Thursday, August 13, 2015

หยวนอ่อนถล่มตลาดโลก




ปกติแล้วค่าเงินหยวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ ค่อนข้างนิ่ง เนื่องจากธนาคารกลางของจีนอิงค่าเงินหยวนกับค่าเงินดอลลาร์ สรอ แต่เมื่อสองวันที่ผ่านมา จีนปรับลดค่าเงินอ้างอิงลงไปถึง -3.5% ทำให้ตลาดหุ้น ตลาดเงิน ตลาดพันธบัตร และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกปั่นป่วน


ตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลกแดงยกแผงเมื่อจีนลดค่าเงินหยวนเป็นวันที่สอง แม้แต่ตลาดหุ้นจีนเองก็ยังลง


โพสต์ที่แล้วลุงแมวน้ำบอกว่าความเสี่ยงอยู่ที่จีน ผ่านไปได้วันเดียวก็เป็นเรื่องเลย >.<

สองวันที่ผ่านมานี้ทางธนาคารกลางของจีนได้ลดค่าเงินหยวนติดต่อกันถึงสองวัน หลายคนอาจงงว่าลดแล้วทำไม ผลกระทบจะใหญ่โตเพียงใด ก็ในเมื่อเงินตราสกุลอื่นก็มีขึ้นมีลงอยู่แล้ว วันนี้เรามาคุยให้เข้าใจที่มาที่ไปกันแบบง่ายๆ แบบแมวน้ำๆ จะได้ไม่ตกใจจนเกินควร

ก่อนอื่นต้องเข้าใจกันก่อนว่าเงินหยวนของจีนนั้นไม่ได้ขึ้นลงตามกลไกตลาดในระบบทุนนิยมตลาดเสรี แต่ว่าเงินหยวนนั้นผูกกับเงินดอลลาร์ สรอ แม้ไม่ถึงกับตรึงกับเงินดอลลาร์ สรอ อย่างแนบแน่นแบบเอาเชือกมัดไว้ติดกัน แต่เป็นการตรึงกันแบบหลวมๆเหมือนเอาเชือกผูกโยงกันไว้ คือพอขยับแกว่งไปมาได้บ้าง

วิธีการกำหนดค่าเงินหยวน ในแต่ละวันก็คือ ตอน 9.15 น ตามเวลาท้องถิ่นจีน ธนาคารกลางจะประกาศอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงออกมาค่าหนึ่ง และภายในวันนั้นก็ให้ซื้อขายกันในกรอบขึ้นลงไม่เกิน 2% ของราคาอ้างอิง ราคาอ้างอิงนั้นมาจากไหน ธนาคารกลางของจีนอิงกับเงินดอลลาร์ สรอ นั่นเอง  วันถัดไปก็ประกาศราคาอ้างอิงใหม่ ทำเช่นนี้ไปทุกวัน โดยอัตราแลกเปลี่ยนหยวน-ดอลลาร์สรอ ช่วงหลังนี้อยู่ที่ประมาณ 6.1 หยวน/ดอลลาร์ สรอ ไม่หนีจากนี้ไปเท่าไรนัก

เอาละ พักเรื่องเงินหยวนไว้ก่อน เรามาดูเหตุการณ์ประกอบ 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้กัน

เหตุการณ์แรก คือการที่จีนพยายามขอเข้าไปมีบทบาท มีสิทธิ์มีเสียง ในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ให้มากขึ้น แต่ก็ถูกกันท่า จีนก็ไม่ยอมแพ้ พยายามผลักดันให้ไอเอ็มเอฟรับเงินหยวนเข้าไปอยู่ในตะกร้าเงินทุนสำรองของไอเอ็มเอฟ ที่เรียกว่า เอสดีอาร์ (SDR, Special Drawing Rights) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 4 สกุล คือ ดอลลาร์ สรอ ปอนด์ เยน ยูโร ซึ่งปกติไอเอ็มเอฟจะทบทวนตะกร้าสกุลเงินนี้ทุก 5 ปี ครั้งต่อไปคือปี 2016 คือในปีหน้า

การเข้าไปอยู่ในตะกร้าเงินของไอเอ็มเอฟนั้นดีอย่างไร ที่จริงตะกร้าเงินนี้ไม่ได้มีบทบาทในโลกการเงินนัก แต่ว่่านี่คือศักดิ์ศรีและการยอมรับในระดับนานาชาติ จีนใช้การเข้าเป็นสกุลในตะกร้าเงิน SDR เป็นย่างก้าวทางยุทธ์ศาสตร์เพื่อทำให้เงินหยวนเป็นเงินตราสกุลหลักของโลกต่อไป

ทีนี้ป้าคริสทีน ลาการ์ด แห่งไอเอ็มเอฟก็บอกว่าจีนยังไม่ได้ปล่อยเงินหยวนให้เคลื่อนไหวเสรีตามกลไกตลาด การตรึงเงินหยวนกับดอลลาร์ สรอ แบบนี้ยังโกอินเตอร์ไม่ได้หรอก คงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะมาอยู่ในตะกร้าเงินของไอเอ็มเอฟ

เหตุการณ์ที่สอง ก็คือยอดส่งออกของจีนหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ส่งออกของจีนเดือนกรกฎาคม 2015 เทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2014 ลดลง -8% ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจทีเดียว และมีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยที่ไม่เชื่อว่าจีดีพีของจีนตอนนี้เติบโต 7% ต่อปี แต่คาดว่าน่าจะต่ำกว่านั้นเพียงแต่จีนไม่ยอมบอกออกมา

ย้อนมาคุยเรื่องเงินหยวนต่อ เมื่อสองวันก่อน ธนาคารกลางของจีนก็ประกาศว่าการที่เงินหยวนผูกกับดอลลาร์ สรอ นั้น เมื่อดอลลาร์ สรอ แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้เงินหยวนพลอยแข็งค่าตามไปด้วยเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ คิดไปคิดมาแล้วเงินหยวนแข็งค่ามากกว่าความเป็นจริงไปโข ดังนั้นขอปรับลดราคากลางเป็นพิเศษสักครั้งเพื่อให้ค่าเงินหยวนใกล้เคียงความจริง และต่อจากนี้ไปราคาอ้างอิงของเงินหยวนจะอิงกับดอลลาร์ สรอ น้อยลง แต่จะขึ้นอยู่กับอุปสงค์อุปทานที่แท้จริงของเงินหยวนในแต่ละวันมาพิจารณาด้วย

ปรากฏว่าธนาคารกลางของจีนลดค่าเงินหยวนลงอย่างฮวบฮาบ 2 วันติดกัน วันจันทร์ที่ผ่านมา เงินหยวนอยู่ที่ 6.1162 หยวน/ดอลลาร์ มาวันพุธเป็น 6.3306 หยวน/ดอลลาร์ เท่ากับในสองวันนี้ (อังคาร พุธ) ราคาอ้างอิงเงินหยวนลดลง -3.5% ก็คือลดค่าเงินหยวนลง -3.5% นั่นเอง

ทีนี้ตลาดก็แตกตื่นละสิ เพราะไม่รู้ว่าวันนี้ (วันพฤหัส) จะเกิดอะไรขึ้น จีนละลดค่าเงินหยวนลงอีกก๊อกหนึ่งไหม จะลดอีกกี่วันจึงจะจบ


วิเคราะห์ 


การที่จีนลดค่าเงินหยวนในช่วงนี้ถือว่าเป็นการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะเท่ากับจีนบอกไอเอ็มเอฟว่านี่ผ่อนคลายการคลื่อนไหวของเงินหยวนให้เสรีขึ้นแล้วนะ ดังนั้นอย่าลืมรับหยวนเข้าตะกร้าเงินด้วย จีนเร่งในเรื่องนี้เนื่องจากหากปี 2016 ยังเข้าไม่ได้ต้องรอไปอีก 5 ปี ไอเอ็มเอฟก็ชมเชย แต่ยังไม่รู้ว่าจะรับเข้าไหม

นอกจากนี้ เมื่อเงินหยวนอ่อนค่าก็ช่วยการส่งออกของจีนด้วย เพราะว่าตอนนี้ส่งออกกำลังย่ำแย่

ผลจากการลดค่าเงินหยวนทำให้ตลาดทั่วโลกแตกตื่น ต่างคนต่างก็คิดกันไปต่างๆนานา เช่น

อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ก็คิดว่าเงินหยวนอ่อน กำลังซื้อคงลดลง การนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์จากอินโดนีเซียกับออสเตรเลียคงลดลง ตลาดหุ้นอินโดก็ร่วง มาเลเซีย ไต้หวัน ที่ค่าขายกับจีนมาก ตลาดหุ้นมาเลเซีย ไต้หวันก็ร่วง

ญี่ปุ่นกับเกาหลีไต้ก็ตกใจเพราะเท่ากับว่าจีนเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สินค้าส่งออกของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ คงเจอศึกหนัก ตลาดหุ้นสองตลาดนี้ก็ร่วง

เยอรมนี ฝรั่งเศส ขายรถยนต์ สินค้าหรู ให้จีนมากมาย เมื่อเงินหยวนอ่อน กำลังซื้อน่าจะลดลง ตลาดหุ้นเยอรมนี ฝรั่งเศส ก็ร่วง

สำหรับไทย ก็กังวลกันว่าจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ของไทย (ส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบ) ปีนี้การส่งออกไปจีนลดลงมาก หากเงินหยวนอ่อน กำลังซื้อย่อมลด จีนอาจหันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นที่ถูกกว่า เช่น เวียดนาม การส่งออกของไทยที่แย่ลงอยู่อาจแย่หนักยิ่งขึ้น หุ้น AOT ก็ร่วงไปแล้วเพราะตกใจว่านักท่องเที่ยวจีนอาจลดลง


ตอนนี้ฝุ่นยังตลบอยู่ มองอะไรไม่ค่อยเห็น ลุงแมวน้ำว่าที่คิดกันตอนนี้ก็กังวลกันไปต่างๆนานา รอดูสถานการณ์กันสักพักก่อนดีกว่า อะไรๆอาจไม่เลวร้ายอย่างที่กังวลกัน แต่แน่นอน ต่อไปเงินหยวนจะผันผวนมากขึ้น รวมทั้งในระยะกลางหยวนยังมีโอกาสอ่อนค่าได้อีก






และ ข่าวดีนิดหน่อย เมื่อคืนตลาดหุ้นอเมริกาไหลลงลึก แต่มีแรงรับ เกิดเป็นรูปแบบแท่งเทียนที่เรียกว่าค้อน (hammer) เป็นสัญญาณกลับทิศเป็นขาขึ้นประการหนึ่ง แสดงว่าตลาดหุ้นอเมริกามีแรงซื้อ ไม่ยอมลง รูปแบบทางเทคนิคยังไม่เสียหาย ลุงยังมองเช่นเดิมว่าตลาดหุ้นอเมริกากำลังเดินหน้าทดสอบแนวต้านใหญ่และมีโอกาสผ่านสูง ซึ่งจะเกิดโมเมนตัมเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยด้วย และหากเป็นไปตามนี้ สถานการณ์ในระยะสั้นคงยังไม่เลวร้ายเพราะได้อานิสงส์จากตลาดหุ้นอเมริกามาช่วย

Friday, July 31, 2015

มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทย (4)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”







ในตอนนี้เราจะมาดูดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญด้านการใช้จ่ายกันต่อจากตอนที่แล้ว


ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน


ตอนที่แล้วเราได้ศึกษาเกี่ยวกับดัชนีราคาผู้บริโภคอันเป็นตัวชี้วัดด้านราคาสินค้าและบริการ ยังมีตัวชี้วัดด้านการจับจ่ายใช้สอยที่สำคัญอีกตัวชี้วัดหนึ่ง นั่นคือ ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (private consumption index) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดด้านกำลังการจับจ่ายใช้สอยของบุคคล เรามักใช้ดูประกอบกับดัชนีราคาผู้บริโภค สองดัชนีนี้ให้ภาพการบริโภคที่ไม่เหมือนกัน ดัชนีราคาผู้บริโภคบ่งบอกว่าราคาสินค้าถูกหรือแพง ส่วนดัชนีการอุปโภคบริโภคบอกว่าผู้บริโภคซื้อมากน้อยเท่าไร บางทีสินค้าราคาถูกแต่ผู้บริโภคก็ยังไม่จับจ่าย หรือสินค้าราคาแพงแต่ผู้บริโภคก็ยังจับจ่ายอย่างไม่ยั้ง เหล่านี้จะทำให้เกิดภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไป

ดัชนีราคาผู้บริโภคนั้นคำนวนจากการจับจ่ายใช้สอยทั้ง สินค้าสิ้นเปลือง (หรือเรียกว่าสินค้าไม่คงทน เช่น เชื้อเพลิง กระแสไฟฟ้า สินค้าปลีก ฯลฯ) สินค้ากึ่งคงทน (เช่น เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ) สินค้าคงทน (เช่น รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ฯลฯ) การใช้จ่ายภาคบริการ (เช่น การกินอาหารในห้องอาหารหรือภัตตาคาร ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ฯลฯ) และ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็นำเอาข้อมูลการใช้จ่ายใน 5 หมวดเหล่านี้มาคำนวณเป็นดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน


ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนบ่งบอกภาพรวมของการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชน ส่วนดัชนีการใช้จ่ายสินค้าคงทนเน้นที่การใช้จ่ายสินค้าที่อายุใช้งานยาวนานและราคาสูง


เรามาดูกราฟดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (เส้นสีฟ้า) กัน จากกราฟเส้นสีฟ้าจะเห็นว่าการอุปโภคบริโภคในปี 2556 นั้นปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว บ่งบอกถึงการจับจ่ายใช้สอยที่หดตัวลง จากนั้นก็ดีขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปี 2557 พอกลางปี 2557 เป็นต้นมาดัชนีก็รุดตัวเป็นแนวโน้มขาลงมาโดยตลอด มีเดือน พ.ค. 2558 นี่เองที่เด้งขึ้นมาแบบพรวดพราด

เส้นสีฟ้านี้เราอาจจะรู้สึกว่าดูแนวโน้มยาก นั่นเป็นเพราะเป็นดัชนีที่เฉลี่ยจากการอุปโภคบริโภคหลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะพวกสินค้าไม่คงทนหรือของกินของใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันนั้นบางทีอยากจะประหยัดก็ทำได้ยาก เหตุปัจจัยหลายอย่างผสมกันจนผันผวน ทำให้ดูแนวโน้มได้ยาก

ในการพิจารณาเศรษฐกิจนั้นโดยทั่วไป การดูที่การบริโภคสินค้าคงทนอาจเห็นภาพได้ชัดกว่า เนื่องจากหากเศรษฐกิจไม่ดี แม้ว่าผู้บริโภคจะยังซื้อของกินของใช้ทั่วไปแต่มักจะไปชะลอการซื้อของที่อายุใช้งานยาวนานและราคาสูง ซึ่งดัชนีสินค้าคงทนนั้นคำนวณจากการซื้อรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งก็คือของที่มีอายุการใช้งานยาวนานและราคาสูงนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อดูเส้นสีเหลืองหรือดัชนีสินค้าคงทน จะเห็นว่าเป็นขาลงหรือหมายถึงเศรษฐกิจน่าจะไม่ค่อยดีมาตั้งแต่ปี 2556 แล้วเพราะการบริโภคสินค้าคงทนลดลงมาโดยตลอด แต่เราจะสรุปฟันธงเศรษฐกิจจากกราฟเดียวไม่ได้ เพราะผลจากโครงการรถคันแรกที่ดึงกำลังซื้อไปล่วงหน้าก็สะท้อนอยู่ในเส้นนี้ด้วย ดังนั้นจำต้องพิจารณาดัชนีอื่นๆประกอบด้วย


ดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์ ตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญ


ดัชนีอีกชุดหนึ่งที่นิยมใช้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจ นั่นคือ ดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์ ลองดูกราฟต่อไปนี้


ดัชนีราคาอาคารชุดปรับตัวขึ้นได้เร็วและผันผวนสูงเนื่องจากคอนโดมิเนียมมีสภาพเก็งกำไรมากกว่าบ้านเดี่ยว


ดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์นั้นมีดัชนีย่อยหลายดัชนี แต่วันนี้ลุงแมวน้ำนำมาให้ดูกันเพียง 2 ดัชนี นั่นคือ ดัชนีราคาอาคารชุด กับ ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน โดยปกติแล้วหากเศรษฐกิจเติบโต ราคาอสังหาริมทรัพย์จะค่อยๆขยับตัวสูงขึ้น หากเศรษฐกิจโตดีราคาอสังหาก็ขึ้นเร็วหน่อย หากเศรษฐกิจฝืดเคืองราคาอสังหาก็ทรงตัว หรือหากแย่มากก็อาจหดตัวได้

เมื่อพิจารณาจากกราฟ จะเห็นว่าราคาอาคารชุด (ราคาคอนโดมิเนียม เส้นสีเหลือง) ราคาขยับขึ้นเร็วกว่าราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน (เส้นสีฟ้า) อีกทั้งเส้นสีเหลืองยังผันผวนกว่า นั่นเป็นเพราะธรรมชาติของคอนโดมิเนียมมีความเป็นสินค้าเก็งกำไรมากกว่า ราคาจึงขึ้นเร็วกว่าและแกว่งตัวมากกว่า (โดยทั่วไปรูปแบบกราฟราคาคอนโดมิเนียมของไทยนั้นจะมีรูปทรงคล้ายขั้นบันได คือขึ้นแล้วพัก พักแล้วขึ้นต่อ จากนั้นพักอีก เนื่องจากการเก็งกำไรสูงทำให้เกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลายเป็นระยะๆ ซึ่งต้องอาศัยเวลาดูดซับ) การพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจจากดัชนีราคาอาคารชุดจึงอาจตีความยากสักหน่อย

