Wednesday, July 22, 2015

มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทย (2)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”





วันนี้เรามาคุยกันต่อ การวิเคราะห์แนวโน้มของเศรษฐกิจเราก็ต้องวิเคราะห์จากตัวชี้วัด (indicator) ต่างๆ ซึ่งก็คล้ายๆกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคนั่นเองที่ประกอบด้วยเครื่องมือวิเคราะห์และตัวชี้วัดมากมายหลายอย่างให้เลือกใช้ ก็สุดแท้แต่มุมมองของนักลงทุนที่จะเลือกใช้ตัวชี้วัดอะไร และขึ้นอยู่กับการตีความผลของตัวชี้วัดด้วย เช่น บางคนใช้ MACD บางคนใช้ RSI-14 บางคนใช้ MA หรือบางคนก็ใช้หลายอย่างร่วมกัน เป็นต้น การใช้ก็ต้องมีวิธีการตีความด้วยจึงจะอ่านออกมาเป็นเรื่องราวได้

ฉันใดก็ฉันนั้น ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจก็มีมากมายหลายตัวชี้ การนำมาใช้ก็ขึ้นกับความรู้ความเข้าใจและความถนัดด้วย ในที่นี้เราจะมีดูตัวชี้วัดที่สำคัญกันหลายตัว เพื่อให้สะท้อนให้เห็นมุมทางเศรษฐกิจหลายๆมุม


ดูเศรษฐกิจ ให้ดูการค้าการลงทุน


กลุ่มแรกที่เราจะมาดูกันก็เป็นตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับธุรกิจ การค้า การลงทุน เพราะกิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ เมื่อมีรายได้หรือมีเงินเข้ากระเป๋าก็มีกำลังไปจับจ่ายใช้สอย หรือเรียกว่าเป็นกิจกรรมต้นน้ำทางเศรษฐกิจก็ได้

ตัวชี้วัดในกลุ่มธุรกิจ การค้า การลงทุน ที่ลุงแมวน้ำอยากนำมาคุย ได้แก่ สถิติการส่งออก อัตราการใช้กำลังการผลิต (capacity utilization rate) ดัชนีเศรษฐกิจ (economic index) ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (business sentiment index) ที่จริงเราก็ได้ดูกันไปบ้างแล้ว นั่นคือ สถิติการส่งออก และอัตราการใช้กำลังการผลิต วันนี้เราจะมาคุยเกี่ยวกับตัวชี้วัดอื่นกันต่อ

จากตอนที่แล้วเราจะเห็นว่าการส่งออกของเราหดตัวลงต่อเนื่อง 3 ปี รวมทั้งอัตราการใช้กำลังการผลิตก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นทิศทางที่สอดคล้องกัน


อัตราการใช้กำลังการผลิต


ทีนี้วิธีการตีความอย่างง่ายก็ใช้จินตนาการช่วยนิดหน่อย ลองดูอัตราการใช้กำลังการผลิต ปัจจุบันอยู่ที่ 56.6% แปลความง่ายๆว่ามีเครื่องจักร 100 เครื่องแต่ใช้งานเพียง 56.6 เครื่อง หรือใช้กำลังการผลิตประมาณครึ่งเดียวของที่มีอยู่ หากเป็นแบบนี้ สถานการณ์ที่เกิดกับพนักงานในโรงงานผลิตก็คือไม่มีค่าโอที รวมทั้งอาจมีการปรับลดพนักงานลงเพื่อให้เหมาะกับปริมาณงาน นอกจากนี้ยังอาจหมายถึงการปิดกิจการเพราะสู้ต้นทุนไม่ไหว ดังนั้นการใช้กำลังการผลิตที่ลดลงต่อเนื่องย่อมส่งผลถึงรายได้และการบริโภคของประชาชนในภาพรวมด้วย


ดัชนีเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดเศรษฐกิจภาพกว้างในระยะสั้น


