Friday, November 29, 2013

29/11/2013 40 ปี 14 ตุลา กับปฏิบัติการยึดประเทศไทย 2556: ตอนที่ 7 รุ่งอรุณแห่งประชาธิปไตย




“ในวันที่ 15 ตุลาคม การปราบปรามประชาชนยังดำเนินต่อไป โดยฝ่ายรัฐบาลออกข่าวใส่ร้ายผู้ชุมนุมว่าเป็นผู้สนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ที่สวมรอยเข้ามาและมีอาวุธหนัก จึงต้องปราบปราม แต่ประชาชนไม่เชื่อและลุกฮือขึ้นสู้ด้วยความโกรธแค้น เลือดของประชาชนที่เปื้อนอยู่บนถนนราชดำเนินและบริเวณใกล้เคียงไม่ได้ทำให้ประชาชนหวาดหวั่น แต่ตรงกันข้าม กลับยิ่งหนุนเนื่องเข้าต่อสู้กับกองกำลังของหทารและตำรวจ ประชาชนในเขตกรุงเทพและอีกหลายท้องที่ในต่างจังหวัดลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล แม้แต่นักเรียนก็ยังออกมาต่อสู้ด้วย






“สถานการณ์วุ่นวายและสับสนอลหม่านอย่างที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่สังหารนั้นสยดสยองมาก สมัยนั้นไม่มีโทรศัพท์มือถือ การติดต่อสื่อสารระหว่างมวลชนในสถานการณ์อันยุ่งเหยิงเช่นนั้นทำไม่ได้เลย ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาขาดการติดต่อกับมวลชน ไม่มีใครรู้ว่าแกนนำศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกทั้งยังมีข่าวลือว่าแกนนำนิสิตนักศึกษาบางคนเสียชีวิตไปแล้ว แกนนำที่ยังเหลืออยู่จึงมีการจัดตั้งศูนย์ปวงชนชาวไทยขึ้นมาชั่วคราวเพื่อประสานงานกับมวลชนและเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ โดยแกนนำของศูนย์ปวงชนชาวไทยบางคนก็อย่างเช่นจิรนันท์ พิตรปรีชา”

“นักเขียน กวีซีไรต์นี่ลุง” ลิงจ๋อพูด

“ใช่แล้ว คุณจิรนันท์ก็เป็นหนึ่งในผู้นำนิสิตนักศึกษาในยุค 14 ตุลาคม” ลุงแมวน้ำตอบ จากนั้นเล่าต่อ

“สุดท้ายทหารเองทนดูไม่ไหว ผบ.ทบ. ในขณะนั้นไม่เห็นด้วยกับการปราบปรามประชาชนอย่างไร้มนุษยธรรม โดย ผบ.ทอ. กับ ผบ.ทร. ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน สร้างแรงกดกัดแก่จอมพลถนอมเป็นอย่างมาก เพราะอำนาจที่คุมกองกำลังอย่างแท้จริงนั้นอยู่ที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพนั่นเอง ไม่ใช่อยู่ที่ ผบ.สส.

“เรื่องราวเท่าที่เผยแพร่สู่สังคมก็มีเพียงสั้นๆเท่านี้ แต่ลุงแมวน้ำคาดว่าเรื่องนี้คงมีรายละเอียดเบื้องหลังอีกมากมายที่เกิดขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคม เพราะในที่สุด ในตอนเย็นวันนั้นเอง จอมพลถนอมลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทหารและตำรวจยุติการปราบปรามประชาชนและถอยกลับเข้ากรมกอง ในตอนหัวค่ำ สถานีวิทยุก็ออกข่าวว่าถนอม ประภาส ณรงค์ ได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปแล้ว

“ทันทีที่ข่าวนี้แพร่ออกไป สถานการณ์ความรุนแรงก็สงบลง” ลุงแมวน้ำเล่าจนจบพร้อมกับถอนหายใจเมื่อนึกถึงเหตุการณ์อันสยดสยองในอดีต




“คราวนี้จบจริงๆใช่ไหมฮะ” กระต่ายน้อยถาม

“คราวนี้จบจริงๆ” ลุงแมวน้ำตอบ “เมื่อเหตุการณ์รุนแรงยุติลง มวลชนที่เหลืออยู่ก็ร่วมแรงร่วมใจกันสะสางเรื่องราวต่อมา ทั้งสะสางสถานที่ ทั้งลำเลียงผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาล จัดการกับศพของผู้เสียชีวิต รวมทั้งทำความสะอาดถนนหนทางและจัดการจราจร เพื่อให้ชีวิตและเศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ แม้แต่นักเรียนที่เป็นลูกเสือจราจรก็มาช่วยโบกรถตามสี่แยก”




