Friday, September 19, 2014

19/09/2014 วัฏจักรชีวิต วัฏจักรเศรษฐกิจ วัฏจักรกิจการ และวัฎจักรราคาหุ้น (2)





“ลุงแมวน้ำ ผมมีคำถาม” ลิงจ๋อชูหางสูงแทนการยกมือ

“เอ้า ว่ามา” ลุงแมวน้ำพูด

“รูปที่ลุงเอามาให้ดูน่ะ เป็นทรงโค้งสวยงามทุกภาพ แต่ในชีวิตจริง ทุกอย่างไม่ได้เป็นทรงเป๊ะเว่อแบบนั้น” ลิงทักท้วง

“มันก็ใช่ ทุกอย่างไม่ได้เป๊ะเว่อ สวยแบบในภาพ” ลุงแมวน้ำใช้ศัพท์วัยรุ่นบ้าง “แล้วนายจ๋อจะบอกอะไรล่ะ”

“ดูอย่างในกราฟคลื่นอีเลียตสิลุง ในชีวิตจริงมันไม่ได้ขึ้น 5 ลง 3 อย่างสวยงาม แต่มันหักเห เฉไฉ จนนับคลื่นไม่ถูก ที่ผมจะถามลุงก็คือ โดยทฤษฎีอย่างที่ลุงว่า หากเรารู้ว่าเราอยู่ตรงไหนในคลื่น เราก็คาดการณ์เหตุการณ์ข้างหน้าได้ แต่นั่นคือทฤษฎี ในชีวิตจริงหากเรานับคลื่นไม่ถูก เราก็ไม่รู้ว่าเราอยู่ตรงไหน และก็จะคาดการณ์ข้างหน้าไม่ได้” ลิงพูด “ผมนับคลื่นไม่ถูกอยู่บ่อยๆ”

“นายจ๋อพูดมีเหตุผล และเป็นคำถามที่ดี แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ตอบกันได้สั้นๆ ลุงว่าเราคุยกันไปเรื่อยๆก่อน แล้วประเด็นที่นายจ๋อถามเราจะเรียนรู้กันไปเรื่อยๆ อาจไม่ได้ตอบจนหมดในทีเดียว” ลุงแมวน้ำตอบ

ลุงแมวน้ำหยิบภาพออกมาจากหูกระต่ายอีกภาพหนึ่ง แล้วพูดว่า


โค้งของกราฟทรงระฆังคว่ำสามารถแปรปรวนเป็นรูปทรงต่างๆได้หลากหลาย



“รูปที่เราดู เท่าที่ผ่านมา ที่ลุงบอกว่าเป็นทรงโค้งระฆังคว่ำนั้นการแสดงตัวแบบ (model) หรือว่าเป็นกราฟในเชิงอุดมคติ แต่ในความเป็นจริง ลีลาของเส้นกราฟมีความหลากหลายได้มากมาย ลองดูในภาพนี้สิ นี่เป็นเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายหรือความแปรปรวนที่อาจเกิดขึ้นได้ มีทั้งระฆังสูง ระฆังเตี้ย ระฆังเบ้ซ้าย เบ้ขวา ยอดระฆังแหลมเป็นหมวก ยอดระฆังแบนเป็นภูกระดึง ฯลฯ มีหมดนั่นแหละ

“นี่ตอบคำถามนายจ๋อไปได้ข้อหนึ่งแล้วนะว่ารูปทรงระฆังคว่ำสวยๆนั้นในโลกของความจริงแล้วแปรปรวนได้หลากหลาย ส่วนคำถามอื่นๆ จะจะค่อยๆทยอยตอบต่อไป”



วัฏจักรเศรษฐกิจ จากระฆังกลายเป็นคลื่น


“เอาละ ตอนนี้เราจะมาคุยกันเรื่องวัฏจักรเศรษฐกิจเพิ่มเติมกันสักหน่อย ลุงเอาภาพนี้ให้ดูทบทวนกันก่อน เผื่อว่าจะลืม”

ลุงแมวน้ำพูดพลางหยิบกราฟวัฏจักรเศรษฐกิจที่แสดงให้ดูไปแล้วมาให้ดูกันอีก จากนั้นจึงพูดต่อไปว่า



วัฏจักรเศรษฐกิจ เป็นการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจมหภาค เริ่มจากขั้นฟื้นตัว (recovery) เศรษฐกิจจะเติบโตช้าๆ จากนั้นเศรษฐกิจจะขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็ว (expansion) จนเศรษฐกิจเฟื่องฟูสุดขีด (boom) หลังจากนั้นเศรษฐกิจก็จะโตต่อไปไม่ได้และถดถอย (recession) เมื่อเศรษฐกิจถดถอยนานเข้าก็เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (depression) หลังจากที่อยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนานวัน เศรษฐกิจก็จะค่อยๆฟื้นตัว อนึ่ง วัฎจักรเศรษฐกิจคล้ายคลึงกับวัฏจักรกิจการ แตกต่างกันตรงที่กิจการตกต่ำจนเลิกกิจการได้ แต่เศรษฐกิจตกต่ำนั้นมักไม่ถึงขั้นสังคมล่มสลาย ส่วนใหญ่มักกลับฟื้นขึ้นมาได้ เป็นวัฎจักรที่หมุนวนไปเรื่อยดุจกลางวัน-กลางคืน



