Monday, May 19, 2014

19/05/2014 ไม่ใช่เวลาซื้อ


วันนี้ลุงแมวน้ำขอแทรกบทความเรื่องหุ้นและกองทุนในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ ด้วยเรื่องของตลาดหุ้นไทยสักหน่อย

ตอนนี้การเมืองของไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเข้าด้ายเข้าเข็ม เปรียบเหมือนหนังก็อยู่ในช่วงไคลแมกซ์ใกล้จบเรื่องเต็มทีแล้ว แต่หลายคนอาจกำลังงงอยู่ว่าแล้วจะจบลงแบบไหน และจบลงได้อย่างไร

ในความเห็นของลุงแมวน้ำ อีกไม่นานเราก็ได้นายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็มคนใหม่แล้วล่ะ แต่หลังจากที่มีนายกฯคนใหม่แล้วเหตุการณ์คงยังไม่ราบรื่นในทันที แรงเสียดทานต่างๆในช่วงต้นน่าจะยังมีมากอยู่ ความวุ่นวายคงยังมีต่อเนื่องไปจนถึงเดือนหน้า มิถุนายน หลังจากนั้นสถานการณ์จะค่อยๆเข้าที่เข้าทางไปทีละน้อย

และก็ดังที่ลุงแมวน้ำเคยบอกเอาไว้ สำหรับภาคเศรษฐกิจจริง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก รายย่อย รายจิ๋ว ตอนนี้มีอยู่ไม่น้อยทีเดียวที่ธุรกิจฝืดเคือง ยอดขายตกต่ำ บางรายก็ขาดสภาพคล่องมากน้อยแตกต่างกันไป สำหรับเอสเอ็มอีนั้นต้องรักษาสภาพคล่องเอาไว้ให้ได้นานที่สุดเพื่อรอให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น แม้ว่าจะมีรัฐบาลใหม่ แต่การกอบกู้ภาวะเศรษฐกิจก็ต้องใช้เวลา ดังนั้น สำหรับผู้ประกอบการที่เริ่มขาดสภาพคล่อง รายจ่ายอะไรลดได้ก็ต้องลด อะไรที่เจรจาได้ก็ต้องเจรจา ที่สำคัญคือในยามยากต้องซื้อใจกัน ต้องรักษาคำพูด ต้องถือคติว่าคำพูดของเรามีค่าดุจเซ็นสัญญา เช่น ขอลดเงินเดือนลูกน้องชั่วคราว เมื่อภาวการณ์ดีขึ้น อะไรที่เคยพูดเอาไว้อย่าลืมเสีย ต้องทำตามนั้น เจรจาอะไรเอาไว้กับเจ้าหนี้การค้าต่างๆก็เช่นกัน 

และที่สำคัญคือ อย่าพึ่งเงินกู้นอกระบบ เพราะเท่ากับดื่มยาพิษดับกระหาย สุดท้ายก็ตายเหมือนกัน อันตรายมาก และนอกจากนี้ อย่าเอาเงินทำธุรกิจมาเทรดหุ้นหรือฟิวเจอร์ส เพราะคาดหวังว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่ หุ้นจะต้องขึ้นกระฉูด การกระทำเช่นนี้ก็พอกับการเอาเงินทำธุรกิจไปเข้าบ่อนหรือไปแทงม้านั่นแหละ โอกาสพลาดสูงมาก

เราลองมาดูตลาดหุ้นในช่วงต่อไปในการคาดการณ์ของลุงแมวน้ำกัน ดูที่ภาพต่อไปนี้กันก่อน


ดัชนีเซ็ตในระดับคลื่นใหญ่ (สีน้ำเงิน) และคลื่นรอง (สีม่วง) คลื่นใหญ่น่าจะอยู่ในคลื่น 3 ส่วนคลื่นรองน่าจะอยู่ในคลื่น 5


ดัชนีเซ็ตน่าจะอยู่ในคลื่นเล็ก 1 ซึ่งใกล้จบเต็มทีแล้ว อีกไม่นานก็จะจบและเข้าสู่คลื่นเล็ก 2 อันเป็นคลื่นขาลง



