Wednesday, April 15, 2015

ธุรกิจเพื่อสังคม กองทุนสงเคราะห์ของลุงแมวน้ำ







บทความในวันนี้เขียนต่อจากเมื่อวาน ที่จริงน่าจะนับเป็นตอนที่ 3 แต่เนื่องจากอาจจะทำให้บทความดูยาวไป ไม่น่าอ่าน จึงขอตัดตอน เปลี่ยนหัวเรื่องเอาดื้อๆเลย แต่ที่จริงเนื้อหาก็ต่อเนื่องกันนั่นแหละ คือการอัปเดตผลงานในรอบปีที่ผ่านมาของลุงแมวน้ำ ^_^


การลงทุนในตลาดฮ่องกงของลุงแมวน้ำ


มาคุยกันเรื่องการลงทุนในตลาดฮ่องกงกันต่อ

ลุงแมวน้ำคิดว่าตลาดหุ้นฮ่องกงมีข้อดีหลายอย่าง อัตราแลกเปลี่ยนก็นิ่ง ตลาดหุ้นมีพีอีต่ำ หุ้นถูกๆยังมีอยู่มาก เพราะนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่กลัวว่าเศรษฐกิจจีนจะเกิดวิกฤตอันเนื่องจากจีนเร่งเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจต่อเนื่องกันมานานนับสิบปี ก็เกรงกันว่าเครื่องยนต์จะพัง ฟองสบู่ของภาคการเงินและตลาดอสังหาริมทรัพย์จะแตก ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงจึงร่วงติดต่อกันมาหลายปีแล้ว

แต่สำหรับประเด็นนี้ลุงไม่ค่อยกลัว เพราะเท่าที่ลุงติดตามเศรษฐกิจจีนมาหลายปี ลุงเห็นว่าฟื้นตัวได้และตลาดหุ้นจีนก็ส่งสัญญาณฟื้นตัวแล้ว ลุงจึงเข้าไปลงทุนในราวไตรมาสสามของปี 2014 ซึ่งตอนนั้นตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ในแผ่นดินใหญ่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว แต่ในขณะเดียวกันฮ่องกงเกิดความไม่สงบทางการเมือง กลุ่มคนหนุ่มสาวเรียกร้องสิทธิทางการเมือง ที่เรียกว่าเหตุการณ์ Occupy Central นั่นเอง ตอนนั้นตลาดหุ้นฮ่องกงได้รับผลกระทบไปไม่น้อย ดังนั้นไม่ได้ฟื้นตัวตามตลาดเซี่ยงไฮ้ แต่ก็ถือเป็นโอกาสดีสำหรับการลงทุนของลุง


เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง Occupy Central ในฮ่องกงเมื่อปี 2014

ตลาดหุ้นฮ่องกงยังมีข้อดีอีกหลายอย่าง เช่น ไม่เสียภาษีกำไรจากการขายหุ้น (capital gain tax) รวมทั้งเงินปันผลจากหุ้นที่ได้รับก็ไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายอีกด้วย ภาษีเหล่านี้เป็นต้นทุนของนักลงทุนทั้งสิ้น นอกจากนี้ข้อมูลราคาหุ้น งบการเงิน อัตราส่วนทางการเงิน รายละเอียดต่างๆสามารถหาดูได้ง่ายและเป็นภาษาอังกฤษด้วย (ในบางประเทศข้อมูลส่วนใหญ่เป็นภาษาท้องถิ่น)

ลุงแมวน้ำก็เข้าไปลงทุนในหุ้นกลุ่มบริษัทยาและไบโอเทค เนื่องจากจีนมีการปฏิรูประบบสาธารณสุข อีกทั้งชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หุ้นบริษัทยาของจีนเติบโตดี มีหุ้นถูกให้เลือกมากพอควร ก็เลือกซื้อไปหลายบริษัท ตอนที่สถานการณ์ทางการเมืองดุเดือด หุ้นฮ่องกงของลุงหล่นไป -20% แต่ลุงก็เฉยๆ ตอนนี้กลับมาทำกำไรแล้ว ได้ผลตอบแทนประมาณ 40%-50% ยังไม่ได้ขายเพราะคิดว่ายังไปต่อได้อีก แต่ถ้าขึ้นเยอะๆลุงก็ขายนะ เปลี่ยนไปตัวอื่นแทน ^_^

หุ้นกลุ่มยาและไบโอเทคของลุงหากเทียบกับหุ้นยอดนิยมอย่างเช่น CITIC Bank ลุงได้ผลตอบแทนดีกว่านิดหน่อย แต่หากไปเทียบกับ TENCENT ก็ยังสู้ tencent ไม่ได้ แต่ไม่เป็นไร ได้แค่ไหนก็แค่นั้นแหละ

นี่ก็คือการลงทุนในต่างแดนของลุงแมวน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตทั้งหมด การลงทุนหลักของลุงยังอยู่ในเมืองไทยเนื่องจากลุงเห็นว่ายังมีหุ้นไทยที่ดีราคาถูก มีโอกาสเติบโต ยังมีให้เลือกอยู่พอควร


กองทุนสงเคราะห์ของลุงแมวน้ำ


ทีนี้ก็มาถึงเรื่องสุดท้ายที่ลุงอยากจะเล่า ซึ่งเรื่องนี้มีความหมายกับลุงมากกว่าตัวเลขกำไรสวยๆจากตลาดหุ้นเสียอีก

เท้าความไปถึงเมื่อก่อน ลุงมีความฝันอยากทำธุรกิจเพื่อสังคมมานานแล้ว อยากทำธุรกิจที่มีส่วนช่วยพัฒนาสังคม และนำผลกำไรมาทำกองทุนเพื่อสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาส และก็มีโอกาสได้ทำธุรกิจเมื่อหลายปีมาแล้ว โดยทำควบคู่ไปกับงานหลักคือการแสดงละครสัตว์ แต่ก็เป็นงานเหนื่อยมาก การทำกิจการนั้นต้องทำงานกันเป็นทีม ก็ต้องมีพนักงาน แต่ปัจจุบันพนักงานหายากเหลือเกิน เมื่อเฟืองไม่ครบ เครื่องยนต์ก็เดินสะดุด กิจการงานก็ไม่ราบรื่น การตลาดก็สะดุด ผลตอบแทนก็ไม่ดี เมื่อผลตอบแทนไม่ค่อยดีก็ยิ่งไม่มีใครอยากทำงานด้วย ก็เป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อย ผลก็คือทำแล้วก็เหนื่อยมาก เงินก็ไม่ค่อยได้ พอเหนื่อยก็ยิ่งคิดอะไรไม่ออก >.<

เมื่อกิจการไม่ค่อยดี เรื่องกองทุนสงเคราะห์ก็ขยายได้ยาก เรื่องกองทุนนั้นที่จริงลุงก็ทำมาเรื่อยๆตั้งแต่สมัยยังหนุ่มๆ แต่ว่าวงเงินของกองทุนมีจำกัด ลุงคิดว่าเมื่อทำธุรกิจเพื่อสังคมน่าจะได้มีส่วนช่วยขยายเงินกองทุนได้ แต่ก็ไม่เป็นดังที่คิด

ชีวิตก็ต้องดิ้นรนกันไป ไม่ได้ทางหนึ่งก็ต้องไปหาทางอื่น ในช่วงหลังกิจการเพื่อสังคมของลุงแมวน้ำจึงลดรูปลงมา ไม่ได้ทำธุรกิจอะไรเอง แต่กลายเป็นโฮลดิงคอมพานี (holding company) ที่มีลุงแมวน้ำเป็นเจ้าของแทน นี่พูดแบบฟังหรูๆ พูดง่ายๆก็คือแทนที่ลุงจะทำธุรกิจจริงๆซึ่งต้องการทีมงานจำนวนมาก ลุงก็เลิก และหันมาขยายการลงทุนตลาดหุ้นแทน ไม่มีทีมงานอะไร ลุงก็ทำของลุงไปเรื่อย เหนื่อยก็พัก ไม่ต้องทำบัญชี กำไรจากการขายหุ้นไม่ต้องเสียภาษี อีกทั้งยังไปเอาเครดิตภาษีมาอีก ชีวิตก็เหนื่อยน้อยลงนิดหน่อย แค่น้อยลงนิดหน่อยนะ ไม่ได้มาก เพราะต้องบริหารกองทุนสงเคราะห์

ที่จริงการทำงานเป็นทีมเป็นเรื่องที่ดีและควรฝึกกันไว้ให้ทำให้ได้ เพราะโลกในปัจจุบันเราจะทำอะไรแบบหัวเดียวกระเทียมลีบจะโตไม่ได้ แต่ลุงพบข้อจำกัดหาทีมงานได้ยากก็จนใจ นี่เป็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดเฉพาะตัวของลุง แต่ก็ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง

ลุงเล่าเท้าความเรื่องเก่าๆไปไกลหน่อยเพื่อปูพื้น เกรงว่าจะงงกัน สรุปว่าในปี 2014 ลุงแมวน้ำสร้างผลตอบแทนในตลาดหุ้นไทยได้ดีกว่าความคาดหมาย ในวิกฤตก็มีโอกาส ตอนนี้กองทุนสงเคราะห์ของลุงขยายตัวเป็นระดับเลขเจ็ดหลักต่อปี ลุงสงเคราะห์ผู้พิการ ให้ทุนการศึกษาเยาวชน ช่วยเหลือสัตว์จรจัด ทำหมันสัตว์จรจัดเพื่อตัดวงจรการขยายพันธุ์ ก็ทำเท่าที่มีแรงทำไหว แต่ดูเหมือนว่าชีวิตที่รอความช่วยเหลือมีมากเหลือเกิน ก็อยากทำให้ได้ดีกว่านี้อีกสักหน่อย


ทั้งหมดนี้ก็เป็นการอัปเดตในรอบปีที่ผ่านมา เขียนโน่นเขียนนี่ คุยกันวันหยุด เมื่อตลาดเปิดแล้ว เราก็มาคุยเรื่องการลงทุนกันต่อคร้าบ

Tuesday, April 14, 2015

สุขสันต์วันสงกรานต์ เข้าสู่ปีที่ 7 การลงทุนของลุงแมวน้ำ (2)



ลุงแมวน้ำโกอินเตอร์ ลงทุนในต่างประเทศ


ลุงแมวน้ำออกไปลงทุนในต่างประเทศตั้งแต่ปี 2013 เรียกได้ว่าเป็นรุ่นแรกๆที่ออกไปตามลงทุนตามระบบ ต้องขอขยายความเรื่องนี้สักหน่อยเมื่อก่อนหน้านี้การลงทุนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือฟิวเจอร์สค่อนข้างยุ่งยาก คือเราต้องไปเปิดพอร์ต (เปิดบัญชีซื้อขาย) กับโบรกเกอร์ในต่างประเทศเอง และต้องโอนเงินในการเทรดตามกฎกติกาของโบรกเกอร์นั้น ซึ่งโบรกเกอร์ในต่างประเทศนั้นมีมากมาย ด้านความน่าเชื่อถือของโบรกเกอร์เป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนต้องรับความเสี่ยงเอาเอง

ต่อมาเมื่อ ธปท ผ่อนคลายกฎเรื่องการนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้ง กลต ได้อนุญาตให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนในต่างประเทศได้โดยผ่านโบรกเกอร์ไทย ทำให้นักลงทุนรายย่อยสามารถลงทุนซื้อหุ้นหรือฟิวเจอร์สได้โดยผ่านทางโบกรกเกอร์ไทย ทำให้การลงทุนสะดวกและอุ่นใจขึ้นมาก เพราะโบรกเกอร์ไทยนั้น กลต ควบคุมอยู่ ไม่ต้องกลัวโดนโกง เมื่อระบบต่างๆพร้อม ลุงแมวน้ำจึงออกไปลงทุนบ้าง


ไปตลาดอเมริกาเพื่อโยงไปสู่การลงทุนตลาดชายขอบ (Frontier Market)


ตลาดหุ้นต่างประเทศแห่งแรกที่ลุงออกไปลงทุนก็คือตลาดหุ้นอเมริกา เหตุที่ไปตลาดอเมริกาเพราะที่นั่นมีอีทีเอฟ (อีทีเอฟคือกองทุนรวมที่ซื้อขายได้บนกระดานหุ้นเสมือนหุ้นตัวหนึ่ง) ธีมต่างๆให้เลือกมากมายกว่าหนึ่งพันอีทีเอฟทีเดียว ลุงสนใจลงทุนในประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ (emerging market) กับตลาดชายขอบ (frontier market) ซึ่่งอีทีเอฟในตลาดหุ้นอเมริกานี้น่าจะสามารถตอบโจทย์การลงทุนของลุงได้

ขออธิบายเกี่ยวกับตลาดเกิดใหม่และตลาดชายขอบสักหน่อย ตลาดเกิดใหม่ก็คือตลาดหุ้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น จีน อินเดีย ไทย เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ ส่วนตลาดชายขอบนั้นเป็นตลาดที่เกิดมาหลังจากตลาดเกิดใหม่เสียอีก ดังนั้นจึงมีระดับขั้นของการพัฒนาน้อยกว่าตลาดเกิดใหม่ แต่ก็มีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าตลาดเกิดใหม่ ตัวอย่างของตลาดชายขอบ เช่น เวียดนาม กัมพูชา เมียนมาร์ บังคลาเทศ ปากีสถาน อาร์เจนตินา ไนจีเรีย เคนยา มอรอกโค ฯลฯ

