Tuesday, August 25, 2015

จีนบนเส้นทางการปฏิรูปเศรษฐกิจ ติดหล่มหรือตั้งหลัก (1)




เซินเจิ้น เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน


ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ จีนมีปรากฏการณ์ทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญเกิดขึ้นหลายอย่าง ตั้งแต่ยอดการผลิตสินค้าลดลงอย่างต่อเนื่อง การส่งออกและนำเข้าที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตลาดหุ้นจีนพุ่งขึ้นไปถึง 150% ภายในครึ่งปี จากนั้นร่วงลงมา -40% ภายในช่วงเวลาเพียงสามสี่เดือน เหล่านี้ล้วนแต่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของประเทศคู่ค้าทั้งสิ้น

และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อไม่กี่วันมานี้ทางการจีนประกาศลดค่าเงินหยวน 3 วันติดต่อกัน รวมแล้วเป็นการลดอัตราอ้างอิงเงินหยวนลงประมาณ 4.6% ดังที่ลุงแมวน้ำเล่าให้ฟังไปแล้ว (ดูบทความเรื่อง หยวนอ่อนถล่มตลาดโลก ประกอบ)

และล่าสุดที่เหมือนฟางเส้นสุดท้ายบนหลังอูฐ ดัชนีการผลิตหรือที่เรียกว่า Purchasing Managers' Index (PMI) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดของภาคการผลิต ดัชนีการผลิตของจีนเดือนสิงหาคมที่เพิ่งประกาศออกมาปรากฏว่าลดลงต่อเนื่องจนเหลือ 47.1% ซึ่งค่า PMI นี้หากต่ำกว่า 50 ถือว่าไม่ดี ยิ่งต่ำกว่า 50 และลดลงอย่างต่อเนื่องแสดงว่าภาคการผลิตของจีนหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง แปลว่าเศรษฐกิจจีนมีปัญหามากขึ้นและมากขึ้น


ดัชนีการผลิตที่รายงานล่าสุด ลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือ 47.1 เป็นเหตุให้ตลาดหุ้นร่วงระเนระนาดทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ตลาดหุ้นจีนเอง


เท่านั้นเอง ตลาดหุ้นจีนที่เพิ่งร่วงไปจากกรณีลดค่าเงินหยวน ก็ร่วงลงต่อ และยิ่งไปกว่านั้น จีนซึ่งถือเป็นนำเข้ารายใหญ่ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา นำเข้าทั้งพลังงาน วัตถุดิบ สินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าสำเร็จรูป แทบทุกประเภท เมื่อจีนป่วย การนำเข้าก็ลดลง ทางคู่ค้าก็เกิดอาการวิตกกังวลเพราะเกรงว่ายอดขายของตนเองจะลดลง ส่งผลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศของตน ความกังวลนี้สะท้อนออกมาที่ตลาดหุ้นของประเทศคู่ค้าต่างๆ ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ร่วงระนาว โดยเฉพาะเมื่อวาน (วันที่ 24 สิงหาคม 2015) ตลาดหุ้นทั่วโลกลงแรงราวกับอยู่ในยุควิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ แต่ละตลาดร่วงลงไปตั้งแต่ -3% ถึง -8% ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (DJI) ของสหรัฐอเมริการ่วงตอนเปิดตลาดเกินกว่า -1,000 จุด


ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงแรงมาก ภายในหนึ่งวันปรับตัวลง -3% ถึง -8%  

บทความนี้ลุงแมวน้ำจะเล่าถึงการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของจีนและผลกระทบต่อตลาดคู่ค้า เพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันมานี้ แต่การเล่าในครั้งนี้เป็นฉบับย่อ เศรษฐกิจของจีนครอบคลุมประชากรจีนราว 1300 ล้านคน และประเทศคู่ค้าอีกมากมาย ดังนั้นจึงมีเรื่องราวที่ซับซ้อน หลายมุมมอง หลายมิติ ซ้อนทับกันอยู่ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่วันนี้ลุงแมวน้ำจะเล่าในฉบับย่อเท่าที่เกี่ยวข้องการกับเศรษฐกิจและการลงทุนของพวกเราเท่านั้น


เมื่อจีนแรกเปิดประเทศ เน้นแรงงานราคาถูก


ก่อนอื่นก็เท้าความกันก่อน จีนเริ่มเปิดประเทศประมาณปี 1978 ตอนนั้นเติ้งเสี่ยวผิงเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาในปี 1980 หรือเมื่อ 35 ปีมาแล้วก็เริ่มมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจก็เป็นไปตามขั้นตอน คือ จากประเทศด้อยพัฒนา อาศัยแรงงานที่มีราคาถูก ก็เปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรม พูดง่ายๆก็คือทำงานรับจ้างนั่นเอง


เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำรุ่นที่สอง นายกรัฐมนตรีจีนในยุคเปิดประเทศ

เซินเจิ้น เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน

ปี 1980 จีนมีจีดีพีต่อหัวเพียง 193 ดอลลาร์ สรอ ต่อคน ต่อปี (ค่าเงินในยุคนั้น) คนที่มีหัวทางการค้าก็ทำการค้าไป คนที่ยังติดยึดกับการเป็นลูกจ้างก็เป็นลูกจ้างไป ลุงแมวน้ำจำได้ว่ายุคนั้นไกด์นำเที่ยวชาวจีนเคยเล่าให้ลุงฟังว่าได้เงินเดือนเดือนละ 200-300 หยวน ประมาณนี้แหละ ส่วนจีดีพีต่อหัวของไทยในยุค 1980 คือ 683 ดอลลาร์ สรอ ต่อคน ต่อปี

เศรษฐกิจจีนเติบโตเรื่องมา จากการขายแรงงานราคาถูกโดยเป็นลูกจ้างในโรงงานต่างชาติ ก็มาตั้งโรงงานผลิตของตนเองบ้าง มีทั้งที่เป็นโรงงานผลิตสินค้าแบบง่ายๆ เช่น ถ้วยถังกะละมังไห ไปจนถึงพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองผลิตสินค้าเทคโนโลยี

จวบจนปัจจุบัน ปี 2015 เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันจีนมีจีดีพีต่อหัว 7593 ดอลลาร์ สรอ ต่อคน ต่อปี (ค่าเงินปี 2014) ขณะที่ไทยมีจีดีพีต่อหัว 5560 ดอลลาร์ สรอ ต่อคน ต่อปี

เศรษฐกิจจีนในปัจจุบันมีความหลากหลายมาก เนื่องจากจีนมีประชากรเป็นจำนวนมาก มีบัณฑิตจบใหม่ปีละประมาณ 7 ล้านคน การมีงานมีรายได้เป็นเรื่องสำคัญของคนจีนเพราะจีนเป็นคนรักษาหน้าตาและคาดหวังความสำเร็จสูง หากไม่สามารถเป็นลูกจ้างบริษัทดีๆได้ (พูดง่ายๆคือหางานทำไม่ได้) ก็ไปเป็นเถ้าแก่เองเสียเลยแก้ตกงานได้เหมือนกัน จีนเองก็ต้องการเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็บอกว่าเอาเลย อยากเป็นเถ้าแก่ก็สนับสนุน

ดังนั้นจีนจึงมีโรงงานผลิตสินค้าต่างๆมากมาย พวกสินค้าง่ายๆมีเยอะมาก ผลิตกันจนอุปทานล้นตลาด เมื่อล้นตลาดในประเทศก็เอามาทุ่มขายราคาถูกนอกประเทศ กำไรน้อยไม่เป็นไรขอกระแสเงินสดพอเลี้ยงตัวไปก่อน และนี่เองจึงเป็นที่มาของแบตเตอรี่ (ถ่านไฟฉาย) ราคาถูกเหลือเชื่อที่ขายอยู่ในเมืองไทย (และก็เป็นปัญหาโลหะหนักปนเปื้อนในน้ำใต้ดินของเราจนทุกวันนี้) ที่ช็อตยุงอันละ 20 บาท (ทำได้ไงเนี่ย) ปากกาเคมีที่ใช้เน้นสีข้อความแท่งละ 5 บาท ของญี่ปุ่นขายตั้งหลายสิบบาท

