Wednesday, January 28, 2015

อสังหาริมทรัพย์ไทยใกล้ฟองสบู่แตกหรือยัง (1)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”





คอนโดหัวเมืองส่อวิกฤต???


เช้าวันหนึ่ง อากาศกำลังเย็นสบาย เหล่าสิงห์สาราสัตว์ชุมนุมกันอยู่ที่ศาลาชมสวนเพื่อรอเวลาตลาดหุ้นเปิด ช่วงนี้ตลาดหุ้นขึ้นดี บรรดาสมาชิกนักลงทุนก็หน้าตาแจ่มใสกันดี

“เอ วันนี้ทำไมไม่เห็นนายจ๋อ” ยีราฟถามลอยๆ

“นั่นสิฮะ หรือว่ากินกล้วยแล้วท้องเสีย แอบนอนอยู่” กระต่ายน้อยแทะแครอทไปคุยไป

พูดยังไม่ทันขาดคำก็เห็นลิงจ๋อห้อยโหนมาตามกิ่งไม้และกระโดดเข้ามาในศาลา ในมือถือกระดาษแผ่นหนึ่ง

“แย่แล้ว ลุงแมวน้ำ ดูข่าวนี้สิ ฟองสบู่อสังหาฯแตกแล้ว” ลิงพูดด้วยสีหน้ากังวล “ยังงี้ต่อไปตลาดหุ้นก็คงเละเป็นโจ๊กเลย ไหนลุงบอกว่าทะยานสู่พรมแดนใหม่ไง”





บรรดาสมาชิกต่างชะโงกมาดูกระดาษที่ลิงถือมา ปรากฏว่าเป็นข่าวในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ เมื่อได้อ่านข่าวต่าก็ร้องกันอื้ออึง

“แย่แล้วๆ คราวนี้ต้องตายแน่ๆ” ยีราฟบ่น

“ใครๆก็พูดกันว่ากระต่ายตื่นตูม แต่นี่ยีราฟตื่นตูม กระต่ายยังไม่ตกใจเลย ฮิฮิ” กระต่ายน้อยแทะแครอทหน้าระรื่น

“ก็เพราะเธอยังไม่รู้อะไรน่ะสิ ใครที่ได้ผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งมาจึงจะเข้าใจอย่างลึกซึ้ง” ยีราฟค้อนกระต่ายน้อย

“อ้าว เดี๋ยวก่อนสิ อย่าเพิ่งตื่นตระหนก ทำราวกับว่าตลาดหุ้นจะเจ๊งภายในวันนี้ยังงั้นแหละ” ลุงแมวน้ำพูด “นายจ๋อลองให้คำจำกัดความหน่อยสิว่าประโยคที่ว่า ฟองสบู่อสังหาฯแตก คืออะไร”

“เอ้อ เดี๋ยว ขอคิดก่อน” ลิงอึ้ง จากนั้นคิดอยู่นาน “ก็คงเหมือนตอนวิกฤตต้มยำกุ้งนั่นแหละมั้ง ราคาบ้านและที่ดินตกอย่างรวดเร็ว ตลาดหุ้นก็พังไปด้วย ใช่ไหมครับลุง ในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีฟองสบู่อสังหาฯแตกกันหลายประเทศเลย อย่างอเมริกาไง แล้วก็จีน เวียดนามนี่ก็ได้ยินมาว่าฟองสบู่เพิ่งแตกไปไม่ใช่หรือครับ ผลที่ตามมาคือตลาดหุ้นพังระเนระนาด”

“นายจ๋อติดตามข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศเยอะเลยนะเนี่ย” ลุงแมวน้ำชม

“ดูจากทีวีน่ะลุง เดี๋ยวนี้ผมชอบดูข่าวเศรษฐกิจ แล้วตีออกมาเป็นหุ้น ว่าหุ้นไหนน่าจะได้ประโยชน์ หุ้นไหนน่าจะเสียประโยชน์ จะได้เข้าถูกไงครับ” ลิงจ๋อพูด

“ยังงี้นี่เอง” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “ที่นายจ๋อพูดมาก็มีส่วนถูก ที่นี้ลองฟังตามความเข้าใจของลุงบ้างก็แล้วกัน”


ทบทวนวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม


ลุงแมวน้ำพูดจบก็ล้วงเข้าไปในหูกระต่าย หยิบกระดาษออกมาปึกหนึ่ง


กราฟดัชนีราคาบ้านเปรียบเทียบใน 3 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น ในช่วงปี 2000-2014 ของนิตยสาร The Economist


“เราลองมาดูภาพนี้กัน นี่เป็นดัชนีราคาบ้าน ดูที่เส้นสีน้ำเงินและกรอบสีน้ำเงินก่อน สีน้ำเงินนี่คือดัชนีราคาบ้านของสหรัฐอเมริกา

