Monday, May 12, 2014

12/05/2014 การลงทุนหุ้นและกองทุนรวมในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ (healthcare industry) (2)





หุ้นในซับเซ็กเตอร์เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology subsector)


“โอ๊ย ลุง เล่าต่อเร็วๆ มัวแต่ดูดน้ำปั่นอยู่นั่นแหละ” ลิงบ่น

“ก็ลุงร้อนนี่นา” ลุงแมวน้ำพูด “เอาล่ะ มาคุยกันต่อ เมื่อกี้ถึงไหนล่ะ”

“ที่ว่าหุ้นกลุ่มไบโอเทคโนโลยี (biotechnology) เป็นดาวเด่นในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพไง มันดียังไง” ลิงทบทวนความเดิม

“อ้อ” ลุงแมวน้ำนึกได้ “ที่จริงลุงควรจะพูดเรื่องอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพเสียก่อน แล้วค่อยไปลงรายละเอียดในซับเซ็กเตอร์ไบโอเทค คือเล่าจากใหญ่ไปเล็ก แต่ว่าคิดว่าเล่าเรื่องไบโอเทคก่อนดีกว่า จะทำให้เราเข้าใจภาพของอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพนี้ได้ดีขึ้น

“หุ้นในกลุ่มนี้หรือว่าซับเซ็กเตอร์นี้ลุงขอเล่าแบบง่ายๆก็แล้วกันนะ จะได้ไม่ปวดหัวกัน หุ้นกลุ่มนี้ขอให้นึกถึงยาไว้ก่อน ที่จริงยังมีที่ไม่ใส่ยาด้วยแต่อย่าเพิ่งไปนึกถึง ขอให้นึกถึงภาพยาที่ผลิตด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ

“สมมติว่ากรณีโรคมะเร็งก็แล้วกัน หากเป็นมะเร็ง การรักษาสมัยก่อนก็ผ่าตัดวิธีเดียวเลย ส่วนใหญ่ก็ต้องตัดอวัยวะ แล้วยังอาจไม่หายขาดอีก ดังนั้นผู้ที่ต้องเสียอวัยวะจากการผ่าตัดมะเร็งไป คุณภาพชีวิตก็ไม่เหมือนเดิม อีกทั้งมะเร็งยังอาจลุกลามได้อีกในภายหลัง

“ต่อมาก็มีการพัฒนายารักษามะเร็งขึ้นมา ซึ่งเป็นการฉายรังสี ก็มีผลข้างเคียงอีก เพราะการฉายรังสีก็เหมือนกับการเอาไฟไปเผาเซลล์มะเร็ง แต่ทีนี้การเผาเจาะจงไม่ได้ขนาดนั้น ดังนั้นเซลล์ดีๆก็จะได้รับรังสีหรือถูกเผาไปด้วย ดังนั้นการฉายรังสีก็มีผลข้างเคียงสูงกับเนื้อเยื่อและอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียง การฉายรังสีต้องควบคุมปริมาณ ฉายมากเกินไปผู้ป่วยอาจเป็นอันตราย ฉายน้อยก็ไม่ได้ผล

“ต่อมาก็มียาทางเคมี ที่เรียกว่าเคมีบำบัดนั่นไง ยาพวกนี้ก็เจาะจงทำลายแต่เซลล์มะเร็งไม่ได้ ต้องทำลายแบบเหมา คือเซลล์ดีก็โดนไปด้วย ดังนั้นจึงจะเห็นว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดนั้นมีอาการข้างเคียงอยู่มาก เช่น อาการแพ้ ผอม น้ำหนักลด ผมร่วง และอาการอื่นๆอีก รวมแล้วก็คือสุขภาพทรุดโทรมลง ใช้ยาแรงมากก็เกรงผู้ป่วยได้รับอันตราย ใช้ไม่แรงก็รักษามะะเร็งไม่ได้ ดังนั้นการใช้เคมีบำบัดก็ลำบากอยู่

“ต่อมามีการพัฒนายาด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ คือใช้สารทางชีวภาพเอามาทำเป็นยา อย่างเช่นยารักษามะเร็ง ก็เป็นยาที่ผลิตมาจากแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันของร่างกายอันเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ยาพวกนี้จะมีคุณสมบัติแบบเดียวกับกลไกภูมิคุ้มกัน นั่นคือ มีความเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ไม่ทำลายเซลล์ดีๆ  โดยทฤษฎีแล้วการรักษามะเร็งด้วยยาไบโอเทคพวกนี้จะได้ผลดี ทำร้ายเซลล์ดีน้อยมาก ทำให้ผู้ป่วยหายขาดและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

“โห ดีจัง” ลิงอุทาน

“แต่ก็นั่นแหละ กระบวนการให้ได้มาซึ่งยาพวกนี้ต้องใช้เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง เพราะต้องหาแอนติบอดีที่มีความเจาะจงในการทำลายเซลล์มะเร็งชนิดนั้นๆที่เราศึกษา จากนั้น เมื่อได้แล้ว ก็ต้องสังเคราะห์โปรตีนนั้นออกมาให้ได้ในปริมาณสูง ทดลองในหลอดทดลอง จากนั้นทดลองในสัตว์ มีการศึกษาประสิทธิผลและพิษในระยะยาว แล้วจึงต้องผ่านกระบวนการพิจารณาทางจริยธรรมก่อนที่จะทดสอบในคนได้ ซึ่ง อย ต้องควบคุม และเมื่อทดสอบในคนแล้วก็ต้องให้ อย อนุมัติ จึงจะใช้เป็นยาได้

“ลำพังแค่การหาแอนติบอดีที่ฆ่าเซลล์มะเร็งได้แบบเจาะจงนี้ก็หน้ามืดแล้ว ต้องทุ่มทุนด้านวิจัยและพัฒนาหรือที่เรียกว่า R&D อย่างมหาศาล ไหนจะขั้นตอนต่อๆมาอีก นอกจากนี้ยังต้องไปจดสิทธิบัตรและบริหารสิทธิบัตรอีก พอเป็นยาก็ต้องทำการตลาดอีก ดังนั้น กว่าจะได้ยาแบบไบโอเทคมาสักชนิดหนึ่ง ใช้ต้องเวลาหลายปี และเงินทุน ทรัพยากรมนุษย์ และเครื่องมืออุปกรณ์มหาศาล ธุรกิจไบโอเทคนี้จึงเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ไม่เปรี้ยงก็แป้ก”

“ยังไงกันลุง ไม่เปรี้ยงก็แป้ก” ลิงจ๋อสงสัย

“กว่าที่จะได้ยามาแต่ละชนิดยากเย็นแสนเข็ญ บางทีสิบปีจึงจะพัฒนายาได้สำเร็จสักตัวหนึ่ง และขั้นการทดสอบในคนหรือที่เรียกว่าการวิจัยทางคลินิกนั้น อาจจะเกิดอะไรขึ้นบ้างก็ไม่รู้ เคยมีเหมือนกัน ที่ FDA หรือ อย. ของสหรัฐอเมริการะงับการทดลองยานั้นๆไปเลย เพราะการวิจัยทางคลินิกมีปัญหา ดังนั้น อาจต้องทำงานกินแกลบสักห้าปีหรือสิบปีเพื่อจะได้ยาสักตัวหนึ่ง แต่ยานั้นหากไม่ผ่าน อย ก็กลับไปกินแกลบต่อ แต่หากผ่าน อย และวางจำหน่ายได้ ยังต้องมีด่านการบริหารสิทธิบัตรและการทำการตลาดยาอีก ดังนั้น ยาพวกนี้หากสำเร็จจะแพงมาก เพราะต้องให้คุ้มกับการลงทุนที่ผ่านมาหลายๆปี แต่หากไม่ประสบความสำเร็จ บริษัทก็อาจต้องล้มไปเลย และพวกนี้พูดกันเป็นเงินระดับล้านดอลลาร์ ไม่ใช่หลักหมื่นหลักแสน พูดง่ายๆว่าหากสำเร็จก็เกินคุ้ม แต่โอกาสสำเร็จมีน้อย” ลุงแมวน้ำอธิบาย

“ถ้าความเสี่ยงมันสูงขนาดนั้น แล้วยังมีใครอยากทำเหรอ” ลิงจ๋อสงสัยอีก “เอาเงินไปทำอย่างอื่นไม่ดีกว่าหรือ”

“ก็อย่างที่บอก หากมาถูกทางก็มีผลกำไรมหาศาล และองค์ความรู้เดิมจะช่วยให้การพัฒนายาในซีรีส์ต่อไปง่ายขึ้นด้วย นายจ๋อถามว่าแล้วแบบนี้ใครจะอยากทำ ลุงแมวน้ำจะบอกว่า สิงคโปร์นี่แหละ อยากทำ สิงคโปร์มีวิสัยทัศน์จะสร้างความเป็นเลิศทางด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพนี้  ก็พยายามดำเนินการมาหลายปีแล้ว มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานไว้รองรับ ทำตัวเป็นฮับด้านวิจัยและพัฒนาไบโอเทคในภูมิภาคนี้  ให้บริษัทใหญ่ๆในโลกมาตั้งฐานการวิจัยและพัฒนาในสิงคโปร์ ขนเอาทุน บุคลากร และเทคโนโลยีเข้ามา ขณะที่ไทยเราไม่ได้คิดไกลแบบนั้น”

“สิงคโปร์เนี่ยนะ” ลิงจ๋อถาม

“ใช่แล้ว อุตสาหกรรมไบโอเทคของสิงคโปร์ตอนนี้มีมูลค่ามากกว่า 5% ของจีดีพีสิงคโปร์แล้ว นอกจากจะดึงต่างชาติมาตั้งฐานแล้ว สิงคโปร์ยังสร้างองค์ความรู้ของตนเอง ลงทุนซื้อตัวนักวิชาการเก่งๆระดับโลกให้มาทำงานด้วย มาสอนหนังสือ มาทำวิจัย ด้วยเงื่อนไขที่ดีมาก ก็มีคนสนใจนั่นแหละ ใครรับข้อเสนอก็เชิญมาเลย โอนสัญชาติเป็นสิงคโปร์ด้วย” ลุงแมวน้ำตอบ “เสียดายนะที่เขาไม่ลงทุนซื้อตัวแมวน้ำละครสัตว์”

“ฮุฮุฮุ ลุงก็นอนกลิ้งอยู่แถวนี้แหละ ดีแล้ว อยู่เป็นเพื่อนผม” ลิงหัวเราะ

“เอ้า มาเข้าเรื่องไบโอเทคกันต่อ ดังนั้น หุ้นกลุ่มไบโอเทคจึงผันผวนสูง ค่าเบตาสูงทีเดียว ลองดูตัวอย่างหุ้นสักตัวก็ได้ ดูนี่” ลุงแมวน้ำพูดแล้วก็ดึงกระดาษแผ่นหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย


กราฟราคาหุ้น CLDX ในรอบยี่สิบกว่าปี

เซลล์เด็กซ์ เป็นบริษัทที่กลุ่มไบโอเทคโนโลยี ผลิตยารักษาโรคมะเร็งและโรคแปลกๆที่รักษายากอีกหลายชนิดด้วยยาที่ผลิตจากภูมิคุ้มกัน (immunotherapeutics) มียาที่กำลังอยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนามากมายหลายตัว แต่ยังไม่สำเร็จจนถึงขั้นวางตลาดได้ เฉพาะในปี 2013 ค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาสูงถึง 67.4 ล้านดอลลาร์ สรอ แต่มีรายได้เข้ามาเพียง 4 ล้านดอลลาร์ และขาดทุนสุทธิ 81 ล้านดอลลาร์ ระหว่างที่ยายังไม่สำเร็จก็ต้องทนขาดทุนแบบนี้
CLDX มีมาร์เก็ตแค็ปประมาณ 1,100 ล้านดอลลาร์


“นี่ไง กราฟของบริษัทเซลล์เดกซ์ (Celldex Therapeutics, CLDX) ดูให้เห็นด้วยตา เทรดกันมาตั้งแต่สิบกว่ายันร้อยกว่า แล้วกลับลงมาต่ำสิบ ตอนนี้ก็ราคาสิบกว่าดอลลาร์ ช่วงหลังผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปีเพราะยายังอยู่ในขั้นวิจัย เข้าข่ายกินแกลบดังที่ลุงบอก”

“โห ลุง แล้วไหงลุงบอกว่ากลุ่มดูแลสุขภาพดี น่าสนใจ” ลิงจ๋อโวย

“นายจ๋ออย่าเพิ่งสับสน ลุงยกตัวอย่างหุ้นนี้ขึ้นมา เพราะกำลังจะบอกว่า หุ้นในซับเซ็กเตอร์ไบโอเทคนั้นแม้เป็นดาวเด่น แต่ก็มีความเสี่ยงสูงแฝงอยู่ ดังที่เล่ามา แต่ถ้าเข้าใจเลือกหุ้นก็พอมีหุ้นดีๆที่ปลอดภัยในซับเซ็กเตอร์ไบโอเทคให้เลือก และอีกอย่างคือ หุ้นในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพนั้นยังมีซับเซ็กเตอร์อื่นๆอีก เรายังไม่ได้พูดกันถึงกลุ่มอื่นเลยว่าน่าสนใจยังไง เรายังคุยกันเรื่องหุ้นและกองทุนในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพไม่หมดเลย เพิ่งคุยกับแค่ซับเซ็กเตอร์ไบโอเทคเท่านั้นเอง ลองดูอีกสักหุ้นก็ได้ ดูนี่”



ราคาหุ้นบริษัทกิลเลียด ไซเอนซ์ จากปี 2000-2013 เวลา 13 ปีราคาหุ้นขึ้นไปราว 40 เท่า บริษัทนี้ผลิตยาไบโอเทคหลายชนิด ถึงขั้นวางจำหน่ายได้แล้ว มีทั้งยารักษาโรคเอดส์ ยารักษาโรคตับ และอื่นๆ
GILD มีมาร์เก็ตแค็ปประมาณ 122,000 ล้านดอลลาร์ (หนึ่งแสนสองหมื่นสองพันล้าน) ปี 2013 มีรายได้ 11,200 ล้านดอลลาร์ มีค่าใช้จ่ายด้านค่าวิจัยและพัฒนาถึง 2,100 ล้านดอลลาร์ และมีกำไรสุทธิประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์ 


“นี่แหละ ไม่เปรี้ยงก็แป้ก รายนี้เปรี้ยงเลย” ลุงแมวน้ำพูด

“และอีกอย่างหนึ่งก็คือ หุ้นไบโอเทคโนโลยีนั้น หากเป็นบริษัทระดับพันล้านดอลลาร์ ก็ยังถือว่าเป็นบริษัทเล็ก และมีสายป่านสั้น ความอยู่รอดทางธุรกิจจึงยังเป็นปัญหา แต่บริษัทเล็กพวกนี้มักมีของดีอยู่ คือมีผลงานวิจัยหรือว่าสิทธิบัตรดีๆอยู่ในมือ พูดง่ายๆก็คือเทคโนโลยีเด่นแต่ว่าสายป่านอาจสั้นไปสักนิด บริษัทเหล่านี้จึงมักเป็นเป้าหมายในการเทคโอเวอร์ของบริษัทใหญ่ๆ ทีนี้หุ้นในซับเซ็กเตอร์นี้ก็สนุกสนานกันละ ยกตัวอย่างเซลล์เด็กซ์นี่ไง ขาดทุนหลายปีติดต่อกัน แต่หุ้นยังวิ่งแรง เพราะว่ายิ่งขาดทุนยิ่งแปลว่ามีโอกาสถูกเทคโอเวอร์สูง เก็งกำไรกันสนุกไปเลย”

“อ้อ ยังงี้นี่เอง” ลิงจ๋อได้คิด “ยังงั้นเล่าต่อเลยลุง”

“เดี๋ยว คอแห้งอีกแล้ว เดี๋ยวหาน้ำปั่นสักแก้วก่อน” ลุงแมวน้ำตอบ

Saturday, May 10, 2014

10/05/2014 การลงทุนหุ้นและกองทุนรวมในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ (healthcare industry) (1)





เช้าวันเสาร์ ลิงจ๋อห้อยโหนต้นไม้มาหยุดอยู่ที่หน้าโขดหินของลุงแมวน้ำ พลางชะเง้อมองหาลุงแมวน้ำที่โขดหิน โดยไม่ได้สังเกตว่าลุงกำลังปลูกต้นไม้อยู่ในสวนใกล้ๆโขดหินนั่นเอง

“ลุงแมวน้ำ ลุงแมวน้ำ วู้ ตื่นหรือยัง มัวแต่หลับอุตุ” ลิงจ๋อตะโกนเรียก

“ลุงอยู่ในสวน” ลุงแมวน้ำตะโกนตอบ “ตื่นตั้งนานแล้ว”

ลิงจ๋อเดินเข้ามาหาลุงในสวน

“มาหลบอยู่ที่นี่เอง นึกว่ายังไม่ตื่น” ลิงทักทาย

“มาแต่เช้าเชียว อากาศร้อนๆ มีน้ำปั่นมาฝากลุงไหม” ลุงแมวน้ำถาม

“ลุงทวงของฝากแต่เช้าเลย ผมยังไม่ได้ไปไหน ไม่มีของฝากหรอก” ลิงตอบ

“อ้าว ไม่มีของฝากแล้วมาทำไม” ลุงแมวน้ำถาม

“โห ลุงตอบได้จี๊ดมาก” ลิงจ๋อหัวเราะ “มีเรื่องมาปรึกษาลุงหน่อยน่ะ อากาศร้อน นอนไม่ค่อยหลับ เลยมาหาลุงแต่เช้า”

“จะปรึกษาเรื่องอะไรล่ะ” ลุงแมวน้ำถาม “ของฝากก็ไม่มี”

“คือผมสนใจหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลน่ะ เห็นเขาว่าปลอดภัยดี ช่วงนี้ขึ้นแรงไม่แคร์ตลาดเสียด้วย” ลิงจ๋อพูด “กับอีกทีก็ดูๆกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศในกลุ่มเฮลท์แคร์ เท่าที่อ่านความเห็นจากกระทู้ต่างๆ ก็เห็นว่าผลตอบแทนดี และกระจายความเสี่ยงจากตลาดหุ้นไทยได้อีกด้วย”

“แล้วนายจ๋อมีความคิดเห็นยังไงบ้างล่ะ” ลุงแมวน้ำถามกลับ

“เอ้อ” ลิงอึ้งไป “เมื่อช่วงก่อนเท่าที่อ่านจากกระทู้ต่างๆ ก็เห็นพูดกันว่าดี แต่มีสัปดาห์นี้ก็มีบ่นว่าติดดอยกับตรึมเหมือนกัน ผมก็เลยไม่ค่อยแน่ใจไง เลยมาถามลุง”

“แล้วลุงจะรู้ไหมเนี่ย” ลุงแมวน้ำตอบ “นายจ๋อก็พยายามหาข้อมูล ติดตามอ่านมาตั้งเยอะ แล้วทำไมยังหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้”

“ก็ลุงแมวน้ำมีความรู้รอบพุงเยอะไม่ใช่หรือ ผมก็มาถามลุงเพื่อให้มั่นใจมากขึ้นไง” ลิงจ๋อตอบ พลางหยิกหมับเข้าที่พุงของลุงแมวน้ำ

“โอ๊ย เดี๋ยวความรู้หลุดหมด” ลุงแมวน้ำบอกนายจ๋อ “ก่อนอื่นก็ต้องชมนายจ๋อ ว่าเดี๋ยวนี้พัฒนาขึ้น พยายามหาศึกษาข้อมูล พยายามอ่านมากขึ้น แต่ลุงอยากให้นายจ๋อระวังการรับรู้ข้อมูล คือต้องรู้จักแยกแยะข้อมูลด้วย”

“ยังไงหรือลุง ยังไม่เข้าใจ” ลิงจ๋อถาม

“ก็เมื่อเราค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ข้อมูลที่ได้มีมากมาย นายจ๋อต้องเลือกพิจารณาและแยกแยะ ยกตัวอย่างที่นายจ๋ออยากลงทุนแล้วไปอ่านกระทู้ต่างๆ คนที่ซื้อแล้วราคาขึ้นก็เข้ามาเขียนเชียร์ว่าดี แต่คนที่ซื้อแล้วราคาร่วงก็เข้ามาเขียนบ่น เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว หากอ่านกระทู้พวกนี้นายจ๋อจะหวั่นไหวไปกับอารมณ์ในกระทู้มากกว่าที่จะได้รับรู้ข้อมูล”

“แล้วผมต้องทำยังไงละลุง” ลิงถามอีก

“นายจ๋อก็ต้องเลือกรับรู้ข้อมูล พยายามอ่านในสิ่งที่ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวธุรกิจ ต้องพยายามแยกแยะข้อมูลและการแสดงออกทางอารมณ์จากกัน มันก็อธิบายยากอยู่เหมือนกัน แต่กรณีของนายจ๋อก็ถือว่าเป็นอุทาหรณ์ คือยิ่งอ่านเยอะยิ่งหวั่นไหว ยิ่งลังเล แบบนี้ก็ไม่ถูกทางแล้วล่ะ แทนที่จะอ่านแล้วได้คำตอบ”

ลิงจ๋อหยิบธนบัตรใบละยี่สิบบาทออกมา แล้วเอาคลิปหนีบธนบัตรไว้กับครีบของลุงแมวน้ำ พลางพนมมือ

“เอาล่ะ ลุงเริ่มบ่น แสดงว่าเครื่องร้อนแล้ว ติดกัณฑ์เทศน์แล้วลุงเริ่มเทศน์ได้เลยคร้าบ”

“สงสัยจะเพี้ยน” ลุงแมวน้ำหัวเราะ “เอ้า มาเข้าเรื่องกลุ่มสุขภาพกัน”

ลุงแมวน้ำหยุดคิดนิดหนึ่งแล้วเริ่มพูด

“ก่อนอื่น ลุงถามก่อนว่า นายจ๋อเข้าใจความหมายของกลุ่มเฮลท์แคร์นี้ว่ายังไง มันคือธุรกิจอะไร” ลุงแมวน้ำถาม

“หมายถึงโรงพยาบาลไงลุง” ลิงจ๋อรีบตอบ “ถูกต้องนะคร้าบ”

“ก็ไม่เชิง” ลุงแมวน้ำตอบ “อย่างนั้นเราต้องมาตั้งต้นกันก่อนว่ากลุ่มเฮลท์แคร์นี้คืออะไร นายจ๋อจะได้เข้าใจภาพของธุรกิจในกลุ่มนี้ คงจะเป็นวิชาการหน่อย ทนฟังเอาหน่อยละกัน

“คำว่ากลุ่มเฮลท์แคร์นี้ เป็นคำที่เราเรียกกันทั่วไป ภาษาอังกฤษเขียนได้สองแบบ คือ healthcare กับ health care คือเขียนติดกันกับไม่ติดกัน ลุงถนัดเขียนติดกันมากกว่า

“ในการจัดจำแนกหมวดหมู่ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น เราจำแนกเรื่องการดูแลสุขภาพนี้อยู่ในหมวดใหญ่คือเป็นอุตสาหกรรมบริการ (service industry) และหมวดย่อยคือเป็นเซ็กเตอร์บริการสุขภาพ (healthcare service sector) คือเราจัดเรื่องการดูแลสุขภาพเป็นหมวดย่อยในหมวดใหญ่บริการ

“แต่ในเรื่องการจำแนกหมวดหมู่นั้นมีการจำแนกกันหลายระบบ ที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยจำแนกมาแบบนี้ก็เป็นเพียงแบบหนึ่งเท่านั้น ฝรั่งมีการจำแนกกลุ่มดูแลสุขภาพนี้มากมายหลายแบบ ยกตัวอย่างเช่น ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ใช้การจำแนกโดยเกณฑ์ของดัชนีเอสแอนด์พีดาวโจนส์ ก็จำแนกอีกวิธีหนึ่ง โดยกำหนดให้เรื่องการดูแลสุขภาพนั้น จัดอยู่ในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ (healthcare industry) คือยกให้เป็นหมวดใหญ่ไปเลย และยังมีหมวดย่อยอีก เป็นระดับเซ็กเตอร์ (sector) และระดับซับเซ็กเตอร์ (subsector) อีก 5 ซับเซ็กเตอร์”


(คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพขนาดขยาย)

อุตสาหกรรมดูแลสุขภาพในตลาดหุ้นนิวยอร์กนั้น แบ่งย่อยออกเป็น 5 ซับเซ็กเตอร์ ดังนี้ 
(1) ธุรกิจผู้ให้บริการดูแลสุขภาพ (healthcare privoders) คือธุรกิจโรงพยาบาล คลินิก สถานพักฟื้น สถานดูแล ศูนย์วัยเกษียณ รวมไปถึงคลินิกทันตกรรมและตรวจสายตาประกอบแว่น 
(2) ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ (medical equipment) ได้แก่เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆทางการแพทย์ เช่น เครื่องฉายเอกซ์เรย์ เครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอ รวมไปจนถึงอุปกรณ์ที่ฝังในร่างกาย เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ ฯลฯ 
(3) ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุการแพทย์ (medical supplies) ได้แก่วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ต่างๆ ที่ใช้แล้วต้องทิ้งไป เช่น พลาสเตอร์ ผ้าพันแผล เข็มและหลอดฉีดยา คอนแทกเลนส์ ฯลฯ 
(4) ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology) เป็นธุรกิจที่วิจัย พัฒนา และผลิต สารทางชีวภาพเพื่อการตรวจหรือรักษาโรค เช่น การตรวจยีนหาความผิดปกติของทารก ชุดตรวจเอดส์ ยาปฏิชีวนะ สเต็มเซลล์ ฯลฯ ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพนี้คาบเกี่ยวกับธุรกิจยาด้วย 
(5) ธุรกิจยา (pharmaceuticals) เป็นธุรกิจที่ผลิตและจัดจำหน่ายยาทั่วไป (ส่วนใหญ่เป็นยาที่สังเคราะห์ทางเคมี) เช่น แอสไพริน ยาบรรเทาหวัด ยาคุมกำเนิด ฯลฯ ซึ่งไม่รวมไวตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (หมายเหตุ คำว่ายานี้ ในการจำแนกของเอสแอนด์พีดาวโจนส์ ไม่รวมยาที่ได้จากเทคโนโลยชีวภาพ แต่คำว่ายาในการจำแนกของค่ายอื่นๆอาจหมายความรวมไปถึงยาจากเทคโนโลยีชีวภาพด้วย)



“แล้วมันสำคัญยังไงเนี่ยลุง” ลิงจ๋อสงสัย

“สำคัญสิ เพราะว่าหากนายจ๋อจะลงทุนในกองทุนสุขภาพของต่างประเทศ นายจ๋อต้องเข้าใจเสียก่อนว่าคำว่า healthcare ในตลาดหุ้นไทยกับในตลาดหุ้นต่างประเทศนั้นมีความหมายและขอบเขตที่แตกต่างกัน ในตลาดหุ้นไทยตอนนี้ คำว่า healthcare ทำให้นายจ๋อนึกถึงแต่โรงพยาบาล แต่กับกองทุนต่างประเทศ คำว่า healthcare ครอบคลุมธุรกิจที่มากมายหลายหลาก ไม่ได้มีเพียงแค่โรงพยาบาล นายจ๋อจะลงทุนอะไร อย่างน้อยก็ต้องเข้าใจพื้นฐานของธุรกิจนั้นๆบ้างพอสมควร” ลุงแมวน้ำตอบ

“อ้อ ครับ ครับ” ลิงจ๋อเริ่มเข้าใจ “เชิญลุงแมวน้ำเทศน์ต่อ แล้วความหมายของ healthcare industry นั้นหมายถึงอะไรบ้างล่ะลุง”

“อุตสาหกรรมดูแลสุขภาพนั้นครอบคลุมธุรกิจมากมายหลายอย่าง โรงพยาบาลก็ใช่ นอกจากนี้ยังธุรกิจอื่นๆอีก เช่น ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายยา, ผู้ผลิตเครื่องมือ อุปกรณ์ และวัสดุทางการแพทย์, ผู้ผลิตสารตรวจวิเคราะห์, การดูแลนอกโรงพยาบาล การพักฟื้น การฟื้นฟู, การประกันสุขภาพ, ตลอดไปจนถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ ธุรกิจด้านไบโอเทคโนโลยี (biotechnology) ที่ถือว่าเป็นดาวเด่นของอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพนี้” ลุงแมวน้ำพูด

“เดี๋ยว ลุง พัฒนาอสังหาริมทรัพย์นี่เกี่ยวอะไรด้วย” ลิงจ๋อรีบถาม




ชุมชนผู้สุงอายุ เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์และบริการเพื่อผู้สูงอายุแบบครบวงจร เป็นธุรกิจหนึ่งในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพในตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว



“เกี่ยวสิ ในต่างประเทศมีธุรกิจการดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุในระยะยาวแบบครบวงจร ธุรกิจพวกนี้เรียกว่าธุรกิจ long term care facilities ยกตัวอย่างเช่น การดูแลผู้สูงอายุนั้น ไม่ได้หมายความเพียงแค่จัดผู้ดูแลประจำตัวเพื่อคอยพยุงหรือพาไปไหนมาไหน  แต่ธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบันมีการจัดทำเป็นชุมชนผู้สูงอายุเลยทีเดียว มีที่พักที่ออกแบบพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ เช่น มีแต่พื้นราบ เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆมีขนาดใหญ่ เห็นชัด ถนัดตา และใช้งานได้โดยไม่ต้องออกแรงมาก นอกที่พักก็ยังมีแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของผู้สูงอายุ มีการจัดภูมิทัศน์และทางเดินให้เหมาะสม มีร้านค้า สินค้าและบริการต่างๆให้เลือกซื้อหา มีศูนย์พยาบาลอยู่ใกล้ๆ เรียกหาได้สะดวก มีการจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อกระตุ้นร่างกายและสมองของผู้สูงอายุ เป็นต้น ชุมชนผู้สูงอายุแบบครบวงจรนี้ก็คือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งนั่นเอง ซึ่งในบ้านเราก็เริ่มมีบ้างแล้ว อย่างเช่น สวางคนิวาศ ของสภากาชาดไทย แต่ไม่ได้เป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนของอเมริกาหรือในหลายๆประเทศนั้นมีธุรกิจแนวนี้เป็นหุ้นในตลาดด้วย” ลุงแมวน้ำอธิบาย

“โห นึกไม่ถึงเลยนะเนี่ย” ลิงอุทาน “แล้วที่ลุงว่าดาวเด่นของอุตสาหกรรมนี้คือธุรกิจด้านไบโอเทคโลยี มันยังไงกันลุง”

“ดาวเด่นก็คือ หุ้นในกลุ่มธุรกิจไบโอเทคโนโลยี (biotechnology) หรือเรียกสั้นๆว่าไบโอเทค (biotech) นั้นเป็นหุ้นที่กำลังได้รับความนิยมและร้อนแรงในตลาดหุ้นอเมริกาน่ะสิ ที่จริง biotechnology นี้ในภาษาไทยก็มีคำให้ใช้ด้วยเหมือนกัน เรียกว่าเทคโนโลยีชีวภาพ”

“จะเรียกไบโอเทคโนโลยีหรือเทคโนโลยีชีวภาพ ผมก็ไม่เข้าใจอยู่ดี อธิบายหน่อยสิลุง” ลิงจ๋อเร่ง “ที่ว่าเด่นนั้นเด่นยังไง กำไรดีมากไหม”

“รอก่อนนะ ลุงคอแห้ง ขอดูดน้ำปั่นก่อนแล้วค่อยเล่าต่อ” ลุงแมวน้ำตอบ