Tuesday, August 25, 2015

จีนบนเส้นทางการปฏิรูปเศรษฐกิจ ติดหล่มหรือตั้งหลัก (1)




เซินเจิ้น เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน


ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ จีนมีปรากฏการณ์ทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญเกิดขึ้นหลายอย่าง ตั้งแต่ยอดการผลิตสินค้าลดลงอย่างต่อเนื่อง การส่งออกและนำเข้าที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตลาดหุ้นจีนพุ่งขึ้นไปถึง 150% ภายในครึ่งปี จากนั้นร่วงลงมา -40% ภายในช่วงเวลาเพียงสามสี่เดือน เหล่านี้ล้วนแต่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของประเทศคู่ค้าทั้งสิ้น

และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อไม่กี่วันมานี้ทางการจีนประกาศลดค่าเงินหยวน 3 วันติดต่อกัน รวมแล้วเป็นการลดอัตราอ้างอิงเงินหยวนลงประมาณ 4.6% ดังที่ลุงแมวน้ำเล่าให้ฟังไปแล้ว (ดูบทความเรื่อง หยวนอ่อนถล่มตลาดโลก ประกอบ)

และล่าสุดที่เหมือนฟางเส้นสุดท้ายบนหลังอูฐ ดัชนีการผลิตหรือที่เรียกว่า Purchasing Managers' Index (PMI) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดของภาคการผลิต ดัชนีการผลิตของจีนเดือนสิงหาคมที่เพิ่งประกาศออกมาปรากฏว่าลดลงต่อเนื่องจนเหลือ 47.1% ซึ่งค่า PMI นี้หากต่ำกว่า 50 ถือว่าไม่ดี ยิ่งต่ำกว่า 50 และลดลงอย่างต่อเนื่องแสดงว่าภาคการผลิตของจีนหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง แปลว่าเศรษฐกิจจีนมีปัญหามากขึ้นและมากขึ้น


ดัชนีการผลิตที่รายงานล่าสุด ลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือ 47.1 เป็นเหตุให้ตลาดหุ้นร่วงระเนระนาดทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ตลาดหุ้นจีนเอง


เท่านั้นเอง ตลาดหุ้นจีนที่เพิ่งร่วงไปจากกรณีลดค่าเงินหยวน ก็ร่วงลงต่อ และยิ่งไปกว่านั้น จีนซึ่งถือเป็นนำเข้ารายใหญ่ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา นำเข้าทั้งพลังงาน วัตถุดิบ สินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าสำเร็จรูป แทบทุกประเภท เมื่อจีนป่วย การนำเข้าก็ลดลง ทางคู่ค้าก็เกิดอาการวิตกกังวลเพราะเกรงว่ายอดขายของตนเองจะลดลง ส่งผลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศของตน ความกังวลนี้สะท้อนออกมาที่ตลาดหุ้นของประเทศคู่ค้าต่างๆ ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ร่วงระนาว โดยเฉพาะเมื่อวาน (วันที่ 24 สิงหาคม 2015) ตลาดหุ้นทั่วโลกลงแรงราวกับอยู่ในยุควิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ แต่ละตลาดร่วงลงไปตั้งแต่ -3% ถึง -8% ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (DJI) ของสหรัฐอเมริการ่วงตอนเปิดตลาดเกินกว่า -1,000 จุด


ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงแรงมาก ภายในหนึ่งวันปรับตัวลง -3% ถึง -8%  

บทความนี้ลุงแมวน้ำจะเล่าถึงการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของจีนและผลกระทบต่อตลาดคู่ค้า เพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันมานี้ แต่การเล่าในครั้งนี้เป็นฉบับย่อ เศรษฐกิจของจีนครอบคลุมประชากรจีนราว 1300 ล้านคน และประเทศคู่ค้าอีกมากมาย ดังนั้นจึงมีเรื่องราวที่ซับซ้อน หลายมุมมอง หลายมิติ ซ้อนทับกันอยู่ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่วันนี้ลุงแมวน้ำจะเล่าในฉบับย่อเท่าที่เกี่ยวข้องการกับเศรษฐกิจและการลงทุนของพวกเราเท่านั้น


