Tuesday, July 2, 2013

02/07/2013 * แบบนี้ขึ้นหรือลงกันแน่ จะเชื่อกราฟไหนดี


ดัชนีเซ็ต อีกไม่นานน่าจะย่อ หากตลาดเป็นขาขึ้นเราจะเห็นรูปแบบดัชนีซิกแซกขึ้น โดยจุดต่ำสุดยกสูงขึ้น

สัปดาห์นี้ลุงแมวน้ำยังทำสรุปในรอบเดือนมิถุนายนไม่เสร็จเลย ไม่ค่อยมีเวลาป้อนข้อมูล ลุงแมวน้ำไม่ได้ขี้เกียจนะคร้าบ แต่ว่าพักผ่อนเยอะนิดนึง ^_^

เมื่อปลายเดือนที่แล้วตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ก็รีบบาวด์ขึ้นมา ตลาดหุ้นไทยกับอเมริกาก็ขึ้นด้วย หุ้นไทยขึ้นแรงติดต่อกันหลายวัน แม้ในวันนี้ ช่วงเช้าที่ลุงแมวน้ำจิ้มแป้นพิมพ์อยู่นี้ ตลาดหุ้นก็ขึ้นได้อีก 20 จุด

แต่ใจเย็นๆนะคร้าบ ไม่ต้องไล่ สัญญาณซื้อของ SET index ยังต้องรอไปอีก อีกประการ ขึ้นติดต่อกันหลายวันก็ต้องมีปรับลงมาบ้าง การย่อตัวของดัชนีเป็นเรื่องดี ทำให้เราเห็นรูปแบบทางเทคนิคได้ชัดขึ้นว่าเป็นแนวโน้มขาขึ้นหรือขาลง หากเป็นขาขึ้น รูปแบบการย่อตัวจะเป็นการซิกแซกขึ้น คือจุดต่ำสุดจะยกขึ้นสูงไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นขาลง การย่อจะเกิดรูปแบบซิกแซกลง คือจุดสูงสุดต่ำลงเรื่อยๆ อีกประการ การย่อตัวทำให้ค่าความผันผวนลดลง เทรดแล้วไม่เหนื่อยมาก ดังนั้นการนั้นการย่อเป็นเรื่องดี

ดูอย่างตลาดหุ้นญี่ปุ่นสิ ขึ้นแรงมาก ม้วนเดียวขึ้นไปหลายพันจุด แบบนี้ตอนลงจะไม่ย่อแล้ว จะย่นลงมาเลย ก็ดังที่เห็นในช่วงเดือนที่แล้ว หากขึ้นแรงแบบม้วนเดียวนี่ไม่น่าเทรด เพราะว่าความผันผวนสูง เทรดแล้วเหนื่อย เพราะโอกาสขาดทุนสูง

ดังนั้นลุงแมวน้ำว่าหุ้นไทยไม่ต้องไล่หรอก ใจเย็นๆ หากตัวไหนสัญญาณซื้อมาก็ว่ากันไป แต่หากสัญญาณซื้อยังไม่มา ก็ไม่จำเป็นต้องใจร้อน


รูปแบบกราฟราคายางพาราสองตลาดแตกต่างกัน แนวโน้มระยะสั้นไปตรงข้ามกันเลย ทั้งที่เป็นยางผลิตภัณฑ์เดียวกัน สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากเงินเยน-บาท อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมาก

รูปที่ลุงแมวน้ำนำมาให้ดูในวันนี้เป็นยางพารา รูปบนกราฟของราคายางโตคอมหรือยางพาราตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเทรดกันเป็นเงินเยน

ส่วนรูปล่างเป็นกราฟของราคายางพาราตลาดไทย ซึ่งเทรดกันเป็นเงินบาท

ทั้งสองรูปนี้ลุงจับภาพมาในช่วงเวลาเดียวกัน สามารถดูเทียบกันได้ อีกทั้งยางพาราของสองตลาดนี้เป็นผลิตภัณฑ์เดียวกัน แต่จะสังเกตเห็นว่ารูปแบบของกราฟตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมามีรูปทรงกราฟที่ไม่ค่อยเหมือนกันนัก ยางเดียวกันแต่ทำไมกราฟราคาจึงไม่ล้อตามกัน แต่แตกต่างกันได้ขนาดนี้

คำตอบก็คือปัจจัยของค่าเงินหรือว่าอัตราแลกเปลี่ยนนั่นเอง เพราะว่าช่วงนี้ทั้งเงินบาทและเงินเยนผันผวน โดยเฉพาะเงินเยนผันผวนหนัก

ลองมาดูกราฟยางโตคอมกันก่อน จะเห็นว่าในช่วงเดือนมิถุนายน กราฟราคายางโตคอมเป็นขาลงเห็นได้ชัด ส่วนยางตลาดไทย ราคายางพาราในช่วงกลางเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา กลับก่อตัวเป็นรูปแบบขาขึ้น เพราะมีการซิกแซกที่จุดต่ำสุดยกสูงขึ้น

กรณีแบบนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก นานๆจะเห็นความแตกต่างเยอะๆแบบนี้สักที ส่วนรูปแบบราคาทองคำโคเม็กซ์กับทองไทยนั้นต่างกันบ้างแต่ไม่มาก เพราะว่าความผันผวนระหว่างเงินบาทกับดอลลาร์ สรอ ไม่รุนแรง เท่ากับคู่เยน/บาท

รูปแบบนี้หาดูได้ยาก นานๆจะเห็นสักที แต่ก็เทรดยากด้วย เพราะไม่รู้ว่าจะเชื่อกราฟไหน ตามกราฟยางญี่ปุ่นดีหรือกราฟยางไทยดี

ในความเห็นของลุงแมวน้ำ กรณีนี้ควรดูยางโตคอมเป็นหลัก เพราะว่าราคายางไทยตามยางตลาดญี่ปุ่น ไม่ใช่ญี่ปุ่นตามไทย ดังนั้นควรดูราคาโตคอมเป็นหลักในช่วงที่ค่าเงินผันผวนมาก แต่หากค่าเงินนิ่งๆแล้วก็ดูกราฟยางไทยได้ ไม่มีปัญหาอะไร


รูปแบบกราฟราคาฟิวเจอร์สทองคำตลาดอเมริกา กับฟิวเจอร์สทองคำไทย แม้ว่าทองคำสองตลาดนี้เป็นคนละผลิตภัณฑ์กัน เพราะว่าเนื้อทองไม่เท่ากัน แต่ว่ารูปแบบราคาล้อกันไป ไม่แตกต่างกันนัก ทั้งนี้เพราะอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์ สรอ บาท ไม่ผันผวนมากนัก


และสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ กราฟยางไทยนั้นแม้ว่าตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. เป็นต้นมาจะซิกแซกขึ้น อันเป็นรูปแบบขาขึ้น แต่ถ้าเราดูในภาพที่ใหญ่ขึ้น จะเห็นว่าส่วนย่อยที่เรามองว่าเป็นขาขึ้นนั้นอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมชายธงอีกทีหนึ่ง ดังนั้นต้องระวังเอาไว้ ราคายางญี่ปุ่นยังเป็นขาลงอยู่ ส่วนยางไทยก็เข้าสู่ปลายสามเหลี่ยมชายธง ยังไม่ใช่ขาขึ้นจริงๆ ดังนั้นต้องระวังคร้าบ






No comments: