Sunday, June 28, 2015

เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ บะหมี่พ่อมึงตาย สร้างจุดขายแบบหลุดโลก












เช้าวันหยุดวันนี้เรามาคุยเรื่องเบาๆกัน เป็นเรื่องอาหารการกินที่มีแง่มุมทางการตลาดที่น่าสนใจ

ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในอำเภอเมือง แถวๆซอยเจ็ดยอด-ช้างเคี่ยน มีร้านบะหมี่ในห้องแถวขนาดคูหาเดียวอยู่ร้านหนึ่งที่มีชื่อเสียงเลื่องลือ คนไปต่อคิวกันกันยาวเฟื้อย นั่นคือร้านเฮียฮ้ง หรือชื่อที่ปรากฏตามป้ายในร้านเขียนว่า เฮียฮ๋ง

เวลาเราไปอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เราก็มักถูกสอนว่าธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะแจ้งเกิดหรือเป็นที่รู้จักและสร้างยอดขายได้นั้นต้องมีการ สร้างความแตกต่าง หรือที่ภาษาอังกฤษว่า differentiation เพราะหากทำเหมือนๆกันไปหมดก็คงไม่มีอะไรโดดเด่นให้ลูกค้าจดจำหรือมาอุดหนุน แต่การสร้างความแตกต่างนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย บางทีคิดจึงหัวผุก็คิดไม่ออก หรือบางทีคิดออกแต่พอเอาไปทำจริงแล้วก็ไม่ประสบผล

สำหรับร้านบะหมี่เฮียฮ้งนั้นถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างความแตกต่าง โดยใช้ความแปลกหลุดโลกเป็นจุดขาย ซึ่งไม่ใช่แปลกหลุดโลกเพียงเรื่องเดียว แต่ในร้านนี้มีเรื่องหลุดโลกรวมกันอยู่หลายอย่าง หลายคนคงรู้จักร้านนี้กันมาแล้ว เราลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

เมนูชื่อพิสดาร เมนูดังของร้านนี้เป็นชื่อแปลกๆ เช่น บะหมี่โคตรโง่ โคตรเฮี่ย พ่อมึงตาย ฯลฯ

อาหารขนาดไม่ปกติ จานใหญ่เว่อ บะหมี่โคตรโง่ใช้บะหมี่ 24 ก้อน กินได้ 5 คน ราคา 250 บาท

เมนูโคตรเฮี่ยใช้บะหมี่ 36 ก้อน ราคา 350 บาท

เมนูพ่อมึงตายใช้บะหมี่ 60 ก้อน ราคา 600 บาท กินกันได้สิบกว่าคน

และล่าสุดเพิ่งออกเมนู จะไปตามหาพ่อมึง ใช้บะหมี่ 84 ก้อน ราคา 1200 บาท

เจ้าของร้านมีบุคลิกโผงผาง พูดจาตรง ใช้สรรพนามกู-มึงกับลูกค้า บางทีก็ใช้ลูกค้าให้ช่วยงานในร้าน

เปิดร้าน 23 น - ตีสาม อันเป็นเวลานอนของคนทั่วไป

เท่าที่อ่านดู เจ้าของร้านพูดจาไม่ค่อยไพเราะ เมนูชามใหญ่มาก กินเข้าไปยังไงไหว แถมเปิดร้านในยามวิกาลซึ่งเป็นเวลาที่คนส่วนใหญ่นอนกัน รวมความแล้วร้านนี้ไม่น่าจะมีลูกค้า เพราะผิดหลักการตลาดหมดเลย แต่มีถูกอยู่เรื่องเดียว นั่นคือ การสร้างความแตกต่าง

แต่ปรากฏว่าร้านนี้ขายดิบขายดี คนมาเข้าคิวกิน บางคนรอชั่วโมงกว่า ดึกดื่นก็ยังมากินกัน แถมชามใหญ่คนเดียวกินไม่หมด ไม่เป็นไร นัดเพื่อนมาเป็นกลุ่ม สั่งแล้วมากินด้วยกันเหมือนสังสรรค์กัน กลายเป็นดีเสียอีก

เรื่องพูดจาไม่ไพเราะนั้น บางคนก็บอกว่าแปลกดี จริงใจดี เป็นกันเองดี หาฟังไม่ได้จากร้านอื่น อ้าว เกิดถูกใจตลาดอีก

รวมความแปลกหลุดโลกหลายๆอย่าง (แต่ที่สำคัญที่สุดซึ่งยังเป็นพื้นฐาน นั่นก็คืออาหารต้องอร่อย) ลูกค้าที่ไปกินก็นำไปเผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ สื่อมวลชนก็มาทำข่าว สุดท้ายก็ดังและติดตลาดได้ ลูกค้าบางคนก็ตั้งฉายาว่าบะหมี่มาเฟีย บางคนก็ตั้งฉายาให้ว่าบะหมี่ปากหมาน (เอา น หนู ออก >.<)

เครือข่ายสังคมออนไลน์มีบทบาทในยุคนี้อย่างสูง เรื่องอะไรที่โดนใจและนำไปแชร์กันมากๆจะมีคนไปอุดหนุนกันมาก เพราะอยากรู้อยากลอง ทำให้แจ้งเกิดได้อย่างรวดเร็ว ตอนนี้ถือว่าแจ้งเกิดได้แล้ว ความยากในขั้นต่อไปก็คือจะรักษายอดขายเอาไว้ได้อย่างไรในระยะยาว ทำอย่างไรจึงจะให้ลูกค้าที่มาทดลองใช้บริการเพราะอยากสัมผัสความแปลกใหม่หลุดโลกกลายมาเป็นลูกค้าขาประจำ

ร้านนี้ลุงยังไม่เคยไปกินนะคร้าบ และนี่ก็ไม่ได้เอามาโฆษณา ลุงแมวน้ำไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่อย่างใด เพียงแต่เห็นว่าเป็นกรณีศึกษาทางการตลาดที่น่าสนใจ เลยนำมาฝากกัน

อ้อ แถมท้ายอีกนิด สมัยก่อน ราวๆ 20 ปีมาแล้ว แถวเยาวราชดูเหมือนจะมีร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ร้านหนึ่ง คนก็เรียกกันว่าบะหมี่ปากหมาน เพราะเจ้าของร้านชอบด่าลูกค้า จะไปเร่งหรือเปลี่ยนเมนูไม่ได้ เป็นต้องโดนด่า แต่คนก็ไปกินกันแน่นร้าน มีอยู่วันหนึ่งเจ้าของร้านก็โดนดักตีหัว คงเพราะไปด่าเขานั่นแหละ แต่พอรักษาตัวเรียบร้อยแล้วก็กลับมาด่าตามเดิม ปัจจุบันคงเลิกไปแล้วเพราะนานมากแล้ว นี่ก็เล่าขำ ลุงก็ไม่เคยไปกินเช่นกันคร้าบ ^_^






Friday, June 26, 2015

ตลาดหุ้นจีนแพงแล้ว ส่งออกไทยหดตัวต่อเนื่อง






วันนี้เรามาคุยกันถึงเรื่องจีนกันอีกครั้ง ทั้งตลาดหุ้นและภาคเศรษฐกิจจริงที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยและต่อตลาดหุ้น คุยกันหลายเรื่องทีเดียว

มาเริ่มกันที่ตลาดหุ้นจีนก่อน ตอนนี้ตลาดหุ้นจีนผันผวนหนัก เหวี่ยงขึ้นเหวี่ยงลงเป็นรถไฟเหาะตีลังกา ขึ้นลงวันละหลายเปอร์เซ็นต์ทีเดียว