ลุงก็ไปลงทุนในตลาดหุ้นอเมริกาโดยซื้ออีทีเอฟเวียดนาม (VNM) อินโดนีเซีย (EIDO) และตลาดชายขอบ (FM) เริ่มลงทุนประมาณปลายปี 2013 หรือต้นปี 2014 ประมาณนี้แหละ อีทีเอฟเหล่านี้ซื้อขายเป็นเงินดอลลาร์ สรอ แต่ตัวกองทุนอีทีเอฟเองไปลงทุนประเทศใดก็ใช้เงินสกุลท้องถิ่นนั้นแล้วรับรู้ผลกำไรขาดทุนโดยแปลงเป็นสกุลดอลลาร์ สรอ อีกที

ผลการลงทุนเป็นไงน่ะหรือ ลุงจะเล่าให้ฟัง


ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนาม (VNINDEX สีส้ม) เทียบกับอีทีเอฟ VNM (สีเขียว) ช่วงที่ลุงแมวน้ำลงทุนนั้นตลาดไร้ทิศทาง รออยู่นานก็ไม่ไปไหน อีกทั้งยังขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน

ดูที่ตลาดหุ้นเวียดนามก่อน ตอนที่ลุงลงทุนใน VNM นั้นดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 400 กว่า ถึง 500 กว่าจุด วนเวียนอยู่แถวนั้น และหลังจากนั้นก็ยังวนเวียนอยู่แถวนั้นไม่ไปไหน อีกทั้งเงินด่องของเวียดนามอ่อนค่า ดังนั้นแม้ดัชนีจะขึ้นแต่หากคำนวณผลจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยแล้วก็ไม่คุ้ม ลุงแมวน้ำลงทุนอยู่ประมาณ 3 ไตรมาสก็เห็นว่าสู้กับปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนไม่ไหว จึงขายอีทีเอฟ VNM ออกไป โดยขาดทุนนิดหน่อย



ดัชนีตลาดหุ้นอินโดนีเซีย (Jakarta composite index สีส้ม) และอีทีเอฟ EIDO (สีเขียว) ช่วงที่ลุงแมวน้ำลงทุนตลาดเป็นขาขึ้นแต่ได้ผลตอบแทนน้อยเนื่องจากผลของอัตราแลกเปลี่ยน

มาดูตลาดหุ้นอินโดนีเซียกัน ตอนที่ลุงเข้าลงทุนใน EIDO นั้นตลาดหุ้นอินโดนีเซียเป็นขาขึ้นตลอด ถือว่าเป็นจังหวะที่ดี แต่ก็อีกนั่นแหละ เสียเปรียบเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนไปพอควร เนื่องจากเงินรูเปียะค่อนข้างผันผวน ถืออยู่ราวสามไตรมาส สุดท้ายก็คิดว่าขายดีกว่า ได้กำไรมาพอควร ดูเหมือนจะเกือบ 10% ดัชนีขึ้นเยอะแต่ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามดัชนีเพราะอัตราแลกเปลี่ยน


อีทีเอฟ FM ตัวโปรดของลุงแมวน้ำ เริ่มแรกก็สร้างผลตอบแทนที่ดี แต่สุดท้ายลืมดูไพักหนึ่ง เจอสงครามราคาน้ำมันดิบและอีโบลาระบาด หนีแทบไม่ทัน >.<

ตัวสุดท้าย อีทีเอฟตลาดเกิดใหม่ FM ตัวนี้เป็นตัวที่ลุงชอบมาก ไตรมาสเดียวก็ขึ้นไปราวๆ 20% แล้ว ตัวนี้ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเพราะลงทุนในหลายประเทศและหลายสกุลเงิน ในทางทฤษฎีถือว่าเป็น natural hedged คือความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนหักล้างกันเองจนเกือบหมด

ความผิดพลาดประการสำคัญของการลงทุนในต่างประเทศของลุงไม่ใช่เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเรื่องนั้นรู้อยู่แล้วว่าต้องเจอ แต่เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดูแล คือลุงอัปเดตราคาไม่ค่อยบ่อยนัก บางทียุ่งๆก็เว้นไม่ได้ดูไปหลายสัปดาห์

ในราวกลางปี 2014 ประมาณช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม แถวนั้นแหละ ที่ราคาน้ำมันดิบเริ่มดิ่งอย่างรวดเร็วเพราะโอเปกเริ่มสงครามตัดราคาน้ำมันดิบ และนอกจากนี้ ทางแอฟริกาหลายประเทศก็มีเชื้ออีโบลาระบาดเสียด้วย ทีนี้ FM ของลุงนี่มีทั้งคูเวต แอฟริกา อะไรต่ออะไรเต็มไปหมด ได้รับผลกระทบไปเยอะทีเดียว เพียงสองเดือน ราคา FM ก็ดิ่งอย่างรวดเร็ว ลุงเปิดจอมาดูอีกทีกำไรหายไปหมด เห็นท่าไม่ดีก็รีบขายออกไป

สรุปรวมงานนี้ได้แค่เท่าทุน กำไรนิดเดียวถือว่าเท่าทุนก็แล้วกัน นี่ยังไม่รวมผลจากเงินบาทอ่อนค่าในช่วงนั้น เพราะการรับรู้กำไรของลุงต้องแปลงดอลลาร์ สรอ เป็นบาทอีกทอดหนึ่ง ซึ่งลุงก็ป้องกันความเสี่ยงเอาไว้ด้วยการซื้อดอลลาร์ฟิวเจอร์ส นี่ว่ากันตามทฤษฎีเลย ซึ่งเท่าที่เล่ามานี้จะเห็นว่าเวลาทำงานจริงๆก็เรื่องเยอะหลายขั้นตอนอยู่ ทำเอาลุงมึนเหมือนกัน >.<

การลงทุนในต่างแดนของลุงก็ได้ผจญภัยหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนี่เป็นเรื่องสำคัญมาก

หลังจากอีทีเอฟชุดนี้แล้ว ลุงก็ยังให้ความสนใจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ตลาดชายขอบ รวมทั้งตลาดฟื้นไข้อันได้แก่ญี่ปุ่นกับยุโรปอีกด้วย เพราะตลาดเหล่านี้เป็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่งดงาม แต่การลงทุนในตลาดเหล่านี้ล้วนแต่ต้องระมัดระวังอัตราแลกเปลี่ยนทั้งสิ้น

ตลาดยุโรปลงทุนเป็นเงินยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนตัวมาก หากจะลงทุนต้องป้องกันความเสี่ยงเงินยูโร

ตลาดญี่ปุ่นลงทุนเป็นเงินเยน  ค่าเงินเยนอ่อนตัวมากเช่นกัน หากจะลงทุนต้องป้องกันความเสี่ยงเงินเยน

ดังนั้นจะเห็นว่าหากเป็นนักลงทุนส่วนบุคคล เราคงลงทุนหลายตลาดหลายสกุลเงินไม่ไหวหรอก ลุงก็คิดว่าตนเองดูแลไม่ไหว ดังนั้นต้องเลือกการลงทุนเพียงสกุลเงินเดียวจะสะดวกในการดูแลมากกว่า

ถ้าเช่นนั้นจะลงทุนในตลาดไหนดีละที่สร้างผลตอบแทนได้ดี อีกทั้งปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนน้อย???


มุ่งสู่ตลาดฮ่องกง


พิจารณาดูแล้วตลาดหุ้นฮ่องกงนี่แหละตอบโจทย์ที่สุด ลุงคิดว่าดีกว่าตลาดอเมริกาเสียอีก เพราะในช่วงปีที่แล้วตลาดหุ้นจีนฟื้นตัวแล้ว ส่วนตลาดฮ่องกงยังไร้ทิศทางอยู่ คือโมเมนตัมมาทางตลาดหุ้นจีนกันหมด ไม่ค่อยมีใครสนใจตลาดหุ้นฮ่องกง ทั้งๆที่ตลาดหุ้นฮ่องกงนั้นถูกแสนถูก อีกทั้งหุ้นที่เป็นดูอัลลิสต์ (dual list คือหุ้นที่จดทะเบียนทั้งในตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกง) พวกหุ้นที่จดทะเบียนสองตลาดนี้ หุ้นที่เทรดในตลาดหุ้นจีน (ที่เรียกว่า A-share) มีราคาแพงกว่าหุ้นเดียวกันที่จดในตลาดฮ่องกง (ที่เรียกว่า H-share) พูดง่ายๆคือหุ้น H-share ถูกกว่า A-share ทั้งๆที่เป็นหุ้นเดียวกัน H-share บางตัวถูกกว่า A-share ถึง 30% หรือ 40% ก็มี ในทางทฤษฎี ในที่สุดราคาของสองตลาดนี้จะลู่เข้าหากัน แปลว่าสักวันหนึ่งราคาหุ้น H-share จะวิ่งขึ้นไปหาราคาหุ้น A-share


ปี 2014 ตลาดหุ้นจีน (สีส้ม) เป็นขาขึ้น ส่วนตลาดหุ้นฮ่องกง (เส้นสีเขียว) ไม่ไปไหน ในทางทฤษฎี สักวันตลาดฮ่องกงจะต้องขึ้นตามตลาดหุ้นจีน

และนอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฮ่องตรึงกับเงินดอลลาร์ สรอ อัตราแลกเปลี่ยนนิ่งมาก หมดกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนได้เลย ดูแลแค่ด้าน บาท-ดอลลาร์ สรอ เพียงขาเดียวเท่านั้น

ลุงก็จัดแจงแปลงเงินดอลลาร์ สรอ เป็นดอลลาร์ ฮ่องกงแล้วเข้าลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงโดยไม่รอช้า ^_^


Monday, April 13, 2015

สุขสันต์วันสงกรานต์ เข้าสู่ปีที่ 7 การลงทุนของลุงแมวน้ำ (1)




เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก พริบตาเดียวก็ผ่านไป 6 ปี  ลุงแมวน้ำเริ่มทำเว็บบล็อกนี้มาตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ของปี 2009 มาจนถึงวันนี้ สงกรานต์ 2015 เวลาได้เวียนมาบรรจบครบ 6 ปีแล้ว นับว่าเป็นเวลาที่นานพอดูทีเดียว... นานจนลุงแมวน้ำเองก็นึกไม่ถึงว่าจะทำเว็บบล็อกด้านการลงทุนได้นานขนาดนี้ ^_^

เดิมทีลุงแมวน้ำคิดจะทำเล่นๆ ทำเพราะอยากทำ อยากบอกอยากเล่าเรื่องการลงทุนในมุมมองของลุงแมวน้ำ ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น เหนื่อยก็จะเลิก แต่ตลอดเวลา 6 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าบางช่วงจะเหนื่อย จะล้า คิดเลิกทำอยู่หลายครั้งเหมือนกัน แต่ในที่สุดก็ไม่ได้เลิกทำ จึงได้ทำมาจนมาถึงทุกวันนี้

พูดเรื่องแฟนคลับของลุงแมวน้ำกันสักนิด แฟนคลับตามสถิติของเฟซบุ๊ก ณ ตอนนี้มีอยู่ 3,145 คน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทย ผู้อ่านที่ติดตามอ่านจากต่างประเทศก็มีบ้างจากหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา สวีเดน เยอรมนี เม็กซิโก บราซิล ตุรกี บางประเทศลุงก็นึกไม่ถึงเหมือนกันว่ามาอ่านได้ยังไงเนี่ย ส่วนแฟนคลับที่อยู่ในย่านนี้ก็มี สปป ลาว สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น กัมพูชา เมียนมาร์ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ฯลฯ

ผู้อ่านที่ติดตามอ่านบทความของลุงนั้นเป็นชายราว 60% และเป็นหญิง 40% โดยมีกลุ่มอายุกระจายกันไป เรียกว่าแฟนคลับของลุงแมวน้ำมีทุกเพศทุกวัย ก็แน่ละ ขวัญใจมหาชนก็ต้องแบบนี้ ^_^

แต่ที่น่าสังเกตคือกลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไปนั้นมีราว 15%-20% ของแฟนคลับทั้งหมดทีเดียว รุ่นบูมเมอร์กับเจนเอ็กซ์มีพอสมควร และที่น่าสังเกตอีกเรื่องก็คือ นี่ขนาดลุงชอบเล่าเรื่องเก่าๆแก่ๆก็ยังมีแฟนคลับหนุ่มสาวอ่านอยู่ไม่น้อย แสดงว่าหนุ่มๆสาวๆก็ยังไม่เบื่อลุงกัน (มั้ง) นี่แหละที่เป็นกำลังใจให้ลุงเขียนอะไรต่ออะไรออกมาเรื่อยๆ

แนวทางการเขียนของลุงแมวน้ำนั้นเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ธีมการเขียนขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าในแต่ละปีมีเรื่องใดที่น่าสนใจ ปรับปรุงรูปโฉมเว็บบล็อกมาก็หลายครั้งเพื่อไม่ให้จำเจ การตกแต่งบ้าน (เว็บบล็อก) ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ก็เพิ่งทำไปเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้คงยังใช้เช่นนี้อยู่เพราะดูไปแล้วก็ยังดีอยู่

ส่วนธีมการลงทุนที่ลุงยึดเมื่อปีที่แล้วเป็นแนวทางการลงทุนแบบองค์รวม คือชีวิตกับการลงทุนเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่ได้มีแต่เพียงเรื่องราวเกี่ยวกับการลงทุนเท่านั้น แต่ลุงแมวน้ำยังเขียนเรื่องราวอื่นๆที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิต การมองชีวิต ในทัศนะของลุงแมวน้ำให้อ่านกันด้วย