“เศรษฐกิจนี้เป็นปัจจัยมหภาค มีความหมายในเชิงกว้างหลายระดับ เช่น อาจหมายถึงเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นเชิงกว้างที่สุด หรืออาจหมายถึงเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งซึ่งเป็นความหมายในเชิงแคบลงมา หรืออาจหมายถึงเศรษฐกิจในท้องถิ่นก็ได้ซึ่งก็แคบลงมาอีก แต่ที่ลุงจะคุยให้ฟังนั้นลุงเน้นที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจระดับประเทศ

“สุดปลายด้านขวาของกราฟคือปลายทาง หากเป็นชีวิตคน เมื่อกราฟดำเนินไปจนสุดปลายด้านขวาก็หมายถึงหมดสิ้นอายุขัย หรือหากเป็นกิจการก็หมายถึงกิจการสิ้นสุดหรือว่าเลิกไป

“แต่หากเป็นเศรษฐกิจประเทศ โดยทั่วไปแล้วเศรษฐกิจไม่มีทางแย่จนประเทศเจ๊งหรือดับสูญไป นี่เราพูดถึงเฉพาะสมัยนี้นะ”

“หมายความว่ายังไงฮะลุง ที่ว่าเฉพาะสมัยนี้” กระต่ายน้อยสงสัย ไม่สงสัยเปล่า หยิบแครอตออกมาแทะอีกด้วย “ขอแทะแครอตหน่อยนะฮะ ผมหิวบ่อย”

“คือหากเป็นในสมัยโบราณ ดินแดนแว่นแคว้นต่างๆมีโอกาสเจ๊งได้ ยกตัวอย่างอาณาจักรโรมันที่เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง อ่อนแอ จนท้ายที่สุดก็ต้องสิ้นสุดอาณาจักรเนื่องจากถูกชนเผ่าอื่นมายึดไป หรือกรณีอียิปต์โบราณก็เช่นกัน ในปลายยุค ผู้ปกครองอ่อนแอ ทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอ ประชาชนอดอยาก แถมยังมีความไม่สงบภายใน แย่งชิงอำนาจกัน สุดท้ายก็ต้องสิ้นสุดอาณาจักรโดยถูกชนชาติอื่นยึดครอง”

ลุงแมวน้ำกางภาพออกมาอีกแผ่นหนึ่ง


 
วัฎจักรของเศรษฐกิจในระดับประเทศ ในปัจจุบันมักไม่ได้มีเพียงวัฎจักรเดียว (เกิดขึ้นและจบเพียงรอบเดียว) แต่เกิดเป็นหลายวัฏจักรต่อเนื่องกันเหมือนคลื่น



“แต่มาในยุคปัจจุบัน ประเทศที่เศรษฐกิจแย่จนสิ้นประเทศนั้นไม่มีหรอก เพราะโลกกลัววิกฤตเศรษฐกิจลามแบบโดมิโน ดังนั้นหากประเทศใดเศรษฐกิจย่ำแย่ก็มักถูกอุ้มถูกช่วยจนรอดพ้นวิกฤตเศรษฐกิจไปได้ ดังนั้นรูปแบบเศรษฐกิจของประเทศที่จะเป็นแบบระฆังคว่ำใบเดียวนั้นไม่มี แต่จะเป็นระฆังคว่ำที่ต่อเนื่องกันมากกว่า ลองดูรูปนี้สิ นี่คือรูปแบบของเศรษฐกิจในปัจจุบัน นั่นคือ ฟุบแล้วฟื้น ฟื้นแล้วก็ฟุบลงไปใหม่ ขึ้นแล้วลง ลงแล้วขึ้น หมุนเวียนไปเรื่อยๆ”

“จากทรงระฆังคว่ำกลายเป็นคลื่นในทะเลไปแล้ว” ฮิปโปพูดบ้าง

“ใช่แล้ว ทรงระฆังกลายเป็นทรงคลื่น และกราฟทรงคลื่นนี้ก็เป็นความลับของธรรมชาติอีกเรื่องหนึ่ง” ลุงแมวน้ำพูด “แต่อย่าเพิ่งถามลุงเลยว่าความลับข้อนี้คืออะไร ลุงขอยกไปเล่าในวันอื่น สำหรับในวันนี้ขอคุยเรื่องคลื่นเศรษฐกิจก่อน”

“ความลับแยะจริงนะฮะลุง” กระต่ายน้อยหัวเราะร่า “ผมชอบ ผมชอบ ตื่นเต้นดี เล่ามาอีกเลยฮะ”

ลุงแมวน้ำกางภาพออกมาอีกใบหนึ่ง และพูด

“เอาละ ทีนี้เรามาดูคลื่นเศรษฐกิจกันต่อ คลื่นเศรษฐกิจนั้นเกิดจากวัฏจักรเศรษฐกิจทรงระฆังคว่ำที่ไม่ยอมยุติ แต่กลับเรียงร้อยต่อเนื่องกันไปจน เมื่อจบวัฎจักรหนึ่งก็ตามด้วยอีกวัฏจักรหนึ่งไม่มีสิ้นสุด จึงกลายเป็นรูปทรงคลื่น ซึ่งรูปทรงคลื่นที่เกิดเป็นความต่อเนื่องนี้มีความพิเศษกว่าการเป็นวัฏจักรเดี่ยว นั่นคือ รูปทรงคลื่นนี้เนื่องจากมันต่อเนื่องยาวไปเรื่อยๆ ดังนั้นมันจึงอาจมีทิศทางได้ด้วย ลองดูภาพนี้


คลื่นเศรษฐกิจอาจมีทิศทางได้ นั่นคือ เกิดเป็นแนวโน้มเศรษฐกิจนั่นเอง คลื่นเศรษฐกิจมีได้ทั้งแนวโน้มขาขึ้น แนวโน้มขาลง และแนวโน้มคงตัว 



“ภาพนี้เป็นลักษณะคลื่นเศรษฐกิจ 3 แบบ

“กราฟรูปบนสุดเป็นคลื่นเศรษฐกิจแบบที่ขึ้นลง ขึ้นลงก็จริง แต่ขึ้นมากกว่าลง ดังนั้นจึงเกิดเป็นแนวโน้มใหญ่ขาขึ้น นั่นคือ เป็นคลื่นเศรษฐกิจในทิศทางขาขึ้น

“กราฟรูปกลางเป็นคลื่นเศรษฐกิจที่ยามขาลงลึกกว่ายามขาขึ้น ดังนั้นจึงเกิดเป็นแนวโน้มใหญ่ขาลง หรือว่าเป็นคลื่นเศรษฐกิจในทิศทางขาลงนั่นเอง

“ส่วนกราฟรูปล่างเป็นคลื่นเศรษฐกิจที่ขึ้นและลงพอๆกัน ดังนั้นจึงไม่มีทิศทาง เสมอตัวไปเรื่อยๆ”

“ขึ้นลง ขึ้นลง คลื่นย่อยประกอบเป็นคลื่นใหญ่ คลื่นใหญ่แยกส่วนเป็นคลื่นย่อย” ลิงพึมพำ จากนั้นก็ร้องว่า “นี่ก็คือคลื่นใหญ่คลื่นย่อยในทฤษฎีคลื่นอีเลียตนี่ลุง”

“ก็ทำนองนั้นแหละ” ลุงแมวน้ำหัวเราะขำท่าทางของลิงจ๋อ “คลื่นอีเลียตประกอบด้วยคลื่นใหญ่ คลื่นย่อย ซ้อนกัน คลื่นอีเลียตนอกจากอธิบายพฤติกรรมของราคาหุ้นได้แล้วยังใช้อธิบายเศรษฐกิจมหภาคได้ด้วย”

“ใช้กับเศรษฐกิจได้ด้วยหรือลุง ไม่เคยอ่านพบว่ามีใครใช้เลยนะเนี่ย” ลิงถามอย่างสงสัย

“อ้าว ก็ใช้ทฤษฎีคลื่นอีเลียตกับกราฟดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของประเทศนั้นๆไง” ลุงแมวน้ำหัวเราะอีก “ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เป็นตัวบ่งชี้เศรษฐกิจของประเทศได้ส่วนหนึ่งไง เราใช้คลื่นอีเลียตอธิบายดัชนีก็คือเราใช้คลื่นอีเลียตอธิบายเศรษฐกิจระดับประเทศนั่นเอง ใช้หลักการของคุณสมบัติการถ่ายทอด (transitive property) ในวิชาคณิตศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์”


วัฏจักรเศรษฐกิจเกิดต่อเนื่องกันจนกลายเป็นคลื่นเศรษฐกิจ และคลื่นเศรษฐกิจนี้สามารถอธิบายได้ด้วยคลื่นอีเลียต โดยพิจารณาจากกราฟของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของประเทศนั้นๆนั่นเอง ในภาพนี้เป็นคลื่นในกราฟดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ซึ่งสะท้อนเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาได้ส่วนหนึ่ง จะเห็นว่าเกิดเป็นทรงคลื่น การใช้ทฤษฎีคลื่นอีเลียตอธิบายดัชนีตลาดก็เท่ากับอธิบายเศรษฐกิจของประเทศด้วย ตามหลักคุณสมบัติการถ่ายทอด (เมื่อ a=b และ b=c ดังนั้น a=c)

Wednesday, September 17, 2014

17/09/2014 วัฏจักรชีวิต วัฏจักรเศรษฐกิจ วัฏจักรกิจการ และวัฎจักรราคาหุ้น (1)






“ไม่เอา บอกว่าแพงแล้ว”

“ก็ฉันชอบนี่”

“เอ๊ะ ก็บอกว่าแพงแล้วยังจะซื้อทำไม จะซื้อชาตินี้แล้วขายชาติหน้าหรือไง”

“ไม่รู้ล่ะ ฉันว่าไม่แพง”

“โอ๊ย ทำไมดื้อยังงี้”

ในตอนเย็นวันหนึ่ง ขณะที่ลุงแมวน้ำกำลังเดินเข้าไปในสวนเพื่องีบสักครู่ ก็ได้ยินเสียงเถียงกันวุ่นวาย เมื่อลุงแมวน้ำเดินไปถึงศาลาในสวน ก็เห็นสมาชิกคณะละครสัตว์มากหน้าหลายตากำลังจับกลุ่มกันอยู่ และเจ้าของเสียงที่กำลังเถียงกันหน้าดำหน้าแดงคือลิงจ๋อกับแม่ยีราฟนั่นเอง

“โอ๊ะ มีอะไรกันเนี่ย เสียงเอะอะดังไปถึงนอกสวน” ลุงแมวน้ำทักทาย

“พ่อจ๋อกับแม่ยีราฟเขาทะเลาะกันจ้ะลุง เถียงกันเรื่องซื้อหุ้น” ฮิปโปสาวร่างใหญ่ตอบ ก็แน่ล่ะ ฮิปโปก็ต้องร่างใหญ่อยู่แล้ว