ลองมาดูกราฟตลาดหุ้นจีนกัน กราฟนี้มี 3 เส้น เพราะมี 3 ดัชนี มาดูกันทีละดัชนีแล้วจะรู้ว่าตลาดหุ้นจีนตอนนี้แพงจริง

เส้นแรก สีน้ำเงินเป็นดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิต (shanghai composite index) ที่พวกเราชอบดูกันนั่นแหละ เวลาพูดถึงดัชนีตลาดหุ้นจีนมักอ้างอิงดัชนีตัวนี้กัน ตอนนี้ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตมีค่าพีอี (P/E ratio) ประมาณ 23.7 เท่า เห็นค่า 20 กว่าเท่านี่เราก็บอกว่าแพงกันแล้ว เพราะเมื่อปลายปีที่แล้วยังเทรดกันที่ 8-9 เท่ากันอยู่แลย

แต่ถ้ามาดูดัชนีเซืนเจินคอมโพสิต (Shenzhen composite index) ดัชนีนี้มักถูกพูดถึงน้อยกว่า แต่ดัชนีเซินเจินนี้มีค่าพีอีสูงถึง 69.2 เท่า ยิ่งแพงกว่าดัชนีเซี่ยงไฮ้มาก

มาทำความเข้าใจกันก่อน ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตนี้ถ่วงน้ำหนักด้วยหุ้นในกลุ่มธนาคารค่อนข้างมาก ปกติแล้วหุ้นธนาคารเทรดกันที่พีอีต่ำหน่อย มักต่ำกว่าเซ็กเตอร์อื่นๆ  ส่วนดัชนีเซินเจินนั้นถ่วงน้ำหนักด้วยหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตค่อนข้างมาก ซึ่งรวมหุ้นไอทีและหุ้นไฮเทคโนโลยีด้วย (หุ้นไอทีและหุ้นไฮเทคมักเก็งกำไรกันอย่างหนัก เทรดกันที่พีอีสูงมาก) นี่ขนาดเป็นหุ้นที่เทรดกันที่พีอีต่ำเช่นหุ้นในตลาดเซี่ยงไฮ้ยังปาเข้าไป 20 กว่าเท่า ดังนั้นเมื่อเรามองสองดัชนีนี้ประกอบกันทำให้มองเห็นภาพได้ชัดขึ้นว่าตอนนี้ตลาดหุ้นจีนเก็งกำไรกันอย่างสุดเหวี่ยง

ยังมีดัชนีอีกดัชนีหนึ่ง ลุงไม่ได้นำกราฟมาให้ดู เป็นดัชนี CSI 700 mid & smallcap คือเป็นดัชนีพวกกลุ่ม SME น่ะ ดัชนีนี้ก็มีค่าพีอี 52 เท่า ยิ่งช่วยเสริมให้เห็นว่าตลาดหุ้นจีนตอนนี้แพงมากแล้ว

ถามว่าตลาดหุ้นจีนไปต่อได้อีกไหม ลุงแมวน้ำคิดว่าในปีนี้คงยาก ตลาดหุ้นจีนในปีนี้ หมายถึงว่าต่อจากนี้จนสิ้นปี น่าจะเป็นตคลาดขาลง เพราะหากดูจากมูลค่าแล้วถือว่าแพงถึงแพงมาก ซื้ออนาคตกันไปมากแล้ว และยิ่งตอนนี้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวด้วย และเมื่อดูรูปแบบทางเทนิค ก็น่าจะเป็นคลื่น 4 หรือคลื่น A ซึ่งเป็นคลื่นขาลง ดังนั้นควรระมัดระวังในการเข้าลงทุน

เส้นสุดท้าย ตลาดหุ้นฮ่องกง พีอี 11.3 เท่า ยังไม่สูง แต่ว่ารูปแบบทางเทคนิคคล้อยตามตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ผสมกับตลาดหุ้นจีนนิดๆ ดังนั้นลุงแมวน้ำก็คิดว่าตลาดหุ้นฮ่องกงในปีนี้ยังไม่ไปไหนเช่นกัน น่าจะลงเสียมากกว่า

มาพูดกันถึงภาคเศรษฐกิจจริงกันสักนิด แล้วเดี๋ยวจะโยงไปตลาดหุ้นไทย วันนี้กระทรวงพาณิชย์จะประกาศตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคม ซึ่งคาดว่าติดลบต่อเนื่องอีก แปลว่าส่งออกของเรายังไม่กระเตื้องเลย มีแต่ถอยลง

คู่ค้าที่สำคัญของไทยในช่วงหลังหลายปีมานี้คือจีน แต่จีนนำเข้าสินค้าจากไทยน้อยลงและน้อยลง นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ยอดส่งออกของไทยหดตัวลงด้วย และข่าวร้ายล่าสุดก็คือ จีนกับเกาหลีใต้ทำข้อตกลงลดภาษีสินค้าอุปโภคบริโภคระหว่างกัน เรื่องนี้มีความสำคัญทีเดียวเพราะปีที่แล้ว 2014 จีนนำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้ประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์ สรอ และนำเข้าสินค้าไทยราว 40,000 ล้านดอลลาร์ สรอ แค่นี้ก็เห็นว่าสินค้าเกาหลีใต้ได้รับความนิยมในจีนมาก และหากมีการลดภาษีระหว่างกันอีก สินค้าเกาหลีใต้จะยิ่งได้เปรียบเรื่องต้นทุน ดังนั้นเป็นไปได้ว่ายอดส่งออกของไทยจะหดตัวต่อเนื่องไปอีกเพราะสินค้าเกาหลีใต้เบียดสินค้าไทย สินค้าไทยที่มีโอกาสถูกสินค้าเกาหลีใต้ตีตลาดในจีนก็คือ สินค้าแฟชัน เครื่องสำอาง เครื่องใช้ภายในบ้าน และอาหาร




หากยอดส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่อง ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยและกระทบตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นไทยก็อาจฟื้นตัวช้าลงอีก แต่กระทบขนาดไหน และช้านานขนาดไหนยังประเมินยาก ต้องตามดูไปก่อนอีกสักระยะหนึ่ง

ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน ที่คาดไว้ก็ผิดคาด ที่หวังเอาไว้ก็ผิดหวัง เป็นเรื่องปกติ ก็ต้องปรับกลยุทธ์เอาตัวรอดกันไป ที่สำคัญคือต้องเอารอดให้ได้คร้าบ

Thursday, June 25, 2015

สงครามตัดราคาน้ำมันดิบยังไม่จบ ทองคำกับโลกยุคเงินเฟ้อต่ำ กรีซละครโรงใหญ่






วันนี้เราอัปเดตกันหลายเรื่อง ทั้งมุมมองแนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาทองคำ แถมท้ายด้วยเรื่องกรีซนิดหน่อย

มาดูราคาน้ำมันดิบกันก่อน หลังจากที่ติดตามราคาน้ำมันดิบในยุคสงครามตัดราคาระหว่างกลุ่มโอเปก กลุ่มนอกโอเปก กับเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) กลุ่มโอเปกลดราคาน้ำมันดิบก่อสงครามราคาเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดของตนเองเอาไว้

มาดูกราฟ CL กัน กราฟนี้เป็นราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ของอเมริกา แต่ก็ใช้ดูได้เนื่องจากราคาน้ำมันดิบทั่วโลกอิงกันหมด ราคาน้ำมันดิบ WTI นิ่งๆแถว 60 ดอลลาร์ สรอ/บาเรล บวกลบอยู่แถวนี้มานานหลายเดือนแล้ว นอกจากนี้ กลุ่มโอเปกเองยังผลิตน้ำมันดิบเกินโควต้าของตัวเองที่ตกลงกันในกลุ่มว่าวันละ 30 ล้านบาเรล ก็ผลิตรวมกันอยู่ที่ประมาณ 31.5 ล้านบาเรลต่อวันมาหลายเดือนแล้ว นอกจากนี้ อิรัก ลิเบีย ยังมีแนวโน้มผลิตเพิ่ม รวมทั้งอิหร่านก็คงผลิตเพิ่มหลังจากที่ไม่ถูกคว่ำบาตรแล้ว