ด้านการลงทุนนั้นลุงแมวน้ำจับประเด็นที่หุ้น กองทุนรวม กับอีทีเอฟ โดยเน้นที่หุ้นมากหน่อย รวมทั้งยังใช้ธีมโกอินเตอร์ คือพาพวกเราออกไปดูลงทุนในต่างประเทศด้วย แต่ก็ยังเขียนเรื่องการลงทุนต่างประเทศไม่มากนัก

นั่นก็เป็นเรื่องราวที่ผ่านมาและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

สำหรับก้าวต่อไปในปีที่ 7 นี้ถือเป็นการพลิกโฉมของบล็อกลุงแมวน้ำอีกครั้งหนึ่ง เพราะแนวโน้มการลงทุนในโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและรวดเร็ว... การเปลี่ยนแปลงนั้นมากมายและรวดเร็วจนลุงแมวน้ำเองก็นึกไม่ถึง จะมีอะไรใหม่ๆมาให้อ่านและลงทุนกันบ้าง เรามาดูกัน


ธีมปีที่ 7 ทะยานสู่พรมแดนใหม่


ธีมการลงทุนในปีที่ 7 นี้ลุงแมวน้ำใช้หัวข้อว่า "ทะยานสู่พรมแดนใหม่" หรือ Toward a New Frontier ซึ่งที่จริงลุงแมวน้ำก็เริ่มเขียนมาบ้างแล้ว โดยเริ่มเขียนบทความในชุดนี้ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2015 เนื่องจากวิถีชีวิตในยุคเทคโนโลยีก้าวกระโดดนี้เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก รวมทั้งสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากเช่นเดียวกัน ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ มีการแก้ปัญหาแบบนอกตำราเศรษฐศาสตร์ด้วยนำเงินในอนาคตมาใช้ในปัจจุบันอย่างมากมายในรูปแบบที่เราเรียกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน

เดิมทีมีชาติที่ทำคิวอีเป็นล่ำเป็นสันอยู่ชาติเดียวคือสหรัฐอเมริกา แต่ต่อมาญี่ปุ่นและเขตเศรษฐกิจยูโรโซนก็ทำบ้าง ทำให้เงินตราที่ล้นโลกอยู่แล้วล้นมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดโอกาสและความเสี่ยงในรูปแบบใหม่ที่ในอดีตไม่เคยเผชิญมาก่อน ดังนั้นอนาคตนับจากนี้จึงยากคาดเดา เปรียบเสมือนกับว่าเราก้าวเข้าสู่พรมแดนใหม่ สู่ขอบเขตที่เราไม่เคยไปถึงมาก่อน มันอาจเป็นน่านน้ำอันอุดมสมบูรณ์ แต่ก็อาจแฝงภยันตรายที่เราไม่เคยเผชิญมาก่อน... ดังนั้น ลุงแมวน้ำจึงนำธีมนี้มานำเสนอ พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันในปีที่ 7 นี้

และปีนี้ลุงจะคุยเรื่องการลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้น เนื่องจากโลกในยุคปัจจุบันเชื่อมโยงถึงกันใกล้ชิดเข้าไปทุกที เราคงไม่สามารถปิดตัวเองอยู่แต่การลงทุนในท้องถิ่นได้ รวมทั้งในภาคเศรษฐกิจจริงก็เช่นเดียวกัน โลกทุกวันนี้แทบจะไร้พรมแดนอยู่แล้ว สินค้า เงินทุน แรงงาน เคลื่อนย้ายไปได้โดยสะดวก การแข่งขันในรูปแบบใหม่ๆเกิดขึ้น ด้วยกฎกติกาของโลกยุคใหม่ทำให้ธุรกิจท้องถิ่นต้องแข่งขันกับธุรกิจข้ามชาติด้วย ไม่ว่าเราจะอยากแข่งหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าเราจะพร้อมแข่งหรือไม่ก็ตาม นี่เป็นเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้

ลุงแมวน้ำได้นำเสนอบทความในชุด ทะยานสู่พรมแดนใหม่ ไปบ้างแล้ว หลายคนอาจสังเกตพบว่าบทความชุดนี้พลิกโฉมไปจากเดิมมาก ทั้งแนวคิดและวิธีการ มีการนำแนวคิดทางด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคมาผสมกับปัจจัยพื้นฐาน (เช่นในเรื่องหุ้นพีอีสูง หุ้นพีอีต่ำ) มีการเชื่อมโยงแนวคิดจากกฎธรรมชาติมาสู่แนวคิดในการลงทุน (เช่น เรื่องวัฏจักรชีวิตและวัฏจักรเศรษฐกิจ หมู่เกาะกาลาปาโกสกับทฤษฎีวิวัฒนาการ) เพราะโลกในยุคใหม่ไม่เหมือนเดิม ดังนั้นเราอาจใช้วิธีคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องมีมุมมองใหม่ๆบ้าง

ในวันถัดไป เรามาคุยกันต่อ ลุงแมวน้ำจะอัปเดตการลงทุนของลุงแมวน้ำในรอบปีที่ผ่านมาให้ฟัง ทั้งการลงทุนในไทยและการลงทุนในต่างประเทศ ลุงตระเวนลงทุนในหลายประเทศแต่ยังไม่เคยเล่า กับโครงการทำธุรกิจเพื่อสังคม กองทุนสงเคราะห์ชีวิตที่ด้อยโอกาสของลุงแมวน้ำคร้าบ


Sunday, April 12, 2015

ตลาดกระทิงกำลังมา (2)


ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ (ทองคำ น้ำมันดิบ สินค้าเกษตร) ฟื้นตัว


วันนี้ลุงแมวน้ำเกี่ยวกับสัญญาณบางประการในกคลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ มีภาพมาฝากหลายภาพเช่นเคย เรามาดูกันทีละภาพ



ภาพแรก กราฟอีทีเอฟน้ำมัน (กราฟ DBO) กราฟนี้เป็นตัวแทนราคาน้ำมันดิบ ปกติลุงมักแสดงราคาน้ำมันดิบด้วยกราฟฟิวเจอร์สน้ำมันไนเม็กซ์ตลาดนิวยอร์ก  แต่วันนี้นำกราฟ DBO อันเป็นอีทีเอฟมาให้ดูแทนเนื่องจากต้องการให้สังเกตปริมาณซื้อขาย ดูกราฟนี้จะเห็นได้ชัดดี

จากกราฟ DBO เราจะเห็นว่าเมื่อน้ำมันดิบ WTI ร่วงมาอยู่ที่ 44 ดอล ในวันที่ 18 มีนาคม 2115 ราคาอีทีเอฟร่วงลงมาและเกิดแรงรับซื้อในปริมาณมาก ดูแท่งปริมาณซื้อขายจะเห้นว่าแรงซื้อโดดเด่น (volume spike) ขึ้นมา และหลังจากนั้นราคาก็ไม่ลงต่อ ทำให้เกิดเป็นรูปแบบท้องคลื่นคู่ (bouble bottom) สองกรณีนี้ประกอบกันบ่งชี้ว่าแนวรับทางจิตวิทยาที่ระดับนี้แข็งแรงมาก หากไม่มีเหตุการณ์พิเศษอื่นๆ ก็คาดว่าตรงนี้อาจเป็นจุดกลับแนวโน้มขาขึ้น

หากราคาน้ำมันดิบกลับเป็นขาขึ้นจริง WTI อาจไปได้ถึง 60-70 ดอลลาร์จากโมเมนตัมของแรงเก็งกำไร น่าจะทำให้ช่วงครึ่งหลังของปีมีอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี จะเป็นกลุ่มที่ดันดัชนี และแน่นอน ป้าเจนคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดกลางปีนี้หรือปลายปี แต่ลุงคิดว่าขึ้นก็ดี ไม่ขึ้นก็ได้ ไม่ค่อยมีผลอะไรแล้ว



ต่อมาดูที่กราฟ DBA อันเป็นอีทีเอฟสินค้าเกษตร จะเห็นว่าในวันที่ 18 มีนาคม วันเดียวกับที่น้ำมันดิบเด้ง ราคาอีทีเอฟสินค้าเกษตรก็เด้ง และมีปริมาณซื้อขายพุ่งพรวด (volume spike) ทำนองเดียวกับน้ำมันดิบ แสดงว่าระดับราคาแถวนี้เป็นแนวรับทางจิตวิทยาที่สำคัญมาก และเป็นไปได้ว่าราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกจะฟื้นตัวขึ้นและกลับเป็นแนวโน้มขาขึ้นแล้ว

หากสินค้าเกษตรในตลาดโลกขึ้น (ส่วนใหญ่เป็นพวกถั่วเหลือง ข้าวโพด ข้าวสาลี โกโก้ กาแฟ น้ำตาล ฝ้าย ฯลฯ) โมเมนตัมนี้มาจากราคาน้ำมันดิบ ก็จะช่วยให้ราคาพืชผลเกษตรโดยรวมดีขึ้น ราคายางพารา น้ำมันปาล์ม น่าจะดีขึ้น จะดีมากหรือน้อยก็ตาม แต่น่าจะทำให้เกษตรกรไทยหายใจได้คล่องขึ้น ยกเว้นข้าว ลุงไม่ค่อยแน่ใจนัก เพราะแข่งขันราคากันหนัก >.<



ทีนี้ก็มาดูราคาทองคำ ดูกราฟ GC ผลจากดอลลาร์ สรอ อ่อนค่าทำให้ราคาทองคำขึ้น แต่เท่าที่ลุงสังเกต ราคาทองคำปรับตัวแรงกว่าการอ่อนค่าของดอลลาร์ แปลว่ามีแรงเก็งกำไรเข้ามาในทองคำค่อนข้างเยอะ

ประกอบกับตอนนี้เงินคิวอีล้นโลก เงินดอลลาร์ สรอ ที่ทำคิวอียังไม่ได้เก็บกลับ ยังหมุนเวียนอยู่ในตลาด เงินคิวอีญี่ปุ่นกับยูโรไหลเพิ่มเข้ามาในตลาด แต่ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น เก็งกำไรได้จำกัดแล้ว ดังนั้น แรงเก็งกำไรส่วนหนึ่งจึงย้ายมาในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์เพราะตกต่ำมาหลายปีแล้ว อาจเป็นการเก็งกำไรในช่วงเพียงไม่กี่เดือน แต่การขึ้นก็มีกรอบการขึ้นที่จำกัด เช่น น้ำมันดิบคงไม่เกิน 70 ดอล ทองคำคงไม่เกิน 1340 ดอล แต่เงินไม่มีที่ไปน่ะ ดังนั้นตลาดไหนพอมีช่องทางให้เก็งกำไรได้เงินก็จะไหลไป

ดังนั้นลุงแมวน้ำมองว่าตลาดกระทิงน่าจะมาแล้ว เร็วกว่าที่คิดสองสามเดือน กระจายไปทั้งตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่เอเชียกับสินค้าโภคภัณฑ์ ตลาดหุ้นไทยและเศรษฐกิจไทยจะได้อานิสงส์ไปด้วย ส่วนตลาดหุ้นอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น คงขึ้นได้นิดหน่อย ไม่แรงเท่าเอเชีย ติดแนวต้านบ้างอะไรบ้างก็ย่อตัวลงไปแล้วขึ้นต่อ


ดัชนีเซ็ต SET Index อาจเห็น 1700 จุดในปี 2015



สำหรับตลาดหุ้นไทย ดูกราฟ SET หากเป็นไปตามสมมติฐานข้างบนนี้ ดัชนีคงไปที่ 1700 จุดได้ในปีนี้ แต่ลุงแมวน้ำไม่ได้มองแค่นั้น ลุงแมวน้ำตีตั๋วนั่งรถไฟสาย 2000 อยู่ ยังไม่เปลี่ยน ภายในสองสามปีคงเห็น ^_^

ลองติดตามดูกันนะคร้าบ อีกไม่นานสภาพความจริงจะยืนยัน

ตลาดกระทิงกำลังมา (1)


เมื่อวานวันจันทร์ 6 เมษายน เป็นวันที่ตลาดหุ้นทั่วโลกอลเวงอีกวันหนึ่ง

เรื่องก็คือเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นวันศุกร์ประเสริฐ Good Friday ของทางคริสต์ศาสนา อันเป็นวันที่พระเยซูถูกตรึงกางเขน และหลังจากนั้นในวันที่สามคือวันอาทิตย์ก็เป็นวันฟื้นคืนพระชนม์ ซึ่งก็คือวันอีสเตอร์ที่มีไข่หลากสีสดสวยนั่นเอง

วันศุกร์ประเสริฐเป็นวันหยุด ตลาดทำการนิดเดียวและปิดก่อนเวลาปกติ แต่ที่สำคัญก็คือมีการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของอเมริกาด้วย ซึ่งตัวเลขที่ออกมานั้นไม่ค่อยดีนัก คือการจ้างงานใหม่ลดลง แต่ตลาดตอบสนองไม่ทันเนื่องจากวันศกร์ปิดเร็ว ก็มาป่วนเอาในวันจันทร์ ค่าเงินดอลลาร์ สรอ ดิ่งแรง เพราะนักลงทุนเก็งกันว่าเฟดคงยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย ขณะเดียวกันตลาดหุ้นอเมริกาก็ดิ่งด้วย นี่ก็แปลก เนื่องจากปกติหากเงินดอลลาร์อ่อน ตลาดหุ้นอเมริกาจะขึ้น

จากนั้นตลาดหุ้นอเมริกาคงตั้งหลักได้แล้ว ว่าเงินดอลลาร์่อ่อนตลาดควรขึ้น ตลาดหุ้นจึงกลับมาเขียวขจี ^_^

