Friday, March 6, 2015

อัปเดตสงครามเงินตรา บาทยังแกร่ง


ความเปลี่ยนแปลงของเงินบาทเทียบกับเงินสกุลต่างๆในรอบ 1 ปี (มีนาคม 2014- มีนาคม 2015)


วันนี้เรามาอัปเดตสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนหรือสถานการณ์ค่าเงินกันบ้าง ช่วงนี้อะไรๆเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว บางเรื่องลุงก็ตามอัปเดตไม่ค่อยทัน ได้แต่เลือกเรื่องที่สำคัญทยอยมาเล่าสู่กันฟัง

สืบเนื่องจากการที่ญี่ปุ่นใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินหรือว่าคิวอีตั้งแต่ปีที่แล้ว อัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ ทำให้เงินเยนอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเร็วๆนี้ทางธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ก็ประกาศว่าจะผ่อนคลายทางการเงินด้วยการทำคิวอีบ้าง โดยอัดฉีดเงินเข้าซื้อพันธบัตรและตราสารอื่นรวมแล้วเดือนละ 6 หมื่นล้านยูโรไป 18 เดือน เริ่มปล่อยเงินอัดฉีดตั้งแต่มีนาคม 2015 หรือเดือนนี้นั่นเอง

ผลจากการทำคิวอีของญี่ปุ่นและยูโรโซน (ที่จริงเงินคิวอีของยูโรโซนเริ่มซื้อพันธบัตรหรือยังก็ไม่รู้เพราะนี่เพิ่งต้นเดือนมีนาคม แต่ว่าตลาดก็รับข่าวไปเรียบร้อยแล้ว) ทำให้เงินเยนและยูโรแข่งกันอ่อนค่า ธนาคารกลางของทุกประเทศก็รู้ดีว่าเงินเยนและเงินยูโรต้นทุนถูกๆเหล่านี้อาจไปแสวงหาผลประโยชน์ในประเทศอื่นๆ เนื่องจากปริมาณเงินมหาศาล การแสวงหาผลตอบแทนจากในบ้านตนเองก็มีขีดจำกัด ดังนั้นจึงต้องไหลออกไปยังประเทศอื่นๆ

ส่วนหนึ่งของเป้าหมายที่เงินต้นทุนถูกเหล่านี้ไหลออกไปแสวงหาประโยชน์ก็คือประเทศในย่านเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เพราะกลุ่มประเทศเหล่านี้มีอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรที่สูงพอควร ส่วนใหญ่ก็ตั้งแต่ 2% กว่าๆเป็นต้นไป แค่เข้าไปซื้อพันธบัตรก็ยังได้ผลตอบแทนดีกว่าอยู่ในบ้านตนเอง รวมทั้งหากเข้าตลาดหุ้นก็อาจได้ผลตอบแทนสูงขึ้น และนอกจากนั้นยังอาจได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย

ประเทศต่างๆก็รู้แกว เพราะเคยเจอกันมาแล้ว มุขนี้ไม่ใช่มุขใหม่ เมื่อเงินไหลเข้าประเทศมากๆ ค่าเงินของตนก็จะแข็ง ยิ่งพวกประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เน้นการส่งออก หากค่าเงินแข็งงก็เสียเปรียบ อย่ากระนั้นเลย ประเทศต่างๆจึงตั้งการ์ดสู้กับการไหลบ่าของกระแสเงินด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พยายามกดค่าเงินของตนเองให้อ่อนเพื่อป้องกันเงินไหลบ่าเข้า กับเพื่อรักษาผลประโยชน์ด้านการส่งออกด้วย นอกจากนี้หลายๆประเทศสภาพคล่องทางเศรษฐกิจเริ่มไม่ค่อยดี การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยผ่อนคลายทางเศรษฐกิจของตนเองอีกด้วย ก็มีประโยชน์หลายอย่าง แต่ผลเสียก็มี ผลคือหนี้เพิ่ม ก็ต้องชั่งใจเอา

ประเทศต่างๆในโลกลดอัตราดอกเบี้ยกันถ้วนหน้า ยุโรปนี่ก็ลดหลายประเทศ แต่เราจะมาเน้นที่ย่านเอเชียกัน จีนนี่ไม่กี่เดือนมานี้ลดสองรอบแล้ว ออสเตรเลียก็ลด อินเดีย อินโดนีเซีย ก็ลด เราลองมาดูตารางนี้กัน