“แล้วพวกเรามาฟังเขาเถียงกันเรื่องซื้อหุ้นทำไมละเนี่ย” ลุงแมวน้ำถามอย่างงงๆ

“ก็อยากรู้ว่ามันดีหรือไม่ดี ถ้าดีก็ได้จะได้ซื้อบ้างไงครับ” ม้าลายตอบ

“หา นี่พวกเราจะซื้อหุ้นกันเรอะ” ลุงแมวน้ำอึ้งไป เมื่อเห็นเหล่าสมาชิกคณะละครสัตว์สนใจหุ้นโดยพร้อมเพียงกัน เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

“ใช่แล้วลุง นายจ๋อจัดการให้พวกเราเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกันเรียบร้อยแล้ว” สิงโตพูด “ทุกวันนี้ดอกเบี้ยเงินฝากไม่พอยาไส้เลย ลุงก็รู้นี่” สิงโตพูดบ้าง “เห็นนายจ๋อซื้อขายหุ้นกำไรงาม พวกเราก็อยากลงทุนบ้าง”

“ลุงแมวน้ำมาก็ดีแล้ว ช่วยฉันหน่อยจ้ะลุง ฉันอยากซื้อหุ้นตัวหนึ่งแต่นายจ๋อห้ามไม่ให้ซื้อ” ยีราฟสาวพูดกับลุงแมวน้ำด้วยสีหน้ากลุ้มใจ

“ก็ผมหวังดีนะลุง หุ้นที่แม่ยีราฟอยากซื้อน่ะค่าอัตราส่วนพีอีตั้งร้อยกว่าเท่า แพงจะตาย ซื้อเข้าไปได้ยังไง ขืนซื้อคงได้อยู่ดอยยาวหลายปี” ลิงจ๋อรีบเถียง

“ฉันว่ามันไม่แพงเพราะธุรกิจเขาดี สินค้ามีแต่ขึ้นราคา แถมบางช่วงยังหาซื้อยากอีกต่างหาก เมื่อหน้าฝนที่ผ่านมาราคาขึ้นเป็นเท่าตัวเลย ฉันหาซื้อกินแทบไม่ได้” ยีราฟเถียงบ้าง “ฉันซื้อลงทุนเพื่อความมั่นคงทางอาหาร”

“ฮ่ะ ฮ่ะ ใช้ภาษาวิชาการเสียด้วย ความมั่นคงทางอาหาร” ลิงหัวเราะ “โอ๊ย ขำ”

“มันหุ้นอะไรกันน่ะ ถึงได้ต้องเถียงกันขนาดนี้” ลุงแมวน้ำชักสงสัย

“หุ้นไร่ถั่วฟักยาวจ้ะลุง” ยีราฟตอบ “ทีนายจ๋อซื้อหุ้นสวนกล้วยบ้างล่ะ ไม่เห็นพูดเลยว่าซื้อแพง”

“ก็พีอีของหุ้นสวนกล้วยต่ำกว่านี้ตั้งเยอะ” ลิงโต้อีก “ลุงมาก็ดีแล้ว ช่วยบอกแม่ยีราฟหน่อยว่าหุ้นที่พีอีร้อยกว่าเท่านี่มันแพงไหม มันยังน่าซื้ออยู่ไหม”

“ว่าอีกแล้ว” ยีราฟสาวทำหน้ายู่ยี่ พร้อมกับเบะปากเตรียมจะร้องไห้

“เดี๋ยวก่อน” ลุงแมวน้ำรีบห้ามวิวาทะ พร้อมกับเอาครีบอุดหู “แม่ยีราฟไม่ต้องร้องไห้ ฟังลุงก่อน”

เมื่อเห็นลิงกับยีราฟหยุดเถียงกันแล้ว ลุงแมวน้ำจึงพูดต่อ “เรื่องหุ้นถูก หุ้นแพง น่ะ เราเอาไว้ก่อนดีกว่า ที่แม่ยีราฟกับนายจ๋อพูดต่างก็มีเหตุผลทั้งคู่ แต่เป็นเหตุผลจากมุมมองที่มองจากคนละด้าน ดังนั้นเถียงกันไม่จบหรอก ลุงคิดว่าก่อนที่เราจะประเมินได้ว่าหุ้นนี้ถูกหรือแพง เราควรเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจและเศรษฐกิจเสียก่อน ถ้าสนใจค่ำนี้แวะไปที่โขดหินของลุง แล้วเรามาคุยกัน ตอนนี้ลุงขอเวลาเตรียมข้อมูลนิดหน่อยก่อน”

“ยังงั้นก็ได้ครับลุง งั้นค่ำๆคุยกันใหม่” ลิงตอบ

และแล้ว วิวาทะย่อยๆก็สงบลงชั่วคราว...

ค่ำวันนั้นเอง ที่โขดหินแสนสุขของลุงแมวน้ำ สิงโต ฮิปโป ยีราฟ ลิง กระตายน้อย และลุงแมวน้ำ เหล่าสมาชิกคณะละครสัตว์ก็มานั่งล้อมวงคุยกันข้างโขดหิน เสียงคุยจ้อแจ้กจอแจอย่างครึกครึ้น

“ว่าไงจ๊ะลุงแมว มีหุ้นเด็ดๆอะไรจะบอกพวกเรา ฉันจะได้ไปซื้อบ้าง” ฮิปโปสาวถาม

“นี่ลุงไม่ได้บอกเลยนะว่าจะให้หุ้นเด็ด ลุงบอกว่าจะคุยให้ฟังเรื่องธรรมชาติของเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อเป็นแนวคิดในการลงทุนต่างหาก” ลุงแมวน้ำตอบ

“อ้าว งั้นเหรอจ๊ะ บอกชื่อหุ้นมาเลยไม่ได้เหรอ ไม่ต้องบอกใบ้หรอกลุง” ฮิปโปพูดอีก “เอาแบบพรุ่งนี้ขึ้นเลยนะ”

ลุงแมวน้ำเหลือบมองดูลิงจ๋อ ลิงยกหางของตนเองขึ้นปิดตา

“ผมไม่เกี่ยวนะลุง ไม่ได้ยุยงแม่ฮิปโปเลย รายนี้เขามีใจรักพวกหุ้นเด็ดเอง ส่วนผมเดี๋ยวนี้เปลี่ยนแนวการลงทุนมาเป็นการลงทุนในหุ้นดีๆและหวังผลระยะยาวแล้ว” ลิงพูด

“ที่ลุงจะคุยให้ฟังนี่ก็เพื่อให้พวกเราลงทุนอย่างมีความรู้ความเข้าใจน่ะ ถ้าเลือกหุ้นได้ดีก็คือเท่ากับถือหุ้นเด็ดเช่นกัน แต่เป็นการถือและหวังผลในระยะยาวหน่อย โพยหุ้นเด็ดราวกับสั่งได้อย่างที่แม่ฮิปโปถามน่ะลุงไม่มีหรอก” ลุงแมวน้ำพูด

“อ้าว เหรอ” ฮิปโปผิดหวัง “ไม่มีก็ไม่เป็นไรจ้ะลุง  ยังไงฉันก็นั่งฟังด้วย นั่งคุยกันเป็นกลุ่มสนุกดี ไม่เหงา”

“ลุงแมวน้ำเริ่มเลยเถอะฮะ” กระต่ายน้อยเร่ง “คืนนี้ผมต้องรีบกลับเข้าหมวก”

“ได้ๆ ยังงั้นเรามาเริ่มคุยกันเลยก็แล้วกัน” ลุงแมวน้ำพูด

เมื่อเห็นบรรดาสมาชิกพร้อมแล้ว ลุงแมวน้ำก็หยิบภาพประกอบออกมาปึกหนึ่ง เลือกมาภาพหนึ่ง คลี่ให้ทุกตัวได้เห็น พร้อมกับเริ่มการพูดคุย



วัฎจักรการเติบโตของมนุษย์ แสดงการเติบโตเป็น 5 วัย วัยเด็ก (infant and child รวมวัยทารกด้วย) มีการเจริญเติบโตในขั้นต้น ต่อมาการเจริญเติบโตเพิ่มมากขึ้นในวัยรุ่น (youngster) และเติบโตเต็มที่ในวัยผู้ใหญ่ (adult and middle aged) หลังจากนั้นร่างกายจะเริ่มเสื่อมถอยในวัยชรา (oldster) และเสื่อมถอยลงเรื่อยๆจนหมดอายุขัย (dead)



“เรามาดูภาพนี้กันก่อน ดูซิ นี่ภาพอะไร” ลุงแมวน้ำถาม

ลิงจ๋อเอียงคอดูภาพ จากนั้นยกหางเกาหัว แล้วถาม

“ลุงหยิบภาพมาผิดหรือเปล่า นี่ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับหุ้นเลย” ลุงพูด เห็นมีแต่รูปเด็ก รูปผู้ใหญ่ และรูปคนแก่”

“ไม่ผิดหรอก ลุงขอเริ่มการคุยของเราด้วยภาพนี้ก่อน” ลุงแมวน้ำพูด “พวกเราลองดูให้ดีๆ ภาพนี้เป็นกราฟที่แสดงการเจริญเติบโตของมนุษย์ ที่จริงก็หมายความรวมถึงสัตว์ต่างๆด้วยนั่นแหละ”

“แล้วดูยังไงฮะลุง” กระต่ายน้อยถามบ้าง

“แกนตั้งแทนการเติบโต ส่วนแกนนอนแทนอายุ” ลุงแมวน้ำพูด “สำหรับแกนตั้งนั้น อาจจะคิดง่ายๆว่าแสดงส่วนสูงของมนุษย์ก็ได้

“ดูตามลุงไปนะ ตอนเด็กๆร่างกายยังไม่สูงใช่ไหม พอโตขึ้น การเติบโตหรือว่าส่วนสูงก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวัยผู้ใหญ่ร่างกายก็โตเต็มที่ ไม่โตกว่านี้อีกแล้ว ส่วนสูงก็หยุดแค่นี้

“หลังจากที่โตเต็มที่แล้ว พออายุมากขึ้นอีก คราวนี้นอกจากไม่โตแล้วยังเสื่อมถอย นั่นคือ ร่างกายเรื่อมเสื่อมลง ส่วนสูงก็ลดลง หลังค้อม หลังโกง

“เมื่อเสื่อมมากๆเข้า ในที่สุดก็ถึงกาลสิ้นสุดอายุขัย นั่นคือฉากสุดท้ายของมนุษย์และสัตว์” ลุงแมวน้ำอธิบาย

“ที่ลุงอธิบายมา ฉันพอจะดูภาพนี้เข้าใจแล้วจ้ะลุง” ยีราฟพูดบ้าง “แต่ก็สงสัยว่าเกี่ยวกับหุ้นไร่ถั่วฝักยาวของฉันตรงไหน”

“ใจเย็นๆสิ ค่อยๆฟังลุงอธิบายก่อน” ลุงแมวน้ำพูด “ทีนี้ลุงถามพวกเราว่ายังจำรถเข็นขายกาแฟของแม่เล็กที่ประตูทางเข้าโรงละครสัตว์กันได้ไหม”

“จำได้ครับลุง แต่ว่าร้านแม่เล็กเลิกกิจการไปนานแล้วนี่” ม้าลายพูดบ้าง

“นั่นแหละ ลุงอยากให้ย้อนคิดเรื่องรถเข็นขายกาแฟแม่เล็กดูสักหน่อย จำได้ไหม ตอนที่มาขายใหม่ๆ แต่ละวันขายได้น้อยมาก หลังจากนั้นก็เริ่มมีลูกค้าติดใจในฝีมือชงกาแฟ และขายได้มากขึ้นและมากขึ้น จนในที่สุดขายดีจนชงกาแฟไม่ทัน และจากนั้นต่อมามีร้านกาแฟหรูมาเปิดแข่ง ยอดขายของร้านแม่เล็กก็ลดลง ลดลง จนขายแทบไม่ได้ในที่สุด จากนั้นจึงได้เลิกกิจการไป” ลุงแมวน้ำพูดทบทวนอดีตของร้านขายกาแฟแม่เล็ก

“ใช่แล้วลุง ร้านแม่เล็กเป็นอย่างที่ลุงว่า” สิงโตพูดบ้าง

ลุงแมวน้ำหยิบกระดาษอีกแผ่นหนึ่งออกมากาง แล้วพูดต่อ



วัฎจักรผลิตภัณฑ์และวัฎจักรกิจการเป็นรูปแบบเดียวกัน เนื่องจากผลิตภัณฑ์ก็เป็นองค์ประกอบในกิจการนั่นเอง วัฎจักรกิจการประกอบด้วยขั้นตั้งไข่หรือเริ่มต้นกิจการ (start up) ขั้นนี้ยอดขายหรือรายได้จะไม่มากเนื่องจากเริ่มต้นทำธุรกิจ ต่อมาเมื่อกิจการเป็นที่รู้จักและติดตลาด ยอดขายก็จะเติบโตอย่างรวดเร็ว เรียกว่าอยู่ในขั้นเติบโต (growth) จนยอดขายเติบโตเต็มที่ถึงขีดจำกัดที่โตต่อไปไม่ได้แล้ว ขั้นนี้เป็นขั้นอิ่มตัวหรือคงตัว (maturity) ต่อจากนั้นยอดขายก็จะชะลอตัว (decline) เนื่องจากผู้บริโภคเบื่อหน่ายจำเจกับสินค้าเดิมๆ รวมทั้งมีคู่แข่งเกิดขึ้น เมื่อยอดขายลดลงเรื่อยๆสุดท้ายก็ต้องเลิกกิจการ (obsolete)



“เอาละ เราลองมาดูภาพนี้กัน หากเราให้แกนตั้งเป็นยอดขายกาแฟ ส่วนแกนนอนเป็นเวลา กราฟแสดงยอดขายกาแฟของร้านแม่เล็กก็คงเป็นทำนองนี้ใช่ไหม” ลุงแมวน้ำพูด “ตอนต้นขายได้น้อย เมื่อเวลาผ่านไปก็ขายได้มากขึ้น จนถึงจุดอิ่มตัว จากนั้นก็โดนแย่งตลาดไปจนยอดขายลดลง และเลิกกิจการไปในที่สุด”

“ใช่จ้ะลุง น่าจะเป็นทำนองนี้ เอ๊ะ ดูคล้ายๆกับภาพการเติบโตของมนุษย์ภาพที่แล้วเลย” ลิงจ๋อตั้งข้อสังเกต

“ใช่แล้ว ในภาพชีวิตมนุษย์นั้นเราอธิบายวงจรชีวิตมนุษย์และลัตว์ต่างๆเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ วัยชรา และหมดอายุขัย ส่วนในภาพนี้เป็นภาพของกิจการร้านกาแฟ ซึ่งมันก็เป็นทำนองเดียวกัน นั่นคือ เริ่มต้นธุรกิจ (start up) รุ่งเรือง (growth) เต็มที่ (maturity) เสื่อมถอย (decline) และเลิกกิจการ (obsolete)” ลุงแมวน้ำพูด

“อือม์” ลิงจ๋อครางพลางยกหางเกาหัวอย่างใช้ความคิด

“เอาละ ทีนี้ลุงถามอีกคำถามหนึ่ง พวกเรายังจำวิกฤตต้มยำกุ้งกันได้ไหม” ลุงแมวน้ำถาม

“ผมเกิดไม่ทันฮะลุง” กระต่ายน้อยกระดิกหูยาว พร้อมกับส่ายก้นน่าเอ็นดู

บรรดาสมาชิกส่วนใหญ่ผ่านเหตุการณ์ต้มยำกุ้งมา คงมีแต่กระต่ายน้อยเพียงตัวเดียวที่เกิดไม่ทัน

