Friday, June 6, 2014

06/06/2014 ECB ลดดอกเบี้ย และถนนทุกสายมุ่งสู่พลังงานทดแทน PPP, SOLAR, SPCG, WHA, GUNKUL, EPCO, IFEC, TFI ฯลฯ






ธนาคารกลางยุโรปลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจอีก


เมื่อคืนนี้ธนาคารกลางของยุโรป หรือที่เรียกว่า ECB (European Central Bank) ได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนอีก

ลุงแมวน้ำขอเท้าความหน่อยเพื่อความเข้าใจ คือขณะนี้เศรษฐกิจของยุโรปในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร แม้ว่าดัชนีหลายตัวจะบ่งชี้ว่าค่อยๆกระเตื้องขึ้นในภาพรวม แต่ก็ยังเรียกได้ว่าเศรษฐกิจติดหล่มอยู่ โดยเฉพาะ ปัญหาหนักอกของอีซีบีที่คิดว่าเป็นอุปสรรคของการฟื้นตัวของยูโรโซนก็คือ ภาวะเงินฝืด คือ  ประชาชนไม่ยอมควักกระเป๋าออกมาจับจ่ายใช้สอย เมื่อเงินไม่หมุน เศรษฐกิจก็ไม่สะพัด ก็ไม่พ้นจากหล่มเสียที

ทางอีซีบีนั้นใช้นโยบายอัดฉีดสภาพคล่องเช่นกัน แต่ว่าใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ได้อัดฉีดแบบไม่อั้นดังเช่นอเมริกา กลไกสำคัญที่อีซีบีใช้กระตุ้นเศรษฐกิจประการหนึ่งก็คืออัตราดอกเบี้ยนโยบาย หลังจากใช้ดอกเบี้ยนโยบายในอัตราต่ำที่ 1 สลึง (0.25%) ก็แล้ว เงินก็ยังฝืดอยู่ ก็มีการลุ้นกันว่าอีซีบีโดยลุงมาริโอจะมีมาตรการแบบพิมพ์เงินมาอัดฉีดไม่อั้นแบบอเมริกาและญี่ปุ่นหรือไม่

ปรากฏว่ามาตรการเพิ่มเติมล่าสุด ก็คือประกาศเมื่อคืน (เวลาบ้านเรา) นี้เอง ปรากฏว่าอีซีบีไม่ทำคิวอีแบบปลายเปิด แต่ใช้การลดอัตราดอกเบี้ยอีก มาตรเพิ่มเติมล่าสุดก็คือ


  • ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จาก 0.25% เหลือ 0.15%
  • ลดดอกเบี้ยเงินฝาก ที่ธนาคารต่างๆนำมาฝากไว้กับธนาคารอีซีบี จาก 0% เป็น -0.10% แปลง่ายๆก็คือ ธนาคารใดจะเอาเงินไปฝากธนาคารกลางต้องเสียค่าฝากเงิน 0.10%
  • ลดดอกเบี้ยเงินกู้มาร์จิน จาก 0.75% เหลือ 0.4% 


ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของลุงมาริโอก็คือ เพื่อกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆพยายามนำเงินไปหมุนบ้าง อย่าเอาแต่กองไว้ในธนาคารหรือเอามาฝากกับอีซีบี เมื่อเงินสะพัด อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น นั่นคือเศรษฐกิจหมุนเวียน

หากเป็นไปตามคาด นั่นคือ เมื่อเงินเฟ้อ แปลว่าเงินยูโรน่าจะอ่อนค่าลง แต่ที่ไหนได้ เมื่อคืน (เวลาบ้านเรา กลางวันของยุโรป) เงินยูโรอ่อนค่าไปวูบหนึ่ง จากนั้นก็กลับมาแข็งค่าขึ้นกว่าเดิม


ค่าเงินยูโรไม่ตอบสนองต่อมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยของอีซีบี อ่อนค่ามาเดี๋ยวเดียวจากนั้นกลับแข็งค่าขึ้น (ดูแท่งเทียนแท่งสุดท้าย)

และนอกจากนี้ หากเงินยูโรถูกกดดันให้หมุน เงินส่วนหนึ่งจะหมุนออกไปหารายได้นอกประเทศ นั่นคือ ที่เรียกว่า ยูโรแครรีเทรด (Euro carry trade) อันเป็นการเอาเงินยูโรที่มีต้นทุนการกู้ยืมต่ำไปลงทุนแสวงหากำไรจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าของประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศในเอเชีย ซึ่งน่าจะทำให้ค่าเงินเอเชียแข็งค่าขึ้น และตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวขึ้น แต่ปรากฏว่าค่าเงินเอเชียแข็งขึ้นนิดเดียว และตลาดหุ้นเอเชียไม่ตอบสนอง นอกจากไม่ขึ้นแล้วหลายๆตลาดยังลงเสียด้วย


ค่าเงินเอเชียเช้าวันรุ่งขึ้น (คือเช้าวันนี้) หลังจากที่อีซีบีมีมาตรการลดอัตราดอกเบี้ย แข็งค่าขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนเงินสิงคโปร์อ่อนค่าเล็กน้อย แสดงว่ามาตรการของอีซีบีไม่ค่อยมีผลทางจิตวิทยาต่อเอเชียเท่าไรนัก

ตลาดหุ้นเอเชียก็ไม่ค่อยตอบสนองทางจิตวิทยาต่อมาตรการของอีซีบี แทนที่จะขึ้นรับข่าวกลับลงรับข่าว


ดังที่เห็นแล้วว่าตลาดไม่ค่อยตอบสนองกับมาตรการของอีซีบีนัก ที่จริงมาตรการเหล่านี้หากใช้แล้วก็ต้องใช้ไปสักระยะแล้วจึงประเมินผลได้ ณ วันนี้ที่จริงก็ยังไม่เห็นผลอะไรหรอก แต่ที่ลุงแมวน้ำชี้ให้ดูคือผลทางจิตวิทยาหรือความคาดหวังของนักลงทุน ซึ่งนักลงทุนไม่ได้ตอบสนองอะไรนัก เมื่อชาวบ้านเขาไม่ตื่นเต้นกัน ดังนั้นเราก็ไม่ควรไปคาดหวังอานิสงส์ต่อตลาดหุ้นไทยจนเกินเหตุ



ถนนทุกสายมุ่งสู่พลังงานทดแทน


และอีกเรื่องหนึ่งที่ลุงแมวน้ำอยากพูดถึงและฝากเตือนนักลงทุนในวันนี้ ก็คือเรื่องการลงทุนในพลังงานทดแทน

หลายปีมานี้ มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนกันมากมาย ตอนนี้มีอยู่หลายสิบบริษัท ใครต่อใครก็อยากเข้ามาทำธุรกิจพลังงานทดแทน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ทำอสังหาฯก็มาทำแสงอาทิตย์ เป็นโรงพิมพ์ก็มาทำแสงอาทิตย์ เป็นแวร์เฮาส์ก็มาทำแสงอาทิตย์ ผลิตเหล็กก็มาทำแสงอาทิตย์ จนลุงแมวน้ำเองก็งงว่าหุ้นเดี๋ยวนี้ทำธุรกิจข้ามเซ็กเตอร์จนจำไม่ได้ว่าทำอะไรกันแน่ เรียกได้ว่า ถนนทุกสายมุ่งสู่พลังงานทดแทนก็คงไม่ผิด

ที่ลุงแมวน้ำอยากจะเตือนก็เรื่องนี้แหละ เพราะว่าเท่าที่ลุงแมวน้ำสังเกต หุ้นใดพอออกข่าวว่าจะทำพลังงานทดแทน หุ้นก็วิ่งดีทีเดียว ใครๆก็เลยอยากทำบ้างกระมัง เพราะทำแล้วราคาหุ้นวิ่งดี บางทีมีแค่ข่าวโครงการแพลมออกมา ยังไม่ได้ลงมือทำจริงๆ ราคาหุ้นก็ขึ้นแล้ว เก็งกำไรกันสนั่น นักลงทุนเห็นว่าพลังงานทดแทนเป็นเทรนด์ที่กำลังแรง พอมีข่าวหุ้นตัวไหนก็วิ่งเข้าใส่ทันที บางทีก็ไปค้างอยู่บนยอดดอย

เรื่องธุรกิจพลังงานทดแทนนั้นที่จริงแล้วมีรายละเอียดพอสมควรทีเดียว หากคิดจะถือลงทุนยาวๆควรศึกษาให้เข้าใจในรายละเอียด วันนี้ลุงแมวน้ำขอเล่าคร่าวๆก่อนละกัน เน้นที่โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ วันหลังจึงค่อยลงรายละเอียด

การทำธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์นั้น ลักษณะการดำเนินธุรกิจหรือว่าการทำมาหากิน หากแบ่งง่ายๆก็แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 2 กลุ่ม นั่นคือ

1. ผู้ที่ทำโรงไฟฟ้า (คือโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์รูฟ) เพื่อขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้า
2. ผู้ที่รับจ้างสร้างโรงไฟฟ้า คือ ออกแบบ รับเหมาก่อสร้างรวมวัสดุอุปกรณ์ 

ที่จริงแบ่งได้ย่อยกว่านี้อีก แต่วันนี้พูดคร่าวๆก็คิดเสียว่ากลุ่มใหญ่ๆก็มีเท่านี้

แบบแรก ผู้ที่ทำโรงไฟฟ้าเพื่อขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้านั้น จะได้ค่าตอบแทนแน่นอน ทำสัญญาขายกันกี่เมกะวัตต์ก็เป็นไปตามนั้นตลอดอายุของสัญญา ราคาดีด้วย เพราะการไฟฟ้าต้องการส่งเสริม จึงมีเงินพิเศษบวกให้จากค่าไฟปกติ (ที่เรียกว่าค่าแอดเดอร์หรือค่าฟีดอินทาริฟ ตามแต่กรณี) เบ็ดเสร็จแล้วโรงไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าให้จะได้ค่าไฟหน่วยละ 6 บาทขึ้นไป ตามแต่ลักษณะการอุดหนุน และจะได้ตามนั้นตลอดอายุสัญญา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ประเด็นสำหรับผู้ที่ทำธุรกิจโรงไฟฟ้าแบบนี้ก็คือ ต้องทำตามโควตาที่ได้รับมา จะทำมากกว่านั้นไม่ได้ และตอนนี้โควตาหมดแล้วด้วย เต็มจนปี 2563 แปลว่าใครที่จะลงทุนแบบนี้ จ้างเขาสร้าง แล้วเราดูแล รายได้จะแน่นอน รู้ล่วงหน้าเลย เพราะโควตามีแค่นั้น แต่รายจ่ายจะไม่แน่นอน เพราะโซลาร์ฟาร์มหรือโซลาร์รูฟแต่ละรายนั้นประสิทธิภาพไม่เท่ากัน เนื่องจากการออกแบบและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ หากออกแบบไม่ดี อุปกรณ์ประสิทธิภาพต่ำ การผลิตไฟฟ้าก็ต่ำ ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยไฟฟ้าสูง รวมทั้งใบอนุญาตตอนนี้ไม่มีแล้วด้วย ใครอยากทำตอนนี้ต้องไปซื้อต่อจากคนที่มีอยู่แล้ว ค่าเซ้งใบอนุญาตคิดกันเมกะวัตต์ละเป็นล้านบาท ก็เป็นต้นทุน

หรือหากไม่เซ้งใบอนุญาต หนทางที่สำเร็จรูปกว่านั้นก็คือไปซื้อโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการอยู่แล้วมาเสียเลย หากเป็นประการนี้นักลงทุนก็ต้องศึกษารายละเอียดให้ดี เนื่องจากเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน โดยเฉพาะด้านพลังงานแสงอาทิตย์เปลี่ยนแปลงเร็ว โซลาร์ฟาร์มเมื่อ 5 ปีก่อนกับเดี๋ยวนี้ ความทันสมัยก็ต่างกันมาก รวมทั้งประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วย ราคาที่ซื้อมาหเหมาะสมหรือไม่ นักลงทุนต้องมีข้อมูลเหล่านี้จึงค่อยพิจารณาเข้าลงทุน

อีกประการ หุ้นอะไรที่รู้รายได้แน่นอน หุ้นนั้นมักไม่ค่อยวิ่ง ราคาเรื่อยๆมาเรียงๆตามปัจจัย เพราะไม่มีอะไรให้ลุ้น

แบบที่สอง ประเด็นสำหรับธุรกิจที่ปรึกษา ออกแบบ รับจ้างสร้างโรงไฟฟ้าก็คือ ตอนนี้เป็นธุรกิจที่แข่งกันสูงพอควร ก็คล้ายๆงานรับเหมาก่อสร้างในสาขาอื่นๆ ฝีมือ ชื่อเสียง และการบริหารต้นทุน จึงเป็นตัวชี้ขาดว่าธุรกิจจะมีกำไรหรือไม่ บุคลากรที่มีฝีมือก็หาไม่ง่ายนัก ทีมงานก็สำคัญ ดังนั้นใครที่กระโดดเข้ามาในเซ็กเตอร์นี้ ไม่ใช่ว่าจะเห็นกำไรใสๆ

ดังนั้น นักลงทุนก็ควรพิจารณา ว่าหุ้นที่มีข่าวว่าจะทำพลังงงานทดแทนนั้น ทำในส่วนไหน ต้นทุนเป็นอย่างไร มีโอกาสรุ่งไหม และสัดส่วนรายได้ของธุรกิจเดิมเป็นอย่างไร รายละเอียดที่ต้องพิจารณามีเยอะทีเดยว อย่าเพิ่งเห็นว่าทำพลังงานทดแทนก็คิดว่าดีแน่และรีบวิ่งเข้าใส่

สุดท้ายนี้ ลุงเอากราฟราคาของหุ้นหลายบริษัทที่ทำเกี่ยวกับพลังแสงอาทิตย์ ได้แก่ PPP, SOLAR, SPCG, WHA, GUNKUL, EPCO, IFEC, TFI ลองดูรูปแบบของราคา และใครรู้บ้างว่าหุ้นแต่ละหุ้นนี้ที่ว่านี้เป็นผู้เล่นในส่วนไหนของธุรกิจพลังงานทดแทน เป็นเพียงข่าวหรือดำเนินการแล้ว และผู้ประกอบการมีความพร้อม มีความรู้ความชำนาญในธุรกิจนี้ระดับใด หากยังไม่เข้าใจ ควรหาความรู้ก่อนนะคร้าบ ใจเย็นๆ ^_^


หุ้น PPP

หุ้น SOLAR

หุ้น SPCG

หุ้น EPCO

หุ้น WHA

หุ้น GUNKUL

หุ้น IFEC

หุ้น TFI

Monday, June 2, 2014

02/06/2014 หุ้นกลุ่มสินเชื่อและการบริโภครับเศรษฐกิจฟื้นตัว



ยอดซื้อขายสะสมในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ฝั่งนักลงทุนต่างชาติ จากมกราคม 2013-พฤษภาคม 2014


เราดูหุ้นในกลุ่มที่น่าจะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากที่เราได้รัฐบาลใหม่กันไป 2 กลุ่มแล้ว คือกลุ่มรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง วันนี้เราจะมาดูหุ้นในกลุ่มสินเชื่อและการบริโภคที่ทุกคนต่างก็มองตรงกันว่าน่าจะได้รับอานิสงส์จากการที่ คสช สั่งจ่ายเงินค่าจำนำข้าวที่ค้างอยู่ให้แก่เกษตรกรโดยพลัน

แต่ก่อนอื่น ลุงแมวน้ำขอสรุปยอดซื้อขายสะสมของนักลงทุนต่างชาติให้ดูกันสักหน่อย ข้อมูลนี้นับยอดสะสมตั้งแต่ ต้นมกราคม 2013 จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2014 เรามาดูกันในภาพที่อยู่ภาพบนสุดของบทความ อยู่ข้างบน

จากภาพ ยอดสะสมทางตลาดพันธบัตรนั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสะสมเป็นเงิน 437,000 ล้านบาท เดือนพฤษภาคมมีแรงขายออกมาบ้าง ราว -24,000 ล้านบาท

ทางด้านตลาดหุ้น เดือนพฤษภาคมต่างชาติขายสุทธิราว -11,000 ล้านบาท ส่วนยอดขายสะสมจากต้นปี 2013 เป็นจำนวนถึง -209,840 ล้านบาทแล้ว แต่ดัชนีเซ็ตกลับไม่ยอมลง รายย่อยและกองทุนก็ซื้อกันสุดชีวิตเช่นกัน

ทีนี้มาดูหุ้นในกลุ่มเช่าซื้อหรือว่าลีสซิงกันบ้าง ตอนนี้นักลงทุนหันมามองหุ้นลีสซิงกันทั้งประเทศแล้ว เพราะต่างรับรู้ข้อมูลและมองเหมือนๆกัน ว่าเมื่อ คสช จ่ายเงินที่ค่าค่าจำนำข้าวแก่เกษตรกร เกษตรกรก็จะมีเงินไปจับจ่ายใช้สอย ใช้หนี้บ้าง ซื้อข้าวของบ้าง ดังนั้นกลุ่มที่เกี่ยวกับการเช่าซื้อและการบริโภค เน้นที่ธุรกิจในภูมิภาค น่าจะได้รับอานิสงส์ ยกตัวอย่างเช่น หุ้นลีสซิงจักรยานยนต์น่าจะได้รับอานิสงส์มากกว่าหุ้นลีสซิงรถยนต์ เพราะในภูมิภาคมอเตอร์ไซค์มีบทบาทมากกว่ารถยนต์ เป็นต้น

เรามาดูกราฟหุ้นที่อาจได้รับอานิสงส์กัน


GL ทำธุรกิจให้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ (หุ้นเช่าซื้อจักรยานยนต์มี 2 หุ้นคือ TK, GL) ปี 2013 ผลประกอบการแย่ลง พร้อมกับราคาที่ร่วงลงมา ไตรมาส 1Q2014 นี้ผลประกอบการก็ยังไม่ฟื้น หลังวันที่ 22 พ.ค. เป็นต้นมา ราคาขึ้นแรงเพราะความคาดหวัง แต่ในความเป็นจริงแล้ว หุ้นในกลุ่มนี้ไม่น่าได้อานิสงส์เร็วนัก เนื่องจากหนี้ครัวเรือนยังสูงอยู่ คงคาดหวังเพียงแค่ว่าผลประกอบการปี 2014 น่าจะกระเตื้องขึ้นกว่า 2013 บ้าง อย่าคาดหวังสูง


TK ทำธุรกิจให้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ราคาวิ่งหลังมี คสช เช่นกัน อย่าคาดหวังสูงเนื่องจากอานิสงส์ยังไม่น่าจะมาถึงเร็ว


GCAP เป็นหุ้นในตลาด MAI ทำธุรกิจสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถไถ เป็นสินเชื่อการเกษตรโดยเฉพาะ ไม่มีคู่แข่ง ทำอยู่เพียงรายเดียว ค่อนข้างเฉพาะทางเหมือนกัน เพิ่งเข้าตลาดมาไม่นาน งบการเงินก็เพิ่งเห็นแค่ปีเดียว ทั้งปัจจัยพื้นฐาน บรรษัทภิบาล และทางเทคนิค ยังบอกอะไรได้ไม่ชัด เพราะเป็นหุ้นเข้าใหม่ หลังมี คสช ราคาวิ่งแรงยิ่งกว่าลิสซิงมอเตอร์ไซค์เสียอีก 


SINGER ทำธุรกิจสินค้าเงินผ่อน พวกเครื่องใช้ไฟฟ้า เมื่อก่อนทำลิสซิงมอเตอร์ไซค์ด้วย หลายปีก่อน ผลประกอบการลดลงไปมากเนื่องจากเครื่องใช้ไฟฟ้าจีนราคาถูกเข้ามาตีตลาด รวมทั้งสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ก็ขาดทุนเนื่องจากมีจุดรั่วไหลมาก หลายปีมานี้มีการปรับเปลี่ยนธุรกิจไปโข สินเชื่อจักรยานยนต์ก็ตัดออกไป ปรับการตลาดและตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ มีสินค้าเชิงพาณิชย์เพิ่มเข้ามา ได้แก่ พวกตู้หยอดเหรียญที่ใช้กันมากในต่างจังหวัด เช่น ตู้เติมเงินโทรศัพท์มือถือ ตู้ขายน้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ งบการเงินปี 2013 และ 1Q2014 ดีแบบเกินความคาดหมาย เนื่องจากสวนกระแสเศรษฐกิจได้ น่าจะปรับตัวมาถูกทิศทางแล้ว


TCCC ทำธุรกิจผลิตปุ๋ยเคมี เมื่อชาวนาไม่มีเงินก็เพาะปลูกไม่ได้ พอได้เงินมาก็รีบไปซื้อพันธุ์ข้าว ซื้อปุ๋ย เพื่อรีบเร่งปลูกข้าวให้ทันหน้าฝน ผลประกอบการสองสามปีที่ผ่านมาดูดี แต่เป็นหุ้นที่สภาพคล่องน้อย นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ควรคำนึงก็คือ ปุ๋ยเป็นสินค้าที่รัฐควบคุมราคา จะขึ้นราคาตามใจไม่ได้ อย่างเช่นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการขอขึ้นราคาปุ๋ยก็ขึ้นไม่ได้ อะไรที่รัฐแทรกแซงหรือควบคุมราคา ต้องระวังอยู่เหมือนกัน


KTC ทำธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิต ก็อาจไม่ค่อยเกี่ยวกับธีมเศรษฐกิจต่างจังหวัดฟื้นตัวโดยตรงนัก แต่ผลประกอบการปี 2013 และ 1Q2014 ดีแบบเกินคาด เป็นหุ้นที่ดูมีศักยภาพในตัวเองอยู่แล้ว 


ลุงแมวน้ำยกตัวอย่างธีมหุ้นที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจภูมิภาค ก็มีทั้งที่น่าสนใจและที่ควรระวัง ก็เอามาคุยให้ฟัง แต่ลุงแมวน้ำก็ยังคิดว่าตอนนี้ไม่ใช่เวลาซื้อ สนใจอะไรก็แค่เล็งไว้ก่อนละกันคร้าบ ^_^