ที่จริงพวกนี้ทำแล้วขาดทุน แต่ก็ทนทำไปเพราะต้องการสภาพคล่อง คล้ายๆชาวนาไทยนั่นเอง ปลูกข้าวขาดทุนแต่ก็ทนปลูกไปทุกปีเพราะไม่รู้จะทำยังไง อุตสาหกรรมเอสเอ็มอีจีนเหล่านี้นานไปก็มีปัญหาหนี้นอกระบบสะสมทบทวี


มุ่งหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง


ปัจจุบันจีนไม่เหมือนเมื่อก่อน ค่าแรงของจีนแพงแล้ว ดังนั้นโดยสภาพความเป็นจริงแล้วโรงงานที่ผลิตสินค้าขายราคาถูกอยู่ไม่ได้แล้ว ทางการจีนเองก็รู้ดี ประกอบกับจีนเองก็ต้องการหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางเป็นประเทศรายได้สูงเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ดังนั้นจะมามัวผลิตสินค้าขั้นพื้นฐานด้วยค่าแรงแพงอยู่ไม่ได้ จึงมีการปฏิรูปเศรษฐกิจขึ้น

แนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจของผู้นำในยุคหลัง โดยเฉพาะในยุคของประธานาธิบดี ลุงสีจิ้นผิง กับนายกลุงหลี่เค่อเฉียง ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันนี้ พูดแบบกำปั้นทุบดินก็คือใช้ทำเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มเยอะๆ พวกมูลค่าเพิ่มน้อยๆไม่เอาแล้ว ดังนี้

หนึ่ง มุ่งสู่เศรษฐกิจภาคบริการ เป็นที่รู้กันดีว่าเศรษฐกิจภาคบริการนั้นได้กำไรมากกว่าเศรษฐกิจด้านการผลิต โดยเฉพาะในภาคการเงินนั้นยิ่งเพิ่มมูลค่าได้มาก

สอง หากเป็นเศรษฐกิจด้านการผลิตก็ต้องเน้นการผลิตที่เพิ่มมูลค่า ได้แก่พวกสินค้าเทคโนโลยี สินค้าพื้นๆถ้วยถังกะละมังก็ไม่เอาแล้ว

สาม ไม่ยินดีรับการลงทุนจากชาวต่างชาติแล้ว หมายความว่าไม่ค่อยอยากรับทุนจากต่างชาติให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีน (FDI) แล้ว แต่ไม่ห้ามเพราะห้ามไม่ได้ จึงออกมาในรูปการเข้าไปลงทุนในจีนทำได้ยากขึ้น สร้างกฎระเบียบข้อกำหนดต่างๆ ให้เบื่อกันไปเอง ยกเว้นในอุตสาหกรรมที่จีนต้องการ ถ้าอย่างนั้นจะอำนวยความสะดวกดีมาก

สี่ ต้องการออกไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อแสวงหาผลตอบแทนกลับเข้ามาในประเทศ นี่คือนโยบาย going out หรือ走出去 ที่เราได้ยินกันนั่นเอง

ผลจากนโยบายข้อหนึ่งและข้อสอง ก็คือสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ นั่นคือ การส่งออกสินค้าของจีนจะค่อยๆลดลง รวมทั้งการนำเข้าวัตถุดิบจะค่อยลดลง เพราะจีนต้องการมุ่งไปสู่การผลิตสินค้าที่เพิ่มมูลค่าได้มากๆเท่านั้น การปรับลดจะดำเนินต่อไปจนเข้าสู่จุดสมดุล

ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ธุรกิจขนาดเล็กของจีนเองก็จะได้รับผลกระทบ พวกที่เลิกผลิตถ้วยถังกะละมังจะไปทำอะไรต่อไปนั่นก็เป็นปัญหาอีกเปลาะหนึ่งที่ต้องแก้ไข ดังนั้นการเลิกธุรกิจพวกนี้เลิกเร็วเกินไปผู้ประกอบการก็ปรับตัวไม่ได้ ก็ต้องค่อยๆลดและเลิกไป ดังนั้น ค่าเงินหยวนที่อ่อนตัวก็ยังจำเป็นอยู่เพื่อช่วยธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน

ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่มาสมทบก็คือ เศรษฐกิจโลกไม่ค่อยดีเหมือนเมื่อก่อน ดังนั้นความต้องการสินค้าที่ลดลงก็มีส่วนด้วย เมื่ออุปสงค์ลด อุุปทานก็ต้องปรับตัวลดลง

ปัญหาหนี้นอกระบบ ธนาคารเงา (shadow banking) ดังที่เล่ามาแล้วว่าธุรกิจจีนมีการใช้เงินกู้นอกระบบกันมาก หนี้เสียไม่มีปัญญาใช้คืนก็มาก เรื่องหนี้นอกระบบนั้นไม่แค่เรื่องการผลิต แม้แต่ในการบริหารงานของรัฐบาลท้องถิ่นก็ยังแอบไปก่อหนี้นอกระบบธนาคารเอาไว้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ทางการจีนปวดหัวมาก ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบนี้เชื่อมโยงไปถึงสภาพคล่องของธุรกิจจีนด้วย จนถึงตอนนี้ก็ยังปวดหัวอยู่ เพราะจัดการได้ยาก

เอาละ วันนี้เล่าให้ฟังเท่านี้ก่อน คอยอ่านตอนต่อไปนะคร้าบ นี่เล่าแบบง่ายๆ แบบแมวน้ำๆ  ไม่ได้ลงรายละเอียดอะไร

กาารสาธิตจับโซ่เผาไฟร้อนๆเพื่อแสดงประสิทธิภาพของครีมบัวหิมะในการรักษาแผลไฟไหม้

บทความตอนนี้มีภาพประกอบไม่มาก ลุงแมวน้ำเอาภาพนี้มาให้ดูรำลึกถึงความหลัง นี่คือการขายครีมบัวหิมะ (เป่าฟู่หลิง) ที่เป็นครีมสารพัดประโยชน์ ทาแก้ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ผด ผื่น สิว ริดสีดวง ฯลฯ ในสมัยก่อนชูจุดขายคือรักษาบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ทัวร์ที่ไปเที่ยวประเทศจีน ไกด์จีนจะต้องพาไปร้านที่ขายครีมนี้ อย่างน้อย 1 ครั้ง และจะได้ดการสาธิตแบบตื่นตาตื่นใจ นั่นคือ การเอามือไปจับโซ่ที่เผาไฟจนร้อนแดง แสดงกันสดๆทุกรอบ ไม่ใช่สลิง ไม่ใช่ซีจี โซ่แดงจริง จับแล้วควันขึ้น กลิ่นเนื้อย่างลอยฉุย จากนั้นก็ทาครีม แล้วก็หายจริง >.<

ลุงเคยคุยกับคนที่สาธิต เขาบอกว่าผู้จัดการสั่งให้แสดงก็ต้องแสดง กลัวตกงานมากกว่ากลัวเจ็บ แต่ไม่ให้เมียรู้ วันที่จับโซ่มากสุดคือ 5 ครั้ง เพราะทัวร์ลงเยอะ ปวดมือมากแต่ก็ต้องทน ไม่รู้ว่าโม้หรือเปล่า

