Tuesday, September 15, 2015

จีนบนเส้นทางการปฏิรูปเศรษฐกิจ ติดหล่มหรือตั้งหลัก (3)




การก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติที่ปักกิ่ง โอลิมปิกที่ปักกิ่งส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงนั้นอย่างมาก


ผลจากการเร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในยุคหลังปี 2000 ประกอบกับการลงทุนเพื่อเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่ปักกิ่งในปี 2008 ที่มีการเร่งก่อสร้างกันในช่วงปี 2005-2007 ทำให้เศรษฐกิจจีนในช่วงปี 2005-2007 เติบโตอย่างร้อนแรง มีการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆเป็นนำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพวกสินแร่ (เหล็ก ทองแดง ฯลฯ) เชื้อเพลิง (ถ่านหิน น้ำมันดิบ ฯลฯ) สินค้าเกษตร ผลจากการบริโภคอย่างมหาศาลของจีนในช่วงนั้นทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะราคาพลังงาน ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเช่นการขนส่งก็ได้รับอานิสงส์ ค่าระวางเรือเทกองปรับตัวเพิ่มอย่างรวดเร็ว ดัชนีค่าระวางเรือเทกอง (BDI) ปรับตัวจาก 2,000 จุดในตอนต้นปี 2005 ไปถึง 11,000 จุดในตอนกลางปี 2007 ทำให้เกิดการเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์และหุ้นในกลุ่มขนส่งทางเรือ


ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกช่วงปี 2005-2007 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างร้อนแรงของจีนในช่วงเตรียมการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกที่ปักกิ่ง

ราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนโอลิมปิกของจีน

อัตราค่าระวางเรือเทกองที่ใช้ขนส่งวัตถุดิบ สินค้าโภคภัณฑ์ ปรับตัวเพิ่มอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2005-2007 ขึ้นไป 5-6 เท่าในเวลาสองปี ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ในธุรกิจขนส่งเรือเทกองด้วย


เมื่อจีนฝ่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ - สู้วิกฤตด้วยสูตรเดิม


หลังจากที่เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของจีนถูกเร่งเครื่องจนถึงจุดสูงจุดในปี 2007 เมื่อการก่อสร้างที่เกี่ยวกับปักกิ่งโอลิมปิกเสร็จสิ้นลง เศรษฐกิจจีนก็แผ่วลงในทันที ประกอบกับปลายปี 2007 นั้นเอง สหรัฐอเมริกาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่เรารู้จักกันในชื่อวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ (subprime mortgage crisis) หรือที่คนไทยเรียกกันเล่นว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤติครั้งนั้นส่งผลไปทั่วโลกรวมทั้งลามมาสู่ย่านเอเชียรวมทั้งจีนด้วย ทำให้อัตราการเติบโตของจีนในช่วงปี 2007-2008 ลดลงอย่างฮวบฮาบ

ในตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นสหรัฐอเมริกาเสียหายขนาดไหนเพราะหนี้เสียของสินเชื่อซับไพรม์มีความซับซ้อนมาก เมื่อไม่รู้ว่าเสียหายเท่าใดก็ไม่มีใครรู้ว่าสหรัฐอเมริกาต้องใช้เวลาเยียวยาเศรษฐกิจเนิ่นนานเพียงใด จีนเองก็เกรงปัญหาเศรษฐกิจลุกลามบานปลาย จึงตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจีนอีก

จีนอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเพื่อฝ่าวิกฤตซับไพรม์ถึง 4 ล้านล้านหยวน (ค่าเงินในขณะนั้นราวๆ 7 แสนล้านดอลลาร์ สรอ) และแน่นอน สูตรแห่งความสำเร็จเดิมๆก็ไม่มีอะไรดีไปกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

จีนเร่งสร้างถนนหนทางและระบบขนส่งทางรางเป็นการใหญ่ ในปี 2011 จีนมีโครงข่ายระบบถนนหลัก (ไม่รวมถนนย่อย) ถึง 85,000 กิโลเมตร มีโครงข่ายขนส่งทางราง 93,000 กิโลเมตร (เป็นรถไฟฟ้าความเร็วสูงประมาณ 10,000 กิโลเมตร) โดยจีนมีหลักคิดว่าการคมนาคมที่ดีจะนำพาความเจริญไปสู่ทุกส่วนของจีนอย่างทั่วถึง


โครงข่ายถนนหลักของจีน ในปี 2011 จีนมีโครงข่ายถนนหลักยาวถึง 85,000 กิโลเมตร เฉพาะในปี 2011 ก็เร่งสร้างประมาณ 10,000 กิโลเมตร 

โครงข่ายขนส่งทางรางของจีน มีทั้งรถไฟความเร็วปกติและรถไฟความเร็วสูง ในปี 2011 จีนมีโครงข่ายขนส่งทางรางยาว 93,000 กิโลเมตร เป็นรถไฟความเร็วสูงประมาณ 10,000 กิโลเมตร


ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลางปักกิ่งก็ให้แต่ละมณฑลเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลท้องถิ่นแต่ละแห่งทำก็คือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีการลงทุนสร้างเมืองใหม่ ศูนย์การค้าใหม่ อพาร์ตเมนต์ใหม่ มากมาย โดยรัฐบาลกลางเร่งรัดการเติบโตแต่ให้งบประมาณแก่รัฐบาลท้องถิ่นอย่างจำกัด ซ้ำยังห้ามรัฐบาลท้องถิ่นกู้เงินจากธนาคารเสียอีก จึงทำให้รัฐบาลท้องถิ่นต้องใช้วิธีซิกแซก โดยตั้งบริษัทนอมินีเพื่อกู้ยืมเงินจากธนาคารแทน ทำให้กลายเป็นปัญหาหนี้นอกระบบมาจนถึงปัจจุบัน (ปัจจุบันรัฐบาลท้องถิ่นสามารถออกตราสารหนี้ได้เองแล้ว) ส่วนที่เป็นการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเอกชนหากเป็นรายใหญ่ก็ขอสินเชื่อจากธนาคาร ส่วนรายเล็กที่ขอสินเชื่อไม่ได้หรือได้ไม่พอก็ไปกู้เงินจากบริษัทหลักทรัพย์เถื่อน (คือเป็นสถาบันการเงินเถื่อนหรือธนาคารเงานั่นเอง พวกนี้จัดเป็นสินเชื่อนอกระบบ)

ทางภาคประชาชน เมื่อเห็นว่าที่ผ่านมาการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ให้ผลตอบแทนดี ก็อยากได้บ้าง หันมาลงทุนซื้ออพาร์ตเมนต์เพื่อเก็งกำไร สินเชื่อก็ของ่าย คนจีนจึงเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์กันสนุก

และนี่เองคือผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลกลางในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และนี่เองคือสาเหตุที่ทำไมราคาอสังหาริมทรัพย์ในจีนปรับตัวขึ้นมาโดยตลอดแม้แต่ในช่วงวิกฤตซับไพรม์ ดูเผินๆก็เหมือนกับว่าจีนฝ่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์มาอย่างไม่ระคายผิว


ชุมทางเมืองผี



หนึ่งในเมืองร้างของจีนที่เรียกกันอย่างล้อเลียนว่า เมืองผี ที่สร้างทั้งเมืองแต่ไม่มีใครเข้าไปอยู่ ต้องปล่อยให้รกร้าง กลายเป็นสถานที่ถ่ายภาพแนวแปลกไป บางทีก็มีหนุ่มสาวไปถ่ายภาพเว็ดดิ้ง


แม้รัฐบาลจีนจะรับรู้ถึงภาวะฟองสบู่อสังหาที่ตั้งเค้ามานานแล้วในจีนแต่ก็ยังไม่ลงมือจัดการอะไรเนื่องจากในช่วงนั้นยังอยู่ในวิกฤตซับไพรม์ แต่ในที่สุด เมื่อจีนเห็นสัญญาณฟองสบู่ที่รุนแรงขึ้น เช่น อุปทานที่ล้นเกินทำให้โครงการขายไม่ออก ราคาบ้านแพงมากจนคนชั้นกลางทั่วไปซื้อไม่ไหว ผู้ที่ซื้อบ้านมาเก็งกำไรเริ่มปล่อยไม่ออก อัตราค่าเช่าที่เก็บได้ไม่เพียงพอต่อค่าผ่อน ฯลฯ