“ฟังแล้วสยดสยองจัง” แม่ยีราฟพูดพลางหลับตาปี๋ “ไม่อยากนึกภาพตามเลย แล้วผู้คนบาดเจ็บล้มตายไปเท่าไรนะลุง”

“เสียชีวิตไป 77 คนและบาดเจ็บพิการรวม 857 คน นี่คือยอดอย่างเป็นทางการ แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีผู้ที่หายสาบสูญอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งผู้ที่หายสาบสูญนี้คาดว่าคงเสียชีวิตไปแล้ว” ลุงแมวน้ำตอบ

“แล้วหลังจากนั้นบ้านเมืองเป็นอย่างไรบ้างละลุง ดีขึ้นไหม” ลิงจ๋อถาม

“ถ้าดูในระดับจุลภาค ส่วนที่ร้ายก็มี นั่นคือครอบครัวของผู้ที่ล้มตาย และบาดเจ็บพิการ ครอบครัวของวีรชนเหล่านี้ต้องทุกข์โทมนัส เหล่านี้บางคนเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว ทำให้ครอบครัวต้องขาดรายได้ ไหนจะมีเรื่องค่ารักษาพยาบาลอีก ยิ่งผู้ที่บาดเจ็บพิการนั้นบางคนชีวิตเปลี่ยนไปราวกับตกนรก สถาบันครอบครัวต้องอัปปางลง สุดท้ายก็กลายเป็นวีรบุรุษที่โลกไม่ลืม แต่ก็ไม่ค่อยได้เหลียวกลับมาดูแลนัก




“แต่หากมองในแง่มหภาค การเปลี่ยนแปลงโดยประชาชนในครั้งนั้นทำให้สังคมไทยอภิวัฒน์ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ยุคของการปกครองแบบคณาธิปไตยโดยคณะเผด็จการทหารหมดสิ้นลง เราได้รัฐธรรมนูญ และได้รัฐบาลผู้บริหารประเทศที่มาจากการเลือกตั้ง แม้ว่าอิทธิพลของทหารจะยังไม่หมดไป แต่ก็ค่อยๆลดลง โดยเฉพาะในแง่ธุรกิจการค้า

“ดังที่ลุงบอกว่าในยุคนั้นเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ โดยกระแสทุนจากต่างชาติหลั่งไหลเข้ามา ทำให้ประเทศไทยพัฒนาเศรษฐกิจไปได้อย่างรวดเร็ว มีการค้าการลงทุนใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย หลัง 14 ตุลา จุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้นก็คือจากเดิมที่ธุรกิจต่างๆต้องพึ่งพาระบบทหารตำรวจอุปถัมภ์ อิทธิพลของระบบพรรคพวกเหล่านี้ก็ลดน้อยลง ก็กลายมาเป็นว่าใครจะทำธุรกิจการค้าก็ไม่ต้องไปพึ่งพาเส้นสายอิทธิพลของนายทหารตำรวจใหญ่ๆ ไม่ต้องมอบหุ้นลมให้ฟรีๆ ไม่ต้องเอารูปนายทหารตำรวจใหญ่มาติดผนัง การทำธุรกิจก็สะดวกและเสรีมากยิ่งขึ้น” ลุงแมวน้ำพูด

“จากวันนั้นถึงวันนี้ เหตุการณ์ในอดีตกับปัจจุบันเกี่ยวข้องกันอย่างไรล่ะลุง ถึงได้เอามาเล่าเนี่ย” ลิงจ๋อถามอีก

“ไม่สังเกตหรือว่าเหตุการณ์หลายๆเรื่องในอดีตคล้ายคลึงกับในปัจจุบัน จะเรียกว่ากงล้อของประวัติศาสตร์หมุนเวียนมาอีกก็พอได้” ลุงแมวน้ำตอบ “และที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งก็คือ หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สถานภาพของนิสิตนักศึกษาได้ถูกยกสูงขึ้นกว่าเดิมอีก หนุ่มสาวนิสิตนักศึกษาถือเป็นเสาหลักต้นหนึ่งของสังคมทีเดียว และถูกเปรียบเป็นโคมที่ส่องแสงนำทางสังคมด้วย”

“ขนาดนั้นเชียว” ลิงจ๋อทึ่ง

“แน่นอน และหลังจากนั้นมา นิสิตนักศึกษาก็กระตือรือร้นและมีบทบาททางการเมืองอย่างต่อเนื่องและมากมาย ซึ่งประเด็นนี้ต่างกับในปัจจุบัน ที่นิสิตนักศึกษายุคนี้เป็นยุคที่มีบทบาททางการเมืองน้อยกว่าสมัยนั้นมาก แต่เรื่องนี้ลุงของยกเอาไว้ก่อน ยังไม่พูดต่อ” ลุงแมวน้ำพูด “แต่ที่จะบอกก็คือว่าหนุ่มสาววีรชน 14 ตุลาในวันนั้น คือคนในยุคเบบี้บูมเมอร์ และหนุ่มสาวที่ต่อต้านระบอบคณาธิปไตยแบบเผด็จการทหารในวันนั้นบางส่วนก็กลายมาเป็นผู้สนับสนุนระบอบคณาธิปไตยแบบเผด็จการทุนนิยมในวันนี้นั่นเอง"

“ยังไงฮะลุง อธิบายความหมายหน่อยฮะ ป๋มยังไม่เข้าใจ” กระต่ายน้อยทำหน้าสงสัย กระดิกหางปุกปุยไปมา

“คณาธิปไตยคือระบอบการปกครองที่ปกครองประเทศแบบผูกขาดโดยคนเพียงกลุ่มเดียว สมัยก่อนเรามีคณาธิปไตยแบบเผด็จการทหาร หมายความว่าเป็นการปกครองประเทศที่ผูกขาดโดยกลุ่มทหารเพียงกลุ่มเดียวนั่นเอง”  ลุงแมวน้ำอธิบาย

“ฮะ แล้วคณาธิปไตยแบบเผด็จการทุนนิยมละฮะลุง” กระต่ายน้อยถามต่อ

“ก็คือระบอบการปกครองทีปกครองประเทศโดยคนกลุ่มเดียว เพียงแต่ว่าคนกลุ่มนั้นไม่ใช่ทหาร แต่เป็นกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่งที่ผูกขาดอำนาจการปกครองประเทศเอาไว้นั่นเอง โดยเนื้อหาและรูปแบบแล้วคล้ายกันมาก เพียงแต่เปลี่ยนตัวละครเท่านั้นเอง” ลุงแมวน้ำตอบ

“แต่ตอนนี้เราเป็นประชาธิปไตยนะจ๊ะลุง ไม่ใช่เผด็จการ” ยีราฟแย้ง

“เมื่อก่อน ตอนยุค 14 ตุลา เราก็เป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน ก็เป็นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา เพียงแต่ว่าเป็นแต่ในนามไง แต่โดยเนื้อหาแล้วก็ต้องมาดูกันอีกที

“อย่างเช่นกรณีเหตุการณ์ปัจจุบันนี้ เราก็เห็นประจักษ์ชัดแล้วว่าประเทศไทยถูกปกครองด้วยกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่ง ที่ครอบงำทั้งคณะรัฐบาลและสภา สามารถออกกฎหมายอะไรก็ได้ที่ตนต้องการ รวมทั้งแก้ไขหรือไม่รับกฎหมายอะไรก็ได้ที่ตนไม่ต้องการ นี่ก็คือเนื้อหาเป็นคณาธิปไตยแบบเผด็จการทุนนิยมไง” ลุงแมวน้ำอธิบาย

“และที่สำคัญและน่าเหลือเชื่อก็คือ นิสิตนักศึกษาหลายคนที่ต่อต้านคณาธิปไตยเผด็จการทหารถนอม ประภาส ณรงค์ ในยุคโน้น กลายมาเป็นผู้สนับสนุนคณาธิปไตยแบบเผด็จการทุนนิยมในวันนี้” ลุงแมวน้ำพูดต่อ

“อึ้งกิมกี่” ลิงจ๋ออุทาน “ทำไมเป็นยังงั้นไปได้”


Monday, November 25, 2013

25/11/2013 40 ปี 14 ตุลา กับปฏิบัติการยึดประเทศไทย 2556: ตอนที่ 6 วันมหาวิปโยค



“มวลชนหลั่งไหลออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งสู่ถนนราชดำเนิน โดยมีขบวนนักศึกษาอาชีวะทำหน้าที่เป็นการ์ดคุ้มกัน สมทบกับมหาชนที่หลั่งไหลมาจากทุกทิศทาง มุ่งสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มวลชนในวันนั้นเยอะมาก เต็มถนนราชดำเนินไปหมด มีการประมาณกันว่าถึงห้าแสนคนทีเดียว” ลุงแมวน้ำพูดพร้อมกับหยิบภาพถ่ายเก่าๆออกมาให้ดูกัน

“อู้ฮู” กระต่ายน้อยอุทาน “ทำไมมากมายอย่างนี้”

“มหาชนปักหลักอยู่เต็มถนนราชดำเนิน เหตุการณ์ยังเป็นปกติ ไม่มีอะไร จนกระทั่งตอนเย็น ก็มีข่าวว่าตัวแทนของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเข้าเจรจากับจอมพลประภาส และได้ข้อยุติว่ารัฐบาลจะปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คน และจะร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในปีถัดไป (พ.ศ. 2517) พร้อมทั้งมีการทำบันทึกช่วยจำไว้ด้วย





“ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ทางฝ่ายปฏิบัติการเดินขบวนก็ได้ประกาศให้มหาชนเคลื่อนขบวนมุ่งสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า มหาชนจึงเคลื่อนตัวจากถนนราชดำเนินกลาง ไปทางสะพานผ่านฟ้า และเข้าสู่ถนนราชดำเนินนอก มุ่งสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า จนถึงเวลาประมาณสองทุ่ม สถานีวิทยุแห่งประเทศไทยก็ออกข่าวว่ารัฐบาลยอมรับข้อเสนอของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา ที่ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งสิบสามคน พร้อมทั้งจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปีถัดไป”

“แฮปปี้เอ็นดิ้งนี่” ลิงจ๋อท้วงด้วยศัพท์ภาษาอังกฤษ “ไม่ใช่มั้ง”

“ฟังต่อไปก่อนสิ” ลุงแมวน้ำตอบ “ฟังข่าวจากวิทยุแล้วก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี มวลชนบางส่วนก็สลายตัวกลับบ้านไป แต่ว่าความเป็นจริงในขณะนั้นสถานการณ์สับสนมาก ข่าวลือเต็มไปหมด ลือกันว่ารัฐบาลสับขาหลอกเพื่อให้ฝ่ายศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาตายใจ ดังนั้นมวลชนส่วนหนึ่งก็ยังไม่สลายตัว เพราะไม่แน่ใจในสถานการณ์ ยังเหลืออยู่ในพื้นที่ชุมนุมเป็นเรือนแสน

“จนเวลาประมาณ 4 ทุ่ม กรมประชาสัมพันธ์ก็ออกข่าวว่ามีบุคคลบางคนที่ไม่ใช่นักศึกษาและประสงค์ร้าย สวมรอยเข้ามาอภิปรายโจมตีรัฐบาลและยุยงให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาล พร้อมกับข่าวลือแพร่สะพัดว่าแกนนำศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาถูกปูนหมายหัวเอาไว้แล้ว ชะตาขาดแน่ ดังนั้นในราวเที่ยงคืนของวันที่ 13 ต่อเนื่องกับเช้าวันที่ 14 แกนนำของศูน์กลางนิสิตนักศึกษาจึงให้มหาชนที่ยังรวมตัวกันอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เคลื่อนขบวนไปที่วังสวนจิตรลดา หมายยึดเอาพระบารมีเป็นที่พึ่ง และปักหลักนอนค้างคืนกันอยู่โดยรอบวังสวนจิตรลดานั่นเอง



“จนถึงตอนเช้ามืดของวันที่ 14 มวลชนที่ค้างคืนรอบพระราชวังสวนจิตรลดาเห็นว่าเหตุการณ์ยังสงบอยู่ บางส่วนจึงทยอยกันสลายตัวเพื่อเดินทางกลับบ้าน และแล้ว เหตุการณ์ร้ายก็เกิดขึ้น...

