Friday, July 31, 2015

มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทย (4)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”







ในตอนนี้เราจะมาดูดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญด้านการใช้จ่ายกันต่อจากตอนที่แล้ว


ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน


ตอนที่แล้วเราได้ศึกษาเกี่ยวกับดัชนีราคาผู้บริโภคอันเป็นตัวชี้วัดด้านราคาสินค้าและบริการ ยังมีตัวชี้วัดด้านการจับจ่ายใช้สอยที่สำคัญอีกตัวชี้วัดหนึ่ง นั่นคือ ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (private consumption index) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดด้านกำลังการจับจ่ายใช้สอยของบุคคล เรามักใช้ดูประกอบกับดัชนีราคาผู้บริโภค สองดัชนีนี้ให้ภาพการบริโภคที่ไม่เหมือนกัน ดัชนีราคาผู้บริโภคบ่งบอกว่าราคาสินค้าถูกหรือแพง ส่วนดัชนีการอุปโภคบริโภคบอกว่าผู้บริโภคซื้อมากน้อยเท่าไร บางทีสินค้าราคาถูกแต่ผู้บริโภคก็ยังไม่จับจ่าย หรือสินค้าราคาแพงแต่ผู้บริโภคก็ยังจับจ่ายอย่างไม่ยั้ง เหล่านี้จะทำให้เกิดภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไป

ดัชนีราคาผู้บริโภคนั้นคำนวนจากการจับจ่ายใช้สอยทั้ง สินค้าสิ้นเปลือง (หรือเรียกว่าสินค้าไม่คงทน เช่น เชื้อเพลิง กระแสไฟฟ้า สินค้าปลีก ฯลฯ) สินค้ากึ่งคงทน (เช่น เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ) สินค้าคงทน (เช่น รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ฯลฯ) การใช้จ่ายภาคบริการ (เช่น การกินอาหารในห้องอาหารหรือภัตตาคาร ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ฯลฯ) และ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็นำเอาข้อมูลการใช้จ่ายใน 5 หมวดเหล่านี้มาคำนวณเป็นดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน


ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนบ่งบอกภาพรวมของการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชน ส่วนดัชนีการใช้จ่ายสินค้าคงทนเน้นที่การใช้จ่ายสินค้าที่อายุใช้งานยาวนานและราคาสูง


เรามาดูกราฟดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (เส้นสีฟ้า) กัน จากกราฟเส้นสีฟ้าจะเห็นว่าการอุปโภคบริโภคในปี 2556 นั้นปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว บ่งบอกถึงการจับจ่ายใช้สอยที่หดตัวลง จากนั้นก็ดีขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปี 2557 พอกลางปี 2557 เป็นต้นมาดัชนีก็รุดตัวเป็นแนวโน้มขาลงมาโดยตลอด มีเดือน พ.ค. 2558 นี่เองที่เด้งขึ้นมาแบบพรวดพราด

เส้นสีฟ้านี้เราอาจจะรู้สึกว่าดูแนวโน้มยาก นั่นเป็นเพราะเป็นดัชนีที่เฉลี่ยจากการอุปโภคบริโภคหลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะพวกสินค้าไม่คงทนหรือของกินของใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันนั้นบางทีอยากจะประหยัดก็ทำได้ยาก เหตุปัจจัยหลายอย่างผสมกันจนผันผวน ทำให้ดูแนวโน้มได้ยาก

ในการพิจารณาเศรษฐกิจนั้นโดยทั่วไป การดูที่การบริโภคสินค้าคงทนอาจเห็นภาพได้ชัดกว่า เนื่องจากหากเศรษฐกิจไม่ดี แม้ว่าผู้บริโภคจะยังซื้อของกินของใช้ทั่วไปแต่มักจะไปชะลอการซื้อของที่อายุใช้งานยาวนานและราคาสูง ซึ่งดัชนีสินค้าคงทนนั้นคำนวณจากการซื้อรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งก็คือของที่มีอายุการใช้งานยาวนานและราคาสูงนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อดูเส้นสีเหลืองหรือดัชนีสินค้าคงทน จะเห็นว่าเป็นขาลงหรือหมายถึงเศรษฐกิจน่าจะไม่ค่อยดีมาตั้งแต่ปี 2556 แล้วเพราะการบริโภคสินค้าคงทนลดลงมาโดยตลอด แต่เราจะสรุปฟันธงเศรษฐกิจจากกราฟเดียวไม่ได้ เพราะผลจากโครงการรถคันแรกที่ดึงกำลังซื้อไปล่วงหน้าก็สะท้อนอยู่ในเส้นนี้ด้วย ดังนั้นจำต้องพิจารณาดัชนีอื่นๆประกอบด้วย


ดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์ ตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญ


ดัชนีอีกชุดหนึ่งที่นิยมใช้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจ นั่นคือ ดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์ ลองดูกราฟต่อไปนี้


ดัชนีราคาอาคารชุดปรับตัวขึ้นได้เร็วและผันผวนสูงเนื่องจากคอนโดมิเนียมมีสภาพเก็งกำไรมากกว่าบ้านเดี่ยว


ดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์นั้นมีดัชนีย่อยหลายดัชนี แต่วันนี้ลุงแมวน้ำนำมาให้ดูกันเพียง 2 ดัชนี นั่นคือ ดัชนีราคาอาคารชุด กับ ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน โดยปกติแล้วหากเศรษฐกิจเติบโต ราคาอสังหาริมทรัพย์จะค่อยๆขยับตัวสูงขึ้น หากเศรษฐกิจโตดีราคาอสังหาก็ขึ้นเร็วหน่อย หากเศรษฐกิจฝืดเคืองราคาอสังหาก็ทรงตัว หรือหากแย่มากก็อาจหดตัวได้

เมื่อพิจารณาจากกราฟ จะเห็นว่าราคาอาคารชุด (ราคาคอนโดมิเนียม เส้นสีเหลือง) ราคาขยับขึ้นเร็วกว่าราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน (เส้นสีฟ้า) อีกทั้งเส้นสีเหลืองยังผันผวนกว่า นั่นเป็นเพราะธรรมชาติของคอนโดมิเนียมมีความเป็นสินค้าเก็งกำไรมากกว่า ราคาจึงขึ้นเร็วกว่าและแกว่งตัวมากกว่า (โดยทั่วไปรูปแบบกราฟราคาคอนโดมิเนียมของไทยนั้นจะมีรูปทรงคล้ายขั้นบันได คือขึ้นแล้วพัก พักแล้วขึ้นต่อ จากนั้นพักอีก เนื่องจากการเก็งกำไรสูงทำให้เกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลายเป็นระยะๆ ซึ่งต้องอาศัยเวลาดูดซับ) การพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจจากดัชนีราคาอาคารชุดจึงอาจตีความยากสักหน่อย

แต่หากลองดูเส้นสีฟ้า ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน ปกติบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินไม่ใช่สินค้าเก็งกำไร ผู้ที่ซื้อมักต้องการอยู่อาศัยอย่างแท้จริง ดังนั้นราคาไม่แกว่งมาก ลุงแมวน้ำว่าการดูแนวโน้มเศรษฐกิจจากดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินจะทำให้เห็นภาพเศรษฐกิจได้ชัดเจนกว่า

จากกราฟ จะเห็นว่าทั้งดัชนีราคาคอนโดกับดัชนีราคาบ้านเดี่ยวตั้งแต่ต้นปี 2558 เป็นต้นมา บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ ทั้งราคาคอนโดและบ้านเดี่ยวทรงตัว สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสดใสนัก ดีที่ยังไม่ใช่แนวโน้มหดตัว แต่ก็ประมาทไม่ได้ ระยะต่อไปจะเป็นอย่างไรก็ยังไม่รู้ 


พิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจด้วยดัชนีผสม


จากดัชนีที่ลุงแมวน้ำคุยมาให้ฟังทั้ง 3 ตอน หากเราลองรวมดัชนีสำคัญมาพล็อตอยู่ในกราฟเดียวกัน เราจะได้ภาพสะท้อนเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ลองมาดูกราฟนี้กัน


ภาพของเศรษฐกิจไทยที่สะท้อนจากดัชนี 4 ดัชนีทั้งภาคธุรกิจการลงทุน และภาคการบริโภค


กราฟนี้เป็นการรวมเอาดัชนีด้านธุรกิจ การค้า การลงทุน มารวมกับดัชนีด้านการบริโภคที่สำคัญ ลุงแมวน้ำเลือกมา 4 ดัชนี คือ ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ ดัชนีค่าใช้จ่ายสินค้าคงทน และดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน จะเห็นว่าทั้งสี่ดัชนีนี้ไม่ทรงก็ลง สะท้อนภาพเศรษฐกิจไทยที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะดัชนีสินค้าคงทนกับดัชนีบ้านเดี่ยวนั้นหากอยู่ในสภาวะทรงตัวหรือทรุดตัวแล้วการจะให้กลับเป็นขาขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานาน แปลความว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกนานพอควรทีเดียว 


หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ชี้ภาพเศรษฐกิจทางอ้อม


การพิจารณาภาพทางเศรษฐกิจนอกจากดูที่การลงทุนหรือการบริโภคแล้ว เรายังอาจดูจากภาคการเงินก็ได้ นั่นคือ ปริมาณหนี้เสีย บางทีก็ดูปริมาณเช็คเด้ง แล้วแต่สะดวก เนื่องจากหากเศรษฐกิจไม่ดีการชำระหนี้ย่อมฝืดเคืองไปด้วย ปริมาณการผิดนัดชำระหนี้ย่อมมากขึ้น

ปกติการจัดชั้นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้นั้น คือหนี้ที่ขาดชำระเกินกว่า 3 เดือน เราก็ดูเอาจากรายงานการจัดชั้นหนี้ หาก NPL เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องย่อมสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ดังในภาพนี้


ปริมาณหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ควรพิจารณาหนี้ชั้น SML ประกอบด้วยเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น


ข้อมูล NPL ออกเป็นรายไตรมาส ก็ไม่ค่อยฉับไวต่อสถานการณ์เมื่อเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดที่รายงานเป็นรายเดือน นอกจากนี้ การพิจารณายอด NPL นั้นที่จริงควรพิจารณาชั้นหนี้ขาดชำระ 1-3 เดือนด้วย (ที่เรียกว่าชั้น SML) ว่าหนี้ชั้น SML  มีมากเท่าไรด้วยเนื่องจากพวกนี้คือกลุ่มที่รอเป็น NPL หาก NPL ก็มาก และ SML ก็รออยู่มาก ยิ่งบ่งบอกภาพเศรษฐกิจที่น่าหนักใจ


เอาละคร้าบ เล่ามาครบหมดแล้ว ทีนี้พวกเราก็พอจะติดตามภาพเศรษฐกิจกันได้ด้วยตนเองแล้ว

Monday, July 27, 2015

มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทย (3)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”





ในบทความสองตอนก่อนเราได้คุยเกี่ยวกับมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยโดยพิจารณาจากตัวชี้วัดด้านธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม การลงทุน ซึ่งเป็นการมองเศรษฐกิจจากตัวชี้วัดด้านการสร้างรายได้ อันถือเป็นต้นน้ำของเศรษฐกิจ เพราะมีรายได้จึงจะมีการจับจ่ายใช้สอยเกิดขึ้นตามมา

สำหรับในตอนนี้เราจะมาพิจารณาเศรษฐกิจไทยจากตัวชี้วัดด้านการอุปโภคบริโภคหรือด้านการจับจ่ายใช้สอยกันบ้าง หลายคนอาจสงสัยว่าก็ในเมื่อมีรายได้จึงจะมีการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้นพิจารณาเศรษฐกิจจากตัวชี้วัดด้านธุรกิจ การค้า การลงทุนก็น่าจะเพียงพอแล้ว พูดแบบนั้นก็ไม่เชิง เนื่องจากการจับจ่ายใช้สอยมีปัจจัยทางจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องสูง บางทีแม้มีรายได้ดีแต่อาจไม่อยากจับจ่ายก็เป็นได้เพราะเรามองแนวโน้มในอนาคตข้างหน้าไม่ค่อยดีนัก จึงอยากประหยัดเอาไว้ก่อน เป็นต้น ดังนั้นตัวชี้วัดด้านการอุปโภคบริโภคก็บ่งชี้อาการทางเศรษฐกิจได้ไวและด้วยมุมมองที่แตกต่างออกไป หากจะมองเศรษฐกิจให้เกิดภาพหรือมุมมองอย่างทั่วถึงก็ควรพิจารณาทั้งตัวชี้วัดต้นน้ำและปลายน้ำประกอบกัน

ตัวชี้วัดด้านการอุปโภคบริโภคมีมากมายหลายตัว เรามาดูกันเพียง 3-4 ตัวชี้วัดที่สำคัญก็พอ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และดัชนีอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งดัชนีเหล่านี้จะมีดัชนีย่อยอีก และมีของแถม คือ ตัวชี้วัดเศรษฐกิจด้านการธนาคาร นั่นคือ ปริมาณหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือยอดเอ็นพีแอล (NPL)


ดัชนีราคาผู้บริโภค บ่งบอกภาวะการครองชีพ เงินเฟ้อ เงินฝืด


ดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index) คือตัวชี้วัดที่เรานำมาคำนวณอัตราเงินเฟ้อนั่นเอง อัตราเงินเฟ้อปีละเท่านั้นเท่านี้ก็ได้มาจากดัชนีนี้ และเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญตัวหนึ่ง ดังที่เราได้อ่านพบในข่าวอยู่เสมอ ดังนั้นวันนี้เราจะคุยเรื่องนี้กันเยอะสักหน่อย

ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายก็คือดัชนีราคาสินค้าและบริการนั่นเอง โดยดัชนีนี้บ่งบอกราคาสินค้าและบริการที่จำเป็นในการครองชีพโดยบอกเป็นภาพรวม

ดัชนีนี้คำนวณจากราคาอาหารและเครื่องดื่ม ราคาเครื่องนุ่งห่มรองเท้า ราคาเกี่ยวกับที่พักอาศัย (ค่าเช่า เครื่องตกแต่งบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าดูแลความสะอาด ฯลฯ) ค่ารักษาพยาบาล ค่าเบี้ยประกัน ค่าเดินทาง ค่าติดต่อสื่อสาร ค่าบันเทิงสันทนาการ ค่าการศึกษา เป็นต้น ก็เอาราคาพวกนี้มาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักกัน ได้เป็นดัชนีราคาผู้บริโภคเพื่อบ่งบอกภาวะค่าครองชีพโดยรวม

ทีนี้ก็ต้องทำความเข้าใจกันหน่อยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคที่เรามักนิยมอ้างอิงกันนั้น มี 2 ดัชนีย่อย คือ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป คือค่าใช้จ่ายต่างๆในย่อหน้าที่แล้วเอามาคำนวณเป็นดัชนี ดัชนีนี้เอาไปคำนวณอัตราเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อที่ได้เรียกว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation)

อีกดัชนีหนึ่งที่ควบคู่กันไป นั่นคือ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ก็คำนวณจากราคาสินค้าและบริการต่างๆข้างบนเช่นกัน แต่หักค่าอาหารและเชื้อเพลิงออกไป (คือไม่รวมค่าอาหารและเชื้อเพลิงนั่นเอง)  ดัชนีนี้เอาไปคำนวณอัตราเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อที่ได้เรียกว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation)

เหตุที่ต้องมีดัชนีสองตัวนี้ใช้ควบคู่กันเนื่องจากราคาอาหารและเชื้อเพลิงนั้นราคาไม่คงที่ แกว่งตัวหวือหวา โดยอาจเป็นไปตามฤดูกาลหรือเป็นช่วงสั้นๆ (ยกตัวอย่างเช่นหน้าแล้งผักแพง มะนาวแพง แต่ก็เพียงไม่นาน เป็นต้น) บางทีการแกว่งตัวที่หวือหวาอาจบดบังสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงไป เราจึงต้องมีดัชนีแบบที่ตัดสินค้าอาหารและเชื้อเพลิง ไว้พิจารณาควบคู่กัน หากงงก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวดูกราฟแล้วจะเข้าใจ

การใช้ข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคนั้นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าดัชนีนี้เกี่ยวกับการบริโภคของชนชั้นกลางและมีรายได้ประจำ เป็นตัวแทนกำลังการบริโภคส่วนใหญ่ของประเทศแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของประเทศ หากต้องการพิจารณาการบริโภคของคนยากคนจน ก็มีดัชนีราคาผู้บริโภคของผู้มีรายได้น้อย หรือหากต้องการพิจารณาการบริโภคในชนบทห่างไกล ก็มีดัชนีราคาผู้บริโภคในชนบท ให้ใช้พิจารณาโดยเฉพาะ เป็นต้น หรือหากเราต้องการดูภาวะการครองชีพในแต่ละภูมิภาค เราก็มีดัชนีราคาผู้บริโภคของแต่ละภาคให้ใช้ เป็นต้น

ทีนี้เรามาดูกราฟดัชนีราคาผู้บริโภคและการประเมินอัตราเงินเฟ้อกัน ดูภาพต่อไปนี้


ดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index) ทั้งชุดทั่วไปและชุดพื้นฐานทั่วประเทศ ปี 2556-2558 


ในภาพนี้ เส้นสีฟ้าคือดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เส้นสีส้มคือดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน จะเห็นว่าในช่วงปี 2557 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (สีฟ้า) แกว่งตัวหวือหวาคือดัชนีร่วงแรง เพราะรวมราคาพลังงานและอาหารเข้าไปด้วย และปัจจัยที่ทำให้แกว่งตัวมากคือราคาน้ำมันนั่นเองเนื่องจากในปี 2557 นั้นราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวลงแรง หากนำข้อมูลนี้ไปคำนวณเป็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็จะได้อัตราเงินเฟ้อที่แกว่งตัว เดี๋ยวอัตราเงินเฟ้อเป็นบวก เดี๋ยวอัตราเงินเฟ้อติดลบ ทำให้ประเมินภาพเศรษฐกิจยาก

