Saturday, June 9, 2012

เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ ทำโยเกิร์ตโพรไบโอติกสูตร (เกือบ) เจกินเองกันดีกว่า (ตอนที่ 2)









ภาพโยเกิร์ตที่ผสมโพรไบโอติกส์



วันหยุดในสัปดาห์ก่อนเราคุยกันด้วยเรื่องการทำโยเกิร์ตกินเอง เป็นสูตรโพรไบโอติก และเป็นสูตร (เกือบ) เจไปด้วยในตัวพร้อมๆกัน แต่ก็ยังไม่ทันได้ทำโยเกิร์ต สุดสัปดาห์นี้เรามาคุยกันต่อ

อ้อ ก่อนที่จะไปต่อ หากใครลืมเนื้อหาของตอนแรกก็แวะไปอ่านตอนแรกกันก่อน ที่ เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ ทำโยเกิร์ตโพรไบโอติกสูตร (เกือบ) เจกินเองกันดีกว่า (ตอนที่ 1) จะได้ไม่งง

นมเปรี้ยวหรือว่าโยเกิร์ตนั้นเกิดจากการที่แบคทีเรียในกลุ่มที่ให้กรดแลกติก (lactic acid bacteria) เจริญเติบโตอยู่ในน้ำนม การหลั่งกรดของแบคทีเรียทำให้โปรตีนในนมเปลี่ยนสภาพไป กลายเป็นมีความแข็งนิดหน่อยคล้ายเนื้อเต้าหู้อ่อนหรือว่าเต้าฮวย เรียกว่าเกิดเคิร์ดกรด (acid curd) การเอาโยเกิร์ตมาทำเป็นอาหารเป็นการค้นพบโดยบังเอิญของมนุษย์ เดิมทีคนต้นคิดคงจะนึกว่านมเสีย แต่เนื่องจากไม่มีกลิ่นบูดเน่า อีกทั้งยังมีกลิ่นกรดเปรี้ยวอ่อนๆ รสชาติก็เปรี้ยวๆนิดหน่อย ดูน่ากินอยู่เหมือนกัน จึงลองเอามากินดู แต่ลุงแมวน้ำคิดว่าคนต้นคิดเอาโยเกิร์ตมาเป็นอาหารคงเสียดายนม ไม่อยากทิ้งมากกว่า งกน่ะ ^__^ จึงพยายามกินดู ปรากฏว่าเข้าท่าก็เลยกลายเป็นอาหารในเวลาต่อมา

จุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดนมเปรี้ยวในธรรมชาตินั้นเป็นจุลินทรีย์ผสม คือเกิดจากเชื้อแบคทีเรียมากมายหลายชนิด แต่ในปัจจุบัน ด้วยกระบวนการผลิตโยเกิร์ตทางอุตสาหกรรม จุลินทรีย์ที่นิยมใช้ผลิตในอุตสาหกรรมโยเกิร์ตมักเป็น แลกโตแบซิลลัส บัลแกริคัส (Lactobacillus bulgaricus) กับ สเตรปโตคอกคัส เทอร์โมฟิลลัส (Streptococcus thermophillus) เพียงสองชนิด

ประโยชน์หลักของโยเกิร์ตที่มีมากกว่านมสดธรรมดาก็มีอยู่ 3 ประการ คือ

ประการแรก ช่วยลดความเสี่ยงจากอาการท้องเสีย กลไกหลักที่โยเกิร์ตสามารถช่วยป้องกันการเกิดท้องเสียหรือช่วยบรรเทาอาการท้องเสียได้ก็อาศัยหลักการง่ายๆ คือพวกมากลากไปนั่นเอง หมายความว่าในกรณีที่เราเกิดอาการท้องเสียเนื่องจากรับเชื้อโรคที่ทำให้ท้องเสียลงไป เชื้อโรคท้องเสียจะไปเจริญและขยายพันธุ์ในลำไส้และทำให้เราท้องเสีย การกินโยเกิร์ตลงไปเท่ากับไปเติมเชื้อเจ้าถิ่นเข้าไปในลำไส้ ซึ่งหากมีปริมาณมากพอก็พอจะข่มผู้รุกรานได้ แต่หากไม่มากพอหรือผู้รุกรานแข็งแรงมากก็ช่วยไม่ไหว รวมทั้งหากท้องเสียจากกรณีอื่น เช่น ได้รับสารพิษ โยเกิร์ตก็ช่วยไม่ได้ ดังนั้นประโยชน์กว้างๆของโยเกิร์ตก็คือช่วยลดความเสี่ยงจากท้องเสียนั่นเอง คงไม่สามารถไปชี้ชัดได้ว่าใช้บำบัดอาการท้องเสีย

ประการที่สอง ช่วยลดอาการท้องเสียจากการแพ้น้ำตาลแลกโตสในนมวัว สำหรับประโยชน์ข้อนี้ก็เนื่องจากว่าในนมวัวมีน้ำตาลอยู่ชนิดหนึ่ง คือน้ำตาลแลกโตส (lactose) ซึ่งผู้ที่แพ้น้ำตาลตัวนี้หากกินนมวัวเข้าไปจะทำให้ท้องเสียได้ การกินโยเกิร์ตจะช่วยลดอาการท้องเสียจากน้ำตาลตัวนี้ได้ก็เพราะจุลินทรีย์โยเกิร์ตแย่งกินน้ำตาลตัวนี้ไปมากแล้วนั่นเอง คงมีน้ำตาลแลกโตสเหลือในโยเกิร์ตพียงเล็กน้อย ทำให้อาการแพ้น้อยลงได้

ประโยชน์ประการที่สาม คือ ช่วยเสริมกลไกภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีการวิจัยในห้องทดลอง โดยเลี้ยงหนูที่ไม่มีจุลินทรีย์ประจำถิ่นใดๆอยู่ในลำไส้เลย เปรียบเทียบกับหนูที่มีแบคทีเรียอยู่ในลำไส้ ปรากฏว่าหนูชนิดแรกที่ไม่มีแบคทีเรียในลำไส้เลยมีระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่ค่อยดีนัก สันนิษฐานกันว่าจุลินทรีย์คงผลิตสารและไวตามินที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย จึงเสริมภูมิคุ้มกันได้ จากผลการวิจัยในห้องทดลองดังกล่าวทำให้เชื่อว่าการกินโยเกิร์ตเท่ากับการเติมจุลินทรีย์ประจำถิ่นลงไป ก็น่าจะได้ประโยชน์ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันได้บ้าง

ที่ลุงแมวน้ำเล่ามานั้นก็คือประโยชน์ของโยเกิร์ตหรือนมเปรี้ยวโดยทั่วๆไป ส่วนคำว่าโพรไบโอติกส์ (probiotics) นั้นเป็นคำที่เกิดมาทีหลัง ซึ่งเรื่องการตลาดน่าจะเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้อง ลองคิดดูว่าในการผลิตโยเกิร์ตเป็นอุตสาหกรรม หากทุกรายผลิตแล้วเหมือนกันหมด แต่ละรายคงหนักใจว่าแล้วจะขายแข่งกับรายอื่นๆได้อย่างไร อย่ากระนั้นเลย ตามหลักการตลาด ผลิตภัณฑ์ที่ขายได้และขายดีกว่าคู่แข่งต้องมีความแตกต่าง

และนั่นเอง การวิจัยและพัฒนาเชื้อจุลินทรีย์สายพันธุ์เฉพาะต่างๆจึงเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งก็เป็นวิทยาศาสตร์นั่นแหละ คือนักวิทยาศาสตร์อยากรู้ก็เลยทำวิจัยโน่นนี่ไปเรื่อย แต่ส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากการตลาด คือต้องการสร้างจุดขาย ผลก็คือมีจุลินทรีย์สายพันธุ์เฉพาะต่างๆที่มีงานวิจัยสนับสนุนว่าอาจมีประโยชน์หรือสรรพคุณพิเศษขึ้นมา เช่น ช่วยป้องกันหวัด ช่วยป้องกันโรคกระเพาะ ฯลฯ แต่สรรพคุณพิเศษที่เพิ่มเติมมีจากประโยชน์หลัก 3 ข้อที่ลุงแมวน้ำเล่ามาข้างต้นนั้นยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน พวกจุลินทรีย์สายพันธุ์เฉพาะเหล่านี้ก็คือพวกโพรไบโอติกส์นั่นเอง ตัวอย่างของพวกโพรไบโอติกส์ก็เช่น แลกโตแบซิลลัส คาเซอิ (L. casei) แลกโตแบซิลลัส พาราคาเซอิ (L. paracasei) แลกโตแบซิลลัส แอซิโดฟัลลัส (L. acidophillus) บิฟิโดแบกทีเรียม แอนิมาลิส (Bifidobacterium animalis) ฯลฯ

สรุปก็คือประโยชน์ของจุลินทรีย์โยเกิร์ตธรรมดาๆ (คือ Lactobacillus bulgaricus กับ Streptococcus thermophillus) กับจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ หากพิจารณาในแง่ประโยชน์หลัก 3 ข้อที่กล่าวมา ก็ให้ประโยชน์ได้เหมือนกัน แต่หากพูดถึงประโยชน์พิเศษอื่นๆก็ยังไม่มีงานวิจัยที่ทำในมุษย์ยืนยันได้อย่างชัดเจนในปัจจุบัน ในต่างประเทศเคยมีคดีฟ้องร้องผู้ผลิตโยเกิร์ตกันมาแล้วเพราะไปกล่าวอ้างว่าจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์มีสรรพคุณเหนือกว่าจุลินทรีย์โยเกิร์ตธรรมดาโดยที่ไม่สามารถพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้

นอกจากนี้ จุลินทรีย์พวกโพรไบโอติกส์นี้ปัจจุบันยังใช้เป็นอาหารเสริมในสัตว์ด้วย วัตถุประสงค์เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ทำให้สัตว์แข็งแรงขึ้นและให้ผลผลิตที่ดีขึ้น

เอาล่ะ เมื่อเราเข้าใจเกี่ยวกับโยเกิร์ตและจุลินทรีย์โยเกิร์ต รวมทั้งโพรไบโอติกส์แล้ว ทีนี้เรามาดูกันก่อนว่าโยเกิร์ตที่วางขายตามตู้เย็นนั้นมีโยเกิร์ตอะไรกันบ้าง

แบบแรกคือโยเกิร์ตธรรมดา มักหมักด้วยเชื้อ 2 ชนิด คือ L. bulgaricus กับ S. thermophillus สองเชื้อผสมกัน

แบบที่สอง โยเกิร์ตโพรไบโอติกส์แบบจุลินทรีย์ 3 ชนิด นั่นคือ แบคทีเรียโยเกิร์ตพื้นฐาน (L. bulgaricus กับ S. thermophillus) กับโพรไบโอติกส์อีกชนิดหนึ่ง เช่น L. paracasei เป็นต้น ผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตแบบถ้วยที่วางขายในเมืองไทย หากผสมโพรไบโอติกส์เข้าไปด้วย เท่าที่ลุงแมวน้ำเห็นจะเป็นแบบ 3 ชนิดทั้งนั้น

แบบที่สาม โยเกิร์ตโพรไบโอติกส์แบบจุลินทรีย์ 4 ชนิด หรือมากกว่า 4 ชนิด นั่นคือ แบคทีเรียโยเกิร์ตพื้นฐาน กับโพรไบโอติกส์อีก 2 ชนิดหรือมากกว่า 2 ชนิด ในต่างประเทศมีวางขาย แต่ลุงแมวน้ำไม่เคยเห็นในบ้านเรา

แบบที่สี่ โยเกิร์ตแบบหมักด้วยโพรไบโอติกส์เพียงชนิดเดียว เช่น หมัก L. paracasei ชนิดเดียวโดดๆไปเลย เท่าที่ลุงแมวน้ำเห็นจะเป็นโยเกิร์ตแบบดื่ม (drinking yogurt)

โดยหลักการแล้ว เชื้อหลายชนิดยิ่งดีเพราะจะทำให้มีความหลากหลายใกล้เคียงกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น แต่ก็เพิ่มต้นทุนการผลิต

ขั้นตอนการทำโยเกิร์ตคงต้องขอไปต่อในสัปดาห์หน้าแล้วล่ะ อย่าหาว่าลุงแมวน้ำเม้มไม่ยอมเล่าเลย แต่ที่ต้องไปต่อครั้งหน้าเพราะทำไม่ทัน ลุงแมวน้ำจิ้มมาตั้งแต่เช้าแล้ว ตอนบ่ายมีงานแสดง ต้องขอตัวไปแสดงก่อน ^__^

Friday, June 8, 2012

07/06/2012 * ตื่นทองอีกแล้ว เลือกลงทุนทองคำอะไรดี (2)


การลงทุนและค่าเงิน 08/06/2012 (รายงานวันเทรดที่ 07/06/2012)



วันที่ 07/06/2012 นี้เป็นวันที่ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนพอสมควรทีเดียว

ตลาดหุ้นย่านเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่จะขึ้นแรงในช่วงเช้า จากข่าวจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ย จากนั้นอ่อนตัวในตอนบ่าย ยกเว้นตลาดหุ้นอินเดียที่เปิดอ่อนแต่มาดีขึ้นบ้างในตอนบ่าย ตลาดหุ้นไทยแรงแล้วมาอ่อน SET index ไปสูงสุดถึง 1134.61 จุดแต่มาปิดที่ 1118.53 จุด (+0.05)%

ตลาดฝั่งยุโรปก็รีบาวด์แรงแล้วมาอ่อนเช่นกัน ตลาดหุ้นกรีซกกับสวีเดน +3% ไม่ค่อยอ่อน ส่วน DAX ของเยอรมนีปิด +0.8%

ตลาดหุ้นฝั่งอเมริกาก็รีบาวด์แรง ด้านบราซิลดัชนีโบเวสปา (Bovespa Index) +3.2% ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (DJI) ของสหรัฐอเมริกาแรงแล้วมาอ่อนท้ายตลาด +0.4% น่าจะเป็นเนื่องจากเบอร์นันกี ประธานเฟดที่มีฉายาเฮลิคอปเตอร์เบน อันหมายถึงขนเงินขึ้น ฮ. แล้วโปรยลงมา ก็ไม่ได้ทำแบบนั้นจริงๆหรอกเพียงแต่ว่าชอบออกมาตรการ QE ไง ก็เหมือนกับการขนเงินออกมาแจกนั่นเอง คุณเบอร์นันกี พูดเมื่อตอนกลางคืน (เวลาบ้านเรา) ว่าตอนนี้ยังไม่มี QE3 เท่านั้นเอง ตลาดหุ้นกับราคาทองคำก็ร่วง

ทางด้านค่าเงิน วันที่ 07/06/2012 เงินดอลลาร์ สรอ แกว่งตัวขึ้นลงในระหว่างวัน ดัชนีดอลลาร์ สรอ (USD Index) ปรับตัวในกรอบ 82.0 จุดถึง 82.4 จุด เงินสกุลยุโรปอ่อนค่าเพียงเล็กน้อยเนื่องจากเงินดอลลาร์ สรอ เปลี่ยนแปลงไม่มาก เงินยูโรกับฟรังก์สวิส -0.1%

ทางด้านเงินเอเชียแปซิฟิกอ่อนค่าเล็กน้อยเช่นกัน เงินดอลลาร์ออสเตรเลีย -0.2% เงินดอลลาร์สิงคโปร์ -0.2% ส่วนเงินบาท -0.8% เงินเยนอ่อนค่า -0.5%

ทางด้านตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เมื่อวันที่ กลุ่มน้ำมันดิบผันผวนขึ้นลงค่อนข้างแรง wti ขึ้นไปถึง 87 ดอลลาร์ สรด/บาเรล แต่ท้ายที่สุดปิดประมาณ 84 ดอลลาร์ สรอ/บาเรล -1.3% และน้ำมันดิบเบรนต์ขึ้นไปถึง 102.2 ดอลลาร์ สรอ/บาเรล สุดท้ายปิดที่ 99.2 ดอลลาร์ สรอ/บาเรล (-1.4%) ด้านทองคำไม่แกว่ง ร่วงอย่างเดียว สิ้นคำเบอร์นันกีก็ไหลจาก 1630 มาที่ 1580 ดอลลาร์ สรอ/ทรอยออนซ์ (-2.6%)

ทางด้านโลหะเงิน -3.2% ทองแดง -0.7% สินค้าเกษตรวันนี้รีบาวด์แรง ดัชนีสินค้าเกษตร 74.68 จุด (+2.1%)

