Monday, February 16, 2015

สัญญาณไม่ค่อยดี ควรระวังอั่งเปา





ตลาดพันธบัตรมีแรงขาย


วันนี้ลุงแมวน้ำยังไม่คุยเรื่องฟองสบู่และการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว เนื่องจากมีเรื่องที่เร่งด่วนกว่าจะมาเตือนพวกเรา

เท้าความนิดนึง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตลาดหุ้นอเมริกาอยู่ในปลายสามเหลี่ยมชายธง ลุงแมวน้ำก็เขียนบทความว่าสงสัยจะไปต่อไม่ไหว แต่จากนั้นเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง ตลาดหุ้นอเมริกาก็ทะลุปลายชายธงขึ้นด้านบน และทำจุดสูงสุดใหม่อีกแล้ว นั่นคือ ดัชนี S&P 500 ทะยานสู่ 1096 จุดซึ่งเป็นจุดสูงสุดใหม่นับตั้งแต่ตั้งตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกามา พร้อมกันนั้นตลาดหุ้นเอเชียอีกหลายตลาดก็ทำจุดสูงสุดใหม่ เช่น เยอรมนี อินโดนีเซีย อินเดีย ฯลฯ แม้แต่ตลาดหุ้นไทยก็ดูเหมือนจะฝ่าด่าน 1600 จุดไปได้แล้ว ตลาดหุ้นในภาพรวมดูเหมือนจะสดใสและน่าจะไปต่อได้

แต่ช้าก่อน อย่าเพิ่งย่ามใจ ลุงแมวน้ำสังเกตพบสัญญาณที่ไม่ค่อยดีบางอย่างในตลาดพันธบัตร ซึ่งพวกเราควรระวังเอาไว้ เราลองมาดูกันทีละภาพ ภาพมาก่อน คำบรรยายตามหลัง


อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน อายุ 10 ปี ขยับขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภาพนี้เป็น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน อายุ 10 ปี (10 year US government treasury yield) จะเห็นว่าตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอเมริกาพุ่งอย่างรวดเร็ว ในสองสัปดาห์นี้อัตราผลตอบแทนพุ่งขึ้นมา 50 ปิ๊ป หรือ 50 จุดเบสิส (basis point) หรือ +21% แล้ว อัตราผลตอบแทนที่สูงอย่างรวดเร็วนี้แปลว่ามีแรงขายพันธบัตรอเมริกา


อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทีนี้มาดู อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น อายุ 10 ปี บ้าง ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม หรือเมื่อ 3 สัปดาห์ที่แล้ว อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นก็พุ่งขึ้น 21 จุดเบสิสหรือ +102% ทีเดียว แปลว่ามีแรงขายพันธบัตรญี่ปุ่นเช่นกัน


อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ อายุ 10 ปี ก็เช่นกัน ในสองสัปดาห์อัตราผลตอบแทนพุ่งขึ้น 35 จุดเบสิสหรือ +26% แปลว่ามีแรงขายพันธบัตรอังกฤษ


อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนี ปรับตัวขึ้น

พันธบัตรเยอรมนี ก็มีแรงขาย แต่ไม่แรงนัก ในสองสัปดาห์อัตราผลตอบแทนขยับขึ้น 4.5 จุดเบสิส หรือ +15%


อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย

พันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมาก็มีแรงขายมาตลอด หนึ่งเดือนอัตราผลตอบแทนขยับขึ้นมา 21 จุดเบสิสหรือ +8%

จะเห็นว่าแนวโน้มตลาดพันธบัตรมีแรงขายออกมา ที่เห็นแรงขายชัดคือตลาดสำคัญอเมริกา ญี่ปุ่น และอังกฤษ


ตลาดหุ้นสำคัญติดแนวต้านใหญ่


ทีนี้ลองมาดูที่ตลาดหุ้นกันบ้าง ดูตลาดหุ้นอเมริกากันก่อน


ตลาดหุ้นอเมริกากำลังไปทดสอบแนวต้านสำคัญที่ 2140 จุดของดัชนี S&P 500

ตลาดหุ้นอเมริกา โดยพิจารณาจากดัชนี S&P 500 แม้จะตัดทะลุปลายชายธงขึ้นไปด้านบนได้ อันหมายถึงสัญญาณตลาดขาขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวต้านฟิโบนาชชี 161.8% ที่ระดับดัชนี 2140 จุดอยู่ ซึ่งแนวต้านนี้เป็นแนวต้านสำคัญเนื่องจากเป็นแนวต้านในระดับคลื่นใหญ่ ซึ่งปกติแนวต้านสำคัญเช่นนี้ดัชนีไม่สามารถผ่านได้ในทันที มักชนแล้วถอยลงมาก่อน สำหรับปี 2015 นี้ตลาดหุ้นอเมริกาหากอารมณ์ตลาดแจ่มใสอาจไปได้ถึง 2450 จุด หากอยู่ในภาวะไม่แจ่มใส กังวล ตลาดก็คงไปได้แค่ 2140 จุด ภาวะอารมณ์ตลาดจะเป็นแบบใดต้องตามดูกันต่อไป


ตลาดหุ้นเยอมนีกำลังทดสอบแนวต้านสำคัญ

ตลาดหุ้นเยอรมนี พิจารณาจากดัชนีแดกซ์ (DAX) มีแนวต้านฟิโบนาชชี 161.8% อันเป็นแนวต้านในระดับคลื่นใหญ่ทีสำคัญอยู่สองกรอบ คือ หากวัดคลื่นแบบสีน้ำเงิน แนวต้านใหญ่จะอยู่ตรงนี้เลย คือ ที่ดัชนี 10960 จุด หากวัดแบบสีดำแนวต้านสำคัญจะอยู่ที่ 11800 จุด ซึ่งลุงแมวน้ำถือว่าไม่ว่าจะวัดแบบใด (สีน้ำเงินหรือสีดำก็ตาม) แนวต้านก็อยู่ในโซนเดียวกัน คือ แถวๆนี้นั่นเอง


ตลาดหุ้นไทยแม้ฝ่าด่าน 1600 จุดมาได้ แต่ยังไม่ไปไหน ยังวนเวียนอยู่แถวนี้ หากตลาดหุ้นเกิดอาการตกใจก็อาจไหลลงได้

พิจารณาตลาดหุ้นไทยดูบ้าง ดัชนีผ่าน 1600 จุดมาได้หลังจากที่ติดที่ด่าน 1600 จุดนี้มานานหลายเดือน แต่แม้ว่าผ่านได้ลุงแมวน้ำก็ยังเห็นว่าไม่เด็ดขาด เพราะยังป้วนเปี้ยนอยู่แถวๆนี้ อีกทั้งดูแท่งเทียนแท่งล่าสุดในกราฟรายสัปดาห์ จะเห็นว่าเป็นรูปดาวโดจิ โดจิแปลความว่าลังเล


ระวัง bond shock


ประมวลสถานการณ์ทั้งหมด ลุงแมวน้ำมีความเห็นว่าเกิดแรงขายผิดปกติในตลาดพันธบัตร ประเด็นที่ต้องระวังคือตลาดพันธบัตรมีขนาดใหญ่กว่าตลาดหุ้นหลายเท่า หากมีแรงขายแบบตกใจ (bond shock) อาการช็อกจะลามไปยังตลาดหุ้น รวมทั้งราคาทองคำ น้ำมันดิบ และค่าเงินด้วย โดยหุ้นกับสินค้าโภคภัณฑ์จะร่วงเพราะนักลงทุนขาดทุนจากตลาดพันธบัตร ค่าเงินดอลลาร์ สรอ น่าจะแข็งแบบพรวดพราด และเงินสกุลเอเชียจะอ่อนค่าลง ยกเว้นเงินเยนกับฟรังก์สวิสที่ลุงไม่แน่ใจนักว่าจะอ่อนหรือไม่ สองสกุลนี้มองไม่ออก

ประกอบกับตลาดหุ้นสำคัญ อเมริกา เยอรมนี ติดแนวต้านใหญ่ทั้งสองตลาดด้วย มีอะไรมากระทบหน่อยก็คงมีแรงขายออกมา และลามไปยังตลาดอื่นด้วย

อะไรที่จะทำให้ตลาดพันธบัตรเกิดแรงขายแบบตกใจขึ้นมา อันที่จริงสถานการณ์นี้คาดหมายได้อยู่แล้วว่าเมื่อใกล้เวลาที่ป้าเจนจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟด ตลาดจะเกิดการช็อกชั่วระยะเวลาหนึ่ง ทั้งในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น เพียงแต่ว่าเมื่อไรเท่านั้นเอง จังหวะเวลาเป็นเรื่องที่เราไม่รู้ แต่อาการเท่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบันก็ส่อเค้าว่าอาการตลาดพันธบัตรไหลอาจกำลังเกิดขึ้น

หากเกิดขึ้นจริง ตลาดพันธบัตร ตลาดหุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ จะปรับตัวลงหมด โดยเฉพาะตลาดหุ้นอาจปรับตัวลงได้ถึงระดับ -10% ก็น่าตกใจอยู่เหมือนกัน แต่ก็ตกใจโดยไม่มีอัตรายอะไร เดี๋ยวก็ผ่านไป หลังจากที่เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วทุกอย่างก็ไปต่อได้

วางกลยุทธ์รับมือกันให้ดีนะคร้าบ เรื่องตลาดตกใจนี่สักวันก็ต้องเกิด เราจะรับมืออย่างไรดี ต้องไปวางกลยุทธ์กัน ในวิกฤตย่อมมีโอกาส ผู้ที่เตรียมเข้าลงทุนในหุ้นหรือพันธบัตร ควรรอดูไปก่อน ใครที่เตรียมเข้าลงทุนในทองคำและน้ำมันก็ควรรอดูเช่นกัน

อัตราแลกเปลี่ยนคงผันผวนหนัก แต่เก็งกำไรยากมาก ตลาดเงินตรายุคคิวอีท่วมโลกคาดการณ์อะไรได้ยาก

เดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนแห่งความรัก กุหลาบก็สีแดง อีกทั้งยังมีเทศกาลตรุษจีน อั่งเปาก็สีแดง อะไรๆก็แดงไปหมด ระวังว่าตลาดจะได้รับแจกอั่งเปาสีแดงๆด้วยคร้าบ ตัวบ่งชี้คืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรอเมริกา ให้ตามดูไปเรื่อยๆ

Friday, February 13, 2015

อสังหาริมทรัพย์ไทยใกล้ฟองสบู่แตกหรือยัง (3)

“Toward a New Frontier” Series บทความชุด “ทะยานสู่พรมแดนใหม่”



ตึกซูเปอร์ทาวเวอร์ ย่านพระราเก้า-รัชดาภิเษก จะขึ้นตำแหน่งสูงที่สุดในเอเชียเมื่อสร้างเสร็จ สูง 125 ชั้น มูลค่าโครงการทั้งบริเวณประมาณ 1.2 แสนล้านบาท


จับตาดีลใหญ่ค่ายอสังหาริมทรัพย์ แฝงนัยบอกทิศทางอสังหาฯ


“ในปี 2556 จนถึงต้นปี 2558 นี้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในวงการอสังหาริมทรัพย์ เพราะเกิดดีลหรือว่าข้อตกลงทางธุรกิจในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ขึ้นมากมาย และเป็นมูลค่ามหาศาล หรือหากจะพูดให้เจาะจงอีกหน่อยก็คือเกิดการร่วมทุนและการเทกโอเวอร์กันเป็นมูลค่ามหาศาลทั้งในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์” ลุงแมวน้ำพูด

“มียังงั้นด้วยเหรอลุง ลุงลองยกตัวอย่างหน่อยสิครับ” ลิงถาม

“ลุงจะยกตัวอย่างผู้ประกอบการรายใหญ่นอกตลาดหลักทรัพย์เข้ามาเทกโอเวอร์กิจการใจตลาดเพื่อเข้าตลาดทางอ้อม (back door listing) ก็ได้แก่


รวมดีลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในปี 2014 มูลค่าของดีลรวมกันนับแสนล้านบาท


“กลุ่มบริษัท สิงห์ พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด ของตระกูลภิรมย์ภักดี ค่ายน้ำดื่มสิงห์ เทกโอเวอร์บริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ จากนั้นหุ้น RASA ก็เปลี่ยนชื่อเป็น S มูลค่ากิจการก็ระดับ 7-8 พันล้านบาท นี่คือการที่ค่ายสิงห์เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ทางอ้อม และนอกจากนี้ยังมีข่าวจะเทกโอเวอร์กิจการอสังหาเพิ่มเติมอีกด้วย

“กลุ่มสิริวัฒนภักดีเทกโอเวอร์หุ้น UV และใช้ UV เทคโอเวอร์หุ้น GOLD จากนั้นใช้ GOLD เทกโอเวอร์ KLand ดีลชุดนี้ค่อนข้างซับซ้อน แต่สรุปก็เป็นการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มสิริวัฒนภักดี

“ให้สังเกตว่าสองดีลนี้เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่นอกตลาด มีที่ดินในมือค่อนข้างมากและต้องการนำมาพัฒนาให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม KPN ของตระกูลณรงค์เดชที่เตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

“ทีนี้เรามาดูกลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และทำดีลเทกโอเวอร์บ้าง ลองดูตัวอย่างกัน

“พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน)(PF) เปิดเผยว่า การเข้าซื้อกิจการบริษัท ไทยพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (TPROP) ดีลนี้หลักพันล้านบาท

“NPARK เทกโอเวอร์บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในเครือ BTS โดยการแลกหุ้น ดีลนี้หลักหมื่นล้านบาท

“WHA เทกโอเวอร์ HEMRAJ ดีลนี้ก็ระดับหลายหมื่นล้านบาท เป็นการควบรวมกิจการในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม คลังสินค้า ซึ่งเป็นธุรกิจในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เช่นกัน

“BMCL ควบรวม BECL คือรถไฟฟ้าใต้ดินควบรวมกับทางด่วนนั่นเอง นี่ก็มองว่าเป็นดีลทางอสังหาริมทรัพย์ได้เพราะโครงการขนส่งมวลชนมีเรื่องการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ควบคู่ไปด้วย

“นอกจากนี้มาดูดีลธุรกิจที่เป็นการร่วมทุนบ้าง มีทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ ลองดูตัวอย่าง

“กลุ่ม BTS ร่วมทุนกับ SIRI จะเห็นว่ากลุ่ม BTS ต้องการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ใกล้เคียงระบบราง โดยอสังหาฯเพื่อขายจะร่วมทุนกับแสนสิริ ส่วนอสังหาเพื่อการให้เช่าจะไปทำกับ NPARK ดูมีการแบ่งบทบาทกันค่อนข้างชัด

“กลุ่ม ซี.พี.จับมือสยามพิวรรธน์ (เครือเดอะมอลล์) สัดส่วนลงทุน 50:50 ลงทุนอภิมหาโครงการ ไอคอนสยาม บนเนื้อที่ 50 ไร่ ถ.เจริญนคร มูลค่าลงทุนกว่า 5 หมื่นล้าน

“นี่ยังไม่หมดนะ ลุงแค่ยกตัวอย่างรายใหญ่ๆเท่านั้น รวมมูลค่าของดีลธุรกิจใหญ่ๆเท่าที่ลุงเล่ามานี่ก็เป็นแสนล้านบาทแล้ว นอกจากนี้ยังมีของศุภาลัย ธนาสิริ เอพี และยังมีดีลของรายขนาดกลางอีกด้วย ซึ่งรวมแล้วก็เยอะมาก จำไม่หมดเลยทีเดียว”

“แล้วที่ลุงเล่ามาทั้งหมดนี่จะบอกอะไรฮะ” กระต่ายน้อยกะพริบตากลมโตถามบ้าง “ผมยังไม่เข้าใจเลย”

“ลุงกำลังเล่าเพื่อให้เกิดคำถามว่าทำไมผู้ประกอบการรายใหญ่ ทุนมหาศาล จึงกระโดดเข้ามาในวงการอสังหาริมทรัพย์กันมากมายในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน พวกนี้ไม่ได้สุ่มสี่สุ่มห้าเข้ามาทำโครงการหรอก ผู้ประกอบการรายใหญ่ทุนหนาเหล่านี้ต่างก็มองออกว่าต่อไปธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเติบโตได้อีกมากมาย จึงได้วางแผนเข้ามาทำโครงการน่ะสิ”


อภิมหาโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์


“เมื่อครู่นี้ลุงแมวน้ำคุยในแง่ของดีลธุรกิจขนาดใหญ่ให้ฟัง สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่เสริมความมั่นคงแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มของตนเองด้วยดีลทางธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการควบรวม ร่วมทุน ทีนี้หากเราจะมองถึงตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโครงการใหญ่ๆก็มีที่น่าสนใจหลายโครงการ แต่ละโครงการเป็นหลักหมื่นล้านบาทถึงแสนล้านบาททั้งสิ้น เราลองมาดูกัน

“โครงการซูเปอร์ทาวเวอร์ (Super Tower) ย่านพระรามเก้าตัดกับรัชดาภิเษก ย่านนี้เป็นเขตธุรกิจใหม่ ราคาแพงระยับ อาคารซูเปอร์ทาวเวอร์นี้พัฒนาโดยกลุ่ม GLand สูง 125 ชั้น สูงที่สุดในเอเชียเลยทีเดียว หากรวมโครงการที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน ศูนย์ประชุม อื่นๆเข้าไปด้วยก็มีมูลค่าโครงการราวหนึ่งแสนสองหมื่นล้านบาท


โครงการไอคอนสยาม โครงการหรูริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งเจริญนคร ธนบุรี มูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาท

“โครงการไอคอนสยาม อยู่ในย่านเจริญนคร ฝั่งธนบุรี เป็นการร่วมทุนของกลุ่มซีพีกับกลุ่มเดอะมอลล์ มูลค่าโครงการราวห้าหมื่นล้านบาท เป็นอาณาจักรหรูอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในย่านฝั่งธนบุรี ซึ่งเดิมเป็นย่านเติบโตช้ากว่าฝั่งพระนครมาก ทั้งๆที่เป็นกรุงเทพฯด้วยกัน แต่ต่อไปธนบุรีจะเจริญอย่างรวดเร็ว

“นอกจากโครงการไอคอนสยามแล้ว ยังมีโครงการหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยาในย่านนี้อีกหลายโครงการทีเดียว ทั้งริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี

“โครงการมิกซ์ยูส (Mixed Use) โครงการหลายหมื่นล้านบาท เป็นอภิมหาโครงการอีกแห่งหนึ่ง อยู่ตรงสวนลุมไนท์บาซาร์เดิมนั่นเอง ข้างๆสวนลุมพินี กลุ่ม UV ของค่ายสิริวัฒนภักดีประมูลได้ไปทำโครงการ


โครงการเซ็นทรัลเวสต์เกต ย่านบางใหญ่ เป็นช้อปปิงมอลล์ใหญ่ระดับภูมิภาค มูลค่า 15,000 ล้านบาท

“เซนทรัลเวสต์เกต (Central WestGate) เป็นอภิมหาโครงการช้อปปิงมอลล์ทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ นั่นคือย่านบางใหญ่ มูลค่าหนึ่งหมื่นห้าพันล้านบาท



โครงการบางกอกมอลล์ และโครงการอื่นๆ ย่านบางนา

“บางกอกมอลล์ (The Bangkok Mall) โครงการหรูย่านกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก คือย่านบางนา เป็นโครงการของกลุ่มเดอะมอลล์ มูลค่าราวสองหมื่นล้านบาท แถวนั้นยังมีโครงการอื่นที่ช่วยเสริมสร้างความเจริญในพื้นที่อีกด้วย เช่น เมกาบางนา ศูนย์ประชุมไบเทค ฯลฯ

โครการยักษ์เหล่านี้ทยอยดำเนินการไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆอีกที่ลุงไม่ได้กล่าวถึง ดังนั้นหากจะมองจากตัวโครงการขนาดใหญ่ต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล


“นอกจากนี้ หากเรามาพิจารณาถึงโครงการรถไฟฟ้ามาหานะเธอ ปัจจุบันกรุงเทพฯมีโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย 10 สี เปิดดำเนินการไปแล้วหลายเส้นทาง ปัจจุบันมีสถานีรถไฟฟ้าประมาณ 60 สถานี มีจุดตัด 3 จุดตัด ต่อไปเมื่อเปิดเต็มโครงการจะมีสถานีกว่า 200 สถานี และมีจุดตัดราว 24 จุด ทิศทางการเติบโตของโครงการอสังหาฯจะเกิดตามแนวรถไฟฟ้าและจุดตัดรถไฟฟ้า หากพิจารณาจากโครงการรถไฟฟ้า 10 สีก็จะเห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของกรุงเทพฯว่ายังเติบโตไปได้อีกมาก และนั่นแปลว่าทิศทางของอสังหาฯในกรุงเทพฯยังโตไปได้อีกมากด้วยเช่นกัน