“จะเห็นว่าดัชนีราคาบ้านในช่วงปี 2006-2012 ลดลง คะเนด้วยสายตาจากกราฟ ราคาบ้านในอเมริกาตกลงไปถึงจุดต่ำสุดประมาณ -30% นี่คือค่าเฉลี่ย แต่ว่าในแต่ละพื้นที่ของประเทศก็อาจลดลงมากหรือน้อยกว่านี้

“สาเหตุของวิกฤตอสังหาฯในอเมริกาเกิดจากการบริหารจัดการสินเชื่ออสังหาฯผิดพลาด มีการเอาสินเชื่อด้อยคุณภาพมาออกเป็นตราสารทางการเงินแบบพิสดารและมีการเก็งกำไรกันยกใหญ่ สุดท้ายจึงพัง เป็นวิกฤตเศรษฐกิจของอเมริกาและลามไปทั่วโลก

“เอาละ ทีนี้มาดูดัชนีราคาบ้านของจีนกันบ้าง ดูที่เส้นสีน้ำตาล และกรอบสีน้ำตาล

“เส้นสีน้ำตาลคือดัชนีราคาบ้านโดยเฉลี่ยทั้งประเทศจีน จะเห็นว่าเมื่ออเมริกาเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ผลของวิกฤตเศรษฐกิจในอเมริกาไม่ได้กระทบต่อเศรษฐกิจจีนเพราะในช่วงนั้นจีนกำลังจัดโอลิมปิกอยู่ เศรษฐกิจอู้ฟู่เชียว เศรษฐกิจจีนเติบโตปีละกว่า 10% ราคาอสังหาริมทรัพย์ตามหัวเมืองเศรษฐกิจพุ่งอย่างรวดเร็ว อย่างเช่น เมืองฝูโจว หังโจว หนานหนิง ชิงเต่า เซี่ยงไฮ้ ฯลฯ ยิ่งฮ่องกงนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย แพงแล้วแพงอีก จนต่อมาทางการจีนเห็นว่าเศรษฐกิจจีนร้อนแรงเกินไปและต้องการชะลอ จึงออกมาตรการต่างๆเพื่อสกัดความร้อนแรง ราคาอสังหาฯของจีนจึงตกลงมาบ้าง โดยในช่วงปี 2010-2012 ดัชนีราคาบ้านของจีนเป็นไปในทางทางไซด์เวย์ คือทรงตัว ไม่ขึ้นไม่ลง แต่หากมองเป็นรายเมือง เมืองที่เศรษฐกิจร้อนแรงราคาบ้านจะตกลงมามากหน่อย เมืองในชนบทราคาค่อยๆขยับขึ้นก็มี เฉลี่ยกันแล้วจึงเป็นทิศทางราคาแบบทรงตัว แต่แค่นี้นักธุรกิจ นักลงทุนก็ร้องจ๊ากกันแล้ว เพราะการหยุดก้าวไปข้างหน้าก็เหมือนกับการถอยหลัง คนที่ชินกับราคาอสังหาฯที่ขึ้นอย่างต่อเนื่องมานับสิบปี พอมาเจอราคาตกบ้างก็บอกว่าฟองสบู่อสังหาฯจีนแตก

“ดูอย่างเช่นในปี 2014 นี้ ราคาบ้านในเมืองใหญ่หลายเมือง เช่น ปักกิ่ง มีราคาลดลงบ้างนิดหน่อย ยังไม่ถึง -1% เลย แต่ก็ทำให้แตกตื่นกันแล้ว ก็พูดเรื่องฟองสบู่อสังหาฯจีนแตกกันอีก

“ในความเห็นของลุง เรื่องอสังหาฯของจีนนั้นเกิดฟองสบู่เพียงในบางเมือง และโดนสกัดเอาไว้เสียก่อน ลุงยังไม่คิดว่าจีนจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในระดับประเทศ เศรษฐกิจจีนยังเข้มแข็งอยู่ การชะลอเศรษฐกิจให้เติบโตอยู่ในระดับ 6-7% ราคาอสังหาย่อมตกลงมาบ้างในบางพื้นที่ แต่กลับทำให้ลุงมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจจีนและเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ของผู้นำจีนรุ่นที่ 5 นี้เพิ่มขึ้นเสียอีก

“ทีนี้ก็มาพูดถึงเวียดนามกันบ้าง เมื่อปี 2010-2013 ราคาอสังหาเวียดนามก็ตกลงเช่นกัน ลุงไม่มีภาพให้ดู ข้อมูลหายากหน่อย แต่เท่าที่รู้มาคือเฉลี่ยแล้วลงไปลึกถึงประมาณ -30% แต่ในบางพื้นที่ก็ลงลึกถึง –50% ก็มี ตอนนี้ค่อยๆเริ่มฟื้นตัวแล้ว