เช้านี้ (08/06/2012) ดัชนีดอลลาร์ สรอ (USD index) อยู่ที่ 82.2 จุด เท่าเมื่อวานเช้าเลย เงินยูโร 1.257 ดอลลาร์ สรอ/ยูโร เงินเยน 79.66 เยน/ดอลลาร์ สรอ เงินบาท 31.63 บาท/ดอลลาร์ สรอ

น้ำมันดิบ wti 83.7 ดอลลาร์ สรอ/บาเรล น้ำมันดิบเบรนต์ 99.2 ดอลลาร์ สรอ/บาเรล ทองคำ 1590 ดอลลาร์ สรอ/ทรอยออนซ์



ตื่นทองอีกแล้ว เลือกลงทุนทองคำอะไรดี (2)



ลุงแมวน้ำติดค้างบทความเอาไว้นานแล้ว เขียนเอาไว้แล้วยังไม่จบ แล้วก็ไม่ได้มาต่อให้จบเสียที นั่นคือเรื่องเกี่ยวกับราคาทองคำและการลงทุนทองคำ บทความ เลือกลงทุนทองคำอะไรดี (1) อยู่วันที่ 02/03/2012 โน่นแน่ะ เมื่อวานก็เขียนเรื่องนับคลื่นทองเพื่อทบทวนสภาวการณ์ของทองคำในขณะนี้ ส่วนวันนี้มาคุยเรื่องการลงทุนทองคำกับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนกันให้จบ

ลองดูภาพต่อไปนี้


ราคาของทองคำมักสวนทางกับดอลลาร์ สรอ ภาพนี้แสดงราคาทองคำในช่องทางการลงทุนต่างๆ (เช่น ลงทุนฟิวเจอร์สทองคำ ลงทุนกองทุนทองคำ ลงทุนอีทีเอฟทองคำ ฯลฯ) ในขณะที่ดอลลาร์อ่อนตัว


ดังที่ลุงแมวน้ำเคยคุยให้ฟังไปแล้วว่าราคาทองคำมักสวนทางกับค่าเงินดอลลาร์ สหรัฐอเมริกา หรือที่ลุงแมวน้ำเรียกย่อๆว่า ดอลลาร์ สรอ กล่าวคือ หากทองคำขึ้น เงินดอลลาร์ สรอ มักอ่อน และหากทองคำลง ดอลลาร์ สรอ ก็มักแข็งค่า ทีนี้การลงทุนทองคำมักอ้างอิงราคาซื้อขายในสกุลเงินดอลลาร์ สรอ เสมอ จากนั้นจึงแปลงเป็นสกุลเงินท้องถิ่นอีกทีหนึ่ง ดังนั้นจะมีกรณีที่เกิดขึ้นได้ดังนี้

กรณีราคาทองคำขึ้น เงินดอลลาร์ สรอ มักอ่อนค่า ผลคือเงินสกุลท้องถิ่นมักแข็งค่าขึ้น อย่างเช่นเงินบาท เมื่อทองคำแพง ดอลลาร์ สรอ อ่อน เงินบาทแข็ง ผลก็คือราคาทองคำที่เป็นเงินบาทขึ้นไม่ค่อยมากนัก เพราะผลจากเงินบาทแข็ง

กรณีราคาทองคำลง เงินดอลลาร์ สรอ มักแข็งค่า ผลก็คือเงินสกุลท้องถิ่นมักอ่อนค่า หากเป็นเงินบาท เมื่อทองคำปรับตัวลง ผลก็คือราคาทองคำที่เป็นเงินบาทจะยิ่งร่วงมากขึ้นเพราะผลจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทอ่อนค่า

จากภาพข้างบน เป็นการเปรียบเทียบราคาทองคำในช่องทางการลงทุนต่างๆกันบนกราฟค่าเงินดอลลาร์ สรอ หมายเลข 1 คือตอนที่ดอลลาร์ สรอ แข็งค่า (USD Index = 81.79) หมายเลข 2 คือตอนที่ดอลลาร์ สรอ อ่อนค่า (USD Index= 78.30)