สองภาพนี้คือภาพดัชนีเซ็ตในสองกรอบเวลา คือในระดับคลื่นใหญ่ (ภาพบน) กับในระดับคลื่นเล็ก (ภาพถัดมา)

ดูในระดับคลื่นใหญ่กันก่อน ดูภาพบน ลุงแมวน้ำนับคลื่นและประเมินว่าในเราอยู่ในคลื่นใหญ่ 3 (ตัวเลขสีน้ำเงิน) และอยู่ในคลื่นรองคือคลื่น 5 (ตัวเลขสีม่วง)

ทีนี้ดูภาพถัดมา เป็นกรอบเวลาซูมจากภาพแรกมาดู คลื่นเล็ก 1 ในคลื่นรอง 5 (สีม่วง) นี้ดำเนินมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว คือตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2014 ถึงตอนนี้ก็เป็นขาขึ้นเป็นเดือนที่ 5 แล้วซึ่งนานแล้ว ดังนั้นดัชนีเซ็ตพร้อมปรับตัวได้ตลอดเวลา เพื่อทำคลื่นเล็ก 1-2 ตามทฤษฎีคลื่น ซึ่งคาดว่าคลื่นเล็ก 2 หรือว่าคลื่นขาลงนี้น่าจะเกิดในปลายเดือนพฤษภาคมนี้หรือต้นเดือนมิถุนายน หลังจากที่ตลาดลงจนจบคลื่นเล็ก 2 แล้วก็จะเข้าสู่คลื่นเล็ก 3 อันเป็นคลื่นขาขึ้นต่อไป

หากจะถามว่าหากการเมืองเรียบร้อย ทำไมหุ้นยังลง ก็ต้องตอบว่า ดังที่ลุงบอกว่าสถานการณ์การเมืองยังไม่เรียบร้อยไง หรืออาจจะมองว่าเป็น sell on fact ก็ได้ ดังนั้นน่าจะปรับตัวลงไปช่วงหนึ่งก่อน จากนั้นค่อยไปต่อ

ดังนั้นตอนนี้จึงยังไม่ใช่เวลาซื้อ หากช่วงนี้ตลาดขึ้นเพื่อรับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ลุงแมวน้ำคาดการณ์ว่าคงไม่เกิน 1450 จุด จากนั้นก็ต้องทำคลื่นขาลงสลับบ้าง ดังนั้นการเข้าซื้อในตอนนี้จึงเสี่ยงเพราะมีกำไรให้เก็บเกี่ยวได้ไม่มากนักในรอบนี้ เตรียมวางกลยุทธ์รับมือคลื่นเล็กขาลงไว้ดีกว่า

และหากมองข้ามข็อตไป ในคลื่นขาขึ้นลูกถัดไป มีอะไรน่าสนใจให้ลงทุนได้บ้าง

ลุงแมวน้ำลองคาดการณ์ดูเล่นๆ สมมติว่าเราได้รัฐบาลใหม่มา สิ่งที่รัฐบาลต้องรีบทำ (รีบแต่เห็นผลไม่เร็ว) นั่นคือการกอบกู้เศรษฐกิจที่ติดหล่มมานานหลายเดือน สิ่งที่รัฐบาลจะทำได้ก็คือการใช้นโยบายการคลังเป็นเครื่องมือ รีบเร่งทำงบปี 58 เร่งรัดการจ่ายเงิน และใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ

การกระตุ้นจากภาครัฐก็น่าจะเป็นการใช้จ่ายในโครงการลงทุน โครงการซ่อมสร้างต่างๆ เช่น รถไฟฟ้า การสร้างและปรับปรุงถนนหนทาง ทำฝาย ฯลฯ ซึ่งโครงการซ่อมสร้างต่างๆนี้ผู้ที่จะได้อานิสงส์ก็ได้แก่กลุ่มรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างนั่นเอง

สำหรับผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่นั้น ก็ได้แก่หุ้น ITD, STEC, CK กลุ่มนี้ลุงขอผ่านไปก่อนละกัน เนื่องจากเคยพูดถึงไปแล้ว อีกอย่างก็คือ กลุ่มนี้ลุงไม่ค่อยปลื้มนักเนื่องจากอิงการเมืองสูง อีกประการ การรับเหมาก่อสร้างเป็นธุรกิจที่ซับซ้อน ผลประกอบการค่อนข้างหวือหวา ราคาก็แกว่งแรง ตัวธุรกิจเองผลกำไรก็ผันผวนอยู่แล้ว ยังต้องบวกปัจจัยการเมืองเข้าไปอีก ถือแล้วใจคอตุ๊มๆต่อมๆ >.<