เมื่อจีนแรกเปิดประเทศ เน้นแรงงานราคาถูก


ก่อนอื่นก็เท้าความกันก่อน จีนเริ่มเปิดประเทศประมาณปี 1978 ตอนนั้นเติ้งเสี่ยวผิงเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาในปี 1980 หรือเมื่อ 35 ปีมาแล้วก็เริ่มมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจก็เป็นไปตามขั้นตอน คือ จากประเทศด้อยพัฒนา อาศัยแรงงานที่มีราคาถูก ก็เปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรม พูดง่ายๆก็คือทำงานรับจ้างนั่นเอง


เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำรุ่นที่สอง นายกรัฐมนตรีจีนในยุคเปิดประเทศ

เซินเจิ้น เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน

ปี 1980 จีนมีจีดีพีต่อหัวเพียง 193 ดอลลาร์ สรอ ต่อคน ต่อปี (ค่าเงินในยุคนั้น) คนที่มีหัวทางการค้าก็ทำการค้าไป คนที่ยังติดยึดกับการเป็นลูกจ้างก็เป็นลูกจ้างไป ลุงแมวน้ำจำได้ว่ายุคนั้นไกด์นำเที่ยวชาวจีนเคยเล่าให้ลุงฟังว่าได้เงินเดือนเดือนละ 200-300 หยวน ประมาณนี้แหละ ส่วนจีดีพีต่อหัวของไทยในยุค 1980 คือ 683 ดอลลาร์ สรอ ต่อคน ต่อปี

เศรษฐกิจจีนเติบโตเรื่องมา จากการขายแรงงานราคาถูกโดยเป็นลูกจ้างในโรงงานต่างชาติ ก็มาตั้งโรงงานผลิตของตนเองบ้าง มีทั้งที่เป็นโรงงานผลิตสินค้าแบบง่ายๆ เช่น ถ้วยถังกะละมังไห ไปจนถึงพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองผลิตสินค้าเทคโนโลยี

จวบจนปัจจุบัน ปี 2015 เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันจีนมีจีดีพีต่อหัว 7593 ดอลลาร์ สรอ ต่อคน ต่อปี (ค่าเงินปี 2014) ขณะที่ไทยมีจีดีพีต่อหัว 5560 ดอลลาร์ สรอ ต่อคน ต่อปี

เศรษฐกิจจีนในปัจจุบันมีความหลากหลายมาก เนื่องจากจีนมีประชากรเป็นจำนวนมาก มีบัณฑิตจบใหม่ปีละประมาณ 7 ล้านคน การมีงานมีรายได้เป็นเรื่องสำคัญของคนจีนเพราะจีนเป็นคนรักษาหน้าตาและคาดหวังความสำเร็จสูง หากไม่สามารถเป็นลูกจ้างบริษัทดีๆได้ (พูดง่ายๆคือหางานทำไม่ได้) ก็ไปเป็นเถ้าแก่เองเสียเลยแก้ตกงานได้เหมือนกัน จีนเองก็ต้องการเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็บอกว่าเอาเลย อยากเป็นเถ้าแก่ก็สนับสนุน

ดังนั้นจีนจึงมีโรงงานผลิตสินค้าต่างๆมากมาย พวกสินค้าง่ายๆมีเยอะมาก ผลิตกันจนอุปทานล้นตลาด เมื่อล้นตลาดในประเทศก็เอามาทุ่มขายราคาถูกนอกประเทศ กำไรน้อยไม่เป็นไรขอกระแสเงินสดพอเลี้ยงตัวไปก่อน และนี่เองจึงเป็นที่มาของแบตเตอรี่ (ถ่านไฟฉาย) ราคาถูกเหลือเชื่อที่ขายอยู่ในเมืองไทย (และก็เป็นปัญหาโลหะหนักปนเปื้อนในน้ำใต้ดินของเราจนทุกวันนี้) ที่ช็อตยุงอันละ 20 บาท (ทำได้ไงเนี่ย) ปากกาเคมีที่ใช้เน้นสีข้อความแท่งละ 5 บาท ของญี่ปุ่นขายตั้งหลายสิบบาท

ที่จริงพวกนี้ทำแล้วขาดทุน แต่ก็ทนทำไปเพราะต้องการสภาพคล่อง คล้ายๆชาวนาไทยนั่นเอง ปลูกข้าวขาดทุนแต่ก็ทนปลูกไปทุกปีเพราะไม่รู้จะทำยังไง อุตสาหกรรมเอสเอ็มอีจีนเหล่านี้นานไปก็มีปัญหาหนี้นอกระบบสะสมทบทวี


มุ่งหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง


ปัจจุบันจีนไม่เหมือนเมื่อก่อน ค่าแรงของจีนแพงแล้ว ดังนั้นโดยสภาพความเป็นจริงแล้วโรงงานที่ผลิตสินค้าขายราคาถูกอยู่ไม่ได้แล้ว ทางการจีนเองก็รู้ดี ประกอบกับจีนเองก็ต้องการหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางเป็นประเทศรายได้สูงเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ดังนั้นจะมามัวผลิตสินค้าขั้นพื้นฐานด้วยค่าแรงแพงอยู่ไม่ได้ จึงมีการปฏิรูปเศรษฐกิจขึ้น

แนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจของผู้นำในยุคหลัง โดยเฉพาะในยุคของประธานาธิบดี ลุงสีจิ้นผิง กับนายกลุงหลี่เค่อเฉียง ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันนี้ พูดแบบกำปั้นทุบดินก็คือใช้ทำเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มเยอะๆ พวกมูลค่าเพิ่มน้อยๆไม่เอาแล้ว ดังนี้

หนึ่ง มุ่งสู่เศรษฐกิจภาคบริการ เป็นที่รู้กันดีว่าเศรษฐกิจภาคบริการนั้นได้กำไรมากกว่าเศรษฐกิจด้านการผลิต โดยเฉพาะในภาคการเงินนั้นยิ่งเพิ่มมูลค่าได้มาก

สอง หากเป็นเศรษฐกิจด้านการผลิตก็ต้องเน้นการผลิตที่เพิ่มมูลค่า ได้แก่พวกสินค้าเทคโนโลยี สินค้าพื้นๆถ้วยถังกะละมังก็ไม่เอาแล้ว

สาม ไม่ยินดีรับการลงทุนจากชาวต่างชาติแล้ว หมายความว่าไม่ค่อยอยากรับทุนจากต่างชาติให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีน (FDI) แล้ว แต่ไม่ห้ามเพราะห้ามไม่ได้ จึงออกมาในรูปการเข้าไปลงทุนในจีนทำได้ยากขึ้น สร้างกฎระเบียบข้อกำหนดต่างๆ ให้เบื่อกันไปเอง ยกเว้นในอุตสาหกรรมที่จีนต้องการ ถ้าอย่างนั้นจะอำนวยความสะดวกดีมาก

สี่ ต้องการออกไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อแสวงหาผลตอบแทนกลับเข้ามาในประเทศ นี่คือนโยบาย going out หรือ走出去 ที่เราได้ยินกันนั่นเอง

ผลจากนโยบายข้อหนึ่งและข้อสอง ก็คือสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ นั่นคือ การส่งออกสินค้าของจีนจะค่อยๆลดลง รวมทั้งการนำเข้าวัตถุดิบจะค่อยลดลง เพราะจีนต้องการมุ่งไปสู่การผลิตสินค้าที่เพิ่มมูลค่าได้มากๆเท่านั้น การปรับลดจะดำเนินต่อไปจนเข้าสู่จุดสมดุล

ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ธุรกิจขนาดเล็กของจีนเองก็จะได้รับผลกระทบ พวกที่เลิกผลิตถ้วยถังกะละมังจะไปทำอะไรต่อไปนั่นก็เป็นปัญหาอีกเปลาะหนึ่งที่ต้องแก้ไข ดังนั้นการเลิกธุรกิจพวกนี้เลิกเร็วเกินไปผู้ประกอบการก็ปรับตัวไม่ได้ ก็ต้องค่อยๆลดและเลิกไป ดังนั้น ค่าเงินหยวนที่อ่อนตัวก็ยังจำเป็นอยู่เพื่อช่วยธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน

ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่มาสมทบก็คือ เศรษฐกิจโลกไม่ค่อยดีเหมือนเมื่อก่อน ดังนั้นความต้องการสินค้าที่ลดลงก็มีส่วนด้วย เมื่ออุปสงค์ลด อุุปทานก็ต้องปรับตัวลดลง

ปัญหาหนี้นอกระบบ ธนาคารเงา (shadow banking) ดังที่เล่ามาแล้วว่าธุรกิจจีนมีการใช้เงินกู้นอกระบบกันมาก หนี้เสียไม่มีปัญญาใช้คืนก็มาก เรื่องหนี้นอกระบบนั้นไม่แค่เรื่องการผลิต แม้แต่ในการบริหารงานของรัฐบาลท้องถิ่นก็ยังแอบไปก่อหนี้นอกระบบธนาคารเอาไว้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ทางการจีนปวดหัวมาก ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบนี้เชื่อมโยงไปถึงสภาพคล่องของธุรกิจจีนด้วย จนถึงตอนนี้ก็ยังปวดหัวอยู่ เพราะจัดการได้ยาก

เอาละ วันนี้เล่าให้ฟังเท่านี้ก่อน คอยอ่านตอนต่อไปนะคร้าบ นี่เล่าแบบง่ายๆ แบบแมวน้ำๆ  ไม่ได้ลงรายละเอียดอะไร

กาารสาธิตจับโซ่เผาไฟร้อนๆเพื่อแสดงประสิทธิภาพของครีมบัวหิมะในการรักษาแผลไฟไหม้

บทความตอนนี้มีภาพประกอบไม่มาก ลุงแมวน้ำเอาภาพนี้มาให้ดูรำลึกถึงความหลัง นี่คือการขายครีมบัวหิมะ (เป่าฟู่หลิง) ที่เป็นครีมสารพัดประโยชน์ ทาแก้ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ผด ผื่น สิว ริดสีดวง ฯลฯ ในสมัยก่อนชูจุดขายคือรักษาบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ทัวร์ที่ไปเที่ยวประเทศจีน ไกด์จีนจะต้องพาไปร้านที่ขายครีมนี้ อย่างน้อย 1 ครั้ง และจะได้ดการสาธิตแบบตื่นตาตื่นใจ นั่นคือ การเอามือไปจับโซ่ที่เผาไฟจนร้อนแดง แสดงกันสดๆทุกรอบ ไม่ใช่สลิง ไม่ใช่ซีจี โซ่แดงจริง จับแล้วควันขึ้น กลิ่นเนื้อย่างลอยฉุย จากนั้นก็ทาครีม แล้วก็หายจริง >.<

ลุงเคยคุยกับคนที่สาธิต เขาบอกว่าผู้จัดการสั่งให้แสดงก็ต้องแสดง กลัวตกงานมากกว่ากลัวเจ็บ แต่ไม่ให้เมียรู้ วันที่จับโซ่มากสุดคือ 5 ครั้ง เพราะทัวร์ลงเยอะ ปวดมือมากแต่ก็ต้องทน ไม่รู้ว่าโม้หรือเปล่า

ปัจจุบันไม่มีการสาธิตแบบนี้ ลุงไม่เคยเห็นมาหลายปีแล้ว เข้าใจว่าคงห้ามสาธิตโหดแบบนี้กันแล้ว ภาพพวกนี้เป็นภาพเก่าหาดูได้ยากคร้าบ

No comments: