจุดจบแล้ว เพียงแต่มองว่าอุตสาหกรรมนี้อยู่ในระยะเสื่อม ไม่แน่ว่าอุตสาหกรรมนี้ก็อาจพลิกฟื้นได้ หรืออย่างน้อยก็ชะลอระยะเสื่อมให้เนิ่นนานออกไปได้ คือเสื่อมช้าๆนั่นเอง”

“ยากมั้งลุง” ลิงออกความเห็น “หากพูดถึงอุตสาหกรรมหนังสือ ผมว่าเหมือนกับฟิล์มถ่ายรูปนั่นแหละครับ ใครๆก็บอกว่าหนังสืออิเล็กทรอนิกส์หรืออีบุ๊กต้องตีอุตสาหกรรมหนังสือกระดาษตายแน่ๆเลย”

“ข้อนั้นลุงไม่เห็นด้วย” ลุงแมวน้ำพูด “หากวิเคราะห์อุตสาหกรรม หนังสือกระดาษหรืออีบุ๊ก ก็คือธุรกิจขายคอนเทนต์หรือขายเนื้อหาเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าอยู่ในแพลตฟอร์มอะไรเท่านั้นเอง จะนำเสนอคอนเทนต์เป็นกระดาษหรือเป็นอีบุ๊กก็ยังเป็นการขายคอนเทนต์ สิ่งที่จะทำให้อุตสาหกรรมหนังสือตายไปไม่ใช่อีบุ๊ก แต่เป็นรูปแบบการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปต่างหาก นั่นคือ คนเราอ่านหนังสือน้อยลง เราไม่มีเวลามาเสพคอนเทนต์แบบเดิมๆ เพราะโลกยุคใหม่มีเรื่องอื่นๆที่น่าทำอีกตั้งหลายอย่าง เช่น การใช้โซเชียลมีเดีย การท่องอินเทอร์เนต พวกนี้ต่างหากที่แย่งเวลาอ่านหนังสือไป

“ปัจจัยเร่งให้อุตสาหกรรมหนังสือเสื่อมอีกอย่างก็คือ ทุกวันนี้ร้านหนังสือต้องอยู่ในห้างสรรพสินค้า และค่าเช่าพื้นที่ในห้างก็แพงขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือต้นทุนของร้านหนังสือสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อุตสาหกรรมนี้กำไรน้อยลงหรือขาดทุน

“กรณีของ SE-ED นั้นหากยังทำธุรกิจแบบเดิมคือทำร้านขายหนังสือในห้าง ลุงก็คิดว่าโอกาสพลิกฟื้นกิจการคงยากเนื่องจากแนวโน้มของอุตสาหกรรมเองก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว แต่เท่าลุงรู้มา คือผู้บริหารก็พยายามปรับเปลี่ยนตัวแบบทางธุรกิจ เบนเข็มออกจากธุรกิจหนังสือไปทำธุรกิจอย่างอื่นด้วย เช่น ธุรกิจการศึกษา การจัดอบรม ฯลฯ ดังนั้นก็อาจพลิกฟื้นกิจการได้ เวลาเท่านั้นที่จะตอบคำถามนี้ได้”

“อือม์ หุ้นปันผลดีก็ใช่ว่าจะเป็นหุ้นที่น่าลงทุนเสมอไป” ลิงพึมพำ “โน่นก็ต้องระวัง นี่ก็ต้องระวัง โอ๊ย ปวดหัว”

“การลงทุนมีความเสี่ยงยังไงล่ะ” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “ถึงแม้ว่านายจ๋อไปลงทุนทำธุรกิจเอง ก็ต้องระวังนั่น ระวังนี่ มีเรื่องปวดหัวมากมายเช่นกัน ลุงว่าการทำธุรกิจหรือการลงทุนในหุ้นก็มีความยากของมันอยู่ ลุงไม่คิดว่าง่ายๆหรอก ก็ต้องศึกษาหาความรู้ทังนั้น”

Saturday, November 1, 2014

เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ เรื่องของลุงโคลนและผองเพื่อน กับบ้านที่กำลังจะปิดตาย






ย่างเข้าฤดูหนาวแล้ว ฝนลดน้อย อากาศเริ่มเย็นลง ตอนนี้สวนข้างโขดหินของลุงแมวน้ำคึกคักจอแจเชียว มีผู้มาพักอาศัยอยู่ด้วยมากมายหลายชีวิต โดยเฉพาะนกเขา ตอนนี้ในสวนจ้อกแจ้กจอแจก็เพราะนกเขานี่แหละ

เดิมทีนกเขาที่เช่ารังนกของลุงอยู่เพื่อฟักไข่ (ไม่ได้เช่าหรอก เรียกเก๋ๆ ก็อยู่ฟรีนั่นแหละ) เพียงตัวเดียว นอกนั้นเป็นนกเขาที่ทำรังอยู่ในสวน ซึ่งลุงเห็นเพียงสองสามตัว ลุงก็เอาข้าวสวยผสมถั่วต่างๆที่ลุงหุงไว้กินเอง เอาไปโปรยให้นกกินวันละช้อนโต พวกนกเหล่านี้ชอบกันมาก เดี๋ยวเดียวหมด

ไปๆมาๆ ตอนนี้มีนกเขาอยู่ในสวนของลุงประมาณ 10 ตัว ไม่รู้ว่าได้ข่าวลุงเลี้ยงข้าวมาจากไหน แต่ก็มาป้วนเปี้ยนในสวนทุกวัน ลุงแมวน้ำต้องเพิ่มข้าวจากช้อนโตกลายเป็นหนึ่งทัพพีโต

นกเขาเหล่านี้ทำให้สวนครึกครื้นขึ้น เนื่องจากส่งเสียงจ้อแจ้ก เมื่อจิกข้าวจนหมดแล้วก็ไม่ไปไหน ยังคงอยู่ในสวนนั่นเอง นกพวกนี้ใจกล้ามาเสียด้วย ขนาดลุงแมวน้ำนอนผึ่งพุงบนโขดหิน มีถ้วยกาแฟและจานขนมวางอยู่ใกล้ๆตัว นกเขาก็ยังกล้ามาจิกขนมของลุง ล้วงคอลุงแมวน้ำเสียแล้ว ฮึ่ม >.< 

อ้อ เกือบลืม วันนี้ลุงแมวน้ำไม่ได้ตั้งใจจะเล่าเรื่องนกเขาสักหน่อย แต่ตั้งใจจะเล่าเรื่องของลุงโคลน กลับมาเข้าเรื่องกัน 

ลุงโคลนเป็นใคร ลุงโคลนเป็นหมาจรจัดที่ถูกรถชนและหล่นลงไปในหล่มโคลนเมื่อปี พ.ศ. 2555 มีผู้หวังดีแจ้งไปยังสมาคมพิทักษ์สัตว์ หน่วยกู้ภัยของสมาคมจึงไปช่วยเหลือ เมื่อช่วยเหลือมาแล้วจึงทำให้ทราบว่าลุงโคลนกระดูกสะโพกแตก อีกทั้งยังพบว่าเป็นมะเร็งตับอีกด้วย ลุงโคลนไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจากสุขภาพไม่แข็งแรงพอ อายุมากแล้วและยังป่วยหลายโรค อีกทั้งยังจรจัดได้กินบ้างอดบ้าง สุขภาพจึงไม่เอื้ออำนวย ลุงโคลนทั้งแก่และบาดเจ็บขนาดนี้ เป็นหมาที่ไม่มีใครต้องการ ก็อาจมีคนเมตตาสงสารแต่ว่าคงดูแลไม่ไหว ผลก็คือลุงโคลนหาบ้านอุปการะไม่ได้ สมาคมพิทักษ์สัตว์จึงเลี้ยงลุงโคลนไว้เอง และตั้งชื่อว่าลุงโคลนเพื่อเป็นที่ระลึกถึงสถานที่ที่พบลุง นั่นคือในหล่มโคลน



ลุงโคลนขณะที่อยู่กับสมาคมพิทักษ์สัตว์ (ไทย) น่าจะป็นช่วงชีวิตที่บรรเจิดที่สุดเท่าที่หมาจรจัดแก่ๆและบาดเจ็บถูกทอดทิ้งจะมีได้


ด้วยการดูแลของสมาคมฯ ลุงโคลนรอดมาได้อย่างเหลือเชื่อ และกลายเป็นหมารับแขกของสมาคมไปในที่สุด หน้าที่คือคอยต้อนรับแขกที่มาที่สมาคม แต่ก็ต้อนรับแบบแก่ๆนั่นแหละ คือกระย่องกระแย่ง เพราะอายุมากแล้วทั้งกระดูกสะโพกแตก ใครที่พบเห็นต่างก็เอ็นดูลุงโคลน

มาในปีนี้ 2557 ลุงโคลนอาการไม่ดี ค่าเม็ดเลือดแดงต่ำ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และอาการป่วยอื่นๆ ขณะเดียวกัน ฐานะการเงินของสมาคมก็อยู่ในขั้นน่าเป็นห่วงเนื่องจากเงินบริจาคไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย บัญชีติดลบทุกเดือนเป็นระยะเวลานาน แต่ถึงกระนั้น ทุกคนก็ยังดูแลลุงโคลนเป็นอย่างดี พยายามประกาศหาสุนัขใจดีเพื่อให้เลือดแก่ลุงโคลน ก็ได้หมาใจดีสละเลือดให้ ค่าเม็ดเลือดแดงที่ต่ำของลุงจึงดีขึ้นบ้าง พาไปหาหมอ ไปรับเลือดเลือด (เหมือนการให้เลือดในคนไข้) ไปสวนฉี่ ดูแลเป็นอย่างดี


ลุงโคลนในยามที่ป่วยหนัก


แต่สุดท้าย ลุงโคลนก็ไม่สามารถต่อสู้กับชีวิตได้ต่อไป ลุงโคลนจึงจากไปเมื่อไม่กี่วันนี้เอง หลังจากที่มีบ้านที่อบอุ่นอยู่เกือบสามปี ก็นับว่ายังดีที่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ลุงโคลนได้มีบ้าน มีอาหาร และได้รับความรักจากผู้คน ถือได้ว่าลุงโคลนได้มีช่วงชีวิตที่บรรเจิดที่สุดในบั้นปลายนี่เอง

แม้ลุงโคลนได้จากไปแล้ว แต่ลุงโคลนยังมีผองเพื่อนอยู่ด้วย มีทั้งหมาและแมว ซึ่งเป็นหมาแมวที่สมาคมฯช่วยเหลือมาและไม่สามารถหาบ้านให้ได้ จึงต้องรับเลี้ยงเอาไว้เอง แต่ขณะเดียวกัน ตอนนี้ภาวะการเงินของสมาคมอยู่ในขั้นลำบาก ต้องลดจำนวนเจ้าหน้าที่ พร้อมกับย้ายสถานที่ทำงานเพราะจ่ายค่าเช่าไม่ไหว ต้องขายทรัพย์สิน เช่นรถตู้ที่ใช้ในงานกู้ภัย ฯลฯ

สมาคมใกล้จะต้องปิดตัวเต็มทีแล้ว ไม่ใช่สิ ต้องบอกว่าปิดไปแล้วบางส่วน เหลืออยู่เพียงงานกู้ภัยและการดูแลรักษาหมาแมวที่ได้ไปช่วยมา

อ้อ และยังเหลืออีกส่วนหนึ่ง นั่นคือ หัวใจของเจ้าหน้าที่ที่ยังพร้อมจะดูแลเพื่อนร่วมโลกผู้ยากต่อไปเท่าที่จะทำได้ ปัจจุบันแม้จะขาดทุนทรัพย์แต่สมาคมพิทักษ์สัตว์ยังช่วยผลักดันร่าง พรบ คุ้มครองสัตว์ที่เสนอโดยภาคประชาชน ยังประสานงานกิจกรรมทำหมันฟรี และอื่นๆ ฯลฯ


ผองเพื่อนของลุงโคลนคือหมาแมวที่หน่วยกู้ภัยของสมาคมช่วยมา และหาผู้อุปการะไม่ได้ สมาคมจึงรักษาและดูแลโดยไม่ทอดทิ้ง


สมาคมพิทักษ์สัตว์นี้เป็นเสมือนบ้านที่คอยช่วยเหลือสัตว์โลกผู้ตกทุกข์ได้ยากจากการกระทำมนุษย์ เช่น การทำร้าย ทอดทิ้ง ฯลฯ แต่บ้านนี้คาดว่าใกล้ต้องปิดตัวเป็นการถาวรแล้วหากยังไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ

ลุงรู้ดีว่ามีหลายๆคนและกลุ่มบุคคลที่แอบแฝงมาหาประโยชน์จากความเมตตาของผู้ใจดี คือ เอาหมาแมวจรจัดมาสร้างเรื่องดราม่าแล้วขอรับบริจาค แต่สุดท้ายก็เอาเงินไปใช้เอง มีพวกนี้แอบแฝงอยู่จริงและหากินได้โข หลายๆคนก็อาจเคยเจอมากับตนเอง แต่กับที่นี่ สมาคมพิทักษ์สัตว์ ลุงแมวน้ำรู้จักที่นี่มาในราวสิบปี ตลอดเวลาที่ผ่านมาทำงานเพื่อช่วยพิทักษ์สัตว์มาตลอด เงินบริจาคไม่พอก็ควักกระเป๋ากันเอง จนท้ายที่สุดก็จวนเจียนจะต้องปิดตัวลง

ลุงแอบคิดแทนเจ้าหน้าที่ในสมาคม หลายคนอาจคิดว่าที่นี่ช่วยผู้อื่น แต่ทำไมเมื่อตนเองลำบากกลับไม่มีใครช่วย ไม่เคยทอดทิ้งผู้อื่น แต่ตนเองกลับถูกทอดทิ้ง ... ลุงเองก็สะท้อนใจ

อย่าให้พวกเขารู้สึกแบบนั้น ช่วยกันสนับสนุนพวกเขาให้ได้ทำงานพิทักษ์สัตว์ต่อไป

แวะไปดูเฟซบุ๊กของมาคมพิทักษ์สัตว์ (ไทย) และอ่านเรื่องราวอื่นๆเกี่ยวกับกิจกรรมของสมาคมได้ที่

https://www.facebook.com/thaiagafanpage


ช่วยกันสนับสนุนได้ที่ 2 บัญชีนี้เลย ธ.กรุงเทพ กับกสิกรไทย (โปรดดูในรูปด้วย)

ชื่อบัญชี "สมาคมพิทักษ์สัตว์ (ไทย) ธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนสุขาภิบาล 3 บัญชีออมทรัพย์เลขที่ 056-0-18402-0"

ชื่อบัญชี "สมาคมพิทักษ์สัตว์ (ไทย) ธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนสุขาภิบาล 3 บัญชีออมทรัพย์เลขที่ 735-2-29090-9"