จีน ดินแดนแห่งการเติบโตแบบก้าวกระโดด
ตั้งแต่ยุคเปิดประเทศจนเป็นต้นมา จีนเติบโตแบบก้าวกระโดด จีนเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติด้วยจุดขายคือแรงงานราคาถูก มีการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ทำการค้ากับประเทศต่างๆด้วยการผลิตและขายสินค้าที่ราคาถูกกว่าญี่ปุ่นและไต้หวัน
ปัจจัยที่สร้างความเจริญเติบโตได้ดีที่สุดก็คือการลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน เพราะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นปัจจัยเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และอื่นๆตามมา โดยเฉพาะการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นตัวขับเคลื่อนจีดีพีที่สำคัญเพราะใช้ทรัพยากรอย่างมากและเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่นๆมากมาย ตั้งแต่การรับเหมาก่อสร้าง การค้าวัสดุก่อสร้าง การขนส่ง การค้าสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดไปจนถึงทำให้เกิดการจ้างงานอย่างมากมาย
ผลจากนโยบายเปิดประเทศและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ ทำให้จีนมีอัตราการเติบโตในระดับสูงมาตลอดระยะเวลาร่วม 30 ปี ยกตัวอย่างเช่น ปี 1984 โต 15.2% ส่วนปี 1992 และ 2007 สองปีนี้เติบโต 14.2% ต่อปี ส่วนปีอื่นๆมักเติบโตปีละ 10% ขึ้นไป
ประเทศจีนมีอัตราการเติบโตของจีดีพีที่น่าตื่นใจ เพราะแต่ละปีส่วนใหญ่เติบโตเกินกว่า 10% และคงความต่อเนื่องมาได้ยาวนานถึง 3 ทศวรรษ |
เมื่อเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป
ในปี 1992 (2535) นั้นเศรษฐกิจจีนร้อนแรงมาก จีดีพี 14.2% ต่อปี ดูเผินๆเหมือนจะดี แต่ที่จริงกลับไม่ดี เพราะว่าต่อมาอัตราเงินเฟ้อของจีนพุ่งทะยานถึงปีละ 24% จีนจำเป็นต้องชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจลงเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อลง โดยการใช้นโยบายเศรษฐกิจที่เข้มงวด รักษาสเถียรภาพของค่าเงินหยวนไม่ให้อ่อนค่า ดังนั้นหลังจากช่วงนั้นมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและอัตราเงินเฟ้อของจีนก็ค่อยลดลง ขณะเดียวกันก็ปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศให้ทันสมัยไปด้วย และนั่นคืออาการฟองสบู่แตกครั้งแรกของจีนหลังการเปิดประเทศเข้าสู่ยุคทุนนิยม
จากวิกฤติต้มยำกุ้งสู่ยุคทองของอสังหาริมทรัพย์จีน
เมืองฉงชิ่ง ตัวอย่างของการเติบโตอย่างร้อนแรงของจีน ฉงชิ่งเติบโตอย่างร้อนแรงไม่แพ้เซี่ยงไฮ้ หรืออาจจะร้อนแรงกว่าด้วยซ้ำไป |
ตั้งแต่ปี 1994 (พ.ศ. 2537) ที่ฟองสบู่ของเศรษฐกิจไทยเริ่มแตก จนมาสู่วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 (พ.ศ. 2540) ประเทศในย่านอาเซียนล้วนแต่ได้รับพิษจากต้มยำกุ้งไปตามๆกัน ประเทศจีนหยิบยื่นความช่วยเหลือทางการเงินแก่หลายประเทศ รวมทั้งไทยด้วย รวมทั้งไม่ลดค่าเงินหยวนเพื่อแข่งขันการส่งออก อันถือว่าเป็นการช่วยประเทศเพื่อนบ้านอีกทางหนึ่ง เรื่องการไม่ลดค่าเงินหยวนนั้นมีส่วนช่วยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอาเซียนรวมทั้งไทย เนื่องจากสินค้าจากจีนนั้นแข่งได้ทุกตลาดอยู่แล้ว หากจีนลดค่าเงินด้วยสินค้าส่งออกของชาติอื่นก็เหนื่อยยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าจีนแสดงน้ำใจโดยยอมเสียเปรียบในการแข่งขัน บางคนก็ว่าจีนได้สองเด้ง คือจีนตั้งใจรักษาเสถียรภาพของค่าเงินไม่ให้อ่อนค่าอยู่แล้วเนื่องจากต้องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ การได้ใจเพื่อนบ้านคือผลพลอยได้ ก็คงแล้วแต่มุมมอง
ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งทำให้การเติบโตของจีนลดลง จากเดิมปีละกว่า 10% กลายเป็นต่ำกว่าปีละ 10% (ราว 8% ถึง 9%) โดยเฉพาะการส่งออกของจีนลดลง สำหรับจีนแล้วอัตราการเติบโตต่ำกว่า 10% ถือเป็นเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ เนื่องจากจีนเองมีบริบทของประเทศที่แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ คือเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ การที่เศรษฐกิจขชองประเทศเติบโตดี ประชาชนมีรายได้ดี ถือเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน ประชาชนจีนจะได้สนใจกับการทำมารายได้ ไม่ต้องมาเรียกร้องทางการเมืองให้วุ่นวาย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าจีนมีปัญหากับเรื่องอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก มากไปก็ไม่ได้ น้อยไปก็ไม่ได้ หาจุดสมดุลได้ยาก
หลังจากยุคต้มยำกุ้ง จีนก็เร่งเครื่องทางเศรษฐกิจอีก ซึ่งหนทางในการเร่งเครื่องเศรษฐกิจก็คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ จีนลงทุนก่อสร้างเป็นการใหญ่ด้วยการขยายโครงข่ายการคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นระบบรถไฟธรรมดา รถไฟความเร็วสูง รวมทั้งระบบถนน
ทางด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็ส่งเสริมการเติบโตของชุมชนเมือง ตามเมืองใหญ่มีการสร้างอพาร์ทเมนต์เต็มไปหมด ชุมชนบ้านเดี่ยวเก่าๆแบบดั้งเดิมก็ค่อยๆทยอยหายไปเพราะถูกรื้อและสร้างเป็นตึกสูงแทน
หลังยุคต้มยำกุ้ง หรือคิดคร่าวๆคือ ปี 2000 เป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนก็เริ่มร้อนแรงขึ้นอีก อพาร์ทเมนต์ได้รับความนิยม ราคาจึงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการหรือดีเวลอปเปอร์สามารถขอสินเชื่อได้อย่างง่ายๆและในอัตราต่ำ ทางภาคประชาชนเองก็มีเงินออมสูง ไม่รู้จะลงทุนอะไรดีก็มาลงทุนในอพาร์ตเมนต์ ตอนนั้นราคาราคาอพาร์ตเมนต์ขึ้นทุกวัน ประกอบกับพวกพนักงานบริษัทมีสวัสดิการโดยซื้ออพาร์ตเมนต์ได้โดยออกเงินเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งเป็นสวัสดิการของบริษัทกับภาครัฐที่ช่วยกันสมทบให้ สินเชื่อบ้านหลังที่สอง สาม ฯลฯ ก็อนุมัติง่ายและดอกเบี้ยไม่สูง ในภาคประชาชนก็มีการเก็งกำไรอพาร์ตเมนต์กันเป็นการใหญ่เพราะได้กำไรงาม มีทั้งการซื้อขายเปลี่ยนมือหากำไรจากส่วนต่าง และการซื้ออพาร์ตเมนต์ไว้หลายๆห้องเพื่อปล่อยเช่าหวังกำไร
ประกอบกับจีนในยุคนั้นได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนที่ปักกิ่งในปี 2008 เฉพาะแค่การรองรับโอลิมปิกจีนก็มีการก่อสร้างต่างๆมากมาย ดังนั้น เมื่อรวมกันแล้ว ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 หรือปี 2000-2007 จึงถือเป็นยุคทองของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีนอย่างแท้จริง เพราะทำให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องตามมามากมาย จีดีพีจีนกลับมาทะยานเกิน 10% ต่อปีอีก มีการนำเข้าพลังงาน วัสดุก่อสร้าง แร่ และสินค้าโภคภัณฑ์ อื่นๆเป็นจำนวนมากและฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์จีนก็เกิดในยุคนี้นั่นเอง
ราคาอพาร์ตเมนต์ระดับหรูในเซี่ยงไฮ้ ห้องนี้ประกาศขายตารางเมตรละ 83,000 หยวน (ราคาปัจจุบัน) |
ราคาอพาร์ตเมนต์นอกเมืองคุนหมิงของจีน โซนนอกเมืองก็ประมาณ 9,000 หยวนต่อตารางเมตร (ราคาปัจจุบัน) |
ตอนต่อไปเราจะมาคุยกันเรื่องยุควิกฤตแฮมเบอร์เกอร์และฟองสบู่อสังหาจีนแตกคร้าบ