ปลายปี 2009 เป็นต้นมา ทางการจีนเริ่มใช้มาตรการเข้มงวดกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีมาตรการต่างๆตามมามากมาย ตั้งแต่การจำกัดการซื้อบ้านในเมืองใหญ่ การจำกัดการขอสินเชื่อ การเพิ่มวงเงินดาวน์ เพิ่มการกันสำรองของธนาคาร เพิ่มอัตราดอกเบี้ย การขออนุญาตทำโครงการอสังหาฯใหม่ๆทำได้ยากขึ้น ฯลฯ

ผลก็คือ อุปสงค์เทียมที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในช่วงก่อนหน้าลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อภาวะการเก็งกำไรลดความร้อนแรง น้ำลดตอก็ผุด ในปี 2010 ราคาอสังหาริมทรัพย์เริ่มปรับตัวลดลง เมื่ออุปสงค์ลดลง ผู้ประกอบการก็จุก เพราะโครงการต่างๆขายไม่ออก ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่รัฐบาลท้องถิ่นเองก็จุกเนื่องจากลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัยพ์ไว้มากมาย และนี่เองคือที่มาของคำว่าว่าเมืองผี (ghost town) ของจีน คือลงทุนสร้างเมืองทั้งเมืองหรือลงทุนสร้างคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่แต่ขายไม่ออก ต้องปล่อยให้รกร้าง

ผลจากการที่รัฐบาลจีนเข้มงวดกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เปรียบเสมือนกับเจาะรูในลูกโป่งอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ลูกโป่งรั่ว บางคนก็บอกว่าลูกโป่งแตก ซึ่งแล้วแต่มุมมอง ทำให้มีผลตามมามากมาย เมืองผีโผล่ หนี้เสียตามมามากมาย ทั้งหนี้เสียของรัฐบาลท้องถิ่นเองกับหนี้เสียของผู้ประกอบการ รวมทั้งหนี้เสียของนักเก็งกำไรหรือนักลงทุนรายย่อย หนี้นี้มีทั้งหนี้ในระบบธนาคารและหนี้นอกระบบธนาคาร ทำให้วิกฤตหนี้ธนาคารเงาเกิดตามมาอีก







รวมภาพเมืองผีของจีน เหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมามากมาย ทั้งหนี้ในระบบ หนี้นอกระบบ หนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น และหนี้ของภาคเอกชน จนวุ่นวายยากแก่การสะสาง


และท้ายที่สุดจากผลกระทบที่เกิดจากการเจาะลูกโป่งอสังหาริมทรัพย์ของจีนก็คือจีดีพีที่ชะลอตัวลง พูดอีกนัยหนึ่งก็คือเศรษฐกิจจีนโดยรวมชะลอตัวลง พร้อมๆกับภาระหนี้ทั้งของภาครัฐและของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น

ผลจากมาตรการเข้มงวดด้านอสังหาริมทรัพย์ของทางการจีน ทำให้ลูกโป่งอสังหาจีนรั่ว ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลง แค่ลดลงเพียงนิดหน่อยก็ส่งผลต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งปัญหาหนี้เสียแล้ว


นอกจากนี้แล้ว การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนทำให้ความต้องการใช้พลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ และวัสดุก่อสร้างต่างๆลดลง ยังส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกกับภาคการขนส่งอีกด้วย


ผลจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกด้วยส่วนหนึ่ง



การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนส่งผลต่อธุรกิจการขนส่งทางเรือเทกองด้วย และจนในปัจจุบันธุรกิจเรือเทกองรวมทั้งธุรกิจเรือคอนเคนเนอร์ก็ยังไม่ฟื้นตัว

No comments: