Thursday, November 7, 2013

07/11/2013 40 ปี 14 ตุลา กับปฏิบัติการยึดประเทศไทย 2556: ตอนที่ 4 ยุคเผด็จการทหารและระบบทุนนิยมพรรคพวก


ในยุคที่กระแสทุนนิยมตะวันตกหลั่งไหลเข้ามา ประมาณปี พ.ศ. 2507 ที่ดินย่านราชประสงค์ได้ถูกพัฒนาเป็นศูนย์การค้าราชประสงค์ เป็นแหล่งแฟชั่นและบันเทิงของคนหนุ่มสาวที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น ห้างสรรพสินค้าต่างชาติแห่งแรกก็ตั้งอยู่ที่นี่ คือห้างไดมารู ซึ่งเป็นห้างของญี่ปุ่น


ห้างไดมารูของญี่ปุ่น เข้ามาในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2507 ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าราชประสงค์ตรงตำแหน่งที่เป็นห้างเซ็นทรัลเวิล์ดในปัจจุบัน เป็นห้างที่ทันสมัยที่สุด เป็นห้างสรรพสินค้าแรกที่ติดตั้งบันไดเลื่อน ซึ่งหรูมาก ใครๆก็อยากมาลองใช้บันไดเลื่อนของที่นี่ สินค้าในห้างส่วนใหญ่เป็นสินค้าญี่ปุ่น นอกจากนี้ภายในบริเวณศูนย์การค้าราชประสงค์ยังมีร้านค้าที่เป็นสไตล์ตะวันตกมากมายหลายร้าน ร้านฟาสต์ฟูดแห่งแรกของไทยก็เกิดขึ้นที่นี่ นั่นคือ ร้านแฮมเบอร์เกอร์ชื่อ วิมปี้ (Wimpy) ตั้งอยู่ใกล้ๆไดมารูนั่นเอง



“แหม ลุง โลกสวยไปหน่อยมั้ง หนุ่มสาวปัญญาชนจะมีอุดมการณ์รับใช้ประชาชนไปเสียทุกคนเลยหรือ” ลิงจ๋อพูด “ไม่น่าเป็นไปได้”

“นายจ๋อต้องเข้าใจก่อนว่าลุงพูดในภาพรวม” ลุงแมวน้ำพูด “บรรยากาศภายในรั้วมหาวิทยาลัยในยุคนั้นเป็นบรรยากาศของการทำกิจกรรมเพื่อสังคม และการค้นหาความหมายของชีวิต แต่แน่นอน ไม่ใช่ว่านิสิตนักศึกษาทุกคนจะมีความคิดแบบนั้น บางคนที่เข้ามาเรียนในระดับปริญญาตรีเพราะคิดว่าเรียนจบแล้วจะมีงานดี เงินเดือนดี แบบนี้ก็มี คนเราย่อมมีหลากหลาย จะคิดเหมือนกันหมดได้อย่างไร ฟังลุงเล่าต่อไปอีกนิด ลุงกำลังจะเล่าถึงอีกด้านหนึ่งของสังคมในยุคนั้นอยู่พอดี”

“อ้อ ยังงั้นลุงเล่าต่อเลย กำลังอยากรู้” ลิงจ๋อพูด

ลุงแมวน้ำจึงเล่าต่อไปว่า

“ที่จริงยุคนั้นสามารถเทียบเคียงกับยุคนี้ได้เลยเชียว คือเป็นยุคที่เศรษฐกิจพัฒนาแบบก้าวกระโดด มีการเติบโตของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว ประชาชนมีรายได้ดีขึ้น ระดับความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น ถือได้ว่าเป็นยุคโลกาภิวัตน์เช่นกัน”

“มันเกิดจากอะไรฮะลุง” กระต่ายน้อยถามบ้าง

“หลังจากสิ้นสงครามโลก บ้านเมืองเริ่มสงบสุข เศรษฐกิจของประเทศต่างๆก็ค่อยๆฟื้นตัว แม้แต่เยอรมนีและญี่ปุ่นที่เสียหายอย่างหนักอีกทั้งเป็นประเทศที่แพ้สงครามก็ค่อยๆฟื้นตัว” ลุงแมวน้ำเล่าต่อ “ประกอบกับในยุคของจอมพลสฤษดิ์ คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ประเทศไทยเริ่มพัฒนาตนเอง จากเดิมเป็นประเทศเกษตรกรรม ก็เริ่มพัฒนามาสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรม กระแสทุนและเทคโนโลยีหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังจากที่มีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 1 กระแสทุนและเทคโนโลยียิ่งหลั่งไหลเข้ามา การเกษตรแบบเชิงเดี่ยวเริ่มเฟื่องฟู อุตสาหกรรมการผลิตก็เช่นกัน มีการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในเมืองไทย เงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศหรือที่เรียกว่า FDI (foreign direct investment) หลั่งไหลเข้ามามากมาย มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาในเมืองไทยมากขึ้น สินค้าดีๆ แปลกๆ ใหม่ๆมีวางจำหน่ายมากขึ้น เมื่อชุมชนแบบเมืองเติบโต ในกรุงเทพฯมีรถยนต์มากขึ้น การจราจรเริ่มติดขัด ทำให้มีการตัดถนนมากขึ้น ราคาที่ดินก็เริ่มสูงขึ้น การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มเฟื่อง โดยตอนแรกเป็นยุคที่ดินจัดสรรก่อน และอีกหลายปีต่อมาก็ตามมาด้วยยุคหมู่บ้านจัดสรร

“เมื่อเศรษฐกิจเติบโตเร็ว อุตสาหกรรมเริ่มเฟื่องฟู คนหนุ่มสาวที่อยากยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ต่างก็เข้ามาแสวงโชคในเมืองเพื่อเรียนหนังสือ และเมื่อจบออกไปก็เข้าทำงานในบริษัท ห้างร้าน โรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้แต่รับราชการ งานที่ดีและเงินเดือนที่ดีเป็นช่องทางที่จะยกระดับชีวิต ดังนั้นคนเจนบี หรือหนุ่มสาวในยุคนั้น จึงนิยมทำงานเป็นลูกจ้าง ทั้งลูกจ้างเอกชน และการทำงานราชการ 

“ด้วยค่านิยมในยุคนั้นที่นิยมการเป็นลูกจ้าง จึงเพาะบ่มเป็นความขยันขันแข็งและความภักดีต่อองค์กรของคนเจนบี ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคงในชีวิตและหน้าที่การงานนั่นเอง”

“อือม์ บริบทของสังคมในยุคนั้นก็มีทั้งส่วนที่เหมือนและส่วนที่แตกต่างกับยุคนี้นะ” ลิงจ๋อพูดด้วยท่าทีครุ่นคิด

“ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น บริบทที่สำคัญในสังคมยุคนั้นอีกประการก็คือเผด็จการทหารครองเมือง” ลุงแมวน้ำพูด “เนื่องจากจากตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ทำการรัฐประหารและยึดอำนาจการปกครอง แม้ว่าประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญ มีนายกรัฐมนตรี และมีคณะรัฐมนตรีบริหารประเทศ แต่เราไม่มีสภาผู้แทนและไม่มีการเลือกตั้งอีกเลย”

“เอ๊ะ ยังไง” ม้าลายสงสัยบ้าง

“ก็คือรัฐธรรมนูญที่ใช้เป็นฉบับที่ทหารร่าง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเกิดจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร กฎหมายต่างๆก็ออกด้วยอาศัยอำนาจของคณะรัฐประหารมารองรับ และกฎหมายที่ออกโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้งและทำหน้าที่นิติบัญญัติไปด้วย ไม่ได้เป็นกฎหมายที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร แม้เมื่อจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญญกรรมในปี พ.ศ. 2506 นายกรัฐมนตรีคนต่อมาซึ่งก็คือจอมพลถนอม ที่เป็นคนสนิท ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา จึงกล่าวได้ว่าเป็นยุคที่เผด็จการทหารครองเมือง โดยเฉพาะในยุคที่จอมพลสฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ. 2502-2506 นั้นรัฐบาลมั่นคงมากเนื่องจากจอมพลสฤษดิ์ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก และอธิบดีกรมตำรวจ ไว้คนเดียว นั่นคือ ควบคุมคณะรัฐบาล กำลังทหาร และกำลังตำรวจ เอาไว้อย่างเบ็ดเสร็จ

“เมื่อทหารมีอำนาจครองเมือง การลงทุนและการทำธุรกิจต่างๆ หากจะให้ราบรื่นและประสบความสำเร็จ จะทำแบบดุ่ยๆไม่ได้ ใครเข้าถึงอำนาจ คนนั้นก็ได้เปรียบกว่าคู่แข่ง ดังนั้นธุรกิจ การค้า การลงทุนต่างๆ จึงต้องวิ่งเข้ามาซบกลุ่มทหาร ต้องมีทหารยศสูงๆเข้ามามีส่วนร่วมด้วย การทำงานจึงจะสะดวก แม้แต่การเปิดภัตตาคารร้านอาหารก็ยังวิ่งเต้นเข้าหานายทหารเลย ต้องมีรูปทหารใหญ่ๆแขวนอยู่ในร้านเหมือนกับติดยันต์ ยังไงยังงั้น ให้คนอื่นๆรู้ว่าฉันก็มีพวกเป็นทหารนะ”

“โห ขนาดนั้นเลย” ลิงจ๋ออ้าปากหวอ

“ดังนั้น ลุงจึงอยากสรุปว่าคนหนุ่มสาวในยุคนั้นแบ่งออกได้เป็นสามพวก คือ กลุ่มแรก พวกปัญญาชนที่แสวงหาความหมายของชีวิตและมีจิตวิญญาณรับใช้สังคม กับกลุ่มที่สอง ปัญญาชนที่ต้องการทำงานดีๆและยกระดับความเป็นอยู่ของตนเอง

“กับพวกที่สาม คือพวกที่มีหัวในการทำการค้า พวกนี้ก็จะมุ่งทำธุรกิจ ส่วนใหญ่ก็เป็นการสืบต่อธุรกิจของครอบครัวนั่นเอง หนุ่มสาวในกลุ่มที่สามนี้อาจเรียนปรัญญาตรีหรือไม่ก็ได้ พวกนี้จะเรียนรู้ถึงวิธีที่เข้าถึงขั้วอำนาจและระบบทุนนิยมพรรคพวก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เรียนรู้มาจากรุ่นพ่อแม่ที่ทำธุรกิจ แต่ก็มีบางส่วนที่เรียนรู้ด้วยตนเองก็มี หนุ่มสาวหลายต่อหลายคนที่เดิมยากจน เมื่อต้องการหลุดพ้นจากความเหลื่อมล้ำก็เลือกวิธีการทำธุรกิจโดยการแอบอิงกับขั้วอำนาจ

“ดังนั้นลุงจึงไม่ได้หมายความว่าหนุ่มสาวในยุคนั้น หรือก็คือคนเจนบี มีแต่พวกแสวงหาความหมายและรับใช้ในสังคม แต่ลุงอยากบอกว่าบรรยากาศในมหาวิทยาลัยยุคนั้นเอื้อไปทางนั้นมากทีเดียว ส่วนใครจะเลือกเส้นทางอย่างไรก็แล้วแต่บุคคลไป ที่ทำมาหากินสุจริตก็มี ที่คดโกงทุจริตก็มีเช่นกัน

“ทีนี้จุดหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมไทยก็อยู่ในยุคของจอมพลถนอม หลังจากยุคของจอมพลสฤษดิ์นั่นเอง โดยหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์เสียชีวิตไม่นานก็มีเรื่องฟ้องร้องคดีมรดกกันในหมู่ทายาทของจอมพลสฤษดิ์ เมื่อเป็นคดีความ เรื่องก็เลยแดงออกมาว่าจอมพลสฤษดิ์นั้นมีทรัพย์สินมากมาย ทั้งเงินสด ที่ดิน และหุ้นในบริษัทห้างร้านต่างๆ ตัวเลขแน่นอนประมาณไม่ถูก แต่ตอนที่สืบพยานก็มีการอ้างกันว่าจอมพลสฤษดิ์มีเงินสด 12 ล้านบาท ยังไม่รวมทรัพย์สินอื่นๆ บ้างก็อ้างว่ามีทรัพย์สินนับพันล้านบาท

“อย่าว่าแต่เงินพันล้านบาทเลย แม้เงินสด 12 ล้านบาทก็ถือว่ามากมายในสมัยนั้น เพราะว่าก๋วยเตี๋ยวชามละ 50 สตางค์ ทองก็บาทละประมาณ 300 บาท สังคมก็ได้รับรู้กันในตอนนั้นว่าจอมพลสฤษดิ์มีทรัพย์สินเยอะมาก และนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้สังคมรวมทั้งคนหนุ่มสาวปัญญาชนในยุคนั้นหันมาเอาใจใส่และขุดคุ้ยปัญหาทุจริตคิดมิชอบของเผด็จการทหาร”

No comments: