จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้นตำรับดาบอาญาสิทธิ์ ม.17 |
“มา มา ถ้าอย่างนั้นมานั่งเล่นที่สวนข้างโขดหินกันก่อน แล้วฟังลุงเล่านิทาน ตอนเช้าอย่างนี้บรรยากาศในสวนกำลังร่มรื่นทีเดียว” ลุงแมวน้ำพูด
“เดี๋ยวก่อนนะฮะลุง ขอตัวสักครู่ เดี๋ยวผมตามไปในสวนฮะ” กระต่ายน้อยพูดพลางกระโดดแผลวจากไปอย่างรวดเร็ว
ลุงแมวน้ำกับลิงจ๋อเดินไปรออยู่ในสวน เพียงครู่เดียวกระต่ายน้อยก็วิ่งลิ่วมาพร้อมกับยีราฟ ม้าลาย หมี และสิงสาราสัตว์ในคณะละครสัตว์อีกหลายตัว
“กระต่ายน้อยวิ่งมาบอกว่าลุงแมวน้ำจะเล่านิทาน แหม เล่าตั้งแต่เช้าเลยนะ พวกเราชอบฟังนิทาน เลยมาขอฟังด้วย” ยีราฟสาวพูด
“นี่ยกโขยงกันมาฟังนิทานเลยเหรอ” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “ที่จริงมันเป็นเรื่องจริงหรอกนะ เพียงแต่ว่าลุงเล่าแบบนิทานเท่านั้นเอง มันเป็นเหตุการณ์ที่ประวัติศาสตร์ได้จารึกเอาไว้ อีกทั้งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของประเทศไทยทีเดียว เอ้า เมื่อมากันพร้อมแล้ว ลุงจะเริ่มเล่าเลยก็แล้วกันนะ”
“กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว...” กระต่ายน้อยพูดเบาๆ
“ใช่แล้ว...” ลุงแมวน้ำขำในความซ่าของกระต่ายน้อย คงอยู่ในหมวกของนักมายากลมานานเลยเหงา เมื่อได้ออกมาข้างนอกบ้างจึงสดชื่นรื่นเริง “นิทานก็ต้องขึ้นต้นเรื่องแบบนั้น”
“กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว ประมาณ 80 กว่าปีมาแล้ว” ลุงแมวน้ำพูด “ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2475 ตั้งแต่นั้นมา ประเทศไทยก็เดินอยู่บนเส้นทางประชาธิปไตยแบบลุ่มๆดอนๆตลอดมา ที่ว่าลุ่มๆดอนๆเพราะว่าเป็นประชาธิปไตยแบบที่มีการเลือกตั้งสลับกับการรัฐประหารเรื่อยมา
“ลุงขอจับความตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 ก็แล้วกัน เล่าแบบกระชับ คือในปีนั้นมีการทำรัฐประหารโดยคณะทหาร ภายใต้การนำของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม หรือที่เรารู้จักกันในชื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อมีการรัฐประหาร ตามธรรมเนียมก็ต้องฉีกรัฐธรรมนูญเดิมทิ้งไปแล้วร่างรัฐธรรมนูญพร้อมกับการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งรัฐบาลใหม่นั้นนายกรัฐมนตรีก็คือจอมพล ป. นั่นเอง”
“ก็คือคณะทหารยังกุมอำนาจอยู่ เพียงแต่แปลงร่างจากคณะรัฐประหารเป็นคณะรัฐมนตรี” ลิงจ๋อว่า
“ก็ทำนองนั้นแหละ” ลุงแมวน้ำพูด “บ้านเมืองในยุคนั้นแม้จะใช้ชื่อว่าเป็นระอบบประชาธิปไตย แต่โดยเนื้อหาแล้วก็คือเผด็จการทหารจำแลงนั่นเอง”
“จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีและบริหารประเทศอยู่หลายปี จนในปี พ.ศ. 2500 ก็ถูกรัฐประหาร” ลุงแมวน้ำเล่าต่อ
“อ้าว ตัวเองทำรัฐประหาร แล้วตัวเองก็โดนเอาบ้าง” ยีราฟอุทาน
“ใช่แล้ว และผู้ที่ทำรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขุนพลคนสนิท ซึ่งในตอนนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกนั่นเอง สาเหตุที่มีการรัฐประหารเพราะว่ามีการโกงการเลือกตั้งกันอย่างหนักจนประชาชนรับไม่ได้ มีการประท้วง บ้านเมืองวุ่นวาย จนจอมพลสฤษดิ์ต้องใช้กำลังทหารยึดอำนาจและทำรัฐประหารในปี 2500
“จอมพลสฤษดิ์ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเอง แต่ให้จัดการเลือกตั้งใหม่ จนในปี พ.ศ. 2501 ประเทศไทยก็มีรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งที่ชื่อพลโทถนอม กิตติขจร (ยศในตอนนั้น)”
“แต่การเมืองก็เกิดความวุ่นวาย พลโทถนอมไม่สามารถบริหารประเทศได้โดยราบรื่น จอมพลสฤษดิ์และพลโทถนอม จึงร่วมกันทำรัฐประหารซ้ำอีกครั้งในปี พ.ศ. 2501 ซึ่งก็คือเป็นการรัฐประหารตัวเองนั่นเอง และหลังจากนั้นก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จอมพลสฤษดิ์ก็รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเองโดยไม่มีการเลือกตั้ง คือเป็นคณะรัฐบาลเผด็จการทหาร”
“ว้า ยังงั้นก็แย่สิ ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่เป็นประชาธิปไตย” ลิงจ๋อบ่น
“แต่ก็แปลกนะ ที่ประชาชนในยุคนั้นกลับรู้สึกว่าบ้านเมืองสงบเรียบร้อยดี เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2502 นั้น มีบทบัญญัติอยู่มาตราหนึ่ง ที่ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีแบบไร้ขีดจำกัด คือ จะทำอะไรก็ได้ และให้ถือว่าการกระทำนั้นถูกกฎหมาย ซึ่งเท่ากับให้ดาบอาญาสิทธิ์แก่นายกรัฐมนตรีนั่นเอง”
“โห สมัยก่อนมียังงี้ด้วย แล้วประชาชนรับได้เหรอครับ” ลิงจ๋อถาม
“ลุงอยากจะบอกว่า เท่าที่ลุงเห็นมา ลุงคิดว่าประชาชนชอบเสียอีกนะ นี่เราไม่มองกันในเรื่องหลักการประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญมาตรานี้ให้อำนาจแก่นายกฯในการจัดการกับความไม่สงบเรียบร้อยต่างๆในบ้านเมือง ทำให้นายกฯสามารถดำเนินการได้อย่างเด็ดขาดและเฉียบขาด
“ยกตัวอย่างเช่นเรื่องไฟไหม้ คนในสมัยก่อนกลัวเรื่องไฟไหม้กันมาก เพราะว่าโจรปล้นบ้านสิบครั้งไม่เท่ากับไฟไหมบ้านครั้งเดียว ใครถูกไฟไหม้ก็คือหมดเนื้อหมดตัวนั่นเอง และยังอาจเสียชีวิตจากไฟคลอกด้วย จอมพลสฤษดิ์ใช้ความเฉียบขาดด้วย ม.17 กับพวกคดีวางเพลิง โดยถือเป็นเรื่องร้ายแรง ยกตัวอย่างกรณีไฟไหม้ 300 หลังคาเรือนที่สุพรรณบุรี จอมพลสฤษดิ์ขึ้น ฮ. ไปบัญชาการ และดำเนินการสอบสวนมือเพลิงด้วยตนเอง จากนั้น ใช้อำนาจ ม.17 สั่งประหารชีวิตมือเพลิง ณ จุดเกิดเหตุนั้นเลย ทำให้ผู้ร้ายเกิดความเกรงกลัว คดีวางเพลิง ไฟไหม้ ในยุคนั้นลดลงอย่างมาก ประชาชนก็ชอบใจ”
“แหม่ๆๆ ทำเป็นเรียลลิตี้โชว์เลยนะ” กระต่ายน้อยออกความเห็น
“แต่ในซอกมุมที่ประชาชนทั่วไปมองเข้าไปไม่ถึง กฎหมายข้อนี้ก็เป็นอันตรายแก่สุจริตชนอย่างใหญ่หลวง เพราะว่าจอมพลสฤษดิ์ใช้มาตรา 17 นี้อย่างไร้การตรวจสอบ และไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ยกตัวอย่างเช่นกรณีวางเพลิง ใครจะรู้ล่ะว่ามือเพลิงนั้นเป็นมือเพลิงจริงหรือว่าเป็นแพะ เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการยุติธรรมใดๆ ดังนั้นข้อดีก็มี คือคนร้ายกลัวเกรง แต่ข้อเสียก็มาก เพราะสุจริตชนอาจถูกให้ร้ายได้
“และตัวอย่างก็มีให้เห็นจริงๆ นั่นคือ มีประชาชน โดยเฉพาะพวกที่เป็นนักคิด นักเขียน นักพูด ที่ไม่เห็นด้วยและวิพากษ์วิจารณ์จอมพลสฤดิ์ พวกที่คิดต่างเห็นต่างเหล่านี้ถูกกำจัดออกไปจนหมด โดยถูกคุมขังแบบขังลืม ไม่ต้องมีเหตุผล เพียงบอกว่าเป็นคอมมิวนิสต์เท่านั้น แม้แต่พระที่คิดต่างเห็นต่างก็ยังถูกจับสึก มีปัญญาชนที่เห็นต่างถูกจับยิงเป้าที่ท้องสนามหลวงด้วยข้อหาภัยคอมมิวนิสต์โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมตามปกติ รัฐบาลยุคนั้นจึงถือว่าเป็นเผด็จการทหารอย่างสมบูรณ์แบบ และในยุคของจอมพลสฤษดิ์นี้เอง คือยุคที่ปัญญาชนผู้เห็นต่างถูกต้อนเข้ามุมอับ ถูกบีบคั้นจนอับจนสิ้นหนทาง และต้องเข้าป่าไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ภาพอันเลวร้ายเหล่านี้ชาวบ้านทั่วไปไม่ค่อยได้สังเกตนัก เพราะภาพที่ชาวบ้านสัมผัสได้คือการดำเนินชีวิตที่ราบรื่น อาชญากรรมลดลง คดีเพลิงไหม้ลดลง”
“อือม์ มันก็น่าคิดนะ ว่า ม.17 นี่แท้ที่จริงเป็นคุณหรือเป็นโทษกันแน่” ลิงจ๋อรำพึงกับตนเอง “มันเป็นกฎหมายที่อิงกับตัวบุคคลอย่างแรง หากได้ผู้ใช้กฎหมายเลวๆละก็แย่เลย”
“เรื่องราวยังไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ฟังลุงเล่าต่อ หลังจากที่จอมพลสฤษด์เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2506 หลังจากนั้นจอมพลถนอม ตอนนั้นเป็นยศจอมพลแล้ว ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เป็นยาวเลย จนถึงปี พ.ศ. 2514 โน่นเลย หลังจากนั้นก็ทำการรัฐประหารตนเอง” ลุงแมวน้ำเล่าต่อ
จอมพลถนอม กิติขจร |
“หา รัฐประหารตนเองอีกแล้วเหรอ ทำกันเป็นแฟชั่นเลยหรือไง” ม้าลายพูดขึ้นบ้าง
“ตอนที่จอมพลถนอมเป็นนายกในรอบสอง ก็มีการตั้งพรรคการเมือง และลงสมัครรับเลือกตั้ง ทีนี้ในการเลือกตั้งปี 2512 ส.ส. พรรคประชาไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองของจอมพลถนอมเรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนต่างๆจากจอมพลถนอม โดยอ้างคำสัญญาที่ให้ไว้แก่กัน เมื่อไม่ได้ผลประโยชน์ตามที่ต้องการ บรรดา ส.ส. ก็สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในสภา จอมพลถนอมคุมสถานการณ์การเมืองไม่อยู่ จึงทำการรัฐประหารตนเองอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2514 โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 ก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ที่ยังคง ม.17 เอาไว้เป็นดาบอาญาสิทธิ์และตนเองยังเป็นนายกฯเช่นเดิม ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง ไม่ต้องมีสภาผู้แทนราษฎร ไม่ต้องมีฝ่ายค้าน คณะรัฐบาลในยุคนั้นจึงเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารเต็มรูปแบบอีก และนี่เอง คือปฐมบทที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในลำดับต่อมา”
No comments:
Post a Comment