“กระต่ายน้อยเกิดไม่ทันก็ไม่เป็นไร” ลุงแมวน้ำพูด แต่สำหรับพวกเราที่ผ่านเหตุการณ์มา คงจำกันได้ว่าในยุคก่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยค่อยๆโตมาเรื่อยๆ ถ้าลุงจะย้อนไปไกลหน่อยก็ต้องบอกว่าในช่วงปี พ.ศ. 2500 ถึง พ.ศ. 2525 เศรษฐกิจของไทยค่อยๆเติบโตอย่างช้าๆ พอมาช่วงปี 2526-2530 เศรษฐกิจไทยค่อยโตด้วยอัตราเร่งที่มากขึ้น พอปี 2530 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยก็เติบโตแบบก้าวกระโดด พวกเราบางตัวอาจยังจำยุคน้าชาติมาดนักซิ่งได้ ยุคนั่นเศรษฐกิจการค้าบูมสุดๆ จนมาบูมเต็มที่เอาในปี 2537 และหลังจากนั้นปี 2540 หม้อต้มยำกุ้งก็แตกดังโพละ พวกเรานั่งเอาหางปัดยุงกันอยู่หลายปีเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ผู้คนก็ไม่มาชมละครสัตว์ และหลังจากนั้น ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นๆมา อะไรๆก็ค่อยๆดีขึ้น”

“จำได้ ยุคน้าชาตินี่พวกเรากินอิ่มหนำสำราญ พอมาถึงต้มยำกุ้งอาหารการกินของพวกเราก็เริ่มแย่ลงและแย่ลง ในที่สุดก็อดอยาก” สิงโตพูด

“หลังจากพ้นต้มยำกุ้ง พวกเราอิ่มหมีพีมันกันอยู่หลายปี พอถึงปี 2550 ก็เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ อาหารการกินของพวกเราก็เริ่มแย่ลงอีก” ม้าลายเสริมขึ้นบ้าง

ลุงแมวน้ำหยิบกระดาษอีกแผ่นออกมากาง และพูดว่า



วัฏจักรเศรษฐกิจ เป็นการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจมหภาค เริ่มจากขั้นฟื้นตัว (recovery) เศรษฐกิจจะเติบโตช้าๆ จากนั้นเศรษฐกิจจะขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็ว (expansion) จนเศรษฐกิจเฟื่องฟูสุดขีด (boom) หลังจากนั้นเศรษฐกิจก็จะโตต่อไปไม่ได้และถดถอย (recession) เมื่อเศรษฐกิจถดถอยนานเข้าก็เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (depression) หลังจากที่อยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนานวัน เศรษฐกิจก็จะค่อยๆฟื้นตัว อนึ่ง วัฎจักรเศรษฐกิจคล้ายคลึงกับวัฏจักรกิจการ แตกต่างกันตรงที่กิจการตกต่ำจนเลิกกิจการได้ แต่เศรษฐกิจตกต่ำนั้นมักไม่ถึงขั้นสังคมล่มสลาย ส่วนใหญ่มักกลับฟื้นขึ้นมาได้ เป็นวัฎจักรที่หมุนวนไปเรื่อยดุจกลางวัน-กลางคืน



“ใช่แล้ว อาหารการกินของพวกเราในยุคต่างๆสามารถสะท้อนภาพเศรษฐกิจได้ ทีนี้ลองดูนี่สิ นี่คือแผนภาพที่แสดงวงจรทางเศรษฐกิจที่มีทั้งรุ่งเรือง คงตัว ตกต่ำ และกลับฟื้น จากนั้นก็รุ่งเรืองอีก หมุนเวียนไปเช่นนี้”

“สามภาพนี้มันรูปเดียวกันนี่ฮะลุงแมวน้ำ” กระต่ายน้อยทักท้วง “แค่ลุงเปลี่ยนเหตุการณ์เท่านั้นเอง”

“จริงด้วย นี่มันภาพเดียวกัน” ลิงพูดบ้าง

“ช่างสังเกตดีมาก ทั้งสามภาพนี้เป็นกราฟทรงเดียวกัน นั่นคือ เป็นทรงระฆังคว่ำ” ลุงแมวน้ำชมเชย “และนี่แหละคือเรื่องที่ลุงแมวน้ำกำลังจะบอก

“วัฏจักรของชีวิตนั้นหากจะแบ่งเป็นวัยต่างๆ ก็พอจะแบ่งได้เป็นวัยเด็กอันเป็นวัยตั้งต้น จากนั้นก็เป็นวัยรุ่นอันเป็นวัยที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จากนั้นก็มาสู่วัยผู้ใหญ่ที่ร่างกายโตเต็มวัยแล้ว และหลังจากนั้นก็เข้าสู่วัยชราอันเป็นวัยเสื่อม และหมดอายุขัย

“ส่วนในทางธุรกิจนั้น วัฏจักรของธุรกิจก็เช่นกัน คือช่วงแรกเป็นช่วงเริ่มต้นกิจการ ยอดขายก็ก๊อกๆแก๊กๆ ต่อมาก็เข้าสู่ยุครุ่งเรือง จากนั้นก็เป็นยุคที่กิจการโตเต็มที่แล้วและคงตัว ต่อมาก็เข้าสู่ยุคที่กิจการเสื่อมถอย และเลิกกิจการไปในที่สุด

“ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้นเล่าก็เช่นกัน มียุคตั้งต้น (recovery) ยุครุ่งเรือง (expansion) ยุคที่รุ่งเรืองสุดขีด (boom) จากนั้นเศรษฐกิจก็เสื่อมถอย (recession) และมาจบที่ยุคตกต่ำ (depression)