สำหรับวัสดุก่อสร้างก็ได้แก่พวกอิฐหินปูนทรายเหล็ก หุ้นรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างหลายๆหุ้นก็อาจไม่ได้อานิสงส์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ลองมาดูหุ้นบางตัวเป็นตัวอย่างละกัน


ผลิตเสาเข็มเจาะและรับเหมางานฐานราก

ผลิตปูนซีเมนต์และมีธุรกิจอื่นอีกหลายอย่าง

ผลิตเหล็กทรงกลมและขายให้โรงงานแปรรูปเหล็กนำไปแปรรูปเป็นเหล็กเส้น เหล็กข้ออ้อยอีกทอดหนึ่ง อยู่ในตลาด mai


หุ้นตัวบน เป็นหุ้นที่ผลิตเสาเข็มเจาะ บริษัทนี้มีเทคโนโลยีผลิตเข็มเจาะได้ถึงขนาดเสาเข็มสำหรับโครงการรถไฟฟ้า ดังนั้น งานตึก ตอม่อ คอสะพาน ไปจนถึงรถไฟฟ้า ล้วนแต่ต้องอาศัยเสาเข็มเจาะทั้งสิ้น ลักษณะธุรกิจเป็นการผลิตเสาเข็มและรับเหมางานด้านฐานราก รับงานช่วงมาจากผู้รับเหมาใหญ่อีกทีหนึ่ง ดังนั้นตัวธุรกิจเองไม่ต้องเผชิญคลื่นลมการเมือง ธรรมาภิบาลใช้ได้ อีกทั้งค่า P/E ยังต่ำ ในทางเทคนิคก็น่าจะอยู่ในคลื่น 1-2

หุ้นตัวกลาง ผลิตปูนซีเมนต์และธุรกิจอื่นอีกหลายอย่าง ค่า P/E ไม่สูงนัก อีกทั้งเป็นหุ้นฝรั่ง หากฝรั่งมาก็ต้องตัวนี้ ธรรมาภิบาลใช้ได้ ราคาปูนซีเมนต์ของไตรมาส 1 ปี 2014 นี้ขยับขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2013 ประมาณ 7-8% สะท้อนให้เห็นว่าน่าจะเป็นขาขึ้นของธุรกิจปูนซีเมนต์ แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจปูนซีเมนต์นี้มีอุปทาน (supply) สูง ด้านราคาอาจไปไม่ได้ไกลมากนัก คือขึ้นได้จำกัด ในทางเทคนิค ตอนนี้ยังดูไม่ดี ราคาหุ้นร่วงหลุดกรอบ SEC ลงมาแล้ว

หุ้นตัวล่าง ผลิตเหล็กกลมสำหรับขายให้โรงงานแปรรูปเหล็กอีกทีหนึ่ง โดยโรงงานแปรรูปเหล็กจะนำไปแปรรูปเป็นเหล็กข้ออ้อย เหล็กเส้น

ธุรกิจเหล็กเป็นธุรกิจขาลง ราคาลงแล้วลงอีกมาหลายปี ก็มียกเว้นหุ้นตัวนี้แหละที่เป็นหุ้นเหล็กที่กำไรได้ดี งบปี 2013 ใช้ได้เลย ทางเทคนิคอยู่ในขาขึ้น น่าจะเป็นคลื่น 3 หุ้นตัวนี้อยู่ในตลาด mai ด้วย P/E ของตลาด mai ตอนนี้ กว่า 40 เท่าเข้าไปแล้ว ดังนั้น p/e ของหุ้นตัวนี้จึงจัดว่าต่ำกว่าตลาดมาก แต่ก็มีข้อควรระวังในเรื่องภาพรวมของธุรกิจเหล็กที่ดูไม่ดี หุ้นนี้ลุงไม่มีข้อมูลเรื่องธรรมาภิบาล เพราะเป็นหุ้นที่เข้าตลาดไม่กี่ปีมานี้เอง

นี่ก็เป็นตัวอย่างหุ้นต้อนรับรัฐบาลใหม่ เน้นธีม (theme) ซ่อมสร้าง แต่นี่แค่ยกตัวอย่าง ดูๆเล็งๆเอาไว้ก็พอ เพราะตอนนี้ไม่ใช่เวลาซื้อนะคร้าบ

Monday, May 12, 2014

12/05/2014 การลงทุนหุ้นและกองทุนรวมในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ (healthcare industry) (2)





หุ้นในซับเซ็กเตอร์เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology subsector)


“โอ๊ย ลุง เล่าต่อเร็วๆ มัวแต่ดูดน้ำปั่นอยู่นั่นแหละ” ลิงบ่น

“ก็ลุงร้อนนี่นา” ลุงแมวน้ำพูด “เอาล่ะ มาคุยกันต่อ เมื่อกี้ถึงไหนล่ะ”

“ที่ว่าหุ้นกลุ่มไบโอเทคโนโลยี (biotechnology) เป็นดาวเด่นในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพไง มันดียังไง” ลิงทบทวนความเดิม

“อ้อ” ลุงแมวน้ำนึกได้ “ที่จริงลุงควรจะพูดเรื่องอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพเสียก่อน แล้วค่อยไปลงรายละเอียดในซับเซ็กเตอร์ไบโอเทค คือเล่าจากใหญ่ไปเล็ก แต่ว่าคิดว่าเล่าเรื่องไบโอเทคก่อนดีกว่า จะทำให้เราเข้าใจภาพของอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพนี้ได้ดีขึ้น

“หุ้นในกลุ่มนี้หรือว่าซับเซ็กเตอร์นี้ลุงขอเล่าแบบง่ายๆก็แล้วกันนะ จะได้ไม่ปวดหัวกัน หุ้นกลุ่มนี้ขอให้นึกถึงยาไว้ก่อน ที่จริงยังมีที่ไม่ใส่ยาด้วยแต่อย่าเพิ่งไปนึกถึง ขอให้นึกถึงภาพยาที่ผลิตด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ

“สมมติว่ากรณีโรคมะเร็งก็แล้วกัน หากเป็นมะเร็ง การรักษาสมัยก่อนก็ผ่าตัดวิธีเดียวเลย ส่วนใหญ่ก็ต้องตัดอวัยวะ แล้วยังอาจไม่หายขาดอีก ดังนั้นผู้ที่ต้องเสียอวัยวะจากการผ่าตัดมะเร็งไป คุณภาพชีวิตก็ไม่เหมือนเดิม อีกทั้งมะเร็งยังอาจลุกลามได้อีกในภายหลัง

“ต่อมาก็มีการพัฒนายารักษามะเร็งขึ้นมา ซึ่งเป็นการฉายรังสี ก็มีผลข้างเคียงอีก เพราะการฉายรังสีก็เหมือนกับการเอาไฟไปเผาเซลล์มะเร็ง แต่ทีนี้การเผาเจาะจงไม่ได้ขนาดนั้น ดังนั้นเซลล์ดีๆก็จะได้รับรังสีหรือถูกเผาไปด้วย ดังนั้นการฉายรังสีก็มีผลข้างเคียงสูงกับเนื้อเยื่อและอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียง การฉายรังสีต้องควบคุมปริมาณ ฉายมากเกินไปผู้ป่วยอาจเป็นอันตราย ฉายน้อยก็ไม่ได้ผล

“ต่อมาก็มียาทางเคมี ที่เรียกว่าเคมีบำบัดนั่นไง ยาพวกนี้ก็เจาะจงทำลายแต่เซลล์มะเร็งไม่ได้ ต้องทำลายแบบเหมา คือเซลล์ดีก็โดนไปด้วย ดังนั้นจึงจะเห็นว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดนั้นมีอาการข้างเคียงอยู่มาก เช่น อาการแพ้ ผอม น้ำหนักลด ผมร่วง และอาการอื่นๆอีก รวมแล้วก็คือสุขภาพทรุดโทรมลง ใช้ยาแรงมากก็เกรงผู้ป่วยได้รับอันตราย ใช้ไม่แรงก็รักษามะะเร็งไม่ได้ ดังนั้นการใช้เคมีบำบัดก็ลำบากอยู่

“ต่อมามีการพัฒนายาด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ คือใช้สารทางชีวภาพเอามาทำเป็นยา อย่างเช่นยารักษามะเร็ง ก็เป็นยาที่ผลิตมาจากแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันของร่างกายอันเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ยาพวกนี้จะมีคุณสมบัติแบบเดียวกับกลไกภูมิคุ้มกัน นั่นคือ มีความเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ไม่ทำลายเซลล์ดีๆ  โดยทฤษฎีแล้วการรักษามะเร็งด้วยยาไบโอเทคพวกนี้จะได้ผลดี ทำร้ายเซลล์ดีน้อยมาก ทำให้ผู้ป่วยหายขาดและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

“โห ดีจัง” ลิงอุทาน

“แต่ก็นั่นแหละ กระบวนการให้ได้มาซึ่งยาพวกนี้ต้องใช้เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง เพราะต้องหาแอนติบอดีที่มีความเจาะจงในการทำลายเซลล์มะเร็งชนิดนั้นๆที่เราศึกษา จากนั้น เมื่อได้แล้ว ก็ต้องสังเคราะห์โปรตีนนั้นออกมาให้ได้ในปริมาณสูง ทดลองในหลอดทดลอง จากนั้นทดลองในสัตว์ มีการศึกษาประสิทธิผลและพิษในระยะยาว แล้วจึงต้องผ่านกระบวนการพิจารณาทางจริยธรรมก่อนที่จะทดสอบในคนได้ ซึ่ง อย ต้องควบคุม และเมื่อทดสอบในคนแล้วก็ต้องให้ อย อนุมัติ จึงจะใช้เป็นยาได้

“ลำพังแค่การหาแอนติบอดีที่ฆ่าเซลล์มะเร็งได้แบบเจาะจงนี้ก็หน้ามืดแล้ว ต้องทุ่มทุนด้านวิจัยและพัฒนาหรือที่เรียกว่า R&D อย่างมหาศาล ไหนจะขั้นตอนต่อๆมาอีก นอกจากนี้ยังต้องไปจดสิทธิบัตรและบริหารสิทธิบัตรอีก พอเป็นยาก็ต้องทำการตลาดอีก ดังนั้น กว่าจะได้ยาแบบไบโอเทคมาสักชนิดหนึ่ง ใช้ต้องเวลาหลายปี และเงินทุน ทรัพยากรมนุษย์ และเครื่องมืออุปกรณ์มหาศาล ธุรกิจไบโอเทคนี้จึงเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ไม่เปรี้ยงก็แป้ก”

“ยังไงกันลุง ไม่เปรี้ยงก็แป้ก” ลิงจ๋อสงสัย

“กว่าที่จะได้ยามาแต่ละชนิดยากเย็นแสนเข็ญ บางทีสิบปีจึงจะพัฒนายาได้สำเร็จสักตัวหนึ่ง และขั้นการทดสอบในคนหรือที่เรียกว่าการวิจัยทางคลินิกนั้น อาจจะเกิดอะไรขึ้นบ้างก็ไม่รู้ เคยมีเหมือนกัน ที่ FDA หรือ อย. ของสหรัฐอเมริการะงับการทดลองยานั้นๆไปเลย เพราะการวิจัยทางคลินิกมีปัญหา ดังนั้น อาจต้องทำงานกินแกลบสักห้าปีหรือสิบปีเพื่อจะได้ยาสักตัวหนึ่ง แต่ยานั้นหากไม่ผ่าน อย ก็กลับไปกินแกลบต่อ แต่หากผ่าน อย และวางจำหน่ายได้ ยังต้องมีด่านการบริหารสิทธิบัตรและการทำการตลาดยาอีก ดังนั้น ยาพวกนี้หากสำเร็จจะแพงมาก เพราะต้องให้คุ้มกับการลงทุนที่ผ่านมาหลายๆปี แต่หากไม่ประสบความสำเร็จ บริษัทก็อาจต้องล้มไปเลย และพวกนี้พูดกันเป็นเงินระดับล้านดอลลาร์ ไม่ใช่หลักหมื่นหลักแสน พูดง่ายๆว่าหากสำเร็จก็เกินคุ้ม แต่โอกาสสำเร็จมีน้อย” ลุงแมวน้ำอธิบาย

“ถ้าความเสี่ยงมันสูงขนาดนั้น แล้วยังมีใครอยากทำเหรอ” ลิงจ๋อสงสัยอีก “เอาเงินไปทำอย่างอื่นไม่ดีกว่าหรือ”

“ก็อย่างที่บอก หากมาถูกทางก็มีผลกำไรมหาศาล และองค์ความรู้เดิมจะช่วยให้การพัฒนายาในซีรีส์ต่อไปง่ายขึ้นด้วย นายจ๋อถามว่าแล้วแบบนี้ใครจะอยากทำ ลุงแมวน้ำจะบอกว่า สิงคโปร์นี่แหละ อยากทำ สิงคโปร์มีวิสัยทัศน์จะสร้างความเป็นเลิศทางด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพนี้  ก็พยายามดำเนินการมาหลายปีแล้ว มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานไว้รองรับ ทำตัวเป็นฮับด้านวิจัยและพัฒนาไบโอเทคในภูมิภาคนี้  ให้บริษัทใหญ่ๆในโลกมาตั้งฐานการวิจัยและพัฒนาในสิงคโปร์ ขนเอาทุน บุคลากร และเทคโนโลยีเข้ามา ขณะที่ไทยเราไม่ได้คิดไกลแบบนั้น”

“สิงคโปร์เนี่ยนะ” ลิงจ๋อถาม

“ใช่แล้ว อุตสาหกรรมไบโอเทคของสิงคโปร์ตอนนี้มีมูลค่ามากกว่า 5% ของจีดีพีสิงคโปร์แล้ว นอกจากจะดึงต่างชาติมาตั้งฐานแล้ว สิงคโปร์ยังสร้างองค์ความรู้ของตนเอง ลงทุนซื้อตัวนักวิชาการเก่งๆระดับโลกให้มาทำงานด้วย มาสอนหนังสือ มาทำวิจัย ด้วยเงื่อนไขที่ดีมาก ก็มีคนสนใจนั่นแหละ ใครรับข้อเสนอก็เชิญมาเลย โอนสัญชาติเป็นสิงคโปร์ด้วย” ลุงแมวน้ำตอบ “เสียดายนะที่เขาไม่ลงทุนซื้อตัวแมวน้ำละครสัตว์”

“ฮุฮุฮุ ลุงก็นอนกลิ้งอยู่แถวนี้แหละ ดีแล้ว อยู่เป็นเพื่อนผม” ลิงหัวเราะ

“เอ้า มาเข้าเรื่องไบโอเทคกันต่อ ดังนั้น หุ้นกลุ่มไบโอเทคจึงผันผวนสูง ค่าเบตาสูงทีเดียว ลองดูตัวอย่างหุ้นสักตัวก็ได้ ดูนี่” ลุงแมวน้ำพูดแล้วก็ดึงกระดาษแผ่นหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย


กราฟราคาหุ้น CLDX ในรอบยี่สิบกว่าปี

เซลล์เด็กซ์ เป็นบริษัทที่กลุ่มไบโอเทคโนโลยี ผลิตยารักษาโรคมะเร็งและโรคแปลกๆที่รักษายากอีกหลายชนิดด้วยยาที่ผลิตจากภูมิคุ้มกัน (immunotherapeutics) มียาที่กำลังอยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนามากมายหลายตัว แต่ยังไม่สำเร็จจนถึงขั้นวางตลาดได้ เฉพาะในปี 2013 ค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาสูงถึง 67.4 ล้านดอลลาร์ สรอ แต่มีรายได้เข้ามาเพียง 4 ล้านดอลลาร์ และขาดทุนสุทธิ 81 ล้านดอลลาร์ ระหว่างที่ยายังไม่สำเร็จก็ต้องทนขาดทุนแบบนี้
CLDX มีมาร์เก็ตแค็ปประมาณ 1,100 ล้านดอลลาร์


“นี่ไง กราฟของบริษัทเซลล์เดกซ์ (Celldex Therapeutics, CLDX) ดูให้เห็นด้วยตา เทรดกันมาตั้งแต่สิบกว่ายันร้อยกว่า แล้วกลับลงมาต่ำสิบ ตอนนี้ก็ราคาสิบกว่าดอลลาร์ ช่วงหลังผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปีเพราะยายังอยู่ในขั้นวิจัย เข้าข่ายกินแกลบดังที่ลุงบอก”

“โห ลุง แล้วไหงลุงบอกว่ากลุ่มดูแลสุขภาพดี น่าสนใจ” ลิงจ๋อโวย

“นายจ๋ออย่าเพิ่งสับสน ลุงยกตัวอย่างหุ้นนี้ขึ้นมา เพราะกำลังจะบอกว่า หุ้นในซับเซ็กเตอร์ไบโอเทคนั้นแม้เป็นดาวเด่น แต่ก็มีความเสี่ยงสูงแฝงอยู่ ดังที่เล่ามา แต่ถ้าเข้าใจเลือกหุ้นก็พอมีหุ้นดีๆที่ปลอดภัยในซับเซ็กเตอร์ไบโอเทคให้เลือก และอีกอย่างคือ หุ้นในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพนั้นยังมีซับเซ็กเตอร์อื่นๆอีก เรายังไม่ได้พูดกันถึงกลุ่มอื่นเลยว่าน่าสนใจยังไง เรายังคุยกันเรื่องหุ้นและกองทุนในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพไม่หมดเลย เพิ่งคุยกับแค่ซับเซ็กเตอร์ไบโอเทคเท่านั้นเอง ลองดูอีกสักหุ้นก็ได้ ดูนี่”



ราคาหุ้นบริษัทกิลเลียด ไซเอนซ์ จากปี 2000-2013 เวลา 13 ปีราคาหุ้นขึ้นไปราว 40 เท่า บริษัทนี้ผลิตยาไบโอเทคหลายชนิด ถึงขั้นวางจำหน่ายได้แล้ว มีทั้งยารักษาโรคเอดส์ ยารักษาโรคตับ และอื่นๆ
GILD มีมาร์เก็ตแค็ปประมาณ 122,000 ล้านดอลลาร์ (หนึ่งแสนสองหมื่นสองพันล้าน) ปี 2013 มีรายได้ 11,200 ล้านดอลลาร์ มีค่าใช้จ่ายด้านค่าวิจัยและพัฒนาถึง 2,100 ล้านดอลลาร์ และมีกำไรสุทธิประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์ 


“นี่แหละ ไม่เปรี้ยงก็แป้ก รายนี้เปรี้ยงเลย” ลุงแมวน้ำพูด

“และอีกอย่างหนึ่งก็คือ หุ้นไบโอเทคโนโลยีนั้น หากเป็นบริษัทระดับพันล้านดอลลาร์ ก็ยังถือว่าเป็นบริษัทเล็ก และมีสายป่านสั้น ความอยู่รอดทางธุรกิจจึงยังเป็นปัญหา แต่บริษัทเล็กพวกนี้มักมีของดีอยู่ คือมีผลงานวิจัยหรือว่าสิทธิบัตรดีๆอยู่ในมือ พูดง่ายๆก็คือเทคโนโลยีเด่นแต่ว่าสายป่านอาจสั้นไปสักนิด บริษัทเหล่านี้จึงมักเป็นเป้าหมายในการเทคโอเวอร์ของบริษัทใหญ่ๆ ทีนี้หุ้นในซับเซ็กเตอร์นี้ก็สนุกสนานกันละ ยกตัวอย่างเซลล์เด็กซ์นี่ไง ขาดทุนหลายปีติดต่อกัน แต่หุ้นยังวิ่งแรง เพราะว่ายิ่งขาดทุนยิ่งแปลว่ามีโอกาสถูกเทคโอเวอร์สูง เก็งกำไรกันสนุกไปเลย”

“อ้อ ยังงี้นี่เอง” ลิงจ๋อได้คิด “ยังงั้นเล่าต่อเลยลุง”

“เดี๋ยว คอแห้งอีกแล้ว เดี๋ยวหาน้ำปั่นสักแก้วก่อน” ลุงแมวน้ำตอบ