ต่อไปเราจะไปดูตัวชี้วัดทางธุรกิจ การค้า การลงทุนกันอีกตัวชี้วัดหนึ่ง นั่นคือ ดัชนีเศรษฐกิจ (economic index) 

ที่จริงดัชนีเศรษฐกิจนี้ให้ภาพเศรษฐกิจในมุมกว้าง คือเป็นภาพในระดับที่ใหญ่กว่ามูลค่าการส่งออกหรืออัตราการใช้กำลังการผลิต ที่จริงควรจะคุยเรื่องนี้กันก่อน แต่ไหนๆก็ไหนๆ แล้วไปแล้ว >.<

ดัชนีเศรษฐกิจนี้แบ่งเป็น 2 ดัชนีย่อย นั่นคือ เป็นตัวชี้วัดความคาดหวังกับอนาคตข้างหน้าตัวหนึ่ง เรียกว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (leading economic index) กับ ตัวที่บ่งชี้สถานการณ์ปัจจุบันอีกตัวหนึ่ง เรียกว่าดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (coincident economic index) ใช้มองภาพเศรษฐกิจในระยะสั้นประมาณ 3 เดือน

ดัชนีพ้องเศรษฐกิจนั้นใช้ชี้วัดสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยคำนวณจากข้อมูลการนำเข้า ผลผลิตทางอุตสาหกรรม ภาษีมูลค่าเพิ่ม การซื้อรถยนต์ ฯลฯ ส่วนดัชนีชี้นำเศรษฐกิจคำนวณจากข้อมูลที่ยังไม่เกิดผลในปัจจุบันแต่จะเกิดผลในอนาคตอันสั้นข้างหน้า ยกตัวอย่างเช่น การคำนวณจากเงินทุนจดทะเบียนของบริษัทตั้งใหม่ พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง เป็นต้น บริษัทที่ตั้งใหม่หรือพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง ยังไม่เกิดผลทางเศรษฐกิจในวันนี้ แต่ก็ย่อมจะมีการลงทุนต่างๆตามมา

ทีนี้เรามาดูกราฟดัชนีเศรษฐกิจกัน ดังกราฟต่อไปนี้ เส้นสีส้มคือดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ ส่วนเส้นสีน้ำเงินคือดัชนีพ้องเศรษฐกิจ


ดัชนีเศรษฐกิจ บ่งชี้สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันไปพร้อมกับคาดการณ์ล่วงหน้าไปอีกสามเดือน


จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2013 จนถึงต้นปี 2014 เส้นสีส้มหรือดัชนีชี้นำเศรษฐกิจทรงตัว หรือจะเรียกว่าไซด์เวย์ก็ได้ ยังจำได้ไหมว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการชุมนุมประท้วงกันอย่างต่อเนื่อง ช่วงนั้นความคาดหวังทางเศรษฐกิจหากมองจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจก็ตีความได้ว่าช่วงนั้นยังไม่เห็นความหวังอะไร ก็อยู่แบบประคองตัวไปเรื่อยๆ แต่พอเดือนมิถุนายน 2014 กราฟสีส้มพุ่งทะยานต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี ตีความได้ว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2014 เกิดการรัฐประหาร ลุงตู่ยึดอำนาจการปกครอง ช่วงนั้นเศรษฐกิจดูมีความหวังมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่พอย่างเข้าปี 2015 เส้นสีส้มก็ทรงตัวเป็นไซด์เวย์ แปลว่าไม่ได้คาดหวังดีๆอีก แค่ประคองตัวไปเท่านั้น

ทีนี้มาดูเส้นสีฟ้า เส้นสีส้มคือความหวัง เส้นสีฟ้าคือความเป็นจริงของปัจจุบัน ปรากฏว่าดัชนีพ้องเศรษฐกิจเป็นทิศทางขาลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง แปลว่าความหวังไม่สัมฤทธิ์ผล ความจริงเป็นอีกแบบหนึ่ง นั่นคือ เศรษฐกิจแย่ลงเรื่อยๆ


ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ บอกขวัญและกำลังใจ


จากนั้นก็มาดูตัวชี้วัดกันอีกชุดหนึ่ง นั่นคือ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business sentiment index) ดัชนีนี้แบ่งเป็นสองดัชนีย่อยเช่นกัน คือเป็นความเชื่อมั่นในปัจจุบัน กับความเชื่อมั่นกับสถานการณ์ในอีกสามเดือนข้างหน้า ตัวชี้วัดนี้ใช้บ่งชี้ภาพใหญ่ของธุรกิจ การค้า การลงทุน เช่นเดียวกับดัชนีเศรษฐกิจ แต่ว่าต่างกันตรงที่มา ดัชนีเศรษฐกิจนั้นคำนวณจากข้อมูล ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจนี้เป็นการไปสอบถามความคิดเห็นของผู้ประกอบการอันเป็นเรื่องของทัศนคติหรือความเชื่อมั่นล้วนๆ 

มาดูกราฟดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจกัน วิธีดูก็คล้ายๆกับดัชนีเศรษฐกิจแต่ดัชนีความเชื่อมั่นนี้จะสะท้อนถึงขวัญและกำลังใจของผู้ประกอบการมากกว่า ถ้าแนวโน้มขาขึ้นก็ดี ถ้าขาลงก็ไม่ดี ถ้าทรงตัวก็แปลว่ามึนๆไม่รู้จะไปทางไหน นอกจากนี้ ตัวเลข 50 ยังเป็นเกณฑ์สำคัญ เกิน 50 ถือว่าดี ต่ำกว่า 50 ถือว่าไม่ดี


ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) ประเมินจากทัศนคติของนักธุรกิจผู้ประกอบการ ประกอบด้วยความเชื่อมั่นในปัจจุบันกับความเชื่อมั่นในอีกสามเดือนข้างหน้า


จากกราฟ ดูเส้นสีส้ม ความเชื่อมั่นในสามเดือนข้างหน้า จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2013 หรือ พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา เส้นกราฟเป็นแนวโน้มขาลงต่อเนื่อง ตีความว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลงตลอด ขวัญและกำลังใจของผู้ประกอบการ นักธุรกิจ หดหายไปเรื่อยๆตลอดการชุมนุมประท้วง จนมาถึงเดือนมิถุนายน 2014 ความเชื่อมั่นก็พุ่งทะยานเพราะเกิดการรัฐประหาร

แต่ความเชื่อมั่นพุ่งทะยานได้เพียง 3-4 เดือน จากนั้นก็เริ่มมึนๆคิดอะไรไม่ออกอีก และจากปีใหม่ 2015 หรือ 2558 ปีนี้เป็นต้นมา ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจผู้ประกอบการดูเหมือนจะหดหายไป แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้แม้จะขึ้นบ้าง มึนบ้าง ลงบ้าง แต่ยังเกินกว่า 50 ก็ยังพอทน

ทีนี้มาดูเส้นสีน้ำเงิน ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในปัจจุบัน ลีลาก็คล้ายเส้นสีส้ม คือ ปี 2556 เป็นขาลงทั้งปี มาปี 2557 ค่อยๆดีขึ้นหลังรัฐประหาร แต่ในช่วงชุมนุมและหลังรัฐประหาร เส้นสีน้ำเงินต่ำกว่า 50 มาโดยตลอด แปลว่าแม้จะดีขึ้นแต่ยังจัดว่าลำบากอยู่ พอมาต้นปี 2558 ดัชนีความเชื่อมั่นผันผวนหนัก มีทั้งเกิน 50 และต่ำกว่า 50 แสดงว่าช่วงนี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองผันผวนสูง กระทบความเชื่อมั่นมากทีเดียว แต่ถ้าพิจารณาเส้นสีส้มประกอบด้วยก็อาจตีความได้ว่าความเชื่อมั่นในปัจจุบันไม่ค่อยดี และยังมองว่ามีแนวโน้มที่สถานการณ์จะแย่ลงไปอีก