ตามหลักของสงครามราคาแล้วการตัดราคาต้องดำเนินไปนานพอควรเพื่อให้คู่แข่งออกจากตลาดไป ตอนนี้แนวโน้มการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดานของอเมริกาลดลงเพราะขาดทุน มีการปิดหลุมเจาะ บริษัทพลังงานเจ๊งไป เนื่องจากต้นทุนการผลิตอยู่ที่ราว 70 ดอลลาร์ขึ้นไป  และเมื่อพิจารณาจากกราฟราคาแล้ว ลุงแมวน้ำคาดว่าโอเปกคงต้องการคุมราคาน้ำมันดิบไปอีกพักใหญ่เพื่อให้เชลออยล์เจ๊งสนิท ประกอบกับเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้าด้วย ดังนั้นราคาคงอยู่แถวๆนี้แหละ 55-65 ดอลสำหรับ WTI ลุงคิดว่าในปี 2559 หรือ 2016 ราคาก็ยังคงอยู่แถวๆนี้ ดังนั้นกองทุนน้ำมันอาจดูไม่ค่อยมีเสน่ห์เท่าไร รวมทั้งราคายางพาราก็คงไปไม่ไกลจากนี้แล้วล่ะ คงแกว่งตัวขึ้นลงในกรอบแถวๆนี้

ทีนี้มาดูราคาทองคำกันบ้าง หากราคาน้ำมันดิบอยู่แถวๆนี้ ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อของโลกในภาพรวมก็คงไม่ได้มากมายกว่านี้ ตอนนี้ชาติที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ไม่ว่าอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ต่างก็เหนื่อยกับการเร่งอัตราเงินเฟ้อให้ถึงเป้า 2% แต่ก็ยังไม่ถึง เพราะเศรษฐกิจไปช้าๆ ดังนั้นในโลกยุคเงินเฟ้อต่ำ จะหวังให้ทองราคาพุ่งคงยาก ประกอบกับดอลลาร์ สรอ มีแนวโน้มแข็งค่าจากการที่เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นลุงแมวน้ำจึงคิดว่าจากนี้จนถึงปีหน้า 2016 ราคาทองคำคงอยู่ในกรอบ 1100-1230 ดอลลาร์ สรอ/ทรอยออนซ์ กองทุนทองคำก็คงไม่ค่อยมีเสน่ห์เท่าไร

แถมเรื่องกรีซ กรีซนี่ละครโรงใหญ่ สุดท้ายก็ตกลงกันได้ เพราะหากตกลงกันไม่ได้แปลว่ากรีซคงต้องถูกเนรเทศออกจากกลุ่มยูโรโซนที่ใช้เงินยูโรร่วมกัน ยูโรโซนอาจแตก หากระบบเงินยูโรพัง เยอรมนีพี่ใหญ่เสียประโยชน์เยอะเลยเพราะตอนนี้เงินยูโรอ่อนเอื้อการส่งออกของเยอรมนีเต็มๆ ป้าอังเกลาไม่อยากให้ยูโรพังหรอก อีกประการ หากกรีซออกจากยูโรและไปใช้เงินสกุลของตนเอง ประเทศไหนก็ไม่ค้าด้วยเพราะสกุลเงินไม่น่าเชื่อถือ ประชาชนกรีซเองจะเดือดร้อนหนักกว่านี้มาก นายกคงตกกระป๋อง ดังนั้นตอนนี้เล่นบทบาทต่อรองกัน อีกหน่อยก็อุ้มกันต่อไปคร้าบ

Tuesday, June 23, 2015

โรค MERS กับหุ้น






ลุงแมวน้ำไม่ได้อัปเดตเว็บบล็อกมาสักพักหนึ่งแล้ว ที่จริงลุงก็ไม่ได้หายไปไหนหรอก ยังอัปเดตในเฟซบุ๊กเป็นประจำ แต่ไม่ได้อัปเดตในเว็บบล็อก คือบางทีการอัปเดตสถานการณ์เล็กน้อยๆ ลุงก็อัปเดตแค่ใน FB ไม่ได้เอามาใส่ไว้ในบล็อก

ช่วงนี้ตลาดก็ขึ้นๆลงๆอยู่แถวนี้ ไปไหนไม่ไกล ลุงแมวน้ำมองว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ดังนั้นตลาดหุ้นในช่วงต้นไตรมาส 3 อาจซึมลงก่อน  ที่เห็นขึ้นแรงในช่วงสองสามวันมานี้ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องโรคเมอร์ส (MERS) และอีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการทำราคาปิดปลายไตรมาสให้ดูดีขึ้นมาหน่อย หรือที่เรียกว่า window dressing นั่นเอง

มาคุยกันเรื่องโรคเมอร์สกันหน่อย ตอนนี้กำลังดัง พวกเราส่วนใหญ่คงอ่านและฟังข่าวเกี่ยวกับโรคนี้กันจนอาจจะเบื่อแล้วก็ได้ แต่ที่ลุงแมวน้ำจะคุยในวันนี้เป็นมุมที่เกี่ยวกับหุ้น ลองมาดูกัน

เท้าความกันเล็กน้อย โรคเมอร์ส (MERS) หรือบางทีก็เรียก เมอร์ส-คอฟ (MERS-CoV) นั้น ที่จริงเป็นชื่อย่อ ชื่อเต็มก็คือ Middle East Respiratory Syndrome-Corona Virus หมายถึงโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาที่มีต้นกำเนิดมาจากตะวันออกกลาง ชื่อยาวเฟื้อยนี้เรียกย่อๆก็คือ เมอร์ส หรือ เมอร์ส-คอฟ นั่นเอง

โรคนี้เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่มีต้นตอการระบาดมาจากประเทศแถบตะวันออกกลางในราวปี 2555 โดยสาเหตุของโรคนั้นมาจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง เรียกว่าไวรัสโคโรนา (CoronaVirus บางคนก็เรียกว่าโคโรนาไวรัส บางคนก็เรียกไวรัสโคโรนา ก็เข้าใจได้ทั้งคู่) ซึ่งโคโรนาไวรัสนี้เองที่เป็นสาเหตุของโรคระบาดซาร์ส (SARS-CoV) ที่อาละวาดในเอเชียในปลายปี 2002 (2545) ต่อเนื่องถึงปี 2003

ยังจำได้ว่าในช่วงนั้นประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ตลาดหุ้นไทยไหลตั้งแต่ดัชนี 1700 จุด เกิดเรื่องโน่น นี่ นั่น มีเรื่องราวไม่ดีไม่หยุดหย่อน จนมาเหลือ 200 กว่าจุดในปี 2002 พอดัชนีเริ่มโงหัวฟื้นตัวมาได้ราว 300 กว่าจุดก็เจอเรื่องโรคซาร์สระบาดในกวางตุ้งของจีน จากนั้นลามไปฮ่องกง พอไปฮ่องกงแล้วก็ไปโลด ข้ามไปมาเก๊า ไต้หวัน สิงคโปร์ กระจายไปทั่ว ฯลฯ