ตารางนี้เป็นตารางอัตราแลกเปลี่ยน เงิน 1 บาทแลกเป็นเงินตราสกุลอื่นๆได้เท่าไร เปรียบเทียบตอนต้นปี 2014 กับวันที่ 3 มีนาคม 2015 (คือรอบ 1 ปี) ตารางนี้ดูง่ายๆคือ หากค่าเป็นบวก แปลว่าเงิน 1 บาทแลกได้มากขึ้น คือเงินสกุลนั้นๆอ่อนค่า

ยกตัวอย่างในตาราง เงินบาทแลกยูโร (บาท --> ยูโร) 22.6% หมายความว่าตอนต้นปีกับวันที่ 3 มีนาคม เงินบาทแลกยูโรได้มากขึ้น 22.6% แปลความว่าในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาเงินยูโรอ่อนตัวลง 22.6% นั่นเอง

จากในตาราง แปลว่าในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา เงินเยนอ่อนตัวลง 17.07% เทียบกับเงินบาท

และก็แปลว่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์อ่อนค่ากว่าเงินบาท 7.3% เงินริงกิตมาเลเซียอ่อนตัวลง 10.7% เงินรูเปียอินโดนีเซียอ่อนตัวลง 11.7%

ทีนี้ลุงแมวน้ำนำกราฟแสดงความเปลี่ยนแปลงของค่าเงินสกุลต่างๆมาให้ดูกันเป็นรายสกุลเงินเลย


เงินหยวนช่วงกลางปี 2014 แข็งค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินบาท แต่ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2014 เป็นต้นมา เงินหยวนอ่อนตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากจีนเห็นว่าแการส่งออกของตนไม่ค่อยดี จึงพยายามกดค่าเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยการส่งออก ผลก็คือกลายเป็นเงินหยวนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาท

















เงินสกุลเอเชียที่เป็นประเทศส่งออกส่วนใหญ่อ่อนค่าลง จีนนั้นเดิมทีค่าเงินหยวนแข็ง แต่แล้วก็ทนไม่ไหว ไปทำอะไรมาก็ไม่รู้ ค่าเงินหยวนในตอนปลายปี 2014 อ่อนตัวฮวบฮาบ จนตอนนี้ก็อ่อนกว่าเงินบาท ตารางนี้สะท้อนให้เห็นว่าเงินบาทแข็งกว่าเพื่อนบ้านที่ส่งออกด้วยกัน หากแข็งค่ากว่ามากก็แข่งขันลำบาก นอกจากนี้ สินค้าส่งออกของไทยในปัจจุบันยังเสียศักยภาพในการแข่งขันไปด้วย ก็ยิ่งลำบากมากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่นเงินยูโรอ่อนค่า ตอนนี้คนไทยหากไปเที่ยวยุโรปก็ถือว่าได้เปรียบเพราะราคาค่าทัวร์ถูกลง แต่ผู้ส่งออกไปยุโรปลำบาก เนื่องจากลูกค้ายุโรปบอกว่าสินค้าไทยแพงขึ้นมาก (เพราะยูโรอ่อนค่าเทียบกับบาท 22.6%) ลูกค้ายุโรปก็บอกว่าขอให้ลดราคาลง ไม่อย่างนั้นอาจพิจารณาซื้อสินค้าจากประเทศอื่นแทน พ่อค้าไทยก็อาจจำใจหักคอตัวเองลดราคาสินค้า ไม่อย่างนั้นก็เสียออร์เดอร์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กที่อำนาจต่อรองต่ำ อีกทั้งยังทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไม่ไหว ก็ขาดทุนสองเด้ง คือทั้งลดราคาแบบเฉือนเนื้อตนเอง ทั้งขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน แม้ขายสินค้าได้แต่ในที่สุดก็อยู่ไม่ไหว สถานการณ์ก็เป็นไปในทำนองนี้

สถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านย่านเอเชียนั้น ส่วนใหญ่ตั้งการ์ดสู้คิวอีญี่ปุ่น ยุโรป ด้วยการทำให้เงินตนเองอ่อนค่า ตลาดหุ้นต่างๆก็ขึ้นดีไปด้วย ส่วนตลาดหุ้นไทยนั้นไม่ได้อานิสงส์อะไร เนื่องจากตอนนี้ตลาดหุ้นไทยแพงพอสมควร อีกทั้งเงินบาทค่อนข้างแข็ง

ตอนนี้นักวิเคราะห์เศรษฐกิจส่วนใหญ่มองไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ คาดว่าไทยยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะเวลาอันใกล้นี้ (กนง จะประชุมกันกลางเดือนมีนาคมนี้ และคาดว่าในการประชุมรอบนี้ยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ย) เนื่องจากมองกันว่าถึงลดก็ไม่ช่วยส่งออกนัก แต่ผลข้างเคียงคือหนี้ครัวเรือนจะสูงขึ้น 

แต่น่าแปลกคือตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องถึงต้นมีนาคมนี้ มีเงินต่างชาติไหลเข้ามาซื้อทั้งในตลาดพันธบัตร และตลาดหุ้นไทย ลองดูกราฟ

ต่างชาติเริ่มซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา


นักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยเข้าซื้อในตลาดพันธบัตรไทยตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์


จะเห็นว่ายอดซื้อสะสมขยับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ลักษณะเช่นนี้คล้ายกับว่าต่างชาติมีลุ้นว่า กนง จะลดอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ จึงมาซื้อดักไว้ก่อน

ลุงแมวน้ำก็เดาไม่ถูกว่า กนง จะลดดอกเบี้ยหรือไม่ อีกไม่นานก็คงรู้คำตอบ แต่สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่า กนง จะลดดอกเบี้ยหรือไม่ สิ่งสำคัญก็คือผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างก็ต้องเอาตัวรอดให้ได้จากภาวะเศรษฐกิจในยุคนี้ให้ได้ต่างหาก แค่เรื่องลดดอกเบี้ยเป็นองค์ประกอบเดียว และให้ผลแค่ในระยะสั้น แต่การเอาตัวรอดยังต้องฝ่าฟันในด้านอื่นๆอีกมาก ดังนั้นทั้งผู้ประกอบการและนักลงทุนจำเป็นต้องมองภาพและวางกลยุทธ์สำหรับระยะกลางและยาวไว้เป็นสำคัญจึงจะพาตัวรอดได้

Monday, March 2, 2015

จัดพอร์ตลงทุนหุ้นเติบโต สไตล์ลุงแมวน้ำ


แนวคิดในการจัดพอร์ตลงทุนแนวหุ้นเติบโตของลุงแมวน้ำ แบ่งเป็น 4 เซ็กเตอร์หรือ 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อการกระจายความเสี่ยง

ตลาดหุ้นไทยแพงแล้วหรือ


เมื่อถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนประจำปี 2557 ก็ทยอยประกาศกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว มีหุ้นจำนวนไม่น้อยที่มีผลประกอบการไม่ค่อยน่าประทับใจเท่าไร มีทั้งแบบกำไรน้อยลง ไม่มีกำไร หรือขาดทุน มีหมดนั่นแหละ ที่กำไรสวยงามตามคาดหมายนั้นก็มีแต่เป็นส่วนน้อยกว่า สาเหตุก็เป็นผลมาจากปัจจัยแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจนั่นเอง

จากการที่ผลประกอบการน่าประทับใจน้อยไปสักนิดนี่เอง ทำให้เมื่อค่าพีอีของดัชนีเซ็ตเดิมอยู่ที่ประมาณ 19 กว่าๆ (ค่าพีอีที่พูดถึงนี้คือพีอีจากผลประกอบการย้อนหลังหรือที่เรียกว่า trailing P/E ratio) พอนำผลประกอบการล่าสุดนี้ไปร่วมคำนวณด้วย ค่าพีอีก็ขยับขึ้นมากลายเป็น 21.6 เท่า จึงกลายเป็นว่าค่าพีอีย้อนหลังของตลาดหุ้นไทยแพงยิ่งขึ้นไปอีก

ตลาดหุ้นไทยแพงแล้วหรือ ถ้าพีอี 21.6 เท่าก็แพงอยู่เหมือนกัน ส่วนพีอีของตลาด MAI ตอนนี้อยู่ที่ 85.5 เท่า ถือว่าแพงมาก

ถ้ายังงั้นทำยังไงดีล่ะ จะไปลงทุนต่างประเทศตอนนี้ก็ไม่ง่ายแล้ว ที่ว่าไม่ง่ายไม่ได้หมายถึงขั้นตอนหรือกระบวนการ เพราะว่าแค่ซื้อกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศก็ได้แล้ว แต่ที่ว่าไม่ง่ายนั้นลุงแมวน้ำหมายถึงว่าการสร้างผลตอบแทนนั้นไม่ง่าย เพราะอัตราแลกเปลี่ยนหรือปัจจัยด้านค่าเงินสกุลต่างๆ ตลาดหุ้นในยุคคิวอีท่วมโลกนั้นทำให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมาก นอกจากปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนอาจลดลงแล้ว แม้แต่ตัวหุ้นที่เราไปลงทุนไว้ในต่างประเทศเองก็ต้องมาทบทวนและประเมินกันใหม่ เนื่องจากหลายกิจการก็มีความสามารถในการแข่งขันลดลงเนื่องจากผลของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ดังนั้นอัตราแลกเปลี่ยนในยุคนี้ทำให้การสร้างผลตอบแทนจากลงทุนในต่างประเทศไม่ง่ายนัก

อย่ากระนั้นเลย หุ้นไทยก็ยังมีเสน่ห์อยู่ ความได้เปรียบของหุ้นไทยคือเรามีความคุ้นเคย หาข้อมูลก็ง่าย ไปคุยกับผู้บริหารก็ไม่ยาก บางทีโทรไปที่นักลงทุนสัมพันธ์ ผู้บริหารก็คุยสายให้ข้อมูลเองเลย หรือไม่อย่างนั้นก็ไปเจอกันในวันอ๊อปเดย์ (opportunity day) ก็ได้ ไปซักถามกันในวันนั้น

ตลาดหุ้นไทยนั้นใช่ว่าจะเป็นหุ้นแพงทุกหุ้น หุ้นที่ยังลงทุนได้ก็มี หากจะเลือกหุ้นสำหรับลงทุนในตอนนี้ ต้องเน้นที่ดีและถูก หุ้นที่ดีแต่แพงก็ไม่ไหว

หุ้นถูกและดียังมีอยู่หรือ ในวิกฤติย่อมมีโอกาส วิกฤตของบางกิจการคือโอกาสของบางกิจการ นอกจากนี้ ในภาวะที่หลายๆคนมองว่าหุ้นไทยแพงและจ้องขายกันอยู่นั้น หุ้นดีๆที่พลอยฟ้าพลอยฝนถูกขายไปด้วยราคาถูกๆก็มี ที่เรียกว่าหุ้นต่ำกว่ามูลค่า (undervalued stock) ไง

วันนี้ลุงแมวน้ำอยากคุยเรื่องการจัดพอร์ตการลงทุนสำหรับปี 2558 หลังจากที่ผลประกอบการตลอดทั้งปี 2557 ออกมาเรียบร้อยแล้วกัน กลายเป็นว่าตลาดหุ้นไทยแพง ดังนั้นการลงทุนต้องระวังมากยิ่งขึ้น

ที่ลุงแมวน้ำจะคุยในวันนี้คงไม่ได้คุยไปถึงการจัดสรรเงินออมมาลงทุนว่าต้องจัดสรรอย่างไร เพราะนั่นจะเป็นเรื่องยาวมาก เอาเป็นว่าเรามาตั้งต้นกันที่ว่าหากเรามีเงินก้อนหนึ่งที่เตรียมไว้สำหรับการลงทุนในหุ้นแล้ว เราจะจัดพอร์ตการลงทุนยังไงดี


จัดพอร์ตลงทุนด้วยหุ้นเติบโต (Growth Stock)


แนวทางของพอร์ตการลงทุนก็มีหลายแนว แบบอนุรักษ์นิยมเน้นที่หุ้นปลอดภัย แนวนี้ก็ได้ผลตอบแทนน้อยหน่อย คือความเสี่ยงต่ำผลตอบแทนต่ำก็ว่ายังงั้นเถอะ อย่างเช่น หุ้นสาธารณูปโภค กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กองรีทส์) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ที่เน้นผลตอบแทนจากเงินปันผล ดังที่เราเคยคุยกันมาบ้างแล้ว

หากหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่งก็คงต้องจัดพอร์ตแนวหุ้นเติบโต ที่หวังผลตอบแทนจากราคาหุ้นที่สูงขึ้น (และหากได้ปันผลด้วยก็ยิ่งดี)