และยิ่งถ้าเราพิจารณาดัชนีเศรษฐกิจ (economic index ชุดนี้เป็นข้อมูล ไม่ใช่ทัศนคติ) ประกอบด้วย ก็น่าจะตีความว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในตอนนี้ไม่ค่อยดีและแนวโน้มในอนาคตคงแย่ลง นี่แหละที่น่าเป็นห่วงอยู่เหมือนกัน


ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม


และแถมท้ายด้วยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thailand industries sentiment index) ที่จริงเดิมทีลุงแมวน้ำไม่คิดจะนำมาคุย เพราะมีดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจดูก็น่าจะพอแล้ว ดูเยอะเดี๋ยวงง แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจนำมาเป็นของแถม เพราะว่าดัชนีชุดนี้ออกช้อมูลเดือนล่าสุดมิุนายนแล้ว ซึ่งข้อมูลทันสมัยอัปเดตดี จึงเอามาแถม


ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI)


ดัชนีนี้เป็นความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรม กราฟนี้มีข้อมูลถึงมิถุนายน 2558 ด้วย เพิ่งออกสดๆร้อนๆ ที่อยากให้ดูก็คือทิศทางความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมของไทยลดลงโดยตลอดตั้งแต่ปลายปี 2557 ทั้งสองเส้นเลย เส้นความบอกทิศทางชัดเจนกว่าดัชนีเศรษฐกิจเสียอีก นั่นคือปัจจุบันก็มีทิศทางแย่ลง ความคาดหหวังก็มองแย่ลง ประเด็นนี้น่าเป็นห่วง

วันนี้คุยกันได้แค่ดัชนีในภาคธุรกิจ การค้า การลงทุน ยังไม่จบนะคร้าบ คราวหน้ามาดูตัวชี้วัดที่มองจากด้านการอุปโภคบริโภค หรือด้านการจับจ่ายใช้สอยนั่นเอง

Monday, July 20, 2015

มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทย (1)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”




วันนี้เราจะมาคุยกันในภาคเศรษฐกิจจริงกันเพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศจากที่คุยกันแต่เรื่องตลาดทุนอยู่เป็นประจำ ที่จริงแล้วภาคเศรษฐกิจจริงเชื่อมโยงกับตลาดทุนอย่างแยกกันไม่ออก การพิจารณาภาคเศรษฐกิจจริงย่อมช่วยเสริมมุมมองในการวิเคราะห์ตลาดหุ้นได้


เศรษฐกิจไทยพึ่งพาเศรษฐกิจโลก


เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันพึ่งพาการส่งออกในระดับที่สูง โดยมีสัดส่วน 77% ของจีดีพีทีเดียว นี่หมายความรวมถึงการส่งออกสินค้าและบริการ หากคิดเฉพาะการส่งออกสินค้าก็ประมาณ 60% ของจีดีพี ดังนั้นพูดง่ายๆก็คือเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก หากเศรษฐกิจโลกไม่ค่อยดี ลูกค้าของเรา (คือประเทศคู่ค้าต่างๆ) กระเป๋าแฟบ ไทยก็พลอยแห้งเหี่ยวไปด้วย

เรามาดูการนำเข้าและส่งออกในงวด 5 เดือน (มกราคม ถึง พฤษภาคม) ของปี 2013, 2014 และ 2015 เปรียบเทียบกัน ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดังกราฟต่อไปนี้


การนำเข้าส่งออกของไทยงวด 5 เดือน (ม.ค. ถึง พ.ค.) เทียบกันระหว่างปี 2013, 2014, 2015 จะเห็นว่าทั้งการนำเข้าละการส่งออกของไทยหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง

มาดูด้านการนำเข้าก่อน จะเห็นว่าในงวด 5 เดือนของสามปีที่ผ่านมานี้การนำเข้าของไทยลดลงตลอด โดยเฉพาะปี 2015 นี้การนำเข้าของไทยลดลง -9.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สาเหตุที่ลดลงมากขนาดนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ทำให้เราประหยัดการนำเข้าไปได้ แต่เมื่อจำแนกกลุ่มสินค้านำเข้าให้ลึกลงไปอีกก็จะพบว่าเรานำเข้าสินค้าทุน (หมายถึงสินค้าที่นำมาใช้ในการผลิต เช่น เครื่องจักร ฯลฯ) ก็ลดลงด้วยเช่นกัน

ทีนี้มาดูด้านการส่งออก จะเห็นว่าในงวด 5 เดือนของสามปีที่ผ่านมานั้นยอดส่งออกสินค้าของไทยก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะงวดห้าเดือนปี 2015 นั้นลดลงจากปี 2014ถึง -4.2% หรือหากคิดเป็นจำนวนเงินก็คือรายได้ห้าเดือนลดลงกว่า 130,000 ล้านบาท

การส่งออกที่หดตัวนี่แหละที่มีผลต่อสภาพเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะการส่งออกสินค้าคือเส้นเลือดใหญ่ เพราะเป็นสัดส่วนราว 60% ของจีดีพีไทย ส่วนการลงทุนภาครัฐในแต่ละปีนั้นเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของจีดีพี การที่เราพยามเร่งการลงทุนภาครัฐก็เหมือนพยายามทะลวงเส้นเลือดเล็กโล่ง แต่ในขณะที่เส้นเลือดใหญ่ตีบตันอยู่ ก็ย่อมมีส่วนช่วยได้ไม่มากนัก ดังนั้นการแก้ที่ตรงจุดคือการทะลวงเส้นเลือดใหญ่ให้โล่งหรือการเพิ่มยอดส่งออกสินค้านั่นเอง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย พูดง่ายแต่ทำยากมาก

ทีนี้เรามาสืบดูต่อไปว่ายอดส่งออกนั้นหายไปไหน เราก็ต้องมาดูกันก่อนว่าคู่ค้ารายใหญ่ของไทยเป็นใครบ้าง ตอนนี้คู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยคือจีน รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป คิดอย่างง่ายๆเพื่อให้เห็นภาพก็คือ รายได้ของไทย 100 บาทมาจากการส่งออกสินค้า 60 บาท และยอดส่งออกนี้คู่ค้าหลักสี่รายที่ว่าก็ซื้อไปเกือบๆ 30 บาทแล้ว โดยเป็นรายได้จากจีน 8.5 บาท ส่วนรายได้จากอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ประมาณรายละ 6.5 บาท ที่เหลือเป็นป็นรายได้จากคู่ค้ารายย่อยอื่นๆ


ส่องคู่ค้าหลักของไทย จีนซื้อน้อยลง


ยอดส่งออกของไทย (งวด 5 เดือนแรกของปี) ไปยังคู่ค้าหลัก 4 ราย จีน ยุโรป ญี่ปุ่น นำเข้าลดลงมาก มีเพียงสหรัฐอเมริกาที่นำเข้าเพิ่มขึ้น

จากกราฟ ตอนนี้ลูกค้ารายใหญ่ จีน ยุโรป ญี่ปุ่น ซื้อสินค้าจากไทยน้อยลงมาก มีเพียงอเมริกาเท่านั้นที่ซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่ได้ช่วยกู้สถานการณ์เพราะยอดขายที่หายไปเยอะกว่าที่เพิ่มขึ้น

เอาละ ทีนี้เราจะลองไปเจาะรายละเอียดของลูกค้าบางรายเพื่อดูว่าทำไมความต้องการซื้อสินค้าจากเราเปลี่ยนแปลงไป เราลองมาดูที่ลูกค้าประเทศจีนกันก่อน ลองดูกราฟต่อไปนี้กัน