ตอนที่ซาร์สระบาดนั้นมีผลกระทบกับการท่องเที่ยวมาก เพราะโรคนี้เป็นโรคทางเดินหายใจที่แพร่ได้ง่ายทางการไอจาม การดำเนินของโรคมีความรุนแรงมาก ผู้ป่วยจะมีอาการนำคล้ายเป็นหวัด แต่ต่อมาปอดจะอักเสบอย่างรวดเร็วจนระบบการหายใจล้มเหลว ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตค่อนข้างสูง ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มักเกิดจากปอดอักเสบรุนแรงจนปอดพัง ไม่มียารักษาโรคไวรัสโดยตรงด้วย ทำได้แค่รักษาตามอาการ

ตอนนั้นการท่องเที่ยวของฮ่องกงนี่สลบไปในทันที ไม่ใช่แค่ฮ่องกง แต่การท่องเที่ยวในย่านเอเชียนี้สลบไปหมด รวมทั้งไทย ตลาดหุ้นไทยกำลัง 300 จุดปลายๆก็ตกลงมา 30-40 สุด ซึ่งก็ถือว่าเยอะสำหรับตอนนั้น

มาในครั้งนี้ก็เช่นกัน โรคเมอร์สที่เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสเช่นเดียวกับซาร์ส (แต่คนละสายพันธุ์กัน) ตั้งต้นมาจากตะวันออกกลาง แล้วจู่ๆก็มาโผล่ที่เกาหลีใต้ และมาโผล่ที่ไทย ตลาดหุ้นไทยจึงร่วงระนาวเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วหลังจากที่มีข่าวพบผู้ป่วยโรคเมอร์สในประเทศไทย ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะประสบการณ์เก่าๆจากเมื่อครั้งเกิดการระบาดของโรคซาร์สเมื่อสิบกว่าปีก่อนยังหลอนอยู่ ก็เลยกลัวกัน

ที่จริงเราเอาสถานการณ์โรคเมอร์สไปเทียบกับสถานการณ์ตอนเกิดโรคซาร์สคงเทียบกันได้ยาก เพราะเวลาผ่านไปนานแล้ว ปัจจุบันเรามีการสาธารณสุขที่ดีขึ้นกว่ายุคนั้นมาก โดยเพราะการรับมือเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจทำนองนี้ เพราะได้ประสบการณ์มาจากการรับมือกับไข้หวัดนก

ไข้หวัดนกเกิดจากไวรัสคนละชนิดกับเมอร์ส (ไข้หวัดนกเกิดจาก Influenza virus) แต่การระบาด อาการป่วย คล้ายคลึงกัน คือทำให้ปอดอักเสบเฉียบพลันและมักเสียชีวิตเนื่องจากปอดพังเช่นกัน อัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง ไทยมีประสบการณ์ในการรับมือกับไข้หวัดนกมาอย่างโชกโชน ดังนั้นลุงแมวน้ำคิดว่าเราสามารถควบคุมโรคได้ เท่าที่ติดตามข่าวก็ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และถ้าควบคุมโรคได้ การท่องเที่ยวก็ยังไม่มีอะไรน่าห่วง

แม้ไทยจะเพิ่งพบผู้ป่วยรายแรก แต่ตลาดหุ้นก็ตอบสนองในทางลบทันที หุ้นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยงลงกันเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าหุ้นการท่า AOT หุ้นสายการบิน (AAV) หุ้นโรงแรม (MINT, CENTEL) ฯลฯ  ผลกระทบหากจะมีก็คงเป็นแค่ปัจจัยทางจิตวิทยาในช่วงสั้นเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ลุงแมวน้ำตั้งข้อสังเกตว่า AAV กับ MINT นั้นรูปแบบทางเทคนิคเป็นขาลงอยู่แล้ว ดังนั้นหากยังลงต่อก็อาจมาจากสาเหตุอื่นมากกว่า





มีเกร็ดเล็กน้อยอีกหน่อย โรคเมอร์สนี้เกิดจากเชื้อไวรัส ยังไม่มียารักษา แต่ขณะเดียวกัน หุ้น APCO ก็ออกข่าวว่าจะรีบวางตลาดผลิตภัณฑใหม่ เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ทำให้มีโอกาสหายจากโรคนี้เพิ่มขึ้น นักลงทุนก็สงสัยกันว่าจะเป็นไปได้จริงหรือ



นี่ว่ากันในเชิงทฤษฎี เรื่อฆ่าไวรัสนั้นไม่ได้หรอก แต่ว่าการที่ไวรัสทำให้เกิดอาการปอดอักเสบเฉียบพลันรุนแรงนั้นเกิดจากการที่ไวรัสกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารที่เรียกว่าไซโตไคน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย สารนี้แหละเมื่อร่างกายสร้างขึ้นมากมาย (เรียกว่า cytokine storm) ที่ปอดก็ทำให้ปอดอักเสบรุนแรงจนถึงขั้นปอดพังได้

ทีนี้สารบางชนิด อย่างเช่น เคอร์คิวมินอยด์ในขมิ้นชัน ฯลฯ สามารถยับยั้งการสร้างไซโตไคน์ได้ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเกี่ยวกับผู้ป่วยซาร์ส เมอร์ส หรือไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ ที่มีอาการปอดอักเสบเฉียบพลันรุนแรง ก็มาด้วยทฤษฎีนี้แหละ คือยับยั้งไซโตไคน์เพื่อลดความรุนแรงของอาการปอดอักเสบ แต่ลุงก็ยังไม่เคยอ่านพบรายงานการวิจัยที่มีการพิสูจน์ทางคลินิกว่าได้ผลอย่างไร นี่เป็นเพียงแค่แนวคิดเชิงทฤษฎี

วันนี้เล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย แต่ก็เกี่ยวกับหุ้นหลายตัว อยากให้ลงทุนด้วยความเข้าใจคร้าบ

Wednesday, April 15, 2015

ธุรกิจเพื่อสังคม กองทุนสงเคราะห์ของลุงแมวน้ำ







บทความในวันนี้เขียนต่อจากเมื่อวาน ที่จริงน่าจะนับเป็นตอนที่ 3 แต่เนื่องจากอาจจะทำให้บทความดูยาวไป ไม่น่าอ่าน จึงขอตัดตอน เปลี่ยนหัวเรื่องเอาดื้อๆเลย แต่ที่จริงเนื้อหาก็ต่อเนื่องกันนั่นแหละ คือการอัปเดตผลงานในรอบปีที่ผ่านมาของลุงแมวน้ำ ^_^


การลงทุนในตลาดฮ่องกงของลุงแมวน้ำ


มาคุยกันเรื่องการลงทุนในตลาดฮ่องกงกันต่อ

ลุงแมวน้ำคิดว่าตลาดหุ้นฮ่องกงมีข้อดีหลายอย่าง อัตราแลกเปลี่ยนก็นิ่ง ตลาดหุ้นมีพีอีต่ำ หุ้นถูกๆยังมีอยู่มาก เพราะนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่กลัวว่าเศรษฐกิจจีนจะเกิดวิกฤตอันเนื่องจากจีนเร่งเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจต่อเนื่องกันมานานนับสิบปี ก็เกรงกันว่าเครื่องยนต์จะพัง ฟองสบู่ของภาคการเงินและตลาดอสังหาริมทรัพย์จะแตก ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงจึงร่วงติดต่อกันมาหลายปีแล้ว

แต่สำหรับประเด็นนี้ลุงไม่ค่อยกลัว เพราะเท่าที่ลุงติดตามเศรษฐกิจจีนมาหลายปี ลุงเห็นว่าฟื้นตัวได้และตลาดหุ้นจีนก็ส่งสัญญาณฟื้นตัวแล้ว ลุงจึงเข้าไปลงทุนในราวไตรมาสสามของปี 2014 ซึ่งตอนนั้นตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ในแผ่นดินใหญ่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว แต่ในขณะเดียวกันฮ่องกงเกิดความไม่สงบทางการเมือง กลุ่มคนหนุ่มสาวเรียกร้องสิทธิทางการเมือง ที่เรียกว่าเหตุการณ์ Occupy Central นั่นเอง ตอนนั้นตลาดหุ้นฮ่องกงได้รับผลกระทบไปไม่น้อย ดังนั้นไม่ได้ฟื้นตัวตามตลาดเซี่ยงไฮ้ แต่ก็ถือเป็นโอกาสดีสำหรับการลงทุนของลุง


เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง Occupy Central ในฮ่องกงเมื่อปี 2014

ตลาดหุ้นฮ่องกงยังมีข้อดีอีกหลายอย่าง เช่น ไม่เสียภาษีกำไรจากการขายหุ้น (capital gain tax) รวมทั้งเงินปันผลจากหุ้นที่ได้รับก็ไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายอีกด้วย ภาษีเหล่านี้เป็นต้นทุนของนักลงทุนทั้งสิ้น นอกจากนี้ข้อมูลราคาหุ้น งบการเงิน อัตราส่วนทางการเงิน รายละเอียดต่างๆสามารถหาดูได้ง่ายและเป็นภาษาอังกฤษด้วย (ในบางประเทศข้อมูลส่วนใหญ่เป็นภาษาท้องถิ่น)

ลุงแมวน้ำก็เข้าไปลงทุนในหุ้นกลุ่มบริษัทยาและไบโอเทค เนื่องจากจีนมีการปฏิรูประบบสาธารณสุข อีกทั้งชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หุ้นบริษัทยาของจีนเติบโตดี มีหุ้นถูกให้เลือกมากพอควร ก็เลือกซื้อไปหลายบริษัท ตอนที่สถานการณ์ทางการเมืองดุเดือด หุ้นฮ่องกงของลุงหล่นไป -20% แต่ลุงก็เฉยๆ ตอนนี้กลับมาทำกำไรแล้ว ได้ผลตอบแทนประมาณ 40%-50% ยังไม่ได้ขายเพราะคิดว่ายังไปต่อได้อีก แต่ถ้าขึ้นเยอะๆลุงก็ขายนะ เปลี่ยนไปตัวอื่นแทน ^_^

หุ้นกลุ่มยาและไบโอเทคของลุงหากเทียบกับหุ้นยอดนิยมอย่างเช่น CITIC Bank ลุงได้ผลตอบแทนดีกว่านิดหน่อย แต่หากไปเทียบกับ TENCENT ก็ยังสู้ tencent ไม่ได้ แต่ไม่เป็นไร ได้แค่ไหนก็แค่นั้นแหละ

นี่ก็คือการลงทุนในต่างแดนของลุงแมวน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตทั้งหมด การลงทุนหลักของลุงยังอยู่ในเมืองไทยเนื่องจากลุงเห็นว่ายังมีหุ้นไทยที่ดีราคาถูก มีโอกาสเติบโต ยังมีให้เลือกอยู่พอควร


กองทุนสงเคราะห์ของลุงแมวน้ำ


ทีนี้ก็มาถึงเรื่องสุดท้ายที่ลุงอยากจะเล่า ซึ่งเรื่องนี้มีความหมายกับลุงมากกว่าตัวเลขกำไรสวยๆจากตลาดหุ้นเสียอีก

เท้าความไปถึงเมื่อก่อน ลุงมีความฝันอยากทำธุรกิจเพื่อสังคมมานานแล้ว อยากทำธุรกิจที่มีส่วนช่วยพัฒนาสังคม และนำผลกำไรมาทำกองทุนเพื่อสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาส และก็มีโอกาสได้ทำธุรกิจเมื่อหลายปีมาแล้ว โดยทำควบคู่ไปกับงานหลักคือการแสดงละครสัตว์ แต่ก็เป็นงานเหนื่อยมาก การทำกิจการนั้นต้องทำงานกันเป็นทีม ก็ต้องมีพนักงาน แต่ปัจจุบันพนักงานหายากเหลือเกิน เมื่อเฟืองไม่ครบ เครื่องยนต์ก็เดินสะดุด กิจการงานก็ไม่ราบรื่น การตลาดก็สะดุด ผลตอบแทนก็ไม่ดี เมื่อผลตอบแทนไม่ค่อยดีก็ยิ่งไม่มีใครอยากทำงานด้วย ก็เป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อย ผลก็คือทำแล้วก็เหนื่อยมาก เงินก็ไม่ค่อยได้ พอเหนื่อยก็ยิ่งคิดอะไรไม่ออก >.<

เมื่อกิจการไม่ค่อยดี เรื่องกองทุนสงเคราะห์ก็ขยายได้ยาก เรื่องกองทุนนั้นที่จริงลุงก็ทำมาเรื่อยๆตั้งแต่สมัยยังหนุ่มๆ แต่ว่าวงเงินของกองทุนมีจำกัด ลุงคิดว่าเมื่อทำธุรกิจเพื่อสังคมน่าจะได้มีส่วนช่วยขยายเงินกองทุนได้ แต่ก็ไม่เป็นดังที่คิด

ชีวิตก็ต้องดิ้นรนกันไป ไม่ได้ทางหนึ่งก็ต้องไปหาทางอื่น ในช่วงหลังกิจการเพื่อสังคมของลุงแมวน้ำจึงลดรูปลงมา ไม่ได้ทำธุรกิจอะไรเอง แต่กลายเป็นโฮลดิงคอมพานี (holding company) ที่มีลุงแมวน้ำเป็นเจ้าของแทน นี่พูดแบบฟังหรูๆ พูดง่ายๆก็คือแทนที่ลุงจะทำธุรกิจจริงๆซึ่งต้องการทีมงานจำนวนมาก ลุงก็เลิก และหันมาขยายการลงทุนตลาดหุ้นแทน ไม่มีทีมงานอะไร ลุงก็ทำของลุงไปเรื่อย เหนื่อยก็พัก ไม่ต้องทำบัญชี กำไรจากการขายหุ้นไม่ต้องเสียภาษี อีกทั้งยังไปเอาเครดิตภาษีมาอีก ชีวิตก็เหนื่อยน้อยลงนิดหน่อย แค่น้อยลงนิดหน่อยนะ ไม่ได้มาก เพราะต้องบริหารกองทุนสงเคราะห์

ที่จริงการทำงานเป็นทีมเป็นเรื่องที่ดีและควรฝึกกันไว้ให้ทำให้ได้ เพราะโลกในปัจจุบันเราจะทำอะไรแบบหัวเดียวกระเทียมลีบจะโตไม่ได้ แต่ลุงพบข้อจำกัดหาทีมงานได้ยากก็จนใจ นี่เป็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดเฉพาะตัวของลุง แต่ก็ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง

ลุงเล่าเท้าความเรื่องเก่าๆไปไกลหน่อยเพื่อปูพื้น เกรงว่าจะงงกัน สรุปว่าในปี 2014 ลุงแมวน้ำสร้างผลตอบแทนในตลาดหุ้นไทยได้ดีกว่าความคาดหมาย ในวิกฤตก็มีโอกาส ตอนนี้กองทุนสงเคราะห์ของลุงขยายตัวเป็นระดับเลขเจ็ดหลักต่อปี ลุงสงเคราะห์ผู้พิการ ให้ทุนการศึกษาเยาวชน ช่วยเหลือสัตว์จรจัด ทำหมันสัตว์จรจัดเพื่อตัดวงจรการขยายพันธุ์ ก็ทำเท่าที่มีแรงทำไหว แต่ดูเหมือนว่าชีวิตที่รอความช่วยเหลือมีมากเหลือเกิน ก็อยากทำให้ได้ดีกว่านี้อีกสักหน่อย


