Friday, July 10, 2015

เมื่อหุ้นจีนซิ่งสาย 8 ถึงเวลาฟองสบู่แตกหรือยัง (1)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”




ตลาดหุ้นจีนร่วงแรง -34% นักลงทุนในตลาดหุ้นขาดทุนหนัก ดาราบางคนมีข่าวว่าพอร์ตเสียหายไปนับหมื่นล้าน ทำให้เกิดเป็นประเด็นร้อนว่าตลาดหุ้นจีนฟองสบู่แตกแล้วใช่หรือไม่ รวมทั้งคำถามอื่นๆอีกมากมายที่ตามมา

ตลาดหุ้นจีนร่วงตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน 2015 จนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ในเวลาครึ่งเดือนดัชนีตลาดหุ้นลดลงไป -34%

สองสามวันมานี้ข่าวใหญ่ด้านเศรษฐกิจที่มาแรงแซงปัญหาหนี้กรีซก็คือเรื่องตลาดหุ้นจีน เนื่องจากตอนนี้ตลาดหุ้นจีนร่วงอย่างรวดเร็วประมาณ -34% ภายในเวลาสองสัปดาห์นับจากจุดสูงสุดในตอนกลางเดือนมิถุนายน รวมทั้งตลาดหุ้นฮ่องกงก็ร่วงตามด้วย แม้ทางการจีนจะออกมาตรการอย่างเร่งด่วนมาเป็นชุดเพื่อสกัดการทรุดตัวของตลาดหุ้นจีนแต่ก็ดูเหมือนจะได้ผลไม่มากนักเนื่องจากตลาดหุ้นจีนยังร่วงต่อ

จนถึงวันนี้ เรื่องตลาดหุ้นจีนก็กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาว่าตลาดหุ้นจีนในตอนนี้ฟองสบู่แตกแล้วใช่หรือไม่ สื่อมวลชนต่างก็จับประเด็นนี้มาวิเคราะห์อธิบายกันมากมาย รวมทั้งยังขยายผลต่อไปอีกว่ามีดาราจีนคนนั้นคนนี้พอร์ตแดงไปกี่หมื่นกี่พันล้าน

วันนี้เรามาคุยเรื่องตลาดหุ้นจีนกันอีกสักวัน ที่จริงลุงแมวน้ำคุยเรื่องตลาดหุ้นจีนมาให้ฟังเป็นระยะแล้ว ดังนั้นวันนี้จะไม่ทบทวนอะไรมาก เกรงว่าทวนเรื่องเดิมๆแล้วพวกเราจะเบื่อกัน เรื่องพวกนี้บางทีก็ซับซ้อน คุยครั้งเดียวไม่มีทางจบหรือคุยได้ครบ สถานการณ์ก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นก็ต้องคุยอัปเดตกันไปเป็นระยะ เมื่อเราได้ภาพหลายๆภาพมาปะติดปะต่อกันก็จะทำให้เราค่อยๆเข้าใจได้มากขึ้นไปเอง

ดังนั้นเอาเป็นว่าวันนี้เราคุยกันเพิ่มเติมเรื่องตลาดหุ้นจีนว่าฟองสบู่แตกหรือยัง สำหรับผู้ที่อ่านบทความนี้ หากสนใจก็อาจย้อนไปอ่านในโพสต์ก่อนๆของลุงแมวน้ำที่คุยเกี่ยวกับตลาดหุ้นจีนเอาไว้ ก็จะช่วยให้ปะติดปะต่อภาพได้ดียิ่งขึ้น


เข้าใจคนจีน เข้าใจตลาดหุ้นจีน


ตลาดหุ้นจีนก็เช่นกัน ตลาดหุ้นจีนนั้นขึ้นชื่อลือชาในเรื่องความผันผวน ขึ้นลงเร็วและแรง เนื่องจากนักลงทุนเก็งกำไรกันอย่างสุดเหวี่ยง ความผันผวนของตลาดลุงแมวน้ำคิดว่ายังดุเดือดร้อนแรงกว่าตลาดห้นไทยเสียอีก ทำไมจึงเป็นเช่นกัน ลุงแมวน้ำว่าเรามาทำความเข้าใจกับนักลงทุนรายย่อยชาวจีนกันสักหน่อยดีกว่า การที่เราเข้าใจนักลงทุนจีนหรือว่าเข้าใจบุคลิกของคนจีนรุ่นใหม่จะช่วยให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่าตลาดหุ้นจีนนั้นฟองสบู่แตกหรือยัง

คนจีนรุ่นใหม่ที่เป็นคนหนุ่มสาวซึ่งเติบโตมาในยุคที่จีนเริ่มเปิดประเทศรับเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ก็คะเนว่าเป็นชาวจีนที่ปัจจุบันมีอายุไม่เกิน 50 พวกนี้จะเป็นปลายเจนเอ็กซ์ เจนวาย และเจนที่หลังจากนั้น

ประเทศจีนในปัจจุบันมีประชากรประมาณ 1300 ล้านคน ในยุคทศวรรษ 1980s นั้นประชากรจีนมีราวๆกว่า 900 ล้านคน จีนเป็นประเทศที่มีระชากรมาก การที่รัฐจะจัดการด้านเศรษฐกิจให้ประชาชนกินดีอยู่ดีอย่างทั่วถึงนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก แม้พยายามจะให้ทั่วถึงแต่ก็ไม่ทั่วถึงดีนัก

เมื่อทรัพยากรมีจำกัด  การแข่งขันจึงสูง ชาวจีนต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือดมาตั้งแต่เด็ก เริ่มตั้งแต่การแข่งขันเพื่อให้เข้าเรียนในโรงเรียนดีๆ เมื่อจบชั้นมัธยมก็ต้องแข่งขันเพื่อให้เข้ามหาวิทยาลัยได้ เพราะที่นั่งในมหาวิทยาลัยมีจำกัด พอจบมหาวิทยาลัยแล้วก็ยังต้องแข่งขันเพื่อให้ได้งานดีๆทำ งานดีๆก็มีจำกัดอีก ก็ต้องแข่งขันกันหนัก

ประกอบกับคนจีนมีวัฒนาธรรมรักหน้าตา คือพูดง่ายๆว่ากลัวเสียหน้า การรประสบความสำเร็จในชีวิตช่วยให้มีหน้ามีตา ดังนั้นยิ่งเป็นแรงผลักดัน และหล่อหลอมให้คนจีนรุ่นใหม่มีบุคลิกดิ้นรน มุมานะ กระหายในความสำเร็จอย่างรุนแรง ความคาดหวังในความสำเร็จของชาวจีนรุ่นใหม่นั้นหากเทียบกับการสอบก็เหมือนกับคนที่ต้องการสอบให้ได้เกรด A หรือ B ซึ่งได้มายาก มีไม่กี่คนที่จะทำได้ ส่วนเกรด C, D, F นั้นไม่ต้องการ แต่คนส่วนใหญ่ก็มักอยู่ในกลุ่ม C, D, F นี้แหละ (เช่น จบแค่มัธยม ทำงานรับจ้าง เงินเดือนน้อย บางคนก็ค้าขายเล็กน้อย ขายผักขายปลา รายได้แค่พออยู่ได้ ฯลฯ) ดังนั้นจะเห็นว่าการประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในระดับที่โดดเด่นในสังคมจีนนั้นยากพราะต้องแข่งขันสูงมาก

คนจีนรุ่นใหม่ก็ดิ้นรนไปทุกที่ทุกทางเพื่อให้ประสบความสำเร็จ มีโอกาสอะไรก็ฉวย ไม่ปล่อยให้หลุดมือ กล้าได้กล้าเสีย ไม่กลัวลำบาก ทำมาหากินในประเทศยากนักบางคนมีช่องทางก็ไปแสวงโชคในต่างประเทศ เช่น มาทำมาหากินในเมืองไทย เป็นต้น บางคนที่หัวทันสมัยหน่อยก็มักได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการให้เงินทำงาน แพสซีฟอินคัม (passive income) รวยด้วยหุ้น ฯลฯ ก็หันมาสนใจลงทุนในตลาดหุ้น นี่คือส่วนหนึ่งของแรงจูงใจที่ผลักดันชาวจีนรุ่นใหม่เข้ามาในตลาดหุ้น