การนำเข้าส่งออกงวดห้าเดือนแรกของจีน จะเห็นว่าสามปีที่ผ่านมาจีนส่งออกทรงตัวแต่นำเข้าลดลงมาก ซึ่งกระทบต่อไทยไม่น้อย

กราฟนี้เป็นสรุปการนำเข้าและส่งออกของจีนในงวดห้าเดือน คือมกราคมถึงพฤษภาคม 3 ปีเปรียบเทียบกัน ประเทศจีนได้ชื่อว่าเป็นโรงงานผลิตสินค้าของโลก มีการผลิตและส่งออกสินค้ามากมาย เมื่อเราพิจารณายอดส่งออกงวดห้าเดือนของจีนเปรียบเทียบกัน 3 ปีจะเห็นว่ายอดส่งออกของจีนทรงตัว มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ภาพนี้ทำให้เราเห็นภาพเศรษฐกิจโลกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นั่นคือ ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวได้ช้า กำลังซื้อจึงแค่ทรงตัว

ทีนี้มาดูด้านการนำเข้าของจีน จะเห็นว่าปีนี้จีนนำเข้าลดลงมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ลดลงทำให้จีนประหยัดการนำเข้าพลังงาน แต่ทางด้านยอดนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆก็ลดลงด้วยเช่นกัน และยอดส่งออกจากไทยไปจีนที่หดตัวลงก็สอดคล้องกับภาพนี้ นั่นคือ เป็นเพราะว่าจีนนำเข้าน้อยลงนั่นเอง


มองสหรัฐอเมริกา ซื้อจากเวียดนามมากกว่าไทย


จากนั้นเราจะไปดูที่สหรัฐอเมริกากัน สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแห่งการบริโภค ประชากรราวสามร้อยล้านคนแต่กินเยอะใช้เยอะจริงๆ จีนกับอเมริกาสัมพันธ์กันในเชิงการค้าสูงมาก เพราะจีนเป็นซับพลายเออร์รายใหญ่ของอเมริกา และขณะเดียวกันอเมริกาก็เป็นลูกค้ารายใหญ่ของจีน เรามาดูโครงสร้างการนำเข้าของสหรัฐอเมริกาในงวดห้าเดือนแรกเปรียบเทียบกัน 3 ปี


โครงสร้างการนำเข้าของสหรัฐอเมริกาจากประเทศคู้ค้าหลักบางราย จะเห็นว่าแม้นำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นแต่กลับนำเข้าจากเกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซียมากกว่า

ซับพลายเออร์หรือผู้ที่ขายสินค้าให้สหรัฐอเมริกา หากจะนับซับพลายเออร์รายใหญ่ของอเมริกา 15 รายแรกก็จะเป็นจีน ยุโรป แคนาดา เม็กซิโก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม ฯลฯ

ในงวดห้าเดือนของปี 2015 นี้เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าจากเอเชียเพิ่มขึ้นมาก และลดการนำเข้าจากยุโรป เม็กซิโก แคนาดาลง โดยนำเข้าจากจีน +6% ส่วนสินค้าจากญี่ปุ่นนั้นนำเข้าเพิ่มไม่มากนัก และที่น่าสังเกตคือยอดนำเข้าจากเกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซีย เพิ่มขึ้นเด่นมาก สหรัฐนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่คิดแล้วยังน้อยกว่าสามชาติเกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซีย และหากจะพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาถือว่าเวียดนาม มาเลเซีย เป็นคู่ค้ารายใหญ่กว่าไทยเสียอีก ดูจากยอดการนำเข้าที่สูงกว่าการนำเข้าจากไทย

