Tuesday, September 15, 2015

จีนบนเส้นทางการปฏิรูปเศรษฐกิจ ติดหล่มหรือตั้งหลัก (3)




การก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติที่ปักกิ่ง โอลิมปิกที่ปักกิ่งส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงนั้นอย่างมาก


ผลจากการเร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในยุคหลังปี 2000 ประกอบกับการลงทุนเพื่อเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่ปักกิ่งในปี 2008 ที่มีการเร่งก่อสร้างกันในช่วงปี 2005-2007 ทำให้เศรษฐกิจจีนในช่วงปี 2005-2007 เติบโตอย่างร้อนแรง มีการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆเป็นนำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพวกสินแร่ (เหล็ก ทองแดง ฯลฯ) เชื้อเพลิง (ถ่านหิน น้ำมันดิบ ฯลฯ) สินค้าเกษตร ผลจากการบริโภคอย่างมหาศาลของจีนในช่วงนั้นทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะราคาพลังงาน ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเช่นการขนส่งก็ได้รับอานิสงส์ ค่าระวางเรือเทกองปรับตัวเพิ่มอย่างรวดเร็ว ดัชนีค่าระวางเรือเทกอง (BDI) ปรับตัวจาก 2,000 จุดในตอนต้นปี 2005 ไปถึง 11,000 จุดในตอนกลางปี 2007 ทำให้เกิดการเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์และหุ้นในกลุ่มขนส่งทางเรือ


ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกช่วงปี 2005-2007 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างร้อนแรงของจีนในช่วงเตรียมการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกที่ปักกิ่ง

ราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนโอลิมปิกของจีน

อัตราค่าระวางเรือเทกองที่ใช้ขนส่งวัตถุดิบ สินค้าโภคภัณฑ์ ปรับตัวเพิ่มอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2005-2007 ขึ้นไป 5-6 เท่าในเวลาสองปี ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ในธุรกิจขนส่งเรือเทกองด้วย


เมื่อจีนฝ่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ - สู้วิกฤตด้วยสูตรเดิม


หลังจากที่เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของจีนถูกเร่งเครื่องจนถึงจุดสูงจุดในปี 2007 เมื่อการก่อสร้างที่เกี่ยวกับปักกิ่งโอลิมปิกเสร็จสิ้นลง เศรษฐกิจจีนก็แผ่วลงในทันที ประกอบกับปลายปี 2007 นั้นเอง สหรัฐอเมริกาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่เรารู้จักกันในชื่อวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ (subprime mortgage crisis) หรือที่คนไทยเรียกกันเล่นว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤติครั้งนั้นส่งผลไปทั่วโลกรวมทั้งลามมาสู่ย่านเอเชียรวมทั้งจีนด้วย ทำให้อัตราการเติบโตของจีนในช่วงปี 2007-2008 ลดลงอย่างฮวบฮาบ

ในตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นสหรัฐอเมริกาเสียหายขนาดไหนเพราะหนี้เสียของสินเชื่อซับไพรม์มีความซับซ้อนมาก เมื่อไม่รู้ว่าเสียหายเท่าใดก็ไม่มีใครรู้ว่าสหรัฐอเมริกาต้องใช้เวลาเยียวยาเศรษฐกิจเนิ่นนานเพียงใด จีนเองก็เกรงปัญหาเศรษฐกิจลุกลามบานปลาย จึงตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจีนอีก

จีนอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเพื่อฝ่าวิกฤตซับไพรม์ถึง 4 ล้านล้านหยวน (ค่าเงินในขณะนั้นราวๆ 7 แสนล้านดอลลาร์ สรอ) และแน่นอน สูตรแห่งความสำเร็จเดิมๆก็ไม่มีอะไรดีไปกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

จีนเร่งสร้างถนนหนทางและระบบขนส่งทางรางเป็นการใหญ่ ในปี 2011 จีนมีโครงข่ายระบบถนนหลัก (ไม่รวมถนนย่อย) ถึง 85,000 กิโลเมตร มีโครงข่ายขนส่งทางราง 93,000 กิโลเมตร (เป็นรถไฟฟ้าความเร็วสูงประมาณ 10,000 กิโลเมตร) โดยจีนมีหลักคิดว่าการคมนาคมที่ดีจะนำพาความเจริญไปสู่ทุกส่วนของจีนอย่างทั่วถึง


โครงข่ายถนนหลักของจีน ในปี 2011 จีนมีโครงข่ายถนนหลักยาวถึง 85,000 กิโลเมตร เฉพาะในปี 2011 ก็เร่งสร้างประมาณ 10,000 กิโลเมตร 

โครงข่ายขนส่งทางรางของจีน มีทั้งรถไฟความเร็วปกติและรถไฟความเร็วสูง ในปี 2011 จีนมีโครงข่ายขนส่งทางรางยาว 93,000 กิโลเมตร เป็นรถไฟความเร็วสูงประมาณ 10,000 กิโลเมตร


ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลางปักกิ่งก็ให้แต่ละมณฑลเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลท้องถิ่นแต่ละแห่งทำก็คือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีการลงทุนสร้างเมืองใหม่ ศูนย์การค้าใหม่ อพาร์ตเมนต์ใหม่ มากมาย โดยรัฐบาลกลางเร่งรัดการเติบโตแต่ให้งบประมาณแก่รัฐบาลท้องถิ่นอย่างจำกัด ซ้ำยังห้ามรัฐบาลท้องถิ่นกู้เงินจากธนาคารเสียอีก จึงทำให้รัฐบาลท้องถิ่นต้องใช้วิธีซิกแซก โดยตั้งบริษัทนอมินีเพื่อกู้ยืมเงินจากธนาคารแทน ทำให้กลายเป็นปัญหาหนี้นอกระบบมาจนถึงปัจจุบัน (ปัจจุบันรัฐบาลท้องถิ่นสามารถออกตราสารหนี้ได้เองแล้ว) ส่วนที่เป็นการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเอกชนหากเป็นรายใหญ่ก็ขอสินเชื่อจากธนาคาร ส่วนรายเล็กที่ขอสินเชื่อไม่ได้หรือได้ไม่พอก็ไปกู้เงินจากบริษัทหลักทรัพย์เถื่อน (คือเป็นสถาบันการเงินเถื่อนหรือธนาคารเงานั่นเอง พวกนี้จัดเป็นสินเชื่อนอกระบบ)

ทางภาคประชาชน เมื่อเห็นว่าที่ผ่านมาการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ให้ผลตอบแทนดี ก็อยากได้บ้าง หันมาลงทุนซื้ออพาร์ตเมนต์เพื่อเก็งกำไร สินเชื่อก็ของ่าย คนจีนจึงเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์กันสนุก

และนี่เองคือผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลกลางในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และนี่เองคือสาเหตุที่ทำไมราคาอสังหาริมทรัพย์ในจีนปรับตัวขึ้นมาโดยตลอดแม้แต่ในช่วงวิกฤตซับไพรม์ ดูเผินๆก็เหมือนกับว่าจีนฝ่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์มาอย่างไม่ระคายผิว


ชุมทางเมืองผี



หนึ่งในเมืองร้างของจีนที่เรียกกันอย่างล้อเลียนว่า เมืองผี ที่สร้างทั้งเมืองแต่ไม่มีใครเข้าไปอยู่ ต้องปล่อยให้รกร้าง กลายเป็นสถานที่ถ่ายภาพแนวแปลกไป บางทีก็มีหนุ่มสาวไปถ่ายภาพเว็ดดิ้ง


แม้รัฐบาลจีนจะรับรู้ถึงภาวะฟองสบู่อสังหาที่ตั้งเค้ามานานแล้วในจีนแต่ก็ยังไม่ลงมือจัดการอะไรเนื่องจากในช่วงนั้นยังอยู่ในวิกฤตซับไพรม์ แต่ในที่สุด เมื่อจีนเห็นสัญญาณฟองสบู่ที่รุนแรงขึ้น เช่น อุปทานที่ล้นเกินทำให้โครงการขายไม่ออก ราคาบ้านแพงมากจนคนชั้นกลางทั่วไปซื้อไม่ไหว ผู้ที่ซื้อบ้านมาเก็งกำไรเริ่มปล่อยไม่ออก อัตราค่าเช่าที่เก็บได้ไม่เพียงพอต่อค่าผ่อน ฯลฯ

ปลายปี 2009 เป็นต้นมา ทางการจีนเริ่มใช้มาตรการเข้มงวดกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีมาตรการต่างๆตามมามากมาย ตั้งแต่การจำกัดการซื้อบ้านในเมืองใหญ่ การจำกัดการขอสินเชื่อ การเพิ่มวงเงินดาวน์ เพิ่มการกันสำรองของธนาคาร เพิ่มอัตราดอกเบี้ย การขออนุญาตทำโครงการอสังหาฯใหม่ๆทำได้ยากขึ้น ฯลฯ

ผลก็คือ อุปสงค์เทียมที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในช่วงก่อนหน้าลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อภาวะการเก็งกำไรลดความร้อนแรง น้ำลดตอก็ผุด ในปี 2010 ราคาอสังหาริมทรัพย์เริ่มปรับตัวลดลง เมื่ออุปสงค์ลดลง ผู้ประกอบการก็จุก เพราะโครงการต่างๆขายไม่ออก ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่รัฐบาลท้องถิ่นเองก็จุกเนื่องจากลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัยพ์ไว้มากมาย และนี่เองคือที่มาของคำว่าว่าเมืองผี (ghost town) ของจีน คือลงทุนสร้างเมืองทั้งเมืองหรือลงทุนสร้างคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่แต่ขายไม่ออก ต้องปล่อยให้รกร้าง

ผลจากการที่รัฐบาลจีนเข้มงวดกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เปรียบเสมือนกับเจาะรูในลูกโป่งอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ลูกโป่งรั่ว บางคนก็บอกว่าลูกโป่งแตก ซึ่งแล้วแต่มุมมอง ทำให้มีผลตามมามากมาย เมืองผีโผล่ หนี้เสียตามมามากมาย ทั้งหนี้เสียของรัฐบาลท้องถิ่นเองกับหนี้เสียของผู้ประกอบการ รวมทั้งหนี้เสียของนักเก็งกำไรหรือนักลงทุนรายย่อย หนี้นี้มีทั้งหนี้ในระบบธนาคารและหนี้นอกระบบธนาคาร ทำให้วิกฤตหนี้ธนาคารเงาเกิดตามมาอีก







รวมภาพเมืองผีของจีน เหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมามากมาย ทั้งหนี้ในระบบ หนี้นอกระบบ หนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น และหนี้ของภาคเอกชน จนวุ่นวายยากแก่การสะสาง


และท้ายที่สุดจากผลกระทบที่เกิดจากการเจาะลูกโป่งอสังหาริมทรัพย์ของจีนก็คือจีดีพีที่ชะลอตัวลง พูดอีกนัยหนึ่งก็คือเศรษฐกิจจีนโดยรวมชะลอตัวลง พร้อมๆกับภาระหนี้ทั้งของภาครัฐและของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น

ผลจากมาตรการเข้มงวดด้านอสังหาริมทรัพย์ของทางการจีน ทำให้ลูกโป่งอสังหาจีนรั่ว ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลง แค่ลดลงเพียงนิดหน่อยก็ส่งผลต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งปัญหาหนี้เสียแล้ว


นอกจากนี้แล้ว การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนทำให้ความต้องการใช้พลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ และวัสดุก่อสร้างต่างๆลดลง ยังส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกกับภาคการขนส่งอีกด้วย


ผลจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกด้วยส่วนหนึ่ง



การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนส่งผลต่อธุรกิจการขนส่งทางเรือเทกองด้วย และจนในปัจจุบันธุรกิจเรือเทกองรวมทั้งธุรกิจเรือคอนเคนเนอร์ก็ยังไม่ฟื้นตัว

Monday, September 7, 2015

จีนบนเส้นทางการปฏิรูปเศรษฐกิจ ติดหล่มหรือตั้งหลัก (2)




จีนเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องในระยะเวลานาน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีดีพีของจีนเติบโตอย่างร้อนแรงคือการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ ในภาพนี้จะเห็นว่าภายในระยะเวลาเพียง 20 ปี เซี่ยงไฮ้เปลี่ยนไปจนจำเค้าเดิมไม่ได้ บ้านเรือนแบบเก่าแทบไม่มีเหลือให้เห็นอีกแล้ว กลายเป็นตึกสูงแทน


จีน ดินแดนแห่งการเติบโตแบบก้าวกระโดด


ตั้งแต่ยุคเปิดประเทศจนเป็นต้นมา จีนเติบโตแบบก้าวกระโดด จีนเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติด้วยจุดขายคือแรงงานราคาถูก มีการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ทำการค้ากับประเทศต่างๆด้วยการผลิตและขายสินค้าที่ราคาถูกกว่าญี่ปุ่นและไต้หวัน

ปัจจัยที่สร้างความเจริญเติบโตได้ดีที่สุดก็คือการลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน เพราะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นปัจจัยเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และอื่นๆตามมา โดยเฉพาะการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นตัวขับเคลื่อนจีดีพีที่สำคัญเพราะใช้ทรัพยากรอย่างมากและเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่นๆมากมาย ตั้งแต่การรับเหมาก่อสร้าง การค้าวัสดุก่อสร้าง การขนส่ง การค้าสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดไปจนถึงทำให้เกิดการจ้างงานอย่างมากมาย

ผลจากนโยบายเปิดประเทศและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ ทำให้จีนมีอัตราการเติบโตในระดับสูงมาตลอดระยะเวลาร่วม 30 ปี ยกตัวอย่างเช่น ปี 1984 โต 15.2% ส่วนปี 1992 และ 2007 สองปีนี้เติบโต 14.2% ต่อปี ส่วนปีอื่นๆมักเติบโตปีละ 10% ขึ้นไป

ประเทศจีนมีอัตราการเติบโตของจีดีพีที่น่าตื่นใจ เพราะแต่ละปีส่วนใหญ่เติบโตเกินกว่า 10% และคงความต่อเนื่องมาได้ยาวนานถึง 3 ทศวรรษ


เมื่อเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป


ผลของเศรษฐกิจที่ร้อนแรงคืออัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง อัตราเงินเฟ้อของจีนในช่วงต้นทศวรรษ 1990 รุนแรงมากตามจีดีพีที่ร้อนแรง จนอยู่ในระดับที่อาจทำให้เศรษฐกิจเสียหาย รวมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มที่มีฐานะยากจนอย่างมาก 

ในปี 1992 (2535) นั้นเศรษฐกิจจีนร้อนแรงมาก จีดีพี 14.2% ต่อปี ดูเผินๆเหมือนจะดี แต่ที่จริงกลับไม่ดี เพราะว่าต่อมาอัตราเงินเฟ้อของจีนพุ่งทะยานถึงปีละ 24% จีนจำเป็นต้องชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจลงเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อลง โดยการใช้นโยบายเศรษฐกิจที่เข้มงวด รักษาสเถียรภาพของค่าเงินหยวนไม่ให้อ่อนค่า ดังนั้นหลังจากช่วงนั้นมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและอัตราเงินเฟ้อของจีนก็ค่อยลดลง ขณะเดียวกันก็ปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศให้ทันสมัยไปด้วย และนั่นคืออาการฟองสบู่แตกครั้งแรกของจีนหลังการเปิดประเทศเข้าสู่ยุคทุนนิยม


จากวิกฤติต้มยำกุ้งสู่ยุคทองของอสังหาริมทรัพย์จีน


เมืองฉงชิ่ง ตัวอย่างของการเติบโตอย่างร้อนแรงของจีน ฉงชิ่งเติบโตอย่างร้อนแรงไม่แพ้เซี่ยงไฮ้ หรืออาจจะร้อนแรงกว่าด้วยซ้ำไป 


ตั้งแต่ปี 1994 (พ.ศ. 2537) ที่ฟองสบู่ของเศรษฐกิจไทยเริ่มแตก จนมาสู่วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 (พ.ศ. 2540) ประเทศในย่านอาเซียนล้วนแต่ได้รับพิษจากต้มยำกุ้งไปตามๆกัน ประเทศจีนหยิบยื่นความช่วยเหลือทางการเงินแก่หลายประเทศ รวมทั้งไทยด้วย รวมทั้งไม่ลดค่าเงินหยวนเพื่อแข่งขันการส่งออก อันถือว่าเป็นการช่วยประเทศเพื่อนบ้านอีกทางหนึ่ง เรื่องการไม่ลดค่าเงินหยวนนั้นมีส่วนช่วยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอาเซียนรวมทั้งไทย เนื่องจากสินค้าจากจีนนั้นแข่งได้ทุกตลาดอยู่แล้ว หากจีนลดค่าเงินด้วยสินค้าส่งออกของชาติอื่นก็เหนื่อยยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าจีนแสดงน้ำใจโดยยอมเสียเปรียบในการแข่งขัน บางคนก็ว่าจีนได้สองเด้ง คือจีนตั้งใจรักษาเสถียรภาพของค่าเงินไม่ให้อ่อนค่าอยู่แล้วเนื่องจากต้องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ การได้ใจเพื่อนบ้านคือผลพลอยได้ ก็คงแล้วแต่มุมมอง

ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งทำให้การเติบโตของจีนลดลง จากเดิมปีละกว่า 10% กลายเป็นต่ำกว่าปีละ 10% (ราว 8% ถึง 9%) โดยเฉพาะการส่งออกของจีนลดลง สำหรับจีนแล้วอัตราการเติบโตต่ำกว่า 10% ถือเป็นเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ เนื่องจากจีนเองมีบริบทของประเทศที่แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ คือเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ การที่เศรษฐกิจขชองประเทศเติบโตดี ประชาชนมีรายได้ดี ถือเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน ประชาชนจีนจะได้สนใจกับการทำมารายได้ ไม่ต้องมาเรียกร้องทางการเมืองให้วุ่นวาย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าจีนมีปัญหากับเรื่องอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก มากไปก็ไม่ได้ น้อยไปก็ไม่ได้ หาจุดสมดุลได้ยาก

หลังจากยุคต้มยำกุ้ง จีนก็เร่งเครื่องทางเศรษฐกิจอีก ซึ่งหนทางในการเร่งเครื่องเศรษฐกิจก็คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ จีนลงทุนก่อสร้างเป็นการใหญ่ด้วยการขยายโครงข่ายการคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นระบบรถไฟธรรมดา รถไฟความเร็วสูง รวมทั้งระบบถนน


ผลจากการเร่งการเติบโตของจีนด้วยการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้จีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีด้านรถไฟจนถึงขั้นสามารถสร้างรถไฟความเร็วสูง ว่ากันว่าจีนเคยสั่งซื้อรถไฟความเร็วสูงจากต่างประเทศเพียงครั้งเดียว คือจากเยอรมนี เมื่อนานมาแล้ว และหลังจากนั้นมาจีนก็ไม่ต้องสั่งซื้ออีกเลย ผลิตและใช้เองในประเทศ รวมทั้งยังส่งไปขายต่างประเทศอีกด้วย


