Friday, February 13, 2015

อสังหาริมทรัพย์ไทยใกล้ฟองสบู่แตกหรือยัง (3)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”



ตึกซูเปอร์ทาวเวอร์ ย่านพระราเก้า-รัชดาภิเษก จะขึ้นตำแหน่งสูงที่สุดในเอเชียเมื่อสร้างเสร็จ สูง 125 ชั้น มูลค่าโครงการทั้งบริเวณประมาณ 1.2 แสนล้านบาท


จับตาดีลใหญ่ค่ายอสังหาริมทรัพย์ แฝงนัยบอกทิศทางอสังหาฯ


“ในปี 2556 จนถึงต้นปี 2558 นี้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในวงการอสังหาริมทรัพย์ เพราะเกิดดีลหรือว่าข้อตกลงทางธุรกิจในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ขึ้นมากมาย และเป็นมูลค่ามหาศาล หรือหากจะพูดให้เจาะจงอีกหน่อยก็คือเกิดการร่วมทุนและการเทกโอเวอร์กันเป็นมูลค่ามหาศาลทั้งในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์” ลุงแมวน้ำพูด

“มียังงั้นด้วยเหรอลุง ลุงลองยกตัวอย่างหน่อยสิครับ” ลิงถาม

“ลุงจะยกตัวอย่างผู้ประกอบการรายใหญ่นอกตลาดหลักทรัพย์เข้ามาเทกโอเวอร์กิจการใจตลาดเพื่อเข้าตลาดทางอ้อม (back door listing) ก็ได้แก่


รวมดีลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในปี 2014 มูลค่าของดีลรวมกันนับแสนล้านบาท


“กลุ่มบริษัท สิงห์ พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด ของตระกูลภิรมย์ภักดี ค่ายน้ำดื่มสิงห์ เทกโอเวอร์บริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ จากนั้นหุ้น RASA ก็เปลี่ยนชื่อเป็น S มูลค่ากิจการก็ระดับ 7-8 พันล้านบาท นี่คือการที่ค่ายสิงห์เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ทางอ้อม และนอกจากนี้ยังมีข่าวจะเทกโอเวอร์กิจการอสังหาเพิ่มเติมอีกด้วย

“กลุ่มสิริวัฒนภักดีเทกโอเวอร์หุ้น UV และใช้ UV เทคโอเวอร์หุ้น GOLD จากนั้นใช้ GOLD เทกโอเวอร์ KLand ดีลชุดนี้ค่อนข้างซับซ้อน แต่สรุปก็เป็นการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มสิริวัฒนภักดี

“ให้สังเกตว่าสองดีลนี้เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่นอกตลาด มีที่ดินในมือค่อนข้างมากและต้องการนำมาพัฒนาให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม KPN ของตระกูลณรงค์เดชที่เตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

“ทีนี้เรามาดูกลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และทำดีลเทกโอเวอร์บ้าง ลองดูตัวอย่างกัน

“พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน)(PF) เปิดเผยว่า การเข้าซื้อกิจการบริษัท ไทยพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (TPROP) ดีลนี้หลักพันล้านบาท

“NPARK เทกโอเวอร์บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในเครือ BTS โดยการแลกหุ้น ดีลนี้หลักหมื่นล้านบาท

“WHA เทกโอเวอร์ HEMRAJ ดีลนี้ก็ระดับหลายหมื่นล้านบาท เป็นการควบรวมกิจการในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม คลังสินค้า ซึ่งเป็นธุรกิจในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เช่นกัน

“BMCL ควบรวม BECL คือรถไฟฟ้าใต้ดินควบรวมกับทางด่วนนั่นเอง นี่ก็มองว่าเป็นดีลทางอสังหาริมทรัพย์ได้เพราะโครงการขนส่งมวลชนมีเรื่องการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ควบคู่ไปด้วย

“นอกจากนี้มาดูดีลธุรกิจที่เป็นการร่วมทุนบ้าง มีทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ ลองดูตัวอย่าง

“กลุ่ม BTS ร่วมทุนกับ SIRI จะเห็นว่ากลุ่ม BTS ต้องการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ใกล้เคียงระบบราง โดยอสังหาฯเพื่อขายจะร่วมทุนกับแสนสิริ ส่วนอสังหาเพื่อการให้เช่าจะไปทำกับ NPARK ดูมีการแบ่งบทบาทกันค่อนข้างชัด