เท่านั้นไม่พอ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก ก็ให้สัมภาษณ์ว่า ตัวเลขการจ้างงานที่ดูไม่ค่อยดีนั้นต้องไปดูในรายละเอียดก่อนว่าตัวเลขนั้นที่มาเป็นอย่างไร อาจไม่มีนัยสำคัญก็ได้ คือเป็นภาวการณ์ชั่วคราว ไม่ได้หมายความว่าตลาดแรงงานอ่อนแอ (แปลว่าเรื่องกำหนดการขึ้นดอกเบี้ยเฟดอาจไม่เปลี่ยนก็ได้) เท่านั้นเองเงินดอลลาร์ก็แข็งค่าทันใด

นี่เล่าให้ฟังสนุกๆ ว่าตลาดหุ้นกับตลาดเงินตรา รวมทั้งทองคำ อลเวงเพียงใด หากติดตามตลาดระยะสั้นเวียนหัวแย่ จับทางไม่ถูก ดังนั้นเราต้องจับหลักให้มั่น มองด้วยสายตาที่ยาวไกลออกไป


สัญญาณที่ขัดแย้ง หากเงินกำลังไหลกลับสหรัฐอเมริกา ทำไมตลาดหุ้นอเมริกาจึงยังไม่ขึ้น




เรามาดูภาพนี้กัน GSPC ภาพนี้เป็นดัชนี S&P 500 ของตลาดหุ้นอเมริกา ลุงแมวน้ำอยากให้สังเกตว่าตั้งแต่ต้นปี 2015 ตลาดอเมริกาเป็นตลาดไร้ทิศทาง เกิดกรอบสามเหลี่ยมชายธง 2 ครั้ง และตอนนี้ก็กำลังเดินอยู่ในปลายสามเหลี่ยมชายธง ตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้ ตลาดหุ้นอเมริกาเปลี่ยนแปลงไปเพียง +0.39%

คำถามของลุงแมวน้ำก็คือ ก็ในเมื่อเฟดกำลังจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็เขาว่ากันว่าเงินทั่วโลกจะไหลกลับอเมริกา ถ้าเงินไหลกลับก็ต้องไปเข้าตลาดหุ้นบ้าง แต่ทำไมตลาดไม่ขึ้น




เอาละ มาดูภาพต่อมากัน ภาพ DX อันเป็นภาพค่าเงินดอลลาร์ สรอ จะเห็นว่าในช่วงเดือนมีนาคม ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวเป็นแนวโน้มขาลง คำถามก็คือ ยิ่งใกล้เวลาที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินไหลกลับเข้าประเทศ แต่ทำไมค่าเงินกลับอ่อนตัวลง



ทีนี้มาดูภาพต่อมาอีกภาพหนึ่ง กราฟ TNX ภาพนี้เป็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน อายุ 10 ปี US 10 year government bond yield เดือนมีนาคมบอนด์ยีลด์เป็นขาลง แปลว่ามีแรงซื้อเข้ามาในตลาดพันธบัตร (ตลาดพันธบัตรเป็นตลาดกระทิงนั่นเอง) คำถามก็คือ เมื่อเฟดใกล้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตลาดพันธบัตรควรเกิดแรงขาย และบอนด์ยีลด์ควรปรับตัวสูงขึ้น แต่ทำไมตลาดมีแรงซื้อ

ทั้งตลาดหุ้น ค่าเงิน และตลาดพันธบัตรอเมริกา นี่คือสัญญาณจากตลาดที่แย้งกับการขึ้นดอกเบี้ยของป้าเจน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ???


เมื่อเงินไหลออกจากเอเชีย ทำไมตลาดหุ้นเกิดใหม่ของเอเชียจึงขึ้น


เอาละ ทีนี้มาดูภาพใหญ่ภาพนี้กัน




ภาพนี้เปรียบเทียบตลาดหุ้นหลายตลาด โดยเทียบตั้งแต่ปีใหม่มาจนปัจจุบัน จะเห็นว่าตลาดอเมริกาทรงตัว แทบไม่ไปไหน +0.39% ส่วนไทย อินโด อินเดีย เกาะกลุ่มกัน บวกไปราวๆ 3% ถึง 6% ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาะกลุ่มกัน บวกไปราว 11% ถึง 12%
ส่วนจีนกับเยอรมนีบวกไปราว 20%

แต่ลองสังเกตดูดีๆจะเห็นว่าตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ตลาดหุ้นญี่ปุ่นกับเยอรมนีชะงักไปเลย ขณะเดียวกันตลาดหุ้นฝั่งเอเชียเริ่มก่อแนวโน้มขาขึ้น (ยกเว้นจีนที่ขึ้นโลดมาเป็นเดือนแล้ว)

อธิบายได้ว่าค่าเงินดอลลาร์ สรอ เป็นเหตุ เดิมทีค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า ทำให้เงินยูโรกับเยนอ่อนลง (หรือจะพูดว่ายูโรกับญี่ปุ่นปั๊มเงินคิวอีออกมาทำให้เงินยูโรกับเยนอ่อน และดอลลาร์แข็ง จะพูดยังงั้นก็ได้) เศรษฐกิจญี่ปุ่นกับยุโรปดีขึ้นเพราะส่งออกได้ดี ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เยอรมนี จึงขึ้น

แต่เมื่อดอลลาร์แข็งค่าเกินไป กลับเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจอเมริกา ตลาดหุ้นเซเนื่องจากเงินแข็งทำให้แนวโน้มผลประกอบการลดลง เมื่อตลาดหุ้นไม่ไป เงินก็ไม่รู้จะไปไหน ก็ออกจากอเมริกาไปหาผลตอบแทนที่อื่น ทำให้เงินดอลอ่อนตัวลงบ้าง เมื่อเงินดอลอ่อนตัวลง เงินเยน ยูโรก็แข็งค่าขึ้น เป็นผลเสียต่อตลาดหุ้นทั้งสอง ตลาดหุ้นญี่ปุ่นกับยุโรปจึงไปต่อได้ยาก ตรงนี้แหละที่ตลาดใหญ่ต่างๆกำลังหาจุดสมดุลอยู่ ซึ่งเราคุยกันไปแล้วในเรื่อง dynamic equilibrium หรือดุลยภาพแบบพลวัตร

สรุปว่าเงินดอล ยูโร เยน และตลาดหุ้นทั้งสามกำลังหาดุลยภาพอยู่ ถามว่าถ้าอย่างนั้นเงินจะไปไหนดี เรามาดูภาพนี้กัน


ตลาดกระทิงกำลังเยือนเอเชีย




ภาพแผนที่โลกนี้เป็นคาดการณ์ของไอเอมเอฟเมื่อมกราคม 2015 คาดการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ จะเห็นว่าตลาดเกิดใหม่เอเชียโดดเด่นที่สุด เงินไม่มาแถวนี้แล้วจะไปที่ไหน อีกทั้งย่านนี้ค่อนข้างร่มเย็นด้วย ไม่ค่อยมีไฟสงครามหรือการก่อการร้าย

และนี่เองที่ในช่วงเดือนมีนาคมนี้ตลาดหุ้นแถวๆนี้ค่อยๆก่อแนวโน้มขาขึ้น ตอนนี้ลุงว่าต้องมองเลยเหตุการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ยไปดีกว่า ขึ้นก็ดี ไม่ขึ้นก็ได้ ยังไงเงินก็ต้องมาแถวนี้เนื่องจากเศรษฐกิจโดดเด่นกว่า

ลุงแมวน้ำคาดว่าจากนี้ไป ตลาดหุ้นแถวบ้านเราจะเป็นแนวโน้มขาขึ้น มาเร็วกว่าที่คิด เดิมว่าจะมาไตรมาสสาม ลุงขอแจงเป็นข้อดังนี้

1. ตลาดหุ้นกับอเมริกาคงแกว่งในกรอบ เป็นไหนไม่ได้มาก เงินนอกเข้าไปแสวงหากำไรจากอเมริกายากแล้วเนื่องจากเหตุผลข้างต้น

2. เงินคิวอียูโรน่าจะเกิดจุดต่ำสุดไปแล้ว ต่อไปจะแกว่งในกรอบ เงินยูโรเข้าตลาดหุ้นเยอรมนีบางส่วน เข้าอเมริกาซื้อพันธบัตรบางส่วน เข้าเอเชียบางส่วน ซื้อทั้งหุ้นและพันธบัตร กระจายกันไป

3. เงินเยนคิวอีญี่ปุ่น น่าจะเกิดจุดต่ำสุดไปแล้ว ต่อไปจะแกว่งในกรอบ เงินเยนเข้าตลาดหุ้นญี่ปุ่นบางส่วน เข้าอเมริกาซื้อพันธบัตรบางส่วน เข้าเอเชียบางส่วน ซื้อทั้งหุ้นและพันธบัตร กระจายกันไป

4. ตลาดหุ้นในย่านนี้ไปต่อได้ รวมทั้งไทย เงินบาทน่าจะแข็งค่าได้อีกหน่อย

5. ที่สำคัญ เงินต้นทุนต่ำทั้งดอล ยูโร เยน น่าจะไหลเข้าไปเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์ สังเกตจากรูปแบบกราฟของทองคำและน้ำมันดิบที่เคลื่อนไหวค่อนข้างแรง

6. เงินดอลลาร์จะอ่อนตัวลงได้อีกนิดหน่อย แต่คงไม่หลุด 90 จุด (USD index น่าจะอยู่ในกรอบ 90-104 จุด) ทองคำคงไปต่อได้แต่ไม่น่าเกิน 1340 ดอล

7. น้ำมันดิบน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว หุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรจะเป็นกลุ่มดันดัชนีในตอนต้นของตลาดขาขึ้น

Wednesday, March 25, 2015

ธปท ปรับลดคาดการณ์จีดีพี หุ้นในตลาด SET น่าสนใจกว่า MAI


คาดการณ์การเติบโตจีดีพีเป็นร้อยละ (%) ในปี 2015, 2016 ของบางประเทศในย่านเอเชียตะวันออก ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ไอเอมเอฟ (IMF) ปรับปรังล่าสุดเมื่อ มกราคม 2015


เมื่อไม่กี่วันมานี้ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์จีดีพีปี 2015 อยู่ที่ 3.8% เป็นตัวเลขใหม่ที่ปรับลดคาดการณ์ลงมา ในขณะเดียวกันศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทยก็คาดการณ์การเติบโตของไทยปี 2015 ไว้ที่ 2.8% โห ยิ่งต่ำลงมาอีก สาเหตุก็เพราะงบลงทุนไหลออกมาช้า ส่งออกไม่ค่อยดี ราคาผลผลิตทางเกษตรตกต่ำ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดลง หนี่ครัวเรือนสูง บลา บลา บลา ก็ถือว่าตัวเลขที่ประเมินใหม่นี้สะท้อนภาพเศรษฐกิจในเชิงบวกน้อยลง

วันนี้ขอลุงคุยในภาคเศรษฐกิจจริงบ้าง จากที่ลุงแมวน้ำสังเกตมาในงานบ้านและคอนโด งานท่องเที่ยว พบว่าคนเดินบางตาลง เวลาลุงแมวน้ำเดินทางไปที่ไหนมักชอบสอบถามชาวบ้านร้านค้าต่างๆ ก็พบว่ายอดขายลดลง แท้กซี่ก็มีผู้โดยสารลดลง (แต่ลุงก็แอบสงสัยว่าผู้โดยสารน้อยไหงเลือกรับผู้โดยสารจัง >.<) นี่ก็กำลังจะมีงานหนังสือที่ศูนย์สิริกิตติ์อีกแล้ว ในวันพรุ่งนี้ ลุงก็จะลองไปสังเกตการค้าขายในงานดูอีกสักงาน แต่อีกภาพหนึ่ง หากเดินไปในห้าง ลุงแมวน้ำก็จะพบว่าร้านอาหารหรูบางร้านก็ยังมีคนต่อคิวยาว ซึ่งนั่นเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากผู้ที่มีกำลังซื้อก็ยังมีอยู่

ปัญหาหลักเกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาต้องดำเนินไปทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น หากปวดหัวมาก ทำงานไม่ได้ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็คือกินยาแก้ปวดไปก่อน แต่นั่นก็แค่หายปวดชั่วคราว ไม่ได้แก้ที่ต้นตอของปัญหา หากจะแก้ที่ต้นตอก็เป็นเรื่องยาว ต้องไปตรวจรักษากันอีกยาว

ฉันใดก็ฉันนั้น ปัญหาเศรษฐกิจของไทยตอนนี้สะสมทั้งเรื่องเฉพาะหน้าและปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาเชิงโครงสร้างก็ต้องแก้กันยาว แต่อาการเฉพาะหน้าคือรายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง สายป่านหมด ก็จำเป็นต้องเร่งบรรเทา ใครมาบริหารก็คงหนักใจเพราะต้องดูแลทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาระยะยาว อย่างเรื่องส่งไม่ออกนี้ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เนื่องจากอุตสาหกรรมของเราเสียศักยภาพในการแข่งขันไปมาก ยกเว้นอุตสาหกรรมอาหารที่ยังพอได้อยู่ หากไม่แก้ที่โครงสร้างแม้จะลดค่าเงินบาทก็ยากที่จะเร่งยอดขายให้เติบโตต่อไปได้

และที่สำคัญมากก็คือเรื่องการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ บ้านเรายิ่งนานการศึกษาก็ยิ่งแย่ ซึ่งการแก้ปัญหาก็ไม่ใช่ง่ายๆ