“เวียดนามนั้นเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เป็นเด็กกำลังโต หากมองเป็นคลื่นอีเลียตก็เป็นช่วงคลื่น 2 เข้าคลื่น 3 ประมาณนั้นแหละ เศรษฐกิจอาจผันผวนสูง ช่วงที่ผ่านมา เวียดนามมีปัญหาราคาอสังหาฯพุ่งอย่างรวดเร็วพร้อมกับค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งเร็วเช่นกัน พอเศรษฐกิจไม่ดี ราคาอสังหาฯก็ร่วงรุนแรงเพราะก่อนหน้านี้ขึ้นมาแรง แต่เพียงไม่กี่ปีก็ค่อยๆเริ่มฟื้น

“ทีนี้มาดูกราฟเส้นสุดท้ายกัน กราฟสีครีม อยู่ล่างสุด นั่นคือราคาบ้านของประเทศญี่ปุ่น ราคาบ้านของญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 20 ปี ต่างจากอเมริกา จีน และเวียดนามที่ลุงเล่าให้ฟังมาแล้วที่ฟื้นตัวได้ในเวลาเพียงไม่กี่ปี อันนี้แหละที่ลุงว่าเป็นฟองสบู่แตกของจริง”

ลุงแมวน้ำคลี่กราฟให้ดูอีกภาพหนึ่ง และพูดว่า



ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน และดัชนีราคาคอนโดมิเนียมของไทย ตั้งแต่ปี 2008-2014 รายไตรมาส ของธนาคารแห่งประเทศไทย


“ภาพนี้เป็นดัชนีราคาบ้านของไทย จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย แบ่งเป็นดัชนีราคาบ้านเดี่ยวกับราคาคอนโดมิเนียม ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีเพียงย้อนไปถึงปี 2008 เท่านั้น ไม่ได้มีย้อนไปถึงช่วงต้มยำกุ้ง

“ลุงจะเล่าภาพเศรษฐกิจในช่วงก่อนต้มยำกุ้งให้ฟังก็แล้วกัน ในราวปี 2537 (1994) ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยบูมมาก ราคาบ้านและที่ดินขึ้นอย่างร้อนแรงจริงๆ แค่ใบจองบ้านหรือคอนโดก็เก็งกำไรด้อย่างงาม สมมติว่าจองวันนี้ พรุ่งนี้เอาไปขายต่อ ได้กำไรเป็นหมื่นแล้ว นี่แค่ขายใบจอง ตอนนั้นใครก็กระโดดเข้ามาในวงการอสังหาฯ ช่างทำผมก็กลายเป็นนายหน้าค้าที่ดินเนื่องจากอยู่ในแวดวงคุณหญิงคุณนาย เรื่องคุยและข่าวสารในร้านทำผมมีเยอะแยะ จึงผันตัวไปเป็นนายหน้าค้าที่ดิน

“ตอนนั้นผู้รับเหมารายเล็กก็ยกระดับตัวเองเป็นผู้พัฒนาโครงการอสังหา คือเป็นดีเวลอปเปอร์เสียเลย ทั้งๆที่วิศวกรก็ไม่มี สถาปนิกก็ไม่มี แต่ก็อัปเกรดตนเองจนเป็นดีเวลอปเปอร์ได้ รวมทั้งใครสักคนที่มีที่ดินเปล่าสักแปลงก็ผันตนเองมาเป็นเจ้าของโครงการอสังหาฯได้ด้วยการสร้างทาวน์เฮ้าส์แบบ 9 ยูนิต คือสร้าง 9 ยูนิตนี่ไม่ต้องไปจดทะเบียนจัดสรร ทำกันได้ง่ายๆเลย รวยกันไปไม่รู้เรื่อง

“ด้านสินเชื่ออสังหาก็ปล่อยง่าย ให้ราคาสูง ก็เหมือนคนที่ซื้อหุ้นใช้มาร์จินหรือเทรดฟิวเจอร์สโดยมีเงินสดเพียงนิดหน่อยนั่นแหละ

“ยุคต้มยำกุ้งนั้นเกิดจากต่างชาติโจมตีค่าเงินบาท เราต่อสู้ค่าเงิน แต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้และทุนสำรองหมดหน้าตัก ต่อมาจึงมีการลดค่าเงินบาท มีธนาคารล้ม ไฟแนนซ์ล้ม ธุรกิจล้ม ปัญหาจึงได้ลามเป็นไฟลามทุ่ง อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้ที่ใช้เงินหมุนหรือใช้สินเชื่อเยอะๆ พอระบบธนาคารเสียหาย วงจรเงินสดโดนตัดปุ๊บ ก็พังเป็นโดมิโนเลย