“ทั้งวงจรชีวิต วงจรธุรกิจ และวงจรเศรษฐกิจ ต่างก็อธิบายได้ด้วยหลักเดียวกัน นั่นคือ หลักของอนิจจัง นั่นคือความไม่เที่ยง ไม่มีอะไรที่อยู่ค้ำฟ้า ชีวิตดำเนินไปเป็นวัฎจักร มีเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ แก่ชรา และตาย ธุรกิจและเศรษฐกิจก็ไม่ได้แตกต่างกันเลย ดำเนินไปเป็นวัฎจักร เปรียบได้กับการเกิด โต แก่ และตาย เช่นกัน ที่ลุงใช้ภาพเดียวกันเป็นความจงใจ เพราะทั้งสามเรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ของความไม่เที่ยงนั่นเอง”

“สาธุ นี่เรากำลังเรียนธรรมะหรือคุยเรื่องหุ้นกันแน่เนี่ย” ลิงจ๋อแซว

“ธรรมะก็คือธรรมชาติไง ลุงกำลังบอกว่าเหล่านี้คือกฎของธรรมชาตินั่นเอง” ลุงแมวน้ำพูด “กราฟทรงระฆังคว่ำนี้คือสัจธรรม คือกฎธรรมชาติ ทรงระฆังคว่ำนี้เป็นความลับของธรรมชาติที่สำคัญพอๆกับเลขฟิโบนาชชีทีเดียว เพราะระฆังคว่ำนี้แสดงถึงความไม่เที่ยง แสดงถึงวัฏจักร และแสดงถึงจังหวะ

“ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ” บรรดาสมาชิกยกหางแกว่งไกวแสดงความงุนงงกัน ยกเว้นกระต่ายน้อยที่หางสั้น จึงส่ายทั้งก้นเลย

“เอ้า ดูรูปนี้ ดูแล้วจะถึงบางอ้อ” ลุงแมวน้ำพูดพลางปยิบรูปใบสุดท้ายออกมากางให้ดูกัน


วัฏจักรชีวิต (life cycle) วัฏจักรเศรษฐกิจ (economic cycle) วัฏจักรกิจการ (business life cycle) และวัฏจักรราคาหุ้นตามทฤษฎีคลื่นอีเลียต (Elliott wave) มีความคล้ายคลึงกัน ต่างก็มีพื้นฐานมาจากกราฟทรงระฆังคว่ำ


“อ๋อ ยังงี้นี่เอง” ลิงอุทาน “โธ่ แล้วลุงก็ไม่พูดตั้งแต่แรก วกไปวนมาจนงง”

“ยังไงกันจ๊ะนายจ๋อ” ฮิปโปถาม “เธอเข้าใจแล้วหรือ”

“นี่คือคลื่นอีเลียต (Elliott wave) ไง ผู้ที่ศึกษาการวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคจะต้องรู้จักคลื่นนี้ เพราะนี่คือพฤติกรรมการขึ้นลงของราคาหุ้น” ลิงพูด จากนั้นหันมาถามลุงแมวน้ำ “ลุงจะบอกว่าวัฏจักรชีวิต วัฏจักรธุรกิจ วัฏจักรเศรษฐกิจ และการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น คือเรื่องเดียวกันทั้งหมดใช่ไหมครับ”

“ก็ทำนองนั้นแหละ” ลุงแมวน้ำตอบ “นี่คือความไม่เที่ยง มีขึ้นและลง อันเป็นกฎของธรรมชาติ ทั้งหมดนี้อยู่ในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือทรงระฆังคว่ำ และถ้าหากเรารู้ว่าเราอยู่ที่ส่วนไหนของวัฏจักร เราย่อมคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าได้”

“เหมือนกับที่เรารู้ว่าเราอยู่ในคลื่นอีเลียตลูกใด เราก็รู้ว่าเหตุการณ์ข้างหน้าราคาหุ้นจะเป็นอย่างไร ชิมิ ชิมิ” ลิงจ๋อพูดอย่างกระหยิ่มยิ้มย่อง

“โดยทฤษฎีก็น่าจะเป็นอย่างนั้น” ลุงแมวน้ำตอบ “ทรงระฆังคว่ำนี้มีความสำคัญ และเป็นพื้นฐานของความเข้าใจในอีกหลายๆเรื่อง นั่นคือ ความเข้าใจในปัจจัยมหภาคหรือปัจจัยทางเศรษฐกิจ ความเข้าใจในตัวกิจการของหุ้นนั้น และความเข้าใจในพฤติกรรมราคาหุ้นนั้น การลงทุนในหุ้นประเภทต่างๆ เช่น growth stock, cash cow stock, cyclical stock และ turnaround stock ล้วนแต่อาศัยความรู้ความเข้าใจในเรื่องวัฎจักร

“ที่ลุงคุยมาในวันนี้ พวกเราอาจมองว่าไม่ออกว่าจะเกี่ยวโยงกับเรื่องหุ้นได้อย่างไร แต่นี่รูปทรงพื้นฐาน แม้แต่คลื่นอีเลียตก็ยังอิงกับรูปทรงนี้ ซึ่งเมื่อเราคุยกันต่อไป ลุงก็จะอ้างอิงถึงรูปทรงนี้อีก ตอนนี้ยังงงๆก็ไม่เป็นไร ฟังไปเรื่อยๆก็จะค่อยๆเข้าใจ”