ประมวลจากข้อมูลต่างๆที่ลุงแมวน้ำเล่ามา ก็คงปะติดปะต่อให้เห็นเป็นภาพว่าตอนนี้เศรษฐกิจโลกยังเปราะบางอยู่ การฟื้นตัวเป็นไปอย่างช้าๆ ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่ฟื้นตัวได้ดีหน่อย แต่โดยรวมแล้วการค้าโลกกระเตื้องอย่างเชื่องช้า

ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออก รายได้หลักมาจากการส่งออกสินค้า ดังนั้นเศรษฐกิจโลกจึงมีผลกระทบต่อไทยมาก โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่

จีนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายในประเทศ เมื่อการค้าโลกไม่ค่อยดีก็พยายามปรับตัวเองให้พึ่งพาการส่งออกน้อยลง และหันไปพึ่งพาการบริโภคในประเทศมากขึ้น โดยสินค้าที่ส่งออกนั้นจีนก็มีการปรับโครงสร้าง โดยเน้นสินค้าที่เพิ่มมูลค่า คือหมายถึงการนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตสินค้าที่ขายได้ราคาแพง ดังนั้น ตอนนี้จีนจึงอยู่ในช่วงของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายใน รวมทั้งปรับโครงสร้างการนำเข้าส่งออกด้วย สินค้าของไทยคงตรงกับความต้องการของจีนน้อยลง ยอดขายของไทยไปจีนจึงตกไป และนอกจากนี้ ยอดขายของไทยที่ส่งไปยังคู่ค้าหลักอื่นๆก็ลดลง ทำให้น่าคิดว่าสาเหตุที่ยอดขายลดลงส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสินค้าของไทยไม่ค่อยตรงกับความต้องการของลูกค้าเสียแล้วก็เป็นได้

และเมื่อเราไปดูโครงสร้างการนำเข้าของสหรัฐอเมริกา ที่นำเข้าจากเกาหลีใต้ เวียดนาม มาเลเซียเพิ่มขึ้น แล้วมาดูข้อเท็จจริงที่ว่าตอนนี้โรงงานผลิตสินค้าสำคัญของไทยปิดตัวไปหลายบริษัท เช่น รถยนต์รุ่นใหม่ๆก็มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ส่วนโรงงานจอแอลซีดี โรงงานมอตอร์ฮาร์ดดิสก์ ก็ปิดตัวไปเพราะสินค้าเหล่านี้หมดสมัย ก็ดูเหมือนจะช่วยตอกย้ำว่าสินค้าของไทยไม่ค่อยตรงกับความต้องการของลูกค้านัก หรือหมายความว่าเราเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกไปนั่นเอง

และหากเรานำข้อมูลอัตราการใช้กำลังการผลิต (capacity utilization rate) มาพิจารณาประกอบ ค่านี้เป็นการมองว่าหากมีเครื่องจักรผลิตสินค้าอยู่ 100 เครื่อง ตอนนี้เราใช้กำลังการผลิตอยู่กี่เครื่อง ก็ปรากฏว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตของเราลดลงโดยตลอด ยกตัวอย่างจากภาพ ในตอนต้นปี 2013 เครื่องจักร 100 เครื่องเราใช้อยู่ 66 เครื่อง ที่เหลืออีก 44 เครื่องปล่อยว่างไว้ไม่ได้ใช้งาน มาในปัจจุบัน ตอนนี้ใช้งานเพียง 56.6 เครื่อง แปลว่ากำลังซื้อหายไป จึงจำต้องลดการผลิตลง ภาพนี้ก็มีส่วนบอกเราว่าเราอาจผลิตสินค้าไม่ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ (รวมทั้งอาจบอกว่าลูกค้ากระเป๋าแฟบจึงลดการซื้อลงก็ได้ด้วย ต้องดูตัวชี้วัดอื่นประกอบด้วย)


อัตราการใช้กำลังการผลิตของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง

วันนี้เราดูกันเฉพาะภาพการนำเข้าส่งออก วันต่อไปเราจะมาดูตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆภายในประเทศกันคร้าบ