ย้อนตำนานตลาดหุ้นจีนยุคโอลิมปิก หุ้นซิ่งสาย 8


ใครๆก็รู้กันดีกว่ารถเมล์สาย 8 นั้นโด่งดังในด้านความเร็วเพียงใด รถร่วมสาย 8 นั้นวิ่งมาประมาณ 30 ปีแล้วแต่ก็ยังรักษามาตรฐานในด้านความเร็วได้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อก่อนเร็วยังไง เดี๋ยวนี้ก็ยังเร็วอย่างนั้น จนถึงขนาดเกมดังคือ GTA V ยังต้องนำเอารถเมล์สาย 8 เข้าไปซิ่งในเกมทีเดียว >.<

ด้วยความหอมหวนของตลาดทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนได้อย่างงดงาม ประกอบกับบุคลิกที่ต้องการประสบความสำเร็จโดยเร็ว ทัศนคติมีโอกาสต้องรีบฉวย (เพราะถ้าไม่ฉวยคนอื่นก็เอาไปแทน) รวมทั้งความกล้าได้กล้าเสีย ที่คนจีนบอกว่าไม่เข้าถ้ำเสือไหนเลยจะได้ลูกเสือ นี่เองที่เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ตลาดหุ้นจีนหวือหวา มีการเก็งกำไรสูง

ตั้งแต่ยุค 4 ทันสมัยของเติ้งเสี่ยวผิง หรือจำง่ายๆคือตั้งแต่ 1980 เป็นต้นมา จีนก็ขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผสมคอมมิวนิสต์ มีการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง เปิดรับกระแสทุนและกระแสเทคโนโลยีจากต่างชาติเป็นการใหญ่ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนตั้งแต่นั้นมาก็โดดเด่นมาก จากข้อมูลในภาพนี้ ตั้งแต่ปี 1990-2007 จีดีพีจีนโตประมาณปีละ 7% ถึง 14% ทีเดียว


อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนนับแต่ปี 1990 ถึง 2007 เติบโตอย่างร้อนแรงปีละ 7% ถึง 14% และนับแต่ปี 2008 เศรษฐกิจจีนก็เริ่มลดความร้อนแรงลงเรื่อยมา


จนมาในปี 2001 จีนได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 จีนก็ยิ่งเร่งลงทุนเป็นการใหญ่ โดยเฉพาะการก่อสร้างต่างๆเพื่อเตรียมเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก มีการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมัน เหล็ก สินค้าเกษตร และอื่นๆมากมาย การนำเข้าอย่างมหาศาลของจีนทำให้ราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกพุ่งแรง จากนั้นในปี 2006 ตลาดหุ้นจีนก็เริ่มร้อนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพียงระยะเวลาประมาณปีครึ่ง จากต้นปี 2006 ถึงปลายปี 2007 ตลาดหุ้นจีนพุ่งทะยาน +450% (สี่ร้อยห้าสิบเปอร์เซ็นต์) โดยดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตวิ่งจาก 1,100 จุดไปถึง 6,000 จุด

หลังจากที่จีนก่อสร้างสถานที่ต่างๆที่เกี่ยวกับโอลิมปิกเรียบร้อย การนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆก็ลดลงอย่างฮวบฮาบ และพร้อมกันนั้น ตลาดหุ้นจีนก็ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว ในระยะเวลาประมาณ 1 ปี จากปลายปี 2007 ถึงปลายปี 2008 ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตไหลลงจาก 6,000 จุดเหลือ 1,600 จุด หรือ -73%