“แต่ในยุคนี้ต่างออกไป ธนาคารและบริษัทอสังหาฯที่อยู่รอดมาจนถึงปัจจุบันได้รับบทเรียนอย่างแสนสาหัสมาแล้ว ดังนั้น ตอนนี้ภาคธนาคารมีความเข้มแข็ง ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ บริษัทอสังหาฯเองก็ระวังในการทำธุรกิจ ส่วนใหญ่จะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) ต่ำ และตอนนี้ใช่ว่าใครๆก็จะโดดเข้ามาในวงการอสังหาฯได้ ส่วนการขายใบจองเก็งกำไรก็พอมีบ้าง แต่ไม่ดุเดือดเหมือนสมัยก่อน ดังนั้นที่ลุงมองคือสภาพการณ์ในปัจจุบันแตกต่างจากเมื่ออดีตมาก

“อีกอย่างหนึ่ง ลองดูที่กราฟสิ ตั้งแต่ปี 2008 ที่อเมริกามีวิกฤต จีนชะลอตัว แต่ดัชนีราคาบ้านและคอนโดของไทยขึ้นต่อเนื่องมาตลอดเลย แม้ว่าราคาคอนโดมิเนียมจะดูขึ้นเร็วสะท้อนการเก็งกำไรสูงแต่ในภาพรวมยังดูดี แต่...” ลุงแมวน้ำทิ้งท้าย

“แต่อะไรจ๊ะลุง ขมวดเป็นปมอีกแล้ว” ยีราฟขมวดคิ้ว “กำลังฟังเพลินๆอยู่”

“แต่ลุงคอแห้ง หิวน้ำปั่นล่ะสิ” ลิงดักคอ

“ใช่แล้วคร้าบ ขอเอาไว้คุยต่อคราวหน้าละกัน ลุงขอพักหน่อย” ลุงแมวน้ำหัวเราะ

Friday, January 23, 2015

ตลาดหุ้นไทยใกล้ฟองสบู่แตกหรือยัง

บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่” /// “Toward a New Frontier” Series 






“วู้ ลุงแมวน้ำอยู่มั้ยคร้าบ”

เช้าวันหนึ่ง ลุงแมวน้ำได้ยินเสียงลิงจ๋อเรียกอยู่ที่ใกล้ๆโขดหิน

“ลุงแมวน้ำ ลุงแมวน้ำอ้วน ลุงแมวน้ำอ้วนอุ้ยอ้าย ฮิฮิ สงสัยไม่อยู่”

“ลุงอยู่นี่ หลบอยู่ข้างโขดหิน” ลุงแมวน้ำชะโงกหน้าออกไปตอบ

“อะจ๊าก อยู่ก็ไม่บอก แอบล้อลุงเสียเต็มเหนี่ยว” ลิงจ๋อปรากฏตัวขึ้นที่ข้างโขดหิน พร้อมกับพูดเสียงอ่อย

“ลุงไม่เห็นจะเดือดร้อนอะไรเลยในเมื่อที่นายจ๋อพูดไม่ใช่เรื่องจริง หุ่นลุงออกจะเพรียวสเลนเดอร์” ลุงแมวน้ำหัวเราะ

“คร้าบ เส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากันตลอดทั้งตัวเนี่ยนะผอมเพรียว เอาเถอะ ผมยอมลุงแล้ว” ลิงหัวเราะเช่นกัน “ว่าแต่ลุงมาหลบอยู่ข้างโขดหินทำไมละเนี่ย ทำไมไม่นอนผึ่งพุงบนโขดหินเหมือนเคย หลบเจ้าหนี้เหรอ”

“ไม่ได้หลบเจ้าหนี้ แต่ว่าหลบลมหนาว อากาศบนโขดหินหนาวจะแย่ ลุงเลยหลบมาอยู่ข้างล่าง” ลุงแมวน้ำตอบ

“เอ๊ะ นั่นลุงดูอะไรอยู่น่ะ” ลิงทักถึงแท็บเล็ตที่วางอยู่บนพุงของลุงแมวน้ำ

“กำลังดูละครทีวีอยู่” ลุงแมวน้ำตอบ

“หา ลุงเนี่ยนะติดละครทีวี ซีรีส์เกาหลีเหรอ” ลิงทำสีหน้าแปลกใจเนื่องจากรู้ว่าปกติลุงแมวน้ำไม่ค่อยดูละคร

“ละครไทยนี่แหละ” ลุงแมวน้ำตอบ

ลิงชะโงกดูภาพที่ปรากฏบนจอแท็บเล็ต

“โอย อยากหัวเราะฟันหลุด ลุงแมวน้ำดูแอบรักออนไลน์” ลิงหัวเราะขำกลิ้ง

ลิงหัวเราะขำได้เพียงเดี๋ยวเดียวก็หยุดกึก

“เอ มันชักจะยังไงๆแล้วล่ะลุง หรือว่านี่เป็นสัญญาณอันตรายจริงๆ” ลิงพูดพึมพำ

“นายจ๋อพูดอะไรแปลกๆ ลุงดูละครเนี่ยนะเป็นสัญญาณอันตราย” ลุงแมวน้ำขำกับท่าทีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของลิงจ๋อ “นายจ๋อไม่สบายหรือเปล่า ทำไมดูอารมณ์แปรปรวน”