“กลุ่ม ซี.พี.จับมือสยามพิวรรธน์ (เครือเดอะมอลล์) สัดส่วนลงทุน 50:50 ลงทุนอภิมหาโครงการ ไอคอนสยาม บนเนื้อที่ 50 ไร่ ถ.เจริญนคร มูลค่าลงทุนกว่า 5 หมื่นล้าน

“นี่ยังไม่หมดนะ ลุงแค่ยกตัวอย่างรายใหญ่ๆเท่านั้น รวมมูลค่าของดีลธุรกิจใหญ่ๆเท่าที่ลุงเล่ามานี่ก็เป็นแสนล้านบาทแล้ว นอกจากนี้ยังมีของศุภาลัย ธนาสิริ เอพี และยังมีดีลของรายขนาดกลางอีกด้วย ซึ่งรวมแล้วก็เยอะมาก จำไม่หมดเลยทีเดียว”

“แล้วที่ลุงเล่ามาทั้งหมดนี่จะบอกอะไรฮะ” กระต่ายน้อยกะพริบตากลมโตถามบ้าง “ผมยังไม่เข้าใจเลย”

“ลุงกำลังเล่าเพื่อให้เกิดคำถามว่าทำไมผู้ประกอบการรายใหญ่ ทุนมหาศาล จึงกระโดดเข้ามาในวงการอสังหาริมทรัพย์กันมากมายในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน พวกนี้ไม่ได้สุ่มสี่สุ่มห้าเข้ามาทำโครงการหรอก ผู้ประกอบการรายใหญ่ทุนหนาเหล่านี้ต่างก็มองออกว่าต่อไปธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเติบโตได้อีกมากมาย จึงได้วางแผนเข้ามาทำโครงการน่ะสิ”


อภิมหาโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์


“เมื่อครู่นี้ลุงแมวน้ำคุยในแง่ของดีลธุรกิจขนาดใหญ่ให้ฟัง สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่เสริมความมั่นคงแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มของตนเองด้วยดีลทางธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการควบรวม ร่วมทุน ทีนี้หากเราจะมองถึงตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโครงการใหญ่ๆก็มีที่น่าสนใจหลายโครงการ แต่ละโครงการเป็นหลักหมื่นล้านบาทถึงแสนล้านบาททั้งสิ้น เราลองมาดูกัน

“โครงการซูเปอร์ทาวเวอร์ (Super Tower) ย่านพระรามเก้าตัดกับรัชดาภิเษก ย่านนี้เป็นเขตธุรกิจใหม่ ราคาแพงระยับ อาคารซูเปอร์ทาวเวอร์นี้พัฒนาโดยกลุ่ม GLand สูง 125 ชั้น สูงที่สุดในเอเชียเลยทีเดียว หากรวมโครงการที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน ศูนย์ประชุม อื่นๆเข้าไปด้วยก็มีมูลค่าโครงการราวหนึ่งแสนสองหมื่นล้านบาท


โครงการไอคอนสยาม โครงการหรูริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งเจริญนคร ธนบุรี มูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาท

“โครงการไอคอนสยาม อยู่ในย่านเจริญนคร ฝั่งธนบุรี เป็นการร่วมทุนของกลุ่มซีพีกับกลุ่มเดอะมอลล์ มูลค่าโครงการราวห้าหมื่นล้านบาท เป็นอาณาจักรหรูอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในย่านฝั่งธนบุรี ซึ่งเดิมเป็นย่านเติบโตช้ากว่าฝั่งพระนครมาก ทั้งๆที่เป็นกรุงเทพฯด้วยกัน แต่ต่อไปธนบุรีจะเจริญอย่างรวดเร็ว

“นอกจากโครงการไอคอนสยามแล้ว ยังมีโครงการหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยาในย่านนี้อีกหลายโครงการทีเดียว ทั้งริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี

“โครงการมิกซ์ยูส (Mixed Use) โครงการหลายหมื่นล้านบาท เป็นอภิมหาโครงการอีกแห่งหนึ่ง อยู่ตรงสวนลุมไนท์บาซาร์เดิมนั่นเอง ข้างๆสวนลุมพินี กลุ่ม UV ของค่ายสิริวัฒนภักดีประมูลได้ไปทำโครงการ


โครงการเซ็นทรัลเวสต์เกต ย่านบางใหญ่ เป็นช้อปปิงมอลล์ใหญ่ระดับภูมิภาค มูลค่า 15,000 ล้านบาท