ในภาคเศรษฐกิจจริง หลังจากกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน เศรษฐกิจของจีนก็ลดความร้อนแรงลงเรื่อยมา อัตราการเติบโตของจีดีพี (GDP growth) ค่อยๆลดลงจาก 14% ต่อปี จนล่าสุดเหลือประมาณ 7% ต่อปี

หากเราพิจารณาภาคเศรษฐกิจจริงคู่ไปกับตลาดหุ้นจีน เราจะได้ภาพดังนี้


ทิศทางของเศรษฐกิจจริงและความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นจีนตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา

ดูภาพกันไปก่อน แล้วเรามาคุยกันต่อในตอนต่อไปคร้าบ

Tuesday, July 7, 2015

มองกลุ่มธนาคาร อาจยังลงไม่สุดและจะฟื้นตัวได้ช้า


ดัชนีเซ็ตเทียบกับดัชนีกลุ่มธนาคารและพลังงาน



ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยไหลจนดัชนีเซ็ตหลุด 1500 จุดลงมาแล้ว สาเหตุมาจากสองสามกลุ่มหลัก คือธนาคาร พลังงาน แถมด้วยกลุ่มปิโตรเคมี  โดยกลุ่มธนาคารเป็นพระเอกในการฉุดดัชนี

ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานนั้นปรับตัวลงตามราคาน้ำมันดิบตลาดโลก เมื่อราคาน้ำมันดิบลดลงหุ้นพลังงานก็ลงด้วย ส่วนราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารนั้นปรับตัวลงตามสภาพเศรษฐกิจ

เป็นที่ทราบกันดีกว่าผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์นั้นอ่อนไหวกับสภาพเศรษฐกิจ คือเป็นกระจกที่สะท้อนภาพเเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจดี สินเชื่อก็ขยายตัวดี หนี้เสียก็น้อย ธนาคารก็มีผลประกอบการดี

ในทางตรงกันข้าม หากเศรษฐกิจไม่ดี สินเชื่อก็ปล่อยยาก หนี้เสียก็เพิ่มสูงขึ้น ผลประกอบการของธนาคารก็แย่

เรามาดูกราฟดัชนีรายเซ็กเตอร์กัน จะเห็นว่าในรอบปีที่ผ่านมา ดัชนีเซ็ตปรับตัวลงประมาณ -1.5% ดัชนีกลุ่มพลังงานปรับตัวลง -4% ส่วนดัชนีกลุ่มธนาคารนั้นปรับตัวลงถึง -27.8% โดยราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารนั้นมีแนวโน้มเป็นขาลงตั้งแต่ปีที่แล้ว คือลงมาตลอด เพิ่งมาเด้งขึ้นในช่วงต้นปีนี้เหมือนกับจะกลับทิศเป็นขาขึ้น แต่แล้วก็กลับไหลลงแรงอีก ไหลลงแรงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์มาจนถึงตอนนี้ แม้แต่ต่างชาติซึ่งถือหุ้นไทยไม่มากแล้วก็ยังขายหุ้นกลุ่มธนาคารหนักในระยะที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มธนาคารมีผลต่อดัชนีมากเสียด้วย ดังนั้นจึงฉุดดัชนีเซ็ตลงมา


สาเหตุกลุ่มธนาคารปรับตัวลง


สาเหตุที่หุ้นกลุ่มธนาคารลงแรงเป็นเพราะ

1. ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทั้งหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงินต่างก็พากันปรับลดเป้าจีดีพี ปรับลดเป้าการส่งออก หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งเหล่านี้้ล้วนแต่เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ในปีที่แล้วเรายังเห็นภาพไม่ชัดนัก แต่มาเห็นภาพได้ชัดขึ้นในปีนี้

2. ปริมาณสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือที่เรียกว่าเอ็นพีแอล (NPL, non performing loan) นั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2014 และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มต่อไปในปี 2015 นี้ การที่ปริมาณเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้น ยิ่งมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นภาระแก่ธนาคาร เนื่องจาก หากเป็นหนี้ชำระปกติหรือขาดส่งไม่เกิน 3 เดือน (ที่ขาดส่งหนึ่งถึงสามเดือนเรียกว่า SML, special mentioned loan) พวกนี้ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล จะตั้งสำรองไม่เกิน 2% ของสินเชื่อ แต่หากถูกจัดชั้นป็นเอ็นพีแอลเมื่อใด ภาระการตั้งสำรองจะกลายเป็น 100% ซึ่งจะเห็นว่าพอเป็น NPL ปุ๊บภาระการตั้งสำรองจะเพิ่มอีกมาก และนี่เองที่ไปฉุดกำไรของธนาคาร


ปริมาณ SML (หนี้ขาดส่งไม่เกิน 3 เดือน), NPL (หนี้ขาดส่งเกิน 3 เดือน) เพิ่มอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 1Q2014 และคาดว่าปี 2015 นี้ SML บางส่วนจะกลายเป็น NPL ทำให้ NPL เพิ่มอย่างต่อเนื่อง


สำหรับปี 2015 นี้ การขยายตัวของสินเชื่อธนาคารน่าจะลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซ้ำเติมด้วยภาระการตั้งสำรองเอ็นพีแอล ก็มองกันว่าผลประกอบการคงไม่น่าประทับใจ ดังนั้นจึงมีแรงขายหุ้นในกลุ่มธนาคาร บางคนไหวตัวเร็วก็ขายตั้งแต่ปีที่แล้ว บางคนเพิ่งมาคิดได้ในช่วงปีนี้ก็รีบขายกันออกมา สภาพการจึงเป็นดังที่เห็นกันอยู่

หุ้นกลุ่มธนาคารจะลงไปถึงไหน 


สำหรับธนาคารใหญ่ คือ BBL, KBANK, SCB, KTB สินเชื่อ NPL กับภาระการตั้งสำรองคงเพิ่มขึ้นต่อไปในไตรมาส 2, 3, 4 ปัจจัยฉุดยังอยู่ต่อไปอีกพักใหญ่ ยังไม่ลดง่ายๆ ดังนั้นหุ้นกลุ่มธนาคารอาจลงต่อได้อีกนิดนึง ลองมาดูกรณีศึกษา KBANK ดังในภาพกัน



ในทางเทคนิค แนวรับสำคัญตามระดับฟิโบนาชชีมีหลายระดับ คือ 170, 145 และ 120 บาท แนวรับไหนน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด

สำหรับ 120 บาท ลุงแมวน้ำว่าต่ำเว่อไป เศรษฐกิจต้องเสียหายหนักราคาจึงจะลงไประดับนั้น ในทางปัจจัยพื้นฐานดูแล้วคงลงไปถึงนั่นได้ยาก

ที่ 145 บาท ราคานี้ หากพิจารณาจาก trailing P/E ratio (ค่าพีอีปัจจุบัน) ก็ราวๆ 7.4 เท่า ส่วนค่า P/BV ราคาต่อมูลค่าทางบัญชี 1.3 เท่า ถือว่าต่ำแล้ว ราคานี้มองแล้วเป็นไปได้มากกว่า

ดังนั้นลุงแมวน้ำมองว่ากลุ่มธนาคารยังฉุดตลาดได้อีกหน่อย

ส่วนธนาคารขนาดรอง พวก TISCO, TCAP ฯลฯ ลองดูกราฟ TISCO ธนาคารขนาดรองตั้งสำรองไปมากแล้วเนื่องจากเอ็นพีแอลโผล่ก่อนธนาคารใหญ่ อะไรที่ควรตั้งก็ตั้งไปเยอะแล้ว ดังนั้นภาระการตั้งในอนาคตมีอีกไม่มาก รูปแบบของราคาจึงไม่ลงหนักเหมือนธนาคารใหญ่


ไม่ต้องรีบร้อน พวกนี้ตอนฟื้นตัวจะค่อยๆฟื้น ใจเย็นๆค่อยๆรอเก็บได้คร้าบ