Wednesday, February 13, 2013

13/02/2013 * สงครามค่าเงิน

อัตราแลกเปลี่ยนเชิงเปรียบเทียบ เงินยูโร เยน ปอนด์ และบาท กราฟนี้เป็นแบบ X_USD ดูแบบราคาหุ้น คือขาขึ้นแปลว่าค่าเงินแข็ง


ตลาดหุ้นญี่ปุ่นพุ่งอย่างแรงต้อนรับนายกรัฐมนตรีคนใหม่และมาตรการกดดันค่าเงินเยนที่เห็นผล เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่ทันเปลี่ยนแปลงอะไรนัก แต่กำลังใจมาโขแล้ว สะท้อนได้จากอารมณ์ตลาดหุ้นนั่นเอง


ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ กราฟนี้เป็นแบบ USD_THB ต้องดูแบบตรงข้าม คือ ถ้าขาลงแปลว่าเงินบาทแข็ง ถ้าขาขึ้นแปลว่าเงินบาทอ่อน ระยะสั้นๆที่ผ่านมานี้เงินบาททรงตัวชั่วคราว แต่คาดว่าแนวโน้มแข็งค่าต่อ ยกเว้นหากมีการใช้มาตรการควบคุมเงินทุน

วันนี้เรามาติดตามดูอัตราแลกเปลี่ยนกันอีก ตอนนี้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องสำคัญเพราะโลกยุคนี้เป็นยุคของสงครามค่าเงิน

ทบทวนกันนิดนึง กันยายน 2012 ลุงเบนแห่งเฟดหรือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาประกาศใช้ QE3 แบบไม่อั้น จากนั้นตามด้วย QE4 หรือส่วนขยายของมาตรการ operation twist กดดันให้เงินดอลลาร์ สรอ อ่อนค่า เพราะว่าพิมพ์เงินตราออกมามากมายโดยไม่มีอะไรหนุนหลัง ปลายปี 2012 ญี่ปุ่นเปลี่ยนนายก นายกคนใหม่ประกาศใช้ QE ฉบับซามูไรแบบไม่อั้นช่นกัน พร้อมกับกดดันให้ธนาคารกลางของญี่ปุ่นทำให้เงินเยนอ่อนค่าให้ได้ ผลก็คือเงินเยนสั่งได้สมใจ อ่อนค่าอย่างรวดเร็วจนถึงวันนี้

เมื่อดอลลาร์อ่อน เยนอ่อน เงินยูโรก็กลับแข็งขึ้นมา ตอนนี้ทางยุโรป 17 ประเทศที่ใช้เงินยูโรร่วมกันก็ร้องจ๊ากเพราะค่าเงินแข็งบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็อีกนั่นแหละ ในยูโรโซนเองประกอบด้วยหลายประเทศ มากคนก็มากความ พี่รองฝรั่งเศสบอกว่าไม่ได้แล้ว อีซีบีต้องแทรกแซงเพื่อกดค่าเงินยูโรให้อ่อน ส่วนทางเยอรมนีพี่ใหญ่บอกว่าแทรกแซงไม่ได้ ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ ทาง ECB หรือธนาคารกลางยุโรปเองคงปวดหัวไม่น้อย แต่ก็คงต้องหาทางทำให้เงินยูโรไม่แข็งค่าจนเกินไป ซึ่ง ECB เองก็มีมาตรการ QE แบบไม่อั้นเป็นอาวุธเช่นกัน

มาทางฝั่งอังกฤษบ้าง ลุงแมวน้ำไม่ค่อยได้พูดถึงอังกฤษ วันนี้ก็ขอพูดเสียหน่อยเพราะมีประเด็น อังกฤษใช้ QE เช่นกัน เริ่มตั้งแต่ปี 2009 มาจนถึงกันยายน 2012 ก็ใช้เงินอัดฉีดไป 375,000 ล้านปอนด์เข้าไปแล้ว แต่เศรษฐกิจของอังกฤษก็ยังไม่พ้นจากหล่มถดถอย ล่าสุดรัฐมนตรีคลังของอังกฤษก็ไปทาบทามให้มาร์ก คาร์นีย์ (Mark Carney) คนนี้ยังหนุ่ม อายุไม่ถึง 50 คงยังเรียกลุงไม่ได้ ผู้ว่าการธนาคารกลางของแคนาดาให้มารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางของอังกฤษ คนนี้เป็นชาวแคนาดา แต่ภรรยาเป็นคนอังกฤษ จะมารับตำแหน่งกลางปี 2013 นี้ ซึ่งคณะรัฐบาลของอังกฤษหมายมั่นปั้นมือว่าจะให้น้ามาร์กคนนี้ฉุดเศรษฐกิจของอังกฤษขึ้นจากหล่มให้ได้ เพราะหากไม่เก่งจริงคงไม่ถึงกับอิมพอร์ตประธานธนาคารกลางมาจากนอกประเทศ คาดการณ์กันว่าอังกฤษภายใต้การบริหารธนาคารกลางของน้ามาร์กคนนี้จะต้องออก QE แบบไม่อั้นเป็นแน่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเต็มพิกัดและเพื่อกดค่าเงินปอนด์ให้อ่อนลง เพราะน้ามาร์กแย้มๆออกมาแล้วว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายครั้งใหญ่ คือไปตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อเอาไว้แล้วทำให้ถึงเป้าหมายนั้น (inflation targetting) ลองนึกถึงญี่ปุ่นตอนนี้ที่ใช้นโยบายเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ ญี่ปุ่นทุ่มไม่อั้นเพื่อทำให้ได้ตามเป้าหมาย แบบนี้ไม่เรียกว่าสงครามค่าเงินก็ไม่ได้แล้ว รอดูกลางปีนี้

มาดูกราฟค่าเงินกัน กราฟค่าเงินแบบเปรียบเทียบข้างบนนี้ดูแบบกราฟราคาหุ้น คือหากเป็นขาขึ้นก็หมายถึงเงินแข็งค่า

สีน้ำเงินคือเงินยูโร จะเห็นว่าตอนนี้แข็งค่าผิดหูผิดตา คิดว่าทาง ECB คงไม่ปล่อยให้แข็งค่ามากเกินไป

สีเขียวคือเงินเยน ตอนนี้อ่อนค่าอย่างเร็ว เป้าหมายอาจประมาณ 100 เยน/ดอลลาร์ สรอ (ตอนนี้ยังไม่ถึง)

สีแดงคือเงินปอน์ด์อังกฤษ ตอนนี้ทรงตัว แกว่งขึ้นลงในกรอบมาประมาณ 2 ปีแล้ว แต่ต่อไปธนาคารกลางอังกฤษคงกำลังหาทางเอาลงอยู่

เงินบาท สีน้ำตาล ตอนนี้อยู่ในขาขึ้น จากสถานการณ์ข้างบน แนวโน้มเงินบาทคงแข็งค่าได้อีก ซึ่งจะมีผลต่อตลาดหุ้น ค่าครองชีพ และราคาอสังหาริมทรัพย์ และท้ายที่สุดคือฟองสบู่ จะสั่งให้ลงคงยากเพราะไทยมีเศรษฐกิจขนาดเล็ก ช้างสารชนกัน เราได้แค่ผ่อนหนักเป็นเบาเท่านั้น คงไปฝืนไม่ได้ ตอนนี้ตลาดหุ้นไทยกับค่าเงินบาททรงๆเพราะปัจจัยภายนอกส่วนหนึ่ง กับเงินต่างชาติเริ่มรีรอดูท่าทีว่าไทยจะมีมาตรการควบคุมเงินทุนหรือไม่ แต่คงเป็นการรีรอชั่วคราวเท่านั้น

ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ตอนนี้ราคาสินค้าเกษตรยังอ่อนตัว แต่หากต่อไปราคาสินค้าเกษตรผสมโรงปรับตัวขึ้นตามมาด้วยละก็  หากทั้งน้ำมันดิบและสินค้าเกษตรสองปัจจัยนี้ปรับตัวขึ้นเป็นเวลานาน จะเป็นส่วนผลักดันเรื่องเงินเฟ้อและฟองสบู่ให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น

2 comments:

Unknown said...

สวัสดีค่ะ
บังเอิญหนูกำลังสนใจข่าวเงินเยนเพราะจะแลกเงินไปญี่ปุ่น
หนูเห็นคุณลุงเขียนไว้ว่า มันมีแนวโน้มที่จะอ่อนกว่านี้อีก
คุณลุงพอจะให้ความรู้หนูได้ไม๊ค่ะ ว่าเค้าเช็คกันยังไง ว่าช่วงไหนคือต่ำที่สุดแล้วอะไรยังงี้อะคะ

ขอบพระคุณลล่วงหน้านะคะ คุณลุง

ลุงแมวน้ำ said...

ไม่มีใครรู้จริงหรอกครับ เพราะว่าถ้ารู้ก็เท่ากับว่ารู้อนาคต ก็ได้แต่ประเมินกันไป อย่างเช่น นายกญี่ปุ่นบอกว่าเงินเยนไปถึง 100 ก็กำลังสวย หลายคนก็คาดการณ์ว่าเงินเยนจะไปถึง 100

ส่วนที่ใช้วิชาการก็มี เช่น ใช้การวิเคราะห์กราฟ ที่เรียกว่าการวิเคราะห์ทางเทคนิค แต่นั่นก็คือความเป็นไปได้เท่านั้นครับ โอกาสผิดก็มี ไม่มีใครรับประกันได้หรอกว่าเงินเยนจะไปเท่านั้นเท่านี้

หากคุณหลานจะไปเที่ยว แลกไปเถอะครับ ปริมาณเงินระดับใช้ท่องเที่ยว ไม่ใช่ทำการค้า อัตราแลกเปลี่ยนขึ้นลงบ้าง ก็กระทบไม่มาก เพราะเป็นหลักสิบหลักร้อยบาท แต่หากจะไปเรียนหรือไปทำธุรกิจซื้อขายสินค้า อันนั้นอาจมีผลได้พอสมควร