Monday, November 17, 2014

การประเมินราคาเป้าหมายด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานผสมการวิเคราะห์ทางเทคนิค (1)





เราได้คุยกันถึงเรื่องโค้งทรงระฆังคว่ำและวัฏจักรเศรษฐกิจ วัฏจักรกิจการ และวัฏจักรราคาหุ้น พร้อมกับคุยกันเรื่องค่าพีอีของหุ้นกันมาหลายตอนแล้ว วันนี้เราจะเปลี่ยนบรรยากาศกันบ้าง

เรื่องที่ลุงแมวน้ำจะคุยในตอนนี้เป็นการประเมินราคาเป้าหมายของหุ้นด้วยวิธีทางสายวิเคราะห์ทางเทคนิคและวิธีทางสายปัจจัยพื้นฐานผสมกัน อันเป็นวิธีที่ลุงแมวน้ำใช้ในการลงทุน

ทำไมต้องใช้วิธีทางเทคนิคและพื้นฐานผสมกัน ประเด็นนี้มีที่มาที่ไปนิดหน่อย ลองมาพิจารณาเหตุผลกันก่อน

จุดอ่อนของการประเมินราคาเป้าหมายด้วยปัจจัยพื้นฐาน 


เนื่องจากการประเมินราคาเป้าหมาย หรือบางทีก็เรียกว่าราคายุติธรรม (fair value) ด้วยวิธีทางปัจจัยพื้นฐานนั้นใช้การคำนวณหามูลค่าปัจจุบันของหุ้นด้วยวิธีการต่างๆกันหลายวิธี แต่ละวิธีก็มีความเหมาะสมสำหรับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ในการประเมินมูลค่าปัจจุบันด้วยวิธีการต่างๆนั้นยังต้องอาศัยสมมติฐานประมาณการรายได้อีกด้วย ดังนั้น หากข้อมูลด้านประมาณการรายได้คลาดเคลื่อน หรือใช้ตัวแบบในการคำนวณไม่เหมาะสม ราคาเป้าหมายที่ได้ก็ย่อมคลาดเคลื่อนได้ ส่วนจะคลาดเคลื่อนมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสมมติฐานที่ใช้และตัวแบบในการคำนวณว่าคลาดเคลื่อนไปมากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ จุดอ่อนอีกประการในการประเมินราคาเป้าหมายด้วยปัจจัยพื้นฐานก็คือมักต้องใช้การคำนวณค่อนข้างมาก นักลงทุนโดยทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษามาทางด้านนี้ส่วนใหญ่คำนวณเองไม่ได้ มักต้องพึ่งราคาเป้าหมายจากบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ต่างๆ ซึ่งหุ้นบางตัวโบรกเกอร์ต่างๆให้ราคาเป้าหมายที่แตกต่างกันมาก ก็ไม่รู้ว่าราคาไหนจึงเป็นราคาที่เหมาะสมใกล้เคียงความจริง

และแม้ว่ามีราคาเป้าหมายแล้ว นักลงทุนจำนวนไม่น้อยก็มักไม่รู้ว่าจุดซื้อจุดขายอยู่ที่ใด บางทียังไม่ถึงราคาเป้าหมายก็ร่วงเสียก่อน บางทีเลยราคาเป้าหมายไปตั้งไกลก็ยังขึ้นไม่หยุด เป็นต้น

จุดอ่อนของการประเมินราคาเป้าหมายด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิค


การประเมินราคาเป้าทางหมายด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิคก็มีหลายวิธี เช่น แนวรับแนวต้าน การวัดแก็ป การวัดส่วนสูงของคลื่น วิธีฟิโบนาชชี ฯลฯ แต่ในความเห็นของลุงแมวน้ำ วิธีประเมินราคาเป้าหมายด้วยเครื่องมือทางเทคนิคที่แพร่หลายที่สุดน่าจะเป็นวิธีฟิโบนาชชีเป้าหมาย (Fibonacci targeting) กับวิธีแนวรับแนวต้าน (support resistant level targeting)

วิธีประเมินราคาเป้าหมายด้วยแนวรับแนวต้านนั้นก็เป็นวิธีที่ใช้กันโดยทั่วไป แต่มักใช้กับราคาเป้าหมายในระยะสั้น คือมักใช้กับการเทรดระยะสั้นมากกว่า จุดอ่อนสำคัญของวิธีนี้ก็คือ เมื่อราคาหุ้นทำนิวไฮหรือทำนิวโลว์ ก็จะไม่มีแนวรับแนวต้านแล้ว วิธีนี้จึงใช้กับราคาหุ้นที่ทำจุดสูงสุดใหม่หรือจุดต่ำสุดใหม่ไม่ได้

ส่วนวิธีฟิโบนาชชีนั้นไม่มีข้อจำกัดเรื่องราคาหุ้นทำนิวไฮหรือนิวโลว์ ราคาเท่าไรก็คำนวณได้ สำหรับจุดอ่อนของวิธีฟิโบนาชชีนี้ก็มีอยู่หลายประการ ที่สำคัญก็คือวิธีนี้จะให้ราคาเป้าหมายหลายราคา ต้องเลือกเอาเอง นักลงทุนอาจเลือกไม่ถูกว่าราคาไหนน่าจะเป็นราคาเป้าหมายที่เหมาะสมที่สุด

จุดอ่อนที่สำคัญอีกประการก็คือ วิธีฟิโบนาชชีนี้ใช้การวัดที่อิงกับยอดคลื่นและท้องคลื่น หากนับคลื่นไม่ถูก หรือรูปแบบราคาก่อตัวเป็นรูปทรงที่แปลกประหลาด การวัดฟิโบนาชชีก็ยากและอาจคลาดเคลื่อนได้มาก

และนอกจากนี้ ลุงแมวน้ำยังมีข้อกังวลอีกประการหนึ่ง นั่นคือ วิธีฟิโบนาชชีนี้เป็นวิธีที่เก่าแก่มาก ใช้กันมาไม่รู้กี่สิบปีแล้ว สมัยก่อนการนำไปใช้ยังไม่แพร่หลายนัก แต่สมัยนี้นักลงทุนใช้ฟิโบนาชชีกันทั้งโลก และสมัยนี้เป็นยุคที่รูปแบบทางเทคนิคสร้างกันได้ โดยเฉพาะในหุ้นที่สภาพคล่องน้อยยิ่งสร้างรูปแบบทางเทคนิคให้ตรงตามตำราได้ง่ายๆ รวมทั้งปัจจุบันยังการใช้โปรแกรมเทรดหุ้น หรือที่เรียกว่า robotic trading system หรือ algorithmic trading system คือเขียนสูตรคำนวณเป็นโปรแกรม แล้วโปรแกรมนี้สามารถสั่งซื้อขายหุ้นได้เองเมื่อถึงจุดซื้อขายตามที่โปรแกรมคำนวณ ซึ่งการใช้โปรแกรมเทรดหุ้นนี้ก็สามารถสร้างรูปแบบทางเทคนิคมาดักทางเพื่อกินเงินรายย่อยได้เช่นกัน เช่น การเทขายก่อนถึงระดับฟิโบนาชชีสำคัญ เป็นต้น

รวมความแล้วทั้งวิธีทางสายการวิเคราะห์ทางเทคนิคและปัจจัยพื้นฐานต่างก็มีจุดอ่อนจุดแข็งที่แตกต่างกัน ลุงแมวน้ำจึงใช้สองวิธีนี้ร่วมกันเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการกำหนดราคาเป้าหมายและจุดซื้อจุดขาย เท่าที่ลุงแมวน้ำใช้มาก็คิดว่าได้ผลดี ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนได้ วันนี้จึงนำมาขยายให้พวกเราอ่านและอาจลองนำไปใช้กัน

วิธีการของลุงแมวน้ำไม่ยากนัก แต่อาจมีหลายขั้นตอน ต้องค่อยๆอ่านและทำตามไป ใช้เทคนิคนิดๆ ใช้พื้นฐานหน่อยๆ ไม่ได้ลงลึกอะไร ใครๆก็น่าจะพอทำได้หากมีความตั้งใจ ข้อสำคัญคืออย่าใจร้อน ในที่สุดก็จะทำได้

เอาละ ลองมาดูกันว่าอุปกรณ์เครื่องมือที่ต้องใช้มีอะไรบ้าง

  1. สายการวิเคราะห์ทางเทคนิค ใช้เครื่องมือฟิโบนาชชี (Fibonacci retracement) เครื่องมือนี้หาใช้ได้ทั่วไป คือมีใน อีไฟแนนซ์ (e-finance) และในแอสเพน (aspen) 
  2. สายการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ใช้ข้อมูล forward EPS จากเว็บไซต์ www.settrade.com


การประเมินราคาเป้าหมายในตลาดขาขึ้น กรณีศึกษา Spali


การประเมินราคาเป้าหมายด้วยวิธีผสมนี้ใช้ได้ทั้งในยามตลาดขาขึ้นและตลาดขาลง ใช้หลักการเดียวกันแต่รายละเอียดแตกต่างกันนิดหน่อย ในที่นี้ลุงแมวน้ำจะคุยเรื่องการประเมินราคาเป้าหมายในตลาดขาขึ้นก่อน โดยเราจะใช้หุ้นศุภาลัยหรือ Spali เป็นกรณีศึกษา ที่ลุงแมวน้ำเลือกใช้ตัวนี้ไม่ได้เชียร์หุ้นนะคร้าบ มีเหตุผลที่เลือกใช้หุ้นนี้ ซึ่งอ่านต่อไปเดี๋ยวจะทราบ

ต่อไปนี้เป็นวิธีปฏิบัติในการประเมินราคาเป้าหมาย เรามาทำไปด้วยกันเลย รูปมาก่อน คำอธิบายตามหลัง

การประเมินด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิค ใช้เครื่องมือฟิโบนาชชี


ขั้นแรกเราหาราคาเป้าหมายทางเทคนิคก่อน ลุงแมวน้ำเครื่องมือฟิโบนาชชี

เราก็เปิดกราฟ Spali ออกมาดู ใช้อีไฟแนนซ์หรือแอสเพนก็ได้ ในชั้นนี้ลุงแมวน้ำโมเมถือเอาว่าพวกเราใช้เครื่องมือฟิโบนาชชีในอีไฟแนนซ์หรือแอสเพนเป็นแล้ว หากยังใช้ไม่เป็น ควรศึกษาวิธีใช้งานจากโบรกเกอร์ที่ใช้บริการอยู่ ปกติโบรกเกอร์จะสอนวิธีใช้เครื่องมือทางเทคนิคให้




นี่เป็นกราฟแท่งเทียนของราคาหุ้น Spali ประเด็นแรกที่ต้องวิเคราะห์ก่อนก็คือ มองไปข้างหน้าน่าจะเป็นตลาดขาขึ้นหรือขาลง

จากรูปแบบทางเทคนิค ดูจากกราฟ Sapli ราคายังอยู่ในคลื่นใหญ่ขาขึ้น และหากประเมินจากปัจจัยเศรษฐกิจ ธปท สภาพัฒน์ และอีกหลายๆหน่วยงาน มีความเห็นสอดคล้องกันว่าในปี 2015 จีดีพีของไทยน่าจะเติบโตได้ในอัตรา 4% ถึง 4.5% เมื่อเทียบจากปี 2014 ดังนั้นตลาดอสังหาริมทรัพย์และราคาหุ้น Spali ในปี 2015 น่าจะเป็นตลาดขาขึ้น

แล้วเราจะกำหนดจุดไหนเพื่อลากเส้นฟิโบนาชชีดีล่ะ คำตอบก็คือโดยปกติจะเป็นยอดคลื่นและท้องคลื่นล่าสุด




สมมติว่ามือใหม่ ยังกำหนดจุดลากเส้นไม่ถูก ไม่เป็นไร ไม่ต้องกลัว อย่าเพิ่งท้อ ทำมั่วๆไปก่อน ทำบ่อยๆแล้วจะเกิดประสบการณ์ขึ้นมาเอง เล็งยอดคลื่นและท้องคลื่นไว้ รวมเป็น 2 จุด




สมมติว่าเลือกจุดได้แล้ว ดังในรูป คราวนี้เราก็ไปเลือกเครื่องมือที่เรียกว่า Fibonacci retracement (ในแผงเครื่องมืออาจมี Fibonacci หลายอย่าง ให้เลือก Fibonacci retracement) จากนั้นลากเครื่องมือจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง (ที่เราเล็งเอาไว้นั่นน่ะ)




เครื่องมือ Fibonacci retracement จะคำนวณระดับฟิโบนาชชีเป้าหมายออกมาให้หลายค่า มีตั้งแต่ 29 บาท 39 บาท 56 บาท จะเลือกใช้ค่าไหนดีล่ะ นี่แหละคือปัญหา

การประเมินด้วยปัจจัยพื้นฐาน ใช้เครื่องมือสัดส่วนพีอีล่วงหน้า (forward P/E ratio)


เราพักเรื่องราคาทางเทคนิคเอาไว้ก่อน คราวนี้มาคำนวณทางปัจจัยพื้นฐานกันบ้าง จากนั้นเราจะเอาค่าที่ได้ไปพิจารณาร่วมกัน วิธีทางปัจจัยพื้นฐานที่ใช้ในการประเมินราคาเป้าหมายนั้นลุงแมวน้ำเลือกใช้วิธีที่เป็นพื้นฐานที่สุด นั่นคือ ใช้วิธีประเมินจากค่าพีอีล่วงหน้า (forward P/E ratio)

ค่าพีอีล่วงหน้านี้เราต้องคำนวณเอาเอง การที่จะคำนวณได้จำเป็นจะต้องรู้ประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้นล่วงหน้า (forward EPS) เสียก่อน ซึ่งค่า forward EPS นั้นปกตินักลงทุนทั่วไปคำนวณเองไม่ไหวหรอก มักต้องอาศัยอ่านจากบทวิเคราะห์ต่างๆ แล้วนำค่าที่บทวิเคราะห์คำนวณไว้ให้มาใช้

เอาละ เราจะประเมินราคาเป้าหมายของ Spali ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการรู้ก็คือ forward EPS หรือประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้นในปี 2015 ของ Spali เหตุที่ลุงแมวน้ำใช้ค่าของปี 2015 ก็เพราะว่าตอนนี้เป็นปลายปี 2014 แล้ว ได้ค่า EPS 2014 มาก็ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากการลงทุนในนตลาดหุ้นมักมองล่วงหน้าไป 6 เดือนหรือนานกว่านั้น ลุงแมวน้ำจึงใช้ EPS 2015




ไปที่เว็บไซต์ www.settrade.com

เมื่อเข้าไปที่หน้าหลักแล้ว มองไปที่คอลัมน์ขวามือของหน้าหลัก จะเห็นกรอบที่เขียนว่า ความเห็นนักวิเคราะห์ : IAA Concensus




ป้อนชื่อหุ้น spali ลงไปในช่อง ตามรูป จากนั้นกดปุ่ม Enter





จากนั้นเราจะเห็นตัวเลขมากมายก่ายกองปรากฏออกมา ไม่ต้องตาลายและไม่ต้องตกใจ เราไม่ได้ใช้ค่าเหล่านี้ทั้งหมด เราเลือกมาแค่บางค่าเท่านั้นเอง ^_^

Thursday, November 13, 2014

หุ้นพีอีต่ำ หุ้นแม่ไก่ไข่ (4)






ลักษณะเด่นของหุ้นแม่ไก่ไข่ (หรือหุ้นวัวเงินสด)



“หุ้นแบบนี้ก็ดีสิจ๊ะลุงแมวน้ำ” ยีราฟพูดขึ้นบ้าง “ฉันอยากได้ จะได้กินเงินปันผลสูงๆ ถ้ามีหุ้นแบบนี้ฉันคงถือไปตลอดชีวิตเลย”

“ลุงแมวน้ำต้องมีคำว่า แต่ แน่นอน” ลิงกระดิกหาง “ในโลกนี้มีหุ้นดีๆแบบนี้ด้วยเหรอ”

“หุ้นแบบนี้ก็ดีนะ ไม่ได้มีอะไรเสียหาย แต่...” ลุงแมวน้ำพูดแล้วหัวเราะ “ลุงก็มีคำว่า แต่ จริงๆนั่นแหละ”

“แต่อะไรจ๊ะลุง” ยีราฟสงสัย

“ที่ลุงบอกว่าหุ้นนี้เรียกว่าหุ้นแม่ไก่ไข่ หรือที่ฝรั่งเรียกว่าหุ้นวัวเงินสด สภาพของหุ้นก็เป็นเหมือนแม่ไก่หรือวัวนมนั่นแหละ นั่นคือ มีอายุการทำงาน” ลุงแมวน้ำพูด “พวกเรารู้ไหมว่าแม่ไก่ไข่นั้นจะมีช่วงเวลาที่ให้ไข่ดกคือในวัยสาวเท่านั้น พอเข้าวัยกลาง ไก่จะเริ่มให้ไข่น้อยลง วันหนึ่งก็ถูกปลดระวาง วัวนมก็เช่นกัน วัวสาวเท่านั้นที่ให้น้ำนมได้มาก แม่วัววัยกลางจะให้น้ำนมได้น้อยลง สักวันก็ถูกปลดระวางเช่นกัน เพราะให้ผลผลิตตกต่ำ ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน”

“ปลดระวางแล้วเขาเอาไปเลี้ยงที่ไหนฮะลุง” กระต่ายน้อยถามบ้าง

“เรื่องมันเศร้า” ลุงแมวน้ำพูด “แม่ไก่และแม่วัวที่ถูกปลดระวางจะถูกส่งเข้าโรงงฆ่า เพราะว่าเนื้อยังขายได้”

“อ้าว” สมาชิกตัวอื่นๆอุทานบ้าง

“มันก็เป็นแบบนี้แหละ ดังนั้น พวกที่กินมังสวิรัติจึงมีแยกย่อยไง มังสวิรัติบางพวกกินไข่และนม บางพวกที่เคร่งครัดหน่อยก็ไม่กินไข่และไม่กินนม” ลุงแมวน้ำพูด “อุตสาหกรรมไข่และโคนมก็เป็นเช่นนี้แหละ ประเด็นที่ลุงต้องการจะบอกไม่ใช่เรื่องนี้ แต่จะบอกว่าหุ้นแม่ไก่ไข่หรือหุ้นวัวนมนี้ก็มีอายุในการให้ปันผลที่จุใจเช่นเดียวกัน พูดง่ายๆก็คือมีวันเสื่อมได้นั่นเอง”

“ยังไงกันลุง” ลิงสงสัย “อธิบายขยายหน่อยสิครับ”

“หุ้นที่มีเอากำไรมาจ่ายเป็นเงินปันผลจนเกือบหมด คือมีค่า dividend payout ratio สูงมากนั้น ในมุมมองอีกแง่หนึ่งก็คือกิจการไม่มีโครงการลงทุนเพิ่มอะไร คือกิจการอยู่ตัว ไม่ขยายแล้ว กำไรที่ได้จึงจ่ายเป็นเงินปันผลเกือบหมด เพราะหากต้องการเงินไปขยายกิจการก็ต้องกันเงินกำไรไว้ลงทุน และลองคิดดูสิว่ากิจการอยู่ตัว ไม่เติบโต หมายความว่ากิจการอยู่ในระยะไหนล่ะ” ลุงแมวน้ำพูด

“ระยะอิ่มตัวไงฮะ” กระต่ายรีบตอบ พลางกระดิกหางดุ๊กดิ๊ก “ผมตอบถูกใช่มั้ยครับ ฮ่าฮ่า”

“กระต่ายน้อยเข้าใจถูกแล้ว” ลุงแมวน้ำพูด “โดยทั่วไปหุ้นทำนองนี้มักเป็นธุรกิจระยะอิ่มตัว อาจมีการลงทุนเพิ่มเล็กๆน้อยๆแต่ไม่มีการลงทุนใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้ค่อนข้างสำคัญทีเดียว เพราะว่าหากกิจการไม่เติบโตหรือเติบโตน้อยมาก แปลว่าเราหยุดอยู่กับที่ในขณะที่คู่แข่งขันรายอื่นๆในอุตสาหกรรมเดียวกันยังเดินหน้าต่อไป การหยุดอยู่กับที่เมื่อผู้อื่นเดินก็เสมือนกับการถอยหลังนั่นเอง ดังนั้น ธุรกิจเหล่านี้มักคงอยู่ในระยะอิ่มตัวได้ไม่นานมากนัก เนื่องจากถูกคู่แข่งแย่งตลาดไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งธุรกิจก็มักเข้าสู่ระยะเสื่อม”

“อ้าว ยังงั้นเหรอจ๊ะลุง นึกว่าฉันจะเก็บไว้กินได้ตลอดชีวิตเสียอีก” ยีราฟผิดหวัง ทำคอตก

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟอีกแผ่นออกมาจากหูกระต่าย




“พวกเราลองดูภาพนี้กันอีกที เป็นกราฟรูปเดิมที่เราเคยดูกันไปแล้ว แต่ว่าลุงมีการวงด้วยสีน้ำเงินให้เป็นที่สังเกต

“จะเห็นว่าในกรอบสีน้ำเงินคือช่วงที่หุ้น SE-ED นี้มี dividend payout ratio สูงมาก คือนำกำไรมาจ่ายเงินปันผลจนเกือบหมด ลองสังเกตดูกราฟเส้นสีเทาซึ่งแสดงกำไรสุทธิสิ จะเห็นว่าหุ้นอยู่ในระยะอืดอาดและอิ่มตัว และในปี 2013 กำไรสุทธิลดลงอย่างมาก ซึ่งคาดว่าน่าจะเข้าสู่ระยะเสื่อมแล้ว”

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟออกมาอีกรูปหนึ่ง




“ทีนี้ดูรูปนี้ ในปี 2013 แม้กิจการจะจ่ายเงินปันผลอย่างเต็มที่ แต่เป็นเงินจำนวนน้อยเพราะกำไรสุทธิลดลงมาก ขณะเดียวกัน ราคาหุ้นตกอย่างรุนแรงสอดคล้องกับผลประกอบการ

“ลุงแมวน้ำคำนวณให้ดูคร่าวๆ ว่าใครที่ซื้อหุ้นตั้งแต่ปี 2005 ตอนนั้นหุ้น หุ้นราคาประมาณ 5.3 บาท ถือมาจนปี 2013 ได้เงินปันผลรวมทั้งหมด 4.9 บาท แต่ราคาหุ้นก็หล่นลงไปเหลือ 4.6 บาท เอาเถอะ หากซื้อตั้งแต่ปี 2005 ก็ได้เงินปันผลคุ้มค่ามาก ราคาหุ้นร่วงขนาดนี้ก็ยังคุ้มค่า

“แต่หากว่าใครซื้อหุ้นในปี 2010 ตอนนั้นหุ้นราคา 9.6 บาท ถือมาจนปลายปี 2013 ได้เงินปันผลทั้งหมด 1.9 บาท และราคาหุ้นลงมาอยู่ที่ 4.6 บาท แบบนี้ขาดทุนไปเยอะนะ เงินปันผลที่ได้มาไม่คุ้มกับผลขาดทุนจากราคาหุ้น

“และถ้าหากซื้อหุ้นนี้ในปี 2012 ตอนนั้นราคาหุ้น 8.8 บาท สถานการณ์ยิ่งแย่ นั่นคือ ได้เงินปันผลประมาณ 0.69 บาท และราคาร่วงลงมาอยู่ที่ 4.6 บาท เงินปันผลที่ได้มายิ่งไม่คุ้มกับผลขาดทุนจากราคาหุ้น”

“ลุงแมวน้ำสรุปว่าหุ้นปันผลสูงเป็นหุ้นที่อันตรายยังงั้นหรือจ๊ะ” ฮิปโปถาม

“ไม่ใช่ยังงั้น” ลุงแมวน้ำพูด “ลุงหมายความว่าหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสูงก็มีธรรมชาติของหุ้น ซึ่งเราต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ ไม่ใช่เห็นว่าอัตราเงินปันผลตอบแทน หรือ dividend yield สูงๆก็รีบเข้าซื้อและถือลืมไปเลยด้วยคิดว่าจะถือหุ้นนี้ไปตลอดชีวิต คิดแบบนี้ไม่ได้หรอก

หุ้นในกลุ่มแม่ไก่ไข่หรือหุ้นวัวเงินสดนั้น มีลักษณะเด่นก็คือ มีอัตราเงินปันผลตอบแทน (dividend yield) น่าจูงใจ อัตราจ่ายเงินปันผล (dividend payout ratio) สูงมาก และมักมีค่าพีอี (P/E ratio) ไม่แพง คือมักมีค่าพีอีต่ำกว่าตลาดหรือว่าใกล้เคียงกับพีอีของตลาด


หุ้นแม่ไก่ไข่มักมีระยะของกิจการอยู่ในระยะอืดอาด (ปลายระยะเติบโตนั่นเอง) หรืออยู่ในระยะอิ่มตัว และกิจการในระยะนี้มักเสียส่วนแบ่งการตลาดให้แก่คู่แข่งไปเรื่อยๆ นักลงทุนต้องหมั่นตรวจสอบว่ากิจการเข้าสู่ระยะเสื่อมหรือยัง หากเข้าสู่ระยะเสื่อมและกิจการหาทางต่อยอดไม่ได้ ถึงตอนนั้นละก็อันตรายอยู่เหมือนกัน

“และสาเหตุที่หุ้นแม่ไก่ไข่มีพีอีต่ำ หรือใกล้เคียงตลาด เพราะนักลงทุนบางกลุ่มก็ไม่สนใจลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ เนื่องจากนักลงทุนบางกลุ่มคิดว่าหุ้นที่จ่ายปันผลงามเป็นหุ้นที่ไม่เติบโตนั่นเอง การทำกำไรจากส่วนต่างของราคา (capital gain) จะทำได้น้อย เพราะราคาหุ้นไม่พุ่ง นักลงทุนบางกลุ่มจึงมุ่งลงทุนในหุ้นเติบโตที่ไม่จ่ายปันผลด้วยหวังกำไรจาก capital gain คือหวังกำไรจากราคาหุ้นที่พุ่ง

“หากกิจการเข้าสู่ระยะเสื่อม โดยทั่วไปแล้วกำไรมักลดลงและในที่สุดกิจการก็ขาดทุน ในที่สุด เมื่อไม่ไก่ไข่แก่ชราก็ให้ไข่ไม่ได้ กิจการที่เป็นหุ้นแม่ไก่ไข่เมื่ออยู่ในระยะเสื่อม ในที่สุดก็จ่ายเงินปันผลไม่ไหวเช่นกัน พร้อมกันนั้นราคาหุ้นจะตกลงมาก นักลงทุนที่เข้าลงทุนทีหลังอาจขาดทุนหนักจากราคาหุ้นที่ลดลง”



อุตสาหกรรมหนังสือเป็นอุตสาหกรรมตะวันตกดินหรือไม่



“ถ้ายังงั้นลุงแมวน้ำคิดว่าหุ้น SE-ED นั้นเข้าสู่ระยะเสื่อมหรือยังจ๊ะ” ยีราฟถาม

ลุงแมวน้ำหยิบกราฟรูปเดิมที่เคยแสดงไปแล้วออกมาให้ดูอีก




“ถ้าดูจากกราฟรูปนี้ลุงก็คิดว่าอาจอยู่ในระยะเสื่อมแล้ว ก็ต้องดูว่ากิจการจะแก้ไขสถานการณ์หรือว่าต่อยอดกิจการเพื่อพลิกสถานการณ์ให้กลายเป็นหุ้นเทิร์นอะราวด์หรือหุ้นฟื้นไข้ได้หรือไม่” ลุงแมวน้ำพูด

“ถ้ายังงั้นลุงแมวน้ำคิดว่าหุ้นนี้มีโอกาสเป็นหุ้นฟื้นไข้มั้ยละครับ” ลิงถามบ้าง “หุ้นฟื้นไข้เป็นหุ้นที่น่าลงทุน เพราะสร้างผลตอบแทนอย่างงามจากการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส”

“คำถามของนายจ๋อเข้าข่ายคำถามด้านปัจจัยพื้นฐานแล้ว เพราะการจะตอบคำถามของนายจ๋อได้ต้องเข้าใจในตัวกิจการและเข้าใจในอุตสาหกรรมหนังสือด้วย เกินของเขตของปัจจัยทางเทคนิคไปแล้วนะ แต่ลุงก็ดีใจที่นายจ๋อถามคำถามนี้ขึ้นมา เพราะนักลงทุนสายการวิเคราะห์ทางเทคนิคหากรู้เกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานบ้างก็มีประโยชน์ เราอย่าไปจำกัดตนเองเพราะคำว่าเราเป็นสายไหน แต่หากมีอะไรให้หยิบมาใช้ประโยชน์ได้เราก็ควรใช้

“ในความเห็นของลุง เราต้องพิจารณาอุตสาหกรรมหนังสือก่อน อุตสาหกรรมนี้หลายๆคนมองว่าเป็นอุตสาหกรรมตะวันตกดินหรือ sunset industry คือรอวันถึงจุดจบเช่นเดียวกับธุรกิจฟิล์มถ่ายรูปและกล้องถ่ายรูปแบบใช้ฟิล์ม ซึ่งลุงเองก็ยังไม่คิดไปไกลถึงขนาดว่าอุตสาหกรรมหนังสือใกล้ถึงจุดจบแล้ว เพียงแต่มองว่าอุตสาหกรรมนี้อยู่ในระยะเสื่อม ไม่แน่ว่าอุตสาหกรรมนี้ก็อาจพลิกฟื้นได้ หรืออย่างน้อยก็ชะลอระยะเสื่อมให้เนิ่นนานออกไปได้ คือเสื่อมช้าๆนั่นเอง”

“ยากมั้งลุง” ลิงออกความเห็น “หากพูดถึงอุตสาหกรรมหนังสือ ผมว่าเหมือนกับฟิล์มถ่ายรูปนั่นแหละครับ ใครๆก็บอกว่าหนังสืออิเล็กทรอนิกส์หรืออีบุ๊กต้องตีอุตสาหกรรมหนังสือกระดาษตายแน่ๆเลย”

“ข้อนั้นลุงไม่เห็นด้วย” ลุงแมวน้ำพูด “หากวิเคราะห์อุตสาหกรรม หนังสือกระดาษหรืออีบุ๊ก ก็คือธุรกิจขายคอนเทนต์หรือขายเนื้อหาเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าอยู่ในแพลตฟอร์มอะไรเท่านั้นเอง จะนำเสนอคอนเทนต์เป็นกระดาษหรือเป็นอีบุ๊กก็ยังเป็นการขายคอนเทนต์ สิ่งที่จะทำให้อุตสาหกรรมหนังสือตายไปไม่ใช่อีบุ๊ก แต่เป็นรูปแบบการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปต่างหาก นั่นคือ คนเราอ่านหนังสือน้อยลง เราไม่มีเวลามาเสพคอนเทนต์แบบเดิมๆ เพราะโลกยุคใหม่มีเรื่องอื่นๆที่น่าทำอีกตั้งหลายอย่าง เช่น การใช้โซเชียลมีเดีย การท่องอินเทอร์เนต พวกนี้ต่างหากที่แย่งเวลาอ่านหนังสือไป

“ปัจจัยเร่งให้อุตสาหกรรมหนังสือเสื่อมอีกอย่างก็คือ ทุกวันนี้ร้านหนังสือต้องอยู่ในห้างสรรพสินค้า และค่าเช่าพื้นที่ในห้างก็แพงขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือต้นทุนของร้านหนังสือสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อุตสาหกรรมนี้กำไรน้อยลงหรือขาดทุน

“กรณีของ SE-ED นั้นหากยังทำธุรกิจแบบเดิมคือทำร้านขายหนังสือในห้าง ลุงก็คิดว่าโอกาสพลิกฟื้นกิจการคงยากเนื่องจากแนวโน้มของอุตสาหกรรมเองก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว แต่เท่าลุงรู้มา คือผู้บริหารก็พยายามปรับเปลี่ยนตัวแบบทางธุรกิจ เบนเข็มออกจากธุรกิจหนังสือไปทำธุรกิจอย่างอื่นด้วย เช่น ธุรกิจการศึกษา การจัดอบรม ฯลฯ ดังนั้นก็อาจพลิกฟื้นกิจการได้ เวลาเท่านั้นที่จะตอบคำถามนี้ได้”

“อือม์ หุ้นปันผลดีก็ใช่ว่าจะเป็นหุ้นที่น่าลงทุนเสมอไป” ลิงพึมพำ “โน่นก็ต้องระวัง นี่ก็ต้องระวัง โอ๊ย ปวดหัว”

“การลงทุนมีความเสี่ยงยังไงล่ะ” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “ถึงแม้ว่านายจ๋อไปลงทุนทำธุรกิจเอง ก็ต้องระวังนั่น ระวังนี่ มีเรื่องปวดหัวมากมายเช่นกัน ลุงว่าการทำธุรกิจหรือการลงทุนในหุ้นก็มีความยากของมันอยู่ ลุงไม่คิดว่าง่ายๆหรอก ก็ต้องศึกษาหาความรู้ทังนั้น”