“ไม่ใช่อารมณ์แปรปรวน” ลิงตอบ “แต่กำลังนึกถึงเรื่องหนึ่งที่ช่วงนี้พูดถึงกันหนาหูทีเดียว เรื่องสัญญาณตลาดหุ้นวายน่ะ ที่จริงวันนี้ผมก็ตั้งใจจะแวะมาถามลุงเรื่องนี้นั่นแหละ”

“อ้อ” ลุงแมวน้ำชักสนใจ “แล้วสัญญาณที่นายจ๋อว่าตลาดหุ้นจะวายน่ะมีอะไร มีอะไรบ้าง เล่าให้ลุงฟังหน่อย”

“เท่าที่คุยกันในเครือข่ายสังคมออนไลน์ รวมทั้งที่คุยกันในวงสัมมนาต่างๆ รวมทั้งสภากาแฟ ก็จะเป็นว่าปรากฏการณ์หลายๆเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนหน้าวิกฤตต้มยำกุ้ง กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้เช่นกัน เหมือนเป็นสิ่งบอกเหตุว่าตลาดหุ้นกำลังร้อนแรงเกินไป และประวัติศาสตร์กำลังซ้ำรอยเดิม” ลิงจ๋อตอบ

“สัญญาณเหล่านี้มีอะไรบ้างล่ะ” ลุงแมวน้ำถามอีก

“ก็เช่น ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปที่เดิมไม่เคยสนใจเรื่องหุ้นก็หันมาคุยเรื่องหุ้น ไปไหนก็มีแต่คนคุยกันเรื่องหุ้น นิตยสารต่างๆก็เอาเรื่องราวของเศรษฐีหุ้นมานำเสนอ แม้แต่ละครทีวีก็ยังวางท้องเรื่องให้อยู่ในแวดวงการค้าหุ้น ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และอีกอย่างหนึ่งนะลุง เขาพูดกันว่าเมื่อใดที่หุ้นเล็กหุ้นน้อยร้อนแรง นั่นแหละ ไม้สุดท้ายแล้ว ยิ่งดัชนีตลาดมาใกล้ 1700 ซึ่งเป็นจุดสูงสุดเดิมก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนนี้ดูเหมือนองค์ประกอบทุกอย่างซ้ำรอยกับเหตุการณ์ในครั้งต้มยำกุ้งเป๊ะเลยนะลุง พูดไปแล้วผมก็ชักหนาว จะล้างพอร์ตดีไหมเนี่ย” ลิงร่ายยาว “ลุงไม่เคยได้ยินเรื่องพวกนี้มาเลยหรือไง”

“ก็ได้ยินได้ฟังอยู่” ลุงแมวน้ำตอบ “ที่จริงยังมีอีกนะ อย่างเช่น สมัยก่อนมีสูตรอยู่ว่าหุ้นไฟแนนซ์วิ่งเมื่อไร เมื่อนั้นก็คือจบรอบ ตลาดจะวายแล้ว”

“อ้อ แล้วยังมีอีก ลุงพูดแล้วทำให้ผมนึกเพิ่มได้อีก นั่นก็คือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ว่ากันว่าช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งวงการอสังหาบูมมาก ก่อสร้างกันจนล้นตลาด ขายไม่ออก ในที่สุดก็กลายเป็นฟองสบู่แตก เหมือนตอนนี้เลยลุง ข่าวหนังสือพิมพ์บอกว่าตอนนี้บ้านคอนโดล้นตลาด เหลือบานเบอะ” ลิงจ๋อพูดอีก

“สรุปก็คือนายจ๋อมองว่าตลาดหุ้นไทยใกล้ฟองสบู่แตกแล้ว ว่ายังงั้นใช่ไหม” ลุงแมวน้ำถาม

“ก็น่าจะใช่นะลุง เพราะเหตุการณ์ต่างๆหลายอย่างในตอนนี้สอดคล้องกับเหตุการณ์ในตอนนั้น” ลิงตอบแบบลังเล “ลุงแมวน้ำคิดยังไงบ้างล่ะครับ”

“สัญญาณบอกเหตุที่นายจ๋อว่ามานั้น หากจะพูดถึงเหตุการณ์แล้วบางเรื่องมันก็พ้องกันกับเมื่อสมัยก่อนต้มยำกุ้งจริงนั่นแหละ จะว่าไปสัญญาณเหล่านี้ก็คืออินดิเคเตอร์นั่นเอง นายจ๋อใช้ปัจจัยทางเทคนิคก็คงรู้นี่ว่าการเลือกใช้อินดิเคเตอร์ต้องรู้ว่าอะไรควรใช้เมื่อไร คือต้องใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ รวมทั้ง ต้องเข้าใจคุณสมบัติของอินดิเคเตอร์นั้นด้วยว่าใช้บ่งชี้เรื่องอะไร มีความน่าเชื่อถือระดับใด

“เหตุการณ์หลายอย่างพ้องกันกับเมื่อก่อนละก็ใช่ แต่ทว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของสมัยนี้กับสมัยเมื่อ 20 ปีก่อน คือยุคก่อนต้มยำกุ้งนั้นก็แตกต่างกันมาก ดังนั้น การตีความก็อาจไม่จำเป็นต้องตีความในแบบเดิมๆ เรื่องแบบนี้ต้องพิจารณาให้ดี”

“ยังไงกันครับลุง ผมยังไม่ค่อยเข้าใจ” ลิงยกหางขึ้นเกาหัว เกาคาง

ลุงแมวน้ำล้วงเอาภาพชุดหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย ยื่นให้ลิงจ๋อดู

“พอดีลุงมีภาพสยามสแควร์ที่ถ่ายในยุคต่างๆ นายจ๋อลองดูสิ”

“แล้วภาพนี้เกี่ยวกับที่เราคุยกันไหมเนี่ย” ลิงจ๋อยิ่งสงสัยหลังจากได้ดูภาพ

“ไม่ต้องงงไป ลุงจะอธิบายภาพชุดนี้ให้ฟัง ค่อยๆฟัง ใจเย็นๆ” ลุงแมวน้ำพูด “ลุงจะเล่านิทานให้ฟัง”

“นิทานอีกแล้ว” ลิงหัวเราะ “น่าจะเรียกกระต่ายน้อยมาฟังด้วย รายนั้นชอบฟังนิทาน”

“ความคิดของนายจ๋อดีทีเดียว ลุงคิดว่าพวกเราหลายๆตัวก็อาจกังวลใจอยู่เหมือนกันว่าตลาดหุ้นจะเกิดฟองสบู่แตกหรือไม่ ถ้าอย่างนั้นเรามาคุยพร้อมกันดีกว่า เย็นนี้เจอกันที่ศาลาชมสวนก็แล้วกัน” ลุงแมวน้ำพูด

“ยังงั้นก็ดีครับ จะได้ฟังกันหลายๆคน” ลิงตอบ

เย็นวันนั้น ที่ศาลาชมสวน บรรดาสิงห์สาราสัตว์ที่เปิดพอร์ตหุ้นต่างก็มาชุมนุมกันพร้อมหน้า หลังจากที่ลุงแมวน้ำเท้าความให้ฟังถึงเรื่องที่คุยกับลิงจ๋อในตอนเช้า ลุงแมวน้ำก็เริ่มเข้าเรื่อง โดยยกภาพถ่ายให้ทุกคนได้ชมกันอีกรอบหนึ่ง

“ลุงเริ่มคุยเลยก็แล้วกัน ลองดูภาพนี้ ภาพนี้มี 3 ภาพย่อย เป็นภาพถ่ายของสี่แยกปทุมวันและสยามสแควร์ทั้งสามภาพ แต่ว่าถ่ายในยุคที่แตกต่างกัน ภาพนี้มีความหมายไม่น้อยทีเดียว ลุงจะเล่าเรื่องราวเก่าๆในภาพเหล่านี้ให้พวกเราฟัง”

“เย้ มีนิทานฟังแล้ว” กระต่ายน้อยพูดอย่างร่าเริง “กดไลค์ให้ 10 อันเลยฮะลุง”

ลุงแมวน้ำเริ่มเล่า

“เรามาดูที่ภาพย่อยแรกกันก่อน ภาพบนสุด ภาพนี้เป็นภาพสี่แยกปทุมวันและสยามสแควร์ที่ถ่ายในปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) หรือเมื่อสี่สิบกว่าปีมาแล้ว”

บรรดาสมาชิกฮือฮากันใหญ่ เพราะว่าไม่เคยเห็นสยามสแควร์ในสภาพเช่นนี้มาก่อน

“โห ถ้าไม่บอกไม่มีทางจำได้เลย” ลิงพูด

“ภาพนี้จุดที่ตั้งกล้องคือด้านสนามกีฬาแห่งชาติ มองไปทางราชประสงค์ ก็จะเห็นสี่แยกปทุมวัน และไกลออกไปจากสี่แยกก็คือสยามสแควร์

ที่จริงในยุคนั้น ตรงพญาไท ราชเทวี และปทุมวัน ไม่ได้เป็นสี่แยกดังในปัจจุบันหรอกนะ สมัยก่อนนั้น คือเมื่อห้าสิบปีก่อน เป็นวงเวียนมีน้ำพุอยู่ตรงกลางทั้งสามแห่ง เรียกว่าวงเวียนปทุมวัน วงเวียนราชเทวี และวงเวียนพญาไท แต่ต่อมาก็รื้อวงเวียนและน้ำพุออกไป กลายเป็นสี่แยกไปจนหมด จนกลายเป็นสี่แยกปทุมวัน สี่แยกราชเทวี และสี่แยกพญาไท ในภาพนี้วงเวียนปทุมวันเพิ่งถูกรื้อออกไป และกำลังจะทำเป็นสี่แยก เรายังเห็นแนววงเวียนอยู่เลย

ในปี พ.ศ. 2513 นั้นศูนย์การค้าสยามสแควร์เพิ่งเปิดดำเนินการได้ไม่นาน ตึกรามก็มีที่ฝั่งโรงหนังสยาม ลิโด้ สกาล่าเท่านั้น ฝั่งตรงข้ามยังไม่มีอะไรเลย พูดง่ายๆก็คือ พื้นตรงที่เป็นสยามดิส สยามเซ็นเตอร์นั้น ในยุคนั้นยังมีแต่ต้นไม้

“ว้าว โบราณจริงๆ” ลิงอุทาน

“ทีนี้ดูภาพต่อมา เป็นภาพสี่แยกปทุมวันและย่านสยามสแควร์ในปี 2531 ภาพนี้จุดตั้งกล้องน่าจะอยู่ที่ตึก MBK เห็นอาคารศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์สีเขียวๆนั่นไหม นั่นคือรูปโฉมดั้งเดิม สมัยก่อน เมื่อแรกมีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเริ่มมีการซื้อขายหุ้นในปี 2518 ที่ทำการของตลาดหลักทรัพย์และห้องค้าหุ้นก็อยู่ในตึกสยามเซ็นเตอร์นั่นเอง ต่อมาจึงได้ย้ายออกไป

“ส่วนพื้นที่สีเขียวๆข้างสยามเซ็นเตอร์นั้น สมัย 252x ตรงนั้นจัดเป็นลานเบียร์ในช่วงฤดูหนาว เป็นลานเบียร์แห่งแรกเลยมั้ง หนุ่มสาวยุคนั้นนิยมกันมาก ต่อจากนั้นจึงได้กลายเป็นสยามดิสคัฟเวอรี่

“ทีนี้มาดูภาพล่างสุด เป็นสี่แยกปทุมวันและสยามสแควร์ที่ถ่ายจากมุมสูง ในปี 2556 ภาพนี้เห็นตึกสูงเต็มไปหมดทั่วทั้งบริเวณ อีกทั้งยังมีรถไฟฟ้าอีกด้วย

“ลุงนำเอาภาพสยามสแควร์ตลอดช่วงเวลา 50 ปีมาให้ดูกัน เพื่อให้เห็นว่าสยามสแควร์เปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด เครื่องเสียงของวัยรุ่นในยุคของภาพแรกคือวิทยุทรานซิสเตอร์ ส่วนวัยรุ่นในภาพสองพูดถึงวิทยุเทปวอล์กแมน ส่วนวัยรุ่นในภาพสามพูดกันเรื่องไอโฟน

“วัยรุ่นในภาพแรกกินขนมครกจากรถเข็นป้าปากซอย วัยรุ่นในภาพกลางกินวาฟเฟิลที่ร้าน A&W ส่วนวัยรุ่นในภาพสามกินขนมที่ร้านอาฟเตอร์ยู



การเทรดหุ้นในยุคที่ยังใช้ระบบมือ หรือที่เรียกว่าระบบเคาะกระดาน

การเทรดหุ้นในปัจจุบันใช้ระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ สามารถส่งคำสั่งได้ด้วยโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ซื้อขายได้ทุกที่ ทุกเวลา


“มาดูที่พัฒนาการของตลาดหุ้นกันบ้าง สมัยก่อน เมื่อ 30 ปีก่อน การซื้อขายยังทำด้วยระบบมือ คือต้องโทรศัพท์ไปสั่งที่ดบรกเกอร์ จากนั้นโบรกเกอร์จะสั่งไปที่เจ้าหน้าที่ในห้องค้าอีกทีหนึ่ง การซื้อขายก็ใช้เคาะกระดาน เขียนกระดาน ตะโกนกันโหวกเหวก ใช้กล้องส่องทางไกล ซึ่งหนุ่มสาวสมัยนี้คงไม่มีใครได้เห็นเนื่องจากไม่ทันนั่นเอง ปัจจุบันการซื้อขายหุ้นใช้ระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด แถมยังออนไลน์อีกด้วย เรียกว่าซื้อขายกันง่ายแค่ปลายนิ้ว หนุ่มสาวในยุคนี้นึกไม่ออกว่าเมื่อ 30 ปีก่อนเทรดกันยังไง คนในยุค 30 ปีก่อนก็นึกไม่ออกว่าอีก 30 ปีต่อมาจะเทรดกันยังไงเช่นกัน

“สภาพสังคม การศึกษา สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ สมัยก่อนป่วยก็กินยาหม้อ ยาผีบอก สมัยนี้ล้ำไปถึงขั้นซ่อมแซมยีนกันแล้ว ตอนนี้แตกต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อนไปมากทีเดียว ดังนั้นต้องระวังว่าสูตรเดิมๆอาจใช้ไม่ได้ สัญญาณต่างๆอยู่ภายใต้บริบทที่แตกต่างกันก็อาจต้องตีความกันใหม่ สมัยนี้ชาวบ้านร้านตลาดพูดเรื่องหุ้นลุงก็ว่าไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่คุยเรื่องหุ้นจะให้คุยเรื่องอะไรล่ะ” ลุงแมวน้ำพูด

“สรุปว่าลุงแมวน้ำคิดว่าตลาดหุ้นไทยยังไม่มีสัญญาณฟองสบู่แตก” ลิงคาดคั้นเอาคำตอบ

“ลุงยังไม่เห็นแบบนั้นนะ” ลุงแมวน้ำตอบ “และยิ่งไปกว่านั้น ลุงยังมองตรงกันข้าม”

“ตรงกันข้ามยังไงฮะลุง” กระต่ายน้อยถามบ้าง

“ลุงพอจำสถิติได้นิดหน่อย ตลาดหุ้นปี 2528 หรือเมื่อราวๆ 30 ปีก่อน ตอนนั้นมูลค่าตลาด (market cap) ประมาณ 50,000 ล้านบาท มีหุ้นสามัญให้เทรดในตลาดประมาณ 100 หุ้น นี่ปัดเอาตัวเลขกลมๆนะ ไม่ได้เอาตัวเลขละเอียด

“ในปี 2557 ตลาดหุ้นมีมูลค่าถึง 14,000,000 ล้านบาท (อ่านว่า 14 ล้านล้านบาท) มีหุ้นสามัญให้เทรด 700 หุ้น ยังไม่รวมผลิตภัณฑ์อื่นๆอีก

“นอกจากนี้ ปัจจุบันเรายังเชื่อมโยงกับตลาดหุ้นมาเลเซียและสิงคโปร์ สามตลาดสามารถเทรดหุ้นระหว่างกันได้โดยระบบอาเชียนลิงเกจ นอกจากนี้ เรายังเชื่อมโยงกับตลาดหลักทรัพย์ GMS คือลาว กัมพูชา เวียดนาม ที่เราสามารถซื้อหุ้นในตลาดเหล่านี้ผ่านโบรกเกอร์ไทยได้

“และในปี 2558 นี้ ตลาดหลักทรัพย์ไทยจะเริ่มรับกิจการของประเทศเพื่อนบ้านให้เข้ามาจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้อีกด้วย

“เห็นไหมว่าตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันต่างจากเมื่อก่อนมาก นอกจากตลาดหุ้นแล้ว สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของเราก็เปลี่ยนไปมากด้วยเช่นกัน เรากำลังทะยานไปสู่พรมแดนใหม่ที่เราไม่เคยไปถึงมาก่อนต่างหาก อย่างที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า toward a new frontier”

“โห ลุงฮะ” กระต่ายน้อยทำตากลมโต “ลุงดูหนังสตาร์เทรกมากไปหน่อยหรือเปล่า”

“ลุงก็ชอบดูนะ หนังชุดสตาร์เทรก (Star Trek) เนี่ย แต่ที่ลุงพูดมานี้ไม่ใช่หนัง แต่ว่าเรากำลังก้าวไปแบบนั้นจริงๆ ดังนั้นลุงจึงไม่แปลกใจถ้าเราจะเห็นดัชนีตลาดหุ้นของเราไต่ระดับไปถึง 2,000 จุด และ 3,000 จุด” ลุงแมวน้ำพูด

“ขนาดนั้นเลยหรือลุง” ลิงหัวเราะ “นี่แหละ นักลงทุนสายจิน ของแท้เลย”

“ลุงไม่ได้เอาแต่จิตนาการลมๆแล้งๆ ลุงมีเหตุผลประกอบเยอะแยะมากมายทีเดียว รวมทั้งเรื่องอสังหาฯ ตอนนี้มีฟองสบู่หรือไม่ จะลงเอยเหมือนต้มยำกุ้งหรือไม่ ลุงก็มีเหตุผลประกอบ อยากฟังไหมล่ะ” ลุงแมวน้ำถาม

“อยากฟังสิลุง หากตลาดหุ้นไทยไปขนาดนั้นจริง ผมคงได้ผลตอบแทนงดงามไม่น้อยเลยทีเดียว” ลิงพูด

“ถ้าอย่างนั้นเรามาฟังกันต่อในวันหลัง ลุงจะทยอยเล่าให้ฟัง” ลุงแมวน้ำสรุป