ตอนนี้ยังมีหุ้นแนวเติบโตที่ดีและถูกอยู่อีกไหม ลุงแมวน้ำลองเล็งๆดูแล้วยังมีอยู่จริง เราลองมาจัดพอร์ตกัน

ลุงแมวน้ำจัดพอร์ตการลงทุนเป็นหุ้น 4 กลุ่มธุรกิจ (สี่เซ็กเตอร์) เพื่อการกระจายความเสี่ยง หากหุ้นกระจุกอยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน หากธุรกิจนั้นได้รับผลกระทบแรงเราก็โดนไปเต็มๆเลย กระจายสักหน่อยดีกว่า ลุงแมวน้ำคิดว่า 4 กลุ่มกำลังเหมาะ รวมแล้วมีหุ้น 4-6 ตัว อย่าให้มากเกินไป เพราะจะดูแลไม่ไหว


ตัวอย่างพอร์ตลงทุนแนวหุ้นเติบโตแบบที่ 1


เราลองมาจัดพอร์ตหุ้นเติบโตแบบแรกกัน ตามภาพนี้เลย


แนวคิดในการจัดพอร์ตลงทุนแนวหุ้นเติบโตของลุงแมวน้ำ แบ่งเป็น 4 เซ็กเตอร์หรือ 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อการกระจายความเสี่ยง


เรามาดูเหตุผลกันว่าทำไมลุงแมวน้ำจึงเลือก 4 กลุ่มนี้จัดเป็นพอร์ต

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ น้ำหนักในพอร์ตคือ 25% ที่เลือกกลุ่มนี้ก็เพราะตอบโจทย์ชุมชนเมืองเติบใหญ่นั่นเอง กลุ่มนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีก นั่นคือ รับเหมาก่อสร้าง ที่อยู่อาศัย และนิคมอุตสาหกรรม ในแต่ละกลุ่มย่อย ลุงแมวน้ำพิจารณาแล้วยังมีหุ้นที่ดีและราคาถูก สามารถลงทุนได้อยู่หลายตัวทีเดียว จากสามกลุ่มย่อยนี้เลือกมา 2 หุ้นก็แล้วกัน (หมายถึงว่าหุ้น 2 ตัวรวมกันเป็นน้ำหนัก 25% เท่ากับว่าลงทุนหุ้นตัวละ 12.5% ของเงินลงทุนนั่นเอง)

กลุ่มสื่อสารโทรคมนาคม น้ำหนักในพอร์ตคือ 25% ที่เลือกกลุ่มนี้เพราะตอบโจทย์ชุมชนเมืองเติบใหญ่ ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายเร่งรัดเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล หุ้นสื่อสารใหญ่ที่ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจดิจิทัลแต่ถูกขายทิ้งแบบไม่ใยดีจนราคาต่ำน่าสนใจก็ยังมีอยู่ เลือกไว้ 1 ตัวละกัน

หุ้นกลุ่มขนส่งทางเรือ น้ำหนักในพอร์ตคือ 25% ลุงแมวน้ำเน้นที่ขนส่งทางเรือ ไม่เลือกเครื่องบินหรืออื่นๆ กลุ่มนี้เป็นหุ้นฟื้นไข้ตามเศรษฐกิจโลก เลือกเรือเทกองสักลำ เรือตู้คอนเทนเนอร์สักลำ รวมเป็น 2 ตัว

หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลหรือสาธารณูปโภคพลังงานทดแทน น้ำหนักในพอร์ตคือ 25% ที่จริงหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลและกลุ่มสาธารณูปโภค โดยทั่วไปแล้วจัดเป็นหุ้นเน้นความปลอดภัยหรือว่า defensive stock แต่กลุ่มโรงพยาบาลตอบโจทย์ประชากรสูงวัย จะมองว่าเป็นหุ้นเติบโตก็ได้ ปลอดภัยด้วยเติบโตได้ด้วย ทูอินวันก็ดีเหมือนกัน ^_^

ส่วนหุ้นสาธารณูปโภคพลังงานทดแทน (เน้นที่พลังงานทดแทน) นั้นก็ทำนองเดียวกัน ปัจจุบันภาครัฐสนับสนุนด้านพลังงานทดแทน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตรับซื้อตามสัญญาที่ผูกพัน

หุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลหรือพลังงานทดแทนนี้เลือกไว้ 1 ตัวก็พอ

รวมแล้ว 4 กลุ่มแต่มีหุ้น 6 ตัว

หากถามลุงแมวน้ำว่าทำไมต้องเป็น 4 กลุ่มนี้ คำตอบก็คือเพราะว่า 4 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโต อีกทั้ง 4 กลุ่มกระจายความเสี่ยงได้และไม่มากเกินไปจนดูแลไม่ไหว รวมทั้งยังมีหุ้นดีราคาถูกให้เลือก และที่สำคัญคือ ลุงแมวน้ำคิดว่าหุ้นใน 4 กลุ่มนี้ไม่ค่อยขึ้นอยู่กับกระแสเงินของต่างชาตินัก คือเผื่อไว้ในกรณีที่เงินต่างชาติเข้าน้อยหรือไม่เข้ากลุ่มเหล่านี้ก็ยังพอไปได้ เพราะเป็นกลุ่มที่นักลงทุนรายย่อยและสถาบันลงทุนกัน อีกทั้งแต่ละกลุ่มก็มีสตอรีของตนเองอยู่พอสมควร ลุงแมวน้ำจึงนำเสนอไว้เป็นแนวคิด


ตัวอย่างพอร์ตลงทุนแนวหุ้นเติบโตแบบที่ 2


นอกจากนี้ก็ยังมีการจัดพอร์ตแบบที่สอง ดัดแปลงจากแบบแรกนิดหน่อย ตามนี้เลย




นั่นคือ ตัดกลุ่มเรือออกไปและเปลี่ยนเป็นหุ้นอื่นๆแทน หมายความว่าหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมอะไรก็ได้ ที่เราพิจารณาแล้วว่ามีศักยภาพในการแข่งขัน มีโอกาสเติบโต และราคาถูก หากเราเจอหุ้นแบบนี้ก็ไม่ต้องสนใจกลุ่มอุตสาหกรรมก็ได้ ก็เลือกเอาไว้เลย


แนวคิดในการเลือกหุ้น


เมื่อเราได้กลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว คราวนี้ก็มาถึงการเลือกหุ้น การเลือกหุ้นนี้ต้องใช้ปัจจัยพื้นฐานจึงจะรู้ว่าเป็นหุ้นดีราคาถูกหรือไม่ หากใช้ปัจจัยทางเทคนิคจะบอกไม่ได้

การพิจารณาก็ต้องพิจารณาถึงธรรมาภิบาล ความสามารถในการแข่งขัน พิจารณาค่าพีอีต่ำ พีอีนี้ที่เป็นผลการดำเนินงานจริงๆ ไม่ใช่คำนวณจากการที่มีกำไรพิเศษมากมาย ดังที่เราเคยคุยกันแล้ว นอกจากนี้แล้วก็อาจพิจารณาค่าผลตอบแทนเงินลงทุน (ROE, return on equity) เลือกที่สูงหน่อย ขณะเดียวกันก็ต้องมีหนี้ต่ำๆ (คือมีค่า D/E ต่ำ) ข้อมูลปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้เป็นข้อมูลที่หาดูได้ง่าย ทำความเข้าใจได้ง่ายด้วย ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นอ่านงบการเงินเป็น

ก็ดูข้อมูลปัจจัยพื้นฐานไม่กี่ค่านี่แหละ ที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นการประเมินความสามารถในการแข่งขันของการกิจมากกว่า และสังเกตว่าลุงแมวน้ำพูดเรื่องธรรมาภิบาลเป็นเรื่องแรก ซึ่งลุงถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด สำคัญเหนือกว่าปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ หากธรรมาภิบาลไม่ผ่าน อย่างอื่นก็ไม่ต้องพิจารณา

นี่แหละ การจัดพอร์ตลงทุนหุ้นไทยแบบแมวน้ำๆ ก็เป็นแนวคิดที่อาจลองนำไปพิจารณาดู เรื่องการเลือกหุ้นต้องใช้ปัจจัยพื้นฐาน ส่วนจังหวะเข้าออกการลงทุนเราใช้ปัจจัยทางเทคนิคก็ได้ผลดี เอาไว้ตอนหน้ามาคุยกันต่อคร้าบ