ทั้งหมดนี้ก็เป็นการอัปเดตในรอบปีที่ผ่านมา เขียนโน่นเขียนนี่ คุยกันวันหยุด เมื่อตลาดเปิดแล้ว เราก็มาคุยเรื่องการลงทุนกันต่อคร้าบ

Tuesday, April 14, 2015

สุขสันต์วันสงกรานต์ เข้าสู่ปีที่ 7 การลงทุนของลุงแมวน้ำ (2)



ลุงแมวน้ำโกอินเตอร์ ลงทุนในต่างประเทศ


ลุงแมวน้ำออกไปลงทุนในต่างประเทศตั้งแต่ปี 2013 เรียกได้ว่าเป็นรุ่นแรกๆที่ออกไปตามลงทุนตามระบบ ต้องขอขยายความเรื่องนี้สักหน่อยเมื่อก่อนหน้านี้การลงทุนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือฟิวเจอร์สค่อนข้างยุ่งยาก คือเราต้องไปเปิดพอร์ต (เปิดบัญชีซื้อขาย) กับโบรกเกอร์ในต่างประเทศเอง และต้องโอนเงินในการเทรดตามกฎกติกาของโบรกเกอร์นั้น ซึ่งโบรกเกอร์ในต่างประเทศนั้นมีมากมาย ด้านความน่าเชื่อถือของโบรกเกอร์เป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนต้องรับความเสี่ยงเอาเอง

ต่อมาเมื่อ ธปท ผ่อนคลายกฎเรื่องการนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้ง กลต ได้อนุญาตให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนในต่างประเทศได้โดยผ่านโบรกเกอร์ไทย ทำให้นักลงทุนรายย่อยสามารถลงทุนซื้อหุ้นหรือฟิวเจอร์สได้โดยผ่านทางโบกรกเกอร์ไทย ทำให้การลงทุนสะดวกและอุ่นใจขึ้นมาก เพราะโบรกเกอร์ไทยนั้น กลต ควบคุมอยู่ ไม่ต้องกลัวโดนโกง เมื่อระบบต่างๆพร้อม ลุงแมวน้ำจึงออกไปลงทุนบ้าง


ไปตลาดอเมริกาเพื่อโยงไปสู่การลงทุนตลาดชายขอบ (Frontier Market)


ตลาดหุ้นต่างประเทศแห่งแรกที่ลุงออกไปลงทุนก็คือตลาดหุ้นอเมริกา เหตุที่ไปตลาดอเมริกาเพราะที่นั่นมีอีทีเอฟ (อีทีเอฟคือกองทุนรวมที่ซื้อขายได้บนกระดานหุ้นเสมือนหุ้นตัวหนึ่ง) ธีมต่างๆให้เลือกมากมายกว่าหนึ่งพันอีทีเอฟทีเดียว ลุงสนใจลงทุนในประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ (emerging market) กับตลาดชายขอบ (frontier market) ซึ่่งอีทีเอฟในตลาดหุ้นอเมริกานี้น่าจะสามารถตอบโจทย์การลงทุนของลุงได้

ขออธิบายเกี่ยวกับตลาดเกิดใหม่และตลาดชายขอบสักหน่อย ตลาดเกิดใหม่ก็คือตลาดหุ้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น จีน อินเดีย ไทย เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ ส่วนตลาดชายขอบนั้นเป็นตลาดที่เกิดมาหลังจากตลาดเกิดใหม่เสียอีก ดังนั้นจึงมีระดับขั้นของการพัฒนาน้อยกว่าตลาดเกิดใหม่ แต่ก็มีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าตลาดเกิดใหม่ ตัวอย่างของตลาดชายขอบ เช่น เวียดนาม กัมพูชา เมียนมาร์ บังคลาเทศ ปากีสถาน อาร์เจนตินา ไนจีเรีย เคนยา มอรอกโค ฯลฯ

ลุงก็ไปลงทุนในตลาดหุ้นอเมริกาโดยซื้ออีทีเอฟเวียดนาม (VNM) อินโดนีเซีย (EIDO) และตลาดชายขอบ (FM) เริ่มลงทุนประมาณปลายปี 2013 หรือต้นปี 2014 ประมาณนี้แหละ อีทีเอฟเหล่านี้ซื้อขายเป็นเงินดอลลาร์ สรอ แต่ตัวกองทุนอีทีเอฟเองไปลงทุนประเทศใดก็ใช้เงินสกุลท้องถิ่นนั้นแล้วรับรู้ผลกำไรขาดทุนโดยแปลงเป็นสกุลดอลลาร์ สรอ อีกที

ผลการลงทุนเป็นไงน่ะหรือ ลุงจะเล่าให้ฟัง


ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนาม (VNINDEX สีส้ม) เทียบกับอีทีเอฟ VNM (สีเขียว) ช่วงที่ลุงแมวน้ำลงทุนนั้นตลาดไร้ทิศทาง รออยู่นานก็ไม่ไปไหน อีกทั้งยังขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน

ดูที่ตลาดหุ้นเวียดนามก่อน ตอนที่ลุงลงทุนใน VNM นั้นดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 400 กว่า ถึง 500 กว่าจุด วนเวียนอยู่แถวนั้น และหลังจากนั้นก็ยังวนเวียนอยู่แถวนั้นไม่ไปไหน อีกทั้งเงินด่องของเวียดนามอ่อนค่า ดังนั้นแม้ดัชนีจะขึ้นแต่หากคำนวณผลจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยแล้วก็ไม่คุ้ม ลุงแมวน้ำลงทุนอยู่ประมาณ 3 ไตรมาสก็เห็นว่าสู้กับปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนไม่ไหว จึงขายอีทีเอฟ VNM ออกไป โดยขาดทุนนิดหน่อย



ดัชนีตลาดหุ้นอินโดนีเซีย (Jakarta composite index สีส้ม) และอีทีเอฟ EIDO (สีเขียว) ช่วงที่ลุงแมวน้ำลงทุนตลาดเป็นขาขึ้นแต่ได้ผลตอบแทนน้อยเนื่องจากผลของอัตราแลกเปลี่ยน

มาดูตลาดหุ้นอินโดนีเซียกัน ตอนที่ลุงเข้าลงทุนใน EIDO นั้นตลาดหุ้นอินโดนีเซียเป็นขาขึ้นตลอด ถือว่าเป็นจังหวะที่ดี แต่ก็อีกนั่นแหละ เสียเปรียบเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนไปพอควร เนื่องจากเงินรูเปียะค่อนข้างผันผวน ถืออยู่ราวสามไตรมาส สุดท้ายก็คิดว่าขายดีกว่า ได้กำไรมาพอควร ดูเหมือนจะเกือบ 10% ดัชนีขึ้นเยอะแต่ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามดัชนีเพราะอัตราแลกเปลี่ยน


อีทีเอฟ FM ตัวโปรดของลุงแมวน้ำ เริ่มแรกก็สร้างผลตอบแทนที่ดี แต่สุดท้ายลืมดูไพักหนึ่ง เจอสงครามราคาน้ำมันดิบและอีโบลาระบาด หนีแทบไม่ทัน >.<

ตัวสุดท้าย อีทีเอฟตลาดเกิดใหม่ FM ตัวนี้เป็นตัวที่ลุงชอบมาก ไตรมาสเดียวก็ขึ้นไปราวๆ 20% แล้ว ตัวนี้ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเพราะลงทุนในหลายประเทศและหลายสกุลเงิน ในทางทฤษฎีถือว่าเป็น natural hedged คือความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนหักล้างกันเองจนเกือบหมด

ความผิดพลาดประการสำคัญของการลงทุนในต่างประเทศของลุงไม่ใช่เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเรื่องนั้นรู้อยู่แล้วว่าต้องเจอ แต่เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดูแล คือลุงอัปเดตราคาไม่ค่อยบ่อยนัก บางทียุ่งๆก็เว้นไม่ได้ดูไปหลายสัปดาห์

ในราวกลางปี 2014 ประมาณช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม แถวนั้นแหละ ที่ราคาน้ำมันดิบเริ่มดิ่งอย่างรวดเร็วเพราะโอเปกเริ่มสงครามตัดราคาน้ำมันดิบ และนอกจากนี้ ทางแอฟริกาหลายประเทศก็มีเชื้ออีโบลาระบาดเสียด้วย ทีนี้ FM ของลุงนี่มีทั้งคูเวต แอฟริกา อะไรต่ออะไรเต็มไปหมด ได้รับผลกระทบไปเยอะทีเดียว เพียงสองเดือน ราคา FM ก็ดิ่งอย่างรวดเร็ว ลุงเปิดจอมาดูอีกทีกำไรหายไปหมด เห็นท่าไม่ดีก็รีบขายออกไป

สรุปรวมงานนี้ได้แค่เท่าทุน กำไรนิดเดียวถือว่าเท่าทุนก็แล้วกัน นี่ยังไม่รวมผลจากเงินบาทอ่อนค่าในช่วงนั้น เพราะการรับรู้กำไรของลุงต้องแปลงดอลลาร์ สรอ เป็นบาทอีกทอดหนึ่ง ซึ่งลุงก็ป้องกันความเสี่ยงเอาไว้ด้วยการซื้อดอลลาร์ฟิวเจอร์ส นี่ว่ากันตามทฤษฎีเลย ซึ่งเท่าที่เล่ามานี้จะเห็นว่าเวลาทำงานจริงๆก็เรื่องเยอะหลายขั้นตอนอยู่ ทำเอาลุงมึนเหมือนกัน >.<

การลงทุนในต่างแดนของลุงก็ได้ผจญภัยหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนี่เป็นเรื่องสำคัญมาก

หลังจากอีทีเอฟชุดนี้แล้ว ลุงก็ยังให้ความสนใจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ตลาดชายขอบ รวมทั้งตลาดฟื้นไข้อันได้แก่ญี่ปุ่นกับยุโรปอีกด้วย เพราะตลาดเหล่านี้เป็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่งดงาม แต่การลงทุนในตลาดเหล่านี้ล้วนแต่ต้องระมัดระวังอัตราแลกเปลี่ยนทั้งสิ้น

ตลาดยุโรปลงทุนเป็นเงินยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนตัวมาก หากจะลงทุนต้องป้องกันความเสี่ยงเงินยูโร

ตลาดญี่ปุ่นลงทุนเป็นเงินเยน  ค่าเงินเยนอ่อนตัวมากเช่นกัน หากจะลงทุนต้องป้องกันความเสี่ยงเงินเยน

ดังนั้นจะเห็นว่าหากเป็นนักลงทุนส่วนบุคคล เราคงลงทุนหลายตลาดหลายสกุลเงินไม่ไหวหรอก ลุงก็คิดว่าตนเองดูแลไม่ไหว ดังนั้นต้องเลือกการลงทุนเพียงสกุลเงินเดียวจะสะดวกในการดูแลมากกว่า

ถ้าเช่นนั้นจะลงทุนในตลาดไหนดีละที่สร้างผลตอบแทนได้ดี อีกทั้งปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนน้อย???


มุ่งสู่ตลาดฮ่องกง


พิจารณาดูแล้วตลาดหุ้นฮ่องกงนี่แหละตอบโจทย์ที่สุด ลุงคิดว่าดีกว่าตลาดอเมริกาเสียอีก เพราะในช่วงปีที่แล้วตลาดหุ้นจีนฟื้นตัวแล้ว ส่วนตลาดฮ่องกงยังไร้ทิศทางอยู่ คือโมเมนตัมมาทางตลาดหุ้นจีนกันหมด ไม่ค่อยมีใครสนใจตลาดหุ้นฮ่องกง ทั้งๆที่ตลาดหุ้นฮ่องกงนั้นถูกแสนถูก อีกทั้งหุ้นที่เป็นดูอัลลิสต์ (dual list คือหุ้นที่จดทะเบียนทั้งในตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกง) พวกหุ้นที่จดทะเบียนสองตลาดนี้ หุ้นที่เทรดในตลาดหุ้นจีน (ที่เรียกว่า A-share) มีราคาแพงกว่าหุ้นเดียวกันที่จดในตลาดฮ่องกง (ที่เรียกว่า H-share) พูดง่ายๆคือหุ้น H-share ถูกกว่า A-share ทั้งๆที่เป็นหุ้นเดียวกัน H-share บางตัวถูกกว่า A-share ถึง 30% หรือ 40% ก็มี ในทางทฤษฎี ในที่สุดราคาของสองตลาดนี้จะลู่เข้าหากัน แปลว่าสักวันหนึ่งราคาหุ้น H-share จะวิ่งขึ้นไปหาราคาหุ้น A-share


ปี 2014 ตลาดหุ้นจีน (สีส้ม) เป็นขาขึ้น ส่วนตลาดหุ้นฮ่องกง (เส้นสีเขียว) ไม่ไปไหน ในทางทฤษฎี สักวันตลาดฮ่องกงจะต้องขึ้นตามตลาดหุ้นจีน

และนอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฮ่องตรึงกับเงินดอลลาร์ สรอ อัตราแลกเปลี่ยนนิ่งมาก หมดกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนได้เลย ดูแลแค่ด้าน บาท-ดอลลาร์ สรอ เพียงขาเดียวเท่านั้น

ลุงก็จัดแจงแปลงเงินดอลลาร์ สรอ เป็นดอลลาร์ ฮ่องกงแล้วเข้าลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงโดยไม่รอช้า ^_^


Monday, April 13, 2015

สุขสันต์วันสงกรานต์ เข้าสู่ปีที่ 7 การลงทุนของลุงแมวน้ำ (1)




เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก พริบตาเดียวก็ผ่านไป 6 ปี  ลุงแมวน้ำเริ่มทำเว็บบล็อกนี้มาตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ของปี 2009 มาจนถึงวันนี้ สงกรานต์ 2015 เวลาได้เวียนมาบรรจบครบ 6 ปีแล้ว นับว่าเป็นเวลาที่นานพอดูทีเดียว... นานจนลุงแมวน้ำเองก็นึกไม่ถึงว่าจะทำเว็บบล็อกด้านการลงทุนได้นานขนาดนี้ ^_^

เดิมทีลุงแมวน้ำคิดจะทำเล่นๆ ทำเพราะอยากทำ อยากบอกอยากเล่าเรื่องการลงทุนในมุมมองของลุงแมวน้ำ ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น เหนื่อยก็จะเลิก แต่ตลอดเวลา 6 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าบางช่วงจะเหนื่อย จะล้า คิดเลิกทำอยู่หลายครั้งเหมือนกัน แต่ในที่สุดก็ไม่ได้เลิกทำ จึงได้ทำมาจนมาถึงทุกวันนี้

พูดเรื่องแฟนคลับของลุงแมวน้ำกันสักนิด แฟนคลับตามสถิติของเฟซบุ๊ก ณ ตอนนี้มีอยู่ 3,145 คน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทย ผู้อ่านที่ติดตามอ่านจากต่างประเทศก็มีบ้างจากหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา สวีเดน เยอรมนี เม็กซิโก บราซิล ตุรกี บางประเทศลุงก็นึกไม่ถึงเหมือนกันว่ามาอ่านได้ยังไงเนี่ย ส่วนแฟนคลับที่อยู่ในย่านนี้ก็มี สปป ลาว สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น กัมพูชา เมียนมาร์ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ฯลฯ

ผู้อ่านที่ติดตามอ่านบทความของลุงนั้นเป็นชายราว 60% และเป็นหญิง 40% โดยมีกลุ่มอายุกระจายกันไป เรียกว่าแฟนคลับของลุงแมวน้ำมีทุกเพศทุกวัย ก็แน่ละ ขวัญใจมหาชนก็ต้องแบบนี้ ^_^

แต่ที่น่าสังเกตคือกลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไปนั้นมีราว 15%-20% ของแฟนคลับทั้งหมดทีเดียว รุ่นบูมเมอร์กับเจนเอ็กซ์มีพอสมควร และที่น่าสังเกตอีกเรื่องก็คือ นี่ขนาดลุงชอบเล่าเรื่องเก่าๆแก่ๆก็ยังมีแฟนคลับหนุ่มสาวอ่านอยู่ไม่น้อย แสดงว่าหนุ่มๆสาวๆก็ยังไม่เบื่อลุงกัน (มั้ง) นี่แหละที่เป็นกำลังใจให้ลุงเขียนอะไรต่ออะไรออกมาเรื่อยๆ

แนวทางการเขียนของลุงแมวน้ำนั้นเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ธีมการเขียนขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าในแต่ละปีมีเรื่องใดที่น่าสนใจ ปรับปรุงรูปโฉมเว็บบล็อกมาก็หลายครั้งเพื่อไม่ให้จำเจ การตกแต่งบ้าน (เว็บบล็อก) ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ก็เพิ่งทำไปเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้คงยังใช้เช่นนี้อยู่เพราะดูไปแล้วก็ยังดีอยู่

ส่วนธีมการลงทุนที่ลุงยึดเมื่อปีที่แล้วเป็นแนวทางการลงทุนแบบองค์รวม คือชีวิตกับการลงทุนเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่ได้มีแต่เพียงเรื่องราวเกี่ยวกับการลงทุนเท่านั้น แต่ลุงแมวน้ำยังเขียนเรื่องราวอื่นๆที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิต การมองชีวิต ในทัศนะของลุงแมวน้ำให้อ่านกันด้วย

ด้านการลงทุนนั้นลุงแมวน้ำจับประเด็นที่หุ้น กองทุนรวม กับอีทีเอฟ โดยเน้นที่หุ้นมากหน่อย รวมทั้งยังใช้ธีมโกอินเตอร์ คือพาพวกเราออกไปดูลงทุนในต่างประเทศด้วย แต่ก็ยังเขียนเรื่องการลงทุนต่างประเทศไม่มากนัก

นั่นก็เป็นเรื่องราวที่ผ่านมาและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

สำหรับก้าวต่อไปในปีที่ 7 นี้ถือเป็นการพลิกโฉมของบล็อกลุงแมวน้ำอีกครั้งหนึ่ง เพราะแนวโน้มการลงทุนในโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและรวดเร็ว... การเปลี่ยนแปลงนั้นมากมายและรวดเร็วจนลุงแมวน้ำเองก็นึกไม่ถึง จะมีอะไรใหม่ๆมาให้อ่านและลงทุนกันบ้าง เรามาดูกัน


ธีมปีที่ 7 ทะยานสู่พรมแดนใหม่


ธีมการลงทุนในปีที่ 7 นี้ลุงแมวน้ำใช้หัวข้อว่า "ทะยานสู่พรมแดนใหม่" หรือ Toward a New Frontier ซึ่งที่จริงลุงแมวน้ำก็เริ่มเขียนมาบ้างแล้ว โดยเริ่มเขียนบทความในชุดนี้ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2015 เนื่องจากวิถีชีวิตในยุคเทคโนโลยีก้าวกระโดดนี้เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก รวมทั้งสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากเช่นเดียวกัน ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ มีการแก้ปัญหาแบบนอกตำราเศรษฐศาสตร์ด้วยนำเงินในอนาคตมาใช้ในปัจจุบันอย่างมากมายในรูปแบบที่เราเรียกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน

เดิมทีมีชาติที่ทำคิวอีเป็นล่ำเป็นสันอยู่ชาติเดียวคือสหรัฐอเมริกา แต่ต่อมาญี่ปุ่นและเขตเศรษฐกิจยูโรโซนก็ทำบ้าง ทำให้เงินตราที่ล้นโลกอยู่แล้วล้นมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดโอกาสและความเสี่ยงในรูปแบบใหม่ที่ในอดีตไม่เคยเผชิญมาก่อน ดังนั้นอนาคตนับจากนี้จึงยากคาดเดา เปรียบเสมือนกับว่าเราก้าวเข้าสู่พรมแดนใหม่ สู่ขอบเขตที่เราไม่เคยไปถึงมาก่อน มันอาจเป็นน่านน้ำอันอุดมสมบูรณ์ แต่ก็อาจแฝงภยันตรายที่เราไม่เคยเผชิญมาก่อน... ดังนั้น ลุงแมวน้ำจึงนำธีมนี้มานำเสนอ พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันในปีที่ 7 นี้

และปีนี้ลุงจะคุยเรื่องการลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้น เนื่องจากโลกในยุคปัจจุบันเชื่อมโยงถึงกันใกล้ชิดเข้าไปทุกที เราคงไม่สามารถปิดตัวเองอยู่แต่การลงทุนในท้องถิ่นได้ รวมทั้งในภาคเศรษฐกิจจริงก็เช่นเดียวกัน โลกทุกวันนี้แทบจะไร้พรมแดนอยู่แล้ว สินค้า เงินทุน แรงงาน เคลื่อนย้ายไปได้โดยสะดวก การแข่งขันในรูปแบบใหม่ๆเกิดขึ้น ด้วยกฎกติกาของโลกยุคใหม่ทำให้ธุรกิจท้องถิ่นต้องแข่งขันกับธุรกิจข้ามชาติด้วย ไม่ว่าเราจะอยากแข่งหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าเราจะพร้อมแข่งหรือไม่ก็ตาม นี่เป็นเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้

ลุงแมวน้ำได้นำเสนอบทความในชุด ทะยานสู่พรมแดนใหม่ ไปบ้างแล้ว หลายคนอาจสังเกตพบว่าบทความชุดนี้พลิกโฉมไปจากเดิมมาก ทั้งแนวคิดและวิธีการ มีการนำแนวคิดทางด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคมาผสมกับปัจจัยพื้นฐาน (เช่นในเรื่องหุ้นพีอีสูง หุ้นพีอีต่ำ) มีการเชื่อมโยงแนวคิดจากกฎธรรมชาติมาสู่แนวคิดในการลงทุน (เช่น เรื่องวัฏจักรชีวิตและวัฏจักรเศรษฐกิจ หมู่เกาะกาลาปาโกสกับทฤษฎีวิวัฒนาการ) เพราะโลกในยุคใหม่ไม่เหมือนเดิม ดังนั้นเราอาจใช้วิธีคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องมีมุมมองใหม่ๆบ้าง

ในวันถัดไป เรามาคุยกันต่อ ลุงแมวน้ำจะอัปเดตการลงทุนของลุงแมวน้ำในรอบปีที่ผ่านมาให้ฟัง ทั้งการลงทุนในไทยและการลงทุนในต่างประเทศ ลุงตระเวนลงทุนในหลายประเทศแต่ยังไม่เคยเล่า กับโครงการทำธุรกิจเพื่อสังคม กองทุนสงเคราะห์ชีวิตที่ด้อยโอกาสของลุงแมวน้ำคร้าบ