ปัจจุบันไม่มีการสาธิตแบบนี้ ลุงไม่เคยเห็นมาหลายปีแล้ว เข้าใจว่าคงห้ามสาธิตโหดแบบนี้กันแล้ว ภาพพวกนี้เป็นภาพเก่าหาดูได้ยากคร้าบ

Thursday, August 13, 2015

หยวนอ่อนถล่มตลาดโลก




ปกติแล้วค่าเงินหยวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ ค่อนข้างนิ่ง เนื่องจากธนาคารกลางของจีนอิงค่าเงินหยวนกับค่าเงินดอลลาร์ สรอ แต่เมื่อสองวันที่ผ่านมา จีนปรับลดค่าเงินอ้างอิงลงไปถึง -3.5% ทำให้ตลาดหุ้น ตลาดเงิน ตลาดพันธบัตร และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกปั่นป่วน


ตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลกแดงยกแผงเมื่อจีนลดค่าเงินหยวนเป็นวันที่สอง แม้แต่ตลาดหุ้นจีนเองก็ยังลง


โพสต์ที่แล้วลุงแมวน้ำบอกว่าความเสี่ยงอยู่ที่จีน ผ่านไปได้วันเดียวก็เป็นเรื่องเลย >.<

สองวันที่ผ่านมานี้ทางธนาคารกลางของจีนได้ลดค่าเงินหยวนติดต่อกันถึงสองวัน หลายคนอาจงงว่าลดแล้วทำไม ผลกระทบจะใหญ่โตเพียงใด ก็ในเมื่อเงินตราสกุลอื่นก็มีขึ้นมีลงอยู่แล้ว วันนี้เรามาคุยให้เข้าใจที่มาที่ไปกันแบบง่ายๆ แบบแมวน้ำๆ จะได้ไม่ตกใจจนเกินควร

ก่อนอื่นต้องเข้าใจกันก่อนว่าเงินหยวนของจีนนั้นไม่ได้ขึ้นลงตามกลไกตลาดในระบบทุนนิยมตลาดเสรี แต่ว่าเงินหยวนนั้นผูกกับเงินดอลลาร์ สรอ แม้ไม่ถึงกับตรึงกับเงินดอลลาร์ สรอ อย่างแนบแน่นแบบเอาเชือกมัดไว้ติดกัน แต่เป็นการตรึงกันแบบหลวมๆเหมือนเอาเชือกผูกโยงกันไว้ คือพอขยับแกว่งไปมาได้บ้าง

วิธีการกำหนดค่าเงินหยวน ในแต่ละวันก็คือ ตอน 9.15 น ตามเวลาท้องถิ่นจีน ธนาคารกลางจะประกาศอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงออกมาค่าหนึ่ง และภายในวันนั้นก็ให้ซื้อขายกันในกรอบขึ้นลงไม่เกิน 2% ของราคาอ้างอิง ราคาอ้างอิงนั้นมาจากไหน ธนาคารกลางของจีนอิงกับเงินดอลลาร์ สรอ นั่นเอง  วันถัดไปก็ประกาศราคาอ้างอิงใหม่ ทำเช่นนี้ไปทุกวัน โดยอัตราแลกเปลี่ยนหยวน-ดอลลาร์สรอ ช่วงหลังนี้อยู่ที่ประมาณ 6.1 หยวน/ดอลลาร์ สรอ ไม่หนีจากนี้ไปเท่าไรนัก

เอาละ พักเรื่องเงินหยวนไว้ก่อน เรามาดูเหตุการณ์ประกอบ 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้กัน

เหตุการณ์แรก คือการที่จีนพยายามขอเข้าไปมีบทบาท มีสิทธิ์มีเสียง ในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ให้มากขึ้น แต่ก็ถูกกันท่า จีนก็ไม่ยอมแพ้ พยายามผลักดันให้ไอเอ็มเอฟรับเงินหยวนเข้าไปอยู่ในตะกร้าเงินทุนสำรองของไอเอ็มเอฟ ที่เรียกว่า เอสดีอาร์ (SDR, Special Drawing Rights) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 4 สกุล คือ ดอลลาร์ สรอ ปอนด์ เยน ยูโร ซึ่งปกติไอเอ็มเอฟจะทบทวนตะกร้าสกุลเงินนี้ทุก 5 ปี ครั้งต่อไปคือปี 2016 คือในปีหน้า

การเข้าไปอยู่ในตะกร้าเงินของไอเอ็มเอฟนั้นดีอย่างไร ที่จริงตะกร้าเงินนี้ไม่ได้มีบทบาทในโลกการเงินนัก แต่ว่่านี่คือศักดิ์ศรีและการยอมรับในระดับนานาชาติ จีนใช้การเข้าเป็นสกุลในตะกร้าเงิน SDR เป็นย่างก้าวทางยุทธ์ศาสตร์เพื่อทำให้เงินหยวนเป็นเงินตราสกุลหลักของโลกต่อไป

ทีนี้ป้าคริสทีน ลาการ์ด แห่งไอเอ็มเอฟก็บอกว่าจีนยังไม่ได้ปล่อยเงินหยวนให้เคลื่อนไหวเสรีตามกลไกตลาด การตรึงเงินหยวนกับดอลลาร์ สรอ แบบนี้ยังโกอินเตอร์ไม่ได้หรอก คงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะมาอยู่ในตะกร้าเงินของไอเอ็มเอฟ

เหตุการณ์ที่สอง ก็คือยอดส่งออกของจีนหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ส่งออกของจีนเดือนกรกฎาคม 2015 เทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2014 ลดลง -8% ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจทีเดียว และมีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยที่ไม่เชื่อว่าจีดีพีของจีนตอนนี้เติบโต 7% ต่อปี แต่คาดว่าน่าจะต่ำกว่านั้นเพียงแต่จีนไม่ยอมบอกออกมา

ย้อนมาคุยเรื่องเงินหยวนต่อ เมื่อสองวันก่อน ธนาคารกลางของจีนก็ประกาศว่าการที่เงินหยวนผูกกับดอลลาร์ สรอ นั้น เมื่อดอลลาร์ สรอ แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้เงินหยวนพลอยแข็งค่าตามไปด้วยเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ คิดไปคิดมาแล้วเงินหยวนแข็งค่ามากกว่าความเป็นจริงไปโข ดังนั้นขอปรับลดราคากลางเป็นพิเศษสักครั้งเพื่อให้ค่าเงินหยวนใกล้เคียงความจริง และต่อจากนี้ไปราคาอ้างอิงของเงินหยวนจะอิงกับดอลลาร์ สรอ น้อยลง แต่จะขึ้นอยู่กับอุปสงค์อุปทานที่แท้จริงของเงินหยวนในแต่ละวันมาพิจารณาด้วย

ปรากฏว่าธนาคารกลางของจีนลดค่าเงินหยวนลงอย่างฮวบฮาบ 2 วันติดกัน วันจันทร์ที่ผ่านมา เงินหยวนอยู่ที่ 6.1162 หยวน/ดอลลาร์ มาวันพุธเป็น 6.3306 หยวน/ดอลลาร์ เท่ากับในสองวันนี้ (อังคาร พุธ) ราคาอ้างอิงเงินหยวนลดลง -3.5% ก็คือลดค่าเงินหยวนลง -3.5% นั่นเอง

ทีนี้ตลาดก็แตกตื่นละสิ เพราะไม่รู้ว่าวันนี้ (วันพฤหัส) จะเกิดอะไรขึ้น จีนละลดค่าเงินหยวนลงอีกก๊อกหนึ่งไหม จะลดอีกกี่วันจึงจะจบ


วิเคราะห์ 


การที่จีนลดค่าเงินหยวนในช่วงนี้ถือว่าเป็นการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะเท่ากับจีนบอกไอเอ็มเอฟว่านี่ผ่อนคลายการคลื่อนไหวของเงินหยวนให้เสรีขึ้นแล้วนะ ดังนั้นอย่าลืมรับหยวนเข้าตะกร้าเงินด้วย จีนเร่งในเรื่องนี้เนื่องจากหากปี 2016 ยังเข้าไม่ได้ต้องรอไปอีก 5 ปี ไอเอ็มเอฟก็ชมเชย แต่ยังไม่รู้ว่าจะรับเข้าไหม

นอกจากนี้ เมื่อเงินหยวนอ่อนค่าก็ช่วยการส่งออกของจีนด้วย เพราะว่าตอนนี้ส่งออกกำลังย่ำแย่

ผลจากการลดค่าเงินหยวนทำให้ตลาดทั่วโลกแตกตื่น ต่างคนต่างก็คิดกันไปต่างๆนานา เช่น

อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ก็คิดว่าเงินหยวนอ่อน กำลังซื้อคงลดลง การนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์จากอินโดนีเซียกับออสเตรเลียคงลดลง ตลาดหุ้นอินโดก็ร่วง มาเลเซีย ไต้หวัน ที่ค่าขายกับจีนมาก ตลาดหุ้นมาเลเซีย ไต้หวันก็ร่วง

ญี่ปุ่นกับเกาหลีไต้ก็ตกใจเพราะเท่ากับว่าจีนเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สินค้าส่งออกของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ คงเจอศึกหนัก ตลาดหุ้นสองตลาดนี้ก็ร่วง

เยอรมนี ฝรั่งเศส ขายรถยนต์ สินค้าหรู ให้จีนมากมาย เมื่อเงินหยวนอ่อน กำลังซื้อน่าจะลดลง ตลาดหุ้นเยอรมนี ฝรั่งเศส ก็ร่วง

สำหรับไทย ก็กังวลกันว่าจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ของไทย (ส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบ) ปีนี้การส่งออกไปจีนลดลงมาก หากเงินหยวนอ่อน กำลังซื้อย่อมลด จีนอาจหันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นที่ถูกกว่า เช่น เวียดนาม การส่งออกของไทยที่แย่ลงอยู่อาจแย่หนักยิ่งขึ้น หุ้น AOT ก็ร่วงไปแล้วเพราะตกใจว่านักท่องเที่ยวจีนอาจลดลง


ตอนนี้ฝุ่นยังตลบอยู่ มองอะไรไม่ค่อยเห็น ลุงแมวน้ำว่าที่คิดกันตอนนี้ก็กังวลกันไปต่างๆนานา รอดูสถานการณ์กันสักพักก่อนดีกว่า อะไรๆอาจไม่เลวร้ายอย่างที่กังวลกัน แต่แน่นอน ต่อไปเงินหยวนจะผันผวนมากขึ้น รวมทั้งในระยะกลางหยวนยังมีโอกาสอ่อนค่าได้อีก






และ ข่าวดีนิดหน่อย เมื่อคืนตลาดหุ้นอเมริกาไหลลงลึก แต่มีแรงรับ เกิดเป็นรูปแบบแท่งเทียนที่เรียกว่าค้อน (hammer) เป็นสัญญาณกลับทิศเป็นขาขึ้นประการหนึ่ง แสดงว่าตลาดหุ้นอเมริกามีแรงซื้อ ไม่ยอมลง รูปแบบทางเทคนิคยังไม่เสียหาย ลุงยังมองเช่นเดิมว่าตลาดหุ้นอเมริกากำลังเดินหน้าทดสอบแนวต้านใหญ่และมีโอกาสผ่านสูง ซึ่งจะเกิดโมเมนตัมเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยด้วย และหากเป็นไปตามนี้ สถานการณ์ในระยะสั้นคงยังไม่เลวร้ายเพราะได้อานิสงส์จากตลาดหุ้นอเมริกามาช่วย