หากจะพูดให้เข้าใจง่าย ดัชนีเงินเฟ้อทั่วไปเปรียบเหมือนดัชนีเซ็ตนั่นเอง ดัชนีเซ็ตถ่วงน้ำหนักด้วยหุ้นกลุ่มพลังงานค่อนข้างมาก พอราคาน้ำมันโลกร่วงแรง หุ้นพลังงานก็ร่วง ดัชนีเซ็ตก็ร่วง ภาพที่เห็นดูเหมือนตลาดหุ้นร่วงทั้งตลาด แต่ที่จริงราคาหุ้นบางกลุ่มก็ไม่ได้ร่วงตามไปด้วย เป็นต้น

และนั่นเองคือที่มาของเส้นสีส้ม ลองดูเส้นสีส้ม ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานที่หักค่าพลังงานและอาหารออกไปแล้ว จะเห็นว่าเส้นสีส้มค่อยๆขยับตัวขึ้น บ่งบอกสภาพค่าครองชีพที่ค่อยๆขยับตัวขึ้น ทำให้ใช้ตีความเป็นภาพเศรษฐกิจได้ดีกว่า

ทีนี้เรามาดูกันอีกภาพหนึ่ง ดังนี้


ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานยุคต้มยำกุ้ง 2540-2542 เทียบกับปัจจุบัน 2556-2558 ความชันของเส้นบ่งบอกระดับของเงินเฟ้อได้อย่างคร่าวๆ


ภาพนี้เราดูกันเฉพาะดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน เพราะแบบทั่วไปตีความยาก เป็นภาพเดิมแต่ลุงแมวน้ำเติมเส้นสีเทาลงไป เส้นสีเทานี้คือดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานในยุคต้มยำกุ้งปี 2540-2542

เรามาพิจารณาลีลาของเส้นกัน การดูความชันของเส้นทำให้เราประมาณอัตราเงินเฟ้อได้แบบคร่าวๆ ไม่ต้องไปคำนวณให้ปวดหัว

ดูที่เส้นสีเทา

ในปี 2540 เส้นสีเทามีความชันพอควร ลุงแมวน้ำเทียบให้เป็นอัตราเงินเฟ้อระดับ ++

ปี 2541 ช่วงต้นปีและกลางปี เส้นสีเทามีความชันลดลง ให้เป็นระดับ + แสดงว่าปี 2541 เมื่อเทียบกับปี 2540 เศรษฐกิจแย่ลงเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อลดลง

ปลายปี 2541 ต่อต้นปี 2542 ช่วงคร่อมปีนี้เส้นสีเทาไม่มีความชัน คือเป็นความชันระดับ 0 ตอนนี้ค่าครองชีพนิ่ง คงที่ สินค้าบริการไม่ขึ้นราคา อัตราเงินเฟ้อเป็น 0 อย่างนี้ไม่ดีแล้ว แปลว่าเศรษฐกิจแย่ลงกว่าปี 2541 เสียอีก

กลางปี 2542 เส้นสีเทาความชันเป็น – (เป็นลบ) คือราคาสินค้าบริการลดลง แปลว่าเศรษฐิจแย่ลงกว่าเดิมอีก สินค้าบริการยืนราคาเดิมไม่ไหวเพราะไม่มียอดขาย ต้องลดราคาลง นี่คืออัตราเงินเฟ้อติดลบ หากติดลบนานไปก็กลายเป็นเศรษฐกิจถดถอย

เส้นสีเทานั้นคืออดีต แต่เส้นสีส้มคือสถานการณ์ปัจจุบัน ลองดูว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา ความชันของเส้นสีส้มลดลงเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันความชันของเส้นสีส้มเป็นบวกเพียงเล็กน้อย (คือความชันน้อย) แปลความว่าอัตราเงินเฟ้อลดลง เศรษฐกิจแย่ลง หากไม่แก้ไขอะไรหรือแก้ไขแต่ไม่สำเร็จ โมเมนตัมของเศรษฐกิจในช่วงต่อไปน่าจะก้าวไปสู่ความชัน 0 และความชันติดลบในที่สุด

วันนี้คุยกันได้แค่ดัชนีราคาผ้บริโภค แต่ก็ได้ความรู้เอาไปติดตามข่าวต่างได้ ครั้งหน้าคุยกันเรื่องดัชนีที่เหลือคร้าบ