วันนี้ลุงแมวน้ำเอาภาพคาดการณ์การเติบโตในปี 2015 และ 2016 ของไอเอมเอฟที่อัปเดตล่าสุด มกราคม 2015 มาให้ดูกัน ตอนนั้นของไทยยังถูกคาดการณ์ไว้ที่ 4 กว่าๆ แต่อีกไม่นานไอเอ็มเอฟอาจปรับลดลง แต่ประเทศเพื่อนบ้านเราการเติบโตสวยงามทั้งนั้น นี่แหละที่ลุงแมวน้ำบอกว่าประเทศในย่านนี้น่าสนใจกว่ายุโรปและอเมริกา ที่จริงไทยเราสามารถอาศัยโมเมนตัมของการเติบโตในภูมิภาคนี้เติบโตเกาะไปด้วยได้ นั่นคือ ทำตัวเป็นหน้าด่านของ CLM นั่นคือ เป็นหน้าด่านหรือประตูสู่พม่า ลาว และกัมพูชา เพราะโดยชัยภูมิแล้วเราอยู่ในตำแหน่งที่ดี ทำตัวเป็นขาใหญ่ในกลุ่ม TCLM ได้ และหากขยายการค้าให้ไกลออกไปอีก ก็เชื่อมไปได้ถึงอินเดีย จีนตอนใต้ และจีนตะวันตก เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และหากขายไปอีกก็ไปถึงบังคลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา พวกนี้อัตราเติบโตสูงทั้งนั้น

เอาละ ทีนี้มาพูดถึงการลงทุนกันบ้าง บริษัทในตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าบริษัททั่วไปอยู่แล้ว ดังนั้น หากบริษัททั่วไปบ่นว่าส่งไม่ออก แต่บริษัทในตลาดหุ้นที่ส่งออกไม่กระทบก็มี เนื่องจากโมเดลธุรกิจอาศัยโมเมนตัมของการเติบโตของเพื่อนบ้านและโตไปด้วย ที่จริงแล้วก็ยังมีบริษัทที่มีการเติบโตที่ดีให้เลือกลงทุน เสียแต่ว่าหลายตัวก็แพงแล้ว

จังหวะที่ตลาดปรับตัวนี่แหละ ทำให้หุ้นดีราคาแพงมีราคาลดลงมาให้อยู่ในระดับที่พอซื้อหาได้ ดังนั้น สำหรับนักลงทุนแล้ว นี่คือโอกาส เรื่องกลยุทธิ์การลงทุนจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหลายคนก็กลัวตลาด หลายคนก็ติดหุ้นในราคาสูง เมื่อโอกาสดีๆมาถึงก็ไม่สามารถลงทุนเพิ่มได้ นอกจากนี้ตอนนี้นักลงทุนหลายคนอาจตัดสินใจออกจากตลาดไปเลยเพราะหุ้นบางชนิดที่หวือหวานั้นลงไปลึกมาก นักลงทุนบางรายก็ถึงขั้นถอดใจ

ตอนนี้โลกเปลี่ยนไป หุ้นที่น่าสนใจคือหุ้นที่มีความสามารถในระดับที่สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ ซึ่งมักเป็นหุ้นที่มีมาร์เกตแคปใหญ่หน่อย หุ้นขนาดเล็กทุนน้อย แข่งขันยากขึ้น ดังนั้นหากพูดรวมๆแล้วหุ้นที่น่าสนใจคือหุ้นในตลาด SET โดยเฉพาะหุ้นนอก SET 50 ที่มาร์เก็ตแคปใหญ่หน่อย ส่วนหุ้นในตลาด mai ลุงกลับเห็นว่าต้องพิจารณาให้ดี เพราะแพงแล้ว อีกทั้งผลประกอบการสะท้อนว่าความสามารถในการแข่งขันไม่สูงนัก นี่พูดในภาพรวมๆนะคร้าบ ข้อยกเว้นย่อมมี เพียงแต่เราต้องไปลงในรายละเอียดกัน

Sunday, March 15, 2015

เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ สมดุลธรรมชาติ (2)



สมดุลแบบพลวัตร ปรากฏการณ์เกิดป่า


ลุงแมวน้ำหยิบภาพอีกใบหนึ่งออกมากางให้ดู เห็นเป็นภาพต้นไม้มากหมายหลายแบบ




“เรามาเริ่มต้นกันตรงที่ว่าเมื่อพื้นดินหลังจากที่ถูกไฟป่าเผาผลาญหรืออาจถูกมนุษย์รุกรานตัดทำลายไปจนหมด จนอยู่ในสภาพที่เหี้ยนเตียน มีแต่ดินและทราย อีกทั้งยังแห้งแล้ง รักษาความชื้นไว้ไม่ได้ ไม่มีพืชใดเลย หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง เรามาดูตามภาพกันเลย

“แรกที่สุดเลย เมล็ดพันธุ์พืชต่างๆที่ปลิวมาจากที่อื่นและมาตกในพื้นที่นี้ แต่พืชที่จะขึ้นได้เป็นพวกวัชพืช เพราะวัชพืชเป็นพืชที่มีลักษณะงอกง่าย อดทนต่อสภาพแวดล้อมอันเลวร้ายได้ดี ส่วนเมล็ดพืชอื่นๆแม้จะตกลงมาเช่นกันแต่จะงอกและขึ้นไม่ได้เพราะสภาพพื้นดินไม่อำนวย เรื่องนี้ก็ตรงกับเรื่องกฎการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติ (Law of Natural Selection) ยังจำได้ไหม ดังนั้น ในปีแรก พืชที่ธรรมชาติคัดเลือกให้เจริญในพื้นที่ได้ก็คือพวกวัชพืชคลุมดิน

“เมื่อมีวัชพืชคลุมดินแล้ว ดินก็เริ่มรักษาความชื้นเอาไว้ได้บ้าง พวกไม้ล้มลุกอายุสั้นหรือที่เรียกว่าพืชฤดูเดียวที่งอกง่ายจะเจริญขึ้นตามมา ดังนั้นในปีที่ 2 เราจึงเริ่มเห็นไม้ล้มลุกเติบโตอยู่ในพื้นที่

“แม้ว่าไม้ล้มลุกงอกง่าย แต่วงจรชีวิตก็สั้น เพียงปีเดียวก็ตาย และเมื่อตายซากก็ทับถมอยู่บนผิวดินนั่นเอง ทำให้ดินอุดมขึ้นและเก็บความชื้นได้ดียิ่งขึ้น พอปีที่ 3 เราก็จะเริ่มเห็นไม้ล้มลุกเพิ่มมากขึ้น มีไม้พุ่มตามมา และผ่านไปอีกหลายปี เมื่อดินสะสมความอุดมมากขึ้นอีก พวกไม้ยืนต้นที่เป็นไม้เนื้ออ่อน เช่น สน ยูคาลิปตัส ก็จะขึ้นได้ ดังนั้น ในช่วงปีที่ 3-25 เราจะค่อยๆเห็นไม้ล้มลุกปีเดียว ไม้พุ่ม และไม้ยืนต้นเนื้ออ่อน งอกตามมาเป็นลำดับ

“หลังจากปีที่ 25 ไม้เนื้ออ่อนจะเพิ่มมากขึ้นและกลายเป็นเผ่าพันธุ์เด่นในพื้นที่นั้น พวกไม้ล้มลุกและไม้พุ่มจะลดน้อยลง เนื่องจากไม้ยืนต้นเนื้ออ่อนมีลักษณะยืนต้นและทรงใหญ่ บดบังแสงแดดไม่ให้ส่องลงพื้นดิน ไม้เล็กจึงอยู่ไม่ได้และล้มตายลง

“เมื่อไม้เล็กล้มตายลงทับถมบนดิน ดินก็ยิ่งอุดม ดังนั้น หลังจากที่มีไม้ยืนต้นเนื้ออ่อนแล้ว ไม้ยืนต้นเนื้อแข็งก็จะเริ่มงอกและเจริญเติบโตได้ ดังนั้น ในช่วงปีที่ 25-100 เราก็จะเห็นไม้ยืนต้นพวกไม้เนื้ออ่อนเป็นพืชเด่น และมีไม้เนื้อแข็งขึ้นแซม เช่น ต้นต้นโอ๊คอันเป็นไม้เนื้อแข็งในเขตอบอุ่น หรือไม้เนื้อแข็งแบบป่าเมืองร้อนก็เช่น มะฮอกกานี เต็ง ตะเคียน ฯลฯ

ช่วงปีที่ 100-200 ไป ไม้เนื้อแข็งก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ป่าจะเริ่มทึบมากขึ้น จนไม้เนื้อแข็งกลายเป็นพืชเด่น และหลังจากนั้น คือปีที่ 200 เป็นต้นไป พื้นที่นี้ก็จะมีลักษณะป่าทึบที่อุดมสมบูรณ์มาก

“โอ้โฮ จากพื้นดินโล่งและแล้ง กว่าจะกลายเป็นป่าได้ก็ตั้งสองร้อยปีขึ้นไปเชียว” ฮิปโปอุทาน

“ใช่แล้วแม่ฮิปโป” ลุงแมวน้ำตอบพร้อมกับถอนหายใจ “ป่าอันอุดมสมบูรณ์นั้นกว่าจะเกิดขึ้นได้ใช้เวลานับร้อยปี หรือหลายชั่วคนทีเดียว แต่การตัดไม้ทำลายป่านั้นใช้เวลาเดี๋ยวเดียว ป่าที่ถูกตัดหรือป่าที่ถูกไฟไหม้ก็ทำนองเดียวกัน คือกว่าที่จะกลับมาเป็นป่าดังเดิมต้องรออีกหลายร้อยปี”

ลุงแมวน้ำหยุดนิดหนึ่งแล้วจึงพูดต่อ

“เรามาคุยเรื่องสมดุลแบบพลวัตรกันต่อ ตัวอย่างการเกิดป่านี้ช่วยให้เราเข้าใจถึงสมดุลแบบพลวัตรได้ดียิ่งขึ้น นั่นคือ ความสมดุลบนความไม่สมดุล หมายถึงว่าสมดุลที่เกิดขึ้นคงอยู่ได้เพียงช่วงเวลาเดียว หลังจากนั้นสมดุลนั้นก็จะเสียไป และธรรมชาติก็จะค่อยๆปรับตัวเพื่อให้เกิดสมดุลใหม่

และนอกจากนี้พรรณไม้ที่ขึ้นในแต่ละช่วงของการเกิดป่าล้วนแต่เป็นไปตามกฎของการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติทั้งสิ้น เมื่อสมดุลเดิมเสียไปและธรรมชาติปรับตัวเพื่อให้เกิดสมดุลใหม่ พืชพรรณที่เหมาะสมที่จะอยู่รอดก็แตกต่างกันออกไป ดังนั้น กฎของการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติทำงานร่วมกับสมดุลแบบพลวัตรเสมอ

“ยกตัวอย่างเช่นตอนที่ไม้ล้มลุกคลุมดินนั่นไง ผิวดินมีแต่ไม้ล้มลุก นั่นแหละคือสมดุลของธรรมชาติ ณ ขณะนั้น แต่เมื่อไม้ล้มลุกอายุสั้นตายไป สมดุลก็เปลี่ยนไปนิดหนึ่ง เพราะว่าดินอุดมสมบูรณ์มากขึ้น วันหนึ่งไม้เนื้ออ่อนก็งอกได้ สมดุลก็เปลี่ยนไปอีกนิดหนึ่ง และเมื่อไม้เนื้ออ่อนงอกได้มากขึ้น สมดุลค่อยๆเปลี่ยนทีละหน่อยไปเรื่อยๆจนในที่สุดกลายเป็นป่าไม้เนื้ออ่อน แต่ว่าป่านี้ก็ไม่ใช่จุดสมดุลที่ถาวร เพราะนานวันสมดุลก็เสียไปอีก และกลายเป็นป่าทึบ

“และป่าทึบนี้เหมือนกับจะเป็นสมดุลที่ถึงที่สุดแล้ว คือนี่แหละคงตัวแล้ว เหมือนกับต้นไม้ในขวดโหลปิดฝา แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่หรอก สมดุลแบบพลวัตรไม่มีวันสิ้นสุด มันจะเปลี่ยนไปเรื่อย นั่นคือ ในที่สุดเมื่อป่าทึบมากก็สะสมซากกิ่งไม้ไว้มาก พวกนี้เป็นเชื้อเพลงอย่างดีเลย สักวันหนึ่งก็อาจเกิดไฟไหม้ป่าได้อีก แล้วทุกอย่างก็กลับไปตั้งต้นใหม่”




“สมดุลแบบพลวัตรไม่มีอะไรคงตัว และสุดท้ายก็หนีไม่พ้นกฎของวัฏจักร ชิมิ ชิมิ” ลุงพูดอย่างถึงบางอ้อ

“แม่นแล้ว อาจกล่าวได้ว่าวัฏจักรก็คือวงจรของสมดุลแบบพลวัตรนั่นเอง” ลุงแมวน้ำตอบ “เห็นไหมว่าคุยกันไปคุยกันมา ก็วกกลับมาที่เรื่องเดิม คือวัฏจักร ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าการขี่จักรยานล้อเดียว หมาจิ้งจอกกับกระต่าย ป่าไม้ หรือแม้แต่การโคจรของดวงจันทร์ หรือระบบสุริยะ ล้วนแต่เป็นสมดุลแบบพลวัตร และก็อยู่ในกฎของวัฏจักรหรือกฎอนิจจังทั้งสิ้น”





“เดี๋ยวก่อนนะจ๊ะลุง ฉันขอขัดคอหน่อยเถอะ” ยีราฟพูดอย่างอดรนทนไม่ได้ “นี่ลุงจะคุยเรื่องธรรมะหรือคุยเรื่องหุ้นกันแน่ ฉันฟังเรื่องป่าของลุงแล้วยังไม่เข้าใจว่าเกี่ยวกับหุ้นหรือการลงทุนตรงไหนเลย ลุงพาออกป่าไปไกลเชียว”

“เออ นั่นสินะ” สมาชิกทุกตัวเห็นด้วย “ลุงแมวน้ำพาเดินออกป่าไปไกลเลย คงหลงป่าแล้วมั้ง”

“ลุงไม่ได้พาหลงป่า ก็อยู่แถวๆนี้แหละ ที่ลุงเล่ามานั้นเกี่ยวกับการลงทุนทั้งนั้น” ลุงแมวน้ำพูด “ใจเย็นๆ ค่อยๆฟังลุงเล่า อย่ารีบ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นแนวคิด ดังนั้นต้องฟังแล้วค่อยๆคิด ค่อยๆทำความเข้าใจ อย่าใจร้อน


สมดุลแบบพลวัตรและทฤษฎีดาว


“พวกเราที่ศึกษาทางด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคมาบ้างคงรู้จักทฤษฎีดาว (Dow Theory) กัน โดยเฉพาะข้อหนึ่งที่บอกว่า price discounts all news หรือ ราคารับรู้ข่าวสารไว้แล้วทั้งหมด แปลความหมายได้ว่าราคาหุ้นคือผลลัพธ์สุดท้ายที่เกิดจากข้อมูลข่าวสารทั้งหมดในตลาด

“ที่ลุงยกตัวอย่างสมดุลแบบพลวัตรด้วยตัวอย่างหมาจิ้งจอกกับกระต่ายนั้น ตัวอย่างนั้นมีตัวละครเพียงสองตัว คือหมาจิ้งจอกกับกระต่าย เวลาเราทำความเข้าใจก็จะง่าย เพราะสมดุลของหมาจิ้งจอกกับกระต่ายสัมพันธ์กัน หมาจิ้งจอกมากกระต่ายก็น้อย หมาจิ้งจอกน้อยกระต่ายก็มาก แล้วก็เขียนออกมาเป็นกราฟ 2 เส้น

“แต่ในกรณีของการเกิดป่า เราจะเห็นว่ามีปัจจัยมาเกี่ยวข้องมากมาย วัชพืช ไม้ล้มลุกปีเดียว ไม้ลุ้มลุกพุ่ม ไม้เนื้ออ่อน ไม้เนื้อแข็ง ไม้แต่ละกลุ่มก็ประกอบด้วยหลายชนิดไม่ได้มีเพียงชนิดเดียว นอกจากนี้ยังมีจุลินทรีย์ แมลง และสัตว์อื่นๆเข้ามาอาศัยในป่า สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีผลต่อกันและกัน ซึ่งหากเขียนวัฏจักรชีวิตของสิ่งมีชีวิตในป่าเป็นรายชนิด คงได้เส้นกราฟเป็นแสนๆเส้นทีเดียว

“แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากเราสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงของป่าหรืออาจพูดว่าสนใจดูดุลยภาพแบบพลวัตรของป่าในแบบองค์รวม เราก็ไม่จำเป็นต้องไปศึกษาวัฏจักรของสิ่งมีชีวิตเป็นรายชนิด เราก็ดูเพียงแต่วัฏจักรของระบบนิเวศป่าเท่านั้น ซึ่งสามารถแทนได้ด้วยกราฟเพียงเส้นเดียว เพราะดุลยภาพของป่านั้นคือดุลยภาพของทุกสรรพสิ่งและสรรพชีวิตที่อยู่ในป่ามารวมกัน

“และทฤษฎีดาวที่ว่า price discounts all news นั้นก็มาจากกฎธรรมชาติเรื่องดุลยภาพแบบพลวัตรแบบองค์รวมนั่นเอง โดยราคาหุ้นนั้นเป็นผลมาจากข้อมูลข่าวทุกอย่างที่นักลงทุนรับรู้ ผ่านกระบวนการด้านอารมณ์ของนักลงทุน และออกมาเป็นแรงซื้อและแรงขายที่สู้กันและเข้าสู่ดุลยภาพในที่สุด แต่ดุลยภาพนั้นไม่คงตัว เพราะข้อมูลข่าวสารเปลี่ยน อารมณ์นักลงทุนเปลี่ยน ราคาก็เปลี่ยน ดังนั้นการเคลื่อนไหวของราคาจึงเป็นสมดุลแบบพลวัตร คือสมดุลได้ชั่วขณะหนึ่ง แล้วสมดุลนั้นก็เคลื่อนตัวไป

“และการเคลื่อนตัวของสมดุลแบบพลวัตรนั้นเองที่ทำให้เกิดแนวโน้ม (trend) นี่ก็เป็นทฤษฎีดาวอีกเช่นกัน”

“อือม์ จริงด้วย” ลิงพยักหน้าแบบเข้าใจ ส่วนยีราฟยังทำหน้างุนงง

“ลุงอยากขอเสริมในประเด็น price discounts all news ในทฤษฎีดาวอีกสักหน่อย เราต้องเข้าใจให้กระจ่างว่าราคาหุ้นไม่ใด้เป็นดุลยภาพแบบพลวัตรของข้อมูลข่าวสารทุกอย่างในโลก เป็นแต่เพียงดุลยภาพของจิตวิทยานักลงทุนที่ตอบสนองต่อข้อมูลข่าวสารที่ตนรับรู้เท่านั้น

“ยกตัวอย่างเช่น หุ้น A มีนักลงทุนเทรดกันเพียง 3 คน การเคลื่อนไหวของราคาเป็นผลมาจากจิตวิทยาของนักลงทุนทั้งสามคนนี้ที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ข้อมูลข่าวสารนั้นไม่ใช่ข่าวสารของทั้งโลกที่เกี่ยวกับหุ้นตัวนี้ แต่เป็นข้อมูลข่าวสารเท่าที่ทั้งสามคนรับรู้มาเท่านั้น

“ยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง หุ้น google ที่นักลงทุนเทรดกันทั่วโลก สมมติว่ามีนักลงทุนเทรดกันสักหนึ่งล้านคน ราคาของหุ้น google ก็เป็นดุลยภาพของปัจจัยทางจิตวิทยาจากข้อมูลข่าวสารที่นักลงทุนทั่วโลกหนึ่งล้านคนนั้นรับรู้มา

“ดังนั้น ประโยคที่ว่า price discounts all news นั้น หากเป็นหุ้น A  คำว่า all news ก็คงหมายถึงข่าวสารเพียงไม่กี่ชิ้น เพราะเทรดกันเพียง 3 คน คนเพียง 3 คนจะไปรับรู้ข่าวอะไรได้มากมาย แต่หากเป็นหุ้น google คำว่า all news จะหมายถึงข้อมูลข่าวสารนับล้านชิ้นจากนักลงทุนล้านคนทั่วโลก สรุปว่า all news ไม่ใช่หมายถึงข้อมูลทั้งหมดจริงๆ แต่หมายถึงข้อมูลเท่าที่นักลงทุนที่เกี่ยวข้องรับรู้เท่านั้นเอง

“สุดท้ายนี้ ลุงแมวน้ำขอสรุปว่า สมดุลแบบพลวัตรอันเป็นกฎธรรมชาตินั้นสามารถนำมาประยุกต์กับการลงทุนได้ โดยยกตัวอย่างทฤษฎีดาวมาให้ดู ว่าสมดุลแบบพลวัตรนั้นทำให้เกิดวัฏจักรราคา และทำให้เกิดแนวโน้มได้อย่างไร และด้วยการต่อยอดหลักของสมดุลแบบพลวัตรนี้ ยังทำให้เรานำไปประยุกต์กับการกำหนดจุดซื้อขายได้อีกด้วย”

“หา ใช้กำหนดจุดซื้อขายได้จริงเหรอฮะลุง ทำได้ไงเนี่ย” กระต่ายน้อยสนใจ

“ยังไม่บอก ขอลุงพักก่อนนะคร้าบ” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “ขอกั๊กหน่อย”

Thursday, March 12, 2015

กนง ลดอัตราดอกเบี้ย, การลงทุนต่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน


เมื่อวาน กนง ลดอัตราดอกเบี้ยลงหนึ่งสลึง เหลือเป็น 1.75% ต่อปี นี่เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นการส่งสัญญาณนโยบายทางการเงินของ ธปท ส่วนธนาคารจะปรับอัตราดอกเบี้ยตามหรือไม่ เมื่อไร และอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร บางทีธนาคารเฉยอยู่หลายเดือนค่อยปรับอัตราดอกเบี้ยตามก็เคยเกิดมาแล้ว ตลาดหุ้นก็เด้งรับข่าวทันที แม้จะยังไม่เห็นผลในเชิงเศรษฐกิจจริงแต่ว่าผลในเชิงจิตวิทยานั้นเกิดขึ้นทันที กำลังใจในตลาดหุ้นมาโดยพลัน โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มอสังหาฯและลีสซิง ^_^

สำหรับรอบนี้ ธนาคาร SCB นำร่องประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตอบสนอง ธปท ทันทีเลย ลดแต่ด้านเงินกู้ด้วย เงินฝากยังไม่ลด ธนาคารอื่นๆน่าจะทยอยลดตาม ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องติดตามเรื่องหนี้ครัวเรือนกันต่อไป

แวะมาพูดเรื่องการลงทุนในต่างประเทศกันบ้าง ขอโกอินเตอร์สลับฉากบ้าง ดังที่ลุงแมวน้ำบอกว่ายูโรอ่อน เยอรมนีได้อานิสงส์ เมื่อคืนตลาดหุ้นเยอรมนีขึ้นแรง ดัชนีแดกซ์ (DAX) ขึ้นประมาณ 300 จุด หรือ +2.7%

การลงทุนในต่างประเทศนั้นปัจจุบันไม่ง่าย เพราะว่าอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมาก ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นบางทีไม่คุ้มกับผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นนักลงทุนที่คิดจะลงทุนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะลงทุนกับกองทุนรวมที่จัดตั้งในประเทศไทย หรือไปลงทุนในหุ้นหรือกองทุนในต่างประเทศ ต้องพิจารณาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้ดี ต้องคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนคล่องนิดหนึ่ง ไม่อย่างนั้นขาดทุน

ลุงแมวน้ำจะยกตัวอย่างให้ดู วันนี้มีภาพ 2 ภาพ เป็นการลงทุนในตลาดเยอรมนีและตลาดญี่ปุ่น




ภาพแรก เป็นการลงทุนในดัชนีแดกซ์ของตลาดหุ้นเยอรมนี การตีความภาพนี้ให้เข้าใจง่ายก็คือ ดูเส้นสีแดงคือผลตอบแทนของดัชนีในรอบ 1 ปีที่ลงทุนเป็นเงินยูโร เป็นผลตอบแทน +27.5% ทีเดียว

แต่นั่นคือภาพลวงตา เพราะหากเรากำเงินดอลลาร์ สรอ ไปลงทุนในดัชนีแดกซ์ ผลตอบแทนในรอบ 1 ปีที่เราได้จริงคือ -3.27% คือขาดทุน เนื่องจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน (ดูเส้นสีเหลือง เส้น EWG)

แต่ถ้าหากเรามีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน จะซื้อเป็นฟอร์เวิร์ดหรือซื้อฟิวเจอร์สก็ตาม ก็จะได้ผลตอบแทนประมาณ +17.6% (ดูเส้นสีส้ม HEWG)




เอาละ ทีนี้มาดูกันอีกภาพหนึ่ง เป็นภาพการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ในรอบ 1 ปี ดัชนีนิกเกอิที่ลงทุนเป็นเงินเยนปรับตัวขึ้น +26%

แต่ถ้าหากกำเงินดอลลาร์ สรอ ไปลงทุน ผลตอบแทนจะเหลือเพียง 8.2% เพราะผลจากเงินเยนอ่อนค่า (ดูเส้นสีเหลือง EWJ)

แต่ถ้าหากเรามีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน จะซื้อเป็นฟอร์เวิร์ดหรือซื้อฟิวเจอร์สก็ตาม ก็จะได้ผลตอบแทนประมาณ +27.4% (ดูเส้นสีส้ม HEWJ) เหตุที่ผลตอบแทนมากกว่าดัชนีนิกเกอิเนื่องจากกราฟเส้นนี้อิงดัชนี MSCI Japan ไม่ได้อิงดัชนีนิกเกอิจริงๆ แต่ลุงแมวน้ำนำมาให้ดูเป็นเชิงเปรียบเทียบผลระหว่างการป้องกันความเสี่ยงกับไม่ป้องกันความเสี่ยงมากกว่า

สองภาพนี้ลุงแมวน้ำเปรียบเทียบผลจากการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในเงินสกุลที่อ่อนค่ามาก และที่เล่ามานี้เป็นด้านเงินดอลลาร์ สรอ หากเราลงทุนเป็นเงินบาท ต้องแปลงเงินบาทเป็นดอลลาร์ ต้องคิดผลจากอตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินดอลลาร์ สรอ อีกชั้นหนึ่ง ดังนั้นการลงทุนต้องคิดถึงอัตราแลกเปลี่ยนทั้ง 2 ขา ไม่ใช่เพียงขาเดียว

