Saturday, May 3, 2014

03/05/2014 เช้าวันหยุดกับลุงแมวน้ำ : ข้าวอบเห็ดหอมเทอริยากิ เจ/มังสวิรัติ



เห็ดหอม (Lentinus endodes, shiitake mushroom, xiang gu) ภาพบนสุดเป็นเห็ดหอมที่ขึ้นตามขอนไม้ในป่า ภาพถัดมาเป็นการเลี้ยงเห็ดหอมทางการค้า ปัจจุบันความนิยมบริโภคเห็ดหอมมีมาก ไปเก็บตามป่าไม่ไหวแล้ว จึงมีการนำมาเพาะเลี้ยงในโรงเรือนด้วยถุงพลาสติกเพื่อให้ผลิตได้มากๆ เห็ดหอมที่ขายในตลาดมีทั้งเห็ดหอมสด และเห็ดหอมตากแห้ง ในประเทศไทยมีผู้ผลิตเห็ดหอมหลายราย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือเนื่องจากเห็ดหอมชอบอากาศเย็น แต่อย่างไรก็ดี เห็ดหอมแห้งที่วางขายส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน และมักผ่านกระบวนการอบแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (sulphur dioxide) เช่นเดียวกับที่เราอบลำไย


ช่วงนี้มีวันหยุดหลายวัน อากาศร้อนอบอ้าว ปีนี้เป็นปีที่อากาศร้อนมาก แถมยังเป็นปีแล้งอีกด้วย ฝนจึงตกไม่มาก ไม่ค่อยมีฝนมาช่วยบรรเทาอากาศร้อนเท่าไร และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ฝนไม่ใช่ตกเฉยๆ แต่มาพร้อมกับพายุฤดูร้อน คือมาทั้งฝนและลม บ้านพัง หลังคาเปิดเปิงกันไปมากมาย

สุดสัปดาห์นี้เป็นวันหยุดยาว เรามาทำอาหารสุขภาพกินกันดีกว่า

เมนูสุขภาพของลุงแมวน้ำวันนี้คือ ข้าวอบเห็ดหอมเทอริยากิ สูตรมังสวิรัติ ชื่อประหลาดยาวเฟื้อย ขอบอกว่าเป็นเมนูที่ลุงแมวน้ำคิดขึ้นเอง เป็นเมนูสุขภาพ อีกทั้งเป็นเมนูขี้เกียจ ทำง่ายฝุดๆ มีอุปกรณ์เพียงแค่หม้อหุงข้าวกับเตาอบไมโครเวฟก็ใช้ได้แล้ว

เมนูนี้เป็นเมนูสุขภาพ เพราะว่าไขมันต่ำมากๆ อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระมากมายก่ายกอง เห็ดหอมนั้นเป็นอาหารสุขภาพของชาวจีนและญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเรียกว่าชิตาเกะ (shiitake mushroom) ส่วนจีนเรียกเซียงกู (xiang gu) ซึ่งแปลตรงตัวว่าเห็ดที่มีกลิ่นหอม ส่วนชื่อในทางวิทยาศาสตร์นั้นเรียกว่า เลนตินัส เอนโดเดส (Lentinus endodes)

มาคุยกันเรื่องเห็ดหอมก่อน เห็ดหอมนั้นทางจีนและญี่ปุ่นถือว่าเป็นอาหารบำรุงสุขภาพ ช่วยให้มีอายุขัยยืนนาน และความเชื่อก็ขยายต่อไปอีกว่ามีสรรพคุณรักษาโรคมะเร็งและโรคภัยไข้เจ็บต่างๆอีกหลายโรค

ในทางวิทยาศาสตร์ เท่าที่มีการศึกษาและวิจัยกันมา ปัจจุบันเราพบว่าในเห็ดหอมนั้นมีสารสำคัญอยู่หลายชนิด เช่น เบตากลูแคน (beta glucan) และสารประกอบฟีนอล (phenolic compound) อื่นๆ ซึ่งสารเหล่านี้มีคุณบัติต้านอนุมูลอิสระ หรือเป็นแอนไทออกซิแดนต์ (antioxidant) ซึ่งน่าจะช่วยต่อต้านมะเร็งได้ แต่จากการวิจัยทางคลินิกในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าเห็ดหอมนั้นมีคุณสมบัติรักษามะเร็งได้ เคยมีการทดลองกับเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก ก็ไม่ได้ผล ดังนั้น เราจึงควรคิดว่าเห็ดหอมเป็นอาหารเสริมสุขภาพเท่านั้น อย่าไปมองถึงขั้นรักษาโน่นรักษานี่ได้

แหล่งขายเห็ดหอมตากแห้ง เมื่อก่อนแหล่งใหญ่จะอยู่ที่เยาวราชเนื่องจากเป็นเห็ดหอมนำเข้ามาจากประเทศจีน แต่ปัจจุบันหาซื้อได้ทั่วไป ตามซูเปอร์มาร์เก็ตก็มีขาย แม้ในปัจจุบันในบ้านเรามีผู้เพาะเลี้ยงเห็ดหอมอยู่หลายราย แต่ส่วนใหญ่ก็ยังนำเข้าจากจีนเช่นเดิม

เอาล่ะ ไมู่ดพล่ามทำเพลง คาดผ้ากันเปื้อนแล้วเข้าครัวกันเลย ทำเดี๋ยวเดียวก็เสร็จ

วัตถุดิบที่ต้องใช้ก็มีดังนี้


  1. ข้าวกล้อง
  2. เห็ดหอมตากแห้ง
  3. แครอท
  4. ถั่วลิสง
  5. ซอสเทริยากิ


วัตถุดิบหลักมีเท่านี้เอง วัตถุดิบเหล่านี้หาซื้อได้ในซูเปอร์มาเก็ต ปริมาณก็กะเอาเองตามสมควร ตอนที่ลุงแมวน้ำเล่าวิธีทำจะบอกปริมาณไว้ด้วย แต่เพิ่มได้ลดได้ ไม่ตายตัว เรามาลงมือทำกันเลย ดูตามภาพไปเลยคร้าบ ภาพมาก่อน คำอธิบายตามหลัง ^_^




 ขั้นแรกก็หุงข้าวเสียก่อน ลุงแมวน้ำใช้ข้าวกล้องอินทรีย์ ปริมาณ 1 ถ้วยครึ่ง และหั่นแครอทหัวใหญ่ๆไปด้วย 1 หัว ใส่ถั่วลิสงดิบลงไปนิดหน่อย จากนั้นนำไปหุงด้วยกัน ปริมาณน้ำนี้ลุงใช้ 600 มิลลิลิตร (ปริมาณน้ำที่ใช้หุงข้าวขึ้นอยู่กับชนิดและอายุของข้าวสารด้วย ใช้มากน้อยแตกต่างกัน ต้องลองผิดลองถูกเองด้วย) 





ระหว่างที่หุงข้าวอยู่ก็ทำเห็ดหอมไป นำเห็ดหอมตากแห้งมาล้างน้ำ ควรแช่น้ำสักครู่แล้วทิ้งน้ำไป เพื่อล้างสิ่งตกค้างบนผิวเห็ดหอมออกไป จากนั้นแช่เห็ดหอมในน้ำสะอาด เห็ดหอมแห้งซึ่งอยูในสภาพแข็งโป๊กราวกับหินจะดูดน้ำเข้าไปจนกลายเป็นเห็ดหอมนิ่มๆ เมื่อเห็ดหอมนิ่มแล้วจึงนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ

เห็ดหอมตากแห้งนี้มีหลายเกรด หลายราคา ขึ้นกับขนาดความและสมบูรณ์ของดอกเห็ด เห็ดสวย ดอกใหญ่ ราคาแพง และขึ้นกับสถานที่ซื้อด้วย เห็ดสวยๆในห้างกิโลกรัมละประมาณ 1,000 บาท ถ้าเกรดรองลงมาก็ราคาลดหลั่นลงมา ลุงแมวน้ำใช้เกรดดีหน่อย ดอกใหญ่ ซื้อจากสันติอโศก ราคาประมาณกิโลกรัมละ 600 บาท เมนูนี้ลุงใช้ 5 ดอก ซึ่งเมื่อนำมาแช่น้ำและหั่นแล้วได้เนื้อเห็ดชามใหญ่เลยทีเดียว






นำเห็ดหอมที่หั่นแล้วมาคลุกกับซอสเทริยากิ 5-6 ช้อนกินข้าว หมักเอาไว้สักสิบนาที จากนั้นนำไปอบในเตาอบไมโครเวฟด้วยไฟแรงสุด นาน 3-4 นาที จนเห็ดหอมสุก ซอสเทริยากิที่เห็นในภาพนี้ราคาขวดละประมาณหกสิบกว่าบาท





เมื่อข้าวสุก นำเห็ดหอมที่หมักซอสและอบจนสุกแล้วมาคลุกกับข้าว ลองชิมดู หากชอบหวานก็อาจเติมซอสเทริยากิเพิ่มในข้าวอีกนิดหน่อยก็ได้

แค่นี้เอง เสร็จแล้วคร้าบ เสิร์ฟได้เลย เมนูนี้อร่อยพอใช้ได้ ขอบอก พร้อมกันนี้ยังมีไขมันต่ำมากอีกด้วย คือไขมันที่ได้มาจากถั่วลิสงที่เราใส่ลงไปนิดหน่อยนั่นเอง

นอกจากนี้ เมนูนี้ยังมีโปรตีนต่ำอีกด้วย เพราะสังเกตว่าไม่ได้ใส่โปรตีนใดๆลงไป แต่หากอยากใส่โปรตีนลงไปก็พลิกแพลงเอาได้ โดยเพิ่มไส้กรอกเจหรือลูกชิ้นเจลงไปในเห็ดหอม นำไปอบด้วยกัน ก็จะได้ปริมาณโปรตีนเพิ่มขึ้น

หมายเหตุ ในภาพนี้มีลูกชิ้นติดมาด้วย นั่นคือลูกชิ้นเจคร้าบ

เห็นไหมว่าง่ายฝุดๆ เมนูสุดแสนขี้เกียจในวันหยุดของลุงแมวน้ำ กินให้อร่อยนะคร้าบ ^_^

Sunday, April 20, 2014

20/04/2014 ฉันจะออมได้เท่าไรกว่าจะถึงวัยเกษียณ





หลังจากที่ลุงแมวน้ำคุยกับยีราฟสาวไปเมื่อวันก่อน หลายวันต่อมายีราฟสาวแวะมาหาลุงแมวน้ำที่โขดหินอีก

“สวัสดีจ้ะลุง ขอคุยด้วยหน่อยสิ” แม่ยีราฟทักทาย

“ได้สิ แม่ยีราฟจะคุยเรื่องอะไรล่ะ” ลุงแมวน้ำถาม ที่จริงถามไปยังงั้นแหละ เพราะเดาได้อยู่แล้วว่าแม่ยีราฟจะมาคุยด้วยเรื่องอะไร

“อยากคุยกับลุงเรื่องการออมสำหรับวัยเกษียณหน่อยจ้ะ” ยีราฟพูด เป็นไปตามที่ลุงคาด นี่ถ้าลุงซื้อหวยก็ถูกไปแล้ว

“ได้สิ แม่ยีราฟจะถามว่าอะไรล่ะ” ลุงแมวน้ำถาม

“ฉันอยากรู้ว่าฉันจะออมเงินได้เท่าไรเมื่อถึงวัยเกษียณน่ะสิ” ยีราฟสาวถาม “วันก่อนลุงยกตัวอย่างและการคำนวณสำหรับการเกษียณในปี 2566 แต่ของฉันกว่าจะเกษียณมันยังไกลกว่านั้น”

“อ้าว” ลุงแมวน้ำอุทาน “แล้วลุงจะไปรู้ได้ยังไงว่าแม่ยีราฟจะออมเงินได้เท่าไร”

“แหม ก็ช่วยบอกฉันหน่อยเถอะ นะ นะ” ยีราฟสาวออดอ้อน “ไหนว่าความรู้รอบพุงเยอะไง ถามแค่นี้ทำไมตอบไม่ได้”

“ก็แม่ยีราฟหาเงินเอง เก็บเงินเอง แล้วลุงจะไปรู้ได้ยังไง” ลุงแมวน้ำเริ่มปวดหัวกับคำถามของยีราฟสาวอีกแล้ว

“ไม่รุ ลุงต้องบอกฉัน” ยีราฟสรุปเอาดื้อๆ

“ยังงี้ก็มีด้วย เดี๋ยว ขอลุงนึกก่อน จะทำยังไงดี” ลุงแมวน้ำนิ่งนึกอยู่สักครู่ “เอายังงี้ก็แล้วกัน”

ว่าแล้วลุงแมวน้ำก็ดึงกระดาษแผ่นหนึ่งออกมาจากหูกระต่าย

“ถ้ายังงั้นเราต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ละกัน ลุงแมวน้ำจะสมมติใหม่ ลองฉายภาพอนาคตใหม่อีกสักภาพ แล้วแม่ยีราฟลองดูว่าพอเอาไปใช้ประโยชน์ได้ไหม” ลุงแมวน้ำพูด “มาดูภาพนี้กัน”

ลุงแมวน้ำคลี่กระดาษกางออกให้ยีราฟดู พลางอธิบาย





“เราลองมาสมมติกันใหม่...” ลุงแมวน้ำพูด “เอ้า หลับตา แล้วจินตนาการว่า เมื่อปี 2554 แม่ยีราฟอายุ 22 ขวบ เพิ่งจบปริญญาตรีมาใหม่ๆและเพิ่งเริ่มทำงานที่คณะละครสัตว์เป็นปีแรก”

“ฮ่าฮ่า ลุงแมวน้ำสมมติเว่อจัง” ยีราฟหัวเราะ

“ไม่เว่อหรอก ลุงสมมติแบบนี้มีที่มาที่ไป ไม่ได้ยกขึ้นมาลอยๆ” ลุงแมวน้ำตอบ “คิดตามไปก่อน ถ้าเริ่มทำงานเมื่ออายุ 22 ปี 2554 แปลว่าทำงานปีสุดท้ายเมื่ออายุครบ 60 ขวบคือปี 2592 จากนั้นปี 2593 ก็จะว่างงาน เริ่มใช้จ่ายเงินเกษียณเป็นปีแรก”

“จ้ะ เอายังงั้นก็ตามใจลุง”

“ด้วยแผนหลังเกษียณแบบประหยัด คุณภาพชีวิตจำกัด ตามที่คำนวณไว้ในปีฐาน 2554 คือ 246,500 บาท ณ ปี 2593 แม่ยีราฟน่าจะมีค่าใช้จ่ายต่อปีราวปีละ 645,725 บาท” ลุงแมวน้ำพูดพลางชี้ให้ดูในตารางในกระดาษ “สมมติต่อไปอีกนิด และถ้าวันที่แม่ยีราฟเกษียณมีเงินออมอยู่ 10,500,000 บาท และเงินนั้นทำงานด้วยตัวเอง ให้ผลตอบแทนปีละ 5% แม่ยีราฟจะอาศัยเงินก้อนนั้นใช้ชีวิตไปได้จนอายุ 80 ปี”

“พูดง่ายๆว่า หากเกษียณในปี 2566 ตอนนั้นต้องมีเงินออม 5,400,000 บาท แต่ถ้าไปเกษียณในปี 2593 กลายเป็นว่าต้องมีเงินออม 10,500,000 บาท” แม่ยีราฟทวน “ถูกไหมลุง”

“แม่นแล้ว” ลุงแมวน้ำตอบ “เพราะผลจากเงินเฟ้อนั่นเอง”

ลุงแมวน้ำหยุดคิดนิดหนึ่ง แล้วจึงพูดต่อ

“นั่นคือจำนวนเงินที่ต้องใช้ ทีนี้ก็มาถึงคำถามของแม่ยีราฟที่ว่า เมื่อถึงวันที่เราเกษียณแล้วเราจะมีเงินออมได้สักเท่าไร เรื่องนี้ก็ต้องสมมติเงื่อนไขอะไรหลายอย่างเพิ่มเข้ามา เพื่อให้สมจริงและคำนวณได้

“ในปี 2554 สมมติว่าแม่ยีราฟอายุ 22 ปี และเพิ่งจบปริญญาตรี ทำงานเป็นปีแรก ตอนนั้นแม่ยีราฟได้เงินเดือนเดือนละ 12,000 บาท”

“ทำไมต้องเป็น 12,000 บาทล่ะ” ยีราฟสงสัย “ลุงโมเมเอาเหรอ”

“เขาเรียกว่าสมมติแบบมีหลักการ ไม่ใช่โมเม” ลุงแมวน้ำพูดแก้ “สภาพความเป็นจริงของตลาดแรงงาน ในปีนั้นจบปริญญาตรีมา ทำงานครั้งแรก เงินเดือนก็ 10,000 บาทหรือสูงกว่านั้น ตามแต่สาขาที่จบมา ลุงก็ใช้ตัวเลข 12,000 บาทต่อเดือน ถือว่าเป็นกลุ่มที่จบปริญญาตรี สาขาทั่วๆไป

“จากนั้นลุงก็สมมติต่อไปว่าอัตราเงินเฟ้อปีละ 2.5% และแม่ยีราฟได้ขึ้นเงินเดือนทุกปี ปีละ 3% เงินเดือนขึ้นชนะเงินเฟ้อหน่อยนึง”

“แล้วฉันจะเก็บเงินได้เดือนละเท่าไรล่ะ” ยีราฟถาม

“นั่นก็ต้องสมมติอีก แต่สมมติแบบมีหลักการ มีงานวิจัยที่สำรวจการออมของคนไทยเอาไว้ พบผู้ที่มีเงินเดือนในช่วงหนึ่งหมื่นถึงสองหมื่นบาท มักออมได้ไม่เกิน 20% ของเงินเดือน ค่ากินอยู่แย่งเอาไปเสียเยอะ ถ้าเป็นระดับเงินเดือนสามสีหมื่นบาทก็ออมได้ราว 40% อันนี้ตัวเลขคร่าวๆนะ ลุงไม่ได้เอามาเป๊ะ

“ลุงก็เอาข้อมูลนี้มาสมมติเกณฑ์ในการออม นั่นคือ

“เงินเดือน 15,000 บาทหรือต่ำกว่านั้น ออมได้เดือนละ 15% ของเงินเดือน

“เมื่อไรที่เงินเดือนเกินกว่า 15,000 บาท การออมจะเปลี่ยนไป เป็นออมเดือนละ 20%

“”เมื่อไรที่เงินเดือนเกินกว่า 25,000 บาทต่อเดือน จะออมเดือนละ 25% ของเงินเดือน

“และเมื่อไรที่เงินเดือนเกินกว่า 35,000 บาทจะออมเดือนละ 30% ของเงินเดือน

“และยังสมมติอีกว่าอยู่ตัวคนเดืยวไปเรื่อยๆ  เพราะหากสมมติว่ามีครอบครัว มีลูก ด้วยละก็ตัวเลขจะยิ่งซับซ้อน ตัวเลขซับซ้อนมากไปลุงก็ปวดหัว เอาแค่นี้แหละ อย่าให้ยากนัก”

“จ้ะๆ ยังงี้ก็ดีแล้ว แล้วยังไงต่อ” ยีราฟถาม

ลุงแมวน้ำจึงดึงกระดาษออกมาจากหูกระต่ายอีกแผ่นหนึ่ง กางให้ยีราฟดู

“นี่ลุงคำนวณมาให้ดู ภายใต้สมมติฐานที่ลุงเล่ามาเมื่อกี้ เมื่ออายุมากขึ้น แม่ยีราฟจะมีเงินเดือนเพิ่มมากขึ้น และก็จะมีเงินออมต่อเดือนเพิ่มมากขึ้น สมมติว่าพอสิ้นปีก็นำเงินที่ออมได้ตลอดปีไปลงทุนทันที ขณะที่ยังไม่ครบปี เงินออมนั้นถือว่ายังไม่นำมาลงทุน





“ดังนั้น ในปี 2554 อันเป็นปีแรกที่มาทำงาน จึงถือว่าแม่ยีราฟยังไม่ได้นำเงินออมมาลงทุน พอขึ้นปีใหม่ 2555 เป๊ง แม่ยีราฟก็นำไปลงทุนเลยทันที จากนั้น สิ้นปี 2555 แม่ยีราฟจะมีเงิน 3 ก้อน นั่นคือ ก้อนแรก เงินออมของปี 2554 ก้อนที่ 2 ดอกผลของเงินออมปี 2554 และก้อนที่ 3 เงินออมระหว่างปี 2555 ที่ยังไม่ได้นำไปลงทุน ถ้าย่อหน้านี้งงก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องสนใจก็ได้ เราข้ามไปเลย ดูในตารางก็พอ

“สรุปว่าลุงคำนวณมาให้เบ็ดเสร็จ ว่ากรณีที่แม่ยีราฟนำเงินออมไปลงทุน แล้วได้ผลตอบแทนระดับต่างๆ เมื่อวัยผ่านไป แม่ยีราฟจะมีเงินสะสมเท่าไร ก็ดูเอาในตาราง

“กรณีที่นำเงินออมไปฝากธนาคาร ลุงคิดว่าให้ดอกผลปีละ 2% ซึ่งก็คือดอกเบี้ยเงินฝากนั่นเอง เมื่อถึงปี 2592 แม่ยีราฟจะเกษียณพร้อมด้วยเงินก้อน 3,095,291 บาท

“แต่ฉันต้องมี 10.5 ล้านนะลุง” ยีราฟท้วง

“ก็นั่นน่ะสิ วิธีนี้คงไม่พอใช้จ่าย เกษียณไม่สุขแน่ๆ” ลุงแมวน้ำพูด “มาดูกันต่อ หากแม่ยีราฟนำเงินไปลงทุนอย่างอื่นละ เช่น ลงทุนในหุ้น กองทุนรวม ฯลฯ นำเงินไปซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมเพิ่มทุกปีๆ และได้ผลตอบแทนปีละ 5% แม่ยีราฟจะมีเงินสำหรับวัยเกษียณ 5,147,098 บาท”

“ก็ยังไม่พอ” ยีราฟพูด

“ทีนี้ถ้าให้ผลตอบแทน 8% ต่อปีล่ะ ได้ถึง 9,322,091 บาทเชียว เกือบถึงเป้า 10.5 ล้านบาทแล้วนะ และลุงแอบไปคำนวณมาให้แล้วล่ะ ว่า เงิน 9.3 ล้านนี้แม่ยีราฟอยู่ได้ถึงอายุ 77 ปี พลาดเป้าไป 3 ปีเท่านั้น”

“อือม์ อันนี้ค่อยยังชั่ว” ยีราฟพึมพำ “แต่ฉันจะทำได้ถึงเหรอจ๊ะ”

“ลุงแมวน้ำอยากบอกว่า นี่แหละ การออมและการลงทุนเป็นกระบวนการตลอดชีวิต เหมือนกับการเรียนรู้นั่นแหละ ดังนั้น ควรหัดเป็นนิสัยตั้งแต่วัยเยาว์ และเริ่มออมตั้งแต่อายุยังน้อย เงินเดือน 12,000 บาทและเงื่อนไขอื่นๆที่ลุงสมมติมานั้น เป็นเงื่อนไขกลางๆสำหรับผู้ที่จบปริญญาตรี คือเป็นคนปริญญาตรี ทำงานกินเงินเดือนทั่วๆไปนี่แหละ ไม่ใช่เงื่อนไขที่สูงส่งอะไรเลย หากจบปริญญาตรี และทำงานเสมอต้นเสมอปลาย ขยันตามสมควร บุคคลผู้นั้นก็มีโอกาสเกษียณสุขได้ หากทำได้ดีกว่านั้น ก็มีโอกาสสุขสบายยิ่งขึ้น”

“แล้วถ้าไม่จบปริญญาตรีหรือทำไม่ได้ตามนั้นละจ๊ะลุง ชีวิตเราก็อาจจะพลาดด้วยเหตุอะไรก็ได้ ใครจะรู้” ยีราฟยังสงสัยต่อ

“โอย ลุงปวดหัวแล้ว” ลุงแมวน้ำมึนตึ้บกับคำถามของยีราฟสาว “ยังงั้นเราเอาไว้คุยต่อกันในวันหลังละกัน”