ทางด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็ส่งเสริมการเติบโตของชุมชนเมือง ตามเมืองใหญ่มีการสร้างอพาร์ทเมนต์เต็มไปหมด ชุมชนบ้านเดี่ยวเก่าๆแบบดั้งเดิมก็ค่อยๆทยอยหายไปเพราะถูกรื้อและสร้างเป็นตึกสูงแทน

หลังยุคต้มยำกุ้ง หรือคิดคร่าวๆคือ ปี 2000 เป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนก็เริ่มร้อนแรงขึ้นอีก อพาร์ทเมนต์ได้รับความนิยม ราคาจึงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการหรือดีเวลอปเปอร์สามารถขอสินเชื่อได้อย่างง่ายๆและในอัตราต่ำ ทางภาคประชาชนเองก็มีเงินออมสูง ไม่รู้จะลงทุนอะไรดีก็มาลงทุนในอพาร์ตเมนต์ ตอนนั้นราคาราคาอพาร์ตเมนต์ขึ้นทุกวัน ประกอบกับพวกพนักงานบริษัทมีสวัสดิการโดยซื้ออพาร์ตเมนต์ได้โดยออกเงินเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งเป็นสวัสดิการของบริษัทกับภาครัฐที่ช่วยกันสมทบให้ สินเชื่อบ้านหลังที่สอง สาม ฯลฯ ก็อนุมัติง่ายและดอกเบี้ยไม่สูง ในภาคประชาชนก็มีการเก็งกำไรอพาร์ตเมนต์กันเป็นการใหญ่เพราะได้กำไรงาม มีทั้งการซื้อขายเปลี่ยนมือหากำไรจากส่วนต่าง และการซื้ออพาร์ตเมนต์ไว้หลายๆห้องเพื่อปล่อยเช่าหวังกำไร


ราคาอสังหาริมทรัพย์ในจีนเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ในช่วงปี 2000 ถึง 2010 เพียงสิบปี ราคาอสังหาริมทรัพย์เฉลี่ยของจีนเพิ่มขึ้นราวเท่าตัว แต่หากดูเป็นรายเมือง เช่น ปักกิ่ง ช่วงสิบปีที่ว่านี้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในปักกิ่งพุ่งถึง 8-9 เท่าตัวทีเดียว ราคาดีแบบนี้แล้วใครจะไม่อยากเข้ามาเก็งกำไร

ประกอบกับจีนในยุคนั้นได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนที่ปักกิ่งในปี 2008 เฉพาะแค่การรองรับโอลิมปิกจีนก็มีการก่อสร้างต่างๆมากมาย ดังนั้น เมื่อรวมกันแล้ว ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 หรือปี 2000-2007 จึงถือเป็นยุคทองของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีนอย่างแท้จริง เพราะทำให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องตามมามากมาย จีดีพีจีนกลับมาทะยานเกิน 10% ต่อปีอีก มีการนำเข้าพลังงาน วัสดุก่อสร้าง แร่ และสินค้าโภคภัณฑ์ อื่นๆเป็นจำนวนมากและฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์จีนก็เกิดในยุคนี้นั่นเอง


ราคาอพาร์ตเมนต์ระดับหรูในเซี่ยงไฮ้ ห้องนี้ประกาศขายตารางเมตรละ 83,000 หยวน (ราคาปัจจุบัน)


ราคาอพาร์ตเมนต์นอกเมืองคุนหมิงของจีน โซนนอกเมืองก็ประมาณ 9,000 หยวนต่อตารางเมตร (ราคาปัจจุบัน)



ตอนต่อไปเราจะมาคุยกันเรื่องยุควิกฤตแฮมเบอร์เกอร์และฟองสบู่อสังหาจีนแตกคร้าบ