“มวลชนที่เดินทางกลับบ้านถูกหน่วยตำรวจคอมมานโดสกัดทางด้านถนนราชวิถี บัญชาการโดยนายตำรวจใหญ่สองคน และที่สำคัญคือนายตำรวจใหญ่สองคนนี้คือกลุ่มบุคคลที่อื้อฉาวในกรณีเฮลิคอปเตอร์ล่าสัตว์ป่าสงวนที่ทุ่งใหญ่นเรศวรเสียด้วย




“ประชาชนที่ถูกสกัดก็ไม่พอใจ มีการขว้างปาข้าวของใส่กลุ่มตำรวจ จนตำรวจนายหนึ่งได้รับบาดเจ็บ และจากจุดนั้นเอง รถตำรวจที่ใช้ปราบจลาจลก็พุ่งเข้าใส่ฝูงชน จากนั้นตำรวจคอมมานโดพร้อมสองนายตำรวจใหญ่ก็ถือกระบองกรูกันเข้ามาไล่ตีประชาชน แม้แต่เด็กและผู้หญิงก็ยังถูกกระบองตี



“ฝูงชนแตกฮือ บางส่วนวิ่งหนีเข้าไปในวังสวนจิตรลดาบางส่วนก็หนีเข้าไปในสวนสัตว์เขาดิน การปะทะยามย่ำรุ่งนี้กินเวลาไม่นาน แต่จากจุดนี้เองที่กลายเป็นชนวนให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลายออกไปในถนนราชดำเนินนอก และลามไปจนถึงถนนราชดำเนินกลาง มวลชนโกรธแค้น รัฐบาลใช้กำลังทหารและตำรวจออกปราบปรามประชาชน ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อสู้ทั้งๆที่มีเพียงมือเปล่าและท่อนไม้




“มวลชนที่โกรธแค้นตอบโต้ด้วยการก่อความวุ่นวาย มีการบุกยึดกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งตอนนั้นตั้งอยู่ที่หัวมุมถนนราชดำเนิน ใกล้สนามหลวง เพราะถือว่าเป็นหน่วยงานต้นตอข่าวบิดเบือนทั้งหลาย อีกทั้งยังมีการเผาทำลายรถและสถานที่ราชการ

“ในวันที่ 14 นั้นเอง รัฐบาลกลับออกข่าวว่ามีมวลชนบุกเข้าไปในวังสวนจิตรลดาเพื่อก่อวินาศกรรม จากนั้นก็ระดมกำลังทหารและตำรวจออกปราบปรามประชาชน ทั้งๆที่เมื่อวานเพิ่งทำบันทึกช่วยจำกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯอยู่หยกๆ การปราบปรามประชาชนในครั้งนั้นดำเนินการด้วยความรุนแรง ทหารและตำรวจใช้กระสุนจริง มีรถถัง เฮลิคอปเตอร์ และอาวุธสงครามหนักด้วย สภาพการณ์ของราชดำเนินในตอนนั้นเหมือนในหนังพวกสงครามกลางเมืองไม่มีผิด มีการปะทะกันตลอดถนนราชดำเนินไปจนถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และบางลำภู มีการกราดยิงประชาชนจากเฮลิคอปเตอร์ด้วย”





“สงสัยจะเป็นการสับขาหลอกแล้วตลบหลัง” ลิงจ๋อออกความเห็น “แล้วประชาชนจะเอาอะไรไปสู้ละลุง ทหารตำรวจใช้รถถัง อาวุธสงคราม ประชาชนมีอะไรล่ะ”

“ประชาชนมีแต่มือเปล่า ส่วนนักศึกษาอาชีวะก็พอจะมีท่อนไม้ ก็มีแค่นั้นแหละ” ลุงแมวน้ำตอบ “ตอนนั้นต้องบอกว่าเลือดของมวลชนหลั่งรดผืนปฐพีเพื่อแลกกับประชาธิปไตยจริงๆ เนื่องจากพื้นถนนมีกองเลือด และมีประชาชนบาดเจ็บล้มตายจากการปราบปรามประชาชน”

“แล้วตอนนั้นลุงอยู่ที่ไหนฮะ” กระต่ายน้อยถามบ้าง

“ตอนสายๆของวันที่ 14 ลุงก็อยู่แถวๆสนามหลวงด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนั้นลุงกำลังวิ่งอยู่ แล้วก็มี ฮ. บินอยู่เหนือหัว จากนั้นก็มีเสียงปืนกล ฮ.จะยิงปืนกลลงมาจริงหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่เมื่อมีเสียงปืนกลดังมาพร้อมกับการปรากฏของ ฮ. ก็ต้องเข้าใจว่ายังงั้นไว้ก่อน ทุกคนก็หมอบลงตามสัญชาติญาณ ลุงก็หมอบอยู่บนพื้นถนนนั่นเอง ซึ่งที่จริงต้องเข้าที่กำบังจึงจะถูก อย่างเช่นตามใต้ต้นมะขาม เพราะถ้ามีการยิงจาก ฮ. จริง การหมอบกลางแจ้งก็เท่ากับนอนแบเป็นเป้านิ่งให้ ฮ. เลือกยิงตามสบาย แต่ตอนนั้นไม่มีใครคิดอะไรทันหรอก ได้ยินเสียงปืนก็หมอบไว้ก่อน สภาพการณ์อลหม่านวุ่นวายมาก”








“แล้วหลังจากนั้นลุงทำไงฮะ” กระต่ายน้อยถามต่อ

“หลังจากเสียงปืนกลกราดยิงสงบลง ลุงก็พยายามลัดเลาะเพื่อโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยา กะว่าจะซ่อนตัวในน้ำไว้ก่อน แต่สุดท้ายไม่ทันได้ลงน้ำ แต่วิ่งเตลิดเปิดเปิงไปทางบางลำภู แล้วออกไปทางถนนสามเสนและหลุดพ้นจากพื้นที่สังหารออกมาได้” ลุงแมวน้ำตอบ

“ไม่ไปหลบในธรรมศาสตร์ละลุง” ลิงจ๋อถาม

“ก็กลัวว่าจะโดนปิดประตูตีแมวน้ำน่ะสิ เพราะธรรมศาสตร์ก็อยู่ในเขตพื้นที่สังหารเช่นกัน” ลุงแมวน้ำตอบ พลางหยิบรูปถ่ายใบหนึ่งออกมา บรรดาสมาชิกคณะละครสัตว์ต่างมุงดู “ดูรูปนี้สิ”



“รูปนี้เท่มาก” ลิงจ๋อตอบ “ ผมเคยเห็นหลายครั้งแล้ว”

“หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ภาพนี้โด่งดังไปทั่วโลก เพราะถือว่าเป็นภาพที่แสดงจิตวิญญาณของประชาชนที่สู้กับอธรรมด้วยหัวใจและเลือดเนื้อ... สู้ทั้งที่รู้ว่าสู้ไม่ได้ นี่ไม่ใช่การต่อสู้แบบจนตรอก แต่เป็นการต่อสู้เพื่อสิ่งที่เราศรัทธาและยึดมั่น”

“คนในภาพนี้ชื่อนายประพัฒน์ แซ่ฉั่ว ตอนนั้นเป็นนิสิตวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งก็คือคุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ในปัจจุบัน ภาพนี้ทำให้คุณประพัฒน์ได้ฉายาว่า ไอ้ก้านยาว ในเวลาต่อมา เส้นทางชีวิตของบุคคลในภาพก็น่าสนใจอยู่เหมือนกัน แต่ลุงยังไม่เล่าละกัน”

“ยังงั้นเล่าเรื่อง 14 ตุลา ต่อเลยลุง” แม่ยีราฟพูดขึ้นบ้าง

“ในตอนเย็นวันที่ 14 นั้นเอง จอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากนั้นในหลวงทรงแต่งตั้งนายกคนใหม่เข้าดำรงตำแหน่ง คือศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ และมีพระราชดำรัสทางทีวีเรียกวันที่ 14 นี้ว่าเป็นวันมหาวิปโยค” ลุงแมวน้ำเล่าต่อ

“อ้าว ไหงจบง่ายๆยังงั้นละฮะลุง” กระต่ายน้อยถาม “หักมุมจังเลย”

“เปล่า ไม่ได้หักมุม เรื่องยังไม่จบ” ลุงแมวน้ำตอบ “เพราะแม้ว่าจอมพลถนอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่ ในคืนวันนั้นที่ 14 นั้นเอง จอมพลถนอมใช้ตำแหน่ง ผบ.สส. ออกแถลงการณ์ว่ามีกลุ่มบุคคลที่พยายามนำลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยโดยอาศัยเหตุการณ์ในครั้งนี้ ดังนั้นเพื่อรักษาความมั่นคง การปราบปรามประชาชนจึงยังดำเนินต่อไป ไม่ได้ยุติลงเลย”