ดังนั้นสรุปก็คือ

ราคาทองคำขึ้น (สกุลเงินดอลลาร์ สรอ) -> ราคาทองคำสกุลเงินท้องถิ่นก็ขึ้นแต่ว่าขึ้นน้อยกว่า -> กำไรแต่ว่าได้น้อย

ราคาทองคำลง (สกุลเงินดอลลาร์ สรอ) -> ราคาทองคำสกุลเงินท้องถิ่นก็ลงแต่ว่าลงมากกว่า -> ขาดทุนมากขึ้น

ดังนั้นหนทางป้องกันผลกำไรไม่ให้หดหายไปจากผลของอัตราแลกเปลี่ยนก็คือควรป้องกันความเสี่ยงของค่าเงินเอาไว้ โดยปกติแล้วราคาทองคำที่เป็นอีทีเอฟ (ETF) กับราคาอนุพันธ์ทองคำ (gold futures) ใช้กลไกธรรมชาติ คือรับรู้ผลจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ส่วนกองทุนทองคำนั้นบางกองทุนมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ ซึ่งอาจป้องกันบางส่วนหรือเต็มจำนวนก็แล้วแต่นโยบายของกองทุนอีก ต้องศึกษาให้ดีก่อนลงทุน

ดังนั้นในกรณีลงทุนทองคำ หากลงทุนในกองทุนทองคำที่ป้องกันอัตราแลกเปลี่ยนไว้เต็มที่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี เพราะว่าเวลาได้กำไรก็กำไรเต็มที่โดยไม่มีผลจากอัตราแลกเปลี่ยนมาฉุด ส่วนเวลาขาดทุนก็เจ็บน้อยลงเพราะไม่มีผลของอัตราแลกเปลี่ยนมาซ้ำเติม


ตารางแสดงตัวอย่างเปรียบเทียบการลงทุนทองคำในภาวะดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเป็นแนวโน้มขาลง โดยเปรียบเทียบกับการลงทุนทองคำที่มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเงินกับการลงทุนทองคำที่ไม่มีการป้องกันความเสี่ยง ภายในช่วงเวลาเดียวกัน




ปัจจุบันกองทุนรวมทองคำในบ้านเรา กลุ่มกองทุนทองคำที่ป้องกันอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวนมีอยู่ 4+1 กอง ก็ 5 กองนั่นแหละ คือ ASP-GOLD, K-GOLD, TMBGOLD, SCBGOLDH และ TGoldBullion-H โดยสี่กองแรกกองทุนแม่ (master fund) เป็น ETF ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ ซึ่งช่วงต้นปีที่ผ่านมามีปัญหาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กัน นั่นคือ อีทีเอฟทองคำที่เป็นกองทุนแม่ในตลาดหุ้นสิงคโปร์นี้มีสภาพคล่องค่อนข้างน้อย ทำให้มีการลากราคาปิดให้ขึ้นหรือลงผิดปกติได้ ซึ่งนักลงทุนไทยไม่ค่อยชอบใจนักเพราะคิดว่าทำให้รายย่อยเสียเปรียบ ส่วนกองทุนหลังสุด TGoldBullion-H เป็นกองทุนทองคำที่ซื้อทองคำจริงเก็บไว้ที่ฮ่องกงและลงทุนเป็นเงินดอลลาร์ฮ่องกง ยังไม่พบว่ามีปัญหาเรื่องราคาแบบที่สิงคโปร์

ส่วนกองทุนทองคำอื่นๆที่นอกเหนือจากนี้ก็มีทั้งที่ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วน และไม่ป้องกันความเสี่ยงเลย

เอาละ  จบแล้ว หวังว่าข้อมูลเหล่านี้คงช่วยในการพิจารณาของเพื่อนนักลงทุนได้พอสมควร แต่อย่าลืมและอย่าลืม ลุงแมวน้ำยังมองราคาทองคำเป็นแนวโน้มขาลงอยู่ บทความวันนี้ไม่ได้เชียร์ให้ลงทุนทองคำหรือเชียร์กองทุนทองคำใดเป็นการเฉพาะนะคร้าบ ^__^


อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลสำคัญ เมื่อ 07/06/2012




ดัชนีตลาดหุ้นสำคัญในโลก เมื่อ 07/06/2012