“เซนทรัลเวสต์เกต (Central WestGate) เป็นอภิมหาโครงการช้อปปิงมอลล์ทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ นั่นคือย่านบางใหญ่ มูลค่าหนึ่งหมื่นห้าพันล้านบาท



โครงการบางกอกมอลล์ และโครงการอื่นๆ ย่านบางนา

“บางกอกมอลล์ (The Bangkok Mall) โครงการหรูย่านกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก คือย่านบางนา เป็นโครงการของกลุ่มเดอะมอลล์ มูลค่าราวสองหมื่นล้านบาท แถวนั้นยังมีโครงการอื่นที่ช่วยเสริมสร้างความเจริญในพื้นที่อีกด้วย เช่น เมกาบางนา ศูนย์ประชุมไบเทค ฯลฯ

โครการยักษ์เหล่านี้ทยอยดำเนินการไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆอีกที่ลุงไม่ได้กล่าวถึง ดังนั้นหากจะมองจากตัวโครงการขนาดใหญ่ต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล


“นอกจากนี้ หากเรามาพิจารณาถึงโครงการรถไฟฟ้ามาหานะเธอ ปัจจุบันกรุงเทพฯมีโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย 10 สี เปิดดำเนินการไปแล้วหลายเส้นทาง ปัจจุบันมีสถานีรถไฟฟ้าประมาณ 60 สถานี มีจุดตัด 3 จุดตัด ต่อไปเมื่อเปิดเต็มโครงการจะมีสถานีกว่า 200 สถานี และมีจุดตัดราว 24 จุด ทิศทางการเติบโตของโครงการอสังหาฯจะเกิดตามแนวรถไฟฟ้าและจุดตัดรถไฟฟ้า หากพิจารณาจากโครงการรถไฟฟ้า 10 สีก็จะเห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของกรุงเทพฯว่ายังเติบโตไปได้อีกมาก และนั่นแปลว่าทิศทางของอสังหาฯในกรุงเทพฯยังโตไปได้อีกมากด้วยเช่นกัน

Wednesday, February 4, 2015

อสังหาริมทรัพย์ไทยใกล้ฟองสบู่แตกหรือยัง (2)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”


กรุงเทพฯอดีตและปัจจุบัน ราวปี 2513 กับ 255x เป็นภาพถนนพระรามสี่ มองจากแยกศาลาแดงไปทางหัวลำโพง



หลังจากที่ลุงแมวน้ำดูดน้ำปั่นเรียบร้อยก็คุยต่อ

“ที่เมื่อกี้ลุงคุยค้างไว้ ลุงจะบอกว่า ตลาดบ้านและคอนโดมิเนียมของไทยยังดูดี แต่ว่าภาวะอุปทานบ้านและคอนโดมิเนียมล้นตลาดในยุคปัจจุบันจะเกิดขึ้นเสมอเป็นระยะ บางทีดูไปก็ชวนให้คิดว่าเป็นฟองสบู่นั่นแหละ ดังนั้นการลงทุนก็จะต้องมีความรู้ความเข้าใจอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อการลงทุนหรือเพื่อเก็งกำไรในตลาดอสังหาฯจริง หรือการลงทุนในหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้างในตลาดหุ้นก็ตาม”

“เอ๊ะ ยังไงกันจ๊ะลุง พูดให้เข้าใจง่ายๆหน่อยสิ เดี๋ยวก็บอกว่าดูดี เดี๋ยวก็บอกว่าล้นตลาด แล้วยังบอกว่าชวนให้คิดว่าเป็นฟองสบู่เสียอีก ลุงจะเอายังไงกันแน่” ยีราฟพูดด้วยน้ำเสียงกังวล


ชุมชนเมืองเติบใหญ่


“แม่ยีราฟยังไม่ต้องงุนงงไป เรื่องนี้เรายังต้องคุยกันอีกยาว เราจะค่อยๆมาดูกัน แล้วแม่ยีราฟจะหายงง” ลุงแมวน้ำพูด “ก่อนอื่นลุงขอเท้าความก่อนว่าแนวคิดในการลงทุนในยุคต่อไปนั้น ลุงแมวน้ำใช้ธีมในการลงทุนหรือว่าคาถาสำคัญอยู่ 2 ประโยค นั่นคือ ชุมชนเมืองเติบใหญ่ ประชากรสูงวัย เราจะมาดูเรื่องชุมชนเมืองเติบใหญ่ก่อนว่ามีธีมการลงทุนนี้ศักยภาพมากน้อยเพียงใด ลุงมีภาพที่น่าสนใจในอดีตและปัจจุบันมาให้ดูกันหลายภาพ”