แต่หากลองดูเส้นสีฟ้า ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน ปกติบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินไม่ใช่สินค้าเก็งกำไร ผู้ที่ซื้อมักต้องการอยู่อาศัยอย่างแท้จริง ดังนั้นราคาไม่แกว่งมาก ลุงแมวน้ำว่าการดูแนวโน้มเศรษฐกิจจากดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินจะทำให้เห็นภาพเศรษฐกิจได้ชัดเจนกว่า

จากกราฟ จะเห็นว่าทั้งดัชนีราคาคอนโดกับดัชนีราคาบ้านเดี่ยวตั้งแต่ต้นปี 2558 เป็นต้นมา บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ ทั้งราคาคอนโดและบ้านเดี่ยวทรงตัว สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสดใสนัก ดีที่ยังไม่ใช่แนวโน้มหดตัว แต่ก็ประมาทไม่ได้ ระยะต่อไปจะเป็นอย่างไรก็ยังไม่รู้ 


พิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจด้วยดัชนีผสม


จากดัชนีที่ลุงแมวน้ำคุยมาให้ฟังทั้ง 3 ตอน หากเราลองรวมดัชนีสำคัญมาพล็อตอยู่ในกราฟเดียวกัน เราจะได้ภาพสะท้อนเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ลองมาดูกราฟนี้กัน


ภาพของเศรษฐกิจไทยที่สะท้อนจากดัชนี 4 ดัชนีทั้งภาคธุรกิจการลงทุน และภาคการบริโภค


กราฟนี้เป็นการรวมเอาดัชนีด้านธุรกิจ การค้า การลงทุน มารวมกับดัชนีด้านการบริโภคที่สำคัญ ลุงแมวน้ำเลือกมา 4 ดัชนี คือ ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ ดัชนีค่าใช้จ่ายสินค้าคงทน และดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน จะเห็นว่าทั้งสี่ดัชนีนี้ไม่ทรงก็ลง สะท้อนภาพเศรษฐกิจไทยที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะดัชนีสินค้าคงทนกับดัชนีบ้านเดี่ยวนั้นหากอยู่ในสภาวะทรงตัวหรือทรุดตัวแล้วการจะให้กลับเป็นขาขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานาน แปลความว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกนานพอควรทีเดียว 


หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ชี้ภาพเศรษฐกิจทางอ้อม


การพิจารณาภาพทางเศรษฐกิจนอกจากดูที่การลงทุนหรือการบริโภคแล้ว เรายังอาจดูจากภาคการเงินก็ได้ นั่นคือ ปริมาณหนี้เสีย บางทีก็ดูปริมาณเช็คเด้ง แล้วแต่สะดวก เนื่องจากหากเศรษฐกิจไม่ดีการชำระหนี้ย่อมฝืดเคืองไปด้วย ปริมาณการผิดนัดชำระหนี้ย่อมมากขึ้น

ปกติการจัดชั้นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้นั้น คือหนี้ที่ขาดชำระเกินกว่า 3 เดือน เราก็ดูเอาจากรายงานการจัดชั้นหนี้ หาก NPL เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องย่อมสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ดังในภาพนี้


ปริมาณหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ควรพิจารณาหนี้ชั้น SML ประกอบด้วยเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น


ข้อมูล NPL ออกเป็นรายไตรมาส ก็ไม่ค่อยฉับไวต่อสถานการณ์เมื่อเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดที่รายงานเป็นรายเดือน นอกจากนี้ การพิจารณายอด NPL นั้นที่จริงควรพิจารณาชั้นหนี้ขาดชำระ 1-3 เดือนด้วย (ที่เรียกว่าชั้น SML) ว่าหนี้ชั้น SML  มีมากเท่าไรด้วยเนื่องจากพวกนี้คือกลุ่มที่รอเป็น NPL หาก NPL ก็มาก และ SML ก็รออยู่มาก ยิ่งบ่งบอกภาพเศรษฐกิจที่น่าหนักใจ


เอาละคร้าบ เล่ามาครบหมดแล้ว ทีนี้พวกเราก็พอจะติดตามภาพเศรษฐกิจกันได้ด้วยตนเองแล้ว