สำหรับนักลงทุนไทยที่ลงทุนกับกองทุนรวมในไทย การลงทุนกับกองทุนรวมที่เป็นกองทุนรวมลงทุนต่างประเทศ (FIF) นั้น นักลงทุนควรตรวจสอบเรื่องการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนให้ละเอียด ว่าป้องกันความเสี่ยงกี่ขา ป้องกันมากน้อยเพียงใด ปัจจุบันมีกองทุนจำนวนไม่น้อยที่ระบุในเอกสารว่า "ป้องกันความสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลพินิจ" ข้อความทำนองนี้ก็ไม่รู้ว่าดุลพินิจคือเท่าไรกันแน่ ดังนั้นต้องสอบถามและดูกราฟผลตอบแทนให้ละเอียด และกราฟ perfomance หรือผลตอบแทนกองทุนนั้นต้องเป็นกราฟ nav ที่เป็นเงินบาทด้วย บางทีเราดูแต่กราฟผลตอบแทนที่เป็นสกุลดอลลาร์ ก็อาจพลาดได้

กองทุนรวมที่ไม่ใช่กองทุนรวมอิงดัชนี แต่ลงทุนเป็นธีม ยกตัวอย่างเช่นกองทุนรวมเฮลท์แคร์ หรือกองทุนรวมสุขภาพที่ตอนนี้กำลังฮิต ก็ไปลงทุนต่างประเทศ ปัจจัยเรื่องค่าเงินจึงมีผลด้วย ก็ต้องระมัดระวัง

สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนเอง เช่น ซื้อหุ้น อีทีเอฟ หรือซื้อฟิวเจอร์ส ออปชัน ในตลาดต่างประเทศเอง สมัยนี้ก็ไม่ง่าย ต้องคำนวณและป้องกันความเสี่ยงทั้งสองขาเอาเอง การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของนักลงทุนรายย่อยนั้นไปทำฟอร์เวิร์ดไม่ไหวหรอก น่าจะเป็นการซื้อฟิวเจอร์สค่าเงินเข้าช่วยจะคล่องตัวกว่า อันนี้คุยให้ัฟังคร่าวๆ ยังไม่ลงรายละเอียด ยกตัวอย่างเช่น หากไปลงทุนในดัชนีนิกเกอิในตลาดญี่ปุ่นที่ใช้เงินเยน ก็ต้องไปซื้อฟิวเจอร์สนิกเกอิ (เยน) และซื้อฟิวเจอร์สดอลลาร์-เยน อีก แต่ฟิวเจอร์สบาท-ดอลลาร์อาจไม่ต้อง เพราะบาทดอลลาร์ตลอดปีมานี้ค่อนข้างเสถียร ไม่ต้องก็ได้ ดังนี้เป็นต้น

การลงทุนในประเทศที่หาเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้ (คืออาจมีแต่ยุ่งยากจนใช้ไม่ได้) ต้องระมัดระวังให้มากนะคร้าบ

Wednesday, March 11, 2015

ค่าเงินดอลลาร์ สรอ ราคาทองคำ และตลาดหุ้น จะไปถึงไหน






ช่วงนี้ลุงแมวน้ำเขียนบทความถี่หน่อย เพราะต้องการอัปเดตสถานการณ์แก่เพื่อนนักลงทุน แต่ละบทความเกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้น ควรอ่านบทความก่อนหน้านี้ประกอบด้วย ^_^

คำว่าจะไปถึงไหนนี้มีความหมายได้หลายอย่าง หมายถึงว่าจะขึ้นไปถึงไหน หรืออาจหมายถึงว่าจะลงไปถึงไหนก็ได้

เมื่อคืน (เวลาบ้านเรา) ตลาดหุ้นอเมริกาก็ปรับตัวลงค่อนข้างแรง ดัชนี S&P 500 ร่วง -1.7% สาเหตุก็มาจากเงินดอลลาร์ สรอ แข็งนั่นเอง ที่เงินดอลลาร์แข็งก็เพราะเงินยูโรอ่อนค่าอย่างแรงเพราะโครงการคิวอีของยูโรโซนเริ่มทำงานแล้ว ตอนนี้นักลงทุนเข้าสู่โหมดกังวลอีกแล้ว ทั้งเรื่องเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งเรื่องเงินดอลลาร์แข็งค่า

ดังที่ลุงแมวน้ำบอกว่าตลาดหุ้นอเมริกาชี้นำทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก อเมริกาจาม ตลาดอื่นก็คัดจมูกไปด้วย เมื่อคืนตลาดหุ้นอเมริกาลงค่อนข้างแรง แม้แต่ตลาดหุ้นเยอรมนีที่ได้รับผลดีจากเงินยูโรอ่อนค่าก็ไม่วายร่วงไปด้วย ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีร่วงแต่ไม่มาก แค่ -0.7%

เงินยูโรจะอ่อนไปเพียงใด เงินดอลลาร์ สรอ จะแข็งไปแค่ไหน และตลาดหุ้นจะปรับตัวลงมาเพียงใด เรื่องพวกนี้ตอบยากเพราะผลกระทบซึ่งกันและกันซับซ้อน อีกทั้งเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาด้วย คือเป็นอารมณ์ตลาด โดยเฉพาะเรื่องค่าเงินนั้นประเมินยากเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้นสามารถถูกแทรกแซงได้ เพราะแต่ละประเทศก็ต้องบริหารจัดการค่าเงินของตนเอง ดังนั้นปัจจัยพื้นฐานก็ไม่มี ปัจจัยทางเทคนิคก็ช่วยไม่ได้มากเพราะตลาดถูกแทรกแซงได้ การประเมินจึงค่อนข้างยากและมีโอกาสผิดพลาดสูง และยิ่งไปกว่านั้น ตอนนี้ราคาทองคำก็ประเมินยากเช่นกันเพราะทองคำก็ถือเป็นเงินตราสกุลหนึ่งด้วย (ทองคำมีหลายสถานะ ทั้งสินค้าเก็งกำไร สกุลเงิน สินทรัพย์ต้านเงินเฟ้อ ฯลฯ แล้วแต่มุมมอง)

ลุงแมวน้ำก็พยายามประเมินสถานการณ์ระยะสั้นมาให้พวกเราพิจารณากัน ก็ใช้มุมมองทางเทคนิคเป็นหลักก็แล้วกัน ดังที่บอกว่าปัจจัยพื้นฐานก็ไม่มี ปัจจัยทางเทคนิคก็ประเมินยากเพราะตลาดถูกแทรกแซงได้ ลุงจึงเลือกใช้การประเมินด้วยฟิโบนาชชีเป็นหลัก เนื่องจากฟิโบนาชชีเป็นกฎธรรมชาติ ลุงแมวน้ำคิดว่าสรรพสิ่งย่อมยากหลีกหนีกฎธรรมชาติ ดังนั้นใช้ฟิโบนาชชีนี่แหละ น่าจะเป็นเครื่อมือในการประเมินที่ดีที่สุด


วิเคราะห์เงินยูโร


เราจะเริ่มจากอะไรดีล่ะ ต้องคิดทีละเปลาะก่อน ปัญหาไม่ได้มาจากค่าเงินดอลลาร์ สรอ แต่ต้นตอมาจากเงินยูโรกับเยน เพราะสองสกุลนี้กำลังทำคิวอีอยู่ ดังนั้นเราลองมาดูค่าเงินยูโรกัน ดังกราฟต่อไปนี้


เงินยูโรอ่อนค่าหนักเพราะมาตรการคิวอีของธนาคารกลางยุโรป แนวรับสำคัญคือ 1.12 และ 1.00 ยูโร/ดอลลาร์ สรอ

จะเห็นว่าระดับฟิโบนาชชีสำคัญของยูโรคือ 1.12 กับ 1.00 ยูโร/ดอลลาร์ สรอ ขณะนี้ยูโรอยู่ที่ 1.07 ยูโร/ดอลลาร์ สรอ ถือว่ายังอยู่ในแนวรับสำคัญคือ 1.12 อยู่ เพราะนี่เป็นการวัดระดับคลื่นใหญ่ ไม่ต้องเป๊ะมาก ต้องเผื่อช่วงคลาดเคลื่อนไว้พอสมควร

ดังนั้นเป็นไปได้ว่า หากมีสถานการณ์อะไรที่สร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน เงินยูโรก็อาจหยุดไหลลงเพียงแค่นี้ แต่หากหยุดไม่อยู่ก็ไปพบกันที่แนวถัดไป 1.00 ยูโร

เงินเยนมีน้ำหนักต่อดอลลาร์ สรอ น้อยกว่ายูโร ดูแต่ยูโรก็ได้ ลุงแมวน้ำขอข้ามเงินเยนไปละกัน ไปดูที่ดอลลาร์ สรอ กันเลย


วิเคราะห์เงินดอลลาร์อเมริกา (ดอลลาร์ สรอ)


ดูกราฟ USD index หรือดัชนีดอลลาร์ สรอ จะเห็นว่าแนวต้านสำคัญอยู่ที่ 97 จุด กับ 104 จุด ซึ่งเป็นแนวต้านตามระดับฟิโบนาชชี ตอนนี้เงินดอลลาร์ก็ถือว่าอยู่ที่แนวต้าน 97 นี่แหละ อาจหยุดแค่ตรงนี้ก็ได้ หากยูโรหยุดไหล ดอลลาร์ สรอ ก็หยุดพุ่ง รวมทั้งราคาทองคำก็เช่นกัน ก็อาจหยุดร่วงแถวๆนี้


เงินดอลลาร์ สรอ ดูจากดัชนีดอลลาร์ สรอ (USD index) มีแนวต้านที่ 97 และ 104 จุดตามลำดับ



มุมมองต่อตลาดหุ้นอเมริกาและตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น


ทีนี้ก็มาตลาดหุ้นอเมริกา ดูดัชนี S&P 500 กัน ภาพต่อไปนี้


ตลาดหุ้นอเมริกากำลังทดสอบแนวต้านสำคัญอยู่ที่ 2140 จุด

ดังที่ลุงแมวน้ำคุยให้ฟังแล้วว่าหากเงินดอลลาร์ สรอ แข็งจะเป็นผลเสียต่อตลาดหุ้นอเมริกา และจะลามไปตลาดหุ้นอื่นๆ ตอนนี้ก็เริ่มเห็นผลแล้ว

ในทางเทคนิค ตลาดหุ้นอเมริกากำลังทดสอบแนวต้านฟิโบนาชชีที่สำคัญอยู่ นั่นคือ ระดับ 1240 จุด เห็นไหมว่าระดับฟิโบนาชชีสำคัญของตลาดหุ้น เงินดอล และยูโร สอดคล้องกันอย่างน่าประหลาด 

ตลาดหุ้นอเมริกาคงป้วนเปี้ยนอยู่แถวนี้ก่อน หากเงินดอลแข็งค่าต่อเนื่อง คราวนี้คงลงยาว เนื่องจากหากผ่านแนวต้านสำคัญไม่ได้จะปรับตัวลงลึก แต่หากเงินดอลอ่อนค่าลง นักลงทุนมีความมั่นใจ คราวนี้ก็ไปพบกันที่ 2400 จุด 



มาดูตลาดหุ้นไทยกันบ้าง ในช่วงที่ตลาดหุ้นอเมริกากำลับทดสอบระดับฟิโบนาชชีนี้อยู่ ตลาดหุ้นไทยคงลงไม่ลึก ไม่น่าหลุด 1450 จุด  อาจลงไม่ถึงก็ได้ แต่หากตลาดอเมริกาไหลลงลึก เอาไว้เกิดแล้วค่อยมาดูกันอีกที >.<

สำหรับประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยเฟด ลุงแมวน้ำไม่ค่อยกังวล สิ่งสำคัญอยู่ที่ขวัญกำลังใจหรือจิตวิทยานักลงทุนมากกว่า และตอนที่เฟดบอกว่าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นมันก็นานหลายเดือนมาแล้ว ปัจจัยเรื่องคิวอียุโรปยังส่งผลไม่ชัด ค่าเงินยังไม่แข็งขนาดนี้ ตอนนี้ลุงว่าป้าเจนและเฟดคงทบทวนสถานการณ์กัน เพราะอัตราเงินเฟ้อยังไม่เร่งตัว แต่หากเร่งตัวเมื่อไร เฟดก็จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย

นี่แหละคร้าบ ก็ค่อยประเมินสถานการณ์กันทีละเปลาะ แต่นี่เป็นมมุมมองสถานการณ์ระยะสั้น มองระยะยาวก็ยังคงเดิม รถไฟสาย 2000 ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

Tuesday, March 10, 2015

ดอลลาร์อเมริกันแข็งค่า เมื่อป้าเจน (เฟด) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย


กราฟดัชนีดอลลาร์ สรอ (USD index) แสดงค่าเงินดอลลาร์ แสดงให้เห็นว่าเงินดอลลาร์ สรอ ในช่วงนี้แข็งค่าผิดปกติ แข็งค่ากว่าตอนก่อนใช้คิวอีเสียอีก


เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐอเมริกาประกาศตัวเลขการจ้างงานออกมาดี ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นักลงทุนเข้าสู่โหมดกังวลอีกเช่นเคย เกรงว่าป้าเจนจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดในเร็วๆนี้อีก


เศรษฐกิจอเมริกาดี นักลงทุนกลับแตกตื่นเฟด


ป้าเจนแสดงท่าทีออกมาแล้วว่าภายในครึ่งปีแรกนี้ยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแน่ แต่หลังจากนั้นไปแล้วก็ต้องขึ้นกับข้อมูลตัวเลขต่างๆ ซึ่งลุงแมวน้ำคิดว่าแม้แต่เฟดเองก็ไม่รู้หรอกว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไรกันแน่ เนื่องจากต้องใช้ตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายๆตัวชี้วัดมาตัดสินใจ ดังนั้นจึงบอกได้แต่แนวทาง แต่ระบุเงื่อนเวลาไม่ได้ เพราะข้อมูลเศรษฐกิจก็ไม่นิ่ง เดี๋ยวดี เดี๋ยวไม่ดี อย่างนั้นดี อย่างนี้ไม่ดี ก็ต้องดูกันไปเรื่อยๆ เมื่อไรก็เมื่อนั้นแหละ

แต่จากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในตอนนี้ เป็นภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น นักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์ก็กะเก็งกันว่าเฟดน่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน 2015 นี้แหละ ซึ่งคราวนี้ดูท่าทางนักลงทุนจะมั่นใจมากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์ สรอ จึงได้แข็งค่าอย่างต่อเนื่องมาสักพักหนึ่งแล้ว

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจเบื้องต้นกันก่อนว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือว่า QE ที่ทำมาตั้งแต่สมัยลุงเบนนั้นคือการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ เงินที่อัดฉีดนั้นมาจากไหนกันล่ะ หากเป็นประเทศอื่นก็ยาก เพราะต้องกู้หนี้ยืมสินกันวุ่นวายเพื่อเอาเงินมาอัดฉีด แบบกรีซตอนนี้ไง ต้องกู้เงินจากธนาคารกลางยุโรปมาใช้ ซึ่งเจ้าหนี้ก็ใช่ว่าจะให้กู้ง่ายๆ ต้องมีเงื่อนไขโน่นนี่นั่น วุ่นวายไปหมด

การหาเงินมาอัดฉีดสำหรับอเมริกานั้นก็เล่นไม่ยาก ขาใหญ่เสียอย่าง ไม่ต้องไปกู้ใคร ซึ่งเราเรียกกันเล่นๆว่าพิมพ์เงินเพิ่มนั่นเอง  เพราะว่าเป็นเงินที่ไม่มีอะไรมารองรับ มีแต่เครดิตของความเป็นขาใหญ่เท่านั้น

เมื่อเศรษฐกิจขออเมริกาฟื้นจากไข้ ธนาคารกลางก็จำเป็นต้องเก็บเงินดอลลาร์ สรอ ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจออกไปจากระบบ เพราะหากไม่เก็บคืนมันก็คือหนี้สาธารณะนั่นเอง และการที่เงินตรามีมากเกินไปในระบบเศรษฐกิจก็จะทำร้ายระบบเศรษฐกิจเองในที่สุด ดังนั้นจำเป็นต้องเก็บเงินกลับออกไป โดยกระบวนการเก็บเงินกลับนี้คือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

นักลงทุนทั่วโลกก็กะเก็งกันว่าเมื่ออเมริกาขึ้นอัตราดอกเบี้ยและดูดเงินออกไปจากระบบ เมื่อนั้นสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ก็จะน้อยลง เงินดอลลาร์ สรอ ก็จะแข็งค่าขึ้น อันเป็นไปตามหลักอุปสงค์-อุปทาน นั่นเอง

ทีนี้ก็เข้าทางนักลงทุน ที่ไหนมีโอกาส ที่นั่นก็มีการลงทุนเพื่อเก็งกำไร นักลงทุนก็คาดการณ์กันว่าหากป้าเจนขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินดอลลาร์จะแข็ง หุ้นจะตก ดังนั้นจึงน่าจะมีนักลงทุนบางส่วนที่นำเงินดอลลาร์ไปลงทุนในประเทศต่างๆรีบขายหุ้นในประเทศนั้นๆและรีบซื้อเงินดอลลาร์ สรอ เอาไว้ ที่เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์เงินดอลลาร์ สรอ ไหลกลับประเทศนั่นเอง คนเราพอกลัวว่าจะเกิดมันก็เกิดขึ้นจริงๆ เพราะการกระทำของนักลงทุนเองนั่นแหละ

ทีนี้ประเด็นอยู่ตรงที่ว่าการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ ในรอบนี้ซึ่งดำเนินอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ กรกฎาคม 2014 นั้นค่อนข้างผิดปกติ ลองสังเกตดูในกราฟค่าเงินดอลลาร์ สรอ ของลุงแมวน้ำดูก็จะพบว่าตอนที่ลุงเบนใช้คิวอี 3 ซึ่งเป็นคิวอีรอบที่อัดฉีดเงินเข้าในระบบมากที่สุด ราวๆกลางปี 2012 ตั้งแต่นั้นมา เมื่อมีเงินเข้าในระบบเศรษฐกิจแล้วเงินดอลลาร์ก็ไม่ได้อ่อนค่าอะไรมากมาย แค่แกว่งขึ้นลงในกรอบ 80-85 จุดเท่านั้น ตอนอัดฉีดเงินไม่ได้อ่อนค่ามากมาย รวมทั้งหากมองย้อนไปถึงปี 2006 ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ค่าเงินดอลลาร์ก็ยังไม่แข็งขนาดนี้ (ตอนนั้น usd index อยู่ที่ประมาณ 92 จุด) แต่เหตุใดตอนจะเก็บเงินกลับ (ตอนนี้ยังไม่ได้เก็บเงินกลับด้วย แค่เตรียมตัวจะเก็บเท่านั้น) เงินดอลลาร์ก็แข็งค่ามากมาย วิ่งมาถึง 97-98 จุดแล้ว น่าคิดอยู่เหมือนกัน





นโยบายของเฟดไม่ทำร้ายตลาดหุ้นตนเอง


ที่เป็นเช่นนี้เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างผิดปกติ สาเหตุหลักน่าจะมี 2 ประการ คือ ข้อแรก เป็นการเก็งกำไรของนักลงทุน ข้อสอง เกิดจากการที่เงินตราสกุลอื่นๆทำตัวเองให้อ่อนค่า เช่น เงินเยน เงินยูโร ที่ทำคิวอี เงินจึงอ่อนค่า กับเงินตราสกุลอื่นๆที่ทำตัวให้อ่อนค่าเพื่อป้องกันเงินไหลเข้าประเทศมากเกินไป ส่วนเหตุผลอื่นๆน่าจะเป็นประเด็นรอง

คงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าสหรัฐอเมริกานั้นเป็นเศรษฐกิจทุนนิยม ดังนั้นนโยบายการเงินการคลังต่างๆจึงเป็นแนวทางส่งเสริมตลาดทุน หรือจะพูดง่ายๆให้เจาะจงก็คือเฟดไม่ทำร้ายตลาดหุ้น ดังนั้นแม้จะเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เฟดก็ต้องระวัง เพราะต้องทำเพื่อส่งเสริมตลาดหุ้นให้เข้มแข็ง ไม่ใช่ทำร้ายตลาดหุ้นอเมริกา เพราะอสังหาฯและหุ้นเป็นส่วนหนึ่งของวิถีความมั่งคั่งของคนอเมริกัน (ยกเว้นแต่เป็นการทำร้ายตลาดหุ้นโดยไม่ตั้งใจ เช่น การตัดสินใจที่ผิดพลาด ฯลฯ) ดังนั้นป้าเจนจึงดูแล้วดูอีก ไม่ผลีผลามทำอะไรลงไป และเมื่อเราเข้าใจประเด็นนี้ก็น่าจะเบาใจได้ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดนั้นไม่ทำให้ตลาดหุ้นอเมริกาเสียหาย และเมื่อตลาดหุ้นอเมริกาไปต่อได้ ตลาดหุ้นไทยและประเทศอื่นๆที่มักมีทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอเมริกาก็ควรไปต่อได้เช่นกัน อาจมีตกใจบ้างก็ควรเป็นเหตุการณ์ระยะสั้น ดังนั้นอย่าไปกลัวเรื่องเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย ควรมองว่านั่นกลับเป็นโอกาสมากกว่า

เอาละ ทีนี้ ขณะนี้เฟดก็เล็งๆจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนเงินดอลลาร์ สรอ ก็แข็งค่าต่อเนื่อง ลองมาดูกันว่าหากดอลลาร์ สรอ แข็งค่ามากเกินสมควรแล้วจะเกิดผลอะไรบ้าง


เมื่อดอลลาร์ สรอ แข็งเกิน อะไรจะเกิดขึ้น


เงินดอลลาร์แข็ง ทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นอเมริกาลดลง คะเนกันว่าผลประกอบการของหุ้นใน S&P 500 นั้นมีราวๆครึ่งหนึ่งที่เป็นรายได้มาจากต่างประเทศเนื่องจากไปตั้งฐานการผลิตที่ประเทศอื่น หากเงินดอลลาร์ สรอ แข็ง ผลประกอบการของบริษัทในตลาดหุ้นจะลดลง ข้อนี้กระทบตลาดหุ้น

เงินดอลลาร์แข็ง ทำให้สินค้าส่งออกของอเมริกาขายยาก เพราะราคาแพง หลายปีที่ผ่านมานี้น้าบารักใช้นโยบายเรียกบริษัทอเมริกันกลับบ้าน คือย้านฐานการผลิตกลับบ้าน ก็กลับมาพอสมควร บริษัทเหล่านี้จะได้รับผลประทบมาก เท่ากับทำร้ายผู้ประกอบการในประเทศ

เงินดอลลาร์แข็ง ทำให้สินค้านำเข้าถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ ก็ทำร้ายผู้ประกอบการในกระเทศอีก

แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าดอลลาร์แข็งจะไม่ดีต่ออเมริกา ข้อดีที่เห็นชัดคือ ตอนนี้ทั่วโลกกำลังเกิดกระแสเลิกพึ่งเงินดอลลาร์ ก็พยายามไปพึ่งเงินสกุลอื่นกัน เงินหยวนก็ทำท่าว่าจะมาแรง การที่ดอลลาร์แข็งบ้างก็จะทำให้โลกต้องหันมาซบเงินดอลลาร์ต่อไป

ดังนั้นลุงแมวน้ำคิดว่าสหรัฐอเมริกาคงพอใจที่เงินดอลลาร์แข็งขึ้นบ้าง แต่ก็ต้องรักษาระดับไว้ไม่ให้แข็งจนเป็นภัยต่อตนเอง และนอกจากนี้ สมัยเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันใกล้เข้ามาเรื่อยๆ หากเศรษฐกิจอเมริกาเกิดสั่นคลอนในช่วงก่อนเลือกตั้ง พรรคเดโมแครตก็แย่เลย คงไม่ยอมให้เป็นแบบนั้นหรอก ซึ่งเฟดนั้นดูแลเรื่องนโยบายการเงิน แต่เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่งานของป้าเจน เป็นงานของกระทรวงการคลัง

ลุงแมวน้ำจึงคาดว่าเงินดอลลาร์ สรอ จะแข็งค่าขึ้นไม่ได้พอสมควร แต่ไม่ควรมากเกินไป คงไม่ได้แข็งทะลุฟ้า รวมทั้งเงินยูโรและเงินเยนที่อ่อนค่าลงมามากแล้ว คงไม่อ่อนไปเรื่อยๆหรอก อีกไม่นาน ทุกอย่างย่อมเข้าสู่ดุลยภาพของมัน ทั้งเงินดอลลาร์ สรอ และเงินสกุลต่างๆจะค่อยๆเข้าที่เข้าทาง และเสถียรขึ้น 

แต่ว่าช่วงนี้ ในขณะที่เงินเยนและยูโรอ่อน ผู้ที่ได้อานิสงส์จากเงินเยนอ่อนคือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพราะส่วนใหญ่มีฐานการผลิตนอกประเทศ ผลจากเงินเยนอ่อนจะทำให้ผลประกอบการดีขึ้น ดังนั้นตลาดหุ้นญี่ปุ่นโดยเฉพาะหุ้นที่เป็นกิจการข้ามชาติจะได้อานิสงส์ ส่วนหุ้นที่เป็นกิจการท้องถิ่นน่าจะได้อานิสงส์น้อย

ส่วนกรณี เงินยูโรอ่อนค่า ผู้ที่ได้ประโยชน์ดีคือเยอรมนี เพราะทำให้ส่งออกได้มากขึ้น เยอรมนีเศรษฐกิจเข้มแข็งอยู่แล้วด้วย ดังนั้นตลาดหุ้นเยอรมนีจึงน่าสนใจ แต่การลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นและหุ้นยุโรปต้องระวังเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เดี๋ยวเรามาคุยกันต่อคร้าบ

นอกจากนี้ เงินหยวนก็อ่อนค่าเช่นกัน ทำให้การส่งออกของจีนดีขึ้น ตลาดหุ้นจีนก็ได้รับอานสงส์เชิงบวกด้วยเช่นกัน

นั่นคือมุมมองด้านการลงทุนสำหรับสามตลาดใหญ่ ส่วนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เช่นไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย ฯลฯ นั้นค่าเงินสกุลท้องถิ่นขึ้นกับกระแสเงินดอลลาร์ สรอ ยูโร กับเยน ตัวอย่างเช่นเงินบาท แม้ดอลลาร์ สรอ แข็งค่า แต่หากมีเงินเยนกับยูโรไหลเข้ามาก็อาจทำให้เงินบาทไม่อ่อนค่านัก ก็ต้องคอยติดตามอัตราแลกเปลี่ยน ตอนนี้สูตรสำเร็จเดิมๆว่าดอลลาร์ สรอ แข็งแล้วบาทจะอ่อนใช้ไม่ได้แล้ว

ส่วนสถานการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลกมักอิงกับทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา หากตลาดหุ้นอเมริกาจาม ตลาดหุ้นประเทศอื่นก็อาจมีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลไปด้วย