ลุงแมวน้ำหยิบภาพปึกหนึ่งจากในหูกระต่าย จากนั้นยกขึ้นชูให้บรรดาสมาชิกได้ชมพร้อมๆกันทีละภาพ เมื่อสมาชิกเห็นภาพแรกต่างก็ร้องอู้ฮู


“ลองดูภาพนี้สิ นี่คือภาพถ่ายกรุงเทพฯในยุค 251x กับ 255x คือระยะเวลาต่างกันประมาณ 40 ปี สองภาพนี้เป็นสถานที่เดียวกัน นั่นคือ ถนนพระรามสี่ จากแยกศาลาแดงมองไปทางหัวลำโพง” ลุงแมวน้ำพูด

“เวลาห่างกัน 40 ปีอาคารสูงผุดขึ้นมามากมาย” ลิงจ๋ออุทาน

“ย้อนไปในยุค 20 ปีที่แล้วและก่อนหน้านั้น คิดง่ายๆก็คือ พ.ศ. 2540 และก่อนหน้านั้น กรุงเทพฯคือประเทศไทย ประเทศไทยคือกรุงเทพฯ หมายความว่าความเจริญต่างๆล้วนแต่กระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ ในต่างจังหวัดนั้นมีบริษัทห้างร้านขนาดใหญ่น้อยมาก ดังนั้นผู้ที่เรียนจบและต้องการหางานดีๆทำก็ต้องมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ เรียกได้ว่าถนนทุกสายมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ

“แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสภาพการณ์เปลี่ยนไป เราลองมาดูภาพอื่นๆกันต่อ”

ลุงแมวน้ำพูดพลางชูภาพให้ชมกันอีกทีละภาพ


จังหวัดนครราชสีมาหรือโคราช อดีตและปัจจุบัน เปรียบเทียบในปี พ.ศ. 2512 กับ 2556

“ปัจจุบันจังหวัดหัวเมืองหลายจังหวัดมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ภาพนี้คือภาพถ่ายทางอากาศของโคราชหรือจังหวัดนครราชสีมาในปี พ.ศ. 2512 กับ 2556 ลองเปรียบเทียบดูสภาพบ้านเมืองและตึกสูงดูสิ ในปัจจุบันโคราชมีคอนโดมิเนียมและอาคารสูงมากมายทีเดียว


จังหวัดเชียงใหม่ อดีตและปัจจุบัน เปรียบเทียบถนนห้วยแก้วย่านโรงแรมเชียงใหม่ฮลล์ในปี 2510, 2530 และ 2557

“ภาพนี้เป็นภาพถนนห้วยแก้ว ย่านโรงเรียมเชียงใหม่ฮิลล์ ลองสังเกตภาพในช่วงปี 2510 กับ 2530 สิ ในช่วงยี่สิบปปีนั้นถนนห้วยแก้วเปลี่ยนไปไม่มาก ส่วนใหญ่ยังเป็นต้นไม้อยู่ แต่เมื่อดูภาพถ่ายในปี 2557 จะเห็นว่ามีอาคารสูงเกิดขึ้นมากมาย นั่นคือความเจริญของเชียงใหม่ก็มาเร่งตัวในช่วงหลังนี่เอง


จังหวัดขอนแก่น อดีตและปัจจุบัน เปรียบเทียบระหว่างปี พ.ศ. 2535 กับ 2557

“ภาพนี้ก็เป็นจังหวัดขอนแก่นเปรียบเทียบกันระหว่างปี พ.ศ. 2535 กับ 2557 สองภาพนี้ไม่ใช่พิกัดสถานที่เดียวกัน แต่ลุงนำมาเทียบกันเพื่อให้เห็นบรรยากาศของบ้านเมืองและอาคารสูงในขอนแก่น เพื่อให้เรานึกภาพความเปลี่ยนแปลงออก


จังหวัดอุดรธานี อดีตและปัจจุบัน เปรียบเทียบย่านวงเวียนหลวงประจักษ์ระหว่างปี พ.ศ. 2510 กับ 2557

“ภาพนี้ก็เป็นภาพในจังหวัดอุดรธานี ตรงวงเวียนกรมหลวงประจักษ์ เปรียบเทียบกันในระยะเวลาห่างกัน 40 ปี คือ พ.ศ. 2510 กับ 2557



จังหวัดชลบุรี อดีตและปัจจุบัน ย่านแยกเฉลิมไทยระหว่างปี พ.ศ. 2490 กับ 255x

“ภาพนี้เป็นภาพถ่ายทางอากาศตรงแยกเฉลิมไทย จังหวัดชลบุรี ภาพเก่ากับภาพใหม่อายุต่างกันมากหน่อย คือ ห่างกันราว 60 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2490 กับ 255x เมื่อก่อนเป็นทุ่งนาอย่างในภาพนั่นแหละ ปัจจุบันเรือกสวนไร่นาหมดไปกลายเป็นตึก อสังหาฯในย่านเมืองใหม่ ชลบุรี เป็นทำเลที่สร้างรายได้ มีนักลงทุนไปซื้อคอนโดและให้ชาวญี่ปุ่นเช่า ผลตอบแทนไม่เลวทีเดียว



ตลาดโรงเกลือ จังหวัดสระแก้ว ย่านนี้คึกคักจากการค้าชายแดน จังหวัดสระแก้วกำลังจะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

“ภาพนี้เป็นภาพตลาดโรงเกลือ ชายแดนจังหวัดสระแก้วติดกับกัมพูชา เมื่อก่อนเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดอรัญประเทศแต่ต่อมาแยกเป็นจังหวัดใหม่คือจังหวัดสระแก้ว ภาพนี้ลุงไม่มีภาพในอดีต แต่ว่าพื้นที่แถวๆตลาดโรงเกลือนี้เมื่อก่อนก็ไม่มีอะไร เป็นเมืองชายแดนเล็กๆ ต่อมาการค้าชายแดนคึกคัก เมืองเล็กๆก็กลายเป็นเมืองที่เจริญเติบโต ดูโครงสร้างในปัจจุบันสิ มีอาคารอาณิชย์และคลังสินค้ามากมาย และกำลังจะมีคอนโดมิเนียมด้วย

“จากภาพเหล่านี้คงพอทำให้เราเห็นแล้วว่าปัจจุบันกรุงเทพฯไม่ใช่ประเทศไทยอีกต่อไปแล้ว ความเจริญเติบโตได้แผ่ขยายออกไปสู่ต่างจังหวัด เรามีหัวเมืองหลักและหัวเมืองรองหลายจังหวัดทีเดียว บางจังหวัดมีอัตราการเติบโตสูงกว่ากรุงเทพฯเสียอีก”

“อือม์ ชุมชนเมืองเติบใหญ่ เป็นยังงี้เอง” ลิงพึมพำกับตนเอง จากนั้นถามลุงแมวน้ำว่า “แล้วจังหวัดอะไรบ้างที่อัตราการเติบโตสูงกว่ากรุงเทพฯครับลุง”


อัตราการเติบโตของหัวเมือง



ลุงแมวน้ำหยิบกระดาษออกมาอีกปึกหนึ่งจากในหูกระต่ายและคลี่ออกมา




“เรามาดูภาพนี้กัน” ลุงแมวน้ำพูด “ก่อนอื่น ดูที่แผนที่ประเทศไทยก่อน แผนที่นี้มีการระบายสีที่อ่อนแก่แตกต่างกัน จังหวัดที่สีเข้มคือจังหวัดที่มีระดับจีดีพีรายจังหวัดสูง สียิ่งเข้มแปลว่าระดับจีดีพียิ่งสูง

“จากแผนที่จีดีพีนี้แสดงให้เห็นว่าจังหวัดที่มีจีดีพีสูงมากคือกรุงเทพฯและปริมณฑล และจังหวัดในภาคตะวันออก ส่วนจังหวัดที่มีจีดีพีสูงในลำดับรองลงมาก็กระจายอยู่ในภาคเหนือ กลาง อีสาน และใต้ ซึ่งก็คือหัวเมืองใหญ่ตามภาคต่างๆนั่นเอง”

“แล้วกราฟซ้ายมือในภาพล่ะลุง หมายความว่ายังไง” ลิงถาม

“สำหรับกราฟนั้นแสดงอัตราการเติบโตของบางจังหวัด เปรียบเทียบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึง 2555 รวม 8 ปี

“ดูเส้นสีฟ้า นั่นคือการเติบโตของจีดีพีในกรุงเทพฯ กรุงเทพฯมีจีดีพีสูงเป็นลำดับ 1 ของประเทศ ปี พ.ศ. 2555 มีจีดีพี 3.8 ล้านล้านบาท แต่เมื่อดูกราฟการเติบโต จะพบว่าในรอบ 8 ปี เติบโตขึ้นเป็น 158% และที่น่าสังเกตก็คือในกราฟนั้นลุงแมวน้ำยกการเติบโตมาให้ดูกัน 7 จังหวัด กรุงเทพฯมีอัตราโตน้อยที่สุด อีก 6 จังหวัดที่เหลืออัตราโตดีกว่าทั้งนั้น ได้แก่

“จังหวัดระยอง (เส้นกราฟสีน้ำตาล) มีจีดีพีสูงเป็นอันดับสองของประเทศ คือ 8 แสนล้านบาท ในรอบแปดปีมีอัตราโตเป็น 222%

“จังหวัดขอนแก่น (เส้นกราฟสีเขียว) มีจีดีพีสูงเป็นอันดับสิบสี่ของประเทศ คือ 1 แสนเก้าหมื่นล้านบาท ในรอบแปดปีมีอัตราโตเป็น 218%

“จังหวัดอุดรธานี (เส้นกราฟสีน้ำเงินเข้ม) มีจีดีพีสูงเป็นอันดับยี่สิบห้าของประเทศ คือ เก้าหมื่นห้าพันล้านบาท ในรอบแปดปีมีอัตราโตเป็น 209%

“จังหวัดนครราชสีมา (เส้นกราฟสีน้ำเงินอ่อน) มีจีดีพีสูงเป็นอันดับเก้าของประเทศ คือ 2 แสนสี่หมื่นล้านบาท ในรอบแปดปีมีอัตราโตเป็น 194%

“เห็นไหมว่าจังหวัดหัวเมืองต่างๆแม้ว่าระดับจีดีพีจะน้อยกว่ากรุงเทพฯ แต่อัตราโตกลับสูงกว่า นั่นคือความเจริญแผ่ขยายไปตามหัวเมืองนั่นเอง นี่แหละคือชุมชนเมืองเติบใหญ่

“ถ้าอย่างนั้นลุงหมายความว่าอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะตามหัวเมืองใหญ่ที่ว่ามา น่าลงทุนมากกว่าในกรุงเทพฯใช่ไหมจ๊ะ เพราะการเติบโตดีกว่าในกรุงเทพฯ แล้วมีหุ้นอะไรที่ทำอสังหาฯในจังหวัดต่างๆเหล่านี้บ้างล่ะ ฉันจะได้ไปซื้อไว้บ้าง” ยีราฟถาม

“จะบอกว่าอสังหาริมทรัพย์ต่างจังหวัดเติบโตดีกว่าในกรุงเทพฯ ทำให้น่าลงทุนมากกว่า ลุงว่าก็ไม่เชิงเป็นแบบนั้น และอีกอย่างคือหุ้นอสังหาฯไม่ได้แบ่งแยกชัดเจนหรอกว่าหุ้นไหนทำอสังหาฯในกรุงเทพฯ หุ้นไหนทำอสังหาฯในต่างจังหวัด ลุงว่าต้องเข้าใจในธุรกิจ เข้าใจวัฏจักรอสังหาฯเสียก่อน และกำหนดเป็นกลยุทธ์การลงทุนมากกว่า

“เดี๋ยวก่อนนะครับลุง ขอขัดคอหน่อยเถอะ” ลิงจ๋อพูด “แล้วเรื่องอุปทานล้นตลาด และฟองสบู่อสังหาฯล่ะครับ ลุงยังไม่ได้อธิบายเลย นี่จะวางกลยุทธ์การขึ้นดอย เอ๊ย การลงทุนแล้วหรือ”

“ข่าวที่นายจ๋อเอามาให้ดู พวกเราก็ได้อ่านกันแล้ว แต่ลุงแมวน้ำก็ยังมองว่าต่อจากนี้ไปเป็นยุคทองของอสังหาริมทรัพย์ไทยและเป็นยุคทองของกลุ่มรับเหมาก่อสร้างด้วย แต่ต้องลงทุนอย่างมีกลยุทธ์ เหตุผลส่วนหนึ่งลุงก็ได้แสดงให้ดูไปแล้ว แต่ลุงยังมีเหตุผลอื่นๆอีก เรื่องอุปทานล้นตลาดและเรื่องฟองสบู่ลุงยังไม่ลืม แต่ว่าเรายังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องคุยกัน นายจ๋ออย่าเพิ่งใจร้อน ค่อยๆฟังไปก่อน”